x close

ย้อนรอยเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลครั้งใหญ่สุด ณ อ่าวเม็กซิโก 2553


ย้อนรอย น้ำมันรั่ว อ่าวเม็กซิโก 2553


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก nofishleft.wordpress.com
   
            ย้อนรอยเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วที่อ่าวเม็กซิโก สหรัฐฯ เมื่อ พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

            ในขณะนี้ สถานการณ์น้ำมันรั่วที่เกาะเสม็ด กำลังเป็นประเด็นปัญหาสำคัญซึ่งทั้งชาวไทยและทั่วโลกต่างก็ให้ความสนใจอย่างมาก แต่อย่างที่หลายคนคงจะทราบว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ที่ผ่านมาโลกได้เคยมีเหตุรั่วไหลของน้ำมันเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว โดยสำหรับครั้งที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์โลกก็คงจะหนีไม่พ้นเหตุน้ำมันดิบรั่วที่อ่าวเม็กซิโก ซึ่งได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลทั้งต่อระบบนิเวศและกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นในวันนี้เราจึงขอพาทุก ๆ คนไปย้อนรอยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นอีกครั้ง

            ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2553 ที่บริเวณอ่าวเม็กซิโก นอกชายฝั่งสหรัฐฯ ขณะที่คนงานกำลังขุดเจาะน้ำมันที่ระดับความลึก 1,500 เมตร ที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน ดีพวอเทอร์ ฮอไรซอน ของบริษัท บริติช ปริโตเลียม หรือ บีพี ซึ่งบริหารงานโดยบริษัททรานส์โอเชียน แท่นขุดเจาะน้ำมันก็ได้เกิดการระเบิดขึ้น จนแรงระเบิดและเพลิงไหม้ทำให้คนงานเสียชีวิตทันที 11 ราย และบาดเจ็บอีก 17 ราย

            หลังจากเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ของทางการสหรัฐฯ และบีพีใช้เวลาดับไฟนานถึง 3 วัน จนกระทั่งแท่นขุดเจาะจมลงสู่ใต้ทะเลเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 เป็นเหตุให้น้ำมันดิบปริมาณกว่า 4.9 ล้านบาร์เรลถูกปล่อยรั่วไหลลงสู่อ่าวเม็กซิโก จนระบบนิเวศทางทะเลในบริเวณนั้นถูกทำลายเสียหาย สัตว์ทะเลเสียชีวิตและมีผู้ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก รัฐบาลสหรัฐฯ จึงได้ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ของบีพีทำความสะอาดคราบน้ำมันทั้งหมดและกู้แท่นขุดเจาะที่จมหายไป ซึ่งต้องใช้เวลานานถึง 87 วัน จนเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2553

ย้อนรอย น้ำมันรั่ว อ่าวเม็กซิโก 2553

            อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุทั้งบีพีและทรานส์โอเชียนต่างฟ้องร้องซึ่งกันและกัน โดยต่างก็โทษอีกฝ่ายว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้แท่นขุดเจาะระเบิดจนเกิดเหตุรั่วไหลของน้ำมันดิบดังกล่าว ขณะที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ก็ได้ใช้เวลาพิจารณาคดีดังกล่าวนานกว่า 2 ปี ในการพิจารณาเอกสารของทั้ง 2 ฝ่าย ประกอบกับเอกสารการร้องเรียนจากประชาชนผู้เดือดร้อนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่ง พร้อมกับได้เชิญผู้บริหารของคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายให้มาชี้แจงและตอบข้อซักถามหลายครั้ง
   
            จนกระทั่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ผู้บริหารของบีพีก็ได้ออกมายินยอมชำระค่าปรับแก่สหรัฐฯ เป็นมูลค่า 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.39 แสนล้านบาท) เพื่อขอยอมความนอกศาล ซึ่งนี่ถือเป็นค่าปรับในคดีสิ่งแวดล้อมที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา พร้อมกับยอมลงนามรับผิดในคดีอาญา 14 กระทง แบ่งเป็นกระทำการโดยประมาทจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 11 กระทง ขัดขวางกระบวนการยุติธรรมด้วยการเจตนาให้การเท็จเพื่อปกปิดปริมาณน้ำมันรั่วไหลที่แท้จริง 1 กระทง และสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อระบบนิเวศ 2 กระทง

            นอกจากนี้ บีพียังยอมรับการถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ระงับใบอนุญาตประกอบการ และยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข หลังภาคธุรกิจการประมงของสหรัฐฯ ออกมายื่นอุทธรณ์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท

            ในเวลาไล่เลี่ยกัน ทางทรานส์โอเชียนก็ได้ออกมายอมรับผิด พร้อมกับยินยอมชำระค่าเสียหายทั้งในทางแพ่งและทางอาญารวม 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.3 หมื่นล้านบาท) เช่นกัน และยอมรับการถูกระงับสัญญาจากสหรัฐฯ ในทุกกรณี

            และล่าสุด ในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้ บริษัทฮัลลิเบอร์ตัน ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับสัมปทานบริหารแท่นขุดเจาะจากบีพี ก็ได้ออกมาประกาศขอยอมรับผิดฐานเจตนาทำลายข้อมูลในคอมพิวเตอร์ เพื่อปกปิดหลักฐานของอุบัติเหตุที่แท่นขุดเจาะดีพวอเทอร์ ฮอไรซอน โดยยินยอมชำระค่าเสียหายอย่างไม่มีเงื่อนไข และพร้อมให้รัฐบาลสหรัฐฯ ทำทัณฑ์บนแล้วเช่นกัน



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ย้อนรอยเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลครั้งใหญ่สุด ณ อ่าวเม็กซิโก 2553 อัปเดตล่าสุด 31 กรกฎาคม 2556 เวลา 10:09:28 12,807 อ่าน
TOP