เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
แมงกะพรุนไฟพิษโผล่หาดภูเก็ต นักวิชาการเตือนพิษน้อง ๆ งูเห่า เตือนคนที่ลงเล่นน้ำอย่าไปสัมผัส
จากกรณีที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำหาดในหาน จังหวัดภูเก็ต พบแมงกะพรุนเกยตื้นบริเวณหาดในหาน และหาดในทอน จึงได้ส่งตัวอย่างแมงกะพรุนให้เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน จ.ภูเก็ต ตรวจสอบนั้น ล่าสุด นักวิชาการได้ออกมาเตือนนักท่องเที่ยวแล้วว่า แมงกะพรุนดังกล่าวมีพิษร้ายแรงเกือบเท่างูเห่า
โดยนายอุกกฤต สตภูมินทร์ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ผลจากการเก็บตัวอย่างแมงกะพรุนพบว่า เป็นแมงกะพรุนกลุ่ม Hydrozoa วงศ์ Physalidae ชนิด Physalia sp. ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของแมงกะพรุนไฟ พบได้บ่อยในเขตน้ำอุ่น เช่น ประเทศออสเตรเลีย แต่สำหรับในชายฝั่งทะเลอันดามันถือเป็นการพบครั้งแรก
รักษาการ ผอ.สถาบันวิจัยฯ กล่าวต่อว่า แมงกะพรุนชนิดดังกล่าวมีพิษรุนแรงประมาณร้อยละ 75 ของพิษงูเห่า โดยสารพิษจะอยู่ในสายหนวด หากสัมผัสจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้หลายระดับขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล โดยอาการมีทั้งแสบคัน ปวดแสบปวดร้อน เป็นไข้ ช็อก หรือกระทั่งเกิดความผิดปกติขึ้นกับหัวใจและปอด จนถึงขนาดทำให้เสียชีวิตได้
นายอุกกฤต ยังกล่าวอีกว่า สำหรับแมงกะพรุนที่พบในหาดจังหวัดภูเก็ตมีพิษในระดับหนึ่งเท่านั้น โดยไม่ได้ทำให้ผู้สัมผัสถึงแก่ชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำหาดควรเตือนนักท่องเที่ยวที่ลงเล่นน้ำให้ระวังแมงกะพรุนดังกล่าวที่มีสีฟ้าสดดูสะดุดตาน่าสัมผัส โดยย้ำว่า ให้ระมัดระวังอย่าไปสัมผัสแมงกะพรุนดังกล่าว เพราะอาจได้รับพิษได้ หรือแม้แต่ตัวที่ตายแล้วก็ยังมีพิษอยู่
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
[7 มิถุนายน] แมงกะพรุนกล่องแพร่ระบาด พิษถึงตาย!
เผย "แมงกะพรุนกล่อง" แพร่ระบาดในทะเลอันดามัน มีพิษรุนแรงถึงขั้นหัวใจล้มเหลว ทช.จับมือกรมควบคุมโรคติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด พร้อมร่วมมือเก็บข้อมูลและหาแนวทางป้องกันผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เตือนช่วงเดือน เม.ย.-ก.ค. เฝ้าระวังแมงกะพรุนพิษ
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ นายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และ นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ลงนามความเข้าใจและความร่วมมือทางด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับแมงกะพรุนพิษ
นายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบการแพร่ระบาดของแมงกะพรุนพิษในประเทศไทย และมีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการสัมผัสแมงกะพรุนพิษอยู่เป็น ระยะๆ สำหรับแมงกะพรุนพิษที่มีอันตรายทำให้ชีวิตได้มากที่สุดคือ แมงกะพรุนกล่อง (Box jellyfish) ซึ่งความรู้เกี่ยวกับแมงกะพรุนกล่องยังเป็นเรื่องใหม่ในวงการชีววิทยาทางทะเล ขณะนี้ยังไม่มีระบบเฝ้าระวัง มาตรการป้องกันและการรักษาพิษแมงกะพรุนกล่อง ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกำลังตื่นตัวเรื่องการบาดเจ็บและเสียชีวิต จากแมงกะพรุนกล่องในประเทศไทย หากไม่มีแนวทางการจัดการที่เหมาะสมและทันเวลาจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการท่อง เที่ยว ดังนั้นจึงได้ร่วมมือกับกรมควบคุมโรคเพื่อศึกษาปัญหาแมงกะพรุนพิษอย่างเป็น ระบบให้สำเร็จเป็นรูปธรรมภายในเวลา 2 ปี
นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและป่าชายเลน ทช. กล่าวว่า มีหน้าที่รับผิดชอบศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ การแพร่กระจาย ฤดูกาลของแมงกะพรุนพิษ บริเวณชายหาดท่องเที่ยวและแหล่งทำการประมงในพื้นที่ชายฝั่งทะเล โดยเริ่มดำเนินการทางฝั่งทะเลอันดามันใน 3 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่และสตูล และฝั่งอ่าวไทยใน 10 จังหวัด
"ปัจจุบันยังไม่สามารถสรุป เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพและฤดูกาลของแมงกะพรุนพิษ รวมถึงไม่ทราบระดับของปัญหาที่แท้จริง แต่ควรมีการเฝ้าระวังการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากแมงกะพรุนพิษ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลและรายงานผลให้เป็นระบบ รวมทั้งสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานกับคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการลดอัตราการได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการ สัมผัสแมงกะพรุนพิษในอนาคต" นายวรรณเกียรติ เผย
สำหรับแนวโน้มการแพร่ขยายพันธุ์ของแมงกะพรุนกล่องในทะเลอันดามัน นายวรรณเกียรติระบุว่า คาดว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นเนื่องจากปลาผู้ล่าที่กินแมงกะพรุนวัยอ่อนมีจำนวนลดลง ธรรมชาติเสียสมดุลทำให้แมงกะพรุนวัยอ่อนเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ทำให้มีนักท่องเที่ยวและชาวประมงพบเจอบ่อยขึ้น แต่ยังไม่สามารถบอกตัวเลขที่ชัดเจนได้ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยเก็บข้อมูลเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ทั้งนี้ ช่วงเวลาที่ควรเฝ้าระวังแมงกะพรุนกล่องคือ เดือนเมษายน-กรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงที่พบแมงกะพรุนกล่องได้บ่อยที่สุด ทั้งนี้ ลักษณะพิเศษของแมงกะพรุนกล่องคือ สามารถเคลื่อนไหวได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพากระแสน้ำ เพราะมีดวงตามองหาอาหารเองได้ ส่วนลำตัวค่อนข้างใสและมองเห็นได้ยาก
"แมงกะพรุนพบแพร่กระจายได้ในทะเลทั่วโลก ส่วนใหญ่พบในทะเลเขตร้อนหรืออบอุ่น มีส่วนน้อยพบในน้ำจืด มีสายพันธุ์มากกว่า 9,000 สายพันธุ์ และมากกว่า 100 สายพันธุ์มีพิษต่อมนุษย์ โดยเฉพาะจากการสัมผัสถูกตัว ซึ่งมีอาการได้หลากหลาย ตั้งแต่รู้สึกคัน มีผื่นเล็กน้อย ไปจนถึงทำให้ระบบหัวใจหรือระบบหายใจล้มเหลว แมงกะพรุนกล่องเป็นแมงกะพรุนชนิดที่มีพิษร้ายแรงที่สุด สามารถทำให้เกิดการเสียชีวิตภายใน 2-10 นาที และมีรายงานพบมากในแถบพื้นที่เขตร้อนของประเทศออสเตรเลีย" นายวรรณเกียรติ เผย
ด้าน นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสัมผัสแมงกะพรุนพิษตั้งแต่ปี 2546-2552 มีจำนวน 381 ราย แบ่งเป็นชาวต่างชาติ 199 ราย คนไทย 182 ราย เหตุเกิดในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ สตูลและภูเก็ต ส่วนผู้เสียชีวิตเป็นชาวต่างชาติมีจำนวน 4 รายที่เกาะสมุย เกาะพงันและเกาะลันตา ล่าสุดเมื่อปลายปี 2553 มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 รายที่จังหวัดตราด จากการร่วมมือกับ ทช.ครั้งนี้ สำนักระบาดวิทยามุ่งเน้นการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและการดูแลรักษา โดยจะเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนและผู้ประกอบ การธุรกิจโรงแรมในพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งกำหนดแนวทางการป้องกันการบาดเจ็บจากการสัมผัสแมงกะพรุนพิษอย่างเป็นระบบ
"ในเบื้องต้นแนะนำให้เรือประมง เรือท่องเที่ยวและชายหาดในพื้นที่เสี่ยง จะต้องเตรียมน้ำส้มสายชูให้พร้อม หากมีผู้สัมผัสแมงกะพรุนกล่องให้รีบใช้น้ำส้มสายชูราดบริเวณที่เป็นแผลแล้ว นำส่งโรงพยาบาลทันที" นพ.ภาสกร เผย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก