x close

แอ่ว...น่าน ตอน ๑ “เมืองหัตถศิลป์ ถิ่นล้านนาตะวันออก”

 

 

แอ่ว...น่าน ตอน ๑ “เมืองหัตถศิลป์ ถิ่นล้านนาตะวันออก” (สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์)


 
 “แข่งเรือลือเลื่อง
เมืองงาช้างดำ
จิตรกรรมวัดภูมินทร์
 แดนดินส้มสีทอง
งามเรืองรองพระธาตุแช่แห้ง”

 

          หากจะเอ่ยถึง “จังหวัดน่าน” เชื่อว่าหลายท่านต้องเอ่ยถึง พระธาตุแช่แห้ง เพราะเป็นปูชนียสถานที่สำคัญของจังหวัดน่าน มีอายุกว่า 600 ปี ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ จากกรุงสุขโขทัย ซึ่งเป็นธาตุราศีของคนเกิดปีเถาะ และด้วยพื้นที่ที่ติดเมืองชายแดนแห่งล้านนาตะวันออก จึงเต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่หลอมรวมจากเทือกเขาสูงถึงพื้นราบ ทำให้ความสวยงามทางวัฒนธรรมเป็นเสน่ห์ที่อยู่คู่เมืองน่านจนถึงทุกวันนี้


          ประกอบกับภูมิประเทศที่เป็นขุนเขา มีพื้นที่ป่ากว่า 5 ล้านไร่ เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ทั้งจังหวัดประมาณ 7 ล้านไร่ ถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์มาก เนื่องจากชาวบ้านเชื่อว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติจึงไม่สามารถฝืนกฎของธรรมชาติได้ จึงไม่มีการตัดไม้ หรือถางป่าทำไร่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ทำให้ทั่วทุกพื้นที่ของน่าน ยังคงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติได้เป็นอย่างดี

 


          น่าน ไม่เพียงเป็นเมืองที่มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ หากได้ลองไปสัมผัสจริงๆแล้ว จะรู้ว่าเกือบทุกพื้นที่ยังคงรักษาวัฒนธรรม วิถีชีวิตแบบดังเดิมได้อย่างสมบูรณ์ อย่างที่ บ้านน้ำหิน อำเภอนาน้อย หรือเดิมเรียกว่า “เวียงศรีษะเกษ” ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งลำน้ำแหง อยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดน่าน ห่างจากตัวเมือง ประมาณ 60 กิโลเมตร ยังคงรักษาภูมิปัญญาการ “ปั้นหม้อโบราณ”

 

 

          โดย แม่อุ้ยพุธ ขันทะ หัวหน้ากลุ่มปั้นหม้อโบราณ เล่าว่า การปั้นหม้อโบราณทำสืบต่อกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย เป็นร้อย ๆ ปี ก็ทำกันเรื่อยมาจนรุ่นปัจจุบัน ก็ได้มีการสืบทอด ต่อให้ลูกหลาน และชาวบ้านในระแวกที่สนใจ การปั้นแบบโบราณจะต้องนำดินที่จะนำมาปั้นไปทุบให้เป็นฝุ่น แล้วนำมาปั้นเป็นก้อน และทุบให้เป็นแผ่น ก่อนจะนำมาทำให้เป็นรูปร่าง เช่น หม้อ แจกัน คันโท โดยทุบให้เนื้อดินแน่นก่อนทำให้เข้ารูป นำไปตากแห้งและนำไปเผา ซึ่งทุกขั้นตอนการปั้นหม้อด้วยวิธีโบราณนั้นไม่ง่ายเลย เพราะกว่าที่จะมาเป็นหม้อดินหนึ่งลูก ต้องใช้ความชำนาญที่แม่อุ้ย พ่ออุ้ย นั้นสะสมมา ก่อนที่จะถ่ายทอดให้ลูกหลานได้สานต่อ เพื่อไม่ให้จางหายไป 

 

 

          แม้การปั้นหม้อแบบโบราณ จะมีราคาไม่แพง เท่ากับสิ่งของเครื่องใช้ในปัจจุบัน หากแต่มีคุณค่าทางจิตใจมากมาย เพราะนั้น หมายถึงสิ่งที่ถือเป็นวิถีชีวิตที่บรรพบุรุตได้สร้างขึ้นโดยภูมิปัญญาที่ยังคงมีให้พบเห็น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่เราคนไทยควรอนุรักษ์ไว้ โดยหากท่านใดสนใจ ต้องเดินทางมาที่นี่เพียงที่เดียว เนื่องจากเป้าหมายของการปั้นหม้อโบราณที่แม่อุ้ยพุธได้ถ่ายทอดนั้น ไม่ได้เน้นเชิงพาณิชย์ หากแต่ต้องการรักษางานหัตถศิลป์แบบโบราณ ให้รุ่นหลานได้ศึกษา

 

 

          นอกจากเครื่องปั้นดินเผาโบราณที่ทรงคุณค่าแล้ว ที่นี่ยังเป็นแหล่ง มะขามหวาน ที่ขึ้นชื่อ โดยในหลายพื่นที่ อย่าง จังหวัดเพชรบูรณ์เอง ก็มารับไปจำหน่ายด้วย เนื่องจากมะขามที่นี่มีรสอร่อย ปลูกด้วยวิธีธรรมชาติ เพราะได้สรอาหารจากดินดีนั้นเอง ที่นี่ยังมี หอม กระเทียม ที่เป็นผลผลิตจากธรรมชาติ เพราะทุกขั้นตอนการปลูก ชาวบ้านจะใช้วิธีธรรมชาติด้วย

 

 

 

          อำเภอนาน้อย ยังมีสถานที่เที่ยวที่เกิดจาก “ดิน” อย่าง เสาดินน้อย ตั้งอยู่ตำบลเชียงของ เป็นเสาดินมีลักษณะแปลกตาคล้าย “แพะเมืองผี” จังหวัดแพร่ จากหลักฐานทางธรณีวิทยา พบว่าเสาดินนาน้อยเกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกในยุคเทอร์เชียรีตอนปลาย ประกอบกับการกัดเซาะของน้ำและลมตามธรรมชาติ นักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ 10,000 - 30,000 ปีมาแล้ว เคยเป็นก้นทะเลมาก่อน และยังค้นพบกำไลหินและขวานโบราณที่นี่ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน


          บริเวณทางเข้า เสาดินน้อย ยังมี “ต้นดิกเดียม” ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส เพราะเมื่อสัมผัสต้นดิกเดียมเพียงปลายนิ้ว ก็ทำให้ทั้งต้นสั่นไหว ทำให้น่าแปลกใจ กับผู้ที่ได้สัมผัสด้วย

 

 

          ไม่เพียงวิถีชีวิต และชุมชนที่ล้ำค่าอย่าง การปั้นหม้อโบราณ ที่บ้านแม่อุ้ยพุธ และ เสาดินน้อย อำเภอนาน้อยยังมีศูนย์ร่วมจิตใจ ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวบ้าน คือที่ พระธาตุพลูแช่ ปูชนียสถานที่สำคัญเก่าแก่ของอำเภอนาน้อย  จังหวัดน่าน ตั้งอยู่บนสันเขาดอยหัวงัว โดยจากตำนานการสร้างพระธาตุพลูแช่  การสร้างครั้งแรกไม่ทราบว่าเมื่อใด แต่ได้บันทึกไว้ในสมุดข่อยเมื่อ ปี พ.ศ. 2262 ปีไจ้ (ชวด) เดือน 4 ขึ้น 9 ค่ำ ได้บันทึกตามคำบอกเล่าครูบาธรรมปัญญาได้เล่าแก่สามเณรแสนพรหม ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาแสนพรหม ว่ามีพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งได้เสด็จมาโปรดสัตว์ถึงบริเวณดอยหัวงัวโดยได้มีพระเถระเจ้าติดตามมารูปหนึ่งพระเถระได้ลงไปตักน้ำที่เชิงเขา ขากลับได้แวะขอพลูจากเฒ่าที่บ้านตีนดอย เนื่องจากพลูแห้ง ย่าเฒ่าจึงขอเอาพลูแช่น้ำก่อนแล้วจึงนำมาถวายเมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่องย่าเฒ่าแช่พลูจึงทรงทำนายว่าที่นี่ต่อไปจักได้ชื่อว่า ดอยพลูแช่

 

 

          เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับทรงเอาพระเกศาหรือเส้นผม  ให้พระเถระบรรจุลงที่ประทับนั่ง  ประชาชนนำตุง  ธูปเทียนดอกไม้มาบูชาพระพุทธเจ้าและขออนุญาตสร้างเจดีย์ตรงที่ประทับนั่งซึ่งได้บรรจุเกศานั้น  โปรดให้สร้างพระเจดีย์ตรงที่บรรจุพระเกศา เพื่อเอาไว้สักการะบูชาและได้ขนานนามว่า พระธาตุพลูแช่


          ที่นี่ยังมีเรื่องเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ ของพระธาตุ โดยในวันสำคัญทางพุทธศาสนา มีชาวบ้านพบเห็นลูกแก้วใส แสงสีม่วง มาปรากฎให้พบเห็นบริเวณพระธาตุ และเดือนหกของทุกปี ที่นี่จะมีประเพณีทำบุญขึ้นพระธาตุพลูแช่ด้วย


          เรื่องราวแหล่งท่องเที่ยวตามรอยเส้นทางแห่งหัตถศิลป์ ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะจังหวัดน่าน ยังมีเรื่องราวความเป็นวิถีแห่งน่านที่น่าสนใจอีกมากมาย ในตอนที่ 2 จะพาไปเที่ยวชมการทำเครื่องเงิน เผ่าเมี่ยน บ้านกลาง ชมพิพิธภัณฑ์โบราณบ้านบ่อสวก และแรงบันดาลใจในการแกะเรือจำลอง พบกันตอนหน้าคะ..!!

 

         ขอบคุณการเดินทางที่แสนประทับใจจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงาน จ.แพร่ โทร.0-5452-1118 ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานวัฒนธรรม จ.น่าน โทร. 0-5471-1650-1ที่ขาดไม่ได้ ขอบคุณรอยยิ้มน่ารักๆของชาวน่าน

 

แอ่ว...น่าน ตอน ๒ “เที่ยวเมืองเครื่องเงินงาม ถิ่นเตาเผาโบราณ สืบสานวัฒนธรรมข่วงเมือง 


แนะนำการท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรมเพียบ

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แอ่ว...น่าน ตอน ๑ “เมืองหัตถศิลป์ ถิ่นล้านนาตะวันออก” อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14:16:49 1,489 อ่าน
TOP