x close

เติมความรักและความหวัง ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน




เติมความรักและความหวัง ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน (e-magazine)


          วันนี้เราจะพาชาว www.e-magazine.info ออกเดินทางไปพบกับความสงบ ท่ามกลางธรรมชาติ ที่อยู่ใกล้คุณแค่เอื้อม จุดหมายปลายทางของเราอยู่ที่ “พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี เป็นพระราชวังสร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ตั้งอยู่ในค่ายพระรามหก ที่ตำบลห้วยทรายเหนือ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

          เราออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่เช้า การเดินทางเราใช้เส้นทางกรุงเทพฯ – หัวหิน เรื่อยลงมาจนถึงค่ายพระรามหก ซึ่งอยู่ระหว่างชะอำและหัวหิน ถ้ามาจากชะอำให้เดินทางไปตาม ถนนเพชรเกษม ประมาณ 9 กิโลเมตร จะเห็นค่ายพระรามหกอยู่ทางซ้ายมือ ก็จะพบกับทางเข้าของค่ายพระรามหก โดยมีป้ายทางเข้า ”พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน “ ขนาดใหญ่ อยู่ทางซ้าย ให้เราเลี่ยวซ้ายเข้าไปได้เลย

          ท่ามกลางแสดงแดดอันร้อนแรงของวัน มีพี่เจ้าหน้าที่ใจดี ยืนต้อนรับและคอยสอบถามว่า “เข้ามาเยี่ยมชม พระราชวังใช่ไหม ? , ให้ตรงไปตามทางนี้นะ ” ด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้ม บ่งบอกถึงความเป็นมิตรตลอดเวลา เราผ่านเข้ามา โดยไม่ต้องแลกบัตร เมื่อเข้ามาในค่ายพระรามหก จะเห็น ”อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร” สามารถจอดรถแวะเข้าไปชมข้างในได้ ข้างในจะเป็นศูนย์ให้ความรู้เผยแพร่และฝึกอบรมระดับสากลด้านการอนุรักษ์พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ



          เราขับรถตรงเข้าไปสักพักก็จะเจอกับที่จอดรถ มีร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหารเล็ก ๆ ตั้งเรียงรายอยู่หน้าที่จอดรถ รวมไปถึง ร้านนวดเท้า เหมาะกับผู้สูงอายุ ที่เหน็ดเหนื่อยกับการเดินทาง สิ่งที่สะดุดตาอีกอันนึง ที่ทุกคนจะต้องเห็น คือ ลานจอดรถจักรยานมากกว่า 100 คัน จอดเรียงรายอยู่เป็นแถว สอบถามได้ความว่าเป็นจักรยานเช่า สำหรับขี่เข้าไปในตัวของ พระราชนิเวศน์ ซึ่งได้รับความสนใจจากเด็ก ๆ ไปจนถึงคุณพ่อ คุณแม่ ที่พาลูกมาเที่ยวด้วย โดยมีทั้งแบบซ้อนท้าย แบบขี่ 2 คัน 3 คน ถึงขั้น 4 คนก็มี ราคาก็ไล่ไปตั้งแต่ 20-40 บาท เป็นภาพที่ดูสนุกสนาน ไปอีกรูปแบบนึง ว่าแล้วก็เลยถอยมา 1 คัน สนนราคาที่ 20 บาท เลือกตามความหมาะสมกับสรีระได้เลยครับ



          มาถึงบริเวณทางเข้า จะเป็นที่จำหน่ายค่าผ่านประตูเข้าไป โดยราคาจะอยู่ที่คนละ 30 บาท ถ้าขึ้นชมด้านบนของตัวอาคาร จะเสียเพิ่มอีก 30 บาท และมีเวลาเข้าชมเป็นรอบ ๆ ไป เราเสียค่าผ่านประตูเรียบร้อยแล้ว เดินผ่านประตูเข้ามาจะพบกับเส้นทางที่ดูสงบและสวยงาม ต้นไม้และสนามหญ้าถูกดูแลเป็นอย่างดี ลมทะเลพัดผ่านมา ทำให้รู้สึกเย็นสบาย ตัดกับแสงแดดจ้าในเวลาเที่ยงวัน ๆ กว่า ทำให้ภาพดูสดใสมากยิ่งขึ้น

ประวัติของ "พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน"

          การก่อสร้าง “พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” ใกล้เสร็จอย่างสมบูรณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2466 เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการก่อสร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวันได้มีการตรวจการปลูกสร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะรับเสด็จ ในการแปรพระราชฐานในฤดูร้อน พ.ศ. 2467

          เมื่อการก่อสร้างพระราชนิเวศน์เสร็จ ได้พระราชทานนามพระราชนิเวศน์แห่งนี้ว่า “พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแปรพระราชฐานประทับพระราชนิเวศน์มฤคทายวันในช่วงฤดูร้อน พ.ศ. 2467 เป็นครั้งแรก (วันที่ 22 เมษายน-13 กรกฎาคม) และเสด็จประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถในฤดูร้อน พ.ศ. 2467 เป็นครั้งที่ 2 (วันที่ 12 เมษายน-20 มิถุนายน) ในการเสด็จครั้งนี้พระองค์ทรงงานตลอดเวลา



          หลังจากสร้างเสร็จแล้วทางกระทรวงมหาดไทย ได้จัดให้ หลวงสมบูรณ์บุรินทร์ เป็นหัวหน้าพนักงานรักษาที่พักมฤคทายวัน ต่อมาใน พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กองบัญชาการตำรวจตะเวนชายแดน ใช้เป็นที่ตั้งศูนย์ฝึกการต่อต้านปราบปรามการก่อความไม่สงบ คือกองกำกับการที่ 1 กองบังคับพิเศษ ในพ.ศ. 2523 หน่วยราชการนี้ได้นามพระราชทานว่า “ค่ายพระรามหก”

          นอกจากนี้ ได้จัดตั้งมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวันขึ้นโดย สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีได้ทรง พระกรุณาโปรดรับไว้ในพระอุปถัมภ์ ปัจจุบันนี้ทางมูลนิธิและค่ายพระรามหก ยังได้เปิดให้ประชาชนได้เข้าชมพระราชนิเวศน์ความสวยงามของพระราชวังแห่งนี้ด้วย



          พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เป็นหมู่อาคารที่วางเรียงกันตามความยาวของชายหาด แบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่ประทับทางทิศใต้ และส่วนที่อยู่ของข้าราชบริพารทางทิศเหนือ ส่วนที่ประทับนั้น มีรั้วล้อมสามด้าน ภายในมีพระที่นั่งสามหมู่ คือ พระที่นั่งสมุทรพิมาน เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งพิศาลสาคร เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรราชชายา และพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ เป็นท้องพระโรงและโรงละคร พระที่นั่งที่ประทับแต่ละหมู่เป็นอาคารชั้นเดียวยกใต้ถุนสูง ประกอบด้วยห้องที่ประทับ ที่เสวย ห้องพระภูษา และห้องพักข้าราชบริพารผู้ตามเสด็จฯ แต่ละห้องวางกระจายกันให้รับลม มีชาลาเชื่อม มีหลังคาคลุมติดต่อกัน ยาวต่อเนื่องไปจนถึงศาลาลงสรงที่ริมหาด แยกฝ่ายหน้าฝ่ายในไม่ปะปนกัน ตามโบราณราชประเพณี

          ส่วนที่อยู่ของข้าราชบริพารนั้น อยู่นอกรั้วส่วนที่ประทับไปทางทิศเหนือ มีแนวถนนเลียบไปตามแนวชายหาด และมีอาคารบ้านพักข้าราชสำนักฝ่ายหน้าที่ตามเสด็จฯ รวมทั้งสิ้น 28 หลัง เกือบทั้งหมดเป็นโครงสร้างไม้มุงจาก ปัจจุบันยังคงเหลือบ้านเจ้าพระยารามราฆพ ซึ่งเป็นอาคารโครงสร้างคอนกรีตผสมไม้เพียงหลังเดียว



          สถาปัตยกรรมพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมเพื่อการพักตากอากาศในช่วงปลายรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งที่วัสดุก่อสร้างในพื้นที่ยังหายาก กับทั้งระยะเวลาในการก่อสร้างที่จำกัด สถาปนิกและวิศวกรจึงเลือกใช้ระบบพิกัด (modular system) ในการออกแบบทั้งทางราบและทางตั้ง โดยใช้แนวเสาระยะ 3 เมตรเป็นมาตรฐาน แต่ละช่วงเสาแบ่งผนังออกเป็น 7  ส่วน ๆ ละ 40 เซนติเมตร เกิดเป็นจังหวะ 2 : 3 : 2 ตอบรับกับขนาดบานหน้าต่างและประตู ช่องระบายอากาศไม้ฉลุเหนือขอบประตู ตลอดจนฝ้าเพดานห้อง ใช้ชิ้นส่วนวัสดุก่อสร้างสำเร็จรูปที่ผลิตโดยระบบอุตสาหกรรม แต่วางแผนผังห้องให้ยักเยื้องกัน มีรูปทรงหลังคาที่หลากหลาย ทำให้อาคารดูเรียบง่ายแต่ไม่น่าเบื่อ ทั้งยังมีความโปร่งเบา มีการประดับประดาแต่น้อยที่สุด ตอบรับกับความนิยมของยุคสมัย ที่เป็นรอยต่อระหว่างสถาปัตยกรรมวิคตอเรียน กับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เป็นที่น่าเสียดายที่หลังจากมีการสร้างพระตำหนักแล้วเสร็จ พระองศ์ท่านทรงเสร็จพระราชดำเนินมาประทับแรมเพียงสองครั้ง ครั้งละสามเดือน ก่อนจะเสด็จสวรรคต



          เราได้ขี่จักรยานวนรอบ ๆ ด้านนอกของพระราชนิเวศน์ มาทางด้านซ้ายมือ ก็จะเห็นสวนดอกไม้ ที่ถูกจัดไว้อย่างสวยงาม พร้อมรูปปั้น “อนุเสารีย์ รัชกาลที่ 6” ส่วนทางด้านขวามือจะเป็นฝั่งของทะเลหัวหิน เลยถัดมาอีกนึดจะพบกับอาคารทรงโบราณเก่า ๆ แต่ยังคงสภาพเอาไว้อย่างดี ซึ่งมีความสวยงามและโดดเด่น อยู่ริมชายฝั่งที่ติดกับทะเล ตัวอาคาร สวยงาม ดู คลาสสิค สัมผัสได้ถึงบรรยากาศเก่า ๆ มีต้นไม้ใหญ่ คอยให้ความร่มรื่น เหมาะสำหรับการนั่งพักผ่อน หรือทานอาหารกลางวันกับครอบครัวในแบบสบาย ๆ



          เลยมาอีกนิดทางด้านซ้ายมือ ขี่จักรยานเข้าไปก็จะพบกับเส้นทางเดินชมธรรมชาติ สวนป่าชายเลน ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวธรรมชาติ มีหอคอยประมาณ 4 ชั้น สำหรับขึ้นไปดูป่าชายเลน สุดลูกหูลูกตา ทางด้านในจะมีทางเชื่อมต่อกันไป ครอบคลุมพื้นที่ของการปลูก เหมาะสำหรับท่าน ที่รอการเข้าเยี่ยมชมพระราชนิเวศน์ แวะมาเดินเล่น ชมธรรมชาติในส่วนนี้กันก่อน



          เมื่อใกล้เวลา ของการเยี่ยมชมพระราชนิเวศน์ ด้านบนเราก็ขี่จักรยาน ย้อนกลับที่หน้าทางเข้าจะมีซุ้มสำหรับให้จอดจักรยานโดยเฉพาะ ไม่ต้องกลัวหายนะครับ แต่อย่าลืมว่าจอดเอาไว้ตรงไหนละกัน เพราะว่า สีมันเหมือน ๆ กันหมด :)  เดินเข้ามาผ่านซุ้มประตูทางเข้า ก็จะเจอกับพนักงานใจดี คอยให้แนะนำ สิ่งที่จะเจอตอนแรกก็ คือ นิทรรศการประวัติความเป็นมาของพระราชนิเวชน์แห่งนี้ ที่จัดแสดงรายละเอียด ภาพถ่าย รวมถึงของใช้ในสมัยนั้น ให้เราได้สัมผัสและรับรู้ถึงความเป็นมา ก่อนจะเข้าไปสัมผัสกับตัวอาคารจริง ๆ ทางด้านใน



          ภายในพระราชนิเวศน์ มองเข้าไปจะเจอกับต้นจามจุรีเก่าแก่แผ่กิ่งด้านให้ร่มเงา สนามหญ้าสีเขียว ตัดกับตัวอาคารสีครีม หลังคาสีแดง เรียงรายกันไปจามแนวชายหาดของทะเล ความรู้สึกจะเงียบสงบอย่างบอกไม่ถูก มันรู้สึกได้ถึงกลิ่นอายของการพักผ่อนอย่างแท้จริง สังเกตได้จากการเห็นหลายครอบครัว ค่อย ๆ เดินไปอย่างไม่เร่งรีบ บางคนหยุดถ่ายรูป หรือว่านั่งพักบนม้านั่ง ที่มีไว้ให้ตลอดทางเดิน เราค่อย ๆ เดินไป พร้อมรับรสสัมผัสของธรรมชาติไปอย่างช้า ๆ ตัวอาคารนี้จะทอดยาวไปในแนวหันหน้าเข้าชายหาด



          เมื่อมองเข้าตัวอาคาร จะเห็นเสาจำนวนมากมาย เรียงรายเป็นแนว คอยรับน้ำหนักของตัวอาคารเอาไว้อย่างแข็งแรง เกิดเส้นสายทางเรขาคณิต เหมาะแก่การถ่ายภาพ เก็บความทางจำเอาไว้เป็นอย่างยิ่ง เราเดินผ่านแนวเสา เข้ามาทางด้านหลังของตัวอาคาร เพื่อจะขึ้นสู่ด้านบน จะมีเจ้าหน้าที่คอยบอกกฎระเบียบของการเยี่ยมชม พร้อมกับถุงผ้าสำหรับใส่ร้องเท้า ที่ต้องถือไปเอง และคืนตรงทางลงอีกด้านนึง เราเดินขึ้นไปเยี่ยมชม ทางด้านบนของตัวอาคาร สัมผัสของพื้นไม้ ที่เหยีบลงไปทำให้รู้สึกสบายเท้า

          ทางด้านบนแบ่งออกเป็นห้องต่าง ๆ มากมาย แยกไปทางซ้ายและขวา แต่ละห้อง จะมีประวัติความเป็นมา คอยบอกข้อมูลให้แก่นักท่องเที่ยว ได้รับรู้ถึงประวิติศาสตร์ ที่ผ่านมาของตัวอาคานี้ ทุกจุดจะสัมผัสได้ถึงลงทะเล ที่พัดผ่านเข้ามา ทางช่อมงลม และหน้าต่าง ที่ผ่านการออกแบบมาเป็นอย่างดี บางห้องจะมีเด็ก ๆ เข้ามานั่งเรียนดนตรีไทย ในวันเสาร์ อาทิตย์ ซึ่งเราก็จะได้ยินเสียงดนตรีไทย เคล้าคลอไปกับการเยี่ยมชมครั้งนี้ด้วย ทำให้เพลิดเพลินใจ และผ่อนคลายยิ่งขึ้น



          ส่วนของสิ่งของเครื่องใช้ รวมไปถึงเครื่องเรือน เตียงนอนต่าง ๆ ถึงแม้จะดูเก่า แต่ก็ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี มีโมบาย กันเอาไว้ที่หน้าห้อง ไม่ได้นั่งท่องเที่ยว เข้าไปในห้องต่าง ๆ ป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ มองลงมาทางด้านหลัง ของตัวอากคารหลัก จะเป็นตัวอาคารรอง ที่เป็นที่พักของข้าราชบริพาร ในสมัยก่อน โดยแบ่งออกเป็นห้อง ๆ ติด ๆ กันไป แต่ละห้องก็จะจัดแสดงความเป็นอยู่ เสื้อผ้า หรือของใช้ในสมัยนั้น ให้นักท่องเที่ยวได้ชมอย่างหลากหลาย



          ถัดมาตรงทางเดินตรงไปที่ทางออก จะมีสวนต้นไม้ขนาดใหญ่ เรียงรายไปตามทางเดิน แล้วก็เจอกับสวนน้ำพุวงกลม ที่เป็นไฮไลท์สำหรับนักถ่ายภาพ ต้องหยุดเก็บความประทับใจเอาไว้ หลายคนนั่งเล่น ใต้ร่มเงาของเหล่าต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ ความรู้สึกร่มเย็น อบอุ่น และสงบ เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันอย่างไม่รู้ตัว เป็นความรู้สึกที่เราได้พักผ่อนอย่างแท้จริง อยากนั่งอยู่ตรงนั้นนาน ๆ เพื่อชาร์จพลังชีวิตให้กับตัวเอง กลับออกไปพร้อมต่อสู้กันใหม่ กับสิ่งทีรอเราอยู่ข้างหน้า ผมเชื่อนะครับว่า ถ้าคุณมาลองได้สัมผัส ที่นี่ด้วยตัวของคุณเองแล้ว คุณจะรู้สึกได้เหมือนผมอย่างแน่นอน :)

กฏระเบียบในการเข้าชมนะครับ

          1. แต่งกายเรียบร้อย เสื้อมีแขน กางเกงหรือกระโปรงห้ามสั้นเหนือเข่า ถ้าแต่งไปก็จะมีให้ใส่ผ้าสไบห่มไว้ และผ้าถุงให้นุ่งทั้งชายและหญิง

          2. สัตว์เลี้ยงไม่อนุญาตให้นำเข้าไป

          3. ห้ามส่งเสียงดัง

          4. ถ้าจะขึ้นชมบนพระตำหนัก จะมีเป็นรอบ ๆ รอบละ 20 คน ก่อนขึ้นต้องถอดรองเท้าใส่ถุงแล้วถือไป อย่าเดินลงส้นดัง

          5. บนตำหนักกล้อง DSLR ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพครับ ก่อนเข้าต้องไปแลกบัตรลงทะเบียนก่อน

          6. โทรศัพท์อนุญาตให้เปิดได้ แต่ขอความร่วมมือให้ปิดเสียงไว้ครับ

เกร็ดความรู้

          “มฤค” แปลว่า เนื้อทราย, กวาง
         
          “มฤคทายวัน” หมายถึงป่าที่ให้อภัยแก่สัตว์ ตรงกับชื่อป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา

          พระราชนิเวศน์แห่งนี้ มีตำนานที่เล่าขานต่อ ๆ กันมาจนมีผู้ขานเรียกพระราชนิเวศน์แห่งนี้ว่า “พระราชนิเวศน์แห่งความรักและความหวัง” ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อคราวที่พระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี ทรงพระครรภ์นั้น องค์พระมหาธีรราชเจ้าทรงพระเกษมสำราญยิ่งด้วยทรงมุ่งหวังว่าจะทรงมีพระปิโยรส แต่ความหวังทั้งมวลก็สิ้นสลายเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ ไม่สามารถมีพระประสูติกาลได้ ยามนั้นพระองค์ท่านทรงอภิบาลพระมเหสีด้วยน้ำพระทัยเป็นห่วงและเศร้าสร้อย ณ พระที่นั่งสมุทรพิมานแห่งนี้

          พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา 08.00-16.00 น. ยกเว้นวันพุธ เบอร์โทรติดต่อสำนักงานมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน 032 508 444-5 เบอร์โทรสาร 032 508 039






ลิขสิทธิ์บทความของ e-magazine.info
ติดตามบทความ ท่องเที่ยว หรืออ่าน แมกกาซีน



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เติมความรักและความหวัง ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน อัปเดตล่าสุด 8 พฤศจิกายน 2554 เวลา 10:38:46 10,599 อ่าน
TOP