x close

คุซโก เมืองหลวงแห่งอาณาจักรอินคา





คุซโก เมืองหลวงแห่งอาณาจักรอินคา (คมชัดลึก)

โดย : กาญจนา หงษ์ทอง 


          มันเป็นรอยเท้าที่ก้าวช้าอาการเดินย่องบวกกับอารมณ์กล้าๆ กลัวๆ ของฉัน ละม้ายคล้ายตอนอยู่ม.6 ที่หนีแม่ออกไปเที่ยวตลาด คราวนั้นหนีแม่ คราวนี้หนีกฎของคุซโก จัดการแหกกฎแล้วผลักประตูเรือนพักออกมาให้คุซโกเห็นหน้า ดูเหมือนคุซโกกำลังอาบลมห่มยูวี ตามการจัดระเบียบทางสังคมศาสตร์คุซโกก็เปรียบเหมือนเมืองหลวงของอาณาจักรอินคา แต่หากจัดระเบียบทางภูมิศาสตร์ คุซโกอยู่ใกล้เส้นทรอปิก ออฟ แคปริคอร์น (Tropic of Capricorn) ถอดสแควร์รูทดูแล้วย่านนี้จึงเป็นบริเวณที่ดวงอาทิตย์อยู่ในระนาบที่ใกล้โลกที่สุด   



         คุซโกไม่ใช่แค่แห้งแล้งออกซิเจนแต่ยังแห้งแล้งที่ราบ จริงอยู่อาจจะมีที่ราบมากกว่าสิกขิม แต่เนินระดับอนุบาลไปจนถึงเนินระดับมหาวิทยาลัยมีให้ไต่ได้ทั่วเมือง การสัญจรไปในคุซโกขาลงเนินอาจจะทอดน่องได้สบายและหายใจอย่างคล่องจมูก แต่เมื่อไรที่เป็นขาขึ้น มันจึงไม่ใช่แค่แบกน้ำหนักของตัวเอง แต่ยังต้องแบกความเหนื่อยเอาไว้บนหลังด้วย จากเรือนพักไปจัตุรัสอาร์มาส (Plaza de Armas) โชคดีที่เป็นขาลงจากเนินเขาเท้าย่าง ปากยิ้ม จมูกยังพ่นหายใจเข้าออกอย่างสะดวก


 

          เก็บแผนที่หย่อนลงเป้แล้วเปลี่ยนใจให้กระโปรงบานสีฉูดฉาดของป้าคนที่กำลังเดินอยู่ข้างหน้าเป็นเข็มทิศนำทางพาไปหาจัตุรัส มองจากด้านหลัง ป้าเหมือนพจมานอย่างไรอย่างนั้น สองเปียยาวถึงบั้นท้ายกระโปรงบานทรงสุ่มสีขนมชั้น หมวกใบเก่า สะพายผ้าผูกไว้บนหลัง เป็นพจมานคนละเวอร์ชั่นกับบ้านทรายทอง แต่เป็นพจมานแห่งบ้านอินคา 

     



         บ้านอินคาไม่ได้มีพจมานเดียวซะด้วย เซไปทางไหนก็มีแต่พจมานเดินเกลื่อนไปหมด เรื่องใส่หมวกนี่เข้าใจว่าเป็นเพราะยูวีแรงจัดแต่ถึงแดดจะจัดจ้านแค่ไหน ไม่มีพจมานคนไหนใส่แว่นกันแดดให้เสียลุค หมวกหนังเท่านั้นที่เท่และเก๋ในแบบอินคา ขนาดใส่หมวกสกัดแสง แต่เห็นใบหน้าของสาวเจ้าถิ่นแต่ละคน ถูกฝ้าจับจองผิวเนียนๆ ไปหมดแล้ว ดูท่าว่ามันเกาะหนึบเหนียวแน่นยิ่งกว่ากาวตราช้าง 


         ถึงฝ้าจะหนายิ่งกว่ากระเบื้องตราช้างแต่สาวอินคาก็ไม่วอร์รี่หรือดิ้นรนไปหา ครีมหน้าขาวมาชะล้างคราบริ้วที่ไม่ต้องการออกจากใบหน้าเพราะชาวอินคากับแสง แดดนั้นผูกพันกันมาแต่ไหนแต่ไร ว่ากันว่าชาวอินคานับถือพระอาทิตย์ยิ่งกว่าสิ่งใดๆ และมีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า พวกเขาสืบเชื้อสายมาจากสุริยเทพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กษัตริย์ชาวอินคานั้น ถือว่าเป็นหน่อเนื้อโดยตรงของสุริยเทพ ดังนั้นเทวสถานที่สำคัญที่สุดของอินคาก็คือ วิหารสุริยันที่สร้างบูชาองค์สุริยเทพนั่นเอง

          มาที่ทรงผมสองเปียสำหรับอาณาจักรอินคา ไม่ว่าจะร้านชลาชล หรือโทนี่แอนด์กาย จะตัดได้ฮิพหรือชิคแค่ไหน มาเปิดสาขาที่นี่ก็มีสิทธิเจ๊งได้ เพราะทรงพจมานครองใจสาวอินคามาตั้งแต่ก่อตั้ง  ขนาดสเปนขนทรงผมอินเทรนด์เข้ามาแพร่สาวอินคายังเชิดใส่ กระทั่งพ.ศ.นี้ก็ยังฮิตกันข้ามศตวรรษ และดูเหมือนจะฮิตไปถึงชาติหน้าด้วย  

           ที่ฉันชอบคงเป็นกระโปรงบานทรงสุ่ม กับผ้าผืนเหมาะที่ถูกสาวอินคาโมดิฟายให้เป็นกระเป๋าสะพายในแบบของพวกเธอ กระเป๋าใบนี้แหละที่แนบอยู่บนแผ่นหลังของพวกเธอมีผักใส่ผัก มีผ้าใส่ผ้า มีลูกใส่ลูก บางรายมีทั้งผักทั้งลูก ก็เห็นจับทั้งผักและลูกยัดไว้ในกระเป๋าผ้าสารพัดประโยชน์ ที่หลุยส์ วิตตอง ปราดา หรือกุชชี่ก็ทำไม่ได้



           และไม่ว่าแฟชั่นหน้าไหนจะเข้ามาอินเทรนด์อัพเทรนด์ให้สาวลิมากลายเป็นสาวเปรี้ยว เฉี่ยว ทันสมัย แต่สาวอินคาน้อยใหญ่ในคุซโกยังพอใจกับกระโปรงทรงสุ่ม ที่จนถึงวันนี้ยังเป็นปมปริศนาคาใจฉันอยู่ ว่าพวกเธอซ่อนอะไรไว้ในสุ่ม ทั้งหมดที่ว่ามานี้ลองไปนั่งมอนิเตอร์แฟชั่นในจัตุรัสกลางเมืองดูสักครู่เดียว ก็จะรู้ว่าไม่เกินจริงเลยแม้แต่น้อย 

          บ่ายสี่ที่แสงยอมอ่อนข้อทั้งลูกหลานชาวอินคาและแขกเหรื่อของคุซโก เตร็ดเตร่กันเกลื่อนจัตุรัสกลางเมือง ทั้งเดินเล่นและนั่งอาบยูวี แล้วจู่ๆ แวบหนึ่ง คุซโกก็สะกิดให้นึกถึงเนปาล หนึ่งในประเทศอันเป็นที่รักของฉัน อาจจะเป็นเพราะบ้านเมืองคดเคี้ยวสูงต่ำ เสน่ห์แบบดิบๆ เดิมๆ คล้ายกัน

          เหมือนกำลังมองหน้าใครบางคนแล้วนึกถึงอีกคนที่คล้ายกัน ต่างกันก็ตรง จัตุรัสกลางคุซโกมีมหาวิหาร (La Cathedral) และโบสถ์คอมพาเนีย (La Compania) คอยสังเกตการณ์ผู้ผ่านไปมาจัตุรัสแห่งนี้เดิมเรียกว่า จัตุรัสอวนไกย์ปาตามีไว้ใช้จัดงานสำคัญทางศาสนาและทางทหาร เริ่มสร้างมาตั้งแต่ปี1559 และใช้เวลาเกือบร้อยปีถึงจะสร้างสำเร็จมหาวิหารแห่งนี้ประกอบด้วยโบสถ์อยู่ทางด้านขวาซึ่งเป็นโบสถ์ก่าที่สุดในคุซโก ส่วนโบสถ์มาเรียอยู่ทางด้านซ้าย  เดิมทีมหาวิหารประจำเมืองเคยเป็นพระราชวังของกษัตริย์อินคามาก่อน หน้าตาถอดเค้าไปทางเรเนซองส์ มองแล้วไม่น่ามาอยู่ใต้ชายคาของอาณาจักรอินคา ด้านในมีโบสถ์หลายหลัง 

          ตัวโบสถ์หลักจะเปิดให้เข้าฟรีแต่ส่วนอื่นๆ ต้องจ่าย 16 โซลคุ้มค่ะ เพราะดูได้ทั่วเลย ทางขวาของวิหารคือโบสถ์อีกแห่งที่เป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะที่สเปนมีชัยเหนือชาวอินคา มหาวิหารแห่งนี้นับว่าเป็นแหล่งรวบรวมศิลปะในยุคอาณานิคมที่ใหญ่ที่สุดของเมืองแค่ดูงานแกะสลักไม้ที่วิจิตรงดงามก็เพลินแล้ว แต่มุมที่คนมักชะลอฝีเท้าคงเป็นภาพ The Lord of the Earthquakes เป็นพระเยซูคริสต์ถูกตรึงไม้กางเขน สภาพอาจจะดูหม่นๆดำๆ ไปหน่อย เพราะถูกควันเทียนจากบรรดาผู้ที่แห่เข้าไปสักการบูชา ที่ชาวอินคาเรียกขานกันแบบนั้นสืบเนื่องมาจากราวปี 1650 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในคุซโกแถมเกิดขึ้นหลายระลอกและกินเวลานาน ยามนั้นชาวอาณาจักรอินคาไม่รู้จะหันไปพึ่งพาอะไรเลยพากันไปอธิษฐานกับพระเยซูคริสต์และถวายดอกไม้สดทุกวัน จนในที่สุดสถานการณ์แผ่นดินไหวก็สงบลง

          ไม่ว่าจะเป็นความบังเอิญ หรือความศักดิ์สิทธิ์ก็ตามทีแต่เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ลูกหลานของอาณาจักรอินคา เชื่อว่าเป็นพลังปาฏิหาริย์ของ The Lord of the Earthquakes ที่ช่วยให้อาณาจักรอินคารอดพ้นจากภัยธรรมชาติมาได้ 

          เหตุการณ์นี้คงเป็นความทรงจำที่เลวร้ายมาก ดูจากภาพวาดที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ บรรยายถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนั้น ชาวเมืองพากันเดินไปรอบจัตุรัส มือถือไม้กางเขน ปากก็สวดวิงวอนให้สถานการณ์แผ่นดินไหวสงบลง ซึ่งปาฏิหาริย์ก็มีจริงมุมที่เรียกรอยยิ้มจากฉันได้เยอะกว่ามุมไหนๆคงเป็นรูป The Last Supper เวอร์ชั่นอินคาอาหารมื้อสุดท้ายของรูปนี้เป็นเจ้าหนูตะเภาที่คนเปรูเรียกว่า คุ่ย และแทนที่บนโต๊ะอาหารจะมีไวน์เป็นเครื่องดื่ม แต่เวอร์ชั่นนี้กลับเป็นชิฉะ (Chicha) เบียร์เปรูสกัดจากข้าวโพดฮาสุดคงเป็นการเผยโฉมสาวกคนที่ 13 ที่ทรยศพระเยซูไม่ใช่ใครที่ไหน ที่แท้เป็นรูปของฟรานซิสโกปิซาร์โร นั่นเอง

           จริงหรือที่อาณาจักรอินคาต้องล่มสลายเพราะน้ำมือเขา  ติดตามต่อได้ในฉบับหน้า เดินทางสู่ลิมาจากเมืองไทยยังไม่มีสายการบินบินตรง  สะดวกที่สุดเป็นสายการบินเคแอลเอ็ม บินจากกรุงเทพฯไปอัมสเตอร์ดัมแล้วเปลี่ยนเครื่องไปต่อที่ลิมา คลิกหาข้อมูลที่ http://www.klm.co.th/  หรือโทร.0-2635-2400หรือ 0-2635-2300

 

 

 

 


 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คุซโก เมืองหลวงแห่งอาณาจักรอินคา อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14:52:41 1,414 อ่าน
TOP