เรียนรู้คุณค่า "รุกข มรดก" มรดกของแผ่นดิน

          "รุกข มรดก" องค์ความรู้ที่ยิ่งใหญ่ ที่เป็นมากกว่าเรื่องราวของธรรมชาติ แต่ยังสะท้อนความผูกพันของคนกับธรรมชาติ เชื่อมโยงวัฒนธรรมไทย ความเชื่อ ความศรัทธาของแต่ละท้องถิ่น ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทย ตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน
รุกข มรดกของแผ่นดิน

          เพื่อสืบสานคุณค่าของ "มรดกแผ่นดิน" กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้ดำเนินการคัดเลือกต้นไม้ตามโครงการดังกล่าว โดยได้แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิร่วมพิจารณาคัดเลือกต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่และมีอายุยาวนาน หรือมีคุณสมบัติในข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

          ๑. มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และมีความสำคัญต่อชุมชน หรือมีตำนานเรื่องเล่าประกอบ

          ๒. อยู่ในพื้นที่ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมหรือสถานที่สำคัญต่าง ๆ

          ๓. เป็นต้นไม้หายาก หรือใกล้สูญพันธุ์

          ๔. อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยได้รับการดูแลที่ดี

          ๕. อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควร        

          ซึ่งแต่ต้นล้วนแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในประเทศไทยในแต่ละภูมิภาค สร้างความตระหนักถึงคุณค่าของมรดกทางธรรมชาติ สร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ และหวงแหนทรัพยากรทางธรรมชาติเหล่านี้ให้แก่อนุชนรุ่นหลังต่อไป และนี่คือตัวอย่าง "รุกข มรดก ๕ ต้นที่ควรค่าการเรียนรู้"

๑. จำปาขาว จังหวัดพิษณุโลก

รุกข มรดกของแผ่นดิน

         ต้นจำปาขาวอายุ ๗๐๐ กว่าปี ขนาดเส้นรอบวง ๖.๗๐ เมตร ความสูง ๑๕ เมตร สันนิษฐานว่าเป็นต้นเดียวกับที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ว่า "พ่อขุนบางกลางท่าว เจ้าเมืองบางยาง ทรงปลูกไว้เป็นอนุสรณ์ คู่เมืองของเมืองนครบางยาง" จึงประมาณได้ว่าปลูกมาก่อนปี พ.ศ. ๑๘๐๖

         ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของวัดกลาง ตำบลนครไทย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก
 
๒. ทุเรียนเจ้าเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

รุกข มรดกของแผ่นดิน

         ต้นทุเรียนโบราณอายุกว่า ๓๐๐ ปี ขนาดเส้นรอบวง ๘.๑๕ เมตร สูงประมาณ ๘๐ เมตร มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า บริเวณบ้านสวนกล้วยใกล้น้ำตกห้วยกลิ้งในปัจจุบันเคยเป็นสวนผลไม้ของเจ้าเมืองเวียงสระ โดยมีผลไม้นานาชนิดในอดีตหากใครลักลอบเข้าไปจะหลงทางหาทางกลับบ้านไม่ได้ เดือดร้อนถึงญาติต้องออกตามหา จุดธูปบนบานสานกล่าว ขอขมาต่อเจ้าเมือง รุกขเทวดา เจ้าที่ เจ้าทาง จึงจะพบและนำออกมาได้ ทุเรียนต้นนี้เป็นต้นเดียวที่เหลืออยู่ในบริเวณที่คาดว่าเป็นสวนเจ้าเมืองเวียงสระ

         ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของนายสุวัฒน์ ดาวเรือง บ้านสวนกล้วย ตำบลบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
 
๓. หว้าน้ำคู่รัก จังหวัดอุบลราชธานี

รุกข มรดกของแผ่นดิน

         ต้นหว้าน้ำ หรือหมากหว้าน้ำ สองต้นยืนโดดเด่นเคียงกันกว่า ๓๐๐ ปี ณ ลานหินทราย ริมฝั่งโขง บ้านลาดเจริญ ตำบลนาแวง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ปกติจะจมอยู่ใต้ผืนน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากกว่า ๘ เดือน พอหน้าแล้งน้ำลด จะปรากฏขึ้นมาให้เห็นลำต้นอวบคดโค้ง แตกกิ่งใบ เป็นพุ่มเขียวงอกงามมาบรรจบกัน มองดูคล้ายซุ้มรูปหัวใจ และผลิใบออกดอกผลในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ด้วยความงดงามของรูปทรงและการยืนหยัดผ่านฤดูกาลต่าง ๆ ร่วมกันมายาวนาน ทำให้ต้นหว้าคู่นี้เป็นสัญลักษณ์แห่งความรักและมักจะมีคนมาขอพรอยู่เสมอ
 
๔. ป่าคำชะโนด จังหวัดอุดรธานี

รุกข มรดกของแผ่นดิน

          บนพื้นที่ราว ๒๐ ไร่ ณ ตำบลวังทอง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี คือ ที่ตั้งของป่าคำชะโนด ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ตำนานพญานาค "ปู่ศรีสุทโธ" ศูนย์รวมจิตใจและศรัทธาของชาวอำเภอบ้านตุง

          ป่าคำชะโนด มีลักษณะเป็นเกาะลอยอยู่บนนํ้า ภายในมีสภาพเป็นป่าพรุดิบชื้น มีต้นชะโนด (ลักษณะคล้ายต้นตาลผสมต้นมะพร้าวและต้นหมาก) ซึ่งเป็นพืชที่หายากขึ้นอยู่หนาแน่น อายุกว่า ๒,๐๐๐ ปี สูงราว ๓๐ เมตร โดยรากของต้นชะโนดแผ่ออกในแนวนอนเกาะเกี่ยวกันพยุงเกาะแห่งนี้ให้ลอยน้ำได้ ส่วนพื้นดินมีสีคล้ำเปียกชื้นตลอดเวลา มีเฟิร์นขึ้นปกคลุมหนาทึบ แดดแทบจะไม่ส่องถึงพื้น และต้นไม้ใหญ่เล็กขึ้นแซมหลายชนิด นับว่าเป็นป่าดึกดำบรรพ์ผืนสุดท้ายของประเทศไทยที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์อยู่
 
๕. กลุ่มต้นยางนารักษ์สิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่

รุกข มรดกของแผ่นดิน

          ต้นยางนาขนาดใหญ่ ที่ปรากฏแก่สายตาริมสองฟากฝั่ง ถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน ณ เขตอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ วัดเส้นรอบวงโดยเฉลี่ย ๔ เมตร และสูงกว่า ๔๐ เมตร ยืนตระหง่านเรียงรายไปจนสุดสายตาตลอดแนวถนนจำนวนถึง ๘๘๖ ต้น เป็นภูมิทัศน์ที่งดงามสุดพิเศษ สร้างความประทับใจแก่ผู้สัญจรไปมาไม่รู้ลืม

          โดยกลุ่มต้นยางนานี้ ปลูกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ ตามนโยบายของเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ และมีการกำหนดกฎระเบียบในการดูแลรักษาอย่างเคร่งครัด จึงเจริญเติบโตได้ดีและสวยงามมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

          ด้วยคุณค่าและความสำคัญทางประวัติศาสตร์มายาวนานกว่า ๑๐๐ ปี ในปัจจุบันถนนสายนี้จึงได้รับการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

          ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กระทรวงวัฒนธรรม

          Website : www.m-culture.go.th
          Facebook : www.facebook.com/ThaiMCulture
          YouTube : www.youtube.com/channel/UCmS0EQJD2PYBmlp6o8aUxkQ
          YouTube ที่เกี่ยวข้อง : www.youtube.com/user/itmculture

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรียนรู้คุณค่า "รุกข มรดก" มรดกของแผ่นดิน อัปเดตล่าสุด 21 มิถุนายน 2565 เวลา 11:23:03 5,675 อ่าน
TOP