ถึงแม้ว่า "ดอยอ่างขาง" จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ปลายสุดของจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านการเดินทางขึ้นเขา-ลงเขาอยู่หลายชั่วโมง แต่ก็ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวเสมอ อาจเพราะมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี มีสถานีวิจัยพืชเมืองหนาวแห่งแรกของโครงการหลวง มีแปลงผักแปลงดอกไม้ให้ชม และยังมีหมู่บ้านชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ให้ได้เยี่ยมชมวิถีชีวิตแบบใกล้ชิด จึงทำให้ใคร ๆ อยากไปสัมผัสกับดินแดนแห่งนี้ เฉกเช่นเดียวกับบันทึกการเดินทางของ คุณจันจิรา อินทรศักดิ์ สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ที่ได้ไปเยือนดอยอ่างขางในแต่ละช่วงฤดูกาล และนำมาแชร์ให้เราได้ชมกันค่ะ
++++++++++++++++++++
ประวัติความเป็นมาของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านผักไผ่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และได้เสด็จผ่านบริเวณดอยอ่างขาง ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าชาวเขาส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ทำการปลูกฝิ่นแต่ยังยากจน ทั้งยังทำลายทรัพยากรป่าไม้ต้นน้ำลำธารที่เป็นแหล่งสำคัญต่อระบบนิเวศน์ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนอื่นของประเทศได้ จึงทรงมีพระราชดำริว่าพื้นที่นี้มีภูมิอากาศหนาวเย็น มีการปลูกฝิ่นมาก ไม่มีป่าไม้อยู่เลยและสภาพพื้นที่ไม่ลาดชันนัก ประกอบกับพระองค์ทรงทราบว่าชาวเขาได้เงินจากฝิ่นเท่ากับที่ได้จากการปลูกท้อพื้นเมือง และทรงทราบว่าที่สถานีทดลองไม้ผลเมืองหนาวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ทดลองวิธีติดตา ต่อกิ่งกับท้อฝรั่ง จึงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท เพื่อซื้อที่ดินและไร่จากชาวเขาในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง
จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2512 โดยทรงแต่งตั้งให้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งประธานมูลนิธิโครงการหลวง ใช้เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ผัก ไม้ดอก เมืองหนาว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขาในการนำพืชเหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานนามว่า "สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง"
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บ http://www.angkhangstation.com
เนื่องจากมีภาพจำนวนมากที่อยากจะนำมาแบ่งปันให้เพื่อน ๆ ได้ชมกันค่ะ อาจจะนำมาโพสต์ในนี้ได้ไม่หมด เพื่อน ๆ คนไหนสนใจอยากชมภาพท่องเที่ยวดอยอ่างขางและข้อมูลของดอยอ่างขาง สามารถเข้าไปดูได้ที่เพจ "ดอยอ่างขาง 360 องศา" กันได้นะคะ https://www.facebook.com/doiangkhang.story
ดอยอ่างขางเมื่อเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่เราสามารถเลือกขึ้นได้สองทาง ทางแรกที่นิยมใช้กัน ก็คือ ขึ้นตรงเส้นทางไชยปราการ-ฝาง ทางนี้แม้ระยะทางจะสั้น แต่ค่อนข้างชันมาก ถ้ารถไม่แรงพอแนะนำให้จอดไว้ตรงปากทางแล้วนั่งรถสองแถวขึ้นไปน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ทางที่สองมาทางเชียงดาวแล้วขึ้นไปทางหมู่บ้านอรุโณทัย ทางนี้ไม่ชันมากแต่อาจจะแคบหน่อย ส่วนตัวชอบไปทางเส้นนี้ค่ะ เพราะวิวสวยดี รถไม่ค่อยเยอะ ชมวิวข้างทางไปเพลิน ๆ ไม่ต้องรีบร้อนอะไรมากมาย
เมื่อขึ้นไปถึงดอยอ่างขางจุดแรกที่เราจะได้เจอ ก็คือ "ฐานปฏิบัติการดอยอ่างขาง" ที่นี่ถือว่าเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยที่สุดจุดหนึ่งในอ่างขางเลยค่ะ เราสามารถพบเจอกับทะเลหมอกได้ทั้งช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว แต่ช่วงที่ไปแล้วเจอแน่ ๆ จะเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว ประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนค่ะ ชุดนี้จะเป็นภาพที่ถ่ายจากฐานปฏิบัติการดอยอ่างขางและบริเวณใกล้เคียงค่ะ
สถานีเกษตรหลวงอ่างขางยามค่ำคืน ด้านในสถานีเกษตรจะมีสโมสรอ่างขางที่ให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม โดยใช้ผลผลิตจากโครงการหลวงเป็นวัตถุดิบหลักในการประกอบอาหาร อีกทั้งยังมีมุมน่ารัก ๆ ไว้ให้ถ่ายรูปด้วยค่ะ และด้านในสถานีเกษตรก็ยังมีบ้านพักรับรองไว้บริการให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาพักอีกด้วยค่ะ
ไร่สตรอว์เบอร์รีบ้านนอแล เป็นไร่สตรอว์เบอร์รีแนวขั้นบันไดจะเริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม ผลผลิตจะออกเยอะสุดช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ค่ะ โดยผลิตทั้งหมดจะนำส่งให้โครงการหลวงเป็นผู้จัดจำหน่ายให้ ถ้าใครมาเที่ยวแนะนำค่ะว่าอย่าเด็ดผลผลิตของเกษตรกรทานนะคะ เพราะเค้าต้องนำส่งให้โครงการหลวง หากอยากอุดหนุนหรือซื้อไปรับประทาน แนะนำว่าให้ไปซื้อด้านในโครงการหลวงนะคะ
อยากให้คนที่ได้มาเยือนที่นี่ไม่ใช่แค่มาเที่ยวแล้วก็จากไป โดยที่ไม่ได้อะไรกลับไปเลย อยากให้มาด้วยใจที่แบบว่ามาตามหาอะไรสักอย่าง ความประทับใจ สิ่งดี ๆ ที่พ่อหลวงของเราได้ทำไว้ให้กับประชาชนของท่าน อยากให้กลับไปด้วยใจที่สำนึกรักบ้านเกิด การดำรงชีวิตอยู่อย่างพอเพียง กลับไปด้วยความสุขใจที่เราได้มาเยือนดอยอ่างขางแห่งนี้ค่ะ
สำหรับภาพที่โพสต์มาทั้งหมดก็หวังว่าได้ชมกันแล้วคงจะมีความสุขกันนะคะ แม้ภาพจะไม่ได้สวยอะไรมากมาย แต่อยากจะนำมาแบ่งปันให้ได้ชมกัน ขอบคุณสำหรับทุกความคิดเห็นและขอบคุณที่เข้ามาชมภาพกันค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณจันจิรา อินทรศักดิ์ สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม และ เฟซบุ๊ก Jira Traveler