x close

อุยกูร ชาวทะเลทราย ผู้ทรนง บนทางสายไหม



อุยกูร ชาวทะเลทราย ผู้ทรนง บนทางสายไหม

อุยกูร ชาวทะเลทราย ผู้ทรนง บนทางสายไหม

 




อุยกูร ชาวทะเลทราย ผู้ทรนง บนทางสายไหม (กรุงเทพธุรกิจ)

โดย  จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์

          ทางสายไหม นับเป็นเส้นทางเก่าแก่ เชื่อมโยงโลกตะวันตกและตะวันออกเข้าไว้ด้วยกัน

          ทางสายไหมมิใช่เป็นเส้นทางการค้าเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงชุมชน เมือง สังคมวัฒนธรรม และเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลายที่ประสานสัมพันธ์กันบนเส้นทางเก่าแก่ที่สุดสายหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

          ในบรรดาผู้คนที่อาศัยอยู่บนทางสายไหม ชาวอุยกูร (Uyghur) นับเป็นประชาชาติเก่าแก่ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนเส้นทางสายไหมมายาวนานหลายศตวรรษ  สันนิษฐานว่าชาวอุยกูรมีถิ่นฐานเดิมแถบเทือกเขาอัลไต เป็นหนึ่งในบรรดากลุ่มชนเร่ร่อนชาติพันธุ์เตอร์ก (Turkic ethnic group) ซึ่งตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ตั้งแต่เขตแดนตะวันตกของจีน ไปจนถึงแถบทะเลสาบแคสเปียน  

          ราว ค.ศ.744 ชาวอุยกูรได้สถาปนาอาณาจักรของพวกเขาขึ้น โดยมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่เอเชียกลาง ตั้งแต่ทะเลสาบแคสเปียนทางตะวันตกถึงแมนจูเรียทางตะวันออก

          ในยุคนี้ราชวงศ์ถังของจีนได้อาศัยความสัมพันธ์อันดีกับอาณาจักรอุยกูรเพื่อขยายการค้าบนเส้นทางสายไหม จนทำให้ชาวอุยกูรมั่งคั่งร่ำรวย กระทั่งถึง ค.ศ.840 อาณาจักรเข้าสู่ยุคเสื่อม เนื่องจากเกิดปัญหาข้าวยากหมากแพงและสงครามภายใน จึงถูกชนชาติคัยร์กิย์ซ (Kyrgyz) ซึ่งเคยอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรอุยกูรบุกเข้าทำลายเมืองหลวง 

          จากนั้นชาวอุยกูรต้องอยู่ภายใต้อำนาจของชนกลุ่มต่างๆ ที่ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมามีอิทธิพล ได้แก่ พวกจีนฮั่น พวกเตอร์กเผ่าต่างๆ รวมทั้งมองโกล แม้จะอยู่ใต้อิทธิพลของชนชาติอื่น แต่ชาวอุยกูรก็ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้มีดินแดนของตนเองเรื่อยมาโดยเฉพาะจีนซึ่งขยายอิทธิพลเข้ามาควบคุมดินแดนอันเป็นถิ่นฐานของชาวอุยกูรตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์หยวน  

          ต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิง จักรพรรดิจีนได้ส่งกองทัพเข้ายึดครองดินแดนทางตะวันตกซึ่งรวมทั้งถิ่นที่อยู่ของชาวอุยกูร ทำให้ชนพื้นเมืองก่อการจลาจลถึง 42 ครั้ง

          กระทั่งถึง ค.ศ.1864 ชาวอุยกูรประสบความสำเร็จ ตั้งรัฐอิสระของตัวเองในนามอาณาจักรกัชคาเรีย (Kashgaria Kingdom)

          ต่อมาใน ค.ศ.1884 กองทัพชิงผนวกดินแดนของชาวอุยกูรเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีน ที่เรียกว่า "หุยเจียง" (Hui Jiang) หมายถึงดินแดนของมุสลิม ประกอบด้วยชนเผ่าต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ซินเจียง" (Xingjing) หมายถึง "เขตแดนใหม่"

          ชาวอุยกูรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามซึ่งแผ่ขยายเข้าสู่เส้นทางสายไหมตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 และขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10-11 ชนเชื้อสายเตอร์กเผ่าต่างๆ ได้หันมานับถือศาสนาอิสลาม รวมทั้งชาวอุยกูร ศาสนาอิสลามเข้าไปผสมผสานกับวัฒนธรรมจีนและวัฒนธรรมของชนเร่ร่อนเกิดเป็นแบบแผนอันเป็นเอกลักษณ์สืบเนื่องต่อมา 

          ปัจจุบันชาวอุยกูรตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในเขตประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในดินแดนเตอร์กิสถานตะวันออก ซึ่งจีนคอมมิวนิสต์ได้ผนวกไว้เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐ

          ชาวอุยกูรได้จัดตั้งองค์กรใต้ดินเพื่อปลดแอกตนเองจากการปกครองของจีนและจัดตั้งรัฐอิสระที่เรียกว่า "อุยกูรสถาน" (Uyghurstan) หรือเตอร์กิสถานตะวันออก เป็นที่มาของความขัดแย้งกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์อยู่เป็นระยะๆ

          การค้นพบทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่ามากมายทำให้รัฐบาลจีนเข้าไปควบคุมซินเจียงอย่างเข้มงวด ประมาณว่ามีปริมาณถ่านหินและน้ำมันปิโตรเลียมในเขตนี้ถึง 1 ใน 3 ของปริมาณทั้งหมดของจีน

          บ่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในซินเจียง มีเนื้อที่ประมาณ 74,000 ตารางกิโลเมตร แหล่งสำรองน้ำมันปิโตรเลียมราว 20,800 ล้านตัน และทรัพยากรก๊าซธรรมชาติมากกว่า 10,000,000 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 30% ของทรัพยากรน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติทางบกทั้งหมดของจีน นอกจากนี้ทรัพยากรถ่านหินของซินเจียงยังมีกว่า 2 ล้านล้านตัน คิดเป็น 40% ของถ่านหินทั้งหมดของจีน 

          ผลประโยชน์มากมายมหาศาล ของดินแดนอันเปรียบเสมือนทะเลแห่งโภคทรัพย์นี้กระมัง ที่ทำให้ชาวอุยกูรยังคงต้องรอคอยความหวังแห่งอิสรภาพต่อไป

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อุยกูร ชาวทะเลทราย ผู้ทรนง บนทางสายไหม อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13:54:48 1,171 อ่าน
TOP