x close

8 ขั้นตอนปลอดภัย สำหรับคนแพ้อาหารเมื่อต้องเดินทาง



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          หลาย ๆ คนที่มีปัญหาเรื่องอาการแพ้อาหาร มักเบื่อหน่ายเวลาต้องไปต่างประเทศหรือต่างถิ่นอยู่เสมอ ใช่ไหมคะ? เช่น ปัญหาเรื่องอาหารการกินที่หาได้ยากหรือยาที่ต้องนำติดตัวไปบางชนิดไม่สามารถนำผ่านจุดตรวจได้ เอาล่ะ...อย่าได้กังวลอีกต่อไป เรื่องขี้ปะติ๋วแค่นี้จะไม่เป็นอุปสรรคในการเดินทางท่องเที่ยวของคุณได้หรอก วันนี้ทางกระปุกดอทคอมนำเคล็ดลับดี ๆ มาแนะนำให้ทราบกัน

1. ศึกษาข้อมูลอาหารท้องถิ่นของสถานที่ ๆ จะเดินทางไป

          ลองหาข้อมูลจากในหนังสือหรืออินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับจุดหมายปลายทางที่เราจะไป รวมทั้งเรื่องอาหาร โรงพยาบาลหรือคลีนิค (เผื่อเกิดเจ็บป่วยกระทันหัน) และภาษาที่ใช้ในการสื่อสารของประเทศนั้น ๆ ทั้งนี้ ก็เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง เช่น บางทีคุณอาจไม่รู้หรอกว่าส่วนผสมหรือส่วนประกอบอาหารที่นำมาปรุงมีอะไรบ้าง ถ้ากินไปแล้วแพ้ล่ะแย่เลย แถมจะลำบากหนักกว่าเดิม ถ้าหากว่าคุณไม่สามารพูดภาษาของคนท้องถิ่นหรือในประเทศนั้นได้ ไปหาหมอก็อธิบายไม่ถูก คุยกันไม่รู้เรื่องและอาจจ่ายยาให้ผิดได้ ฉะนั้นศึกษาข้อมูลให้พร้อมก่อนดีกว่านะ

2. เตรียมยาประจำตัวไปด้วย

          ปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทาง เพื่อขอคำแนะนำเรื่องยาที่ต้องนำติดตัวไป และให้เขาออกจดหมายเรื่องขอนำยาประจำตัวซึ่งจำเป็นต้องพกไว้ตลอด โดยมีคำอธิบายว่าเป็นยาชนิดใด มีส่วนประกอบอะไรบ้าง ใช้รักษาอาการเจ็บป่วยใด เพื่อป้องกันปัญหาบริเวณจุดตรวจสัมภาระ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่สนามบินอาจไม่อนุญาตให้นำเข้าประเทศ หากไม่มีจดหมายรับรองจากทางแพทย์

3. พกบัตรผู้มีอาการภูมิแพ้

          หลาย ๆ คน อาจไม่ทราบว่าคืออะไร บัตรชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ "เชฟ การ์ด" (Chef card) ซึ่งเป็นบัตรที่อธิบายรายละเอียดว่าคุณแพ้อาหารชนิดใดบ้าง เผื่อเวลาเดินทางไปทานอาหารที่ร้านในต่างประเทศจะได้แสดงให้ทางร้านทราบ โดยที่บัตรดังกล่าวสามารถเข้าไปทำออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ allergytranslation.com เป็นต้น แค่เลือกชนิดอาหารที่คุณแพ้และภาษาที่ต้องการลงไป หลังจากนั้นก็พริ้นออกมาเป็นอันเสร็จ (ของเว็บไซต์นี้จะมีค่าบริการทำบัตรอยู่ที่ 8 ดอลลาร์ หรือประมาณ 250 บาทต่อใบ) ง่ายนิดเดียว แถมยังมีประโยชน์มากอีกซะด้วย

4. เลี่ยงอาหารประเภทบุฟเฟต์

          ไม่ใช่เห็นว่าเป็นอาหารบุฟเฟต์แล้วตาลุกวาวขึ้นมาทันทีนะ ยิ่งถ้าไม่แน่ใจแล้วด้วยว่าทางร้านใช้อะไรเป็นส่วนผสมของอาหารด้วยแล้ว อย่าได้เสี่ยงเชียว เดี๋ยวเป็นเรื่อง อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่มีสิทธิ์ลองทานอาหารใหม่ ๆ แปลก ๆ ที่ไม่เคยลิ้มรสเลย แต่ว่าให้ลองทีละชนิด จากนั้นก็รอดูอาการสัก 24 ชั่วโมงดูว่า มีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นกับร่างกายหรือไม่ ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติแล้วล่ะก็ คราวหน้าก็ทานได้อีกโดยไม่ต้องกังวลใจ

5. แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบเรื่องอาหารล่วงหน้า เมื่อต้องเดินทางโดยเรือ

          โดยส่วนใหญ่แล้วเรือสำราญเกือบทุกบริษัทจะทำการสอบถามเรื่องประเภทอาหารที่ผู้โดยสารต้องการทาน หรืออาหารที่แพ้ล่วงหน้า เพื่อที่จะได้เตรียมอาหารที่คุณสามารถทานได้ไว้ให้พร้อม ซึ่งทางบริษัทเรือสำราญจะมีแบบฟอร์มให้กรอก แล้วถ้าเป็นไปได้ก็อาจจะลองตีซี้ตีสนิทกับบริกรที่จะมาเสิร์ฟอาหารไว้สักหน่อย เขาจะได้ทราบว่าคุณนั่งอยู่ตรงไหนและมาเสิร์ฟได้ถูกคน ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกและง่ายต่อเจ้าหน้าที่ ๆ จะมาบริการนั่นเอง

6. รักษาความสะอาดของมืออยู่เป็นประจำ

          เรื่องสุขอนามัยถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการเดินทาง พกเจลทำความสะอาดมือติดตัวไว้เสมอ เผื่อกรณีสถานที่ ๆ เดินทางไปไม่มีที่ให้ล้างมือ เดี๋ยวเจ้าเชื้อโรคจะถามหาเอานะ

7. นำอาหารไปเอง

          บ้านพักบางแห่งจะมีห้องครัวไว้อำนวยความสะดวก เผื่อว่าคุณอยากกจะทำอาหารทานเอง ดังนั้น ถ้าสอบถามกับทางที่พักเรียบร้อยแล้ว ก็นำอาหารไปทำทานเองก็ได้นะ จะได้ไม่ต้องออกไปหาทานข้างนอกให้ลำบาก แถมยังปลอดภัยแน่นอน

8. บอกผู้ร่วมเดินทางให้ทราบว่า หากคุณมีอาการแพ้แล้วต้องทำอย่างไร

          ไม่ว่าคุณจะเดินทางท่องเที่ยวไปกับใครก็ตาม ควรบอกให้พวกเขาทราบล่วงหน้าถึงอาการแพ้อาหารที่คุณเป็น วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือเบอร์ฉุกเฉินไว้ติดต่อแพทย์ประจำตัวของคุณ เพื่อช่วยเหลือได้ทันท่วงที

          เป็นยังไงกันบ้าง ไม่ยากเลยใช่ไหมล่ะ สำหรับวิธีการเตรียมตัวสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้อาหารต่าง ๆ ยามต้องเดินทางไปที่อื่น ความจริงแล้วก็ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด หากคุณทราบขั้นตอนและวิธีการรับมือให้พร้อม ถ้าอย่างนั้นก็วางแผนทริปเดินทางเปิดโลกกว้างของคุณไว้ได้เลย!!



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
8 ขั้นตอนปลอดภัย สำหรับคนแพ้อาหารเมื่อต้องเดินทาง อัปเดตล่าสุด 1 มีนาคม 2555 เวลา 16:30:47
TOP