x close

ลุยเดี่ยวเที่ยวอียิปต์ ณ ลักซอร์ อดีตเมืองหลวงเก่า

อียิปต์

          หลังจากที่เราได้นำเอาบันทึกการเดินทาง ตะลุยเดี่ยวเที่ยวอียิปต์ ชมสิ่งมหัศจรรย์พีระมิดแห่งเมืองกีซ่า ของ คุณ Juone สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม มาให้ชมกันแล้ว วันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ ไปเที่ยวอีกเมืองหนึ่งของอียิปต์ นั่นก็คือ ลักซอร์ (Luxor) อดีตเมืองหลวงเก่าของอียิปต์ ซึ่งขอบอกเลยว่าจะละสถานที่ที่เราได้ไปเยือนนั้น มีมนตร์ขลังที่น่าหลงใหลมากมาย เอาเป็นว่าตามบันทึกการเดินทางของ คุณ Juone สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ไปเที่ยวอียิปต์จากรีวิว Juone ชวนเที่ยว..อียิปต์ : แบกเป้ลุยเดี่ยวเที่ยวอียิปต์ : ลักซอร์ (Luxor) อดีตเมืองหลวงอียิปต์โบราณ ตอนที่ 1 : West Bank กันเลยดีกว่า
 
+++++++++++++++++++

          สวัสดีครับ รีวิวตอนนี้ห่างหายจากตอนที่แล้ว 2 สัปดาห์ ทั้ง ๆ ที่ตั้งใจว่าจะลงรีวิวสัปดาห์ละตอน เพราะว่าเวลาไม่ค่อยจะว่างอีกทั้งรีวิวตอนนี้มีเนื้อหาที่ค่อนข้างมาก เลยใช้เวลาในการทำนานกว่าที่คิด จากความเดิมในตอนที่แล้วที่ผมนั่งรถไฟจากเมืองอัสวานมายังเมืองลักซอร์ และได้จองทัวร์ขึ้นบอลลูนเพื่อชมวิวสวย ๆ มาถึงตอนนี้ผมจะพาทุกท่านไปเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวหลายที่ด้วยกันในเมืองลักซอร์ครับ เนื่องจากทริปนี้ผมวางแผนนอนที่ลักซอร์ถึง 3 คืน รีวิวช่วงนี้จึงขอแบ่งเป็น 2-3 ตอนนะครับ วันแรกในลักซอร์เริ่มต้นด้วยการไปขึ้นบอลลูนเพื่อชมวิวสวย ๆ ในยามเช้า หลังจากนั้นก็เที่ยวยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่อยู่บริเวณเทือกเขาธีบัน (Theban) ซึ่งตั้งอยู่ลึกเข้าไปจากชายฝั่งแม่น้ำไนล์ทางทิศตะวันตก หรือตรงข้ามกับเมืองลักซอร์นั่นเอง ถ้าพร้อมแล้วก็ขอเชิญทุกท่านมาขึ้นบอลลูนด้วยกันเลยนะครับ

อียิปต์

รีวิวตอนที่แล้วครับ

          ตอนที่ 1 : Juone ชวนเที่ยว...อียิปต์ : แบกเป้ลุยเดี่ยวเที่ยวอียิปต์ : พีระมิดแห่งเมืองกีซ่า (Pyramids of Giza)

          ตอนที่ 2 : Juone ชวนเที่ยว...อียิปต์ : แบกเป้ลุยเดี่ยวเที่ยวอียิปต์ : กำเนิดพีระมิดแห่งอียิปต์ (The First Pyramid)

          ตอนที่ 3 : Juone ชวนเที่ยว...อียิปต์ : แบกเป้ลุยเดี่ยวเที่ยวอียิปต์ : พิพิธภัณฑ์นูเบีย (Nubia Museum) , วิหารฟิเล (Temple of Philae)

          ตอนที่ 4 : Juone ชวนเที่ยว...อียิปต์ : แบกเป้ลุยเดี่ยวเที่ยวอียิปต์ : มหาวิหารอาบูซิมเบล (Abu Simbel)

แผนการเดินทาง

          วันที่ 28 ธันวาคม 2557 ถึงสนามบินกรุงไคโร เดินทางไปกีซ่า พักที่ Pyramid View Inn

          วันที่ 29 ธันวาคม 2557 เดินทางไป เมมฟิส ซัคคาร่า ดาร์ชูร์ ไปสถานีรถไฟกีซ่า นั่งรถไฟไปเมืองอัสวาน ค้างคืนบนรถไฟ

          วันที่ 30 ธันวาคม 2557 ถึงเมืองอัสวาน เที่ยวในเมืองอัสวาน พักที่ Memnon Hotel

          วันที่ 31 ธันวาคม 2557 เดินทางไปอาบูซิมเบล ไปสถานีรถไฟอัสวาน นั่งรถไฟไปเมืองลักซอร์ พักที่ Boomerang Hotel

          วันที่ 1-3 มกราคม 2558 เที่ยวในเมืองลักซอร์ พักที่ Boomerang Hotel เย็นวันที่ 3 นั่งรถไฟไปกรุงไคโร ค้างคืนบนรถไฟ

          วันที่ 4 มกราคม 2558 เที่ยวในไคโร พักที่ Wake Up! Cairo Hostel

          วันที่ 5 มกราคม 2558 เที่ยวในไคโร เย็นเดินทางไปสนามบินกรุงไคโร

          วันที่ 6 มกราคม 2558 ถึงกรุงเทพฯ

          ป.ล. รีวิวตอนนี้คือวันที่ห้าในอียิปต์ พาเที่ยวเมืองลักซอร์ครับ (1 มกราคม 2558)

อียิปต์

          ก่อนไปขึ้นบอลลูนขออธิบายเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ของเมืองนี้กันนิดหนึ่งครับ เมืองลักซอร์เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำไนล์ทางทิศตะวันออก ฝั่งนี้เรียกว่า East Bank มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ๆ เช่น วิหารคาร์นัค, วิหารลักซอร์, พิพิธภัณฑ์ลักซอร์, พิพิธภัณฑ์มัมมี่ และถ้าเรานั่งเรือข้ามแม่น้ำไนล์ไปยังฝั่งตรงข้ามก็จะพบกับสถานที่ท่องเที่ยวที่มีอยู่มากมายเช่นกันครับ ฝั่งนี้เรียกว่า West Bank ที่เที่ยวในแถบนี้ส่วนมากจะตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาธีบัน (Theban) ซึ่งอยู่ลึกจากชายฝั่งแม่น้ำไนล์เข้าไปอีกหลายกิโลเมตร ที่เที่ยวฝั่งตะวันตกมักจะเป็นพวกวิหารประกอบพิธีศพของบรรดาฟาโรห์และสุสานของฟาโรห์ ราชินี ขุนนาง เป็นต้น จากแผนที่แสดงบริเวณโดยรอบของเมืองลักซอร์ครับ

อียิปต์

          เช้าวันแรกของปีใหม่ 2558 ผมตื่นมาแต่เช้ารีบทำธุระส่วนตัวเสร็จ ก็ลงมานั่งรอคนจากบริษัทบอลลูนมารับที่ชั้นล่างของโรงแรม ประมาณตีสี่ครึ่งรถตู้จากบริษัทบอลลูนก็มารับถึงหน้าที่พัก พอออกจากโรงแรม รถตู้ก็วิ่งตามถนนฝ่าไปในความมืดเพื่อรับนักท่องเที่ยวที่จองทัวร์บอลลูนเหมือนกับผมตามโรงแรมต่างๆ จนเต็มคันรถ จากนั้นคนขับรถก็พามาจอดที่ริมฝั่งแม่น้ำไนล์ ซึ่งมีทีมงานอีกชุดยืนรอแถวนั้นเพื่อพานักท่องเที่ยวเดินลงไปที่เรือข้ามฟาก และจัดการเตรียมน้ำชา กาแฟ ขนมปัง ไว้ให้เป็นอาหารรองท้องก่อนในตอนเช้าครับ

อียิปต์

          พอทานกันเสร็จแล้วเรือก็เริ่มออกจากท่า เพื่อพาข้ามแม่น้ำไนล์ไปยังฝั่งตะวันตก พอขึ้นจากเรือแล้วทีมงานก็แบ่งคนออกเป็นกลุ่ม ๆ พาขึ้นรถตู้ที่จอดรออยู่ตามกลุ่มที่แบ่งไว้ จากนั้นคนขับรถก็พานักท่องเที่ยวไปส่งยังจุดรวมพล ซึ่งเป็นจุดที่ปล่อยบอลลูนครับ จากรูปตอนนี้ข้ามมาอยู่ฝั่งตะวันตกแล้วครับ เริ่มมีแสงสีส้มเรื่อ ๆ ที่ขอบฟ้าด้านตะวันออก อีกไม่นานพระอาทิตย์ก็ใกล้จะขึ้นแล้วครับ

อียิปต์

          พอมาถึงจุดปล่อยบอลลูนแล้วรู้สึกตื่นเต้นเลยครับ เพราะที่ลานกว้างกำลังมีการเตรียมบอลลูนกันหลายลูกด้วยกัน และพอมองขึ้นไปบนฟ้าก็พบว่าบอลลูนบางลูกลอยขึ้นไปแล้ว อยากรู้จังว่าบอลลูนของผมคืออันไหน

อียิปต์

อียิปต์

          ฟ้าก็เริ่มสว่างขึ้นเรื่อย ๆ บอลลูนก็ถูกปล่อยขึ้นไปแล้วหลายลูก แต่ก็ยังไม่ถึงคิวของกลุ่มผมซะที ตอนนี้เริ่มทำใจแล้วว่าคงไม่น่าจะทันที่จะได้ชมพระอาทิตย์ขึ้นตอนอยู่บนบอลลูนแน่ ๆ

อียิปต์

          การเตรียมบอลลูนเริ่มจากเอาพัดลมขนาดใหญ่เป่าเอาอากาศอัดเข้าไปในบอลลูนให้มากที่สุด พออากาศเริ่มมากขึ้นถึงจุดหนึ่งก็จะเป่าไฟเข้าไปในบอลลูนเพื่อทำให้อากาศในลูกบอลลูนร้อนขึ้น ซึ่งอากาศที่ร้อนนั้นจะมีน้ำหนักเบากว่าอากาศในอุณหภูมิปกติ ส่งผลให้เกิดแรงยกตัวขึ้นครับ จากรูปเป็นการเตรียมบอลลูนตั้งแต่เริ่มเป่าอากาศไปจนถึงจุดที่บอลลูนพร้อมที่จะถูกปล่อยแล้วครับ

อียิปต์

อียิปต์

          ระหว่างที่รอคิวขึ้นก็ได้แต่มองบอลลูนลูกอื่น ๆ ที่ลอยขึ้นไปก่อนหน้านี้ รู้สึกว่าอยากขึ้นไปชมวิวเร็ว ๆ จังเลย

อียิปต์

          และในที่สุดพระอาทิตย์ก็ขึ้นมาก่อนที่ผมจะพาตัวเองไปลอยชมวิวอยู่บนฟ้า ตอนพระอาทิตย์ขึ้นเล่นเอาคนในกลุ่มเดียวกับผมบ่นกันใหญ่เลย โดยเฉพาะกลุ่มคนจีนซึ่งมากันหลายคนโวยเสียงดัง จนทีมงานบอลลูนหน้าจ๋อย ๆ กันไป ผมก็เลยได้แต่ถ่ายพระอาทิตย์ขึ้นจากตรงนี้แทน น่าเสียดายจริง ๆ

อียิปต์

          ถึงตรงนี้บอลลูนลูกสุดท้ายที่ปูรออยู่บนพื้นก็เริ่มเตรียมเป่าอากาศแล้วครับ ซึ่งก็คือบอลลูนกลุ่มของผมนั่นเองครับ พอบอลลูนพร้อมที่จะขึ้นแล้วกัปตันควบคุมบอลลูนก็มาแนะนำตัว และบอกกฎแห่งความปลอดภัยที่ต้องปฏิบัติตัวตอนอยู่บนบอลลูนครับ พอพูดคุยกันเรียบร้อยก็พร้อมที่จะลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า ตอนนี้บอลลูนเริ่มลอยขึ้นมาแล้วครับ

อียิปต์

          จุดที่ปล่อยบอลลูนเป็นลานกว้าง อยู่ตรงข้ามกับทางเข้าวิหารประกอบพิธีศพฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุสและสุสานขุนนางครับ

อียิปต์

          กัปตันบอกว่าการควบคุมบอลลูนเราจะบังคับทิศทางไม่ได้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับกระแสลมด้านบนว่าจะพัดบอลลูนไปตรงไหน ที่บังคับควบคุมได้คือระดับความสูงในการลอยเท่านั้น ซึ่งถ้าเร่งไฟให้แรงเพื่อเผาอากาศในบอลลูนให้ร้อนมากขึ้นอากาศก็จะยิ่งเบา ทำให้บอลลูนลอยสูงขึ้นไปได้อีก แต่ถ้าเบาไฟลงก็จะส่งผลในทางตรงกันข้าม บอลลูนก็จะลอยต่ำลงเรื่อย ๆ ครับ

อียิปต์

วิหารประกอบพิธีศพฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุส

อียิปต์

สุสานของเหล่าขุนนาง (Tombs of Nobles) 

อียิปต์

          พื้นที่การทำเกษตรกรรมมีเยอะเหมือนกัน ดูแล้วอียิปต์ไม่ได้แห้งแล้งอย่างที่คิด ต้องขอบคุณแม่น้ำไนล์สายน้ำแห่งอารยธรรม

อียิปต์

          แสงสีทองจากอรุณรุ่งยามเช้าสาดแสงลงบนท้องทุ่งเขียวขจีดูแล้วสบายตาสบายใจจริง ๆ

อียิปต์

          มองไปทางทิศใต้บอลลูนที่ลอยขึ้นไปก่อนหน้านี้ถูกกระแสลมพัดไปทางด้านนั้นครับ อยากรู้เหมือนกันว่าวิวจากตรงนั้นจะสวยงามกว่าตรงที่ผมอยู่หรือไม่

อียิปต์

          วิหารในรูป คือ ราเมเซียม (Ramesseum) เป็นวิหารประกอบพิธีศพของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ที่ผมได้กล่าวถึงพระองค์ในตอนที่แล้วครับ

อียิปต์

          ยอดเขาที่สูงที่สุดบนเทือกเขาธีบัน (Theban) มีความสูงประมาณ 420 เมตร ด้านหลังของยอดเขาที่มีรูปร่างคล้ายพีระมิดนี้เป็นที่ตั้งสุสานของบรรดาฟาโรห์หลายพระองค์ด้วยกัน ซึ่งเรียกว่าหุบผากษัตริย์ (Valley of The Kings) เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ผมต้องไปชมหลังจากลงมาจากบอลลูนครับ

อียิปต์

          เมืองลักซอร์ (Luxor) ในสมัยอียิปต์โบราณมีชื่อเรียกว่าเมือง วาเซ็ท (Waset) และต่อมาในสมัยยุคกรีก-โรมัน เรียกว่าเมือง ธีบส์ (Thebes) อดีตเคยเป็นเมืองหลวงมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรกลาง (Middle Kingdom) ในราชวงศ์ที่ 11 ดังนั้นเมืองนี้จึงมีแหล่งโบราณคดีที่น่าเที่ยวชมอยู่มากมาย และปัจจุบันก็ยังมีการค้นพบสิ่งต่าง ๆ ออกข่าวมาให้ได้ยินอยู่เป็นระยะครับ จากการที่ผมได้มาเที่ยวที่เมืองนี้ 2 ครั้ง คิดว่าการเที่ยวชมแบบเจาะลึกในพื้นที่แถบนี้ถ้าให้ดีควรมีเวลาไม่น้อยกว่า 5 วันครับ

อียิปต์

ตอนนี้บอลลูนลอยสูงขึ้นมาจากพื้นมากทำให้เห็นวิวที่สวยงามกว้างไกลมากขึ้น

อียิปต์

          แนวเทือกเขาธีบันที่อยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ ผมเชื่อเหลือเกินว่าภายใต้พื้นที่ด้านล่างนี้ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างนอนสงบอยู่ใต้ผืนทรายรอการขุดค้นพบในไม่ช้า

อียิปต์

          กระแสลมด้านบนพัดพาให้บอลลูนลอยออกไปไกลจากเทือกเขาธีบัน จนมาลอยอ้อยอิ่งอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำไนล์ครับ ทำให้เห็นภาพของแม่น้ำไนล์และสายหมอกเบื้องล่างลอยเคลื่อนไปมาเป็นภาพที่สวยงามมากเลย

อียิปต์

          หมอกควันที่ปกคลุมเมืองลักซอร์พอต้องแสงสีทองในยามเช้าดูสวยแปลกตาไปอีกแบบ ที่เห็นอยู่ไม่ไกลจากฝั่งแม่น้ำ คือ วิหารคาร์นัก (Karnak Temple) เป็นวิหารที่มีพื้นที่กว้างขวางมาก ซึ่งผมจะพาไปเที่ยวในวันพรุ่งนี้ครับ

อียิปต์

          ชาวสวนอียิปต์กำลังตัดอ้อย น้ำอ้อยที่ลักซอร์เป็นของกินอีกสิ่งที่คนมาเที่ยวอียิปต์ไม่ควรพลาด ผมอยู่ที่ลักซอร์ 3 วัน ได้ดื่มน้ำอ้อยที่คั้นแบบสด ๆ เข้าไปหลายแก้วเพราะติดใจในรสชาติมากครับ

อียิปต์

          ตอนที่บอลลูนลอยมาใกล้เสาไฟฟ้าแรงสูง กัปตันลดไฟในบอลลูนทำให้บอลลูนลอยมาใกล้เสาไฟฟ้าซะจนเรียกเสียงกรี๊ดจากนักท่องเที่ยวได้หลายคนเลย ผมนี่ยังเสียวว่าจะไปเกี่ยวเข้าเหมือนกัน

อียิปต์

          กลุ่มบ้านเรือนที่อยู่บนเนินเขาตรงนั้นมีชื่อว่า Qurna ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านร้างไม่มีคนอาศัยอยู่แล้ว เพราะทางรัฐบาลอียิปต์ได้ให้ทุกคนอพยพออกมาอาศัยอยู่ตรงพื้นที่ราบใกล้ชายฝั่งแม่น้ำแทนครับ

อียิปต์

          บ้านเรือนของชาวอียิปต์มักจะเห็นว่าบ้านแต่ละหลังเหมือนยังสร้างไม่เสร็จ เพราะเห็นเสาที่มีเหล็กเส้นโผล่ออกมา แถมบางหลังแค่ก่ออิฐแต่ยังไม่ฉาบปูนก็มี เพราะเคยได้ยินมาว่าถ้าสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วเจ้าของบ้านจะโดนเก็บภาษีที่อยู่อาศัยในเรทที่สูงครับ คนอียิปต์เลยสร้างเพียงเท่านี้แล้วอยู่อาศัยกันได้เลย

อียิปต์

          ด้านหน้าของรูปนี้จะเห็นรูปสลักขนาดมหึมาของฟาโรห์อเมนโฮเตปที่ 3 (Amenhotep III) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิหารประกอบพิธีศพของพระองค์ แต่ปัจจุบันหลงเหลือเพียงแค่รูปสลักเท่านั้น รูปสลักนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า Colossi of Memnon ซึ่งคนทั่วไปจะคุ้นหูกับชื่อเรียกแบบนี้มากกว่า วิหารที่อยู่ไกลออกไป คือ วิหารประกอบพิธีศพของฟาโรห์รามเสสที่ 3 ทั้งหมดนี้เดี๋ยวลงจากบอลลูนแล้วจะพาไปเที่ยวชมกันแบบใกล้ชิดเลยครับ



          วิวสวย ๆ ในช่วงท้าย ๆ ของการขึ้นบอลลูน จะเห็นว่าบอลลูนของผมลอยออกมาไกลจากจุดปล่อยที่อยู่แถวเทือกเขาธีบัน แต่บอลลูนบางลูกก็ลอยอยู่แถว ๆ นั้นไม่ไกลจากจุดปล่อยเท่าไร

อียิปต์

          บอลลูนลูกนี้แลนดิ้งลงเรียบร้อยครับ เดี๋ยวบอลลูนผมก็คงได้เวลาลงแล้วเช่นกัน เพราะตอนนี้เวลาก็ผ่านเลยไปเกือบ 50 นาที นับตั้งแต่ขึ้นบอลลูนมาแล้ว ผมคิดว่าเป็นการขึ้นบอลลูนชมวิวที่นานพอควร คุ้มกับราคาที่จ่ายไปมากเลยครับ

อียิปต์

          พอช่วงเวลาแลนดิ้งมาถึง กัปตันก็สั่งให้ทุกคนนั่งยอง ๆ และเอามือยึดจับกับหูหิ้วบนผนังของกระเช้า เก็บพวกกล้องให้เรียบร้อย เพื่อกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งบอลลูนที่ผมนั่งมาแลนดิ้งได้นิ่มนวลมาก ๆ พอลงมาถึงพื้นและออกจากกระเช้าเรียบร้อย เจอเด็กสองคนวิ่งตรงมาทางกลุ่มพวกผมอย่างเร็ว ผมนี่เตรียมช็อกโกแลตและลูกอมไว้รอท่าเลย สังเกตสีหน้าแววตาแล้วคงบอกได้ว่าสมใจเขาล่ะครับ 555

อียิปต์

          ตรงใกล้ ๆ จุดที่บอลลูนลงจอดก็มีรถตู้มาจอดรอรับพวกผมทั้งหมดกลับไปที่ท่าเรือที่เดิม เพื่อเตรียมนั่งเรือกลับไปฝั่งตะวันออก แต่ผมขอไม่ข้ามฟากกลับไปแล้วกันเพราะกะว่าจะอยู่เที่ยวฝั่งนี้ไปทั้งวันเลยครับ พอรถตู้จอดที่ท่าเรือผมเลยเดินแยกออกมาคนเดียว ระหว่างคิดว่าจะเอายังไงต่อดี จะเหมารถคันไหนพาเที่ยว ก็มีหนุ่มอียิปต์คนหนึ่งเดินตรงมาที่ผมและเสนอดีลพาเที่ยวแบบทั้งวัน (7-8 ชั่วโมง) หลังต่อราคาจนผมรับได้แล้วก็เลยตกลงไปกับนายคนนี้ครับ อย่าลืมว่าห้ามจ่ายเงินก่อนนะครับ ให้จ่ายตอนจบทริปไปเลยทีเดียว

อียิปต์

          ผมขอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวที่ผมวางแผนว่าจะไปชมให้ดูกันครับ จะได้นึกภาพออกว่าสถานที่แต่ละที่อยู่ตรงไหนกันบ้าง การเที่ยวในบริเวณนี้มีทางเลือกไม่มากนัก คือ ซื้อทัวร์จากที่พัก เช่าจักรยานปั่น หรือเหมารถเที่ยว จากแผนที่จะเห็นว่าถ้าเช่าจักรยานปั่นก็คงจะกินแรงมากไปหน่อย เพราะระยะทางค่อนข้างไกล (จากท่าเรือไปหุบผากษัตริย์เกือบ 10 กิโลเมตร) แถมแดดตอนกลางวันที่นี่ก็แรงมากน่าจะเหนื่อยทรมานเกินไป ผมจึงเลือกเหมารถเที่ยวแบบส่วนตัวครับจ่ายแพงหน่อยแต่ก็ตอบโจทย์ตรงกับความต้องการของผมมากที่สุด

          1. ท่าเรือข้ามฟาก
          2. รูปสลักฟาโรห์อเมนโฮเตปที่ 3 (Colossi of Memnon)
          3. วิหารประกอบพิธีศพของฟาโรห์รามเสสที่ 3 (Mortuary Temple of Ramesses III)
          4. วิหารประกอบพิธีศพของฟาโรห์รามเสสที่ 2 (Ramesseum)
          5. วิหารประกอบพิธีศพฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุส (Mortuary Temple of Hatshepsut)
          6. หุบผากษัตริย์ (Valley of The Kings)
          7. สุสานขุนนาง (Tombs of Nobles)
          8. หมู่บ้านและสุสานคนงาน (Workers Village and Tombs)

อียิปต์

          นั่งรถออกจากท่าเรือผ่านหมู่บ้านละแวกนี้แล้วตรงมาตามถนนก็จะเจอกับรูปสลักฟาโรห์อเมนโฮเตปที่ 3 (Colossi of Memnon) ก่อนเลยครับซึ่งตั้งอยู่ทางด้านขวา แต่เดิมรูปสลักคู่นี้ตั้งอยู่หน้าซุ้มประตูวิหารหรือที่เรียกกันว่าไพลอน (Pylon) ของวิหารประกอบพิธีศพฟาโรห์อเมนโฮเตปที่ 3 แต่ปัจจุบันวิหารพังทลายไปหมดแล้วเหลือแค่เพียงรูปสลักเท่านั้น สถานที่ตรงนี้เข้าชมฟรีนะครับไม่ต้องซื้อตั๋ว

อียิปต์

          รูปสลักแต่ละรูปมีความสูงประมาณ 20 เมตร แกะสลักเป็นรูปฟาโรห์อเมนโฮเตปที่ 3 ประทับบนบัลลังก์ และที่บริเวณขาของรูปสลักฟาโรห์จะมีรูปสลักขนาดเล็กของราชินี Mutemwiya พระมารดาของพระองค์ และพระนาง Tiye ผู้เป็นมเหสีเอกอยู่ที่ขาด้วยครับ

อียิปต์

          ฟาโรห์อเมนโฮเตปที่ 3 (1391-1353 ปีก่อน ค.ศ.) เป็นฟาโรห์ลำดับที่ 9 แห่งราชวงศ์ที่ 18 ขึ้นครองราชย์ต่อจากฟาโรห์ธุตโมสิสที่ 4 (ฟาโรห์ที่นอนฝันใต้เงาของสฟิงซ์ที่ผมเคยเล่าไว้ในรีวิวตอนแรกครับ) ซึ่งเป็นพระบิดาของพระองค์

อียิปต์

          ที่มาของชื่อ Colossi of Memnon ต้องขอเล่าย้อนไปในสมัย 27 ปี ก่อน ค.ศ. ในตอนนั้นได้เกิดแผ่นดินไหวทำให้รูปสลักตั้งแต่ช่วงเอวขึ้นไปพังทลายลงมา และส่วนฐานของรูปสลักเกิดรอยร้าว พอในยามเช้าขณะที่พระอาทิตย์ขึ้นจะเกิดปรากฎการณ์แปลกประหลาด คือ จะมีเสียงออกมาจากรูปสลักคล้ายกับเสียงคร่ำครวญ เมื่อนักเดินทางชาวกรีกในยุคนั้นได้มาพบปรากฏการณ์นี้เข้า จึงนำไปเปรียบกับเสียงคร่ำครวญของกษัตริย์เมมนอน (Memnon) ต่อเทพีอีออส ซึ่งเป็นพระมารดาของพระองค์ หลังจากที่พระองค์ถูกอคิลลิสฆ่าตายในสงครามกรุงทรอย ในปัจจุบันเสียงคร่ำครวญจากรูปสลักนี้ไม่มีแล้วเพราะในปี ค.ศ. 199 จักรพรรดิ Septimius Severus แห่งโรมันได้มาเยือนอียิปต์ พระองค์ได้สั่งให้ทำการซ่อมแซมรอยแตกร้าวบนรูปสลัก เมื่อการซ่อมแซมเสร็จสิ้นเสียงคร่ำครวญจากรูปสลักก็หายไปด้วย

อียิปต์

          พอออกจาก Colossi of Memnon ไปได้ไม่นานคนขับก็จอดรถลงตรงหน้าอาคารเล็ก ๆ หลังหนึ่ง ซึ่งจะมีห้องที่ขายตั๋วครับ ให้ไปซื้อตั๋วก่อนเพราะตรงนี้จะขายตั๋วเข้าชมสถานที่ในฝั่ง west bank เกือบทั้งหมด ยกเว้นตั๋วเข้าวิหารประกอบพิธีศพฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุสและตั๋วเข้าหุบผากษัตริย์

          จากจุดที่ขายตั๋วนั่งรถออกไปไม่ไกลก็มาถึงบริเวณที่เรียกว่า Medinet Habu ซึ่งจะมีวิหารประกอบพิธีศพฟาโรห์ฟาโรห์รามเสสที่ 3 ตั้งอยู่บริเวณนี้ครับ

          ฟาโรห์รามเสสที่ 3 (1186-1155 ปีก่อน ค.ศ.) เป็นฟาโรห์องค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์ที่ 20 พระองค์ทรงเป็นฟาโรห์นักรบองค์สุดท้ายของสมัยอียิปต์โบราณ พระองค์ทรงเอาชนะข้าศึกที่รุกรานอียิปต์ทั้งจากอาณาจักรลิเบีย และกลุ่มคนที่มาจากทะเล (Peoples of the Sea) น่าจะหมายถึงชาวเกาะจากทะเลอีเจียน เพราะหลังสิ้นยุคของพระองค์ อาณาจักรอียิปต์โบราณก็เริ่มเสื่อมถอยลงไปเรื่อย ๆ จนถูกชนชาติอื่น ๆ ผลัดกันเข้ามาปกครอง เช่น ลีเบีย นูเบีย

          ทางเข้าของวิหารจะต้องเดินผ่านหอคอยทรงสูง (Migdol) ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะใช่สถาปัตยกรรมแบบอียิปต์โบราณแต่ดั้งเดิม แต่คาดว่าฟาโรห์รามเสสที่ 3 ทรงสร้างเลียนแบบป้อมปราการของพวกซีเรียในสมัยที่พระองค์ออกไปทำสงครามในบริเวณนั้น

อียิปต์

          รูปแกะสลักเทพีเซ็คเมท (Sekhmet) ซึ่งเทพีองค์นี้จะมีศีรษะจะเป็นสิงโตเพศเมีย เป็นพระชายาของเทพพทาห์แห่งเมืองเมมฟิส

อียิปต์

          เดินผ่านหอคอยเข้ามาแล้วจะพบกับห้องบูชาขนาดเล็กทางด้านซ้าย ซึ่งถูกสร้างต่อเติมขึ้นมาภายหลัง โดยเริ่มสร้างในสมัยราชวงศ์ที่ 25

อียิปต์

          มองไปทางด้านขวาจะเป็นวิหารเทพอามอนที่น่าจะเริ่มสร้างมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ที่ 18 ตอนต้น ๆ เพราะมีพระนามของฟาโรห์อเมนโฮเตปที่ 1 ซึ่งเป็นฟาโรห์องค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์ที่ 18 อยู่ในวิหารหลังนี้ด้วย แต่ตอนที่ไปวิหารนี้ปิดเลยไม่ได้เข้าชมครับ

อียิปต์

          เดินตรงไปด้านหน้าก็จะพบกับวิหารฟาโรห์รามเสสที่ 3 แล้วครับ ซึ่งวิหารหลังนี้ได้ถูกออกแบบในสไตล์อียิปต์โบราณเหมือนกับวิหารอื่น ๆ โดยด้านหน้าจะเป็นซุ้มประตูวิหารหรือที่เรียกว่าไพลอน (Pylon) ซึ่งวิหารหลังนี้มีทั้งหมด 2 ไพลอน ถัดจากไพลอนเข้าไปก็จะเป็นลานกลางวิหาร ห้องโถงเสา จนไปถึงห้องบูชาศักดิ์สิทธิ์ซึ่งอยู่ด้านในสุดของวิหาร

อียิปต์

          ภาพแกะสลักบนไพลอนที่หนึ่งแสดงให้เห็นฟาโรห์รามเสสที่ 3 กำลังสังหารศัตรูต่อหน้าเทพอามอน

อียิปต์

          บนคานของไพลอนที่หนึ่งยังคงเห็นภาพแกะสลักที่ยังคงสีสันสวยงาม

อียิปต์

          ภาพแกะสลักฟาโรห์รามเสสที่ 3 อยู่ท่ามกลางทวยเทพอียิปต์บนผนังทางเดินของไพลอนที่หนึ่ง

อียิปต์

          ถัดจากไพลอนที่หนึ่งก็จะเป็นลานกลางวิหาร โดยรอบของลานนี้จะเป็นเสาระเบียง โดยเสาระเบียงทางขวาจะมีรูปสลักฟาโรห์รามเสสที่ 3 ในร่างของเทพโอซิริสประดับอยู่ด้วย

อียิปต์

เสาระเบียงทางซ้ายตรงหัวเสาจะแกะสลักตกแต่งเป็นทรงปาปิรัสสวยงาม

อียิปต์

          ถัดจากลานกลางวิหารจะเป็นไพลอนที่สอง ด้านซ้ายของไพลอนแกะสลักเป็นภาพของฟาโรห์รามเสสที่ 3 ลากดึงเชลยศึกจำนวนมาก ซึ่งโดนลามเชือกเข้าไว้ด้วยกันมาถวายต่อเทพอามุน (Amun) และเทพีมุท (Mut)

อียิปต์

บนคานและผนังของไพลอนที่สองก็ยังคงสีสันสวยงามมากทีเดียวครับ

อียิปต์

          ถัดจากไพลอนที่สองก็จะเป็นลานกลางวิหารที่สอง และโดยรอบลานก็จะเป็นเสาระเบียงทรงต่าง ๆ กัน

อียิปต์

          เสาทรงสี่เหลี่ยมที่แต่ก่อนคงจะมีรูปสลักฟาโรห์รามเสสที่ 3 ในร่างของเทพโอซิริสประดับอยู่ด้วยแต่ตอนนี้ไม่เหลือให้เห็นแล้ว

อียิปต์

          ตามเสาและผนังจะแกะสลักตกแต่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเทพเจ้าต่าง ๆ ภาพแกะสลักหลายภาพยังคงมีสีสันสวยงามมาตั้งแต่ครั้งอดีต

อียิปต์

          ด้านหลังเสาทรงสี่เหลี่ยมจะเป็นเสาทรงกลมขนาดใหญ่ซึ่งยังคงมีสีสันที่สดมาก ทำให้จินตนาการไปในสมัยก่อนว่าวิหารหลังนี้คงจะสวยงามอลังการมาก ๆ เลยทีเดียว สมกับเป็นวิหารแห่งฟาโรห์ที่คงอยู่ไปชั่วนิรันดร์ตามพระประสงค์ของพระองค์

อียิปต์

          ถัดจากลานกลางวิหารที่สองจะเป็นห้องโถงเสาขนาดใหญ่และห้องบูชาศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งปัจจุบันส่วนหลังคา ผนังห้อง และโถงเสาแทบไม่หลงเหลือให้เห็นแล้ว

อียิปต์

ห้องโถงเสาเหลือเพียงแค่ฐานเสาเท่านั้น

อียิปต์

          ในรัชสมัยที่ 31 ของพระองค์ ราชสำนักวุ่นวายไปด้วยอุบายเรื่องการสืบราชบัลลังก์ โดยพระนาง Tiye ซึ่งเป็นพระมเหสีองค์รอง กับผู้สมรู้ร่วมคิดอีกหลายคนได้วางแผนลอบปลงพระชนม์ฟาโรห์รามเสสที่ 3 เพื่อให้พระโอรสของพระนางมีนามว่าเจ้าชาย Pentaweret ได้ครองบัลลังก์แทน เพราะตอนนั้นฟาโรห์รามเสสที่ 3 ทรงแต่งตั้งพระโอรสที่เกิดจากมเหสีองค์แรกมีนามว่าเจ้าชาย Amonhirkhopshef สืบทอดราชบัลลังก์แล้ว แต่แผนการล้มเหลวทำให้มีการสอบสวนขยายผล จนได้รายชื่อผู้สมรู้ร่วมคิดรวมทั้งหมด 28 คน และทั้งหมดได้ถูกพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่ในที่สุดฟาโรห์รามเสสที่ 3 ได้สิ้นพระชนม์ลงก่อนการตัดสินคดีจะเสร็จสิ้น และจากการตรวจสอบมัมมี่ของพระองค์พบรอยแผลลึกที่ลำคอ จึงเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วพระองค์ก็ทรงหนีไม่พ้นจากการถูกลอบปลงพระชนม์ ในเวลาต่อมาเจ้าชาย Amonhirkhopshef ก็ได้สืบทอดราชบัลลังก์ขึ้นเป็นฟาโรห์รามเสสที่ 4 ปกครองอาณาจักรอียิปต์

อียิปต์

          ออกจากวิหารฟาโรห์รามเสสที่ 3 ผมก็บอกให้คนขับรถพาไปสถานที่ลำดับต่อไป ขับตามถนนขึ้นไปทางเหนือจนมาถึงลานจอดรถหน้าทางเข้าวิหารประกอบพิธีศพฟาโรห์รามเสสที่ 2 ซึ่งวิหารนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า รามีเซียม (Ramesseum) พอผมลงจากรถคนขับถามว่าจะอยู่ที่นานเท่าไร ตอบไปว่าน่าจะ 1 ชั่วโมง พอได้คำตอบพี่แกบอกว่าเจอกันอีก 1 ชั่วโมงนะ แล้วขับรถออกไปเลย ผมก็คิดว่าคงไม่ทิ้งกันกลางคันแบบนี้ เพราะผมยังไม่ได้จ่ายเงินค่ารถเลย

          จากลานจอดรถเดินตากแดดตามทางเดินจนถึงบริเวณนี้ เห็นว่ายังคงมีการขุดค้นหรือบูรณะอยู่เลยครับ อยากเข้าไปร่วมวงกะเขาเหมือนกันนะครับ

อียิปต์

          รูปแกะสลักเทพอนูบิส (Anubis) ดูเหมือนน่าจะทำขึ้นมาใหม่ เพราะยังดูใหม่มาก ๆ ถ้าทำเสร็จแล้วคงจะสวยงามน่าดูเพราะมีรูปตัวอย่างตั้งแสดงอยู่ด้วย

อียิปต์

ด้านหลังคือเทือกเขาธีบัน วิหารทางซ้ายคือรามีเซียมครับ

อียิปต์

          มาถึงแล้วครับวิหารประกอบพิธีศพฟาโรห์รามเสสที่ 2 หรือที่เรียกว่า รามีเซียม (Ramesseum) มีรูปภาพแสดงตัวอย่างวิหารในสภาพที่สมบูรณ์ตั้งแสดงอยู่ด้วย เห็นแล้วก็นึกเสียดายเพราะตอนนี้สภาพวิหารพลังทลายลงไปมากเลยทีเดียว

อียิปต์

          บริเวณด้านหน้าไพลอนที่สองของวิหารหลังนี้ ซึ่งปัจจุบันได้พังทลายลงไปเยอะเลยครับ

อียิปต์

          รูปสลักฟาโรห์รามเสสที่ 2 ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าไพลอนที่สอง พังทลายลงมาเป็นชิ้น ๆ อยู่ที่พื้น คาดกันว่ารูปสลักรูปนี้น่าจะมีความสูงประมาณ 17 เมตร

อียิปต์

          ภาพแกะสลักพระนามของฟาโรห์รามเสสที่ 2 สังเกตว่าพระนามของฟาโรห์จะเขียนอยู่ในเครื่องหมายคล้ายวงรี ซึ่งเรียกว่าคาร์ทูซ (Cartouch) เช่นในภาพนี้มีคาร์ทูซ 2 อัน ซึ่งชื่อในคาร์ทูซทั้งสองนี้ คือ ชื่อของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ครับ โดยคาร์ทูซอันแรกนับจากทางซ้ายคือชื่อตอนขึ้นครองราชย์ (Throne Name) จุดสังเกตคืออักษรภาพที่เป็นรูปวงกลม คือดวงอาทิตย์ มักจะเป็นอักษรตัวแรกของ Throne Name ชื่อในคาร์ทูซอันนี้อ่านว่า Usermaatre setepenre ส่วนคาร์ทูซอันถัดมาคือชื่อของฟาโรห์ที่ตั้งไว้ตั้งแต่ตอนเกิด (Birth Name) ชื่อในคาร์ทูซอันนี้อ่านว่า Ramesses meryamun

อียิปต์

          ถัดจากไพลอนที่สองก็จะเป็นลานกลางวิหาร ซึ่งมีเสาที่แกะสลักเป็นฟาโรห์รามเสสที่ 2 ในร่างเทพโอซิริสประดับอยู่โดยรอบ ปัจจุบันหลงเหลือเท่าที่เห็นครับ วิหารหลังนี้เสียหายไปมากจริง ๆ เทียบกับวิหารของฟาโรห์รามเสสที่ 3 ที่พาไปชมมาก่อนหน้านี้ไม่ได้เลย

อียิปต์

          ส่วนถัดไปจากลานกลางวิหารก็จะเป็นห้องโถงเสา ผนังห้องทางด้านซ้ายยังคงมีสภาพที่ดี แต่ผนังด้านขวาไม่เหลือให้เห็นแล้ว

อียิปต์

          ภาพแกะสลักฟาโรห์รามเสสที่ 2 ทรงได้รับมงกุฎ Atef จากเทพอามุน เทพีมุท และเทพคอนชู เทพสามองค์นี้เป็นเทพทั้งสามแห่งเมืองธีบส์

อียิปต์

          ห้องโถงเสาของวิหารหลังนี้สูงซะจนต้องแหงนคอมองกันเลยทีเดียว บริเวณหัวเสาคงยังมีสีสันหลงเหลืออยู่บ้าง

อียิปต์

          ฟาโรห์รามเสสที่ 2 ได้รับเครื่องหมายอังค์ (Ank) ซึ่งหมายถึงชีวิตจากเทพอามุน โดยมีเทพี Weret-Hekau ยืนอยู่ด้านหลังฟาโรห์ และเทพคอนชูยืนอยู่ด้านหลังเทพอามุน

อียิปต์

          ภาพแกะสลักแสดงถึงขบวนแห่เรือศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้าในพิธีสำคัญทางศาสนา

อียิปต์

          ภาพแกะสลักฟาโรห์รามเสสที่ 2 นั่งอยู่ใต้ต้นไม้แห่งชีวิต โดยมีเทพอาตุมนั่งอยู่ด้านหลังและกำลังเขียนชื่อของฟาโรห์ลงบนใบไม้ต้นนี้ น่าจะสื่อถึงการมีชีวิตและอายุที่ยืนยาวครับ ส่วนเทพีที่ยืนอยู่ด้านหน้าฟาโรห์ คือ เทพี Seshat

อียิปต์

          บริเวณพื้นที่ด้านหลังห้องโถงเสา สมัยก่อนประกอบไปด้วยห้องเก็บของในวิหาร ห้องสวดมนต์ ห้องบูชาศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันเหลือเพียงแค่ฐานเท่านั้น

อียิปต์

          เดินเที่ยวชมเกือบชั่วโมงก็เดินออกมาที่ลานจอดรถก็ยังไม่เห็นคนขับรถมาถึงเลยครับ ผมจึงนั่งรอไปอีกเกือบ 5 นาที คนขับรถก็มาถึง ตอนนั้นคิดว่าถ้านั่งรอเกิน 15 นาที จะหารถคันใหม่แล้วนะเนี่ย

อียิปต์

          จากรามีเซียมนั่งรถไปอีกไม่นานก็มาถึงลานจอดรถวิหารประกอบพิธีศพฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุส (Mortuary Temple of Hatshepsut) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณที่มีชื่อเรียกว่า Deir el-Bahari ตรงบริเวณนี้จะมีวิหารตั้งอยู่ 3 หลังติด ๆ กัน จากรูปแสดงโมเดลของวิหารที่ Deir el-Bahari ไล่จากวิหารที่อยู่ใกล้สุด คือ วิหารฟาโรห์เมนตูโฮเตปที่ 2 (Mentuhotep II) ถัดไป คือ วิหารฟาโรห์ธุตโมสิสที่ 3 (Thutmosis III) และหลังสุดท้าย คือ วิหารฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุส

อียิปต์

          จากลานจอดรถสามารถเดินไปที่วิหารได้เลยครับ แต่มันดูไกลมากแถมแดดก็แรง ผมเลยจ่ายเงินซื้อตั๋วรถซึ่งจะมีรถพาไปส่งถึงบันไดทางขึ้นวิหารเลยครับ

อียิปต์

          ฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุส (1479-1458 ปีก่อน ค.ศ.) เป็นฟาโรห์องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์ที่ 18 พระนางเป็นพระราชธิดาองค์ที่ 2 ของฟาโรห์ธุตโมสิสที่ 1 (Thutmosis I) กับพระราชินีอาห์โมส (Ahmose) พระนางฮัตเชปซุสมีพระสิริโฉมอันงดงาม พระสติปัญญาเฉลียวฉลาด และพระทัยที่เข้มแข็ง จึงเป็นที่โปรดปรานของพระราชบิดา จึงมีโอกาสตามเสด็จไปตามดินแดนต่าง ๆ บางครั้งได้ติดตามพระราชบิดาไปในกองทัพ ทรงเห็นการสู้รบด้วยพระองค์เอง ในที่สุดฟาโรห์ธุตโมสิสที่ 1 ทรงสถาปนาให้พระนางเป็นผู้ปกครองร่วม ซึ่งหมายความว่าการปกครองโดยมีพระนางฮัตเชปซุสเข้ามามีส่วนในการบริหารประเทศด้วย

อียิปต์

          เมื่อฟาโรห์ธุตโมสิสที่ 1 เสด็จสวรรคต พระองค์ไม่มีรัชทายาทสืบทอดราชบัลลังก์ มีแต่โอรสที่เกิดจากพระสนม Mutnofret เท่านั้น และตามกฎมณเฑียรบาลสตรีไม่สามารถเป็นฟาโรห์ได้ ดังนั้นราชบัลลังก์จึงตกไปเป็นของโอรสผู้นี้ ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นฟาโรห์ธุตโมสิสที่ 2 (Thutmosis II) แต่เนื่องจากมารดาเป็นพระสนม ฟาโรห์ธุตโมสิสที่ 2 จึงต้องอภิเษกสมรสกับพระนางฮัตเชปซุสเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของชาวอียิปต์ แต่ฟาโรห์ธุตโมสิสที่ 2 ทรงอ่อนแอทั้งทางพระวรกายและสติปัญญา ไร้ความสามารถที่จะเป็นผู้นำ ในที่สุดอำนาจทั้งหลายก็ได้กลับมาตกอยู่ในมือของพระนางอย่างเด็ดขาด

อียิปต์

          ฟาโรห์ธุตโมสิสที่ 2 มีพระราชธิดากับพระนางฮัตเชปซุสพระองค์หนึ่งนามว่า เจ้าหญิง Neferure อีกทั้งยังมีโอรสกับพระสนมเอก Isis ซึ่งต่อมาโอรสองค์นี้ได้กลายมาเป็นฟาโรห์ธุตโมสิสที่ 3 เมื่อฟาโรห์ฟาโรห์ธุตโมสิสที่ 2 เสด็จสวรรคต ราชบัลลังก์ก็ต้องตกอยู่กับพระราชโอรสของพระองค์ คือ เจ้าชายธุตโมสิสที่ 3 แต่เนื่องจากพระองค์ยังทรงพระเยาว์มาก พระนางฮัตเชปซุสพระมารดาเลี้ยงของพระองค์จึงได้ทำหน้าที่เหมือนผู้สำเร็จราชการแทน

อียิปต์

          ภายหลังจากที่พระนางทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนฟาโรห์องค์น้อยประมาณ 2 ปี พระนางได้ตัดสินพระทัยที่จะขึ้นมาบริหารประเทศเอง แต่มิใช่ในฐานะราชินีของฟาโรห์พระองค์เดิม แต่เป็นในฐานะฟาโรห์ ซึ่งไม่เคยปรากฏในอียิปต์มาก่อนว่ามีสตรีเป็นฟาโรห์ และเพื่อให้ถูกต้องตามพระราชประเพณี พระนางทรงฉลองพระองค์ในชุดฟาโรห์พร้อมทั้งติดหนวด และเคราปลอมออกนั่งบัลลังก์ว่าราชการอย่างเป็นทางการ

อียิปต์

          ฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุสทรงปรับปรุงกองทัพเช่นเดียวกับที่พระราชบิดาทรงกระทำมาก่อน ทำให้ตลอดสมัยการปกครองของพระนางจึงไม่ค่อยมีสงครามใหญ่ ๆ เกิดขึ้น และเมื่อเจ้าชายธุตโมสิสที่ 3 ทรงเจริญวัย ฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุสได้มอบหมายภารกิจทางทหารทั้งหมดให้กับเจ้าชายธุตโมสิสที่ 3 ดูแลรับผิดชอบ ส่วนพระนางได้มุ่งมั่นสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจให้ประเทศเป็นสำคัญ จนในปีที่ 22 ของการครองราชย์ ฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุสเสด็จสวรรคต จากการตรวจสอบมัมมี่ของพระนางพบว่า ฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุสน่าจะทรงเป็นโรคเบาหวาน ข้ออักเสบ และทรงสวรรคตด้วยโรคมะเร็งกระดูก ซึ่งมะเร็งได้มีการแพร่กระจายลุกลามไปทั่วร่างกายของพระนางด้วย

          วิหารฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุสตั้งอยู่ติดกับเทือกเขาธีบัน เป็นวิหารที่สวยงามดูร่วมสมัยมาก รูปแบบไม่เหมือนวิหารที่ผมพาชมมาก่อนหน้านี้แม้แต่น้อย วิหารของพระนางเป็นอาคาร 3 ชั้น สร้างด้วยหินปูนสีขาวทั้งหลัง ด้านหน้าของทุกชั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ เป็นแถวเสาระเบียง ตั้งเรียงรายซ้อนกัน 2 แถว แต่ละชั้นเชื่อมด้วยทางลาดที่พาดอยู่ตรงกลางอาคารวิหารพอดี

อียิปต์

          วิหารประกอบพิธีศพฟาโรห์เมนตูโฮเตปที่ 2 (Mentuhotep II) อยู่ในสภาพที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันเพียงเท่านี้ ฟาโรห์เมนตูโฮเตปที่ 2 (2060-2010 ปีก่อน ค.ศ.) เป็นฟาโรห์องค์แรกแห่งราชวงศ์ที่ 11

อียิปต์

          ผมจะพาเดินชมวิหารฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุสโดยเริ่มจากชั้นที่สองเลยนะครับ เพราะชั้นแรกปิดปรับปรุงพอดีครับ ชั้นที่ 2 นี้ประกอบด้วยพื้นที่สองส่วน คือ ด้านซ้ายมือกับด้านขวามือ โดยมีทางลาดตั้งอยู่ตรงกลางของชั้นครับ จากรูปตรงบริเวณชั้นที่สองของวิหารไล่จากด้านซ้ายไปขวา คือ ห้องบูชาเทพีฮาเทอร์, ระเบียงเสาด้านซ้าย (Portico of Punt), ระเบียงเสาด้านขวา (Portico of the Birth) และห้องบูชาเทพอนูบิส

อียิปต์

          ไปชมห้องบูชาเทพีฮาเทอร์กันก่อนครับ ซึ่งเป็นเทพีแห่งความสวยงาม ความรัก และการดนตรี เสาของห้องนี้ที่หัวเสาจะแกะสลักเป็นใบหน้าของเทพีฮาเทอร์

อียิปต์

          เทพีฮาเทอร์ในร่างวัวกำลังเลียพระหัตถ์ของฟาโรห์ธุตโมสิสที่ 1 พระบิดาของพระนางฮัตเชปซุส ซึ่งวัวคือสัญลักษณ์ของเทพีฮาเทอร์

อียิปต์

ทหารอียิปต์ถือกิ่งไม้และอาวุธอยู่ในท่าวิ่ง

อียิปต์

พระนางฮัตเชปซุสกำลังดื่มน้ำนมจากเต้านมวัว ซึ่งคือสัญลักษณ์ของเทพีฮาเทอร์

อียิปต์

          ถัดจากห้องบูชาเทพีฮาเทอร์ ก็คือ ระเบียงเสาด้านซ้าย (Portico of Punt) บริเวณนี้มีภาพสลักที่บอกเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางไปดินแดนพันต์ (Punt) ของกองเรือของพระนางฮัตเชปซุส สันนิษฐานว่าดินแดนพันต์น่าจะตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลของประเทศโซมาเลียในปัจจุบัน การเดินทางสำรวจดินแดนพันต์ของกองเรือพระนางฮัตเชปซุสตรงกับปีที่ 8 และ ปีที่ 9 แห่งการครองราชย์ของพระนาง

อียิปต์

          ภาพสลักราชินีแห่งพันต์ ซึ่งภาพนี้เป็นภาพสลักจำลอง ส่วนภาพสลักของจริงตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กรุงไคโร

อียิปต์

ลักษณะของบ้านเรือนที่พันต์ซึ่งเป็นบ้านพื้นยกสูง มีบันไดพาดขึ้นบนบ้าน

อียิปต์

          คณะสำรวจของพระนางฮัตเชปซุสถวายของมีค่าต่าง ๆ จากอียิปต์ให้กับกษัตริย์และราชินีแห่งพันต์

อียิปต์

          จากระเบียงเสาด้านซ้ายเดินตัดผ่านทางลาดก็จะเจอกับระเบียงเสาด้านขวา (Portico of the Birth) ที่ด้านนี้จะมีภาพสลักแสดงถึงการประสูติของพระนาง ซึ่งเป็นลักษณะคล้ายกับการชวนเชื่อว่า พระนางถือกำเนิดมาจากเทพอามุนกับพระราชินีอาห์โมส (พระมารดาของพระนาง) โดยเทพอามุนได้แปลงร่างเป็นฟาโรห์ธุตโมสิสที่ 1 พระบิดาของพระนาง เพื่อร่วมหลับนอนกับพระนางอาห์โมสซึ่งเป็นมเหสี จนพระนางอาห์โมสตั้งครรภ์และประสูติพระนางฮัตเชปซุส เพื่ออ้างสิทธิ์ในความชอบธรรมในการขึ้นครองราชย์เป็นฟาโรห์ เพราะชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่าฟาโรห์แต่ละองค์สืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้า

อียิปต์

          ส่วนสุดท้ายบนชั้นสองของวิหารหลังนี้ คือ ห้องบูชาเทพอนูบิส ซึ่งส่วนนี้กำลังทำการบูรณะจึงยังไม่ได้เปิดให้เข้าชมครับ

อียิปต์

          ต่อไปจะพาขึ้นไปยังชั้นสามของวิหารนะครับ วิหารชั้นนี้นับว่าเป็นชั้นที่สำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นชั้นที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมต่าง ๆ ทางลาดที่จะพาขึ้นไปที่ชั้นสามของวิหารมีรูปสลักเทพฮอรัสประดับอยู่ด้วย

อียิปต์

          ระเบียงเสาบนชั้นสามจะเป็นเสาที่มีรูปสลักของพระนางฮัตเชปซุสในร่างของเทพโอซิริส

อียิปต์

          จากระเบียงเสาเดินเข้าไปก็จะเป็นลานกลางวิหารซึ่งจะห้อมล้อมไปด้วยเสาจำนวนมาก แต่ปัจจุบันพังเสียหายไปเยอะมาก

อียิปต์

          ด้านในสุดตรงกลางวิหารที่ติดกับภูเขาจะเป็นห้องบูชาเทพเจ้าอามุน ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการขุดค้นและบูรณะจึงยังไม่เปิดให้เข้าชมด้านใน

อียิปต์

          ออกจากวิหารฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุสประมาณเกือบเที่ยง เลยบอกคนขับรถให้พาไปร้านอาหารบริเวณนี้ให้หน่อย คนขับรถเลยพาไปทานที่ร้านอาหารร้านหนึ่งอยู่ในแหล่งชุมชนไม่ไกลจากวิหารหลังนี้มากเท่าไร ดูแล้วคงเป็นร้านอาหารของคนท้องถิ่นมากกว่าที่จะเป็นร้านอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวครับ มื้อนี้จัดไก่ย่างมาทานก็อร่อยใช้ได้เลย ไก่ย่างที่ลักซอร์จะแห้งกว่าที่อัสวาน สำหรับผมคิดว่าไก่ย่างที่ลักซอร์อร่อยกว่าที่อัสวานครับ

อียิปต์

          ทางเข้าร้านอาหาร ถ้าเดินมาเองไม่รู้เลยนะว่าเป็นร้านอาหาร ทีแรกก็นึกกลัวว่าคนขับพามาหลอกอะไรหรือเปล่านะ แอบระแวง 555

อียิปต์

          พออิ่มหนำแล้วที่หมายต่อไปที่ผมจะไป คือ สถานที่ที่คนทุกคนมาเที่ยวลักซอร์ฝั่ง West Bank แล้วต้องไม่พลาด ก็คือ หุบผากษัตริย์ (Valley of the Kings) ซึ่งเป็นสถานที่ที่ไว้สำหรับฝังพระศพของฟาโรห์หลายพระองค์ด้วยกันครับ คนขับรถขับรถมาส่งที่ลานจอด จากนั้นก็เดินผ่านการตรวจค้น และเดินเข้าไปซื้อตั๋วด้านในครับ บริเวณห้องรับรองนักท่องเที่ยวมีโมเดลจำลองหุบผากษัตริย์ตั้งแสดงอยู่ด้วยครับ

อียิปต์

          ภายใต้หุบผากษัตริย์แสดงถึงอุโมงค์ทางเดิน และห้องฝังพระศพใต้ดินของสุสานฟาโรห์แต่ละพระองค์ครับ

อียิปต์

          ห้องขายตั๋วเข้าชมสุสาน ตั๋วหนึ่งใบสามารถเข้าชมได้ 3 สุสานครับ ไม่รวมสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุน, สุสานฟาโรห์รามเสสที่ 5 และรามเสสที่ 6 ซึ่งต้องซื้อตั๋วพิเศษต่างหากถ้าจะเข้าชม

อียิปต์

          ตรงด้านหน้าที่ขายตั๋วจะแปะกระดาษบอกให้รู้ว่าวันนี้มีสุสานไหนที่เปิดให้เข้าชมบ้าง สุสานที่เปิดให้ชมในแต่ละช่วงเวลาก็จะสลับสับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ครับ คราวนี้ผมซื้อตั๋วหนึ่งใบเพื่อที่จะเข้าชมสุสานของฟาโรห์ธุตโมสิสที่ 4 (Thutmosis IV), ฟาโรห์เมเรนพทาห์ (Merenptah), ฟาโรห์รามเสสที่ 3 (Ramesses III) และซื้อตั๋วพิเศษอีกหนึ่งใบเพื่อเข้าชมสุสานฟาโรห์รามเสสที่ 5 และรามเสสที่ 6 (Ramesses V & VI) ส่วนสุสานฟาโรห์ตุตันคามุน ผมเคยเข้าชมเมื่อคราวที่มาอียิปต์เมื่อ 5 ปีที่แล้ว คราวนี้เลยขอผ่านครับ

อียิปต์

          จากตรงที่ซื้อตั๋วนี่ถือว่ายังไม่เข้าเขตสุสานฟาโรห์นะครับ ต้องเดินทางต่อมาอีกจึงจะมาถึงเขตหุบผากษัตริย์ซึ่งเป็นที่ฝังพระศพฟาโรห์ โดยต้องนั่งรถพาเข้าไปอีกประมาณเกือบครึ่งกิโลเมตร สามารถซื้อตั๋วรถได้ตรงจุดขายตั๋วสุสานเช่นกันครับ หรือใครอยากจะเดินก็คงได้ ผมเลือกนั่งรถเพราะออมแรงไว้เที่ยวดีกว่าครับผม

อียิปต์

          มาถึงบริเวณด้านหน้าของเขตสุสานฟาโรห์แล้วครับซึ่งตรงนี้เป็นจุดสุดท้ายที่สามารถถ่ายรูปได้ นักท่องเที่ยวทุกคนต้องนำกล้องถ่ายรูปมาฝากไว้ตรงทางเข้าทั้งหมดครับผม แค่มีกล้องถ่ายรูปแล้วพาเข้าไปด้านในถึงยังไม่ได้ยกมาถ่ายรูป ถ้ายามตรวจเจอก็ถือว่ามีความผิดแล้วครับ

อียิปต์

          แผนที่หุบผากษัตริย์ (Valley of the Kings) กรอบสีแดงในรูปคือสุสานที่ผมเข้าชมในทริปนี้ครับ

อียิปต์

          credit : http://www.thecaptainslog.org.uk/Nile2010/ValleyoftheKings2c.jpg

          สุสานฟาโรห์ในหุบผากษัตริย์เป็นสุสานแบบเจาะเข้าไปในหน้าผาสร้างเป็นทางเดิน ห้องเก็บสมบัติ ห้องฝังพระศพ สร้างโดยฟาโรห์หลายพระองค์ในราชวงศ์ที่ 18 จนถึงราชวงศ์ที่ 20 สุสานในหุบผากษัตริย์เกือบทั้งหมดถูกปล้นไปตั้งแต่ในสมัยโบราณ ยกเว้นสุสานไม่กี่แห่งเท่านั้นที่รอดพ้นมาได้ หนึ่งในนั้นคือสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุน  ที่คนส่วนมากรู้จักนั่นเองครับ มีการเรียกชื่อสุสานด้วยตัวอักษร KV ย่อมาจาก King’s Valley ตามด้วยตัวเลข เช่น KV8, KV9, KV11, KV43 ตัวเลขที่ตามหลัง KV เรียงตามลำดับเวลาในการถูกค้นพบครับ

          เนื่องจากกฎที่ห้ามนำกล้องเข้าไปในพื้นที่นี้ผมจึงไม่มีรูปถ่ายมาให้ชมเลยครับ

          ผมใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่งในการเดินชมสุสานฟาโรห์ทั้งหมด 4 สุสาน ซึ่งก็ได้เวลาที่จะกลับไปที่ลานจอดรถแล้วครับ เพราะบอกคนขับว่าจะใช้เวลาเที่ยวที่หุบผากษัตริย์ประมาณ 2 ชั่วโมง การเดินชมสุสานเล่นเอาเหนื่อยเหมือนกันเพราะลักษณะพื้นที่ของหุบผากษัตริย์จะเป็นเนินเขา และสุสานฟาโรห์จะขุดลึกลงไปค่อนข้างมาก พอเดินลงไปจนถึงห้องฝังพระศพด้านในสุดแล้วก็ต้องเดินขึ้นมายังทางออก เล่นเอาเมื่อยและเหนื่อยเหมือนกันครับ

          มาถึงลานจอดรถก็เจอคนขับมานอนรอเรียบร้อยแล้ว ก็เลยบอกจุดหมายปลายทางต่อไป คือ สุสานขุนนาง (Tombs of The Nobles) ซึ่งบริเวณสุสานจะอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ ฝั่งตรงข้ามกับวิหารฟาโรห์รามเสสที่ 2 (รามีเซียม) นั่นเองครับ ตั๋วเข้าชมสุสานขุนนางไม่มีขายที่นี่นะครับ ต้องซื้อจากจุดขายตั๋วที่ผมได้ไปซื้อมาก่อนแล้วตั้งแต่ตอนเช้า สุสานขุนนางจะแบ่งพื้นที่การเข้าชมเป็นกลุ่ม ซึ่งสุสานหนึ่งกลุ่มอาจจะมี 2 ถึง 3 สุสานต่อกลุ่ม ผมซื้อตั๋วสุสานขุนนางมา 2 ใบ จึงสามารถเข้าชมสุสานได้ 2 กลุ่มครับ

อียิปต์

          พอลงจากรถที่ลานจอดรถตรงสุสานขุนนาง คนขับบอกว่าเดี๋ยวไปทำธุระก่อนแล้วค่อยมารับ ผมจึงนัดเวลาที่จะมาเจอกันที่ลานจอดรถ พอเดินไปยังทางเดินเข้าเขตสุสานขุนนาง ยามเฝ้าสุสานก็เดินมาหาและบอกว่าจะมาเป็นไกด์นำเที่ยวให้เอง ซึ่งพอมองตากันก็ผมก็เข้าใจในความหมายแฝงของการมาเป็นไกด์ คือ หวังค่าทิปแลกกับการให้ได้ถ่ายรูปนั่นเองครับ คนที่เดินนำหน้าคือไกด์จำเป็นที่พาผมเดินเที่ยวที่นี่ครับ

อียิปต์

          ผมขอลงรีวิวให้ชมบางสุสานแล้วกันนะครับ เพราะบางสุสานก็ไม่ได้ถ่ายรูปมา เพราะถ้ามีตำรวจอยู่แถวนั้นยามก็ไม่กล้าให้เราถ่ายรูปเหมือนกัน มาที่สุสานแรกก่อนครับ คือ สุสานของ Nakht ซึ่งเป็นขุนนางทำงานอยู่ในรัชสมัยฟาโรห์ธุตโมสิสที่ 4 ทำหน้าที่เป็นอาลักษณ์ และนักบวชแห่งวิหารเทพอามุน

ด้านหน้าทางเข้าสุสานของ Nakht

อียิปต์

Nakht กับภรรยาและลูก ๆ กำลังออกล่าสัตว์

อียิปต์

          Nakht กำลังคุมพวกคนงานที่ทำงานอยู่ในไร่ คนงานกำลังฝัดข้าว โดยการโรยข้าวลงมาแล้วอาศัยแรงลมในการแยกพวกเปลือกข้าวและเศษฟางออกมา

อียิปต์

Nakht กับภรรยากำลังรับของเซ่นไหว้ที่ตั้งอยู่ด้านหน้า

อียิปต์

          ต่อไปเป็นสุสานของขุนนางอีกคนที่ชื่อ Ramose ซึ่งเป็นขุนนางระดับสูงในรัชสมัยของฟาโรห์อาเมนโฮเตบที่ 3 และฟาโรห์อาเมนโฮเตบที่ 4 (อีกชื่อหนึ่งคือฟาโรห์อเคนาเตน) สุสานของ Ramose เป็นสุสานที่สร้างไม่เสร็จ เพราะในรัชสมัยของฟาโรห์อาเมนโฮเตบที่ 4 ได้มีการย้ายเมืองหลวงไปยังเมืองอมาร์นาซึ่งอยู่เหนือลักซอร์ไปอีก 400 กิโลเมตร Ramose จึงได้ไปสร้างสุสานของตัวเองใหม่ที่เมืองนั้นครับ

อียิปต์

ภาพวาดแสดงกลุ่มผู้หญิงที่มีอาชีพรับจ้างร้องไห้คร่ำครวญในงานศพ

อียิปต์

          ภาพแกะสลักสุริยเทพอาเตน (Aten) ในสุสานของ Ramose ซึ่งเทพอาเตนมีสัญลักษณ์เป็นรูปดวงอาทิตย์ โดยมีลำแสงเป็นรูปแขนและมือ ในรัชสมัยฟาโรห์อาเมนโฮเตบที่ 4 พระองค์ทรงยกเลิกการบูชาเทพหลายร้อยองค์ และหันไปบูชาเทพอาเตนเพียงองค์เดียว มีการย้ายเมืองหลวงไปยังเมืองอมาร์นา และเปลี่ยนพระนามของพระองค์จาก อาเมนโฮเตป (อามุนทรงพอพระทัย) เป็น อเคนาเตน (ผู้มีคุณูปการต่ออาเตน) การกระทำของพระองค์เป็นการปฏิวัติทางศาสนาครั้งใหญ่ เชื่อว่าอาจจะเพราะต้องการลดทอนอำนาจทางการเมืองของนักบวชแห่งเทพอามุนในลักซอร์ ซึ่งนับวันจะเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อย ๆ ทว่าการบูชาเทพอาเตนกลับนำไปสู่ความไม่สงบ เพราะมีคนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับแนวทางของศาสนาใหม่ ดังนั้นภายหลังการสิ้นพระชนม์ของฟาโรห์อเคนาเตน ฟาโรห์องค์ใหม่จึงย้ายเมืองหลวงกลับมาที่ลักซอร์เช่นเดิม และสั่งให้มีการทำลายเมืองอมาร์นา และวิหารเทพอาเตนลงแทบทั้งหมด

อียิปต์

          ออกจากสุสานขุนนางก็บ่ายสามโมงแล้ว มีเวลาอีกหนึ่งชั่วโมงก็จะครบเวลาที่ตกลงในการเช่ารถพอดี จึงมีเวลาพอที่จะไปเที่ยวสถานที่สุดท้ายของวันนี้ครับ ห่างออกไปไม่ไกลจากสุสานขุนนางจะเป็นบริเวณที่เรียกว่า Deir al-Medina ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้าน สุสานของช่างฝีมือและคนงาน ที่มีหน้าที่ในการสร้างสุสานให้กับฟาโรห์ในหุบเขากษัตริย์ มาถึงลานจอดก็เดินขึ้นไปตรงเนินเตี้ย ๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งสุสานคนงาน

อียิปต์

          ขึ้นไปด้านบนพอมองลงมาจะเห็นหมู่บ้านคนงาน เมื่อประมาณ 3,000 ปีที่แล้ว ในทุก ๆ เช้ากลุ่มคนงานจะเดินทางออกจากหมู่บ้านไปยังหุบผากษัตริย์เพื่อขุดสร้างสุสานให้กับฟาโรห์ พอตกเย็นก็กลับมาพักผ่อนนอนหลับกันในหมู่บ้านตรงนี้ครับ

อียิปต์

          ตั๋วเข้าชมที่นี่ให้ซื้อตรงจุดขายตั๋วซึ่งผมได้ซื้อมาแล้วตั้งแต่ตอนเช้า ตั๋วหนึ่งใบสามารถเข้าชมพื้นที่บริเวณนี้ทั้งหมดยกเว้นสุสานคนงานที่ชื่อ Peshedu ต้องซื้อตั๋วแยกต่างหากครับ ผมรีวิวเฉพาะสุสานของ Peshedu แล้วกันนะครับ เพราะเป็นสุสานเดียวที่ได้ถ่ายรูปด้านในมาให้ชม

          สุสานของ Peshedu มีขนาดไม่ใหญ่โต แต่ภาพวาดตกแต่งด้านในสุสานสีสันสดใสสวยงามมาก ๆ ไม่น่าเชื่อเลยว่าภาพพวกนี้ถูกวาดเอาไว้เมื่อหลายพันปีมาแล้ว ภาพวาดห้องฝังศพมีภาพเทพโอซิริสประทับบนบัลลังก์

อียิปต์

          เหนือทางออกจากห้องฝังศพมีภาพวาดของเทพที่มีศีรษะเป็นเหยี่ยว คือ เทพ Ptah-Sokar-Osiris เกิดการรวมสามเทพเจ้าเข้าด้วยกัน คือ เทพโซการ์ (Sokar), เทพพทาห์ (Ptah) และเทพโอซิริส (Osiris) ส่วนผนังทางด้านซ้ายที่มีเทพนั่งอยู่บนบัลลังก์จากด้านซ้ายไปขวา คือ เทพเคปปริ เทพอตุม และเทพรา-ฮารัคตี

อียิปต์

          ผนังด้านขวาข้างทางเข้าเป็นภาพวาดเครือญาติของ Peshedu ซึ่งหนึ่งในนั้นมีภรรยาของเขารวมอยู่ด้วย

อียิปต์

          Peshedu กับภรรยาและลูกกำลังนั่งบนเรือเพื่อเดินทางไปยังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ ซึ่งเป็นฝั่งของผู้วายชนม์

อียิปต์

ภาพวาดเทพีฮาเทอร์กำลังมอบขนมปังและน้ำให้กับ Peshedu

อียิปต์

          บริเวณนี้นอกจากจะมีสุสานและหมู่บ้านคนงานแล้ว ยังมีวิหารขนาดเล็กซึ่งสร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพีฮาเทอร์ตั้งอยู่ด้วย วิหารนี้เริ่มสร้างขึ้นในสมัยฟาโรห์ปโตเลมีที่ 4 จนถึงฟาโรห์ปโตเลมีที่ 6 (200-300 ปีก่อน ค.ศ.)

อียิปต์

อียิปต์

          ออกจากวิหารนี้ก็ 4 โมงเย็นแล้วเลยเดินกลับไปที่ลานจอดรถ คนขับรถก็ขับมาส่งที่ท่าเรือเพื่อนั่งเรือข้ามฝั่งกลับไปฝั่งตะวันออกของแม่น้ำครับ ค่าเรือข้ามฟากคนละ 2 EGP. ตอนเดินมาถึงที่ท่าเรือมีคนอียิปต์แถวนั้นเดิมมาหาบอกว่าเรือข้ามฟากตรงนี้เฉพาะคนอียิปต์เท่านั้น ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวต้องนั่งเรือเร็วคล้ายสปีดโบ๊ทซึ่งราคาจะแพงกว่า ผมคิดดูแล้วมันไม่สมเหตุสมผล เลยไม่ยอมยืนเถียงกันเสียงดัง จนคนขับรถที่มาส่งผมเห็นเข้า แกเลยเดินมาเจรจาให้จนผมได้ขึ้นเรือข้ามฟากแบบชาวบ้านมาจนได้ เขาบอกว่าใคร ๆ ก็สามารถลงเรือข้ามฟากได้ไม่จำเป็นต้องนั่งเรือเร็ว ต้องขอบคุณพี่คนขับจริง ๆ ไม่อย่างนั้นผมคงโดนหลอกอีกแล้ว

อียิปต์

          ฝั่งตรงข้ามคือวิหารลักซอร์ซึ่งผมจะมาเที่ยวในวันพรุ่งนี้ครับ วันนี้เที่ยวจนหมดพลังแล้วเลยกะว่าขอกลับไปพักผ่อนที่โรงแรมก่อนดีกว่าครับ

อียิปต์

ระหว่างเดินกลับโรงแรมผ่านสถานีรถไฟเมืองลักซอร์ครับ

อียิปต์

          หน้าปากซอยโรงแรมมีร้านขายน้ำผลไม้ ตอนอยู่ที่นี่อุดหนุนไปหลายแก้วเลยครับ ทั้งน้ำอ้อย น้ำส้ม รสชาติอร่อยมากและราคาถูกสุด ๆ อย่างน้ำอ้อยแก้วละ 1 EGP. เท่านั้นครับ

อียิปต์

อียิปต์

บรรยากาศข้างทางระหว่างเดินกลับโรงแรม

อียิปต์

อียิปต์

          ร้านอาหารชื่อ Sofra ซึ่งเป็นหนึ่งในร้านอาหารที่หลายคนแนะนำว่าควรมานั่งทานครับ ร้านนี้ตั้งอยู่ในซอยเดียวกับโรงแรมที่ผมพักห่างกันนิดเดียว

อียิปต์

          ถึงแล้วครับโรงแรมที่ผมพัก เจ้าของโรงแรมเป็นผู้หญิงชาวออสเตรเลียที่มาแต่งงานกับชาวอียิปต์เลยได้ย้ายมาอยู่ที่นี่

อียิปต์

          มาถึงเอาของไปเก็บในห้องแล้วไปนั่งพักดื่มชาชิล ๆ ที่ชั้นดาดฟ้าของโรงแรม

อียิปต์

อียิปต์

สรุปค่าใช้จ่าย

อียิปต์

          รีวิวในวันนี้ก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้นะครับ ตอนหน้าจะพาทุกท่านไปเที่ยวชมวิหารคาร์นัค ซึ่งผมขอเรียกว่าเป็นมหาวิหารเลยครับเพราะมีพื้นที่กว้างขวางมาก ซึ่งได้สร้างต่อเติมจากฟาโรห์หลายพระองค์ด้วยกัน และจากนั้นไปชมวิหารลักซอร์ในยามค่ำคืนที่มีความสวยงามมาก...แล้วพบกันใหม่นะครับ

          รูปตัวอย่างตอนหน้า...วิหารลักซอร์ในยามพลบค่ำ

อียิปต์

          ขอเชิญไปเที่ยวอียิปต์กันต่อได้เลยครับ ^___^

          Juone ชวนเที่ยว..อียิปต์ : แบกเป้ลุยเดี่ยวเที่ยวอียิปต์ : ลักซอร์ (Luxor) อดีตเมืองหลวงอียิปต์โบราณ ตอนที่ 2 : East Bank >> http://pantip.com/topic/33367899




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลุยเดี่ยวเที่ยวอียิปต์ ณ ลักซอร์ อดีตเมืองหลวงเก่า อัปเดตล่าสุด 7 ตุลาคม 2564 เวลา 16:42:57 4,977 อ่าน
TOP