x close

อินเดียเผยโฉมสนามบินพลังงานแสงอาทิตย์ ผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ ไม่ต้องง้อโรงงาน !



         
          เที่ยวอินเดีย ถ้าเกิดมีโอกาสได้แวะไปที่สนามบินโกชิน ขอให้รู้ไว้เลยว่าคุณกำลังอยู่ในสนามบินแห่งแรกในโลกที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เต็มระบบ ช่วยประหยัดพลังงานได้ 100 % น่าสนใจสุด ๆ ไปเลย


          เรื่องของการประหยัดพลังงาน เป็นสิ่งที่ยังคงมีกระแสตื่นตัวกันอยู่เสมอ เพราะโลกของเรามีพลังงานอยู่อย่างจำกัดและจำเป็นจะต้องประหยัดเอาไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ใช้กัน นอกจากนี้ก็ยังมีการสรรหาพลังงานรูปแบบใหม่ ๆ ที่สามารถใช้ได้อย่างไม่จำกัดรวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ กระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม หรือกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งล่าสุดก็มีสนามบินแห่งหนึ่งในประเทศอินเดียหยิบเอาไอเดียการประหยัดพลังงานที่ต้องขอบอกว่าน่าชื่นชม โดยการเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งระบบ ช่วยประหยัดพลังงานได้อย่างมหาศาลเลยล่ะ อยากรู้กันแล้วใช่ไหมล่ะว่าเป็นที่ไหน ไปดูกันเลย



          เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2558 เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ Cochin International airport ในรัฐเกรละ ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย ได้รายงานว่า สนามบินโกชินได้กลายเป็นสนามบินแห่งแรกในโลกที่เปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์อย่างสมบูรณ์แบบทั้งระบบ หลังจากที่ได้มีการติดตั้งแผงพลังงานโซลาร์เซลล์ขนาด 12 MWp กว่า 46,150 แผ่นลงบนพื้นที่กว่า 114 ไร่ ใกล้กับศูนย์โกดังสินค้า โดยแผงพลังงานโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งนี้ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 50,000-60,000 ยูนิตต่อวัน

          ทั้งนี้สนามบินได้เริ่มต้นโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2013 โดยการเริ่มติดตั้งแผงพลังงานโซลาร์เซลล์ขนาด 100 kWp บนหลังคาของอาคารผู้โดยสารขาเข้า ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี หลังจากนั้นจึงเริ่มขยายพื้นที่ติดตั้งจากอาคารผู้โดยสารขาเข้าไปยังโรงซ่อมบำรุงอากาศยานต่อ โดยได้ติดตั้งแผงพลังงานโซลาร์เซลล์ขนาด 1MWp ทั้งบนหลังคาและพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงซ่อมบำรุง ซึ่งในครั้งนี้ก็ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน และหลังจากความสำเร็จทั้ง 2 ครั้ง จึงทำให้เกิดการติดตั้งแผงพลังงานเพิ่มเติมบนเนื้อที่ 144 ไร่นี้นั้นเอง

          การติดตั้งแผงพลังงานโซลาร์เซลล์ในครั้งนี้จะทำให้สนามบินสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เองได้เพิ่มขึ้นถึง 48,000 ยูนิต ซึ่งรวมกับของเดิมที่ติดตั้งไปก่อนหน้าทั้ง 2 ครั้งจะทำให้สนามบินสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 52,000 ยูนิตต่อวัน ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการของสนามบินในแต่ละวัน นอกจากนี้พลังงานที่คงเหลือจากการใช้แล้วก็ไม่ได้ถูกเก็บสะสมไว้ แต่ได้ถูกจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าของรัฐเกรละ ซึ่งทางรัฐก็จะทำการซื้อคืนเพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนต่อไป



          โดย Mr.V.J.Kurian IAS ผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัทท่าอากาศยานนานาชาติโกชิน ได้เปิดเผยว่า ที่โครงการนี้เกิดขึ้นและสำเร็จลงได้ก็เพราะก่อนหน้านี้สนามบินต้องจ่ายค่าไฟสูงมาก จากการใช้ไฟฟ้าถึงวันละ 48,000 ยูนิตต่อวัน ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วสนามบินก็สามารถผลิตพลังงานใช้เองได้ ขณะที่ยังมีการคาดคะเนอีกว่า การติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์นี้ จะทำให้สนามบินสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึงปีละ 18 ล้านยูนิต ซึ่งเทียบเท่ากับพลังงานไฟฟ้าที่จ่ายให้บ้าน 1,000 หลัง ในระยะเวลา 1 ปีอีกด้วย และภายในอีก 25 ปีข้างหน้า พลังงานเหล่านี้จะสามารถช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากถ่านหินที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 30 ล้านตันได้ ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ถึง 3 ล้านต้น !

          ต้องชื่นชมกับความสำเร็จครั้งนี้เลยนะคะที่ทั้งสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้ได้เองและยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ดีเยี่ยม ถ้าทุก ๆ ประเทศร่วมมือกันทำแบบนี้ก็รับรองได้เลยว่าต้องมีทรัพยากรธรรมชาติเหลือไว้ให้ลูกหลานของเรา แถมยังได้สิ่งแวดล้อมดี ๆ กลับคืนมาอย่างแน่นอนเลย แต่ถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถทำได้ เราก็สามารถช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกัน แค่เพียงประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้า ปิดเมื่อไม่ใช้ และใช้เท่าที่จำเป็น เท่านี้ก็ถือเป็นการช่วยโลกของเราได้เยอะแล้วล่ะ


ภาพจาก Cochin International airport


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อินเดียเผยโฉมสนามบินพลังงานแสงอาทิตย์ ผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ ไม่ต้องง้อโรงงาน ! อัปเดตล่าสุด 27 สิงหาคม 2558 เวลา 17:01:11 4,284 อ่าน
TOP