x close

แอ่ว...น่าน ตอน ๒ “เที่ยวเมืองเครื่องเงินงาม ถิ่นเตาเผาโบราณ สืบสานวัฒนธรรมข่วงเมือง”

 

 

แอ่ว...น่าน ตอน ๒ “เที่ยวเมืองเครื่องเงินงาม ถิ่นเตาเผาโบราณ สืบสานวัฒนธรรมข่วงเมือง” (สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์)


          ในตอนที่แล้ว แอ่ว...น่าน ตอน 1 ได้พาเที่ยวรอบนอกเมืองน่าน อย่าง อำเภอนาน้อย ชมการปั้นหม้อโบราณ ศึกษาความเป็นมาของ เสาดินน้อย และ พระธาตุพลูแช่ ในตอนที่ 2 จะนำท่านผู้อ่านเที่ยวชมในเมืองน่าน ที่มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย มีความสวยงามทางวัฒนธรรม และผู้คนชาวน่านก็น่ารัก มีน้ำใจดี ที่สำคัญที่นี่มีวัดวาอารามสำคัญ ที่ความเก่าแก่หลายร้อยปี ให้ได้กราบนมัสการหลายวัด หรือจะทำบุญครบ 9 วัดสำคัญๆเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตก็ยังได้

 


          เริ่มกันที่ วัดภูมินทร์ มีสถาปัตยกรรมล้ำค่า ตั้งอยู่ถนนผากอง ในตัวเมืองน่าน  สร้างขึ้นเมื่อปึ พ.ศ.2139 รวมอายุ 412 ปี เป็นพระอุโบสถที่มีความโดดเด่น ด้วยรูปทรงจตุรมุขอันเป็นเอกลักษณ์ ภายในวิหาร ประดิษฐานพระพุทธมหาอุดมศักยมุณี พระพุทธรูปปางมารวิชัย 4 องค์ หันหน้าออกสู่ประตูทั้ง 4 ทิศ ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามมีอายุกว่า 200 ปี ที่แสดงถึงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนน่านในอดีต และบริเวณด้านหน้าวันเป็น ข่วงเมือง หรือลานเมือง สำหรับจัดกิจกรรมการแสดง สะล้อซอซึง การขับร้องเพลง ประเพณีโบราณต่างๆ

 

 

          ใกล้กัน มีวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร  หรือ วัดหลวงกลางเวียง เชื่อกันว่า เจ้าปู่เข็ง เป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1949 รวมอายุกว่า 602 ปี มีเจดีย์ช้างค้ำรูปช้างปูนปั้นเพียงครึ่งตัวแบกองค์พระเจดีย์ เป็นศิลปะสมัยสุโขทัย ภายในวันยังมีพระพุทธรูปนันทบุรีศรีศากยมุนี เป็นพระพุทธรูปทองคำปางลีลา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1969 ซึ่งหากจะกล่าวความสำคัญทั้งหมดถึง 9 วัด ในตอนนี้คงจะมีพื้นที่บรรยายไม่พอ เพราะยังมีแหล่งท่องเที่ยวอีกมากกมาย ที่เป็นพื้นเพของชาวน่าน อย่างที่ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพหัตถกรรมชาวเขา บ้านกลางพัฒนา อำเภอเมือง ชมการทำเครื่องเงินของชาวเผ่าเมี่ยน

 

 

 

          โดยส่วนใหญ่ชาวเผ่าเมี่ยง หรือ เย้า ที่บ้านกลางพัฒนา จะประกอบอาชีพทำเครื่องประดับเงิน ส่งร้านขายเครื่องเงินในตัวเมือง และจังหวัดรอบข้างอย่าง เชียงราย เชียงใหม่ ที่นี่ยังเป็นศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพหัตถกรรมชาวเขา ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมที่ให้ชาวเมี่ยงได้มาจัดแสดงการทำเครื่องประดับเงิน การทอผ้า และการปักผ้า ที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ของชาวเผ่าเมี่ยนด้วย

 


          จากนั้นไปชม พิพิธภัณฑ์เตาเผาโบราณบ้านบ่อสวก หรือ พิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่น ตั้งอยู่บ้านบ่อสวก อำเภอเมือง พิพิธภัณฑ์เตาเผาโบราณเกิดจากการสังเกตพบของ จ่ามนัส ซึ่งเป็นลูกเขย บ้านพ่ออุ้ยแสน ธิเสนา(ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) และแม่อุ้ยชื่น ธิเสนา โดยสังเกตุพบว่ามีป่องดิน บริเวณบ้านของแม่อุ้ย ชื่น ทำให้จ่ามนัสเกิดความสงสัย จึงขุดดู แล้วพบว่าเตาเผาโบราณ ทำให้จ่ามนัส ติดต่อนักโบราณคดี กรมศิลปากรร่วมกับผู้ที่สนใจเข้ามาขุด พบว่าบริเวณบ้านของจ่ามนัส มีเตาเผาโบราณ อยู่หลายเตาทั่วบริเวณบ้าน และรอบนอก

 


          โดย 2 เตาแรกที่พบ ได้ตั้งชื่อตามเจ้าของผู้พบเจอ คือ "เตาจ่ามนัส" และ "เตาสุนัน" ซึ่งเป็นชื่อของภรรยาจ่ามนัส เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าของบ้านที่รักษาบริเวณเนินดินเตาเผาไว้อย่างดี จากการบอกเล่าจากนักโบราณคดี รองศาสตราจารย์สายันต์ ไพรชาญจิตร์ อาจารย์ประจำภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เชื่อว่าเตาเผาโบราณมีอายุมากกว่า 700 ปี โดยยังมีเตาเผาโบราณอีก หลายเตาที่ยังไม่ได้ขุด ด้วยเหตุผลข้อเดียวของจ่ามนัสว่า ต้องการให้อายุของเตาเผามากขึ้นให้ลูกหลายได้มีโอกาสได้ขุดศึกษาต่อไป

 

 


          นอกจากเตาเผาโบราณที่มีให้ชมรอบบริเวณบ้านจ่ามนัสแล้ว พิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่น ยังมีโบราณวัตถุ อย่าง หม้อดินเผา เครื่องเคลือบโบราณ  ชาม จาน ครกโบราณ และไห ส่วนนักท่องเที่ยวที่จะมาเป็นคณะและหากมีเวลามากพอ ก็สามารถลองทำเครื่องปั้นดินเผา เอากลับไปเป็นที่ระลึกได้ เนื่องจากที่นี่มีให้บริการ โดยเฉพาะเด็กๆได้เพลิดเพลินกับการปั้นดินเผาด้วย

 

 


          เข้ามาใกล้ตัวเมืองอีกนิด มาชมของดีขึ้นชื่อ อย่าง แกะสลักเรือแข่ง โดยอาจารย์วิโรจน์ พรหมอารีย์ ผู้ริเริ่มและผู้ผลิตเรือแข่งจำลอง สินค้า OTOP 5 ดาว ของจังหวัดน่าน ตั้งอยู่บ้านอรัญญาวาส ตรงข้ามบริษัทมิตซูน่าน ซึ่งกว่าที่จะมาเป็นเรือจำลอง อาจารย์วิโรจน์ เล่าว่า งานนี้ เกิดจากความแค้นส่วนตัว ที่ไปจ้างผู้ชำนาญทำให้ ก็ไม่ย่อมทำให้ อาจารย์อยากได้มาก จึงทำเอง ลองผิดลองถูก ฝึกทำเองนานกว่า 4 ปีจนประสบความสำเร็จ เป็นเรือชื่อเรือกัญยาจำลอง ในรูปแบบที่ถือเป็นมรดกของชาวน่าน

 


          นอกจากของดีเมืองน่าน อย่างเรือจำลองแล้ว ที่นี่เป็นแหล่งพระไม้ โดยจัดแสดงใน พิพิธภัณฑ์พระไม้ ซึ่งเป็นที่เกี่ยวรวบรวมพระไม้ เชื่อว่าเป็นพระไม้ของต้นตระกูลต่างๆในจังหวัดน่านนำมาถวายพระ โดยเชื่อกันว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ ให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข  และหากยังไม่ได้เครื่องเงินโบราณเป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้าน แนะนำที่ ร้านบุญช่วยเครื่องเงินโบราณ หรือเป็นที่รู้จักร้านเครื่องเงินโบราณลุงนุช ที่ยังทำเครื่องเงินประเภทเครื่องใช้ในรูปแบบต่างๆ อย่าง ขันเงิน ถาดเงิน

 


          ตกเย็น หากมาเที่ยวในช่วงที่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน จัดกิจกรรมสืบสานวัฒนธรรมที่ข่วงเมือง หรือลานวัฒนธรรม หน้าวัดภูมินทร์ ก็สามารถไปชมการแสดงของลูกหลายชาวล้านนา และการแสดงทางวัฒนธรรมมากมาย ทั้งยังมีขันโตกให้ได้รับประทานกันอย่างอร่อย โดยงานจะมีในวันที่ 2 -4 เมษายน , 8 – 9 พฤษภาคม , 12 – 13 มิถุนายน , 10 – 11 กรกฎาคม , 7 – 8 สิงหาคม และ 11 – 12 กันยายน

 


แอ่ว...น่าน ตอน ๑ “เมืองหัตถศิลป์ ถิ่นล้านนาตะวันออก

 

แนะนำการท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรมเพียบ

  

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แอ่ว...น่าน ตอน ๒ “เที่ยวเมืองเครื่องเงินงาม ถิ่นเตาเผาโบราณ สืบสานวัฒนธรรมข่วงเมือง” อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14:44:46 1,378 อ่าน
TOP