จุดประกายฝัน 6 อาชีพในสวนสัตว์ มีอะไรบ้าง



         สำหรับคนที่รักสัตว์ ในโลกนี้ไม่ได้มีเพียงแค่อาชีพสัตวแพทย์เท่านั้นนะ ที่จะได้อยู่กับสัตว์อย่างใกล้ชิด ยังมีอีกหลากหลายอาชีพเลยค่ะที่คุณจะได้อยู่ดูแลและเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ ใครมีโอกาสไปเที่ยวสวนสัตว์ก็จะเห็นเพียงพนักงานขายตั๋ว วิทยากร พนักงานขายของ ฯลฯ อะไรประมาณนั้น แต่อันที่จริงแล้ว ยังมีอีกหลายอาชีพเลยนะคะที่ต้องทำงานในสวนสัตว์ ซึ่งเราก็จะไม่ค่อยรู้จักกัน วันนี้ก็เลยจะขอพาไปทำความรู้จักกับอาชีพต่าง ๆ ในสวนสัตว์กันที่เขาดินค่ะ มีอาชีพอะไรที่น่าสนใจบ้าง ไปดูกันเลย

1. นักการศึกษาสวนสัตว์ : คุณมงคล ส่งเสริมเจริญโชติ (กฤษณ์)

อาชีพในสวนสัตว์

          รู้หรือไม่ว่ากิจกรรมสนุกสนานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเขาดิน ไม่ได้เกิดขึ้นมาง่าย ๆ นะคะ เพราะแต่ละกิจกรรมจะต้องผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เกี่ยวข้องกับสัตว์อย่างนักการศึกษาสวนสัตว์ ซึ่งจะต้องนำข้อมูลทางวิชาการมาเผยแพร่ให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าใจได้ง่ายที่สุด ผ่านกิจกรรมความบันเทิงในรูปแบบต่าง ๆ สำหรับที่เขาดิน คุณกฤษณ์-มงคล ส่งเสริมเจริญโชติ ก็เป็นหนึ่งในทีมนักการศึกษาสวนสัตว์ สังกัดงานส่งเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัย เป็นผู้ที่คอยคิดกิจกรรมที่สร้างทั้งความบันเทิงและความรู้ให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมในเขาดิน ซึ่งแน่นอนว่าอาชีพนี้ดูไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายเลยล่ะค่ะ

          หน้าที่ : นำข้อมูลทางวิชาการทั้งที่เกี่ยวข้องกับสัตว์และธรรมชาติ มาเผยแพร่ให้นักท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพและเข้าใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น โดยนำเสนอผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เช่น เกม รูปภาพ หรือกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่สนุก ๆ เราจะเรียกอาชีพนี้อีกอย่างกันว่า "นักสื่อความหมาย"

           แรงบันดาลใจที่ทำให้มาทำอาชีพนี้ : ชอบเรื่องสัตว์มาตั้งแต่เด็ก ๆ ได้ซึมซับความรักสัตว์มาจากครอบครัวด้วย พอโตมาก็เลยชอบที่จะอยู่กับสัตว์และธรรมชาติ ประกอบกับเป็นคนชอบพูด ชอบเล่าเรื่อง และชอบทำกิจกรรม พอที่เขาดินเปิดสอบตำแหน่งนี้ ก็เลยลองสอบ คณะกรรมการเห็นว่าเราผ่านเกณฑ์ จึงได้เข้ามาทำงานในตำแหน่งนี้

อาชีพในสวนสัตว์

          เหตุการณ์ประทับใจ : คงเป็นตอนที่ทำรูปในห้องสมุดสวนสัตว์เด็กของเขาดิน คอนเซ็ปต์ก็คือ ทำรูปสัตว์เพื่อบอกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสัตว์ตัวนั้น ๆ ที่หลายคนเข้าใจผิด เช่น สมเสร็จไม่ใช่ตัวกินมด, นอของแรดไม่ใช่กระดูก แต่เป็นขนที่รวมตัวกัน ถ้าตัดออกไปแรดก็จะเจ็บมาก, จระเข้จริง ๆ มีลิ้น แล้วถ้าโยนเหรียญลงบ่อจระเข้ มันกินเข้าไป มันก็จะตาย เรานำข้อมูลเหล่านี้มาทำเป็นการ์ตูนให้เด็ก ๆ ได้เข้าถึงอย่างง่ายดาย และเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งก็มีผลตอบรับที่ดีครับ แล้วก็จะชอบเวลาที่เราสามารถทำให้คนฟังรู้สึกสนุก และยิ้มไปกับสิ่งที่เราเล่าได้ มันเป็นความสุขอย่างหนึ่งของงานนี้ แล้วอีกอย่างที่ทำให้รู้สึกไม่เบื่อกับอาชีพนี้เลย ก็คือ เราจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทุกวัน เพราะเรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์ และธรรมชาติมีเยอะมากและเกิดขึ้นใหม่อยู่ตลอด เราก็ต้องติดตามและค้นหาความรู้อยู่เรื่อย ๆ เพื่อนำมาจัดกิจกรรมใหม่ ๆ ให้กับที่นี่

          ถ้าอยากทำอาชีพนี้ต้องเรียนอะไร : ถ้าเรียนทางด้านสายวิทยาศาสตร์ก็จะได้เปรียบหน่อย หรือสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสัตว์โดยตรง เช่น สัตวบาล แต่ที่สำคัญมากที่สุดก็คือต้องมีใจรักสัตว์ แล้วก็ชอบที่จะเป็นคนสื่อสาร เพราะบางที "คนรู้แต่ไม่อยากเล่า กับคนอยากเล่าแต่ไม่ค่อยรู้" ซึ่งอย่างหลังนี้จะทำงานได้ดีกว่า เพราะเรื่องของการเรียนรู้มันมาเรียนรู้ทีหลังได้ พอเป็นคนอยากเล่า มันก็จะสื่อสารออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

          ฝากถึงน้อง ๆ ที่อยากเดินตามรอย : อย่างแรกถามตัวเองก่อนว่าชอบเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติและสัตว์ไหม สองเป็นคนชอบเล่าเรื่องหรือสื่อความหมายหรือเปล่า ถ้าชอบก็ถือว่าสามารถทำอาชีพนี้ได้ไม่ยากแล้ว ขั้นต่อมาก็อยากให้ลองเข้ามาฝึกงาน มาลองทำดูก่อน ถ้าทำแล้วชอบ ใจมันบอกว่าใช่ ก็วางแผนมาทำอาชีพนี้กันได้เลย

2. วิทยากรแผนงานนำนักเรียนเข้าเรียนรู้ในสวนสัตว์ : คุณรัชดา เทียมเมือง (เฟิร์น)

อาชีพในสวนสัตว์

          ภาพคุ้นตาเมื่อไปเที่ยวเขาดินเราจะเห็นเด็ก ๆ กลุ่มใหญ่ ยืนฟังเจ้าหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของสัตว์ประเภทต่าง ๆ อย่างสนอกสนใจ และบางครั้งก็ยืนยิ้ม หัวเราะ ปรบมือชอบใจ หากรู้สึกสนุกไปกับสิ่งที่วิทยากรได้เล่าให้ฟัง คุณเฟิร์น-รัชดา เทียมเมือง วิทยากรแผนงานนำนักเรียนเข้าเรียนรู้ในสวนสัตว์ เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ของเขาดินที่คอยมอบความสุขให้กับเด็ก ๆ มาแล้วกว่า 3 ปี อาชีพนี้ไม่ได้เพียงแค่ทำให้เด็ก ๆ มีความสุขเท่านั้น แต่ยังสร้างจิตสำนึกที่ดีให้เกิดขึ้นในตัวเด็ก ๆ ด้วย

          หน้าที่ : ให้ความรู้กับเด็ก ๆ ที่เข้ามาเที่ยวชมสวนสัตว์ โดยจะสื่อสารโดยใช้คำพูดที่เด็ก ๆ เข้าใจและมองภาพออกได้ง่าย สอดแทรกความสนุกสนานไปพร้อมกับการให้ความรู้

           แรงบันดาลใจที่ทำให้มาทำอาชีพนี้ : สนใจเกี่ยวกับด้านงานอนุรักษ์ และสัตว์ และด้วยความที่จบสัตวศาสตร์มา ก็เลยมาลองสมัครตรงนี้ดู

อาชีพในสวนสัตว์

          เหตุการณ์ประทับใจ : คงเป็นตอนที่ได้อยู่กับเด็ก ๆ เห็นความสดใสและไร้เดียงสาของเขา เคยมีครั้งหนึ่งที่เราเดินพาเที่ยวชมรอบ ๆ สวนสัตว์แล้วเหนื่อยมาก แต่เด็ก ๆ ไปซื้อน้ำมาให้กิน ก็รู้สึกว่ามันเป็นมิตรภาพที่บริสุทธิ์ดีค่ะ และจากการที่เราได้ปลูกฝังเด็ก ๆ และเยาวชนแค่คนละเล็กคนละน้อย พอเขาได้กลับไปที่บ้าน ก็ไปถ่ายทอดให้ที่บ้านฟัง ทำให้เขาเริ่มมีหัวใจนักอนุรักษ์ นี่ก็ทำให้เรามีความสุขกับอาชีพนี้แล้ว

          ถ้าอยากทำอาชีพนี้ต้องเรียนอะไร : ควรเป็นสายวิทยาศาสตรบัณฑิต หรือไม่ก็สายเชิงอนุรักษ์ ควรมีความรู้เกี่ยวกับสัตว์มาระดับหนึ่ง ไม่ต้องลึกซึ้งก็ได้ แต่ที่สำคัญคือควรมีใจด้านการอนุรักษ์ และการบริการ เพราะอาชีพนี้จะต้องอยู่กับเด็กตลอด แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ของเด็กที่ได้มาเที่ยวชมที่นี่ แต่เราก็เปรียบเสมือนครูของเขาเลย เพราะฉะนั้นต้องทำให้เขาได้รับประโยชน์และความประทับใจมากที่สุด

          ฝากถึงน้อง ๆ ที่อยากเดินตามรอย : อาชีพนี้จะมีหน้าที่คล้าย ๆ กับการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีเกี่ยวกับสัตว์และสิ่งแวดล้อมให้กับเด็ก ๆ ก็ถามตัวเองก่อนว่าเราชอบอยู่กับเด็กไหม แล้วก็ชอบเรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์ เกี่ยวกับงานด้านการอนุรักษ์หรือเปล่า ถ้าชอบก็ลองมาเรียนรู้งานได้

3. สัตวแพทย์ประจำสวนสัตว์ : สพญ.พรสุดา โคตรพัฒน์ (น้ำผึ้ง)

อาชีพในสวนสัตว์

          คนยังต้องมีหมอคอยรักษา สัตว์ก็เช่นกันค่ะ และยิ่งถ้าเป็นสวนสัตว์ ก็ต้องมีสัตวแพทย์คอยดูแลอยู่ตลอด สำหรับที่เขาดินจะมีโรงพยาบาลเป็นศูนย์ในการดูแลรักษาสัตว์ต่าง ๆ โดยมีทีมสัตวแพทย์คอยดูแลน้อง ๆ สัตว์อย่างใกล้ชิด ซึ่ง คุณหมอน้ำผึ้ง-พรสุดา โคตรพัฒน์ ก็เป็นหนึ่งในทีมสัตวแพทย์ของเขาดินค่ะ ในทุก ๆ วันคุณหมอจะคอยติดตามเคสการรักษาน้อง ๆ ในโรงพยาบาลสัตว์ พร้อมทั้งคอยเช็กสุขภาพของสัตว์ต่าง ๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง และยังศึกษาวิจัยถึงแนวทางการดูแลรักษาสัตว์ต่าง ๆ อยู่เรื่อย ๆ เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เหมาะกับคนรักสัตว์และรักการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ

          หน้าที่ : ดูแลเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพสัตว์ วางแผนป้องกันควบคุมโรคสัตว์ วินิจฉัยหาสาเหตุการเสียชีวิตของสัตว์เพื่อทำเป็นเคสตัวอย่างและป้องกันไม่ให้เกิดกับสัตว์อื่น ๆ พร้อมทั้งทำงานวิจัยเพาะพันธุ์สัตว์ อีกทั้งยังช่วยเหลืองานเกี่ยวกับการศึกษา ให้ความรู้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

           แรงบันดาลใจที่ทำให้มาทำอาชีพนี้ : สนใจทำงานเชิงอนุรักษ์มาตั้งแต่เด็ก แล้วก็อยากทำงานเกี่ยวกับพวกสัตว์ป่าและธรรมชาติ เลยตัดสินใจเรียนทางด้านสัตวแพทย์ พอเรียนจบก็คิดว่าถ้าได้ทำงานเป็นสัตวแพทย์ในสวนสัตว์จะได้ดูแลสัตว์ป่ามากมาย และได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างจากน้อง ๆ สัตว์อื่น ๆ ด้วย ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดช่วยเหลือสัตว์ตัวอื่น ๆ ในธรรมชาติต่อไปได้อีกต่างหาก ก็เลยได้เข้ามาทำงานในสวนสัตว์แห่งนี้

อาชีพในสวนสัตว์

          เหตุการณ์ประทับใจ : มันก็มีหลากหลายปนกันไป ไม่ว่าจะมาจากงานประจำที่เราต้องทำทางด้านงานวิจัย หรืองานหลักที่เราต้องติดตามเคสการรักษา แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึกสนุกกับอาชีพนี้ก็น่าจะเป็นการที่เราได้ทำงานร่วมกับคนหลาย ๆ ฝ่าย เช้ามาได้ปั่นจักรยานไปพูดคุยกับพี่ ๆ พนักงานดูแลสัตว์ว่าสัตว์แต่ละตัวมีสุขภาพเป็นยังไง แล้วก็ยังได้อยู่กับสัตว์หลาย ๆ ชนิด ซึ่งสัตว์แต่ละชนิดจะมีพฤติกรรมไม่เหมือนกัน เราก็จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ อยู่ตลอด

          ถ้าอยากทำอาชีพนี้ต้องเรียนอะไร : ต้องเป็นคณะสัตวแพทย์ จบมาได้วุฒิการศึกษาเป็นสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต

          ฝากถึงน้อง ๆ ที่อยากเดินตามรอย : ลองดูก่อนว่าเรารักสัตว์ไหม มีความชอบ มีความสนใจเกี่ยวกับสัตว์หรือเปล่า ถ้ารู้สึกว่าชอบก็ลองไปฝึกงานดูก่อน ลองศึกษาเพิ่มเติม เพราะบางทีในโรงเรียนก็ไม่มี อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ต้องอาศัยแรงบันดาลใจค่อนข้างมาก ถ้าไม่รักจริง ๆ ก็จะทำอาชีพนี้ได้ยาก ถ้าน้องมีความตั้งใจ อยากช่วยเหลืองานทางด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า สัตวแพทย์ก็ถือว่าเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ท้าทาย คนทำงานไม่เยอะ ก็รอน้อง ๆ มาช่วยกันค่ะ


4. หัวหน้างานนักโภชนาการอาหารสัตว์ : คุณณัฐญา ทั่วประโคน (หม่อน)

อาชีพในสวนสัตว์

          เคยสงสัยกันใช่ไหมคะ ว่าสัตว์ในสวนสัตว์เขากินอาหารอย่างไร และใครกันนะ ที่คอยจัดเตรียมอาหารมาให้กับน้อง ๆ สัตว์ ซึ่งต้องบอกว่าไม่ใช่เพียงแค่พนักงานดูแลสัตว์เท่านั้นค่ะ ยังต้องมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านโภชนาการอาหารสัตว์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คุณหม่อน-ณัฐญา ทั่วประโคน หัวหน้างานนักโภชนาการอาหารสัตว์ คือหนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังของการให้อาหารสัตว์ในเขาดินค่ะ เป็นผู้ที่คอยคำนวณว่าสัตว์แต่ละชนิดจะต้องกินอะไรในปริมาณเท่าไร ต้องบอกว่าเรื่องอาหารการกินของสัตว์ต้องไว้ใจคุณหม่อนเลย

          หน้าที่ : จัดเตรียมอาหารของสัตว์ทั้งหมดในสวนสัตว์ ก็เริ่มตั้งแต่การจัดหางบประมาณอาหารสัตว์ ทำคุณลักษณะอาหารสัตว์ เพื่อจะจัดซื้ออาหารสัตว์จากผู้ประกอบการ ค้นหาข้อมูลพฤติกรรมการกินของสัตว์แต่ละชนิด เพื่อหาอาหารมาทดแทนอาหารตามธรรมชาติของสัตว์นั้น ๆ และคิดคำนวณว่าสัตว์แต่ละชนิดจะต้องกินอาหารปริมาณเท่าไรในแต่ละวัน

           แรงบันดาลใจที่ทำให้มาทำอาชีพนี้ : ตอนเด็ก ๆ ชอบดูสารคดีสัตว์ เลยอยากทำงานกับสัตว์ พอโตขึ้นก็เลยเลือกเส้นทางอาชีพที่เกี่ยวกับสัตว์ แล้วก็ได้เข้ามาทำตรงนี้

อาชีพในสวนสัตว์

          เหตุการณ์ประทับใจ : คงเป็นความท้าทายของการหาอาหารทดแทนมาให้กับสัตว์ เพราะเราจะต้องหาอาหารให้เหมือนกับอาหารที่อยู่ในธรรมชาติมากที่สุด และก็ต้องปลอดภัย ปลอดจากสิ่งปนเปื้อนต่าง ๆ เคยมีเคสหนึ่งที่ช้างผอมมาก เป็นช่วงที่เขาต้องผลัดชุดฟัน จะอารมณ์คล้าย ๆ กับคนปวดฟัน ทำให้กินอะไรไม่ได้ ร่างกายก็ซูบผอม จากเดิมที่เขากินหญ้าขนสด ซึ่งทำให้ฟันหลุดช้า ทางนักโภชนาการกับสัตวแพทย์ก็เลยปรึกษากันว่าให้ช้างเปลี่ยนมากินหญ้าต้นใหญ่ ๆ เช่น หญ้าเนเปียร์ ก็อาจจะช่วยให้ฟันเขาหลุดง่ายขึ้น ก็ทดลองไปเพียงแค่ประมาณ 2-3 เดือน ฟันช้างก็หลุด แล้วช้างก็กลับมากินได้ตามปกติ อ้วนท้วนสมบูรณ์ ถือเป็นความประทับใจอย่างหนึ่งของนักโภชนาการอาหารสัตว์ ที่เห็นสัตว์กลับมามีสุขภาพดีอีกครั้ง

          ถ้าอยากทำอาชีพนี้ต้องเรียนอะไร : ควรเป็นสายที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา พฤติกรรมศาสตร์ นิเวศวิทยา สัตวบาล เกษตรศาสตร์ สัตวแพทย์ หรือไม่ก็สิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม อ้อ...ถ้ามีทักษะทางคณิตศาสตร์ด้วยก็จะดีมาก เพราะงานสายอาชีพนี้จะต้องมีการคิดคำนวณค่อนข้างเยอะ

          ฝากถึงน้อง ๆ ที่อยากเดินตามรอย : ถ้าชอบความท้าทาย ชอบที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ก็อยากให้ลองมาทำงานทางสายอาชีพนี้ดู เพราะเรื่องราวของสัตว์และธรรมชาติมันมีเกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา เราก็จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ อยากให้น้อง ๆ มาช่วยกันดูแลให้สัตว์ในสวนสัตว์มีสุขภาพดีกันค่ะ 

5. พนักงานฝ่ายบำรุงสวนสัตว์ : คณสมพงษ์ สวัสดิ์นำ (เขียด)

อาชีพในสวนสัตว์

          สัตว์ในสวนสัตว์แต่ละแห่งไม่ใช่ว่าเอามาไว้ในส่วนจัดแสดงแล้วให้อยู่อาศัยไปวัน ๆ นะคะ สำหรับที่เขาดินสัตว์จะได้รับการดูแลอย่างดีให้เสมือนกับการอาศัยอยู่ในธรรมชาติ จากพนักงานดูแลสัตว์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสัตว์เลยทีเดียว คุณเขียด-สมพงษ์ สวัสดิ์นำ ได้ทำหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายบำรุงสวนสัตว์เขาดินมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี เรียกได้ว่าเป็นเพื่อนซี้ของสัตว์หลาย ๆ ตัวในเขาดินเลยล่ะ เพราะแทบจะต้องดูแลกันตลอด ทั้งให้อาหาร ทำความสะอาดตัวน้อง ๆ และส่วนจัดแสดง คอยพูดคุย หยอกล้อเล่นกันในทุก ๆ วัน สัตว์ก็คอยสร้างความสุขให้กับผู้เที่ยวชมไป ส่วนความสุขของสัตว์ก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพนักงานฝ่ายบำรุงสวนสัตว์ ถ้าไม่รักกันจริง ไม่ทุ่มเทให้กันขนาดนี้แน่นอน 

          หน้าที่ : ดูแลสัตว์ ทำความสะอาดสัตว์ ให้อาหาร ให้น้ำ และทำสิ่งแวดล้อมในส่วนจัดแสดงให้เหมาะสมต่อสัตว์ พร้อมทั้งต้องสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ ต้องรู้ว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ชอบนอนตอนไหน ชอบกินอะไรมากที่สุด พนักงานดูแลสัตว์จะต้องรู้ เพื่อให้สัตว์มีสุขภาพกายและใจที่ดี

           แรงบันดาลใจที่ทำให้มาทำอาชีพนี้ : ชอบอยู่กับสัตว์มาตั้งแต่เด็ก ๆ ชอบเลี้ยงสัตว์ ชอบดูสัตว์เติบโต

อาชีพในสวนสัตว์

          เหตุการณ์ประทับใจ : มีเยอะมาก แต่ถ้าถามถึงสิ่งที่ทำให้มีความสุขกับอาชีพนี้ก็คงเป็นการที่เราได้เห็นสัตว์สุขภาพดี เห็นสัตว์ที่เราเลี้ยงมีความสุข แล้วเขาก็สามารถเพาะขยายพันธุ์ มีลูกมีหลานอีกได้ เวลาลงไปหาสัตว์ มันมีความสุขนะที่ได้พูดคุย ได้ทำความคุ้นเคยกัน แล้วเราเรียกชื่อเขา เขาฟังเรารู้เรื่อง 

          ถ้าอยากทำอาชีพนี้ต้องเรียนอะไร : มีความรู้ทางด้านสัตว์ก็จะดี แต่จริง ๆ แล้วเรียนอะไรมาก็ได้ แต่ขออย่างเดียวที่สำคัญมาก ๆ คือต้องรักสัตว์ มีความเมตตาต่อสัตว์ รักธรรมชาติ เพราะคนที่ทำอาชีพนี้จะต้องอยู่กับเขาตลอดเวลา

          ฝากถึงน้อง ๆ ที่อยากเดินตามรอย : ถ้าอยากจะทำงานอาชีพนี้ ก็ควรศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ป่าและธรรมชาติมาก่อนบ้าง ลองหาข้อมูลพื้นฐานดูก่อนว่าสัตว์แต่ละชนิดมีพฤติกรรมอย่างไร เวลาถ้าได้เข้ามาทำจริง ๆ จะได้ปฏิบัติกับเขาได้อย่างถูกต้อง อย่างหมีเป็นสัตว์กินเนื้อ เวลาที่เราให้อาหารไม่ควรไปแย่งกลับคืน เพราะเขาจะหวงอาหาร หรืออย่างกวางจะมีเขาเอาไว้ป้องกันตัว บางทีอาจจะวิ่งเอาเขามาทำอันตรายเราได้ ก็ต้องรู้วีธีเข้าหาสัตว์ แต่ไม่ต้องกังวล เพราะจะมีรุ่นพี่สอนอีกทีแน่นอน แต่ขอให้เป็นคนรักสัตว์จริง ๆ เท่านั้น ก็จะสนุกกับอาชีพนี้

6. นักวิชาการสวนสัตว์ งานสัตว์เลื้อยคลาน ฝ่ายบำรุงสัตว์ : คุณณรงศักดิ์ สำราญกลาง (อ๊อด)

อาชีพในสวนสัตว์

          นอกจากพนักงานดูแลสัตว์และสัตวแพทย์ที่ต้องดูแลสัตว์อย่างใกล้ชิดแล้ว ก็ยังมีอีกหนึ่งอาชีพที่ต้องอยู่กับน้อง ๆ ตลอด นั่นก็คือ "นักวิชาการสวนสัตว์" ค่ะ เพราะจะต้องคอยสังเกตพฤติกรรมของน้อง ๆ แล้วเก็บสถิติต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวน้อง ๆ เพื่อนำไปใช้ในทางวิชาการต่อไป สำหรับที่เขาดิน ในส่วนของส่วนจัดแสดงสัตว์เลื้อยคลาน ก็มี คุณอ๊อด-ณรงศักดิ์ สำราญกลาง เป็นผู้ที่ทำหน้าที่นี้ และคุณอ๊อดยังเป็นผู้ที่คอยส่งเสริม สนับสนุนให้การดูแลสัตว์ดำเนินไปอย่างราบรื่นด้วย เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่จะคอยสร้างความสุขให้กับสัตว์ พร้อมทั้งได้ยิ้มมีความสุขกับการได้อยู่กับสัตว์ในทุก ๆ วัน

          หน้าที่ : จัดการดูแลเรื่องการให้อาหาร และสุขาภิบาลเกี่ยวกับสัตว์ คอยสนับสนุนอุปกรณ์ในการเลี้ยงและดูแลสัตว์ พร้อมทั้งรวบรวมเก็บสถิติทุกอย่างเกี่ยวกับสัตว์ในส่วนจัดแสดงที่ได้รับมอบหมาย

           แรงบันดาลใจที่ทำให้มาทำอาชีพนี้ : รักและชอบที่จะอยู่กับสัตว์ ชอบสังเกตพฤติกรรมสัตว์ ก็เลยอยากที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมสัตว์อื่น ๆ ที่นอกเหนือจากปศุสัตว์อย่างพวกสัตว์ป่า ซึ่งก็มีทั้งสัตว์ป่าของไทยและต่างประเทศ ความน่าสนุกของงานนี้อยู่ที่พฤติกรรมสัตว์จะไม่เหมือนกันสักช่วง แต่ละช่วงเวลาเขาจะมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป เราก็จะได้เรียนรู้เขาอยู่เรื่อย ๆ ไม่เบื่อเลย

อาชีพในสวนสัตว์

          เหตุการณ์ประทับใจ : ประทับใจหมด แต่จะพูดถึงความชอบในการทำงานตรงนี้ดีกว่า ก็คือว่า เราจะได้มาเดินดูสัตว์ทุกเช้า มาดูว่าตัวนี้กินเป็นยังไง ขับถ่ายดีไหม อย่างเต่าบก เขาได้รับแสงแดดเพียงพอหรือเปล่า ต้นไม้กิ่งไม้บังแสงแดดเขาไหม ถ้าดูแล้วไม่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย ก็มาจัดการจัดตกแต่ง นี่คือความสุขในการทำงานตรงนี้ 

          ถ้าอยากทำอาชีพนี้ต้องเรียนอะไร : เกี่ยวกับวิทยาศาสตรบัณฑิตก่อนก็ได้ครับ หรือจะเรียนที่เกี่ยวกับสัตว์โดยตรงก็ได้ เช่น สัตวศาสตร์, สัตวบาล และสัตวแพทย์

          ฝากถึงน้อง ๆ ที่อยากเดินตามรอย : อาชีพนี้อยู่กับสัตว์ตลอด และต้องช่างสังเกต เพราะฉะนั้นถ้าชอบอยู่กับสัตว์ รักสัตว์ ชอบสังเกตพฤติกรรมสัตว์ ก็มาลองเรียนรู้งานทางด้านนี้ได้ครับ 

          เป็นอย่างไรบ้างคะ กับอาชีพต่าง ๆ ในสวนสัตว์ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีหลากหลายอาชีพที่เรานึกไม่ถึงกันจริง ๆ ว่าจะมีในสวนสัตว์ด้วย ใครที่ชอบอยู่กับสัตว์และใฝ่ฝันว่าอยากทำงานอยู่กับสัตว์ในสวนสัตว์ ก็ลองไปทำความรู้จักกับอาชีพเหล่านี้กันได้ค่ะ สนุกแน่นอน :) 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จุดประกายฝัน 6 อาชีพในสวนสัตว์ มีอะไรบ้าง อัปเดตล่าสุด 2 มิถุนายน 2565 เวลา 13:47:17 61,288 อ่าน
TOP