x close

อมก๋อย และพืชพรรณแห่งแรงบันดาลใจ

อมก๋อย

อมก๋อย


อมก๋อยและพืชพรรณแห่งแรงบันดาลใจ (Mix MAGAZINE)

          เมื่อลงมาจากปลายดอยแห่งนั้น นาทีที่จิบกาแฟขมเข้มอยู่ที่ไหนสักแห่ง ผมมักคิดถึงพวกเขา ชายชาวลาหู่นะและครอบครัวแห่งบ้านมูเซอ ตีนดอยม่อยจอง วันที่เขาหยิบยื่นอาราบิกาที่คั่วและบดเอง (ตามความเข้าใจ) ให้เรานำกลับลงมา ว่าตามตรง นาทีนั้นผมไม่ได้คิดถึงเรื่องคุณภาพ รสชาติ หรือมาตรฐานอะไรอย่างที่หลายคนให้ความสำคัญกับเมล็ดกาแฟ อาจด้วยมิตรภาพนั้น เป็นเรื่องหอมหวานเสียมากกว่า

          ที่บ้านกะเหรี่ยงสูงลึกขึ้นไปจากที่ราบของอำเภออมก๋อย ป่าเขายังคงยิ่งใหญ่กว่าความคิดความเชื่อใด ๆ จากเบื้องล่าง ห้วยน้ำไหลริน เด็กน้อยเก็บผลกาแฟสีแดงสุก ยื่นให้ผมลองปลิ้นชิมความหวานของเนื้อใน

          หากใครว่ากาแฟเป็นเครื่องดื่มเสริมสร้างแรงบันดาลใจ หลายวันที่ขึ้นมาอยู่กลางสายลมหนาว ฟ้าใสสด และอากาศกดหนักบน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ คนที่นี่ต่างก็ทำให้ผมรู้ว่าการก้าวไปข้างหน้าของชีวิตนั้นต้องการแรงบันดาลใจเป็นอย่างยิ่ง อาจไม่ได้มาจากที่ไกลแสนไกล บางคราวเพียงแค่ในแววตาอุ่นของผู้เฒ่าที่กำลังจะจากไป และรอยยิ้มของเด็กน้อยรุ่นใหม่ ๆ ที่ลืมตาตื่น ซึ่งต่างก็หลอมรวมอยู่บนผืนดินอันเป็นบ้าน และไม่เคยคิดจะหันหลังออกมาสักครั้ง

          ผมผ่านความสูงและระยะทางกว่าร้อยกิโลเมตรขึ้นมาสู่อำเภออมก๋อย เมื่อแดดเย็นเปลี่ยนเมืองไกลแห่งนี้ให้อุ่นตานาข้าวของพวกเขาอยู่ในฤดูเก็บเกี่ยว มันงดงามราวภาพเขียนอิมเพรสซันนิสม์ของโมเนต์ ไล่โทนสีเหลืองทองขึ้นไปเป็นขั้นบันไดและมีทิวเขาโอบรับอยู่ปลายตา น้ำแม่แจ่มยังคงหลากไหลแม้จะผ่านฤดูน้ำมากไปเมื่อสองสามเดือนที่ผ่านมา

          ฤดูนี้ข้าวของคนอมก๋อยกำลังเต็มรวงไม่ว่าใครต่อใครก็ใช่จ่ายเวลากลางวันไปด้วยแรงงานโดยเฉพาะพี่น้องกะเหรี่ยง พวกเขาอยู่หุบนาเบื้องล่างมาตั้งแต่รุ่งเช้าและเป็นเช่นนี้มาทุกเมื่อเชื่อวัน เสียงตึ้กตั้กดังชัดขึ้นมาจากนาของพวกเขา และเมื่อผมลงไปหาก็พบว่าข้าวเปลือกที่ก่ายกองอยู่ในนา ล้วนผ่านการ "ตีข้าว" มาทั้งวี่วัน มันอาจเพียงพอกับครอบครัวหนึ่งไปอีกหลายเดือน เมื่อพ้นช่วงทำนา "ข้าวของเรามีไว้กิน ไม่ได้ขาย" หนุ่มกะเหรี่ยงสะกอร์ พูดถึงข้าวเจ้าของพวกเขาว่าไม่ใช่ข้าวไร่เหมือนพวกที่อาศัยตัวเองอยู่ข้างบนภู


อมก๋อย

อมก๋อย

          อากาศเริ่มกดหนัก ชื้นเย็น แสงสุดท้ายในยามเย็นเหมือนจะหลอมให้นาขั้นบันไดอันไพศาล ในที่ราบกลางหุบเขาจมไปกับความมืด และเดือนดาวกำลังมาเยือน ผ่านค่ำคืนมาจนรุ่งเช้า ผมพบตัวเองอยู่ในไอหมอกและหุบเขาอีกแห่งของอมก๋อย ที่ความสูงกว่า 1,300 เมตร จากกระดับทะเลปานกลาง ไกลขึ้นมาจากตัวอำเภอเกือบ 10 กิโลเมตร

          "เรามาส่งเสริมให้พวกเขารู้ว่า พ้นเรื่องฝิ่นในอดีตยังมีพืชพรรณที่เหมาะกับบ้านของเขา" สุธาธาร ขัดทอง ผ่านพ้นชีวิตครูคอยมากว่า 10 ปี วันนี้เธออยู่ในไร่กาแฟของบริษัท วีพีพี โปรเกรสซีฟ จำกัด ตำแหน่งผู้จัดการของเธอไม่ใช่เรื่องของการอยู่แต่ในออฟฟิศ หากหมายถึงการบากบั่นขึ้นไปตามบ้านบนภูเขาของคนอมก๋อย ร่วมกับเหมย-สุวรรณ ดีแฮ หนุ่มกะเหรี่ยงคนพื้นที่ และ เฟิร์ส-พงศ์เทวินทร์ ศรีปินตา ชายจากลำพูน ทั้ง 3 คน รู้ดีว่างานของพวกเขาไม่ง่าย กว่าจะทำให้คนที่นี่ยอมรับให้เมล็ดพันธุ์ชนิดหนึ่งหยั่งรากลงบนผืนแผ่นดินอมก๋อย

          "กาแฟเหมาะกับคนอมก๋อย ทั้งเรื่องสภาพอากาศความสูง และปริมาณน้ำฝน" เช้าที่มีอาราบิกาสายพันธุ์ "ดี" มาเป็นอเมริกาโนร้อน ๆ เราเฝ้ามองไอหมอกไหลผ่านไร่กาแฟในหุบอย่างเพลินตา

          เมล็ดพันธุ์ของเครื่องดื่มอันแสนละเอียดอ่อนชนิดนี้ เดินทางไกลมาพร้อมกับประวัติศาสตร์มนุษย์ จากถิ่นกำเนิดบนที่ราบสูงอบิสซีเนีย หรือเอธิโอเปีย มันเดินทางข้ามทะเลแดงสู่ดินแดนตะวันออกกลาง และแพร่กระจายออกสู่ยุโรป อเมริกาใต้ ภายใต้เงื่อนไขของระบบการล่าอาณานิคม ตลอดจนการติดต่อเชื่อมโยงกันด้วยการค้าทางทะเล

          ตำนานเกี่ยวกับการ "เดินทาง" ออกสู่ทั่วโลกของกาแฟดูจะชัดเจนที่สุดในเรื่องของ "คนเลี้ยงแพะ" ของตะวันออกกลาง จากที่เด็กหนุ่มชื่อ "กาลดี" ได้เห็นฝูงแพะที่โลดเต้นอย่างผิดปรกติ ครั้นเขาตามไปบนภูเขาจึงรู้ว่า แพะกินผลสุกของกาแฟเข้าไป เมื่อลองกินดูบ้างก็รู้สึกสดชื่น จากนั้นกาแฟก็แพร่หลายอยู่ในโลกมุสลิมที่เยเมน พัฒนาสู่การ "เข้าถึง" การนำเมล็ดมาคั่วและต้มกิน และเมื่อโลกฟากตะวันตกข้ามผ่านเข้ามา กาแฟอาราบิกาถูกนำออกไปปลูกในหลายพื้นที่ เกิดเป็นหลายสายพันธุ์ เช่น คาร์ติมอร์ เบอร์บอล บลูเมานท์เทน คาทุยอิ เอสแอล 28 ฯลฯ ซึ่งโลกต่างก็ได้เรียนรู้ว่าพัฒนาการของกาแฟนั้นแตกย่อยออกไปอย่างน่าทึ่ง

          "ตำนานเกี่ยวกับกาแฟมีอยู่แทบทุกท้องที่ครับ ทิปิกานั่นเป็นสายพันธุ์แรก ๆ ที่กาแฟออกมาสู่โลกกว้าง" ระหว่างเดินตาม อาจารย์อาภรณ์ ธรรมเขต ลงไปดูกาแฟในไร่ เขาว่าไว้คร่าว ๆ เช่นนี้ ซึ่งก็ทำให้ผลเองทึ่งในความ "หลากหลาย" และ "เปราะบาง" ของกาแฟ

          "คนปลูก คนศึกษากาแฟ ต้องยิ่งปลูกยิ่งโง่ครับ ลองผิดลองถูกมาถึงทุกวันนี้ ผมยังไม่รู้อีกเยอะ" หลายสิบปีชีวิตราชการของกรมวิชาการเกษตร เขาบากบั่นพา "กล้าพันธุ์" หลากหลายไปเพาะไว้ตามแดนคอยภาคเหนือ ส่งต่อขายผลให้กับพี่น้องชาวเขา ข้ามน้ำข้ามทะเลไปศึกษาดูงานถึง "ถิ่น" ของกาแฟ เพื่อที่จะพบว่าชีวิตหลังวัยเกษียณก็ยังแยกออกจากพืชชนิดนี้ไม่ออก

          "เห็นใครปลูกได้ผมก็ดีใจ อยากเอาพันธุ์ดี ๆ มาไว้ให้เขา อย่างที่อมก๋อยนี่น่าดีใจมาก" เราใช้เวลายามเช้าด้วยกันในไร่อีกนาน ไร่กาแฟกว้างใหญ่แห่งนี้ยังฉ่ำขึ้นด้วย ไอเย็น ถนนดินแดงข้างนอก เสียงกระดึงจากขบวนวัวดังกรุ๋งกริ๋งๆ พร้อมกับชาวบ้านในชุดประจำเผ่าสีแดงขุ่นเดินผ่านไปสู่การงานตามไร่นา

          "กว่าพวกเขาจะยอมรับกับกาแฟก็นานอยู่ค่ะ อย่างว่าแต่เดิมมันไม่ใช่แค่เรื่องปลูก แต่พวกเขาต้องการรู้ว่ามันขายได้ไหม" นาทีต่อมาผมคุ้นจะเรียกสุธาธารว่าพี่หล้ามากกว่า


อมก๋อย

อมก๋อย

          เวลาอันยาวนานของพี่น้องชาวไทยภูเขาบนอมก๋อย แน่นอนว่าต้องผ่านมาทั้งการล้มลุกคลุกคลานและอุปสรรคนามัปการ ผืนดินถูกพลิกฟื้นครั้งแล้วครั้งเล่าจากไร่ฝิ่นสู่ไร่กะหล่ำปลี มะเขือเทศ ผลไม้เมืองหนาวนานา ซึ่งรวมไปถึงระยะแรกของกาแฟ ซึ่งต่างต้องเผชิญปัญหาทั้งเรื่องคุณภาพและการขนส่งจากคงคอยอันมากอยู่ด้วยดินโคลน

          "มีแต่ส่งเสริมให้ปลูก แต่ขายไม่ได้ก็เปล่าประโยชน์" พี่หล้า เล่าเช่นนี้ไร่กาแฟที่เธอทำงานจึงมาถึงพร้อมกับคำว่า "โตไปด้วยกัน" พี่น้องชาวเขาทั้งที่ราบรวมไปถึงแดนดอยรอบด้าน เมื่อเลือกให้กาแฟได้แทงรากลงในดินอันอุดม นั่นหมายถึงการมีที่รับซื้อ ประกันราคาตลอดจนเข้ามาส่งเสริมดูแลในเรื่องคุณภาพการปลูก

          เราออกจากไร่ บ่ายหน้ารถโฟร์วีลคันแกร่งขึ้นไปตามทางดิน มันโยนตัวอย่างกระด้าง หากเป็นฤดูฝน ไม่ยากที่จะจินตนาการถึงความ "ห่างไกล" ที่เพิ่มขึ้นมา ทางบีบแคบ บางช่วงเป็นหุบเหวลึก ขณะที่บางช่วงก็เปิดให้เห็นนาข้าวในหุบเขาของพี่น้องกะเหรี่ยง สายลมสดสะอาดพัดผ่านไร่นาจนดูเหมือนหุบเขาเคลื่อนไหว ในสายลมเจือด้วยกลิ่นหอมของต้นข้าวเจืออยู่บาง ๆ พี่หล้า และ เหมย โบกมือทักทายเป็นระยะ จอดถามสารทุกข์สุกดิบ ที่ถึงแปลไม่ออกก็รู้ได้ถึงความห่วงใยซึ่งกันและกัน

          ป่าชื่นเย็นเมื่อเราขึ้นมาถึงบ้านพะอัน ธารเล็ก ๆ อันเป็นหนึ่งในต้นน้ำแม่แจ่มเอื่อยไหลอยู่เคียงข้าง หมู่บ้านกะเหรี่ยงเล็ก ๆ แห่งนี้แสนเงียบสงบ มีโรงเรียนซึ่งประจำอยู่ด้วย ครูดอยวัยหนุ่มเพียงคนเดียว "เราสอนภาษาไทยและวิชาเบื้องต้นครับ ไม่ใช่เพื่อให้ไปไกล ๆ แต่หากให้เด็ก ๆ รุ่นใหม่สื่อสารกับคนข้างล่างได้ดี" บนแคร่เล็ก ๆ หน้าอาคารหลังเดียวที่เป็นทุกอย่าง เขาว่าอย่างคนที่เข้าใจโลกสองใบอันแตกต่าง

          อาจารย์อาภรณ์ และ พี่หล้า เดินตัดธารน้ำเข้าไปในป่าลึก ผมเพลินอยู่กับเด็ก ๆ และแม่เฒ่าในชุดสะอ้านเสียงตำข้าวในครกกระเดื่อง ทุ้มช้าเป็นจังหวะตามเรี่ยวแรงวัยชราของแก

          ตามพวกเขาขึ้นไปเพื่อรับรู้เรื่อง "ไม้บังร่ม" ที่สำคัญกับการปลูกกาแฟ สวนกาแฟของคนบ้านพะอันถือว่าดีมาก แชมอยู่ในป่าทึบอันเป็นเหมือนสิ่งที่แยกออกจากคนกะเหรี่ยงไม่ได้ "มีป่า มีน้ำ ก็มีกะเหรี่ยง" พ่อพลวงที่เดินตามมาดูบอกผมเช่นนั้น

          ช่วงฝนอาจเหมือนหมู่บ้านแห่งนี้ถูกตัดขาดจากคนข้างล่าง ทว่า เมื่อกาแฟของคนบ้านพะอันสุกได้ที่ พวกเขาพร้อมที่จะเป๊อะขึ้นหลัง หรือวางท้ายมอเตอร์ไซด์แล้วลงไปสู่ที่ราบ การอยู่กับป่าไม้ได้ลดความเจนจัดและเข้าใจในฤดูกาลสำหรับพวกเขา

          ผมล่วงลงมาก่อน นั่งมองเด็ก ของครูหนุ่มเริงร่าดูลำธารหลากไหล ควันไฟจากในครัวของเรือนไม้ยกสูงลอยล่อง "ตาบรี" ผมทักสวัสดีพวกเขาด้วยรอยยิ้มและก็ได้รับไมตรีนั้นกลับมาไม่แตกต่าง และก็ได้รู้ว่าคำ ๆ นี้ก็ใช้แทนคำว่า "ขอบคุณ" ได้เช่นกัน


อมก๋อย

อมก๋อย

          ระหว่างพืชพรรณ ป่าเขา และทางดินเล็ก ๆ ที่ไต่ชันขึ้นมา เรื่องผลผลิตนั้นอาจเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า การดูแลซึ่งกันและกันต่างหาก ที่ทำให้รู้ว่ากลางโลกข้างล่างที่หมุนเคลื่อนไปทุกเมื่อเชื่อวัน ชีวิตบนนี้ของพวกเขาก็ไม่ได้โดดเดี่ยวอยู่กลางป่าลึกแต่เพียงผู้เดียว

          ยามเย็นที่ตัวอำเภออมก๋อยลานตาไปด้วยเด็ก ๆ ชาวเขาที่เพิ่งเลิกเรียน คอยไกลแห่งนี้เป็นบ้านหลังใหญ่ของพี่น้องชาวไทยภูเขาหลายเผ่าพันธุ์ เด็กน้อยชาวกะเหรี่ยง มูเซอ แม้แต่ ม้ง ก็ล้วน "ลง" มาหาสิ่งที่เรียกว่าอนาคตกันที่โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม

          "85 เปอร์เซ็นต์ล่ะครับ เด็กนักเรียนที่อมก๋อยเป็นชาวไทยภูเขา" ผู้อำนวยการพงศ์ชัย คำเมรุ พูดถึงเด็ก ๆ ของเขา ขณะที่ผมเพลินอยู่ในช่องมองภาพ เสื้อผ้าและเสียงหัวเราะนั้นน่าใส่ใจไม่แตกต่าง

          ก่อนยามเย็นที่จะมาเยือน เราไปดู "ผลงาน" ของเด็ก ๆ ที่นี่ ซึ่งเมื่อไปถึงพื้นที่กว่า 40 ไร่หลังโรงเรียน ไร่กาแฟเขียวครึ้ม เย็นตา ก็เบียดแน่น ไม้บังร่มสูงชะลูด และพื้นที่หลังโรงเรียนก็กลายเป็นป่าย่อม ๆ บนดอยอมก๋อย การมาถึงของกาแฟแทบจะเปลี่ยนบุคลิกของบ้านแดนดอยให้มีซึ่งความพิเศษ ใช่แต่ผู้ใหญ่ เด็ก ๆ รุ่นต่อมาก็เห็นในภาพเช่นนั้น

          "เรามีแบรนด์ของเราเองครับ ทางไร่วีพีพีฯ มาส่งเสริมให้เด็ก ๆ ปลูก คั่ว และบรรจุแพ็กเกจให้ เด็ก ๆ ที่เข้าโครงการต้องมาดูแลกาแฟคนละ 3 ต้น เรามีวิชาไร่กาแฟส่งเสริมคุณธรรม" ผอ.พงศ์ชัย เล่าให้ฟังดูราวกับเป็นวิชาเล่น ๆ

          ทว่า ด้วยการเล่นกับพืชพรรณและผืนแผ่นดิน ณ ทุกวันนี้โรงเรียนอมก๋อยฯ มีร้านกาแฟเล็ก ๆ อยู่ที่หน้าโรงเรียนเปิดขายกาแฟสดหลากหลายเมนูในแบรนด์ "อมก๋อย" ซึ่งนิยามต่อท้ายด้วยว่า "กาแฟสดของหนู โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม"

          ตรงทางแยกอำเภออมก๋อย  ที่ที่ความเจริญต่างๆ เดินทางขึ้นมาถึงแดนดอยแห่งนี้เป็นจุดแรก ๆ ทั้งผู้คน ชาวไทยภูเขา นักท่องเที่ยว หรือแม้แต่คน "เมือง" เองก็ตาม หากหน้าตาของความผูกพันของผืนแผ่นดินและผู้คนเป็นเช่นเดียวกับกาแฟในร้านเล็ก ๆ หน้าโรงเรียน คือหลอมรวมอยู่ด้วยเรี่ยวแรง ความหวัง และการอาทรดูแลจากทุกผู้คนรอบข้าง ร้านกาแฟตรงทางแยกเล็ก ๆ แห่งนี้ก็เปี่ยมค่าที่ใครสักคนจะนั่งลงทำความรู้จัก "เมล็ดพันธุ์" ของพวกเขา

          ไต่ความสูงจากตัวอำเภอขึ้นมาสู่ไร่กาแฟ ผืนนาขั้นบันได และบ้านอยู่เรือนนอนของพี่น้องกะเหรี่ยงเช่นคืนวาน อากาศเย็นกำลังจะมาเยือน ขบวนวัวพร้อมแม่เฒ่าคาบกล้องยาผ่านมาด้านหน้าอย่างไม่จางคลาย ฟ้าสีบลูอมเรื่องราวของแผ่นดินคอยไกลนี้ไว้ในความมืด

          "กาแฟคือศิลปะ ทุกขั้นตอนล้วนประณีตละเอียดอ่อนทั้งการปลูก คั่ว ชง ไปจนถึงเทคโนโลยีต่าง" ใครสักคนบอกกับผมยามกระชับกาแฟร้อนหอมกรุ่นไว้กลางค่ำคืน ทว่า กับผู้คนอมก๋อย ท่ามกลางแผ่นดินอันอุดมบนความสูงอันพอเหมาะกับการหยั่งรากฝากวางชีวิต ผมว่าพวกเขาและเมล็ดพันธ์อย่างกาแฟ อาจเหมือนกันอยู่บางอย่าง คือมากมายไปด้วยเรื่องราวของการเดินทางแปรเปลี่ยน เคลื่อนย้าย แต่ก็ยังคงความชัดเจนเข้มข้นทุกครั้ง เมื่อกะเทาะ "เปลือกนอก" และเคี่ยวกรำจนเห็นสิ่งที่เรียกว่าหัวใจ"


อมก๋อย

อมก๋อย

การเดินทาง

          จากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 ผ่านอำเภอหางดง อำเภอสินป่าตอง อำเภอฮอด ผ่านออบหลวง ถึงบริเวณบ้านบ่อหลวง แยกซ้ายเข้าทางหลวง หมายเลข 1099 ไปอีกราว 49 กิโลเมตร ถึงอำเภออมก๋อย รวมระยะทางจากเชียงใหม่ถึงอมก๋อยราว 180 กิโลเมตร

          มีรถโดยสารออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ สาย เชียงใหม่-ฮอด-อมก๋อย เที่ยวแรกออกเวลาตีห้าครึ่ง มาถึงอมก๋อยก่อนเที่ยง เที่ยวสุดท้ายออกเวลาบ่ายสอง ราคาประมาณ 130-150 บาท ขึ้นรถที่ตลาดประตูเชียงใหม่

          มาเที่ยวชมชีวิตของคนอมก๋อย ควรขึ้นไปสัมผัสหมู่บ้านกะเหรี่ยงรอบนอก ไปเที่ยวชมผืนนาขั้นบันได ไร่กาแฟ และวิถีชีวิตของคนกะเหรี่ยง มูเซอ รวมถึงการอยู่ร่วมกินอย่างผสมผสานกลางสังคมเกษตรกรรม

          มีที่พักเล็ก ๆ ชื่อ "อมก๋อยรีสอร์ท" บรรยากาศดี ติดลำน้ำแม่แจ่มให้บริการ โทรศัพท์ (053)467-33, 08-6188-1910 เว็บไซต์ www.omkoiresort.com





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ Oaddybeing

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อมก๋อย และพืชพรรณแห่งแรงบันดาลใจ อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 17:46:22 14,620 อ่าน
TOP