x close

คู่มือ 10 สุดยอดแหล่งท่องเที่ยวหน้าฝน

เที่ยวหน้าฝน
10 แหล่งท่องเที่ยวหน้าฝน บรรยากาศดี

คู่มือ 10 สุดยอดแหล่งท่องเที่ยวหน้าฝน (อ.ส.ท.)


          เมื่อฝนแรกโปรยละออง ก็คล้ายท่วงทำนองเปี่ยมชีวิตแห่งขุนเขา สายน้ำไหลหลั่งเต็มหน้าผา โจนลงมาเป็นน้ำตกอันงดงาม ลำธารเปี่ยมปริ่มเย็นใสผืนดินชุ่มฉ่ำสมบูรณ์ พรรณไม้ที่หลับใหลมาเนิ่นนานก็ได้เวลาฟื้นคืน แตกยอด ผลิตดอกใบ ภูไพรฤดูฝนให้อารมณ์รื่นรมย์ เย็นตา ภูเขามักห่มหมอกขาวในยามเช้า รุ้งทอสายยามแดดส่องฉาย และเช่นกันดอกไม้นานาก็ล้วนพากันผลิบาน ทั้งเหลืองละมุน แดงสด ส้มแสด ฟ้าคราม ขาวสะอาด และเขียวสดใส ราวกับป่าใหญ่แต่งแต้มด้วยพู่กันหลากสี

          บนยอดดอยแห่งภาคเหนือ ป่าดึกดำบรรพ์อุดมสมบูรณ์เต็มที่ ไม้ใหญ่ขึ้นคลุมด้วยมอสและไลเคน ดั่งห่มคลุมด้วยผืนผ้าสีเขียวนุ่มหนา ภูหินทรายแห่งภาคอีสานกลับมาเขียวขจี ไม่เพียงความชุ่มชื้นฉ่ำเย็น บรรดาดอกไม้ป่าก็ผลิพราวไปทั่วพลาญหิน จากที่เคยมีเพียงสีน้ำตาลแห้งแล้ง ก็คล้ายประดับประดาด้วยลวดลายหลากสี เช่นเดียวกับภาคใต้ แม้ความชุ่มชื้นจะห่มคลุมภูเขาตลอดปี ทว่าในห้วงยามนี้ยามฝนโปรยละออง ไม้บางสายพรรณก็ได้ผลิพร่างเบ่งบาน ประหนึ่งลำนำอันอ่อนหวานแห่ห้วงฤดู ภูไพรจึงไม่เพียงชุ่มฉ่ำด้วยน้ำฝน น้ำตกจึงไม่เพียงไหลรี่เปี่ยมล้นหนทางสู่ภูเขายังรื่นรมย์ด้วยดอกไม้รื่นรมย์เพลินใจ ใต้ละอองฝนโปรยปราย

อินทนนท์ ต้นทางสู่หิมาลัย

ที่เที่ยวหน้าฝน

          กล่าวได้ว่า “ดอยอินทนนท์” คือ ส่วนหนึ่งของขุนเขาหิมาลัยอันยิ่งใหญ่ที่ความสูง 2,565 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของประเทศไทย เราจะพบสิ่งมีชีวิตเฉกเช่นหิมาลัย ซึ่งทอดลดหลั่นจากประเทศเนปาล ภูฎาน เมียนมาร์ มายังจังหวัดเชียงใหม่

          เราสามารถขึ้นไปสัมผัส “หิมาลัย” ได้โดยทางหลวงหมายเลข 1009 ระหว่างทางจะผ่านน้ำตกสวยหลายแห่ง เช่น น้ำตกแม่กลาง น้ำตกแม่ยะ น้ำตกวชิรธาร ที่กิโลเมตร 31 จะถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลและภาพถ่ายน่าชม กิโลเมตรที่ 41 จะผ่านพระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ซึ่งสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ แล้วถนนจะไปสิ้นสุดที่จุดสูงสุด

          อ่างกาหลวง แอ่งน้ำซับบนยอดดอย ที่มาของชื่นขุนเขาแห่งนี้ บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ไม้ใหญ่อย่างก่อและจำปีป่าแผ่กิ่งร่มครึ้ม ตามลำต้นห่มคลุมด้วยมอสและไลเคนนุ่มหนา ขณะพื้นล่างจะปูลาดด้วย ข้าวตอกฤๅษี รอบ ๆ นี้เองที่จะมีโอกาสพบซาลาแมนเดอร์และนกกินปลีหางยาวเขียว ชีวิตแห่งหิมาลัย, กิ่วแม่ปาน ทางเดินจะผ่านป่าดิบเขาสมบูรณ์ น้ำตกเล็ก ๆ ร่มรื่น จากนั้นจะทอดออกสู่ทุ่งหญ้า เลาะเลียบหน้าผา หากโชคดีจะมีโอกาสพบกวางผา สัตว์สงวน 1 ใน 15 ชนิด ของบ้านเรา รวมถึงกุหลาบพันปีพรรณไม้ประจำประเทศเนปาล อันเปรียบเหมือนสัญลักษณ์แห่งหิมาลัย



          การเดินทาง

          ยอดดอยอินทนนท์อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ 106 กิโลเมตร ทางค่อนข้างคดโค้งไต่ชัน ฤดูฝนถนนลื่น ควรตรวจสภาพรถยนต์ก่อนเดินทาง จากอำเภอจอมทองมีรถสองแถวให้บริการถึงที่ทำการอุทยานฯ สามารถเหมาไปยังจุดด่าง ๆ ได้

          สิ่งอำนวยความสะดวก

          อุทยานฯ มีบ้านพักลานกางเต็นท์ ร้านสวัสดิการ และกิจกรรมของเยาวชนชาวม้งให้บริการ โทรศัพท์ 0 5326 8550, 0 5326 8577

          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

          ททท. สำนักงานเชียงใหม่ โทรศัพท์ 0 5324 8604, 0 5324 8607, 0 5324 8605


สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ชีวิตงามแห่งแดนดอย



          แรกเริ่มสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมพรรณไม้ในการอนุรักษ์ ขยายพันธุ์ และศึกษาวิจัย ทว่าด้วยความงดงามและสีสันจึงทำให้งาน “ศูนย์บริการการศึกษาและทัศนนิเวศน์” กลับโดดเด่นเป็นที่สนใจในเวลาต่อมา

          ท่ามกลางทิวดอยลดหลั่นอาคารพรรณไม้ต่าง ๆ จัดสร้างอย่างลงตัวบนเนื้อที่ 6,500 ไร่ โดดเด่นด้วยอาคารเรือนกระจก ซึ่งจัดแสดงพรรณไม้ป่าดิบถิ่นใต้ อย่างเช่น “ปาล์มหลังขาว” ซึ่งโลกนี้พบเพียงที่ภูเก็ตและสุราษฎร์ธานีเท่านั้น ถัดกันเป็นเรือนรวบรวมพรรณไม้ทะเลทราย กระบองเพชรหลากหลายพันธุ์ทั้งเติบโตและผลิดอกสีสวยอยู่ในนั้นใกล้ ๆ กันเป็นอาคารของบรรดาพืชกินซาก กล้วยไม้ และพรรณไม้น้ำ โดยเฉพาะบัววิกตอเรียที่บ้านเกิดอยู่ไกลถึงป่าอะเมซอนประเทศบราซิล นอกจากนี้ยังมีกล้วยไม้ถิ่นเหนืออีกมากหลาย โดยเฉพาะรองเท้านารีอินทนนท์ ซึ่งเปรียบดั่งอัญมณีแห่งแดนดอยเชียงใหม่




          การเดินทาง

          จากเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 1096 ไปอำเภอแม่ริมราว 12 กิโลเมตร สวนพฤกษศาสตร์ฯ อยู่ริมถนนด้านซ้าย

          สิ่งอำนวยความสะดวก

          เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น. มีร้านขายของที่ระลึก เช่น เสื้อ พวงกุญแจ กล้วยไม้ในขวด

          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

          สวนพฤกษศาสตร์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ โทรศัพท์ 0 5384 1000


ภูสอยดาว พร่างพราวด้วยดอกไม้



          กล่าวได้ว่าเสน่ห์ของภูสอยดาว คือ ยามที่หงอนนาคผลิบานทั่วทั้งยอดภู แม้จะต้องเดินไต่ความสูงชันขึ้นไปกว่า 4 ชั่วโมง ทว่าก็คุ้มค่ายิ่งเมื่อได้เห็นภาพดังกล่าวตรงหน้า

          ที่ความสูง 1,633 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ช่วงฤดูฝนเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปี บนยอดภูจะผลิพราวด้วยดอกหงอนนาคสีม่วงสดใส แซมด้วยหญ้ารากหอมสีบานเย็น และสร้อยสุวรรณาสีเหลืองละมุน ท่ามกลางสนสามใบที่ยืนต้นสูงเปลาราวภาพเขียน นอกจากทุ่งหงอนนาคยังมีทางเดินชมป่าดิบเขา ชมน้ำตกสายทิพย์ ซึ่งแม้จะมีขนาดเล็ก ทว่าก็งดงามด้วยมอสสีเขียวสด ราวกับห่มคลุมด้วยผืนผ้านุ่มหนา



          การเดินทาง

          จากจังหวัดพิษณุโลก ใช้ทางหลวงหมายเลข 11 ไปอุตรดิตถ์ จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 1246 ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 1143 ผ่านอำเภอชาติตระการแล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 1237 ผ่านบ้านบ่อภาคแล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 1268 ที่ทำการอุทยานฯ อยู่ตรงน้ำตกภูสอยดาว

          สิ่งอำนวยความสะดวก

          การเดินขึ้นภูสอยดาวสามารถไปได้ด้วยตัวเอง ควรเตรียมทุกอย่างไปให้พร้อมทั้งเสื้อกันฝน เป้กันน้ำฝน เต็นท์ เสบียงอาหาร และหากต้องการลูกหาบควรสอบถามอุทยานฯ ล่วงหน้า ทั้งนี้มีบริษัททัวร์จัดเที่ยวภูสอยดาวหลายบริษัทด้วยกัน ค่อนข้างสะดวกสบาย เพราะมีการจัดเตรียมทุกอย่างครบครัน

          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

          อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว โทรศัพท์ 0 5543 6001-2


ทุ่งแสลงหลวง ดั่งผืนพรมสีเขียวกลางป่าสน



          กล่าวได้ว่าความงามของอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง คือ ทุ่งหญ้ากว้างและป่าสนสองใบ ในฤดูหนาว “ทุ่งหญ้าสะวันนา” ซึ่งเป็นชื่อเรียกขานนั้น งดงามด้วยสีเหลืองทองของต้นหญ้าที่ผลัดเปลี่ยนสี ขณะฤดูฝนไม่เพียงทุ่งหญ้าจะเขียวขจีประหนึ่งประหลาดด้วยผืนพรม พรรณไม้นานาก็พร้อมกันผลิดอกใบ



          ทุ่งแสลงหลวง คือ ทุ่งหญ้ากว้างที่บอกเล่าระบบนิเวศได้เป็นอย่างดีความงามนี้ประกอบด้วยหญ้าหลากหลายชนิด เช่น หญ้าขน หญ้าคมบางหญ้าคา ขณะตามพื้นดิน ต้นเข้าพรรษาและกระเจียวจะผลิบานดอกแทรกด้วยรอยตีนช้างป่าและกระต่ายป่า สัตว์แห่งทุ่งหญ้ากว้าง

          ทุ่งนางพญา อยู่ห่างจากทุ่งแสลงหลวงราว 15 กิโลเมตร เป็นทุ่งหญ้าแวดล้อมด้วยป่าสนสองใบ หากสังเกตตามคาคบ อาจพบเอื้องชะนีและเอื้องคำปากไก่ กล้วยไม้ดอกสีสวย, ทุ่งโนนสน ทุ่งหญ้าใจกลางผืนป่าทุ่งแสลงหลวง เหมาะสำหรับผู้ชื่นชอบเดินป่าและปั่นจักรยานเสือภูเขา ทางจะทอดเข้าไปยังใจกลางทุ่งหญ้าและป่าสนสองใบสมบูรณ์ นอกจากทุ่งหญ้ารอบ ๆ อุทยานฯ ยังมีจุดน่าชม เช่น น้ำตกแก่งโสภา ซึ่งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 12 กิโลเมตรที่ 72 แก่งวังเย็น ซึ่งอยู่ระหว่างทางไปทุ่งโนนสน เหมาะสำหรับกางเต็นท์ค้างแรม ชมนกและผีเสื้อ



          การเดินทาง

          ที่ทำการอุทยานฯ อยู่ริมทางหลวงหมายเลข 12 ห่างจากจังหวัดพิษณุโลกราว 80 กิโลเมตร หน่วยพิทักษ์ป่าหนองแม่นา ซึ่งเป็นจุดเที่ยวชมทุ่งแสลงหลวงอยู่ห่างที่ทำการอุทยานฯ ราว 60 กิโลเมตร ใช้เส้นทางไปยังอำเภอเขาค้อ แล้วแยกขวาใช้ทางหลวงหมายเลข 2258

          สิ่งอำนวยความสะดวก

          ที่ทำการอุทยานทุ่งแสลงหลวงและที่หน่วยฯ หนองแม่นามีที่พักและลานกางเต็นท์ให้บริการ

          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

          อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง โทรศัพท์ 0 5526 8019


ภูหินร่องกล้า เติบงามบนภูผาหิน



          กล่าวได้ว่า “ภูหินร่องกล้า” เป็นทั้งสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และแหล่งธรรมชาติอันงดงาม ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การเมืองโลกถูกแบ่งฝ่ายเป็นทุนนิยมสังคมนิยม ที่นี่เคยเป็นฐานที่มั่นสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) นักศึกษายุค 14 ตุลาฯ ร่วมต่อสู้กับพี่น้องชาวม้งบนนี้

          ทางหลวงหมายเลข 2331 ซึ่งทอดผ่านยอดภู นำพาไปเยือนสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงเรียนการเมืองการทหารของ พคท. ซึ่งอยู่ห่างที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า 3.5 กิโลเมตร ผ่านสงครามอุดมการณ์ราวนั้นภูหินร่องกล้าก็ยังงดงามน่าชม น้ำตกยังไหลหลั่งโจนสาย อย่างน้ำตกร่มเกล้าภูราดร ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ โรงเรียนการเมืองฯ น้ำตกหมันแดง ที่แม้จะต้องเดินลงหุบลึกลิ่ว ทว่าก็สวยด้วยเชิงชั้นและดอกลิ้นมังกรสีชมพูอ่อนหวาน

          เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติก็น่าเที่ยวชม ทั้งเส้นทางไปลานหินแตกและลานหินปุ่ม ฤดูฝนเช่นนี้พรรณไม้จะผลิดอกหลากสีทั่วลานหิน, กุหลาบขาวแย้มกลีบขาวสะอาดเปราะหินอวดดอกเหลืองนวลตามแผ่นหินชุ่มชื้น กล้วยไม้ช้างงาเดียวแทงดอกอยู่ทั่ว ตาเหินไหวบานดอกขาวพราวราวภาพเขียน จากอุทยานฯ ไปต่ออีก 30 กิโลเมตร จะถึงภูทับเบิก แหล่งท่องเที่ยวซึ่งกำลังได้รับความนิยม เพราะมีทั้งทิวทัศน์สวย มีที่พักและร้านอาหารบรรยากาศดี



          การเดินทาง

          แนะนำให้ขึ้นภูหินร่องกล้าที่อำเภอนครไทย เพราะจะเที่ยวชมจุดต่าง ๆ ตามข้อมูลข้างต้นไม้สะดวก ขากลับก็ลงทางภูทับเบิกได้เลย แม้จะเป็นเส้นทางชันดิ่งคดเคี้ยว ทว่าหากขับขี่อย่างระมัดระวังและใช้เกียร์ต่ำตลอดทางจะได้อรรถรสในการเดินทาง

          สิ่งอำนวยความสะดวก

          อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้ามีบ้านพัก ลานกางเต็นท์ ร้านอาหารให้บริการทุกวัน

          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

          อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า โทรศัพท์ 0 5535 6607, 0 5523 3527


สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า เบ่งบานจากเถ้าแห่งวันวาร



          หากย้อนอดีตกลับไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 บ้านร่มเกล้า อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก คือ สมรภูมิสู้รบระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ความสูญเสียมีมากมายที่ชายแดนแห่งนี้ ในเวลาต่อมาเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือน พระองค์มีพระราชดำริให้จัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2542 ถึงวันนี้สวนพฤกษศาสตร์ฯ น่าชมด้วยทิวทัศน์และพรรณไม้หลากหลาย

          ที่สำนักงานและบนยอดภูสามารถชมทะเลหมอกฤดูฝนได้ ขณะเรือนเพาะชำมีกล้วยไม้กว่า 300 ชนิดทั้งพันธุ์ท้องถิ่นและพันธุ์ต่างถิ่นหายาก เช่น กล้วยไม้สิงโตสยาม ประทัดอ่างขาง รองเท้านารีคางกบคอแดง ในแปลงเพาะพันธุ์ไม้ยืนต้นมีทั้งไม้ทั่วไปและไม้หายาก เช่น จำปีจำปา ซึ่งมีมากกว่า 20 ชนิด กระดังงา 25 ชนิด รวมถึงพืชตระกูลขิง-ข่า และที่โดดเด่นกว่าพรรณไม้อื่นใด คือ “สร้อยสยาม” พรรณไม้เฉพาะถิ่นของที่นี่ และเอื้องเทียนภูหินพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกที่ตั้งชื่อเมื่อไม่นานมานี้



          การเดินทาง

          จากจังหวัดพิษณุโลกใช้ทางหลวงหมายเลข 11 แล้วแยกขวาใช้ทางหลวงหมายเลข 1296 ไปอำเภอโบสถ์ จากนั้นเลี้ยวขวาใช้ทางหลวงหมายเลข 1143 ไปอำเภอชาติตระการ เลยตัวอำเภอมาราว 100 เมตร เลี้ยวซ้ายใช้ทางหลวงหมายเลข 1237 ถึงสามแยกเลี้ยวขวาใช้ทางหลวงหมายเลข 1237 ถึงสามแยกเลี้ยวขวาใช้ทางหลวงหมายเลข 1268 ก่อนถึงบ้านร่มเกล้าจะมีทางแยกซ้ายขึ้นไปสวนพฤกษศาสตร์มีป้ายบอกชัดเจน

          สิ่งอำนวยความสะดวก

          มีบ้านพักขนาด 15-20 คน 1 หลัง ลานกางเต็นท์ สามารถสั่งทำอาหารได้

          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

          สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า โทรศัพท์ 0 5531 6713, 08 1278 4994


ภูหลวง มรกตแห่งอีสาน



          แม้จะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามีวัตถุประสงค์หลักในการอนุรักษ์พรรณไม้และสัตว์ป่า ทว่าก็มีพื้นที่ซึ่งเปิดให้สัมผัสและเรียบร้อยธรรมชาติ

          หน่วยพิทักษ์ป่าโคกนกกระบา คือ “ห้องรับแขก” ของภูหลวง ที่ความสูง 1,400 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ผู้มาเยือนจะได้สัมผัสกล้วยไม้กว่า 170 ชนิด โดยเฉพาะรองเท้านารีสุขะกุล ซึ่งบนโลกพบเพียงที่นี่และในป่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

          เราสามารถสัมผัสความพิเศษนี้ด้วยเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ซึ่งมีให้เลือก 3 เส้นทางด้วยกัน คือ

          1. วงรอบเล็ก ลานสุริยัน ระยะทาง 1,871 เมตร ทางเดินจะทอดเข้าไปในป่าไม้พุ่มราวกับสวนบอนไซ สองข้างทางปรากฏกล้วยไม้หลากหลาย เช่น เอื้องตาเหินดอกขาวนวล เอื้องคำสีเหลืองสดใส ปลายทางอยู่ที่ “นกกระบา” หินรูปทรงเหมือนนกตบยุง ที่เกิดจากการตกผลึกของแมกมา

          2. วงรอบใหญ่ โคกนกกระบารอยเท้าไดโนเสาร์ ระยะทางราว 4 กิโลเมตร ทางเดินจะเลาะริมหน้าผาผ่านโคกพรหมจรรย์ จุดชมตะวันขึ้นที่ผาช้างผ่าน ผาสมเด็จ ผาเตลิ่น และรอยเท้าไดโนเสาร์คาร์โนชอร์ ซึ่งมีอายุราว 100-140 ล้านปีในยุคโลกเก่า

          3. เส้นทางแปกดำ-แปกใหญ่ ระยะทาง 7.8 กิโลเมตร ทางเดินจะผ่านแปกดำ-ป่าสนสามใบซึ่งยืนต้นหนาแน่นเป็นสีดำแปลกตา ถัดไปอีก 2 กิโลเมตร จะถึงแปกใหญ่ เป็นป่าสนสามใบต้นสูงใหญ่นำชม

          นอกจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติยังมีจุดน่าชมใกล้ ๆ หน่วยฯ อย่างผาสมเด็จ ซึ่งทั้งทิศทัศน์สวยและทะเลหมอกในยามเช้า



          การเดินทาง

          จากอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ไปตามทางหลวงหายเลข 203 ถึงกิโลเมตรที่ 35 แยกขึ้นภูหลวงที่บ้านสานตมระยะทาง 16 กิโลเมตร ถึงสำนักงานเขตฯ ภูหลวงจากนั้นใช้ทางคอนกรีตขึ้นหน่วยฯ โคกนกกระบาอีก 14 กิโลเมตร ทางค่อนข้างดีรถเก๋งสามารถใช้ทางได้

          สิ่งอำนวยความสะดวก

          หน่วยฯ โคกนกกระบาเปิดให้เข้าชมทุกวัน ด่านตรวจเปิด 08.00-15.00 น. หากค้างแรมต้องทำหนังสือขออนุญาตที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่ากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน โทรศัพท์ 0 2561 0777 ต่อ 659

          หน่วยฯ โคกนกกระบามีบ้านพักรับรอง ไม่มีร้านอาหารให้บริการ จึงควรเตรียมอาหารไปด้วย

          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

          เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ตู้ ปณ. 52 ปทจ.เลย อำเภอเมืองฯ จังหวัดเลย 42000 โทรศัพท์ 0 4280 1955, 0 4280 7623


ภูจอง-นายอย ผลิบานบนพลาญหินทราย



          เมื่อบ่ายหน้าไปยังอีสานใต้อุทยานแห่งชาติภูจอง-นายอยนั้นเปรียบดั่งอัญมณีแห่งจังหวัดอุบลราชธานี

          ยามสายฝนมาเยือน น้ำตกห้วยหลวง โจนเต็มหน้าผา ถัดลงไป น้ำตกประโอน ลออค่อย ๆ ทอดสายลดหลั่น บรรยากาศทั้งร่มรื่นและเพลินตา เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติแก่งกะเลาน่าเดิน ระยะทาง 1.5 เมตร เลาะไปตามลำห้วย มีผีเสื้อให้ชมไปตลอด ปลายทางอยู่ที่แก่งสนสามพันปี ที่ซึ่งป่าสนสามพันปีและป่าโกงกางบกไม้ต่างสายพันธุ์มาบรรจบกันอย่างน่าชม

          จากป่าโบราณ ทางเดินจะทอดมายังพลาญหินทรายโล่งกว้างที่ “พลาญป่าชาด” คล้ายโลกย่อส่วนมากสีสัน ฤดูฝนเช่นนี้สร้อยสุวรรณาพร้อมกันบานดอกเหลืองละมุนหงอนนาคสีน้ำเงินเข้ม อีกทั้งฝ้ายป่าดอกไม้สีบานเย็นก็ผลิพราวเย็นตา และหากมีเวลาการไปเยือนอ่างเก็บน้ำพลาญเสือตอนบน จะเห็นผืนป่าภูจอง-นายอยกระจ่างชัดอยู่ตรงหน้า



          การเดินทาง

          จากอุบลราชธานีไปตามทางหลวงหมายเลข 24 ผ่านอำเภอวารินชำราบถึงอำเภอเดชอุดม เลี้ยวซ้ายใช้ทางหลวงหมายเลข 2182 ถึงอำเภอบุณฑริก เลี้ยวขวาใช้ทางหลวงหมายเลข 2248 ไปอำเภอนาจะหลวยอุทยานฯ อยู่ห่างจากอำเภอ 10 กิโลเมตร

          สิ่งอำนวยความสะดวก

          อุทยานแห่งชาติภูจอง-นายอยมีบ้านพัก ลานกางเต็นท์ และร้านอาหารให้บริการ

          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

          อุทยานแห่งชาติ ภูจอง-นายอย โทรศัพท์ 0 4541 1515-6


ภูวัว ต้นธารแห่งอีสานเหนือ



          แม้พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นพลาญหินทราย ทว่าเมื่อสายฝนมาเยือนนักนิยมธรรมชาติทั้งหลายล้วนรู้ว่า ภูวัวจะน่าชมทั้งน้ำตกและดอกไม้ และแม้จะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทว่าก็เปิดให้เที่ยวชมหลายจุดด้วยกัน เช่น น้ำตกชะแนน ซึ่งกล่าวได้ว่างดงามยิ่งในภาคอีสาน ดั่งชื่อ “ชะแนน" หรือ “สะแนน” ในภาษาท้องถิ่น ที่มีความหมายว่าสวยงามที่สุด

          เส้นทางค้างแรมลานอเมริกาน้ำตกชะแนน เหมาะสำหรับผู้ชื่นชอบเดินป่าชมดอกไม้ ระหว่างทางจะผลิพราวด้วยดอกไม้ป่า เช่น เปราะหินสีเหลือง หงอนนาค รวมถึงอั้วดาวธารกล้วยไม้ซึ่งพบที่นี่เพียงแห่งเดียว

          น้ำตกถ้ำพระ เริ่มด้วยนั่งเรือเข้าไป แล้วเดินผ่านพลาญหินกว้างระหว่างทางจะมีเปราะหินและลิ้นมังกรให้ชม ที่ปลายทางมีอ่างมโนราให้เล่นน้ำ ถัดไปเป็นอ่างเก็บน้ำถ้ำพระ ซึ่งผู้คนนิยมมาหย่อนใจ, น้ำตกเจ็ดสี แม้ทางเดินจะค่อนข้างลื่น หากน้ำมากจะอันตรายข้ามไปไม่ได้ แต่ก็นับว่าเน่าแวะไปเยือน นอกจากสายน้ำลดหลั่น ยังมีพรรณไม้หลากสีให้ชื่นชม อย่างอั้วแก้มช้ำ เอื้องม้าวิ่ง ซึ่งมีทั้งสีชมพูสดและสีชมพูอ่อนหวาน



          การเดินทาง

          จากจังหวัดบึงกาฬ ใช้ทางหลวงเลข 212 ไปทางอำเภอไปราว 3 กิโลเมตรจีทางแยกขวาไปอีก 6 กิโลเมตรจะถึงที่ทำการเขตฯ

          สิ่งอำนวยความสะดวก

          ภูวัวสวยสุดในช่วงฤดูฝน การเที่ยวชมจึงเลี่ยงความเปียกปอนและลื่นล้มไปไม่พ้น จึงควรเตรียมอุปกรณ์กันฝนให้พร้อม ก้าวเดินอย่างระมัดระวัง เพราะบางเส้นทางค่อนข้างอันตราย

          ที่ทำการเขตฯ มีบ้านพัก 2 หลัง เรือนนอน 2 หลัง มีเจ้าหน้าที่นำทางและลูกหาบให้บริการ กรณีต้องการเดินป่าค้างแรม ต้องทำจดหมายแจ้งล่วงหน้า 15 วัน ถึงหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว ตำบลบุ่งคล้า อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ 43140 โทรศัพท์ 0 4242 9362


เบตง เมืองหนาวแห่งแดนใต้



          ณ ปลายด้ามขวาน ห่างจากชายแดนมาเลเซียเพียง 7 กิโลเมตร อำเภอได้สุดของจังหวัดยะลาแห่งนี้ดั่งเมืองหนาวในหุบเขา

          เบตงห่มม่านหมอกในทุกฤดูกาล ทั้งหมอกชื้น หมอกฝน และหมอกหนาว อากาศจึงหนาวเย็นตลอดปี ด้วยส่วนผสมที่ลงตัว ผู้คนครึ่งหนึ่ง คือ มุสลิมซึ่งดำรงตนตามวิถี และอีกครึ่ง คือ ชาวจีนโพ้นทะเลที่ชำนาญการค้าขาย เบตงจึงมีเสน่ห์ทั้งเรียกสวนและในเมือง

          ในเมืองย่านเก่านั้นน่าเดินเที่ยวชม ทั้งร้านอาหารจีนรสเลื่องชื่อที่ภัตตาคารต้าเหยิน มัสยิดเก่าแก่ศาลเจ้าแม่กวนอิม วัดพุทธาธิวาส และอุโมงค์รถยนต์แห่งแรกของเมืองไทย ออกนอกเมืองไปตามเส้นทางเบตง-ยะลา เพียง 4 กิโลเมตร จะพบน้ำพุร้อน ตามทางเดิมไปอีกไม่ไกลจะถึงหมู่บ้านปียะมิตร 1 พื้นที่เคลื่อนไหวเก่าของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา (พรคม.) มีอุโมงค์และสถานที่สำคัญของ พคม. ที่น่าศึกษาเรียนรู้

          ขณะที่หมู่บ้านปียะมิตร 2 นอกจากฐานที่มั่นของ พคม. ยังเป็นแหล่งปลูกไม้ดอกเมืองหนาวสำคัญของภาคใต้ ด้วยน้ำพระราชหฤทัยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อทรงทราบว่าปลูกยางพาราไม่ได้ผล เนื่องจากความสูงและอากาศเย็นตลอดปี พระองค์จึงทรงแนะแนวทางในการปลูกไม้ดอกเมืองหนาว ทุกวันนี้ได้ดอกเมืองหนาวจึงผลิบานดารดาษ เช่น เบญจมาศ ลิลี คาร์เนชัน หน้าวัว และกล้วยไม้หลากสี



          การเดินทาง

          ไปเบตงสะดวกทั้งจากหาดใหญ่และยะลา ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมงใกล้เคียงกัน จากหาดใหญ่มีรถตู้ให้บริการหลายบริษัท ทั้งเส้นทางผ่านยะลาและผ่านมาเลเซีย (เส้นทางผ่านมาเลเซียต้องมีพาสปอร์ต) และจากยะลามีแท็กซี่ประจำทางไปเบตง (รถเก๋งเบนซ์นั่งรวม 6 คน) เที่ยวเวลา 05.00-17.00 น. ออกทุกชั่วโมง

          สิ่งอำนวยความสะดวก

          โครงการไม้ดอกเมืองหนาวมีที่พักและร้านอาหาร

          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

          ททท. สำนักงานนราธิวาส โทรศัพท์ 0 7352 2411




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เล่มเล็ก ฉบับเดือนกันยายน 2557






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คู่มือ 10 สุดยอดแหล่งท่องเที่ยวหน้าฝน อัปเดตล่าสุด 2 เมษายน 2567 เวลา 15:03:36 1,158 อ่าน
TOP