x close

ถนนล่องลอยดอยเปเปอร์




ฐากูร โกมารกูล ณ นคร...เรื่อง
สาธิต บัวเทศ...ภาพ

          ระหว่างลมหนาวประกาศตัวตนบนดอยแดนไกล มากมายไปด้วยความเย็นเยียบ ท้องฟ้าฉายสีน้ำเงินสด ใครบางคน ณ พิกัดนั้นเริ่มใช้ชีวิตไปกับภูเขาและเส้นทางสายเดิม โดยมีฤดูกาลเป็นสิ่งขับเคลื่อน เส้นทางสายหนึ่งข้างบนนั้นก็เช่นกัน เปลี่ยนผ่านตัวเองไปตามม่านฝน ลมแล้ง และฝุ่นผง หากแต่ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง คือการทอดตัวรองรับหลายชีวิตที่ผ่านพาตัวเองไปกับมันอย่างขาดกันไม่ได้



          ทางป่าสู่ดอยดิบเถื่อนในอดีต ที่ดึงดูดให้มิชชันนารีจากตะวันตก ดั้นดันขึ้นไปเผยแผ่ศาสนา ทางดินหล่มโคลน ร่องลึกสูงชัน ของนักเดินทางผู้หลงใหลการขับรถตรากตรำและทรมานตัวเองในฤดูฝน ถนนสายอุ่นเอื้อ เชื่อมโยงพี่น้องปกากะญอหลากหลายหมู่บ้านให้รู้จัก "ชีวิตที่ดี" ของคืนวันปัจจุบัน กับการเดินทางติดต่อสัมพันธ์กับโลกเบื้องล่าง หรืออาจเป็นทางไกลแสนโรแมนติก ที่นำพาผู้คนข้างล่างขึ้นมารู้จักสายลมหนาวและชีวิตกลางแจ้งบนรอยต่อเทือกทิวของตากเชียงใหม่ ในทุกเช้าเย็นที่หมู่หมอกหลอมเลือนคลื่นภูเขาไปกับแสงตะวัน



          ที่นี่ ดอยเปเปอร์ ระหว่างสายลมหนาวกำลังกวัดไกวทำนองชีวิตให้เคลื่อนไหวไหลลอย ยามสายที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก คึกคักด้วยภาพตลาดจริงแท้ในปลายสาย พี่น้องไทยและพม่าผสมผสานกันอยู่ในการค้าอย่างมีชีวิตชีวา ของสด ของแห้ง ผัก ผลไม้ เป็นสิ่งสามัญที่ผู้คนเข้ามาค้นหาเลือกซื้อ ทั้งชาวบ้าน และนักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่มีปลายทางอยู่บนภูเขา ทั้งแถบอุ้มผางและตามทิศทางที่มุ่งเลียบแม่น้ำเมย



          หลังผ่านพาตัวเองไปในตลาดสด ทางหลวงหมายเลข 105 ทอดตัวลิบไกลไปตามความเปลี่ยวเงียบอย่างที่มันเคยเป็นมา ฟ้าต้นฤดูหนาวใสสด แดดสายเริ่ม ร้อนเร่า และเสียงเครื่องยนต์ก็ดังกระหึ่ม บดล้อยางไปบนถนนสาย "ชายแดน" อันมากมายไปด้วยภาพชีวิตสองข้างทาง เราผ่านแม่ระมาดในสายเร่าร้อน น้ำเมยวิบวับเปลวแดดเต้นไหวอยู่ด้านข้าง ทุ่งข้าวหลังเก็บเกี่ยวเหลือเพียงฟ่อนฟางก่ายกอง เมื่อเข้าสู่เขตอำเภอท่าสองยาง ความรู้สึกประเภท "ห่างไกล" ทำหน้าที่ของมันผ่านเส้นทางและความเป็นอยู่อันอิงอยู่กับภูเขาของผู้คน



          ว่ากันตามตรง ถนนสายนี้เคยเป็นเส้นทางสาย "สุ่มเสี่ยง" สำหรับคนเดินทางไกลเลาะเลียบชายแดน ความมั่นคงทางการเมืองและสงครามระหว่างเชื้อชาติ ของประเทศที่อิงอยู่กับแม่น้ำเมยที่ฝั่งตรงข้าม ส่งผลให้ชีวิตตามชายแดนมากไปด้วยคราบเลือดและหยาดน้ำตา แคมป์อพยพของพี่น้องปกากะญอก่อนถึงแม่ระมาด อันครอบคลุมผืนภูเขาร่วมหมื่นหลังคาเรือนคือสิ่งยืนยัน มันสวยงามราวโปสการ์ดสักใบอันมากไปด้วยองค์ประกอบของภูเขา กระท่อมใบตองก๊อ และพี่น้องปกากะญอในชุดสีสวย ทว่าซ่อนเร้นภาพแห่งความหวังและการรอคอยไว้ในความทุกข์ยาก ความ "ไร้ถิ่นฐาน" และมีชีวิตอยู่ด้วยการรอความช่วยเหลือ



          ถนนลากผ่านความจริงสองข้างทาง ก่อนถึงอำเภอท่าสองยางราว 5 กิโลเมตร เราแยกขวาที่บ้านพะนอคี ผละจากถนนดำ พารถคันเล็กเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของภูเขา อากาศเย็น เทือกดอย และทางยาก คล้ายไม่รับรู้การมาถึงของเรา บางสิ่งอย่างมีไว้เพียงคนที่เหมาะสมกับมัน ถนนเล็ก ๆ ที่รถสวนกันแทบไม่ค่อยได้ลากจากเนินเขาที่หมู่บ้านพะนอคี ผ่านไปตามห้วยสายเล็กและไร่ข้าวโพดสีน้ำตาลทมอง จากที่เป็นคอนกรีตในช่วงแรก ๆ เมื่อตีโอบสันเขา ลากพาเข้าในหมู่บ้านเล็ก ๆ จากนั้นก็เปิดวิวแห่งความสันโดษดิบเถื่อน เป็นตัวของตัวเองอย่างถึงที่สุด

          ทางดินแดงช่วงแรกยังมากไปด้วยร่องสูงชัน เพิ่งผ่านพ้นฤดูฝนมาไม่นาน งบเกรดทางยังมาไม่ถึง ส่งผลให้การโขยกเขยกรถคันเล็กในช่วงเราเป็นไปด้วยความยากลำบาก กระนั้นก็ตาม หากเป็นช่วงที่มันยังเป็นหล่มโคลน ก็ใช่ว่าจะร้างไร้ผู้คน หากไม่นับชาวบ้านแถบบนดอยที่ต้องลงมาซื้อหาข้าวของ ใช้เวลาร่วมวันกับระยะทางไม่กี่กิโลเมตร



          ทางเล็ก ๆ เส้นนี้คือสิ่งเย้ายวนใจของกลุ่มออฟโรคจากเมืองไกล ที่ต่างมาค้นหา "จุดมุ่งหมาย" และหนทางด้วยการขับรถอันยากลำบาก นับเป็นห้วงเวลาอันรื่นรมย์ เมื่อทางแห้งสนิทและพาเราขึ้นสู่สันเขา มันไต่เวียนไปราวงูยักษ์ที่แนบตัวลงซอนซบเทือกดอย เดี๋ยวขึ้น เดี๋ยวลง เปิดภาพกระจ่างตาของทะเลภูเขาในแนวเขตท่าสองยางและแม่ระมาดให้เห็นลิบตา บางช่วงแดดบ่ายสะท้อนแม่น้ำเผยยิบยับ สลับโฟร์ไฮและโฟร์โลว์ไปตลอดเส้นทาง ฝุ่นดินคละคลุ้ง เกือบ 15 กิโลเมตร ที่มีเพียงเราคันเดียวกับเวลาร่วม 3 ชั่วโมง ทางดินบางช่วงได้รับการเกรดให้กว้างนาน ๆ ที่มีรถกระบะคร่ำคร่าของพี่น้องปกากะญอสวนมาบ้าง มอเตอร์ไซค์ก็เช่นกัน พวกเขาขี่มันอย่างคนเข้าใจและคุ้นเคยกับภูเขา คล้ายเป็นเส้นทางกลับบ้านอย่างทุกฤดูกาล

          เรามาถึงที่ "หน่วยจัดการต้นน้ำดอยเปเปอร์" เมื่อแดดบ่ายราแรง สาดแสงอุ่นให้พื้นที่เล็ก ๆ อันเป็นต้นน้ำของทั้งฝั่งตากและเชียงใหม่ดูงดงามราวเมืองไกลในนิทานปรัมปรา "น้ำแม่ตื่นและอีกหลายสายก็เริ่มจากดอยเปเปอร์นี่ละครับ" พรเทพ พรปิยรัตน์ หรือ พี่สอน บอกเบา ๆ ในสายลมแรงจัดยามย่างเย็น เขาบอกให้เราตั้งแคมป์ให้เสร็จก่อนมืด ลานหญ้าตรงริมจุดชมวิวนั้นเนียนนุ่ม ทอดสายตาออกไปเป็นหุบดอยไล่เรียงสูงต่ำ มันราวกับสวรรค์ของคนรักชีวิตกลางแจ้ง

          หน่วยฯ เล็ก ๆ แห่งนี้ก่อตั้งมาสิบกว่าปี เพื่อสื่อสารและดูแลพื้นที่ป่าต้นน้ำของเชียงใหม่และรายรอบ หลังจากที่ตรงนี้เคยมากมายไปด้วย ฝิ่นและการทำไร่เลื่อนลอย "การทำไร่แบบเมื่อก่อนไม่ค่อยมีแล้วครับ มันไม่ยั่งยืน" พี่สอนเองก็มีเชื้อสายปกากะญอ และย้ายตัวเองมาจากแม่ลาน้อย จะว่าไปในหน่วยฯ ก็มีเพียง ราชันย์ คำพร หัวหน้าหน่วยฯ ที่เป็นคนไทยจากข้างล่าง

          การทำไร่เลื่อนลอยอย่างที่หลายคนเรียกขานนั้น จริง ๆ แล้ว ในอดีตพวกเขาเรียกมันว่าการทำไร่หมุนเวียนมากกว่า แม้จะต้องตัดไม้บนภูเขาออกบ้าง แต่ก็มีวิธีฟื้นป่าอันน่าใส่ใจ "พวกคนรุ่นก่อนเขาตัดต้นไม้เพื่อทำไร่แท้ ๆ ครับ เหลือลำต้นพอให้มันแตกใหม่ ถ้าไม่ตัดเลยมันจะบังแดด ข้าวไม่งอกงาม แต่ไม่ตัดหมดโคน เดี๋ยวป่าหมด" พี่สอนเล่าเพลิน ๆ ระหว่างที่แคมป์เพิ่งกางเสร็จ กาน้ำจากเตาก๊าซแบบพกพาถูกจุด และกาแฟร้อนหอมก็ถูกแจกจ่ายคลายลมหนาว

          ชาวปกากะญอจะเริ่มต้นเลือกหาพื้นที่สำหรับถางไร่ ซึ่งหมายความว่าการผลิตและวงจรชีวิตเริ่มต้นในรอบปีใหม่มาถึงอีกครั้งหนึ่ง หลังจากได้พื้นที่แล้ว ก็จะทำเครื่องหมายเอาไว้โดยจะทำเครื่องหมายกากบาทไว้ที่ต้นไม้ เพื่อแสดงให้รู้เห็นกันว่า พื้นที่ตรงนี้มีเจ้าของจับจองแล้ว ไร่หมุนเวียนของพวกเขาเกี่ยวโยงกับความคิดความเชื่อต่อป่าที่เรียกว่าบ้าน ต้องไม่เป็นพื้นที่ป่าต้องห้ามตามประเพณี และที่สำคัญ ต้องไม่มีลางบอกเหตุ อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้การทำไร่หมุนเวียนถูกทดแทนด้วยการทำนาตามพื้นที่ทำกินอันถาวร การปลูกพืชเสริมอย่างผักผลไม้ที่ชอบอากาศเย็น กาแฟเองก็เริ่มหยั่งรากลงตามหุบเขา ซึ่งทั้งหมดมันสอดคล้องกับการมาถึงและจุดมุ่งหมายของหน่วยฯ

          "เขาทำกินได้ ป่าต้นน้ำบนนี้ก็ยิ่งสมบูรณ์ แต่ก่อนตอนมาตั้งหน่วยใหม่ ๆ หัวหน้าบอกว่าลำห้วยไม่มากมายน้ำอย่างทุกวันนี้" พี่สอนนั่งมองไปยังเบื้องล่างตรงจุดชมวิว ทั้งป่า ภูเขา และหมอก ย้อมอยู่ในแสงเหลือง ๆ ยามเย็น



          พูดกันถึงยอดดอยชื่อแปลกหูที่เราฝ่าทางภูเขาขึ้นมาเยือน ก่อนการมีชื่อของมัน เทือกเขาที่ทอดยาวเป็นแนวป่าเขา กั้นเขตตาก-เชียงใหม่ ผืนนี้ นอกจากเป็นแหล่งน้ำและอาหารอันอุดมของผู้คนและล่ำสัตว์ มันคือถิ่นที่อยู่ของพี่น้องปกากะญอมาเนิ่นนาน "หากกางแผนที่ดูนะครับ มีหมู่บ้านกะเหรี่ยงเกิน 40 หมู่บ้านกระจายตัวอยู่ตามหุบเขา มากเสียจนผมเองยังไปมาไม่หมด" พี่สอนว่าป่าเขากับเผ่าพันธุ์ของพวกเขาไม่เคยแยกจากกัน

          "ชื่อดอยนั้นมาจากยุคก่อนราว 50 ปีครับ ที่มิชชันนารีจากตะวันตกเดินเท้าเข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนา บ้างว่ากันว่าพวกเขาลงหมายไว้ในกระดาษแผ่นหนึ่ง แต่บางคนก็ว่าเส้นทางที่พับวนไปมาในหุบเขาทอดยาวนั้นเหมือนกับม้วนกระดาษ" เขาตอบคำถามเช่นนี้บ่อยครั้งที่สุด ตั้งแต่มาประจำอยู่ที่หน่วยฯ





          อย่างไรก็ตาม ยามเย็นบนดอยเปเปอร์เผยความงามจริงแท้อย่างไม่ต้องการการขนานชื่อนาม เราไต่สันดอยไปเที่ยวพระมหาธาตุโลกะวิทู (โฆ๊ะผะโต๊ะ) ที่ราบเล็ก ๆ เหนือสันเขาสูงปรากฏเจดีย์สีทองอร่ามพร้อมวิหารไม้หลังน้อยสมถะ ส่วนของกุฏิไล่ไปตามเชิงเขา เรียบง่าย สะอาดสะอ้าน คำว่าศรัทธาเข้มขลังไม่ว่ามันจะวางตัวอยู่ที่ใดก็ตาม พระสงฆ์รูปเดียวของวัดงดงามด้วยวัตรปฏิบัติ อย่างไร้ปรุงแต่ง ทุกอย่างซ่อนแง่มุมของตัวเองไว้ในหุบดอยเดียวกันอย่างเงียบเซียบ



          ตะวันดวงเดิมค่อย ๆ ลับหาย ฟ้ากลายเป็นสีส้มแดงอยู่เพียงครู่ ควัน ไฟของหมู่บ้านโคะผะโด้ที่อยู่ใกล้ ๆ ก่อตัวพร้อม ๆ ฝูงวัวเดินกลับส่งเสียงฟืดฟาดและกระดึงกรุ๋งกริ๋ง หมอกบาง ๆ ห่มคลุมเทือกดอยก่อนค่ำ จากมุมสูงขององค์พระธาตุ ต่างคนต่างยืนมองถนนเส้นเดียว ขอบดอยที่ทอดโค้งลับหายไปในความสลัวราง และยังคงเก็บงำปลายทางนั้นไว้อย่างเงียบงัน

          อาหารง่าย ๆ แต่มากไปด้วยบรรยากาศของแดนดอยถูกปรุงขึ้นในครัวของหน่วยฯ สาวน้อยเจ้าหน้าที่ชาวปกากะญอหุงข้าวไว้รอการกลับมา "เอาะ เม" เธอบอกให้เราร่วมกินข้าวเย็นร่วมกัน นาทีมื้อค่ำคือเรื่องของการทำความรู้จัก เรียนรู้ และมิตรภาพได้ถักทอ

          หลังมื้อค่ำ เราย้ายมาตรงระเบียงริมผา จุดที่มองเห็นเบื้องล่างเต็มตา ลมแรงหนาวเย็นพัดตึงจนต้องกระซับแจ็กเก็ต กาแฟของเราผลัดเปลี่ยนกับขาของพี่น้องปกากะญอ "เอาะ ที" พวกเขาเชื้อเชิญ ไออุ่นในชาร้อน ๆ ทำให้คืนหนาวไม่ว่างเปล่า มากไปกว่านั้น เรื่องเล่าถึงชีวิตที่ผันผ่าน ทั้งการปรับเปลี่ยนเรียนรู้จากคนรุ่นต่อรุ่น บางนาทีก้าวลึกเข้าไปถึงความคิดความเชื่อโบราณที่เดินขนานกับโลกยุคใหม่เบื้องล่าง หลายคนบนนี้ทำให้ผมเข้าใจว่า โลกไม่มีวันหยุดนิ่งแม้แต่บนภูเขา และความไม่เท่าเทียมยังมีอยู่จริง แม้ข้างล่างจะพยายามป่าวประกาศสวนทางสักเท่าใด

          แสงไฟข้างล่างแถบแม่ด้าน ที่ฝั่งท่าสองยาง ระยิบเมื่อมองผ่านความมืดมิด ดาวในคืนดึกประกายชัดทั่วผืนฟ้า ข้างล่างราวคู่ไม่ไกลนัก ด้วยความมีดหลอมเลือนคลื่นภูเขาไปเป็นหนึ่งเดียว แต่ดูเหมือนการเชื่อมโยงข้างบนและข้างล่างเข้าด้วยกัน "หนทาง" ดูจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

          "คี เลอะ นา เน่อ เก๊อะ บะ ต่า โซ่ เง" ขอให้โชคดี

          ม่านหมอกสีขาวในหุบดอยชัดเจนเมื่อผ่านพ้นค่ำคืนเหน็บหนาวยาวไกล กลั่นตัว แผ่ผืน ฟุ้งกระจายไปตามแรงลมและความสว่างของดวงแดด เราตื่นเช้ามามองภาพที่คนข้างบนดอยเปเปอร์เห็นมันแทบทุกเมื่อเชื่อวันของฤดูหนาว รวบสัมภาระใส่ท้ายรถ ถ้อยคำอวยพรของพี่สอนจากเมื่อคืนยังจำขึ้นใจ เราจากหน่วยฯ ดอยเปเปอร์ไปตามถนนดินอวลฝุ่นสีแดงเส้นเดิม องค์พระธาตุที่ดูยิ่งใหญ่กลายเป็นจุดเล็ก ๆ สีทองประดับยอดดอยเมื่อเราผ่านพ้นไปในเขาอีกสองสามลูก

          วันนี้ฟ้าเปิดใสสด ภูเขาเบื้องหน้ากว้างไกลยิ่งกว่าภาพพานอรามา เราเข้าสู่เขตอำเภออมก๋อยของเชียงใหม่ แต่รอบด้านดูเหมือนไม่เปลี่ยนแปลง ทางยาก คดโค้ง และขุนเขา เหล่านี้คือสิ่งวนเวียนทุกรอยล้อ ผ่านทางแยกหลักบนสันดอย ที่หากเลี้ยวขวาจะมุ่งลงไปทางแม่เมย บางแยกเล็ก ๆ ไปไกลได้ถึงแม่อุสุ นอกเหนือไปจากความงดงามของแดนดอยไม่มีสิ่งใดดีกว่าพาตัวเองไปรู้จักชีวิตที่ไหลวนอยู่ตามซอกมุมของภูเขา

          เราแวะไปเที่ยวบ้านขุนตื่นใหม่ บ้านไม้คงทาถาวรหลายหลังกระจัดกระจายไปตามไหล่เขา จะว่าไป หมู่บ้านชาวปกากะญอที่มีคำลงท้ายว่าใหม่ คือกลุ่มซึ่งย้ายออกมาตั้งรกรากอีกแห่ง เนื่องจากไหล่ดอยที่เป็นหมู่บ้านเดิมนั้นมีพื้นที่เหลือไม่เพียงพอ แม้จะหลงเหลือบ้านแบบดั้งเดิมไม่มาก ตามความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องปกากะญอสะกอบนเทือกดอย

          แต่เมื่อเข้าไปทำความรู้จักพวกเขาที่ "ข้างใน" นาที คล้ายหมุนกลับ พะตี หรือลุงคนหนึ่งเคี้ยวหมากฟันดำ รอยยิ้มนั้นราวคนเอ็นดูลูกหลาน รอยสักแทบทั่วตัวอันเป็นเอกลักษณ์ของพรานโบราณชัดเจน จะว่าไป ผมเห็นลายแบบนี้บนร่างกายชายที่มีอายุแทบทุกคน มันดำทะมึนอยู่ตามหน้าท้อง ที่โคนขาเป็นรูปเหลี่ยมปะติดปะต่อกันคล้ายภาพกราฟิกสมัยใหม่ ตามท้องแขนเหมือนรูปลดทอนของสัตว์เลื้อยคลาน พะตีว่ามันเป็นลายที่หมายถึงให้มีคุ้มครอง ปลอดภัยต่อสิ่งเลวร้ายในป่า ป่าที่เป็นเหมือนทุกอย่างในชีวิตคนดั้งเดิม

          ตามชานบ้านหน้าเส้าฟีนไฟ ฝ่ายหญิงนั่งทอผ้าโดยใช้เอวแทนกี่ หรือที่เรียกกันว่าทอผ้าแบบ "ห้างหลัง" ลูกเดือยสีขาวก่ายกองรอวันปักลงไปประดับเมื่อผ้าทอผืนสวยเสร็จสิ้น ต้นเดือยสองกอคือชนิดพันธุ์ที่คนปกากะญอว่าลูกของมันได้ขนาดและคงทน ป้าว่าพวกผู้ชายต้องเก็บมาตั้งแต่เม็ดยังเขียว เอาไปตากแดดแล้วจะขาวเอง หากปล่อยให้ขาวคาต้น เม็ดเดือยที่ได้จะไม่ค่อยทน

          ชีวิตผูกพันกับป่าและภูเขาชัดเจน แม้รูปแบบหรือปัจจัยภายนอกจะเดินทางขึ้นมาถึง ผ่านถนนเส้นเดียวกัน หากเลาะลงไปในผืนนาที่ยามนี้ผ่านพ้นการเก็บเกี่ยว ล้วนแทรกแชมด้วยมะเขือเทศ แตงกวา ฟักทอง ผัก อีหลิน ถั่ว มัน ผักกาด และนานาสิ่งยังชีพหลากหลายพันธุ์ ข้าวของพวกเขาพอกินไปตลอดปี แม้ข้าวไร่จะลดจำนวนลงตามการเลิกทำไร่หมุนเวียน แต่ยามสายลมสะอ้านพดแนวข้าวไหวเอน หลายคนที่นี่บอกว่าข้าวไร่ยังคงอร่อยนัก หากเทียบกับข้าวพันธุ์อื่น ๆ ที่พวกเขาสองปลูก

          เราออกจากหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนั้น ผ่านพารถคันเล็กไปตามเส้นทางที่ไกลขึ้นเรื่อย ๆ บางช่วงมันพาเวียนวกลดความชันลงสู่หุบอันเย็นขึ้น สวนกล้วยขึ้นรายเรียง ขณะบางคราวก็หลงเหลือร่องรอยของฤดูฝนไว้ตามร่องดินมากรูปทรง ให้ต้องใช้ทักษะกับเส้นทางประเภทภูเขาอันจริงแท้



          เสียงเจื้อยแจ้งของเด็ก ๆ ที่บ้านขุนตื่นน้อยช่วยผ่อนคลายหลายสิบกิโลเมตรกับเวลาสามสี่ชั่วโมงลงไปได้มาก ธารสายหลักดังแว่วมาจากป่าเบื้องลึก มันคือต้นน้ำแม่ตื่นที่ไหลลงสู่อมก๋อย ก่อนไปหลมอรวมกับอีกหลายสายมุ่งลงสู่เชียงใหม่ ทางดินตามเนินดอยเปี่ยมสีสันมากที่สุดด้วยเสื้อผ้าของเด็ก ๆ ทั้งชุดประจำเผ่าและเสื้อกันหนาวสีสด



          โรงเรียนเล็ก ๆ ของที่นี่มีครูสาวชาวปกากะญอจากบ้านแม่ตื่นที่ตีนดอยเปเปอร์สอนอยู่สองคน พวกเธอยังเด็กนัก หากเทียบกับวัยเดียวกันที่ในเมือง หากแต่พื้นที่องหัวใจนั้น ผมว่ามันยิ่งใหญ่เยี่ยงเดียวกับขุนเขา "โรงเรียนที่นี่ไม่ได้มีไว้ให้เด็กอย่างเดียวนะคะ ผู้ใหญ่ที่อยากรู้หนังสือ อยากสื่อสาร ก็มาเรียน เราไม่อยากเห็นพี่น้องเราลงไปข้างล่างแล้วไม่รู้เรื่องเหมือนสมัยปู่ย่า โดนหลอก หรือว่าเสียเปรียบเขา" เธอว่าการสื่อสารในโลกใบเดียวกันนั้นจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นซอกมุมใด

          ภายในห้องเรียนอันเรียบง่ายนั้นไม่เพียงอักษรปกากะญอ ที่ว่ากันว่าคิดค้นโดยมิชชันนารีที่ดัดแปลงมาจากตัวอักษรพม่าราวร้อยกว่าปีก่อนถ้อยคำต่าง ๆ ถูกแปลอยู่บนกระดาน ไม่นับภาษาไทยแล้ว มันคือเรื่องของคณิตศาสตร์เบื้องต้น ภาระหน้าที่ คติธรรม รวมไปถึงเรื่องราวของการใช้ชีวิต นอกห้องเรียนดูยิ่งน่าใส่ใจไม่แตกต่าง เด็ก ๆ กึ่งวิ่งกึ่งเดินไปยังโบสถ์บนเนินสูง ที่ซึ่งมองเห็นไร่ข้าวและบ้านเรือนวางตัวหลังดงไม้ โอบล้อมอยู่ด้วยภูเขาแทบทุกทิศทาง



          ถนนเล็ก ๆ ภายในหมู่บ้านนำพาไปเห็นโรงสีชุมชน แปลงเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์จากโครงการหลวง ที่สำคัญมันไม่ร้างไร้ผู้คนอย่างบางหมู่บ้านข้างล่าง พวกเขาเห็นทุกประโยชน์ที่มันก่อเกิด และร่วมน้อมนำมาให้อยู่ในชีวิตจริงกลางป่าเขา เคียงคู่กับความเชื่อและวิถีดั้งเดิมอย่างน่ารื่นรมย์

          เราใช้เวลาอยู่ที่นี่เนิ่นนาน คุยกับคุณครู เด็ก ๆ แวะไปดูผ้าทอของหญิงชรา หรือกระทั่งฟังเตหน่า-พิณของคนปกากะญอ จากเด็กหนุ่มที่อยู่ในเครื่องแต่งกายของวัยรุ่น ก่อนจากกันและไปสู่ถนนที่นำพาเราขึ้นมา ราวกับป่าเขาและทุกรอยยิ้มในหมู่บ้านคล้ายโลกในอุดมคติ โลกที่มิตรภาพมีอยู่อย่างจริงแท้ บริสุทธิ์ราวหมอกในยามเช้า และอบอุ่นเหมือนแดดอาบฉายลงเหนือยอดเขาเมื่อค่ำเย็น

          "ซะ คือ เลอะ เน่ สิ ยา บะ นา" ยินดีที่รู้จัก

          วันทั้งวันจากหน่วยจัดการต้นน้ำดอยเปเปอร์ ด้วยระยะทาง 47 กิโลเมตร เราผ่านพ้นมาถึงบ้านใหม่ ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย หลุดออกจากความสูงของเทือกดอยเปเปอร์มาด้วยถนนฝุ่นแดงสายเดิมที่มากล้นไปด้วยความกันดาร หากแต่ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความงดงามของขุนเขาและรอยยิ้มผู้คน น้ำแม่ตื่นไหลรื่นชื่นเย็นอยู่เบื้องหน้า ไม่แตกต่างจากข้างบน

          พื้นที่แถบนี้เป็นเชิงดอยของพี่น้องปกากะญออีกมากมาย ราวกับภูเขาเท่านั้นคือถิ่นที่พวกเขายินดีจะเรียกมันว่าบ้านมากที่สุด บ้านที่ส่งต่อความคิดความเชื่อ ตลอดจนเป็นที่ฝังรกราก ตราบต่อถึงดับสิ้นลมหายใจกับพวกเขาเอง ตราบทุกฤดูกาล ไม่ว่าจะร้อน ฝน หนาว ถนนที่คดเคี้ยวตัวเองขึ้นสู่เบื้องบนดูจะมีค่าไม่ต่างไปจากที่เรารู้จักนิยามของมัน

          หากถนนเป็นดั่งตัวแทนของการทำความรู้จัก เคลื่อนไหว และถ่ายเทผสมผสานให้สิ่งที่เรียกว่าชีวิตต่างรู้จักคำว่าการพึ่งพา นาทีบนนั้น ไม่มีคำใดจะเหมาะสมเมื่อก้าวร่วมไปกับเส้นทางสายนั้น ถ้อยคำที่เปิดโอกาสให้เราและเขาต่างพร้อมทำความรู้จักและยอมรับในความเป็นตัวตนของกันและกัน

          "โอ๊ะมื่อโซเปอ"---สวัสดี

          คู่มือนักเดินทาง

การเดินทาง

          จากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ใช้ทางหลวงหมายเลข 105 (แม่สอด-แม่สะเรียง) ผ่านอำเภอแม่ระมาด เข้าเขตอำเภอทำสองยาง ก่อนถึงตัวอำเภอท่าสองยางราว 5 กิโลเมตร แยกขวาที่กิโลเมตรที่ 80 บ้านพะนอคี ผ่านเส้นทางคอนกรีตในช่วงแรก จากนั้นผ่านเส้นทางดินลูกรังไต่ไปตามความสูงชันของขุนขาอีกราว 15 กิโลเมตร ถึงที่ทำการหน่วยจัดการต้นน้ำดอยเปเปอร์ ใช้เวลาราว 3 ชั่วโมง (ในฤดูหนาวที่เส้นทางแห้งสนิท)

          จากหน่วยฯ ดอยเปเปอร์ แวะไปเที่ยวพระมหาธาตุโลกวิทู 4 กิโลเมตร จากนั้นต่อเนื่องไปตามเทือกดอยจนไปทะลุออกที่ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ อีกราว 47 กิโลเมตร ระหว่างทางมีหมู่บ้านพี่น้องชาวปกากะญอให้แวะเที่ยวมากมาย

          จากแม่ตื่นเข้าสู่อำเภออมก๋อยด้วยทานลาดยางสบาย ๆ อีกราว 70 กิโลเมตร

          เส้นทางทั้งหมดบนดอยเปเปอร์ล้วนมากไปด้วยความสูงชันและร่องดิน หากฤดูฝนยากต่อการเดินทาง กว่าทางแห้งในฤดูหนาว รกขับเคลื่อนสี่ล้อประเภทไม่ตกแต่งสามารถเดินทางได้สบาย และเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของเทือกดอยชายแดนตากเชียงใหม่แห่งนี้







ที่พัก

          ที่หน่วยฯ ดอกเปเปอร์มีห้องพัก 1 ห้อง นอนได้ราว 4 คน และลานทางเต็นท์ ไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟ รวมไปถึงห้องน้ำให้บริการฟรี

อาหารการกิน

          ที่ตลาดสดอำเภอแม่สอดถือเป็นแหล่งซื้อหาของสด กับข้าวรวมไปถึงอาหารแห้งชั้นดี ที่หน่วยฯ ไม่มีอาหารบริการ การเตรียมอาหารไปทำกินเองจึงเป็นเรื่องน่าสนุก ได้ทดลองใช้ชีวิตกลางแจ้งอย่างเพลิดเพลิน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

          หน่วยจัดการต้นน้ำดอยเปเปอร์ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก โทรศัพท์ 0 5322 1045(สำนักงานที่เชียงใหม่) หรือ 08 1451 2812 (คุณราชันย์)




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 52 ฉบับที่ 6 มกราคม 2555


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ถนนล่องลอยดอยเปเปอร์ อัปเดตล่าสุด 13 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 17:53:33 23,284 อ่าน
TOP