x close

สุพรรณฯ-ชัยนาท ถนนสายเก่า เรื่องเล่าริมทุ่ง



สุพรรณฯ-ชัยนาท ถนนสายเก่า เรื่องเล่าริมทุ่ง (Mix Magazine)

Interview: Ramchalay
Photo: Ramchalay

          ว่ากันว่า หากชีวิตคือการชื่นชมด้วยผลงานของสองมือ อดทนต่อสู้ไปตามคืนวันและความผันแปร ของกาลเวลา พื้นที่ราบลุ่มภาคกลางที่ผมใช้เวลาสองสามวันในการเข้าไปทำความ "รู้จัก" ผืนนี้ ก็ดูจะอุ่นเอื้อต่อพวกเขาอยู่มิใช่น้อย

          แผ่นดิน ทุ่งนา ท่าน้ำ และถนนสายเก่าแก่ที่เลียบเข้ามาใน "บ้าน" ของพวกเขา พาเราวนเป็นวงกลม ริมสองข้างทางปรากฏรอยยิ้มและหยาดเหงื่อปะปนไม่เคยจางคลาย อาจมิได้โรแมนติกราวเส้นทางในฝันที่ผลักดันให้ใครหลายคนออกเดินทาง ทว่า บนรอยล้อที่หมุนไป บางนาทีผมได้พบว่า ชีวิตของพวกเขา ที่วัน ๆ อาจไม่ได้เคลื่อนที่ไปไหนเกินกว่าเรือกสวนไร่นา และบ้านเรือนที่หลับนอนนั้น แสนใกล้เคียงกับการเดินทางสู่ "ภายใน" ที่หลายคนเฝ้าฝันถึง เมื่อชีวิตมีสิ่งให้ "ดิ้นรน" มากกว่า "ฟูมฟาย" ไปกับการเปลี่ยนผ่านของวันเวลา หนทางที่กำลังเลือกเดินก็อาจสำคัญไม่น้อยไปกว่าจุดมุ่งหมาย



          ถนนคอนกรีตกว้างใหญ่อย่างไม่น่าเชื่อ เป็นที่ภาคภูมิใจในความ "ทันสมัย" ของหลายคนในสุพรรณบุรี ทว่า หากลึกลงไปในความเป็นเมืองชุ่มอุดมอย่างที่ในเพลงลูกทุ่งเลือดสุพรรณประเภท "ชั้นครู" บอกให้เห็นภาพนั้น บางทีเราอาจต้องเลือกทางสายเก่าที่หล่อหลอมพวกเขามายาวนาน

          เราผละเข่าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 341 (สายเก่า) กันที่ ตลาดโพธิ์พระยา ของสดของแห้งเรียงรายอยู่ภายใต้เต็นท์ผ้าใบสมัยใหม่ริมแม่น้ำท่าจีน แนวตึกไม้เก่ามิได้ทอดยาวอย่างที่เคยเป็นมาแต่ครั้งตั้งชุมชนเมื่อปี พ.ศ. 2468 ไฟไหม้ครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2547 พาความคลาสสิกของเรือนแถวไม้หายไปกับเปลวเพลิง ทว่า ชีวิตเรียบสงบริมน้ำยังไม่เปลี่ยนแปลง ความคึกคักอาจไม่มากอย่างแต่ก่อน แต่ก็พอให้รู้ว่าที่นี่เคยเป็นจุดรวมผู้คนด้วยการสัญจรตามลำน้ำสู่สุพรรณบุรีและเมืองอื่น ๆ อีกยาวไกล

          "หากเป็นเย็น ๆ นะหลาน ของกินลานตาเชียว" สำเนียง "เหน่อสุพรรณ" อันเป็นเอกลักษณ์ของใครสักคนในร้านโชห่วยตรงเชิงสะพานไม่เพียงทุ้มนุ่มน่าฟัง หากยังรู้สึกได้ถึงความเป็นพี่น้องอย่างที่คนต่างจังหวัดยึดถือข้ามแม่น้ำท่าจีน ถนนคล้ายร้างไร้สัญจรมาเนิ่นนานข้าวในนาสองฝั่งสุกงอมค้อมรวง รถเกี่ยวข้าวสีลูกกวาดคำรามอยู่ไกล ๆ ควันขโมงพวยพุ่ง

          ยืนอยู่ริมนาผืนกว้าง นาทีนั้นผมคิดถึงเพลงฉ่อยเพลงเกี่ยวข้าวเพลงเต้นกำ เสียงโต้ตอบของหญิงชายที่หมายคลายเหนื่อยจากท้องไร่ทุ่งนา ที่วันนี้เงียบเสียงไปแล้วจากนาข้าว กลายเป็นเรื่องต้อง "อนุรักษ์" กันยืดยาว แดดแรงแผดหนัก เมฆกระจัดกระจายราวเศษนุ่น ลอยเกลื่อนฟ้าสีน้ำเงิน ถัดเลาะตามทางออกมาไม่นาน ตลาดบ้านกร่าง ก็คงภาพความเป็น "ย่าน" ไว้อย่างมีชีวิต

          ถนนเล็ก ๆ โอบอยู่ด้วยห้องแถวไม้ร่วมร้อยห้อง มันยังขรึมเข้มสวยงามไม่น่าต่างจากวันที่สร้าง อีกฟากแม่น้ำคือ
ตลาดศรีประจันต์ที่เติบโตมาก่อน ใหญ่และคึกคักกว่าทว่าก็เงียบลงกว่าห้าหกสิบปีก่อน สมัยที่อำเภอศรีประจันต์ เป็นจุดข้ามเรือ ต่อรถ ไปสู่บ้านกล้วย วังหว้า ยาวไกลไปถึงปลายแดนสุพรรณฯ อย่างอำเภอด่านช้าง




          "คนฝั่งบ้านกร่างอยู่เงียบ ๆ ไม่เท่าฝั่งอำเภอ" ป้าพิณทิพย์ อารยางกูร ยิ้มพลางเล่าอยู่หน้าห้องแถวไม้ของแก ที่วันนี้เงียบงัน "ฝั่งนี้รับราชการเยอะ กลางวันมีแต่คนแก่กับเด็ก"

          แสงบ่ายไล้แนวชายคาสังกะสีทำให้ทางเดินยิ่งมีมิติ ร้านกาแฟจริง ๆ ที่ไม่ได้มีไว้รับนักท่องเที่ยวมีวัยรุ่นสี่ห้ากลุ่ม ส่งเสียงหัวเราะสวนออกมา เฒ่าชราผ่านยามบ่ายไปเงียบ ๆ กับโอเลี้ยงและหนังสือพิมพ์ประจำวันลงเรือแจวผ่านแนว ผักตบชวาข้ามสู่ฝั่ง ตลาดศรีประจันต์ เมื่อขึ้นฝั่ง ห้องแถวไม้ที่แผ่ขยายจนพื้นที่ตรงกลางกลายเป็นเป็นลานซีเมนต์สี่เหลี่ยม ร้านทองม้วนและขนมปังโบราณยังคงเดินอยู่เคียงคู่ ขณะที่ร้านตามสั่งเจ้าเก่าแก่ก็เนืองแน่นผู้คน กลิ่นหอมลอยออกมาดึงให้อยากลองเดินเข้าไปดูความมีชีวิตชีวาด้านใน

          เรือนแถวไม้ 3 ห้องอันเป็นชาติภูมิสถาน ป.อ.ปยุตฺโต สงบนิ่งอยู่ด้วยข้าวของจากอดีต ผนังไม้มันเลื่อมสะท้อนการเป็นร้านขายผ้าใหญ่ เรื่องราวชีวประวัติและนานา "ธรรมมะ" ที่ท่านสร้างไว้ในหนังสืออันเรียงราย หนังสือชื่อ “พทุธธรรม” ที่ว่าถึงแก่นของพระไตรปฎิกทุกแง่มุมคืองานนิพนธ์ที่เยี่ยมยอด และในทางพุทธศาสนาท่านถือว่าเป็นกวีทางพุทธและเพชรน้ำเอกของโลก

          ในวันที่ตลาดศรีประจันต์ผ่านร้อนหนาวมาร้อยกว่าปี จาก พ.ศ. 2444 ลวดลายฉลุจากหลายห้องยังชัดเจนความงาม เมื่อมีเสียงเทศน์สอนของท่านเจ้าคุณฯ อันเป็น "ลูกหลาน" ศรีประจันต์ล่องลอยในปลายบ่าย ไยจะเรียกย่านตลาดแห่งนี้ว่า "ความสงบงาม" ไม่ได้



          ข้ามฝั่งกลับสู่ถนนสายเก่า รอยทางโบราณก็ดึงเรากลับสู่ความเป็นเมืองทุ่งเมืองท่า ผ่านสามชุกไปได้ไม่นานถนนบีบแคบลง หลายคนบอกให้เราเลือกไปใช้ทางหลักใหญ่โตด้านนอก ทว่า เมื่อรู้ว่าไปต่อได้จนถึงเดิมบางนางบวชก็ไม่มีอะไรต้องเปลี่ยนใจ สองข้างทางคือการงานแห่งชีวิต กวีเลือดสุพรรณฯ คนหนึ่งเคยว่าเอาไว้ "อยากให้รักผลิบานในจานข้าว" เป็นเช่น นั้นเองเมื่อเห็นโมงยามเก็บเกี่ยวของพวกเขาข้าวของคนสุพรรณฯ ดีสมกับเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำมาเนิ่นนาน เขื่อนกักเก็บน้ำหรือคลองชลประทานที่ทำให้ทำนาได้ตลอดปีนั่นอีกเรื่อง หากแต่ความ "ชัดเจน" ในวัฒนธรรมข้าวต่างหากที่ผูกพันร้อยโยงพวกเขาไว้ไม่ให้จากไปไหน

          "ปีนี้น้ำดี ข้าวกระเตื้องขึ้นมาหน่อย" ระหว่างทางก่อนเข้า บึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ พี่น้องบ้านทุ่งนั่งมองรถเกี่ยวข้าวด้วยใบหน้าอิ่มยิ้ม แดดแรง ๆ เหมือนจะทำอะไรเขาได้เพียงเหงื่อที่ย้อยไหล ขณะที่เพื่อนร่วมแปลงง่วนอยู่กับรวง "ข้าวตก" ที่ร่วงซ่อนอยู่ตามนาสีน้ำตาลอันว่างเปล่า

          พื้นที่กว่า 1,511 ไร่ของบึงน้ำที่หลายคนมุ่งมาถึงพร้อม ๆ กันกับเรากลายเป็น "แหล่งท่องเที่ยว" ยอดนิยมของสุพรรณบุรีในเวลาไม่กี่ปี ไม่เพียงเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงเกษตร อะควาเรียมปลาน้ำจืดแสนทันสมัยแหล่งหย่อนใจครบครัน ทว่า ในเชิงอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดิน การได้รับประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ตามอนุสัญญาแรมซาร์ เมื่อปี พ.ศ. 2541 ยิ่งแสดงให้เห็นว่าที่นี่หาใช่แค่แหล่งท่องเที่ยว หากยังเป็น "บ้าน" ของคนและสัตว์ที่คนที่นี่ไม่เคยคิดเดินจากไปไหน

          ผมซึมซับบรรยากาศ "ปิกนิก" แบบครอบครัวอยู่ริมบึง นาน ๆ ทีก็เพลินดูเด็กน้อยเก็บข่ายดักปลาพร้อมพ่อ สักพักก็บ่ายหน้าสู่ถนนสายเดิม แดดเริ่มราแรงถนนคดโค้งและยกตัวจากที่ลุ่มขึ้นสู่ที่ดอน นาข้าวสองข้างทางเริ่มแปรเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพด และเมื่อเราไปถึงบ้านทุ่งก้านเหลือง ก็พบว่าผ้าทอและชีวิตการย้ายถิ่นมาปักหลักของคนบางกลุ่มนั้นแสนน่าทึ่ง ผูกพันเชื่อมโยงกันจากด้ายเส้นเล็ก ๆ

          "เรามาจากภูคัง ใกล้ ๆ เมืองหลวงพระบางโน่น" แม้ไม่เคยไปถึงถิ่นกำเนิดของบรรพบุรุษ แต่สมจิต ภาเรืองก็รู้ดีว่าสงครามและการอพยพนำพาคนรุ่นตารุ่นทวดของเธอมาไกลแสนไกล ฟังสมจิตพูดคุยกับ ป้าบาง พลเสน ด้วยภาษาของพวกเขา นาน ๆ ทีเมื่อเห็นว่าเราอยากรู้อะไร สองหญิงชราก็หันมาบอกด้วยภาษากลางที่ไม่ปนเหน่อแบบคนสุพรรณฯ "นามสกุลเก่าแก่ของคนที่นี่คือสาระคำ" เรียงผ้าผืนเสร็จแกก็ว่าต่อ "พูดไม่เหมือนกันนะ ลาวซี่กับลาวครั่ง ถึงแม้จะมาพร้อม ๆ กันก็คนละอย่าง"



          จากยุคกวาดต้อนเชลยศึก เทครัว ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เป็นร้อยกว่าปีแล้ว ที่ตามพื้นที่อย่างเพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท และสุพรรณบุรี มากมายไปด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์อันฝังราก ไปมาหาสู่กันบ้าง แต่การกลับไปเยี่ยมแผ่นดินเดิม ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากสำหรับชีวิตตามไร่นาอย่างทุกวันนี้

          ต่อหน้าผ้าทออันละเอียดลออ หญิงชาวลาวซี่-ลาวครั่ง แห่งบ้านทุ่งก้านเหลือง ไม่เพียงทำให้ผมเห็นในความงามที่เกิดจากจากแรงมือแต่กลับทำให้ชัดเจนว่า ในผืนนา แผ่นดิน หรือผ้าซิ่นสักผืนนั้น มากมายไปด้วยเรื่องราวชีวิ

          "ขาท้าวก่ายขานาง" คือลวดลายการทอที่น่าทึ่งปนอยู่ด้วยความรัก การใช้ชีวิต และศิลปะงดงาม "หลานดูดี ๆ ลายมันละเอียด" ป้าแกเล่าถึงที่มาของชื่อลาย แรงบันดาลใจจากลายสักขาของชายคนรัก ที่หญิงสาวใส่ใจสร้างขึ้นในผืนผ้า เมื่อเสร็จเป็นผืนจะได้นุ่งไว้แนบชิดลำตัว ดั่งได้เคียงข้างกันตลอดเวลา

          ผ้าผูกพันพวกเขาไว้อย่างน่าทึ่ง บางอย่างมิได้มีความหมายอย่างที่นักวิชาการผ้ายุคใหม่นิยมตีความอย่างเรื่องศูนย์กลางจักรวาลหรืออะไรก็ตามแต่ ทว่า ไม่น่าเชื่อที่การนิยามหรือชี้นำจากสมัยใหม่ก็มิได้สั่นคลอนความเชื่อในลวดลายเหล่านั้นให้ผันแปร

          "มีบ้างที่เราทอกันเป็นผลิตภัณฑ์ ให้เขาเอาไปทำอย่างอื่น ที่รองจาน กระเป๋าแต่ไปถามเถอะ ทุกบ้านมีความสุข
ตอนได้ทอผ้าไว้ใช้เองต่างหากมันไม่ต้องไปตามใคร ตามแต่ปู่ย่าเราก็พอ" บนเรือนชานบ้านลาวครั่งแบบโบราณ ยกพื้นสูงข้างในทึบทึมด้วยข้าวของหญิงชาวลาวครั่งคนหนึ่งพูดถึงเรื่องที่กินความหมายมากกว่าผ้าหนึ่งผืนเป็น ความหมายที่กินลึกเข้ามาถึงสิ่งที่เรียกว่าลมหายใจ




          หลุดจาก เดิมบางนางบวช ไปตามเรากลับมาใช้เส้นทางหลัก ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 341 เรียบนิ่งสะดวกสบาย สักเพียงครู่ก็เข้าสู่เมืองที่ราบลุ่มอย่าง ชัยนาท ที่ อำเภอสรรคบุรี แม่น้ำน้อยโอบขนานอยู่ปลายตา ริมฝั่งน้ำมากมายด้วยวัดวาเก่าแก่ ผู้คน และการฝังรากยาวนาน

          ยามเช้ากลางเมืองชัยนาทนั้นแสนเงียบงามแม่น้ำเจ้าพระยาเอื่อยไหลอยู่ด้านหน้า ย่านการค้าดำเนินไปอย่างเป็นตัวของตัวเอง สินค้าการเกษตรอันสมบูรณ์จากพื้นที่ "รอบนอก" ก่ายกองอยู่ในตลาดถนนชัยณรงค์เป็นศูนย์รวมของผู้คนในยามเช้า แม้หลายช่วงจะกลายเป็นตึกสมัยใหม่ไปหมดแล้ว แต่การเชื่อมโยงของ "นา" กับ "เมือง" ก็ยังคงเป็นไปตราบที่ความเป็นปัจจุบันจะอนุญาต

          "ตราบใดยังมีนา มีคนปลูกข้าว ผมก็อยู่สบาย" หลังจากนั่งเรือข้ามฟากไปมา เพื่อดูแม่น้ำและผู้คนเมื่อผ่านมา หน้าตึกเก่าคร่ำของ ลุงบำเพ็ญ แต้ศิวิลัย แกก็ชี้ชวนให้เรานั่งคุยกันหน้าร้านเพรียวพานิช ตึกปูนที่สร้างมาเป็นหลังแรกของชัยนาท หลังจากไฟไหม้ตลาดครั้งใหญ่ไปเมื่อ พ.ศ. 2512 ว่าตามตรง มันไม่ได้คลาสสิกอะไรนัก หากจะเทียบกับเรือนแถวไม้ หรือตึกทรงฝรั่งที่หลายคนมักชอบเดินดูตามเมืองเก่าต่าง ๆ แต่กับอุปกรณ์การเกษตรพวกปั๊มน้ำ เครื่องตัดหญ้า รถไถ และชีวิตที่เชื่อมผูกอยู่กับชาวนาชาวไร่พื้นที่รายรอบ ดูเหมือนเรื่องเล่าแต่ละเรื่องของแกมากมายด้วยคุณค่า เป็นคุณค่าที่หอมหวนพอ ๆ กันกับกลิ่นดิน กลิ่นข้าว กลิ่นแม่น้ำ อันแสนบริสุทธิ์ในยามเช้าทางหลวงหมายเลข 311 พาเราเลาะแม่น้ำเจ้าพระยา แม้จะมองไม่เห็นตลอดตลอดช่วง แต่คลองชลประทานและนาข้าวเขียวขจีถัดลับไปอีก สุดตาก็ทำให้เรารู้ว่า ทุ่งชัยนาทนั้นยังอารีเสมอกับคนที่หันหน้าลงหาผืนดิน



          สักพักเราก็ถึง เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนชลประทานแห่งแรกของประเทศไทย มวลน้ำแผ่กว้างโจนตัวผ่านประตูน้ำ ปริมาณน้ำจากภาคเหนือเมื่อลงสู่ภาคกลางผ่านผันมาที่นี่เป็นหลัก ไม่เพียงเอื้อผลต่อการยังชีพของที่ราบที่ต่ำลงไป แต่เขื่อนที่มีประตูน้ำถึง 16 ช่อง แห่งนี้ยังใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าหล่อเลี้ยงคนในพื้นที่มายาวนาน

          เหนือสันเขื่อนคือโลกของการพักผ่อน ร้านขายอาหารเรียงราย นักท่องเที่ยวท้องถิ่นมาเยี่ยมเยือน "ภาพทางตา" ของเขื่อนเจ้าพระยากันแต่ต้นสาย แผงขายผลผลิตจากแม่น้ำอย่างปลาสด ปลาแห้ง ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับเมืองแม่น้ำอย่างชัยนาท



          "ว่าก็ว่าเถอะ เดี่ยวนี้ซบไปกว่าแต่ก่อนเยอะ" ลุงชราตัดพ้อ ขณะที่หลายคนมาดูปลากด ปลาแขยงปลาดุกตากแห้ง แล้วก็จากไปพร้อมกับปริมาณปลาบนแผงที่ลดลงไปไม่มาก ผมเองช่วยอะไรลุงไม่ได้นัก นอกจากยิ้มรับกับคำพ้อ และส่งสายตาคล้าย ๆ จะให้กำลังใจ

          "7 วันมอดก็ขึ้นแล้ว คนมาเดินน้อย เหลือก็ต้องทิ้ง ลดราคาแล้วยังขายไม่ได้" แกหมายความอย่างนั้นจริงๆ ทิ้งนั้นไม่เพียงทิ้งปลา หากคือทิ้งซึ่งปากท้องไปอีกวันหนึ่ง ๆ "วันหนึ่งไม่ไหวก็ต้องเลิก แต่ให้เลิกจับปลานี่ยากคนต้องกิน อย่างน้อยลูกหลานก็ต้องกิน" หากสิ่งที่ลุงพูดตอนท้าย ๆ ก่อนผมจะจากมาเป็นจริง เรื่องอย่างนี้ก็มิได้มีแต่ในนิยายโรแมนติก เมื่อกลับสู่ท้องที่ผืนนาอีกครั้ง ลมเย็นชื่น ทว่าเมื่อเข้าไปอยู่ใน "พื้นที่" เช่นเดียวกับพวกเขา เหล่านี้ล้วนไม่แตกต่างกัน

          กลางความงามพลิ้วของทิวข้าว ลมทุ่งและดงตาล ก็ซ่อนอยู่ด้วยปัญหาที่หากไม่ลงมาเดินด้วยกันกับพวกเขาก็อาจมองไม่เห็น คืนวันแปลกแยกขึ้นตามการเปลี่ยนผ่าน บางคราวชะตากรรมก็มากมายไปด้วยถ้อยคำแปลกแยกที่ผลักให้หลายคน ต้องกลายเป็นคนนอก หากแต่เพียงผู้คนยังคงแข็งแรงพอ ๆ กับทางสายเก่าบนแผ่นดินที่ทนทาน อาจไม่แปลกที่เรายังคงก้าวเดินต่อไป และมันยิ่งย้ำชัดว่าเรามาไกลกันเท่าไหร่แล้ว



การเดินทาง

          จากทางหลวงหมายเลข 341 มุ่งหน้าอำเภอศรีประจันต์ แยกมาใช้เส้นทางสายเก่า โดยแยกซ้ายที่บ้านโพธิ์พระยา เลาะไปตามทุ่งนา ได้อารมณ์คนเที่ยวทุ่ง ถึงตลาดบ้านกร่างเที่ยวตลาดเก่าที่ไม่ได้ปรุงแต่ง จากนั้นใช้เส้นทางสายเดิมต่อ มุ่งหน้าอำเภอเดิมบางนางบวช แวะเที่ยวบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติแวะไปเที่ยวบ้านทุ่งก้านเหลือง ชมงานผ้าทอของชาวลาวซี่-ลาวครั่ง กลับสู่เส้นทางหลัก มุ่งสู่ชัยนาท เที่ยววัดวาอารามในเขตอำเภอสรรคบุรี หากอยากแวะพักเมืองชัยนาท มีที่พักแสนสบาย บรรยากาศริมน้ำให้เลือกนอน




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สุพรรณฯ-ชัยนาท ถนนสายเก่า เรื่องเล่าริมทุ่ง อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15:31:30 4,750 อ่าน
TOP