สุขสงบ ณ นาตอง-นาคูหา หมู่บ้านกลางขุนเขา


นาตอง-นาคูหา
นาตอง-นาคูหา

นาตอง-นาคูหา

นาตอง-นาคูหา และทุกที่มาในหุบเขา (อ.ส.ท.)

ฐากูร โกมารกุล ณ นคร...เรื่อง
ธีระพงษ์ พลรักษ์...ภาพ

            มันคือห้วงยามที่พอจะเรียกได้ว่าสุขสงบ ในหมู่บ้านกลางขุนเขาที่มองไปรอบด้านคือม่านสีเขียวและอากาศฉ่ำชื่น ผู้คนข้างบนนั้นเต็มไปด้วยรอยยิ้ม อันจริงแท้ที่กลั่นออกมาจากชีวิตทั้งสุขทุกข์ หลอมรวมจนเป็นตัวของตัวเองอย่างที่มันควรจะเป็น สายน้ำ แมกไม้ ตลอดจนเนื้อหินและดินล้วนมากไปด้วยเรื่องราวของคืนวันทั้งการปักหลักดิ้นรน ต่อเนื่องถึงความผสมกลมกลืนที่พร้อมจะก้าวเดินร่วมกันกับคนอื่น ๆ ผ่านโลกใบปัจจุบัน โลกเช่นนี้มีอยู่จริง และมันกระตุ้นเดือนให้ใครสักคนที่ดั้นด้นขึ้นมาสัมผัสได้รับรู้ว่า นาทีจริงแท้ของคนกับภูเขานั้นแสนอบอุ่นงดงาม แม้ว่าหนทางรอบด้านจะชักนำสิ่งใดก้าวล้ำล่วงเลยขึ้นมา



            1. ยามเช้าต้นฤดูฝนพาเราออกจากตัวเมืองแพร่ท่ามกลางความเงียบสงของประตูสู่ล้านนาตะวันออก ภูมิประเทศแอ่งที่ราบกลางขุนเขาชักนำให้เลือกสวนความสูงขึ้นไปหาป่าเขียวชื่นกลางนาทีฉ่ำฝน รอบด้านรายทางคือโมงยามแรกเริ่มในผืนนา กล้าข้าวแตกยอดประปรายเป็นเส้นสีเขียวบนแผ่นดินที่ถูกพลิกฟื้น ขณะรถจี๊ปคันเล็กค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้นไปเป็นหนึ่งเดียวกับภูเขา ผ่านคดโค้งที่มีน้ำแม่แคมไหลเรื่อยอยู่เบื้องล่าง สัญญาณโทรศัพท์ค่อย ๆ เลือนหายไปพร้อมกับความทึบชื้นของป่าเขา ความคดโค้งของทางหลวงหมายเลข 1024 บ่งบอกว่าเรากำลังอยู่บนภูเขา ไม่ต่างกับผู้คนระหว่างทางที่ภูเขาไม่ได้เป็นแค่สิ่งกางกั้น ทว่าเป็นทั้งพื้นที่ให้ใครสักคนเลือกปักหลัก และเป็นเหมือนมนตราเชื้อเชิญให้อีกหลายคนแวะเวียนขึ้นมาสัมผัส



            ถนนบีบอัดและหลุบลงลู่ที่ราบเล็ก ๆ บ้านเรือนกระจายความเรียบง่ายคงทนอยู่สองฟากถนน บ้านนาคูหาเงียบเชียบอย่างที่มันน่าจะเป็น เพิงขายของเล็ก ๆ หน้าบ้านหลังหนึ่งพาเราไปรู้จักกับ ลุงเจริญพร ชัยยะกิจ หลังดับเครื่องยนต์รอบด้านสงบเงียบเหลือเพียงรอยยิ้มและภาษาเหนือล่องลอยในปลายสาย หลายคนขึ้นมาที่นี่ไม่ใช่นักท่องเที่ยว ทว่าหมายถึงห้วงยามร้อยกว่าปีที่คนบ้านนาคูหารู้จักคำว่าการก่อเกิด



            “แต่ก่อนที่นี่มันสมบูรณ์นัก ใครก็อยากมาทำกิน” ทางดินฉ่ำฝนที่หลอมรวมเป็นทางยากในอดีตที่ว่ากันว่า เพียงราว 20 กิโลเมตร จากบ้านนาคูหาถึงบ้านป่าแดงข้างล่างนั้นต้องใช้เวลาร่วมวันในการเดินทาง

            “คนที่นี่มาปลูกเมี่ยง เก็บเตาลงไปขาย” นอกจากความเงียบสงบกลางป่าเขา การงานอันผูกพันกับขุนเขาอย่างการเก็บเตา-สาหร่ายน้ำจืดที่ขึ้นตามธรรมชาติ คือ สิ่งที่ดึงดูดให้เราสวนความสูงขึ้นมาที่นี่ บ่อน้ำธรรมชาติใสเย็นแทรกตัวเองไปตามแผ่นผืนเชิงโขดเขาหินปูนกลางป่าลึกบนรอยต่อของอำเภอเมืองฯ และอำเภอร้องกวาง คนบ้านนาคูหาเรียนรู้และเข้าใจที่จะปรับใช้ในพืชและแผ่นผืนดินตรงนี้มาเนิ่นนาน



            “แต่ก่อนมันลำบากนัก น้ำท่า ป่าไม้ เรามี เราเพาะปลูกได้ แต่การอยู่กินมันมากกว่านั้น” ในวันที่เตายังคงเป็นเพียงแค่ “อาหาร” ที่พวกเขารู้จักถึงการเกิดขึ้นตามธรรมชาติของมัน เก็บกินหรือมาผสมดัดแปลงไปในอาหารง่าย ๆ อย่างน้ำพริกหรือกินสด ไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะกลายมาเป็นสิ่งหนึ่งที่หล่อหลอมให้คนนาคูหามีทางเลือกเดิน



            เราค่อย ๆ เดินตามลุงเจริญพรลัดเลาะไปในความสมบูรณ์ของผืนป่าที่ห้อมล้อมหมู่บ้าน เศษซากโรงงานบ่มใบยาสูบจมตัวเองอยู่ในความร้างโทรม ขณะบ่อน้ำใสเย็นตรงเชิงเขากลับเต็มไปด้วยการงานของใครสักคน

            “เตาจะดีมันต้องพึ่งทั้งน้ำและแดด” ระหว่างนั่งมองคุณป้าคนหนึ่งจ่อมจมอยู่ในบ่อเตา ลุงเจริญพรว่าทุกวันนี้ความสมบูรณ์ของธรรมชาติที่บ้านนาคูหาอาจชี้วัดกันด้วยพืชพรรณที่หล่อหลอมพวกเขาให้มีอยู่มีกิน



            “เตาจะงามดินต้องมีธาตุอาหาร น้ำเย็นบริสุทธิ์ไหลเวียน ต้องสังเกตทั้งอุณหภูมิ แสง วันไหนแดดดี น้ำดี เตาจะออกเยอะ” ภาพตรงหน้าราวการไหล่ตัวเองไปตามคืนวันและธรรมชาติอย่างคนที่ทำความเข้าใจมันได้ดี พื้นที่บ่อเตาจากที่เคยเป็นนาปลูกข้าว ลงรายละเอียดไปด้วยการขุดร่องผันน้ำ เกิดการถ่ายเทไม่เน่าเสีย คุณป้าคนเดิมเดินวนเวียนไปมาในพืชสีเขียวที่กระจายตัวได้ผืนน้ำใส ค่อยหมุนวนและซ้อนมันขึ้นมาผ่านก้านไม้ไผ่ สะท้อนแดดบ่ายวิบวาวราวมรกต



            บ้านนาคูหาเรียงรายตัวเองไปในระดับขึ้นลงของสันเขา มองลึกถัดลงไปคือนาข้าวไร่ที่เริ่มปักกล้า เสาไม้สักขนาดใหญ่ตามแต่ละบ้านสะท้อนผ่านว่าที่นี่ก็เคยอยู่ในห้วงยามการทำไม้อันแสนสาหัสของเมืองแพร่ เราเดินตามหนทางของเตาเข้าไปในบ้านหลังหนึ่ง มันเต็มไปด้วยภาพชัดของคำว่าครอบครัวและการเติบโตแตกยอด แป้งข้าวเกรียบที่ผสมเตาตากแดดเรียงรายอยู่หน้าบ้าน ขณะที่ใต้ถุนอันร่มเย็น หญิงสาวค่อยหยอดแป้งทองม้วนที่สมเตาลงเป็นวงกลม หยิบจับพับมันเป็นสีเขียวตุ่น ๆ



            “เราซื้อเฉพาะแป้ง น้ำมัน และงา ส่วนใบเตย มะพร้าว เราได้จากป่าเขา” ตามไหล่เขาลาดชันไม่เพียงเรียงรายด้วยสวนเมี่ยง ทว่าแทรกผสมอยู่ด้วยนานาอาหารจากผืนป่า สวนผลไม้และพืชพรรณที่ “กินได้” ของพวกเขาผสมผสานอยู่ในนั้น ภูมิประเทศอันแสนงดงามพาลัดเลาะไปตามหมู่บ้านสุขสงบ รอยยิ้ม และเสียงไถ่ถามถึงคนมาใหม่แทรกซึมอยู่ในนั้น หลังโรงเรียนคือแหล่งทำน้ำฮ่อมที่หมักบ่มใบฮ่อมจนได้ที่ กลายเป็นน้ำย้อมผ้าสีครามซึ่งพร้อมจะส่งลงไปยังแหล่งย้อมผ้าม่อฮ่อมอันเลื่องลือของเมืองแพร่ที่บ้านทุ่งโฮ้ง ซึ่งตั้งอยู่ด้านล่างขุนเขา ขณะเมื่อไต่เลาะขึ้นไปในสวนเมี่ยง ชาวบ้านรวมกลุ่มกันเก็บใบเมี่ยงลงในก๋วยใบเก่าแก่ และการงานอันแยกไม่ออกระหว่างคนกับภูเขาก็ดำเนินผ่านคืนวัน

            “ที่นี่ไม่เคยแห้งแล้งและไม่เคยขาดแหล่งทำกิน” ขณะความใสรื่นชื่นเย็นของน้ำตกแม่แคมหลากริน เรานั่งอยู่ท่ามกลางความชุ่มเย็นของผืนป่า ลุงเจริญพรเล่าถึงความสมบูรณ์ที่ชักนำให้คนบนพื้นราบพากันมุ่งหน้ามาบนบ้านนาคูหา ปักหลักทำกิน และเลือกทิศทางของชีวิตร่วมไปกับป่าเขาอย่างกลมกลืน



            เย็นย่ำเหนือมุมสูงกระจ่างตาของพุทธอุทยานดอยผาสวรรค์ สำนักสงฆ์ที่ปรากฏตัวเองเป็นเหล่าสิ่งก่อสร้างทางพุทธศาสนา ทั้งพระพักตร์พระพุทธรูปอร่ามทอง เจดีย์พระธาตุอินทร์แขวนวางตัวเองหมิ่นแหม่บนเหลี่ยมหิน ใครสักคนชี้ให้ดูภูมิประเทศอันแสนงดงาม คลื่นภูเขาสีเขียวครึ้มใส่ระดับไปลับตา



            ว่ากันว่ามีการชี้วัดให้ที่นี่มีอากาศสดสะอาด จัดปริมาณคุณภาพถึงอันดับ 7 ของบ้านเรา ความฉ่ำชื้นชื่นเย็นชักนำดึงดูดให้หมู่บ้านเล็ก ๆ กลางขุนเขาอย่างบ้านนาคูหากลายเป็นที่รู้จักและเป็นหมุดหมายปลายทางอีกแห่งของคนมาเยือนเมืองแพร่ ทว่ากับป่าเขา แมกไม้ และพืชพรรณสักชนิดที่หล่อหลอมผู้คนเล็ก ๆ บนนี้ขึ้นมา ระหว่างการผสมกลมกลืนและก้าวผ่านทิศทางการดำรงชีวิต ดูเหมือนความมั่นคงเป็นหนึ่งเดียวตรงนั้นจะสำหลักสำคัญกว่าอันดับใด ๆ



            2. ถนนเล็ก ๆ สายนั้นผันเปลี่ยนไปในนามของชีวิตที่ดีงาม เติบโต มันนำพาผู้มาสักการะองค์พระธาตุช่อแฮ ราบเรียบงดงามไร้ที่ติขณะที่ผู้คนสองฟากฝั่งก็ยังจดจำตลาดเล็ก ๆ อันเป็นที่พบกันระหว่างเมืองและป่าเขา ณ ตำบลแห่งนี้ได้ดี


            “แต่ก่อนเราลงไปค้าขายกันที่ตลาดช่อแฮเป็นหลักนั่นล่ะ” นาทีที่เราขึ้นไปถึงบ้านนาตอง หมู่บ้านในหุบเขาที่เคยเป็นดังที่ทางอันหลบเร้นในนิทานเมื่อสมัยก่อน ณ นาทีที่เข็มปัจจุบันเวียนมาถึง ไม่มีใครฟูมฟายถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแผ่นผืนสีเขียวของขุนเขา ทางหลวงหมายเลข 1022 ผันเปลี่ยนไปจากสิบปีที่แล้วอย่างสิ้นเชิง ทางดินและหลุมบ่อหมาดโคลนคอยฉุดรั้งรถไร้กำลังถูกทดแทนด้วยพื้นผิวแอสฟัลต์ราบเรียบ ลัดเลาะลงสู่หมู่บ้านที่มีห้วยน้ำก๋อนไหลผ่านกลางอย่างเย็นรื่น



            รอบด้านคือที่ราบกลางหุบเขาอันน่าหลงใหลเมื่อไปถึง หมู่บ้านในนิทานคล้ายปรากฏตรงหน้าอีกครั้ง ลำห้วยสายโบราณที่เราเคยมาถึงแผ่กว้างและเติบโตด้วยการชลประทาน บ้านเรือนมั่นคงแข็งแรงทดแทนกระท่อมแบบดั้งเดิม

            “ที่นี่มันเก่าแก่มาหลายรุ่น” ประหยัด แก้วมณี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านนาตองเดินนำเราไปตามสวนผลไม้ตามไหล่เขา ลัดเลาะลงไปในความเก่าแก่ของผืนแผ่นดินและป่าโบราณ เมื่อไปถึงแหล่งโบราณคดีชุมชนบ้านนาตอง โถงถ้ำตรงหน้าก็ชัดเจนด้วยหลุมชุดค้นโครงกระดูกมนุษย์โบราณ หน้าถ้ำปู่ปันตาหมีคือร่องรอยของภูเขาที่เคยมีมนุษย์โบราณพักพิงอาศัย เครื่องมือหิน โครงกระดูก การฝังศพ และเครื่องประดับบ่งบอกว่าในถ้ำแห่งนี้เคยมีมนุษย์โบราณอย่างน้อย 8 คน ไล่เรียงอายุตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ รายรอบพบกระดูกสัตว์อย่างเต่า ปู หอย ที่พวกเขาใช้เป็นอาหารตั้งแต่สมัยยุคหินใหม่



            “เด็ก ๆ ที่นี่เรียนรู้และรู้จักความสำคัญของโบราณดีกันตั้งแต่เล็ก ๆ” ผู้ช่วยประหยัดเล่าว่าหากใครมาเยือนบ้านนาตอง มัคคุเทศก์ชั้นดีคือนักเรียนที่เป็นลูกหลาน พวกเขาเติบโตมากลางขุนเขาอันเก่าแก่ของคนรุ่นปู่ย่า มีคืนวันและการเรียนรู้ทำความเข้าใจแผ่นดินที่เป็นบ้านอย่างถ่องแท้

            กลุ่มถ้ำอันเป็นแหล่งเรียนรู้แยกย่อยอย่างถ้ำพระ ถ้ำเก๊าอุ๊น ถ้ำรันตู แตกย่อยเป็นความงดงามของโพรงหินและเหลื่อมสาย ขณะที่พิพิธภัณฑ์บ้านนาตองในโรงเรียนกลางหมู่บ้านกลับฉายชัดภาพเก่าแก่ในโถงถ้ำออกมาอย่างเด่นชัด ในห้องเรียนเรียบง่ายโครงกระดูกของ “นาตอง แมน” ที่ได้รับการยืนยันจากศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ (SPAFA : SEAMEO Regional Centre for Archaeology and Fine Arts) ว่าอายุของมนุษย์โบราณคนนี้เก่าแก่ราว 4,500 ปี นอนอยู่ในแสงบ่ายไล้ผ่านหน้าต่างไม้ ขวานหิน ค้อนหิน รวมไปถึง “หินโดนัต” ที่สันนิษฐานกันว่าเป็นเครื่องมือการเกษตรในยุคหินใหม่บ่งบอกว่าพวกเขาไม่เพียงล่าสัตว์ หากยังเพาะปลูกเพื่อดำรงชีพ ความเก่าแก่ตกทอดสั่งสม ดั่งเพาะบ่มให้บ้านกลางขุนเขาแห่งนี้มีเรื่องราวและที่มา

            “คนรุ่นปู่ย่าผมมาทำกินจากข้างล่าง” จากแต่เดิมที่บ้านนาตองเคยเป็นพื้นที่อยู่กินของคนขมุ เย้า และมลาบรี เมื่อคนเมืองจากแถบบ้านป่าแดง บ้านต้นไคร้ และอีกหลายท้องที่ในเขตเมืองแพร่รู้ว่าที่ดินกลางหุบเขากว่า 480 ไร่ แห่งนี้แสนสมบูรณ์ด้วยน้ำท่า หมู่บ้านเล็ก ๆ จึงเกิดการก่อตั้งมากว่า 150 ปี แผ่นดินถูกปรับเปลี่ยนจากไร่เลื่อนลอยสู่สวนเมี่ยงอันแสนเก่าแก่ นับรวมไปถึงไม้ผลพื้นถิ่นและการเติบโตของชีวิต ตามสันดอยปรากฏเป็นสวนเมี่ยงโบราณที่หล่อเลี้ยงให้คนบ้านนาตองเต็มไปด้วยทิศทางทำกิน



            “เมี่ยงนาตองก็รสชาติหนึ่ง ของที่อื่นก็แตกต่างกันไป อยู่ที่ช่วงการเก็บและการนึ่งหรือดอง” สิงคาร สีทิ เล่าผ่านน้ำเสียงนุ่มเย็น ระหว่างเรานั่งอยู่ในบ้านไม้หลังเก่าแก่ เตานึ่งเมี่ยงส่งควันโขมง พืชตระกูลชาชนิดนี้ตกทอดอยู่ในวัฒนธรรมการกินของคนในเขตภาคเหนือและอีกหลายหลาก หากเป็นกลางวันหมู่บ้านล้วนสงบเงียบและเป็นบ้านของเฒ่าชราและเด็ก ๆ ชาวบ้านหลายคนหายไปในป่าเขา และเมื่อเราไต่ตามความชันดิกขึ้นไปก็พบพวกเขาอยู่ตามสวนเมี่ยงที่ใบได้ขนาด เก็บมันลงก๋วยพร้อมจะเป๊อะลงมาตามครัวเรือนเมื่อเย็นย่ำ

            เมื่อพวกเขาเดินข้ามห้วยน้ำก๋อน ส่งยิ้มทักทายตามบ้านโน้นบ้านนี้ ขณะที่ป่าเขาอันโอบล้อมระบายสีเขียวของฤดูฝน มันดูเป็นภาพงดงามเรียบง่ายอันฉายชัดในความเป็นอยู่ของคนกับภูเขาอย่างถึงที่สุด เป็นภาพที่พวกเขาล้วนหวงแหนและพร้อมจะส่งต่อสู่ลูกหลานไม่ว่าทิศทางของวันพรุ่งจะดำเนินไปเช่นไร



            3. “เราผ่านพ้นวิกฤตอันหนักหนาสาหัส” วันที่นั่งอยู่ริมสายน้ำใสเย็น ใครสักคนกำลังเพลิดเพลินกับเต่าปูลู-เต่าสายพันธุ์ภูเขาหางยาว ที่พบมากในเขตเขาบ้านนาตอง ประหยัดและสิงคารเล่าถึงคืนวันราวฝันร้ายที่คนบ้านนาตองเพิ่งผ่านพ้น เกือบสิบปีหลังจากเราเคยมาถึงหมู่บ้านแห่งนี้ ข่าวน้ำป่าพาพัดดินโคลนเข้าถมทับบ้านนาตองราวปี พ.ศ. 2549 ค่อยเลือนหายไปตามกาลเวลา ห้วยน้ำก๋อนที่เคยคดโค้งและเรียงรายด้วยบ้านไม้งดงามกลับกลายกว้างขวางด้วยการขุดลอกและปรับเป็นฝายชะลอน้ำ

            “หลายหลังย้ายขึ้นไปสร้างใหม่ตามเนินเขา คืนนั้นน้ำมาเร็ว กวาดดิน กวาดบ้านพังเป็นหลัง ๆ” สิงคารว่าถึงค่ำคืนหนึ่งที่คนบ้านนาตองไม่เคยลืมเลือน หลังฝันร้ายผ่านพ้นพวกเขาพบตัวตนแห่งความเสียหายและการเยียวยา ความช่วยเหลือเบื้องต้นจากภายนอกไม่เพียงพอเท่าการดูแลซึ่งกันและกัน



            “จากนั้นเราเริ่มต้นกันใหม่ ข้อตกลง กติกา ในการอยู่ร่วมกับป่าเขาที่เป็นป่าต้นน้ำถูกทำความเข้าใจและตกลงกันในหมู่บ้าน” ประหยัดว่าเขาเริ่มกันตั้งแต่ใส่ใจในห้วยน้ำก๋อน กำหนดพื้นที่ห้ามจับสัตว์น้ำในเขตหมู่บ้าน การห้ามล่าสัตว์และตัดไม้ ต่อเนื่องถึงกรอบกฎที่ทุกคนต้องเคารพร่วมกัน รวมไปถึงการทำงานร่วมกับหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ก๋อน-แม่สาย ส่วนจัดการต้นน้ำ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) ที่มาตั้งที่ทำการอยู่เหนือยอดเขาใกล้หมู่บ้าน ไม่เพียงร่วมกันดูแลป่าต้นน้ำ หากยังเลือกทิศทางให้ที่นี่เป็นเหมือนแหล่งเรียนรู้เรื่องราวระหว่างคนกับป่าอย่างมีมิติ

            “หลายคนมากางเต็นท์ในหน้าหนาวครับ มาเที่ยว มาดูความเป็นอยู่ของคนบ้านเรา” นาทีที่ขึ้นไปบนสันดอยอันเป็นที่ตั้งของหน่วยฯ แม่ก๋อน-แม่สาย บ้านนาตองกระจ่างตาอยู่เบื้องล่าง แดดบ่ายสะท้อนลำห้วยวาววามขณะป่ารอบด้านคือภาพชัดแห่งการฟื้นคืน

            ว่าไปในความงดงาม ชีวิตของคนที่นี่อาจเปรียบคล้ายภูเขาและสายน้ำที่หล่อหลอม ทั้งเก่าแก่คงทน รื่นเย็นอารี ทว่าก็ผ่านพ้นทั้งริ้วรอยบาดแผลและการเรียนรู้เยียวยาตนเองจนเกิดเป็นหนทางอันแสนชัดเจน และการหมุนผ่านของคืนวันกลางหุบเขาก็ไม่ใช่เรื่องของการร้างไร้เปล่าดาย ยามเช้าฉายภาพหมู่บ้านในนิทานอันมีอยู่จริงกลางขุนเขา พระสงฆ์ 2 รูป ค่อยเยื้องย่างเลียบเลาะไปตามบ้านไม้ริมห้วยน้ำก๋อน ทิวดอยห่มหมอกจาง ๆ และเจดีย์สีขาวของวัดธรรมานุภาพ ก็บ่งบอกว่านอกจากุนเขาและพืชพรรณ พุทธศาสนาคือทิศทางอันสงบสุขของคนที่นี่

            เราค่อย ๆ ทบทวนค่ำคืนกลางเดือนดาวและโอบอ้อมของขุนเขากลางหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในวันที่ลงจากเขา ย้อนขึ้นไปมองเมืองแพร่ผ่านมุมสูงแห่งพระธาตุดอยเล็ง นาทีนั้นที่ราบของเมืองแพร่กระจ่างตาอยู่เบื้องล่าง ขณะเมื่อหันมองกลับไปในภูเขาที่เราจากมา คล้ายโยงใยบางอย่างที่มองไม่เห็นกลับกระจ่างชัด เป็นภาพร่วมอันผสมสานที่ภูเขามอบให้คนตัวเล็ก ๆ ทั้งบนนั้นและเบื้องล่าง ตราบเท่าที่พวกเขายังเลือกจะฝากวางทิศทางชีวิตไว้กับมันอย่างคงทนและชัดเจน



ขอขอบคุณ

            คุณภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่ และทุกคนที่ ททท. สำนักงานแพร่ สำหรับการติดต่อ ประสานงาน และอำนวยความสะดวกตลอดการจัดทำสารคดี
            คุณเจริญพร ชัยยะกิจ และชาวบ้านนาคูหา สำหรับข้อมูลและการนำชมหมู่บ้าน
            คุณประหยัด แก้วมณี คุณสิงคาร สีทิ สำหรับค่ำคืนอบอุ่นที่บ้านนาตอง

คู่มือนักเดินทาง

            บ้านนาคูหาและบ้านนาตอง คือ แหล่งท่องเที่ยวโฮมสเตย์ใกล้อำเภอเมืองแพร่อันน่าไปเยี่ยมเยือนสวยงามด้วยวิวภูเขา อากาศสดสะอาดหนาวเย็น มากไปด้วยวิถีชีวิตอันน่าเรียนรู้ สามารถท่องเที่ยวทั้งแบบไป-เช้าและเย็น-กลับ หรือพักแรมสัมผัสวิถีชีวิตกับชาวบ้าน

การเดินทาง

            บ้านนาคูทา จากเมืองแพร่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1101 ออกจากตัวเมืองแยกซ้ายที่บ้านป่าแดงเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1024 ราว 20 กิโลเมตร

            บ้านนาตอง จากเมืองแพร่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1022 ผ่านพระธาตุช่อแฮ ตำบลช่อแฮ ขึ้นเขาสู่บ้านนาตอง ราว 20 กิโลเมตร

การติดต่อ

            ทั้ง 2 หมู่บ้านมีบริการต้อนรับนักท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์พักค้างแรมกับชาวบ้าน ชิมอาหารพื้นถิ่น ท่องเที่ยวธรรมชาติรวมไปถึงเรียนรู้อาชีพต่าง ๆ ผ่านกิจกรรมมากมาย บ้านนาคูหา ติดต่อคุณเจริญพร ชัยยะกิจ โทรศัพท์ 08 4722 900808 4722 9008 บ้านนาตอง ติดต่อชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านนาตอง โทรศัพท์ 0 5452 9060-10 5452 9060-1

            สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานแพร่ โทรศัพท์ 0 5452 11270 5452 1127 เว็บไซต์ tourismthailand.org


 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 55 ฉบับที่ 1 สิงหาคม 2557



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สุขสงบ ณ นาตอง-นาคูหา หมู่บ้านกลางขุนเขา อัปเดตล่าสุด 18 มีนาคม 2567 เวลา 18:27:48 15,755 อ่าน
TOP
x close