x close

เที่ยวท่องสองฝั่งโขง อุบลฯ-ปากเซ






เที่ยวท่องสองฝั่งโขง อุบลฯ-ปากเซ (คมชัดลึก)


เรื่อง : วันวิสา โรจน์แสงรัตน์
ภาพ : กิตตินันท์ รอดสุพรรณ

          ก้าวเข้าสู่ฤดูหนาวทีไร บรรดานักเที่ยวเป็นต้องหอบหิ้วกระเป๋าพร้อมอุปกรณ์เครื่องกันหนาวครบครัน มุ่งสูดไอเย็นแถบจังหวัดในภาคเหนือ พอถึงหน้าร้อน แน่ล่ะว่าน้ำทะเลใส หาดทรายสวย ย่อมเป็นจุดหมายปลายทางของเหล่านักเที่ยวอย่างแน่นอน ส่วนช่วงหน้าฝนนี้ใครที่ยังไม่รู้จะไปเที่ยวที่ไหนดี น่าจะลองหันมาพิจารณา "จังหวัดอุบลราชธานี"อีสานบ้านเฮากันดูบ้าง...

          อย่างที่ "อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ" ตั้งอยู่ในเขตอำเภอโขงเจียม และอำเภอสิรินธร มีพื้นที่กว่า 50,000ไร่ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์เจ้าถิ่น ชาญณรงค์ ปกป้อง เล่าว่า คำว่า "ตะนะ" จากการเล่าขานตามความเชื่อของชาวบ้านว่าเดิมชื่อ "มรณะ" เนื่องจากบริเวณแก่งนี้ มีกระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก และมีโขดหินใหญ่น้อยระเกะระกะอยู่ทั่วไป ตลอดจนมีถ้ำใต้น้ำอยู่หลายแห่ง ชาวบ้านที่สัญจรทางน้ำหรือออกจับปลาแถวๆ นี้มักประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตอยู่เนืองๆ จนพากันขานนามว่า "แก่งมรณะ" ซึ่งต่อมาก็เพี้ยนเป็น "แก่งตะนะ"

          นอกจากนี้ภายในบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ ยังมีสถานที่น่าสนใจอีกหลายจุดด้วยกัน อาทิ ถ้ำพระ, น้ำตกรากไทร, ผารัง, และสะพานแขวนคนเดินข้ามที่ยาวที่สุดในประเทศไทย เป็นต้น

          ชื่นชมธรรมชาติกันอย่างเพลิดเพลินถึงจะยังไม่เต็มอิ่มนัก แต่ด้วยเวลาที่จำกัดเราจำต้องเคลื่อนขบวนต่อไปยังน้ำตกแสงจันทร์ หรือน้ำตกรู อีกหนึ่งมหัศจรรย์จากการสร้างสรรค์ของธรรมชาติ ที่มีลักษณะพิเศษคือสายน้ำจะตกผ่านเพดานหินสู่เบื้องล่าง มองดูคล้ายแสงของพระจันทร์ บริเวณโดยรอบมีโขดหินเรียงรายและปกคลุมไปด้วยต้นไม้นานาพรรณ





          ในระยะทางไม่ห่างกันนักที่อำเภอโพธิ์ไทย มีแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ซึ่งกำลังเป็นจุดดึงดูดความสนใจจากนักท่องธรรมชาติ "สามพันโบก" ดินแดนแห่งความมหัศจรรย์ริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งถูกเปรียบให้เป็นแกรนด์แคนยอนเมืองไทย ว่ากันว่าธรรมชาติสร้างสรรค์จากเม็ดทรายที่ถูกกระแสน้ำไหลวนกัดเซาะขัดหินจนกลายเป็นหลุมเป็นโพรง และที่สามพันโบกนี่เองก็ยังมีสระมรกต ซึ่งเป็นโบกขนาดใหญ่บนเนินผาหินมีน้ำขังตลอดทั้งปีตระหง่านอยู่บนจุดสูงสุดด้วย

          หากยังพอมีเวลาเหลือไม่น่าจะพลาดโอกาสข้ามไปเที่ยวบ้านพี่เมืองน้องอย่างประเทศ "สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว" กันบ้าง เพราะช่วงหน้าฝนเช่นนี้ "น้ำตก" นับเป็นไฮไลท์พิเศษของลาวใต้ก็ว่าได้ โดยเฉพาะ "น้ำตกหลี่ผี" ซึ่งไกด์สาวชาวลาว กิ่งมาลา โลหิดบับพา เล่าให้ฟังถึงที่มาของชื่อชวนขนหัวลุกว่า "หลี่" เป็นภาษาถิ่นหมายถึงเครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายลอบ ส่วนคำว่า "ผี" ก็คือ "ศพหรือคนตาย" เนื่องจากเมื่อครั้งสมัยสงครามอินโดนจีน ศพทหารจะลอยมาติดอยู่ที่บริเวณนี้เป็นจำนวนมาก แค่ฟังจากคำบอกเล่าก็ได้แต่สงสัยว่าทำไมน้ำตกนี้ช่างน่ากลัวซะเหลือเกิน จวบจนได้เห็นกับตากับตัวความใคร่อยากรู้จึงเริ่มคลีคลายลง เพราะแค่ได้ยินเสียงน้ำกระแทกหินดังสนั่นหวั่นไหวแล้ว และยิ่งเมื่อสายตาปะทะกับสายน้ำที่พุ่งถาโถมเข้ามาราวกับพายุหมุนด้วยแล้ว เชื่อเลยว่าหากผลัดตกลงไป คงได้กลายเป็น "ผี" ที่นี่แน่ๆ





          แล้วไกด์สาวคนเดิมพาเรามุ่งไปสัมผัสความยิ่งใหญ่แบบสุดๆ ของ "น้ำตกคอนพะเพ็ง" ในเขตแม่น้ำโขงตอนใต้ก่อนจะไหลลงสู่ประเทศกัมพูชา ด้วยความสูงประมาณ 10 เมตร แม้ชั้นของหินจะไม่สูงมากแต่กระแสน้ำที่โถมกระหน่ำลงมานั่นแหละทั้งดุดันและเกรี้ยวกราดยิ่งนัก เรียกว่าสร้างความตื่นตาตื่นใจแก่นักท่องเที่ยวจนได้รับการขนานนามว่าเป็น "ไนแองการาแห่งเอเชีย" ไปเรียบร้อยแล้ว





          แอ่วเมืองลาวทั้งที สิ่งที่ไม่ควรพลาดคือ การเที่ยวชมศิลปวัฒนธรรม และอีกหนึ่งไฮไลท์ของลาวใต้คงหนีไม่พ้น "ปราสาทวัดพู" ศาสนสถานเก่าแก่ที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโก้ ให้เป็นมรดกโลกแห่งที่ 2 ของประเทศลาว เมื่อปี พ.ศ.2545 จากลักษณะของปราสาทเป็นเทวสถานขอมคล้ายๆ กับ "เขาพระวิหาร" (มรดกเลือดเอ๊ยมรดกโลกที่กำลังสร้างความปวดใจให้ไทย-เขมรอยู่ในขณะนี้นั่นแหละ) สร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 5-12 ในอดีตที่ตั้งของ "วัดพู" เคยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของแหล่งอารยธรรมโบราณถึง 3 สมัย ด้วยกัน คือ อาณาจักรเจนละ, อาณาจักรขอม และอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งได้เปลี่ยนเทวาลัยในศาสนาฮินดู ให้เป็นวัดในพุทธศาสนานิการเถรวาท แต่จากหลักฐานบริเวณโดยรอบปราสาทยังมีแท่นบูชายัญ บันไดนาค ภาพสลักตรีมูรติ เชื่อกันว่าเป็นหลักฐานชิ้นสุดท้ายสมัยขอมเรืองอำนาจให้ได้ชมด้วย ปัจจุบันที่นี่ยังจัดให้มีงานมนัสการวัดพู เป็นประจำทุกปีในวัน 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งจะตรงกับงานนมัสการพระธาตุพนมของบ้านเราพอดี

           "ไทย-ลาว" มิใช่อื่นไกล พี่ไปเที่ยวบ้านน้อง น้องมาแอ่วเมืองพี่...เช่นนี้แล้วไซร้ท่องเที่ยวไทยครึกครื้นเศรษฐกิจไทยคึกคักชัวร์




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เที่ยวท่องสองฝั่งโขง อุบลฯ-ปากเซ อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13:17:10 2,108 อ่าน
TOP