เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
อ่าวพร้าวยังปลอดภัย นักวิชาการ แจงข่าวคราบน้ำมันตกค้างอ่าวพร้าวสูงกว่าหาดปกติ 15 เท่า เป็นการเก็บตัวอย่างตั้งแต่ช่วงสิงหาคม 2556 หลังเกิดเหตุน้ำมันรั่ว 1 เดือน ไม่ใช่ค่าในปัจจุบัน ขอประชาชนไม่ต้องตกใจ
จากกรณีที่ ดร.สมภพ รุ่งสุภา จากสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวในการประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหาเหตุการณ์น้ำมันรั่วใกล้ชายฝั่งมาบตาพุด เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 ถึงผลการเก็บตัวอย่างน้ำทะเล ตะกอนดิน และสัตว์หน้าดินขนาดใหญ่จากชายฝั่งมาบตาพุด จ.ระยอง ไปตรวจสอบปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน แล้วพบว่า ผิวทรายบริเวณอ่าวพร้าวยังมีคราบน้ำมันในปริมาณมากกว่าหาดทรายปกติ (อ่าวหวาย) ถึง 15 เท่านั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 ดร.สมภพ รุ่งสุภา ได้ชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนเล็กน้อย โดยผลการตรวจสอบน้ำทะเลและตะกอนดินที่ระบุว่ามีคราบน้ำมันมากกว่าหาดทรายปกติถึง 15 เท่านั้น เป็นการเก็บตัวอย่างน้ำทะเลและตะกอนดินในเดือนสิงหาคม 2556 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากน้ำมันรั่วแล้วประมาณ 1 เดือน ไม่ใช่ค่าที่ได้จากการตรวจสอบตะกอนดินในวันนี้
โดย ดร.สมภพ อธิบายว่า ผลการวัดปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในน้ำทะเลที่เก็บมาตรวจสอบในช่วงเดือนสิงหาคม 2556 นั้น พบว่าเกือบทั้งหมดอยู่ในมาตรฐาน ยกเว้นบริเวณท่าเรือข้ามฟากเกาะเสม็ด และท่าเรือบ้านเพที่สูงกว่ามาตรฐาน
สำหรับเรื่องปิโตรเลียมไฮโดร์คาร์บอนในตะกอนดินที่มีการระบุว่า พบปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนที่ชั้นทรายอ่าวพร้าวสูงกว่าอ่าวหวาย 15 เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าค่าที่พบที่่อ่าวพร้าวเกินมาตรฐานหรือเป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อมและประชาชนหรือไม่ เพราะปัจจุบันยังไม่มีค่ามาตรฐานของปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์อบอนในตะกอนดินว่าเป็นเท่าไร จึงขอประชาชนอย่าตระหนกตกใจ ไม่ซื้ออาหารทะเล หรือยกเลิกไปเที่ยวเกาะเสม็ด
อย่างไรก็ดี ทางสถาบันได้ทำการเก็บตัวอย่างซ้ำจุดเดิมอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2556 คือหลังเกิดปัญหาน้ำมันรั่วแล้ว 5 เดือน เพื่อไปตรวจสอบปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในตะกอนดินอีกครั้ง คาดว่าจะทราบผลภายในปลายเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งจะนำเสนอต่อคณะกรรมการการศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม กรณีที่เกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล จ.ระยอง สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยต่อไป
* แก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลล่าสุด วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 16.40 น.
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
, สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย