x close

ทอดน่องท่องเมืองเก่า...ภูเก็ต

ภูเก็ต

ภูเก็ต


ทอดน่องท่องเมืองเก่าภูเก็ต (กรุงเทพธุรกิจ)

โดย : ศรัณย์ บุญประเสริฐ

          โครงการ "บินไป บินกลับ ขับรถเที่ยว" หลายคนคงเคยได้ยินมาบ้าง เขาจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการภาคเอกชน

          ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลายราย เป็นโครงการที่ชวนคนไทยให้ไปท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซัน เที่ยวเมืองไทยทั้งที อย่าให้เงินทองต้องกระเด็นออกนอกประเทศจะดีกว่า ว่าไหม? ผมเลือกไปภาคใต้ จุดหมายอยู่ที่เกาะภูเก็ตครับ

          ที่จริงแล้ว ภูเก็ตไม่ใช่มีแต่ทะเลสักหน่อย ป่าก็มี น้ำตกก็มี แถมในเขตตัวเมืองที่เป็นชุมชนแรกเริ่มของเกาะนี้ก็มีเรื่องราวหลายแหล่ที่น่าสนใจ อย่างในบริเวณย่านกลางเมืองภูเก็ตนั้น มีถนนอยู่ 3 - 4 เส้น ที่สองข้างเป็นตึกแถวโบราณและบ้านเก่ามากมาย อายุไม่หนี 80 ปี หลายหลังเก่ากว่าร้อยปีด้วยซ้ำ ความงามของเมืองเก่าภูเก็ตบ้านเรา ไม่แพ้ปีนังหรือเมืองมะละกาของมาเลเซีย วันนี้มะละกาเป็นเมืองมรดกโลกไปแล้ว ส่วนภูเก็ตของเราปวดเศียรเวียนเกล้ากับสายไฟที่พะรุงพะรังไปทั่วทุกถนนในย่านเมืองเก่า แต่มาวันนี้โครงการเดินสายไฟใต้ดินได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยเริ่มที่ถนนถลางก่อนเป็นที่แรก หากสำเร็จได้ภูเก็ตของเราต้องน่าดูขึ้นอีกเป็นกอง ลองคิดดูเล่น ๆ หาดทรายชายทะเลก็สวยสุด ๆ เมืองเก่าคลาสสิคน่าเดินเล่น แถมประวัติศาสตร์เก่าแก่น่าสนใจก็มี ภูเก็ต สู้เมืองไหนก็ได้ สบายมาก


ภูเก็ต


          หากมีโอกาสอยากให้ไป พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว ที่นี่เดิมทีเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนแห่งแรกในจังหวัดภูเก็ต ชาวจีนฮกเกี้ยนบรรพบุรุษชาวรุ่นแรกที่อพยพมาอยู่ภูเก็ตได้ร่วมกันก่อตั้งขึ้น ตัวอาคารแบบชิโนโปรตุกีสที่เห็นในปัจจุบันนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2477 บนหน้าจั่วมีปูนปั้นรูปค้างคาว ซึ่งตามความเชื่อของชาวจีนถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของโชคดีอันยิ่งใหญ่

          เข้าไปดูข้างในเป็นห้องนิทรรศการแสดงความเป็นมาของชาวจีนที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ภูเก็ต เรื่องราวของบุคคลผู้มีส่วนในการบุกเบิกภูเก็ต เรื่องของชุดแต่งกายประจำถิ่น อาหารพื้นเมือง เทศกาลงานประเพณี สถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส และภาพถ่ายเก่าแก่ที่แสดงความเป็นมาของภูเก็ตตั้งแต่ยุคเหมืองแร่ การทำสวนยางพารา จนมาถึงการท่องเที่ยวในปัจจุบัน หากอยากรู้จัก อยากเข้าใจภูเก็ต ผมขอให้เข้ามาชมที่นี่ก่อน แล้วจะรู้ว่าภูเก็ตไม่ได้เติบโตขึ้นมาจากหาดทรายหรือสายลม

          ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัวยังไม่เก็บค่าเข้าชม นัยว่าจะรอให้ห้องจัดแสดงในชั้นที่สองเรียบร้อยเสียก่อน ทุกวันนี้ใครไปชมก็ช่วยกันบริจาคหยอดสตางค์ใส่กล่องด้านหน้าอาคารบ้างก็ดีครับ


ภูเก็ต


          จากตัวเมืองต่อไปที่อำเภอกะทู้ แนะนำให้ไปดูพิพิธภัณฑ์ใหม่ของเมืองภูเก็ต นั่นคือ
พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ โครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เทศบาลตำบลกะทู้ เป็นคนริเริ่ม

          ทางไปพิพิธภัณฑ์นั้นหายากพอสมควรหากไม่ได้เป็นคนพื้นที่ คงต้องถามทางชาวบ้านเขาพอสมควร รูปทรงอาคารภายนอกของพิพิธภัณฑ์ ออกแบบเป็นอาคารสไตล์ชิโน-โปรตุกีส  มีลานกว้างอยู่ตรงกลางที่เรียกว่า "จิ่มแจ้" ตกแต่งลายปูนปั้น ซุ้มโค้งเเบน สะท้อนความงามผสมผสานระหว่างจีนกับตะวันตก ชาวภูเก็ต เรียกอาคารแบบนี้ว่า "อั้งม้อหลาวนายหัวเหมือง"

          ภูเก็ตเป็นเมืองที่เติบโตมาจากการทำเหมืองแร่ดีบุก ซึ่งทำกันมากว่า 500 ปี จึงทำให้ชาวยุโรปทั้งโปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศสและอังกฤษ กับชาวจีนฮกเกี้ยน ทั้งที่ผ่านมาจากสิงคโปร์และปีนัง หรือมาจากมณฑลฮกเกี้ยนโดยตรง ต่างหลั่งไหลเข้ามาทำเหมือง แสวงโชคกับทรัพย์ในดินและตั้งหลักแหล่งในเกาะแห่งนี้ จนทำให้เกิดวัฒนธรรมผสมผสานไทย ยุโรปและจีน กลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ที่ไม่เหมือนที่ไหนในเมืองไทย แม้แต่ในภาคใต้ด้วยกันเอง


ภูเก็ต


          มาเที่ยวที่นี่หากโชคดีอาจได้เจอกับอาจารย์ สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ หัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ในการจัดทำเนื้อหาและนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์นี้ ท่านเป็นผู้ออกแบบวางแนวคิดการจัดแสดงให้ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ที่สามารถเรียนรู้ สัมผัส จับต้อง และลงมือปฏิบัติด้วยตนเองได้ในบางจุด

          อาจารย์นำชมนิทรรศการภายในอาคารที่ใช้ชื่อว่า "เปิดลับแลม่านฟ้าเกาะพญามังกรทอง" ซึ่งมีห้องแสดงต่อกันไปโดยต้องดูตามลำดับ จะเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้น ตั้งแต่ โปท้องหง่อก่ากี่, ชินวิถี อัญมณีนายหัวเหมือง, เรืองดารากร ว่าด้วยกำเนิดโลก กำเนิดชีวิต กำเนิดคน คนแสวงแร่, สายแร่แห่งชีวิต อธิบายการทำเหมืองประเภทต่างๆ ทั้งเหมืองแล่น เหมืองครา เหมืองปล่อง เหมืองรู เหมืองอุโมงค์ เหมืองหาบ เหมืองสูบ เหมืองฉีด เหมืองเรือขุด, นิรมิตเล่นแร่แปรธาตุ, ฉลาดนาวาชีวิต, ลิขิตปรัชญ์สืบสาน, บันซ้านบางเหนียว, เก่วเกี้ยวในทู, บาบ๋าสินสมรส ,ฉายาบทนฤมิต, ภาพกิจปฐมเหตุ และวรรณวิเศษปัญญภูมิ

          ถ้าเดินชมเองที่นี่ใช้เวลาสัก 20 นาทีก็หมด แต่ถ้าเดินตามอาจารย์สมหมาย ใช้เวลาไปชั่วโมงกว่า ๆ แถมยังรวบรัดเสียด้วย อาจารย์สมหมาย เกิดที่สงขลา แต่มาเล่าเรียนศึกษาและเติบโตที่ภูเก็ต จนได้ทำงานเป็นครูบาอาจารย์ ตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ในมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ความรักในภูเก็ตของท่านพิสูจน์ได้จากการทำพิพิธภัณฑ์นี่แหละครับ


ภูเก็ต


          บอกไว้เลยว่าอาจารย์มาที่พิพิธภัณฑ์เกือบทุกวัน ยกเว้นวันที่มีนัดที่อื่น แต่ถ้าใครมาแล้วไม่เจออาจารย์ถือว่าโชคร้ายสุด ๆ และการชมพิพิธภัณฑ์จะขาดอรรถรสไปพอสมควร เพราะอาจารย์เล่าเรื่องได้อย่างสนุก เล่าบางอย่างที่สูญหายไปแล้วให้กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ และดูเหมือนไม่เคยเหนื่อยหน่ายหมดแรงในการเล่าเรื่องราวของที่นี่เลย ไม่ว่าคุณจะเป็นใครใหญ่โตมาจากไหน หรือคนธรรมดาสามัญ อาจารย์จะให้ข้อมูลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน คือให้กันหมดสุด ๆ หมดไส้หมดพุงก็ว่าได้

          บินไป บินกลับ ขับรถยังไม่ทันรอบเกาะ พื้นที่หมดเสียแล้ว เอาเป็นว่า ภูเก็ตไม่ได้มีแต่ทะเลแล้วกัน สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ Fly & Drive Call Center โทรศัพท์ 0-2250-4580-83 และ 0 -2250-4530  หรือที่ ททท.เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย โทร. 1672



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทอดน่องท่องเมืองเก่า...ภูเก็ต อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15:28:14
TOP