ดิ่งดุ่มสู่หลุมยุบลึกล้ำ น้ำบ่อผี (อ.ส.ท.)
ปิยะฤทัย ปิโยพีระพงศ์...เรื่อง
อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธรา...ภาพ
เสียงกุกกักกึงกังคล้ายใครสักคนกำลังเอาชีวิตรอด โดยพยายามกระเสือกกระสนถีบยันตัวเองออกจากห้วงแห่งความเจ็บปวดทรมาน แหวกผ่านความสงสัยของราตรีกาลอันเงียบงันออกมาอย่างกึกก้อง กึก กึก แล้วเงียบสงบเพียงชั่วครู่ เสียงเดิมก็ดังอีกหน เหตุการณ์ในดึกดื่นค่ำคืนนั้นนั่นเอง ที่ตอกย้ำเรื่องราวเล่าขานถึงอาถรรพ์ของหลุมลึกลี้ลับในเขตบ้านลุกข้าวหลาม ให้น่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่าเดิม ดูเหมือนเสียงสะพัดร่ำลือว่า "น้ำบ่อผี" ไม่ใช่ที่ทางของมนุษย์ ได้กลายเป็นคำหนักแน่นและจริงจังไปแล้วในยามนั้น
จอห์น สปีส์ (John Spies) นักผจญภัยรุ่นเดอะชาวออสเตรเลีย ผู้เป็นตำนานของการสำรวจถ้ำในแถบถิ่นอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ย้อนเรื่องราวของค่ำคืนที่ผ่านมาเนิ่นนานถึง 25 ปี ด้วยภาษาไทยสำเนียงชาวเหนืออย่างไม่ติดขัด "พอเปิดประตูห้องนอนเข้าไป ผมเห็นเพื่อนกำลังกระตุกขาถีบผนังห้องดังกึก ๆ" จอห์นเล่าต่อว่า หลังจากค่ำคืนนั้น เพื่อนนักสำรวจถ้ำซึ่งเพิ่งไปโรยตัวลงบ่อน้ำผีด้วยกันเมื่อตอนกลางวัน ก็กลายเป็นอัมพาตครึ่งตัวเพียงชั่วข้ามคืน
"ชาวบ้านลือกันว่ามีคนลงไปแล้วถูก "ผีกัด" แต่จริง ๆ แล้ว บ่ใจ้หรอก เปิ้นเสียน้ำมากตะหลาก ตอนนั้นเฮาไปโรยตัวกันเดือนเมษาฯ อากาศร้อนขนาด ก็เลยเสียเหงื่อกันมากตอนไต่เชือกขึ้น บ่ค่อยกินน้ำด้วยละ แล้วพอกลับมาถึงที่นี่ เปิ้นก็กินเบียร์เข้าไป" จอห์น ยิ้มเมื่อเล่ามาถึงตอนนี้
"ร่างกายยิ่งขาดน้ำเข้าไปใหญ่ นั่นละ ทำให้เป็นอัมพาตอยู่ปีนึง ชาวบ้านบางคนนึกว่าเปิ้นต๋าย ผมต้องบอกว่า ต๋ายแค่ครึ่งตัวเน้อ" และเพราะการรักษาสภาพร่างกายไม่ให้ขาดน้ำเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการโรยตัวระยะทางยาวไกล
เช้าวันนี้ก่อนออกเดินทางจาก Cave Lodge เกสต์เฮาส์สบายริมน้ำลาง ซึ่งเป็นของจอห์นและภรรยาชาวไทยใหญ่ ฉันจึงไม่ลืมเติมน้ำลงในถุงที่เขาเรียกว่า Camel Bag แล้วสอดมันลงไปในช่องด้านหลังเป้ในกะทัดรัด นอกจากนั้น ในช่องด้านข้างยังมีขวดน้ำใบย่อมสำรองไว้อีกต่างหาก นั่นคือ สัมภาระที่ฉันสะพายไว้ด้านหน้า แล้วด้านหลังคือเป้ใบใหญ่กว่า ซึ่งด้านในมีเสื้อผ้าไม่กี่ชุด ถุงนอน เปล และข้าวของจำเป็นสำหรับเวลา 3 วัน 2 คืน ที่จะไปพักแรมในบริเวณหลุมยุบขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถลงไปเยือนได้
เรามักเรียกน้ำบ่อผีว่า "ถ้ำ" ทว่าแท้จริงแล้ว มันคือ หลุมยุบ (Sinkhole หรือ Doline) เหตุที่ถูกเรียกว่า "ถ้ำ" นั้น เป็นเพราะด้านล่างมีโถงสูงใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตก ซึ่งมองเห็นได้ชัดเจนจากจุดชมวิว ในบริเวณปากหลุมยุบไม่ไกลจากจุดพักแรม
ถ้าจะพูดกันเฉพาะด้านเป็นหลุมยุบ ความยิ่งใหญ่ของน้ำบ่อผีดูได้จากขนาดที่เทียบเท่ากับสนามฟุตบอล 2 สนาม ทว่าสิ่งที่ชวนตื่นตาตะลึงใจยิ่งกว่า คือ ความลึก ซึ่งจุดที่ลึกที่สุดวัดจากขอบปากหลุมไปยังพื้นดินได้ถึง 140 เมตร! ณ จุดนั้นเองที่เราจะฝากชีวิตไว้กับเส้นเชือกเพื่อโรยตัวลงสู่ห้วงลึกเร้น ซึ่งไม่มีทางเข้าออกใด ๆ จากเบื้องล่าง การเข้าไปและออกมาทำได้เพียงวิธีเดียว คือ อาศัยเชือกเส้นยาวเหยียด และอุปกรณ์เฉพาะสำหรับการโรยตัวและไต่กลับขึ้นมาเท่านั้น
"ไม่ครับ" หนุ่มชาวมูเซอดำ ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาลูกหาบของเราส่ายหน้าทันที เมื่อฉันถามว่าอยากโรยตัวลงไปกับพวกเราไหม คำตอบเพิ่มเติมที่มาพร้อมกับรอยยิ้มซื่อ ๆ คือ "กลัวครับ" ก็เพราะความกลัวนี่เองที่ทำให้น้ำบ่อผีเป็นบริเวณที่ไม่เคยมีรอยเท้ามนุษย์ย่ำย่างมาเนิ่นนาน อาจจะนับตั้งแต่วันแรกที่เพดานของขุนเขาลูกนี้ถล่มยุบลงไป กองระเกะระกะอยู่ในความลึกกว่าร้อยเมตรเมื่อหลายพันปีก่อน จนกระทั่งผ่านมาถึง พ.ศ. 2528 จอห์น สปีส์ และเพื่อนได้โรยตัวลงไปสำรวจพื้นที่ และอย่างที่รู้กัน คืนนั้นหนึ่งในทีมของจอห์นก็ไม่สามารถขยับร่างกายซีกหนึ่งได้อีกเป็นเวลานานนับปี
อาถรรพ์ของน้ำบ่อผีถูกร่ำลือยาวนาน กระทั่งถึงปลาย พ.ศ. 2546 คนไทยกลุ่มหนึ่งก็เดินทางสู่ห้วงลึกนั้น โดยมี อนุกูล สอนเอก นักสำรวจถ้ำและนักผจญภัยตัวยงเป็นหัวหน้าคณะ ชาวมูเซอดำมาห้อมล้อมมุงดูพวกเขาตั้งแต่ก้าวแรกที่ย่ำลงในเขตบ้านลุกข้าวหลาม กระทั่งเดินตามขึ้นไปบนทางชันดิกสู่ปากหลุมยุบยักษ์ และหลายคนยังแวะเวียนมาดูตลอด 3 – 4 วัน ที่คนกลุ่มนี้ตระเตรียมอุปกรณ์ ซ้อมโรยตัว ไต่เชือกขึ้น โดยใช้ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ตรงปากหลุมยุบเป็นที่ฝึกซ้อม จนกระทั่งถึงวันที่หกคนไทยโรยตัวลงสู่พื้นเบื้องล่าง ซึ่งรกครึ้มราวกับป่าดึกดำบรรพ์
1 วัน 1 คืนผ่านไป และแล้วทุกคนก็ไต่กลับขึ้นมาอย่างปลอดภัย ความลึกลับของน้ำบ่อผีถูกไขปริศนาให้กระจ่างในบางเรื่อง อย่างน้อย...พื้นที่พิเศษแห่งนี้ก็ไม่ได้เป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาณร้าย และยังพร้อมต้อนรับผู้ที่เตรียมตัวมาเป็นอย่างดี ยืนยันได้จากปากของหนึ่งในหกคนไทยกลุ่มแรกที่ล่วงลึกลงไปในหลุมยุบยักษ์เมื่อหลายปีก่อนโน้น ซึ่งคนคนนั้นก็คือ...ฉันเอง
เป็นเวลานานพอดูที่ฉันหันหลังลงจากเส้นทางสูงชันแห่งนี้ ทว่าความคุ้นชินก็กลับมาโดยไม่ยาก บนเส้นทางสายเล็กขนาดแค่ 2 คน เดินเบี่ยงสวนกันได้ มีดงสาบหมาขึ้นรกดกดื่นสลับกับไร่ข้าวโพด เป็นทางไต่ขึ้น ๆ ที่ทำให้เหนื่อยจนลิ้นห้อยได้เหมือนเดิม ตรงกันข้ามกับลูกหาบชาวมูเซอดำที่แบกกระบุงใส่กระเป๋าเชือกและอุปกรณ์โรยตัวหนักอึ้ง พวกเขาเดินขึ้นลิ่ว ๆ ราวกับไม่รู้สึกรู้สาถึงน้ำหนักและความดิ่งชัน อาจเป็นเพราะว่าเขาใช้เส้นทางนี้ไปทำไร่อยู่แทบทุกวันก็เป็นได้
แนวหน้า คือ ชาวมูเซอดำ ส่วนแนวหลัง คือ ฉัน และทีมงาน ไฮเปอร์เวนเจอร์ (Hyperventure) กลุ่มนักผจญภัยรุ่นใหม่ที่ร่วมทางกันมาหลายครั้ง จนพูดได้ว่าไว้วางใจและพร้อมจะฝากชีวิตกันได้ หนึ่งในกลุ่มไฮเปอร์เวนเจอร์ คือ กนกเพชร ทองสุข ซึ่งเป็นหนึ่งในหกคนที่เคยร่วมทีมสำรวจน้ำบ่อผีเมื่อหลายปีก่อน ความไว้วางใจเป็นเหตุผลสำคัญที่ฉันเลือกพวกเขา ขณะเดียวกันนักผจญภัยกลุ่มนี้ก็เลือกที่จะร่วมทางกับฉัน หลายครั้งหลายหน เราต่างเป็นผู้เลือกและผู้ถูกเลือกในคราวเดียวกัน ไม่ใช่เฉพาะกับผู้คนเท่านั้น อย่างการที่เราเลือกน้ำบ่อผีเป็นปลายทาง แท้จริงแล้วหลุมยุบยักษ์ก็เลือกคนบางจำพวกที่จะเดินทางไปสัมผัสความมหัศจรรย์ของมันด้วย...ฉันคิดว่าอย่างนั้น
กว่าจะผ่านทางชันมาจนถึงบริเวญป่าไผ่ ซึ่งนับจากนี้ทางจะเริ่มราบลง เดินง่ายกว่าเดิม เวลาก็ผ่านไปเกือบชั่วโมง น้ำดื่มในเป้เริ่มพร่องเบา เมื่อถึงปากหลุมยุบ ฉันคงต้องอาศัยน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกที่ลูกหาบคนหนึ่งแบกน้ำหนักมากกว่า 10 กิโลกรัม เดินนำหน้าไปไกลลิบ เพื่อมาเติมแหล่งน้ำส่วนตัวให้เต็ม
นึกแล้วก็อดขำไม่ได้ เรากำลังจะไปที่น้ำบ่อผี แต่ที่นั่นหามีน้ำไม่ ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นหินปูน จึงมีทางน้ำใต้ดินเป็นส่วนใหญ่ สำหรับทางน้ำบนดินนั้นได้เปลี่ยนเส้นทางอ้อมหายไปด้านอื่นมานานเนิ่น ทำให้บริเวณ "น้ำบ่อผี" รวมทั้งในหุบลึกรกครึ้มของ "บ่อผี" ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติแม้แต่แอ่งเดียว แต่ที่ถูกเรียกว่า "น้ำบ่อ" ก็เป็นเพราะรูปลักษณ์ของหลุมยุบ และการที่โยนหินลงไปแล้วได้ยินเสียงคล้ายวัตถุตกกระทบน้ำดังขึ้นมาจากเบื้องล่าง ซึ่งแท้จริงแล้วคือเสียงหินกระทบกับผืนป่า แล้วสะท้อนก้องขึ้นมานั่นเอง
หลังจากจัดวางสัมภาระเรียบร้อย เราก็พากันไต่ลงไปตามทางเดินที่ระเกะระกะด้วยหินก้อนโต สู่จุดชมวิวขอบปากหลุมยุบ ที่มองเห็นโถงถ้ำอันดารดาษด้วยกลุ่มหินย้อยสลับซับซ้อนได้กระจ่างตาที่ปากหลุมยุบ วันนี้มีรั้วไม้ไผ่เป็นขอบเขตป้องกันการพลัดหล่นลงสู่เบื้องล่าง ปลอดภัยกว่าเดิมมากทีเดียว แสงแดดบ่ายสาดส่องเฉียงลงไปยังกลุ่มหินย้อยขนาดใหญ่ที่ลดหลั่นเรียงรายอยู่ตรงโถงถ้ำในหลุมยุบบ่อน้ำผี ณ จุดนั้นเองที่เป็นไฮไลท์ของที่นี่ มันคือปากหลุมยุบฝั่งตะวันตกที่เราจะโรยตัวผ่านความสูง 140 เมตร ลงสู่พื้นดินเบื้องล่างในวันพรุ่ง
ความจริงแล้วนอกจากปากหลุมยุบด้านทิศตะวันตก ยังมีอีก 2 จุด ที่สามารถโรยตัวลงไปได้ โดยผ่านความสูง 70 เมตร หรือ 90 เมตร แต่ด้วยระยะทางที่สั้นกว่าและสภาพพื้นที่ที่ต้องไต่แตะหน้าผาลงไปเรื่อย ๆ นั้น ไม่ชวนตื่นเต้นระทึกใจเท่ากับการดิ่งลงสู่ความลึกเวิ้งว้าง โดยที่เท้าไม่มีสิ่งใดให้แตะดังเช่นปากหลุมยุบด้านตะวันตก เส้นทาง 2 จุด นี้จึงกลายเป็นทางไต่ขึ้น ซึ่งก็แน่นอนว่าส่วนใหญ่เลือกความสูง 70 เมตร เป็นหนทางกลับสู่เบื้องบนหลังจากเสียพลังงานกับการโรยตัวผ่านความสูงกว่าร้อยเมตรไปแล้ว
"อย่าลืมชั้นนะ" เสียงนุ่ม ๆ ของ กิตติพงษ์ ศิลประกอบ ดังมาจากด้านบนเมื่อฉันกำลังเตรียมตัวลงสู่ความลึกของปากหลุมยุบด้านทิศตะวันตกในตอนบ่าย เปล่า...เขาไม่ได้ทิ้งคำหวานให้ฉันเก็บมาครึ้มอกครึ้มใจ เพราะว่า "ชั้น" ที่เขาพูด คือ ชันต์ (Shunt) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัย มันจะถูกล็อคไว้กับเชือก Safety อีกเส้น โดยมีสายสลิงเชื่อมโยงกับฮาร์เนสของเรา หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นกับอุปกรณ์โรยตัวหรือเชือกเส้นหลัก (ซึ่งโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก) แล้วตัวเราร่วงหล่นผลุบลงไป กลไกการล็อคจะทำงานทันที จากนั้นเราจะห้อยต่องแต่งอยู่กับเชือก Safety อย่างปลอดภัย
การ "อย่าลืมชั้นนะ" ก็คือ เมื่อโรยตัวลงไปในระดับที่มือยังเอื้อมถึงชันต์ ต้องกระตุกชันต์ตามไปด้วย ถ้ามัวแต่ตั้งใจโรยตัวแล้วลืมดึงอุปกรณ์สำคัญชิ้นนี้ เมื่อถึงจังหวะหนึ่งก็จะลงต่อไม่ได้ เพราะชันต์ล็อคเชือกไว้เรียบร้อยแล้ว ครั้นจะดึงก็ดึงไม่ได้อีก เพราะมันอยู่สูงเกินเอื้อม คราวนี้ละต้องรอคนลงมาช่วยสถานเดียว
ความพิเศษของการโรยตัวลงน้ำบ่อผี นอกเหนือจากอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นมาจากการโรยตัวทั่วไปแล้ว ก่อนออกเดินทางยังต้องฝึกซ้อมวิธีเปลี่ยนชุดอุปกรณ์โรยตัวเป็นชุดอุปกรณ์ไต่ขึ้นให้เชี่ยวชาญ และฝึกใช้อุปกรณ์ให้คุ้นเคยด้วย ไม่ใช่ว่าจู่ ๆ อยากไปเที่ยวเล่นก็ทำได้ ซึ่งสัปดาห์ก่อนนี้ฉันผ่านการเคี่ยวกรำจากชาวไฮเปอร์เวนเจอร์มาจนเหงื่อหยดติ๋ง เพราะพวกเขาเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างยิ่ง และหลังจากเช็กตัวล็อคอุปกรณ์ทุกชิ้นจนมั่นใจแล้ว ฉันค่อย ๆ กดสต็อป (Stop) อุปกรณ์สำหรับโรยตัวเพื่อเลื่อนลงสู่ความลึก ใจเริ่มเต้นระทึกตึ้กตั้กเมื่อเท้าที่แตะหยัดผนังถ้ำกำลังจะพ้นจากผาหินไปสู่ความว่างเปล่า หลังจากโรยตัวลงมาราว 10 เมตร ก็ดูเหมือนว่าผนังผาถูกดูดลึกแล้วลับหายเข้าไปเสียอย่างนั้น
วูบวาบและโหวงเหวง! คือความรู้สึกเมื่อร่างเลื่อนไหลลงต่ำกว่าผนังถ้ำตามจังหวะการบีบด้ามสต็อป ภาพหินย้อยหยึกหยักขนาดใหญ่จนข่มให้คนเป็นมนุษย์จิ๋ว ที่มองเห็นไกล ๆ เหมือนอยู่ใกล้กับคนโรยตัว แท้จริงแล้วมันเว้าลึกเข้าไปเกินจะเหยียดเท้าหยัดไว้ได้ แต่แล้วความตื่นเต้นกลับเปลี่ยนเป็นความรื่นรมย์ เมื่อห้อยต่องแต่งอยู่ท่ามกลางสายลมเย็นที่ปลิดขั้วใบไม้สีเหลืองสวยให้หมุนคว้างลงสู่ก้นหลุมยุบ ก้มลงมองเบื้องล่าง ในหุบลึกกว้างใหญ่นั้นแน่นทึกไปด้วยเรือนยอดไม้สีเขียวสด ที่เอนไหวไปมาราวกับกำลังเต้นระบำตามจังหวะของสายลม ห้วงเวลานี้...ผืนป่าดงดิบแห่งบ่อน้ำผีถูกสายลมพัดพรูจนใบไม้นับร้อยนับพัน ไหวระริกไล่ล้อเป็นคลื่นสีเขียวน่าชม
อยู่ตรงนี้...ฉันมองเห็นรอบขอบปากหลุมยุบที่ด้านบน คือ ผืนป่าเบญจพรรณ ซึ่งบัดนี้กลุ่มใบของต้นไม้หลายต้นเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นส้มเหลือง พร้อมจะร่วงหล่นลงสู่พื้นดิน ขณะที่เบื้องล่าง คือ ป่าดิบเขียวสดชั่วนาตาปี ซึ่งต้นไม้ส่วนใหญ่มีลำต้นผอมเพรียว แทบไร้กิ่งก้าน มันต่างยืนเหยียดลำต้นสูงชะรูดไม่ต่ำกว่า 50 เมตร ขึ้นรับแสงแดดที่ปากหลุมยุบราวกับไม่มีใครยอมใคร ต้นไม้ฝากชีวิตไว้กับแสงแดด ส่วนฉันกำลังฝากชีวิตไว้กับเส้นเชือกและอุปกรณ์รูปร่างประหลาดหลายชิ้น สำคัญที่สุดคือเชือก ซึ่งจะต้องรับน้ำหนักได้ดีและเหนียวแน่นทนทาน ฉันเบาใจในเรื่องนี้ เพราะเชือกที่ใช้อยู่แม้ว่าจะเพิ่งแกะกล่องมาหยก ๆ ทว่าก็เป็นเชือกที่ผ่านมาตรฐานสากล รับประกันความปลอดภัยได้เต็มร้อย เป็นเชือกที่ผลิตโดยคนไทยซึ่งมีคุณภาพเท่าเทียมกับเชือกยี่ห้อดังระดับโลกเลยทีเดียว
จากจุดเริ่มต้นโรยตัวลงมาถึงกลุ่มหินย้อย ซึ่งน่าจะมีระยะทางราว ๆ 20 เมตร หลังจากผ่านปลายสุดท้ายของหินย้อยที่อยู่ต่ำที่สุดลงมา ก็ไม่เหลืออะไรให้เห็นในระดับสายตาอีกต่อไป รอบตัวคือความเวิ้งว่างแต่ไม่เคว้งคว้าง เพราะฉันมีเชือกเหนียวแน่น 2 เส้น มีอุปกรณ์ที่รับน้ำหนักการตกกระชากได้กว่า 2 ตัน มีทางทีมงานไฮเปอร์เวนเจอร์ และมีความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ เป็นดั่งปราการปกป้องตัวเองจากความกลัว ฉันค่อย ๆ กดสต็อปให้เชือกไหลผ่านในจังหวะเนิบ ๆ กะความเร็วไม่ให้เชือกเสียดสีกับสต็อปมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้เชือกไหม้ ซึ่งหลังจากนั้นแม้ไม่ถึงกับต้องเอ่ย "สวัสดีชาวโลก" แต่ก็จะห้อยต่องแต่งกับเชือก Safety รอความช่วยเหลือตาปริบ ๆ อีกนานนับชั่วโมงเชียวละ
เวลาล่วงเข้าบ่ายสอง ในที่สุดเท้าที่แกว่งไกวในอากาศก็ได้ย่ำเหยียบลงบนพื้นดินร่วนก้นหลุมยุบสักที พูนศักดิ์ เนื้อทอง หนุ่มอารมณ์ดีที่โรยตัวลงมารอพวกเรานานกว่าชั่วโมงแล้ว ตะโกนบอกฉันให้ระวังต้นหวายที่อุดมด้วยหนามแหลมคม มองไปรอบตัวตอนนี้เหมือนหลุดมาอยู่อีกโลกหนึ่ง ผืนป่าดงดิบรกครึ้มที่รายรอบดูเหมือนป่าดึกดำบรรพ์เร้นลับอย่างไรอย่างนั้น มีเสียงนกกลางคืนคล้ายเสียงคนสะอื้นแผ่ว ๆ ดังสะท้อนมาจากมุมลึกในผืนป่า สร้างบรรยากาศให้วังเวง อีกทั้งยังมีความเย็นชื้นอาบคลุมไปทั่วบริเวณ แตกต่างจากลมเย็นแห้งด้านบนจนรู้สึกได้ชัดเจน ถ้าไม่เคยย่ำเยือนพื้นที่นี้มาก่อน และถ้าไม่ได้มากับคนที่ไว้วางใจกันเช่นนี้ รับรองว่าฉันจะต้องขอไต่กลับขึ้นไปภายในเย็นนี้เป็นแน่แท้
นั่น...พื้นลาดเอียงที่ปูเต็มไปด้วยฝุ่นถ้ำเนื้อละเอียดยิบ ภายใต้โถงสูงใหญ่ของโพรงถ้ำอันดารดาษด้วยกลุ่มหินย้อยทรงกรวยคว่ำ ที่ฉันผ่านมันมาเมื่อชั่วโมงก่อน เป็นที่ที่ฉันเคยนอนเรียงเคียงกันกับเพื่อนร่วมทางอีก 5 คน เมื่อครั้งโน้น ฉันปลดอุปกรณ์ ปล่อยตัวเองออกจากเชือก แล้วเดินย่ำฝุ่นยวบยาบ ฝ่าดงไม้เลื้อยรุงรัง ขึ้นเนินไปยืนมองหินงอกสูงราว 20 เมตร ซึ่งด้านที่ได้รับแสงแดดยามเช้ามีไม้เลื้อยขึ้นมาปกคลุมยุ่บยั่บ ส่วนอีกด้านมีแผ่นหินยื่นล้ำเรียงรายคล้ายมีใครมาเพาะเห็ดหลินจือเอาไว้ หินงอกสูงใหญ่นี้ยังอยู่ดี ไม่มีร่องรอยแตกหัก มันยืนเด่นตระหง่านราวกับต้อนรับการกลับมาของใครคนหนึ่ง
ความงดงามมหัศจรรย์ของพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึง นับเป็นของขวัญพิเศษสำหรับฉัน ใต้โถงถ้ำใหญ่โตโอฬารปรากฏร่องรอยการขยับตัวของเปลือกโลกให้เห็นเด่นชัด ทั้งรอยเลื่อนของชั้นหินผาตรงผนังถ้ำ หินก้อนโตที่ถล่มลงมากองก่ายเกย หินย้อยที่เกิดจากการกัดเซาะหินปูนของน้ำที่มีฤทธิ์เป็นกรด ฝุ่นถ้ำสีเทาเนื้อละเอียดยิบ ฯลฯ ล้วนบ่งบอกว่าสถานที่นี้มีชีวิตมายาวนานกว่าเราหลายพันปีนัก
หยัดอยู่ ยงยืน จนคนตัวเล็ก ๆ เดินทางมาพานพบ และได้ประจักษ์ว่าภูมิประเทศแบบคาสต์ (Karst) ซึ่งเกิดจากการที่น้ำละลายชั้นหินปูน ทิ้งร่องรอยเป็นหลุมยุบ ถ้ำ สันเขาแหลมคม และหอคอยหินปูน อันเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอปางมะผ้า แห่งเมืองสามหมอกนี้ สวยงามและน่าถนอมรักษาไว้เพียงใด...ทะนุถนอมเมื่อไปเยือน รักษาไว้ให้นานเท่านาน ทว่าไม่จำเป็นต้องหวงแหน ราวกับจะเก็บงำไว้เป็นเพียงพื้นที่เฉพาะของตน เพราะโดยแท้แล้วแหล่งธรรมชาติบนโลกนี้ไม่ใช่สถานที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่มันคือสมบัติของโลก และเป็นดั่งของขวัญล้ำค่าสำหรับทุกคนที่ก้าวเข้าไปสัมผัสด้วยความรักและรักษ์อย่างแท้จริง
หลังจากผ่านค่ำคืนกลางผืนป่าดิบรกเรื้อที่เรียงรายด้วยไม้ยืนต้นผอมสูงมาอย่างอบอุ่น เช้าวันนี้ก็คือเวลาของการไต่เชือกกลับขึ้นไปตามแนวหน้าผาฝั่งทิศเหนือ ด้วยสูงเพียงครึ่งหนึ่งของเส้นทางโรยตัวเมื่อวาน กนกเพชร ซึ่งอาสาเฝ้าแคมป์อยู่ที่ปากหลุมยุบเมื่อคืน มัดโยนเชือกกับต้นไม้ใหญ่ด้านบน แล้วโยนลงมาให้เรารวม 4 เส้น เป็นเชือกหลักและเชือก Safety อย่างละสอง จึงเป็นอันว่าเราจะไต่ขึ้นทีละคู่ และคาดว่าคู่สุดท้ายจะขึ้นถึงปากหลุมยุบภายในเที่ยงวัน
มองจากเบื้องล่างความสูง (แค่) 70 เมตร ที่ต้องไต่เชือกผ่านหน้าผาชันดิก ดูไม่น่ายากเลย ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงก็น่าจะกลับขึ้นไปถึงปากหลุมยุบได้ แต่เอาเข้าจริง ฉันนั่งรอน้อง ๆ 2 ชุดแรกไต่ขึ้นไปนานเกือบ 3 ชั่วโมง และครั้นถึงเวลาของตัวเอง ฉันจึงรู้ว่า แม้จะมีหน้าผาชันให้ยันหยัดผ่อนแรงการเหยียบยืนทิ้งน้ำหนักลงไปที่ห่วงเท้า แต่กล้ามเนื้อขาท่อนบนที่อ่อนล้ามาจากการฝึกซ้อมและการเดินไต่ทางชันขึ้นเขา ก็เป็นเหตุให้เรื่องง่ายกลายเป็นเรื่องยากได้ไม่ยาก ฉันออกแรงเหยียบยันห่วงเท้าเพื่อส่งตัวเองขึ้นสูงทีละไม่กี่เซนติเมตร โดยมี จิรศักดิ์ นาสวน คอยดูแลอยู่บนเชือกอีกเส้น จนเวลาผ่านไปชั่วโมงกว่า ก็มาถึงบริเวณหน้าผาที่มีลักษณะเป็นชะง่อน และมีหินแตกเป็นร่องลึกตามแนวนอน จุดนี้เองที่ดูดพลังงานจากฉันไปจนแทบหมดสิ้น เพราะต้องใช้แรงแขนดึงตัวเองให้พ้นชะง่อนผา และยกขาที่หนักอึ้งข้ามผ่านแนวหินแตกไปพร้อม ๆ กัน
หลังจากนั้นอีกเพียงไม่ถึง 10 เมตร ฉันก็คืบไต่ขึ้นสู่ปากหลุมยุบที่มีพรรคพวกรออยู่ ด้วยสภาพร่างกายที่เปียกชุ่มไปด้วยหยาดเหงื่อ พลังกายแทบเหือดหาย แต่ใจนั้นอิ่มเอมที่ได้กลับลงไปสัมผัสความงดงามมหัศจรรย์ของหลุมยุบที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทยอีกครั้ง ก้าวข้ามผ่านคำว่า "อาถรรพ์" ฉันแน่ใจว่าน้ำบ่อผีไม่ได้เป็นที่ทางของดวงวิญญาณ หรือเป็นพื้นที่ของใครคนใดคนหนึ่ง ทว่าเป็นของ "เรา" ผู้ที่เห็นคุณค่าและเดินทางเข้าหาแหล่งธรรมชาติอย่างอ้อนน้อมถ่อมตน
มารู้จักหลุมยุบกันเถอะ
หลุมยุบ (Sinkhole หรือ Doline) คือ ลักษณะทางธรณีวิทยาประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ชั้นหินใต้ดิน เป็นหินปูนหรือหินที่ละลายได้ดีในน้ำที่มีสภาพเป็นกรด นึกภาพง่าย ๆ คือ ภูเขาที่ด้านในกลวงเป็นโถงถ้ำ แล้ววันหนึ่งเพดานถ้ำถล่มลงไปกองอยู่ที่ก้นถ้ำ เปิดช่องโหว่เป็นวงกลมหรือวงรีไว้ด้านบนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมีตั้งแต่ไม่ถึง 1 เมตร ไปจนถึงหลายกิโลเมตร ทำให้แสงส่องลงไปได้ และมีความลึกได้ตั้งแต่ 1 เมตร จนถึงกว่าร้อยเมตร
การเกิดหลุมยุบมี 4 แบบ คือ
การละลาย เป็นการเกิดที่พบบ่อยที่สุด โดยผิวหินปูนด้านบนถูกละลายโดยน้ำที่มีสภาพเป็นกรดแล้วสึกกร่อนลงไปจนกลายเป็นหลุม มีขอบหลุมเอียงลาด
การถล่ม เกิดจากผิวหินปูนทานน้ำหนักของดินที่ทับทมอยู่ด้านบนไม่ได้ จึงถล่มลงไปกองอยู่เบื้องล่าง หลุมยุบที่เกิดจากการถล่มจะมีขอบหลุมชันดิ่งคล้ายมีกำแพงหินรายล้อมพื้นที่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ น้ำบ่อผี นั่นเอง
การทับถม หลุมยุบแบบนี้เกิดขึ้นเพราะตะกอนที่ทับถมอยู่บนชั้นหินถูกน้ำชะ แล้วแทรกเข้าไปในรอยแยกของชั้นหินด้านล่าง นานวันเข้าก็ทำให้ผิวด้านบนยุบลงไป
การจม เกิดขึ้นเมื่อชั้นหินใต้ดินถูกละลาย ตามมาด้วยการยุบลงของผิวด้านบน เกิดเป็นหลุมยุบขนาดใหญ่ที่ไม่ลาดชัน
ในด้านการท่องเที่ยว หลุมยุบหลายแห่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมืองไทย เช่น ถ้ำมรกต จังหวัดตรัง และ ทะเลใน หมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ฯลฯ ซึ่งเป็นหลุมยุบที่น้ำทะเลไหลผ่านรอยแยกเบื้องล่างมาขังรวมกันจนเป็นแอ่งใหญ่ ส่วน น้ำบ่อผี เป็นหลุมยุบที่นักสำรวจหลายคนเชื่อว่าลำน้ำลางเคยไหลผ่าน แต่ทุกวันนี้ทางน้ำเปลี่ยนทิศ ในบริเวณรอบ ๆ น้ำบ่อผีจึงไม่มีแหล่งน้ำบนดิน (ข้อมูลเบื้องต้นจากหนังสือ “ถ้ำถิ่นเหนือ” ผู้แต่งคือ พินดา สิทธิสุนทร ไซมอน การ์ดเนอร์ และดีน สมาร์ท พิมพ์และจัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ ริเวอร์ บุ๊คส์)
คู่มือนักเดินทาง
น้ำบ่อผี อยู่ในเขตหมู่บ้านลุกข้าวหลาม อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน การไปโรยตัวลงหลุมยุบแห่งนี้จำเป็นต้องไปกับผู้เชี่ยวชาญด้านการโรยตัวเท่านั้น
การเดินทาง
สะดวกที่สุดคือการใช้รถยนต์ส่วนตัว จากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 ผ่านอำเภอแม่ริม อำเภอแม่แตง แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1095 ผ่านอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เข้าอำเภอปางมะผ้า หลังจากผ่านตลาดปางมะผ้าไปไม่ไกล จะมีทางแยกซ้ายมือลงสู่หมู่บ้านลุกข้าวหลาม
ไปโรยตัว
ปัจจุบัน The Peak จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ประกอบการรายเดียวที่จัดทริปโรยตัวน้ำบ่อผีอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ติดต่อสอบถามได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 0 5380 0567 – 8 หรือเว็บไซต์ www.thepeakadventure.com
นอกจาก The Peak แล้ว ยังมีทีม Hyperventure ที่พร้อมจัดทริปผจญภัยทั้งใต้ดิน บนหน้าผา โรยตัว และกิจกรรมบนที่สูง สำหรับทริปโรยตัวน้ำบ่อผีถือเป็นทริปพิเศษที่จะขึ้นเมื่อมีการติดต่อจากนักผจญภัย สอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณกนกเพชร ทองสุข โทรศัพท์ 08 1566 2399, 08 6576 5158 หรือเว็บไซต์ www.hyperventure.com
สิ่งที่ควรมี
ถุงดำสำหรับใส่ขยะ แม้ว่าบริเวณที่พักตรงปากหลุมยุบจะมีจุดเผาขยะ แต่ก็ต้องระวังเรื่องการดับไฟให้สนิทก่อนเดินทางกลับลงไป วิธีที่ดีที่สุด คือ ทิ้งขยะใส่ถุงดำแล้วนำไปทิ้งในถังขยะที่พบระหว่างทางกลับ
เสื้อผ้าที่มีน้ำหนักเบา ทนทาน และเคลื่อนไหวสะดวก รองเท้าควรเป็นแบบหุ้มส้นทะมัดทะแมง จะเป็นรองเท้ากีฬาหรือรองเท้าเดินป่าก็ได้
ขวดน้ำ หรือ Camelbak ระหว่างการโรยตัวจะได้ดื่มน้ำเป็นระยะ ป้องกันร่างกายขาดน้ำ ซึ่งจะส่งผลเสียมากมายตามมา
กระดาษทิชชู่แบบเปียกสำหรับเช็ดหน้า เช็ดตัว เช็ดคราบฝุ่น เพราะในบริเวณน้ำบ่อผีไม่มีแหล่งน้ำ
ลูกอม ช็อกโกแลต ขนมให้พลังงาน เผื่อหมดแรงระหว่างทางจะได้มีพลังงานชดเชยเร่งด่วน
ไฟฉาย ถ้าเป็นแบบคาดหัวยิ่งดี เพราะพกสะดวก ใช้งานง่าย ได้ใช้แน่ ๆ ตอนไปหามุมห้องน้ำเวลากลางคืน
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ปีที่ 51 ฉบับที่ 7 เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2554