สงขลา เมืองใหญ่สองทะเล เสน่ห์สะพานป๋า

สงขลา

สะพานติณสูลานนท์

หาดสมิหลา

สงขลา (ททท.)

          คำขวัญ...นกน้ำเพลินตา สมิหลาเพลินใจ เมืองใหญ่สองทะเล เสน่ห์สะพานป๋า ศูนย์การค้าแดนใต้

          จังหวัดสงขลา เป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย เป็นเมืองท่าและเมืองชายทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยโบราณ และเป็นเมืองที่มีอารยธรรมเจริญรุ่งเรืองมาเป็นเวลานานหลายศตวรรษ จึงมีแหล่งโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมาย อีกทั้งยังมีมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่นจากบรรพบุรุษดั้งเดิม ทั้งขนบธรรมเนียม ประเพณี ภาษา และการละเล่นพื้นเมืองต่าง ๆ ที่น่าสนใจและน่าศึกษามากมาย

          นอกจากนี้สงขลายังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทั้งชายทะเล ทะเลสาบ ป่าไม้ น้ำตก และมีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ทั้งบนบกและในน้ำ มีอำเภอหาดใหญ่เป็นศูนย์กลางการค้าและการคมนาคม เป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติแห่งสำคัญของภูมิภาคและของประเทศ จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวมาเลเซีย มาเยี่ยมเยือนและท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากในแต่ละปี

          จังหวัดสงขลา มีเนื้อที่ประมาณ 7,393 ตารางกิโลเมตร หรือ 4,620,625 ไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 26 ของประเทศ ลักษณะพื้นที่ทางทิศเหนือของจังหวัดส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ทางทิศตะวันออกเป็นที่ราบริมทะเล ส่วนทางทิศใต้และทิศตะวันตกเป็นเขตภูเขาและที่ราบสูง โดยมีเทือกเขาสันกาลาคีรีเป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นระหว่างสงขลาและรัฐเคดาห์ สหพันธรัฐมาเลเซีย

          เมืองสงขลานี้เดิมมีชื่อที่คนไทยใช้เรียกกันว่า "เมืองสทิง" สันนิษฐานว่าชื่อเมือง "สงขลา" น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า "สิงหลา" ที่แปลว่าเมืองสิงห์ อันเป็นชื่อที่พ่อค้าชาวเปอร์เซียอินเดียใช้เรียกกันในอดีต เนื่องจากได้แล่นเรือผ่านเข้ามาในทะเลสาบสงขลา เห็นเกาะหนู-เกาะแมวจากระยะไกล ๆ มีลักษณะคล้ายสิงห์ 2 ตัวหมอบเฝ้าปากทางเข้าเมือง จึงตั้งชื่อเมืองตามนั้น หรืออีกข้อสันนิษฐานหนึ่งกล่าวว่า คำว่า "สงขลา" นั้นมาจากคำว่า "สิงขร" ที่แปลว่า "ภูเขา" เนื่องจากเมืองสงขลาในยุคดั้งเดิมตั้งอยู่เชิงเขา เมื่อพ่อค้าชาวมลายูเดินทางเข้ามาค้าขาย ได้ออกเสียงเพี้ยนเป็น "เซ็งคอรา" และต่อมาเมื่อชาวตะวันตกเข้ามา ก็ออกเสียงชื่อเมืองเพี้ยนเป็น "ซิงกอรา" (Singora) จากนั้นจึงค่อย ๆ เพี้ยนเป็นคำว่า "สงขลา" ดังปัจจุบัน

มัสยิดกลาง สงขลา

          เมืองสงขลาเป็นชุมชนขนาดใหญ่มาตั้งแต่ในอดีต ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลสาบสงขลา ในบริเวณที่เป็นอำเภอสทิงพระในปัจจุบัน เป็นศูนย์กลางการปกครองของดินแดนรอบ ๆ ทะเลสาบสงขลา ในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12–19 มีรูปแบบวัฒนธรรมแบบศรีวิชัย มีการขุดคลองเชื่อมต่อระหว่างตัวเมืองกับทะเลสาบสงขลาและอ่าวไทย และทำการติดต่อค้าขายกับพ่อค้าชาวจีนในสมัยราชวงศ์ถัง (ประมาณ พ.ศ. 1201–1450)

          ต่อมาอาณาจักรศรีวิชัยได้เริ่มเสื่อมอำนาจลงเพราะการ รุกรานจากชนชาติต่าง ๆ ทั้งพวกโจฬะ จากอาณาจักรตันเชอร์ทางภาคใต้ของอินเดีย พวกโจรสลัดมาเลย์ และชาวมุสลิมมลายู ที่อพยพมาจากหมู่เกาะต่าง ๆ ในประเทศอินโดนีเซีย โดยมีประเทศอังกฤษสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ชุมชนเมืองสทิงพระเก่าก็ได้อพยพโยกย้ายไปตั้งรกรากอยู่ในหลายพื้นที่ของดินแดนแถบนี้ เกิดเป็นเมืองต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตลอดระยะเวลาหลายร้อยปี

          ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยา เมืองสงขลาเป็นหนึ่งในเมืองประเทศราชจำนวน 16 หัวเมือง และในสมัยกรุงธนบุรี เมืองสงขลาเริ่มมีบทบาทสำคัญขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากการค้ากับประเทศจีนเจริญขึ้น มีคนจีนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองสงขลาเป็นจำนวนมาก ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงแต่งตั้งหัวหน้าคนจีนขึ้นเป็นเจ้าเมือง

          เมืองสงขลาจึงถูกปกครองโดยเจ้าเมืองในตระกูล ณ สงขลา ติดต่อกันมาเป็นเวลานานถึง 126 ปี เจ้าเมืองชาวจีนเหล่านี้ได้วางพื้นฐานความเจริญด้านต่าง ๆ และพัฒนาเมืองสงขลาจากที่เป็นเมืองบริวารเล็ก ๆ ของนครศรีธรรมราช เจริญเติบโตจนกระทั่งกลายเป็นเมืองศูนย์การค้าขนาดใหญ่ และเป็นที่ตั้งที่ว่าการมณฑลนครศรีธรรมราชระหว่างปี พ.ศ. 2439–2476 ทำการค้าขายกับกรุงเทพมหานคร สิงคโปร์ และเมืองอื่นๆ อย่างเจริญรุ่งเรือง และมีการก่อสร้างศิลปวัตถุและศาสนสถานไว้มากมายบริเวณสองฝั่งปากทะเลสาบสงขลา

แหลมสมิหลา

สถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาด

แหลมสมิหลา

          อยู่ในเขตเทศบาลเมือง ห่างจากตลาดทรัพย์สิน (ตลาดสดเทศบาล) ประมาณ 2.5 กิโลเมตร มีหาดทรายขาวสะอาด ทิวสนร่มรื่น รูปปั้นนางเงือกอันเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดสงขลา และรูปปั้นหนูแมว โดยรอบบริเวณได้จัดสวนหย่อมไว้ดูร่มรื่นเหมาะเป็นที่นั่งพักผ่อนยามเย็น

          เมี่อมองออกไปในทะเลจะเห็น เกาะหนูเกาะแมว อันเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของแหลมสมิหลา ที่มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า มีพ่อค้าชาวจีนผู้หนึ่งคุมเรือสำเภาเดินทางมาค้าขายระหว่างจีนกับสงขลา เป็นประจำ วันหนึ่งพ่อค้าผู้นี้ได้ซื้อหมากับแมวลงเรือไปเมืองจีนด้วย หมากับแมวอยู่บนเรือนานๆเกิดความเบื่อหน่ายจึงปรึกษาหาวิธีการที่จะกลับบ้าน หมากับแมวได้ทราบว่าพ่อค้ามีดวงแก้ววิเศษที่ทำให้ไม่จมน้ำ แมวจึงคิดอุบายโดยให้หนูไปขโมยแก้ววิเศษของพ่อค้ามา และหนูขอหนีขึ้นฝั่งไปด้วย ทั้งสามว่ายน้ำหนีลงจากเรือโดยที่หนูอมดวงแก้วเอาไว้ในปาก

          ขณะนั้นหนูนึกขึ้นได้ว่าถ้าถึงฝั่ง หมากับแมวคงจะแย่งเอาดวงแก้วไปจึงคิดที่จะหนี ฝ่ายแมวซึ่งว่ายตามหลังมาก็คิดเช่นกัน จึงว่ายน้ำรี่ไปหาหนู หนูตกใจว่ายน้ำหนีไม่ทันระวังตัว ดวงแก้ววิเศษที่อมไว้จึงตกลงจมหายไปในน้ำ หนูและแมวต่างก็หมดแรงจมน้ำตายกลายเป็นเกาะหนูเกาะแมวอยู่ที่อ่าวหน้าเมือง ส่วนหมาตะเกียกตะกายว่ายน้ำไปจนถึงฝั่งและสิ้นใจตายด้วยความเหน็ดเหนื่อย กลายเป็นหินบริเวณเขาตังกวนอยู่ริมอ่าวสงขลา ดวงแก้ววิเศษที่หล่นจากปากหนูแตกละเอียดกลายเป็นหาดทรายแก้วอยู่ทางด้าน เหนือของแหลมสน

          การเดินทาง จากอำเภอหาดใหญ่สามารถใช้บริการรถประจำทางสายหาดใหญ่-สงขลา แต่หากอยู่ในอำเภอเมืองก็มีรถสองแถวบริการไปชายหาด

          หมายเหตุ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ทางลาด มีขนาดความกว้างค่อนข้างมาก วัสดุพื้นเรียบ และความชันเหมาะสม มีทางเดินลัดเลาะริมชายหาดเป็นทางยาว พื้นผิวทำจากวัสดุไม่ลื่น ไม่มีสิ่งกีดขวาง และพื้นค่อนข้างเรียบ รถ Wheel Chair สามารถเข้าถึงได้ แต่บางจุดพื้นผิวมีระดับ และบริเวณชายหาดรถ Wheel Chair เข้าถึงยาก

สวนสัตว์สงขลา

          เป็นสวนสัตว์เปิดริมถนนสงขลา-จะนะ ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง มีเนื้อที่ 911 ไร่ มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และขยายพันธุ์สัตว์ป่าของไทยคืนสู่ธรรมชาติ พื้นที่เป็นภูเขาเล็ก ๆ หลายลูก มีถนนลาดยางโดยรอบและแยกชนิดสัตว์ไว้เป็นหมวดหมู่ มีสัตว์มากมายหลายชนิด ทั้งที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศและต่างประเทศ เช่น อูฐ นกชนิดต่างๆ วัวแดง เสือ จระเข้ ฯลฯ นอกเหนือจากสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ อันควรค่าแก่การศึกษา

          สวนสัตว์สงขลายังมีจุดเด่นที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดคือ จุดชมวิวซึ่งสามารถมองเห็นทัศนียภาพของเมืองสงขลา บริเวณนั้นมีร้านอาหารไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา 08.30-17.00 น. ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 10 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 7433 6038-40 หรือดูเว็บไซต์ www.zoothailand.org

ทะเลสาบสงขลา

ทะเลสาบสงขลา

          เป็นทะเลสาบธรรมชาติแห่งเดียวในประเทศไทย มีความยาวจากปากน้ำไปทางทิศเหนือประมาณ 80 กิโลเมตร ส่วนที่กว้างที่สุดประมาณ 20-25 กิโลเมตร ทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลสาบน้ำจืด แต่จะกร่อยในช่วงที่ติดกับทะเล ตรงปากอ่าวในทะเลสาบมีเกาะอยู่หลายเกาะ ที่สำคัญได้แก่ เกาะใหญ่ เกาะสี่ เกาะห้า เกาะแก้ว เกาะหมาก เกาะราย และเกาะยอ นักท่องเที่ยวที่อยากจะเช่าเรือเที่ยวตามเกาะต่าง ๆ สามารถเช่าเรือได้บริเวณแหลมสนอ่อน

สะพานติณสูลานนท์

          เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงหมายเลข 4146 เชื่อมระหว่างทางหลวงหมายเลข 407 สายหาดใหญ่-สงขลา กับทางหลวงหมายเลข 4083 สายสงขลา-ระโนด โดยเป็นสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาจากฝั่งบ้านน้ำกระจายผ่านเกาะยอ ไปฝั่งเขาเขียว เพื่ออำนวยความสะดวกในการคมนาคมให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องรอ ข้ามแพขนานยนต์ บริเวณฝั่งหัวเขาแดง

          สะพานแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก เชื่อมระหว่างชายฝั่งอำเภอเมือง สงขลา บริเวณบ้านน้ำกระจาย กับชายฝั่งตอนใต้ของเกาะยอ ความยาวรวมเชิงสะพานทั้งสองด้าน ประมาณ 1,140 เมตร ช่วงที่ 2 เชื่อมระหว่างฝั่งด้านเหนือของเกาะยอกับฝั่งบ้านเขาเขียว ความยาวทั้งสิ้นประมาณ 1,800 เมตร สะพานนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อ 26 มีนาคม 2527 และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2529

เกาะยอ

เกาะยอ

          เป็นเกาะเล็ก ๆ ในทะเลสาบสงขลา เดินทางโดยข้ามสะพานติณสูลานนท์ไปตามเส้นทาง จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 407 และเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวง4083 ทางไปอำเภอสิงหนคร เกาะยอมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 9,275 ไร่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นไหล่เขาและที่ราบตามเชิงเขา เหมาะแก่การเกษตรกรรมบนเกาะยอมีการทำสวนผลไม้แบบสุมรุม หมายถึงผลไม้จะผลัดกันให้ผลผลิตตลอดปีเช่น ส้มโอ มะพร้าว ขนุน ผลไม้ที่มีชื่อของเกาะยอคือ จำปาดะลักษณะคล้ายขนุนแต่ลูกเล็กกว่า สามารถนำไปทอดเหมือนกล้วยแขกหรือจะกินสดก็ได้ และผ้าทอเกาะยอเป็นผ้าพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากผู้นิยมสวมใส่ผ้าไทยมีลายที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ลายราชวัตถ์ ดอกพิกุล ดอกพะยอมเนื้อผ้าดูแลรักษาง่ายนอกจากนั้นเกาะยอยังเป็นแหล่งเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังในทะเลสาบสงขลาอีกด้วย

          สิ่งที่เชิดหน้าชูตาเกาะยอมากอีกอย่างก็คือสถาบันทักษิณคดีศึกษา ซึ่งได้รวบรวมและจัดแสดงศิลปวัตถุและโบราณวัตถุรวมทั้งวิถีชีวิตของชาวใต้ไว้เป็นหมวดหมู่ ทั้งหมดอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา สถาบันทักษิณฯ ยังมีหอชมวิวไว้ให้ชมทิวทัศน์สวยๆของเกาะยอและทะเลสาบสงขลา แล้วยังมีที่พักไว้บริการอีกด้วย

          หมายเหตุ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ไม่มีที่จอดรถเฉพาะ แต่จอดได้หน้าร้านขายของ บริเวณไหล่ทางติดร้านค้า ซึ่งมีพื้นที่กว้างมากพอสำหรับ Wheel Chair พิ้นผิวไม่ลื่น เรียบและกว้าง อยู่ในระดับเดียวกับพื้นภายนอก

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา

          ตั้งอยู่ที่ถนนวิเชียรชม เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน อายุกว่า 100 ปี เดิมเป็นบ้านพักส่วนตัวของพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2421 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2437 จึงใช้เป็นที่พำนักและว่าราชการของพระวิจิตรวรศาสตร์ ข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลา ซึ่งต่อมาก็คือเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) หลังจากนั้นใช้เป็นศาลาว่าการมณฑลนครศรีธรรมราชและเป็นศาลากลางจังหวัดจน ถึงปี พ.ศ. 2496
    
          ในปี พ.ศ. 2516 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอาคารนี้เป็นโบราณสถานและปรับปรุงเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2525 ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงศิลปวัตถุภาคใต้ตอนล่าง และเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ ชาติพันธุ์วิทยา ศิลปะจีน ศิลปะพื้นบ้านพื้นเมือง อาทิ บานประตูไม้เดิมของจวน เป็นศิลปะพุทธศตวรรษที่ 24 ทำด้วยไม้จำหลักเขียนสีและประดับมุกฝีมือช่างชาวจีนชั้นครู แสดงออกถึงคตินิยมในธรรมเนียมประเพณี วรรณคดี ศาสนาตามแบบจีนที่วิจิตรงดงามยังความสมบูรณ์อยู่มาก โบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์แหล่งโบราณคดีจากบ้านเชียง และกาญจนบุรี

          ทั้งนี้ เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-12.00 น. และ 13.00-16.00 น. อัตราค่าเข้าชม คือ ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 7431 1728

สถาบันทักษิณคดีศึกษา

          ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านอ่าวทราย ตำบลเกาะยอ บริเวณใกล้เชิงสะพานติณสูลานนท์ช่วงที่ 2 สถาบันตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2521 เพื่อศึกษาเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ มีพื้นที่ทั้งหมด 23 ไร่ ลักษณะของอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบภาคใต้ แบ่งออกเป็น 4 อาคาร โดยแต่ละอาคารจะแบ่งออกเป็นห้อง ๆ แสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ โบราณวัตถุที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น เครื่องประดับศาตราวุธที่ใช้กันในภาคใต้ เช่น กริช มีดชายธง มีดหางไก่ แสดงผ้าทอพื้นเมือง เช่น ผ้าทอพุมเรียง ผ้าทอปัตตานี ห้องแสดงกระต่ายขูดมะพร้าวรูปทรงต่าง ๆ ที่มีรูปแบบหาชมได้ยาก ห้องแสดงการละเล่นพื้นเมือง เช่น หนังตะลุง โนรา ลิเกป่า ห้องแสดงวิถีชีวิตชาวใต้ เช่น การแสดงการละเล่นและของเล่นเด็ก เช่น การเล่นซัดราว การเล่นว่าว ลูกข่าง ห้องแสดงประเพณีการบวช ห้องแสดงการรักษาพยาบาลแบบโบราณ

          สถาบันมีห้องพักไว้บริการนักท่องเที่ยว ห้องสัมมนา และร้านขายสินค้าพื้นเมือง เช่น หัตถกรรมกระจูด หัตถกรรมปาหนัน หัตถกรรมย่านลิเพา ผ้าทอเกาะยอ ผลิตภัณฑ์จากเปลือกหอย ผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว เครื่องเงิน เป็นต้น สถาบันได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประเภทแหล่งท่องเที่ยวดีเด่นทางวัฒนธรรม และโบราณสถาน ปี 2543 จากจุดชมวิวของสถาบันสามารถมองเห็นทัศนียภาพที่สวยงามของทะเลสาบสงขลา เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา 8.30-17.00 น. ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างประเทศ 60 บาท เด็ก 30 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 7433 1184-9

          การเดินทาง อยู่ห่างจากตัวเมืองสงขลาประมาณ 18 กิโลเมตร ตามทางหลวงสายลพบุรีราเมศวร์ และเลี้ยวซ้ายที่สี่แยกบ้านน้ำกระจาย ไปตามทางหลวงสาย 4146 ทางไปเกาะยอ ใกล้สะพานติณสูลานนท์ ช่วง 2 หรือนั่งรถโดยสารประจำทางจากหอนาฬิกาในตัวเมือง ลงที่สี่แยกบ้านน้ำกระจาย และต่อรถมอเตอร์ไซด์

พิพิธภัณฑ์พธำมรงค์ (พะธำมะรง)

          ตั้งอยู่ที่ถนนจะนะใกล้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งบ้านพักเดิมของรองอำมาตย์โทขุนวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) บิดาของ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พิพิธภัณฑ์ฯ เป็นสถาปัตยกรรมแบบเรือนไทยที่สร้างขึ้นเพื่อจำลองสถานที่เกิดของ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษ ซึ่งเป็นชาวจังหวัดสงขลา

          จากคำบอกเล่าความทรงจำในอดีตสมัยที่บิดาของท่านดำรงตำแหน่งพัสดีเรือนจำสงขลา "พะทำมะรง" เป็นตำแหน่งเก่าของข้าราชการกรมราชทัณฑ์ ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีควบคู่กับตำแหน่ง พัสดีปรากฎหลักฐานอยู่ในกฎหมายตราสามดวง และอัยการลักษณะต่าง ๆ ตำแหน่งพะทำมะรงได้ใช้ติดต่อกันมาตลอดจนได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติราช ทัณฑ์ พ.ศ. 2479 ตำแหน่งพะทำมะรงจึงได้ถูกยกเลิกไป พิพิธภัณฑ์ฯ เปิดให้เข้าชมทุกวันเว้นวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30-16.00 น.

          นี่เป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จริง ๆ แล้วจังหวัดสงขลายังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกเพียบ! แต่จะมากและสวยขนาดไหน ต้องมาสัมผัสด้วยตัวเองนะจ๊ะ

สงขลา

ทิปส์


          ตลาดน้ำคลองแห มีทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ตั้งแต่เวลาเย็นถึงกลางคืน

การเดินทาง

          สงขลาอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 950 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดสงขลาได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง รถไฟ และเครื่องบิน

          โดยรถไฟ : การรถไฟแห่งประเทศไทยมีบริการรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปยังอำเภอหาดใหญ่ทุกวัน ทั้งรถธรรมดา รถเร็ว รถด่วน และรถด่วนพิเศษ สอบถามรายละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690 สถานีรถไฟหาดใหญ่ โทร. 0 7424 3705 หรือ www.railway.co.th

          โดยรถยนต์ : จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2 หรือถนนธนบุรี-ปากท่อ) ผ่านจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม อำเภอปากท่อ แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ จนถึงชุมพร แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านจังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอทุ่งสง จนถึงจังหวัดพัทลุง บรรจบกับทางหลวงหมายเลข 4 อีกครั้ง แล้วขับต่อไปจนถึงอำเภอหาดใหญ่ และจังหวัดสงขลา รวมระยะทางประมาณ 950 กิโลเมตร

          โดยรถประจำทาง : มีรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-สงขลา และกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 12 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th ปัจจุบัน บริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com นอกจากนี้ยังสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ได้ที่ไทยรูท ดอทคอม www.thairoute.com

          โดยเครื่องบิน : จังหวัดสงขลามีสนามบินนานาชาติอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ การบินไทย นกแอร์ ไทยแอร์เอเชีย และวัน ทู โก มีเที่ยวบินไป-กลับ กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ทุกวัน สอบถามข้อมูลการเดินทาง ตารางเที่ยวบิน และสำรองที่นั่งได้ที่ การบินไทย โทร. 0 2356 1111 www.thaiairways.co.th นกแอร์ โทร. 1318 www.nokair.com ไทยแอร์เอเชีย โทร. 0 2515 9999 www.airasia.com

          การเดินทางภายในสงขลา ในตัวจังหวัดสงขลามีรถชนิดต่าง ๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่าง ๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม และรถสองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่าง ๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาวันละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง ส่วนรถสามล้อเครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย

          แต่หากลงรถประจำทาง รถไฟ หรือเครื่องบิน ที่หาดใหญ่แล้ว สามารถเดินทางเข้าตัวเมืองสงขลาทางโดยรถยนต์ได้ 2 เส้นทาง คือ ถนนกาญจนวนิชและถนนลพบุรีราเมศร์ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาที และมีรถโดยสารประจำทางและรถโดยสารรับจ้างจากในตลาดหาดใหญ่วิ่งเข้าตัวเมือง สงขลาตลอดทั้งวัน




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สงขลา เมืองใหญ่สองทะเล เสน่ห์สะพานป๋า อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 16:05:16 27,033 อ่าน
TOP
x close