x close

งานประเพณีขึ้นธาตุเดือน 9 พระธาตุบ้านตาก

ประเพณีขึ้นธาตุเดือน 9


สรุปข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก kbeautifullife.com

          พิธีบวงสรวงเจดีย์ยุทธหัตถี การทรงเจ้า ขบวนอัญเชิญผ้าพระธาตุ และกิจกรรมทางศาสนา กำหนดการจัดงานวันที่ 25 - 26 มิถุนายน 2553 บริเวณวัดพระบรมธาตุ อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก

          โดย งานบุญขึ้นธาตุเดือนเก้า เป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันสืบมาจากอดีตสู่ปัจจุบันของชาวบ้านอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก จัดขึ้นเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สถานที่จัดพิธี คือ วัดพระบรมธาตุ วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง ที่นี้มีหลักฐานสำคัญ คือ เจดีย์ยุทธหัตถีอนุสรณ์สถานการศึกระหว่างพ่อขุนรามคำแหงกับขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด     

          สำหรับวิถีชีวิตของชาวบ้านตากนี้ จะมีวัฒนธรรมค่อนไปทางล้านนา และวิถีชีวิตส่วนใหญ่ยังผูกพันอยู่กับความเชื่อในไสยศาสตร์และภูตผี ซึ่งในปัจจุบันยังพบการทรงเจ้าเข้าผีอยู่เป็นอันมากและส่วนใหญ่จะรับร่างทรงของเทพ เจ้าพ่อ และวิญญาณต่าง ๆ ทั้งทำเป็นอาชีพและงานอดิเรก บุคคลทีเป็นร่างทรงเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนที่นี่ ทำหน้าที่เป็นผู้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ ขจัดปัดเป่าทุกข์ร้อนทั้งปวงในที่ต่าง ๆ และเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในงานบุญขึ้นพระธาตุเดือนเก้าของชาวบ้านตากอีกด้วย         

          ร่างทรงต่าง ๆ ไม่แตะต้องเงินที่มีผู้นำไปบริจาคด้วยความศรัทธา แต่จะเป็นผู้เก็บรวบรวมไว้สำหรับทอดผ้าป่าสามัคคีในงานบุญขึ้นพระธาตุเดือน เก้า เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้เทพเจ้าหรือเจ้าของวิญญาณที่ตนรับเป็นร่างทาง ด้วยความเชื่อว่าจะเสริมสร้างบารมีให้ตนได้ไปสู่ภพภูมิที่สูงขึ้นต่อไป ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงพากันนับถือร่างทรงต่าง ๆ อย่างเหนียวแน่น เพราะฉะนั้น การทำบุญขึ้นพระธาตุจึงเป็นการรวมเอาความเชื่อของท้องถิ่น ร่วมกันกับการบูชาคุณพระศาสดา

ประเพณีขึ้นธาตุเดือน 9


กิจกรรม/พิธี

          ก่อนถึงวันขึ้น 14 ค่ำของเดือน 9 ชาวบ้านกลุ่มศรัทธาวัดในอำเภอบ้านตาก และอำเภอใกล้เคียง จะเริ่มการเตรียมงานด้วยการจัดทำ "บะไฟ" หรือบั้งไฟ โดยเตรียมตัดไม้ไผ่ลำยาวโต เผาถ่านผสมกับดินปะสิว นำมาตอกอัดลงในท่อสังกะสีหรือท่อเหล็ก ตามที่ทางวัดกำหนดความยาวให้ตอกอัดให้แน่นตกแต่งเป็นรูปต่าง ๆ ให้สวยงาม เพื่อนำไปจุดแข่งขันในวันงาน ขณะเดียวกันในระหว่างนี้ พวกร่างทรงของเทพและวิญญาณต่าง ๆ รวมทั้งชาวบ้านที่นับถือก็จะเตรียมองค์ผ้าป่า เงินทอง ดอกไม้ธูปเทียน เครื่องบริขารไทยธรรมต่าง ๆ โดยจัดเป็นผ้าป่าสามัคคีเป็นกลุ่มตามเทพตามผีที่ตนนับถือ        
 
          พอถึงวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านกลุ่มศรัทธาเทพนับถือผีจะช่วยกันตกแต่งต้นเงินผ้าป่าและปัจจัยไทยธรรมบริขาร เครื่องผ้าป่าที่มีผู้ศรัทธาบริจาค ด้วยกระดาษสี และตุงไชย (ธงชัย) หลากสีสันแห่กันไปเป็นหมู่คณะเป็นกลุ่มเป็นขบวนตามเจ้าใครผีใคร กลุ่มใครกลุ่มมัน ส่วนชาวบ้านกลุ่มศรัทธาวัดประจำหมู่บ้านต่าง ๆ ก็จะตกแต่งต้นเงินผ้าป่าเช่นเดียวกันกับกลุ่มศรัทธาผีต่าง ๆ แต่ว่ากลุ่มนี้จะมีขบวนบั้งไฟที่จัดทำไว้ล่วงหน้าประกอบด้วย ตกแต่งบั้งไฟด้วยกระดาษสีสดใส ประดับดอกไม้สวยงาม มีฆ้อง กลอง ฉิ่ง ฉาบ ประโคมแห่กันอึกทึกครึกโครมไปตลอดทาง         

          ขบวนของชาวบ้านทั้งสองกลุ่มหลายสิบขบวน จะแห่แหนไปยังวัดพระบรมธาตุ และไปไหว้ศาลหลักเมือง และองค์พระเจดีย์ยุทธหัตถี แล้วไปกราบร่างทรงของเจ้าพ่อขุนทะเล และเจ้าพ่อดงดำ เทพอันลือชื่อ ที่หอผีหน้าวัดพระบรมธาตุด้านทิศตะวันตก ซึ่งมีศาลาวางต้นเงินผ้าป่า และเครื่องบริขาร ธนบัตรหลากหลายราคา ตุงไชยโบกสะบัด และดอกกระดาษบานสะพรั่ง พราวพรืดไปเต็มศาลา เมื่อขบวนต่าง ๆ แห่แหนมาพร้อมกันถึงลานปูน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานวัวปูนปั้น อันเป็นพาหนะของเจ้าพ่อขุนทะเลแล้ว ผู้รู้ผู้เป็นเจ้าพิธีก็กราบไหว้ผีเจ้าที่เจ้าทาง แล้วทำพิธี "ขึ้นท้าวทั้งสี่" คือ บูชาอัญเชิญท้าวจตุโลกบาลเทพผู้ดูแลรักษาโลกทั้งสี่ทิศสี่องค์มารับเครื่องสังเวย บอกกล่าวขอความคุ้มครองและขออนุญาตจัดงาน 
       
          ต่อจากนั้นก็เป็นพิธีทรงเจ้าเข้าผี ร่างทรงต่าง ๆ ซึ่งเทพประทับทรงแล้วอย่างที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า "เทพตือมา" จำนวนประมาณ 20-30 คน ทั้งหญิงชายแต่งกายต่าง ๆ กันตามที่เทพหรือผีที่ประทับทรงมานั้น โปรดปราน จะพากันมาพบปะเฮฮา กันบริเวณหอผี บ้างก็ฟ้อนรำบวงสรวง บ้างรำไทย บ้างก็รำดาบ หรือบ้างก็ร่ายมวย และบ้างก็ขึ้นไปฟ้อนรำอยู่บนหลังวัวเจ้าพ่อขุนทะเล องค์ไหนชอบสุราก็สังเวยด้วยสุรา ส่งภาษาเทพสนทนากันอย่างสนุกสนาน ในวันอันเป็นมงคลนี้ถือเสมือนว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่แห่งเทพทั้งปวงด้วย         

          พอตกบ่ายได้เวลาอันสมควรขบวนทั้งหมดก็จะชักชวนกันนำต้นเงินผ้าป่าและบั้งไฟ ไปแห่เวียนทักษิณาวัตรรอบองค์พระธาตุ แล้วนำไปถวายพระสงฆ์ขออนุโมทนา แผ่ส่วนบุญกุศลอุทิศให้เทพเบื้องบนและมีชีวิตอยู่รอดปลอดภัยสืบต่อไป พอถึงเวลากลางคืนมีมหรสพต่าง ๆ เช่น ลิเก ภาพยนตร์ สมโภชงาน ชาวบ้านส่วนใหญ่ทั้งที่มาใกล้ มาไกล นิยมนอนค้างที่วัด เช้านั้นจะได้สามารถทำบุญตักบาตรต่อไปได้เลย         

          วันรุ่งขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 เวลาประมาณ 08.00 น. ก็มาถึงกำหนดการสำคัญ อันเป็นจุดมุ่งหมายของงานนี้นั่นคือ ขึ้นพระธาตุเดือนเก้า ด้วยการแข่งขันจุดบั้งไฟ เสมือนหนึ่งจะให้บั้งไฟพุ่งขึ้นไปเสียดฟ้านั้น นำเอาศรัทธาทั้งทวลของพวกเขาขึ้นไปบูชาพระบรมสารีริกธาตุแห่งองค์พระผู้มี พระภาคเจ้าและปวงเทพยดาบนสรวงสวรรค์ ท่ามกลางกองเชียร์ และการเชียร์อย่างสนั่นหวั่นไหวของกลุ่มศรัทธาวัดต่าง ๆ หลังจากนั้นทุกคนก็จะแยกย้ายกันกลับบ้านของตน

          ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ ที่ว่าการอำเภอบ้านตาก โทรศัพท์ 0 5559 1024, 0 5559 1251 องค์การบริหารส่วนเกาะตะเภา โทรศัพท์ 0 5550 00762 และ ททท. สำนักงานตาก โทรศัพท์ 0 5551 4341-3 Website : www.tourismthailand.org E-mail : tattak@tat.or.th




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
และ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก     


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
งานประเพณีขึ้นธาตุเดือน 9 พระธาตุบ้านตาก อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14:57:19 1,396 อ่าน
TOP