x close

ปารีส-เบลเยียม วางแผนเที่ยวด้วยตัวเองแบบสบายกระเป๋า


ปารีส-เบลเยียม วางแผนเที่ยวด้วยตัวเองแบบสบายกระเป๋า
ปารีส-เบลเยียม วางแผนเที่ยวด้วยตัวเองแบบสบายกระเป๋า

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณออร์-ฟิ-อุส_orpheus สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม, เฟซบุ๊ก The Orpheus Journey  และ เฟซบุ๊ก Orpheus Nattee

            ช่วงนี้มีใครวางแผนไปท่องเที่ยวในโซนแถบยุโรปบ้างคะ ? เราเชื่อว่าพวกคุณคงจะวุ่นวายกับการเตรียมตัวต่าง ๆ อยู่ละสิ ก็ไหนต้องเดินทางไกล ไหนจะต้องหาที่พัก ต้องจองตั๋วเครื่องบิน ต้องวางโปรแกรมท่องเที่ยว แถมยังต้องลิสต์รายชื่อของฝากอีก T__T แหม...มันไม่ง่ายเอาซะเลย (จริงไหม) แถมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็แลดูจะเยอะไม่ใช่น้อย ดังนั้นเราเลยขอมาเป็นตัวช่วยด้วยการหยิบเอาบันทึกการเดินทางของ คุณออร์-ฟิ-อุส_orpheus สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ที่ได้เดินทางไปเที่ยวยุโรปครั้งแรก พร้อมกับนำขั้นตอนการเตรียมตัวและการวางแผนเที่ยวยุโรปด้วยตัวเองแบบสบายกระเป๋ามาฝากกัน ลองไปอ่านประสบการณ์เจ๋ง ๆ ที่จะทำให้คุณมีตังค์ในกระเป๋าเอาไว้ไปช้อปปิ้งเพิ่มขึ้นอีกเยอะทีเดียว ^__^

++++++++++++++

            สวัสดีครับ เริ่มต้นทริปนี้เกิดจากอยากเที่ยวยุโรปแต่งบน้อย ก็เลยหาวิธีประหยัดเงินแต่ละส่วนให้ได้มากที่สุด แต่ยังคงคอนเซ็ปต์กินดีอยู่ดีนะครับ ถ้าลำบากเกินไปคงเที่ยวไม่สนุกแน่ ๆ การไปเที่ยวปารีสเมืองที่มีค่าครองชีพสูงติดอันดับต้น ๆ ของโลก และเป็นการเดินทางไปยุโรปครั้งแรกของผมด้วย ก็เลยต้องวางแผนให้มาก ซึ่งมันตรงข้ามกับจำนวนเงินในกระเป๋าที่น้อยมากเหมือนกันครับ ฮา ๆๆๆ รีวิวนี้เลยรวบรวมความคิดที่ใช้ในการวางแผนในทริป "ปารีส-เบลเยียม" มาให้ย่อยกันง่าย ๆ นะครับ ^___^

            อยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมหรือพูดคุยกันต่อได้ที่นี่ครับ เฟซบุ๊ก The Orpheus Journey

 1. เที่ยวช่วงไหนดีนะ

            แถบยุโรปนี้เอาเข้าจริง ๆ สามารถเที่ยวได้ตลอด แล้วแต่เมืองที่เราจะไปครับ ส่วนผมไปปารีสเป็นหลัก ช่วงอากาศดี ๆ เที่ยวสบาย ๆ น่าจะเป็นช่วง Spring หรือช่วงฤดูใบไม้ผลิ ประมาณมีนาคม-มิถุนายน และผมเลือกช่วงนี้เพราะมีวันหยุดเยอะ (วันหยุดสงกรานต์-วันหยุดแรงงาน) ใช้วันลาน้อยและมีเวลาเที่ยวได้นานกว่าปกติ เพราะกว่าพระอาทิตย์จะตกก็ประมาณ 3-4 ทุ่มครับ เรียกว่าเดินถ่ายภาพกันได้ตั้งแต่เช้ายันเย็นยันดึกไปนู่นกันเลยทีเดียว ฟินกันไปสำหรับคนชอบถ่ายภาพครับ



2. จองตั๋วกันก่อนจะได้ไปขอวีซ่าเชงเก้น

            ทริปนี้ผมเดินทางไปกับสายการบิน Etihad โดยใช้เทคนิคจองแบบ Multicity คือผมจองตั๋ว KUL-CDG-BKK ได้ในราคาเพียง 17,000 บาท เท่านั้นครับ วิธีนี้หลังจากที่ทดลองหลายครั้งส่วนใหญ่จะใช้ได้กับ Qatar และ Etihad ครับ (เจอได้บ่อยที่สุด) เคยหาตั๋วของ Qatar KUL-IST-BKK ในราคาไม่ถึง 12,000 บาท ได้มาแล้ว (เมื่อหลายปีก่อนเคยใช้วิธีนี้จองตั๋วไปญี่ปุ่นของ Delta ได้ในราคา 11,000 บาท นิด ๆ ได้เหมือนกัน) สามารถใช้วิธีค้นหาได้ในเว็บของสายการบินเอง หรือจากเว็บ Cheaptickets.co.th โดยเลือกจองแบบ Multicity พอได้ตั๋วเส้นทางหลักมาก็ทำการจอง BKK-KUL เพิ่มอีก 1 ขา โดยผมจองกับ Lion Air อีก 1,400 บาท แต่ตอนบินถูก Transfer ไปบินกับ Malindo แอบลุ้นนิด ๆ เพราะ Lion Air ยกเลิกรูทไป KUL แต่ไม่แจ้งผมมาเลย ต้องไปยืนลุ้นกันที่หน้าเคาน์เตอร์อีกเล็กน้อย แต่สุดท้ายก็ได้บินครับ ^__^

            สรุปผมได้ค่าตั๋วไป-กลับในราคา 18,400 บาท ถึงแม้จะอ้อมไปหน่อย คือ ต้องบินไปเริ่มต้นที่ KUL ก่อนแต่ถือว่าประหยัดไปได้เยอะมาก ๆ เมื่อเทียบกับเพื่อนที่ตามมาทีหลังจองแบบ BKK-CDG-BKK ด้วยสายการบินเดียวกัน ไปเจอกันกลางทางที่อาบูดาบี ราคา 29,000 บาทครับ ก็ประหยัดไปเป็นหมื่นแล้ว (ผมจองโรงแรมนอนเล่นใกล้ ๆ สนามบิน KLIA สำหรับนอนพักอาบน้ำก่อนจะขึ้นเครื่องอีกประมาณ 600 บาท รวมรถรับส่งสนามบิน)



            ถามต่อว่าวิธีการจอง Multicity นี้ใช้ได้เมื่อไหร่ หลังจากประสบการณ์ที่ลองมั่ว ๆ ดู คิดว่าใช้ได้เมื่อมีโปรโมชั่นที่ประเทศต้นทาง แต่อันนี้ผมไม่ชัวร์นะครับต้องลองเข้าไปเช็กกันบ่อย ๆ แต่เดี๋ยวก่อน ! หลังจากเดินทางกลับมาแล้วผมพบว่ามันยังสามารถแปลงไมล์คืนเป็นเงินได้อีก โดยลิงก์ Account ของ Etihad แล้วทำการเชื่อมข้อมูลกับเว็บ pointspay.com เราจะสามารถแปลงไมล์จาก Etihad ให้เป็นเครดิตการ์ดหรือ Virtual Card ได้อีก ผมเลยแลกไมล์เป็นบัตรเครดิตมาซื้อของออนไลน์ได้อีกประมาณ 1,500 บาท จะงกไปถึงไหน ฮา ๆๆๆๆ



3. จองที่พักแบบด่วน ๆ

            เรื่องที่พักอาจเป็นเรื่องที่น่าปวดหัว เพราะต้องใช้เวลานานในการเลือกดูทำเลที่เดินทางสะดวกและราคาที่โดนใจ แต่ขั้นแรกผมแนะนำให้จองที่พักแบบด่วน ๆ ไปก่อนเพื่อไปขอวีซ่าให้เร็วที่สุด โดยผมเลือก Booking.com เพราะเว็บนี้จองแบบยังไม่ต้องจ่ายเงินและยกเลิกได้ฟรี (ตามเงื่อนไขแต่ละโรงแรม) รวมถึงตอนจองเราสามารถ “ใส่ชื่อผู้เข้าพักได้หลายคน” อีกด้วย โดยใส่เครื่องหมายลูกน้ำคั่นชื่อแต่ละคนลงไปในชื่อผู้เข้าพัก ทำให้สะดวกตอนไปยื่นขอวีซ่ามากครับ เพราะมีชื่อของผู้ร่วมเดินทางได้ครบทุกคน สุดท้ายเราจะเลือกพักหรือไม่ค่อยว่ากันอีกที



4 .ไปขอวีซ่าให้เร็วที่สุด

            หลังจากเราได้ตั๋วเครื่องบินและใบจองที่พักแล้วขั้นต่อมา คือ การขอวีซ่า ทริปนี้ผมขอผ่าน TLS ก็เข้าไปทำการลงทะเบียนกรอกรายละเอียดและเตรียมเอกสารที่ทางเว็บแจ้งให้เรียบร้อย และนัดวันเพื่อเข้าไปยื่นเอกสารครับ

            เว็บลงทะเบียนเชงเก้นฝรั่งเศส

            ค่าวีซ่าและค่าธรรมเนียมในการยื่นวีซ่าผ่าน TLS เกือบ ๆ 4,000 บาท ได้เงินทอนนิดหน่อย มีค่าประกันการเดินทางอีก 425 บาท (ผมทำแบบ 9-10 วัน ของเมืองไทยประกันชีวิต) แนะนำให้ไปยื่นเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ยื่นล่วงหน้าได้ 90 วัน) เพราะมันจะมีผลต่อไปถึงเวลาเราจองตั๋วรถไฟสำหรับเที่ยวต่อไปยังเมืองอื่น ๆ เพราะยิ่งจองตั๋วรถไฟล่วงหน้าได้นานเราก็จะได้ราคาถูกกว่าไปจองใกล้วันเดินทางครับ



5. ได้วีซ่าแล้วก็จองที่พักจริง ๆ กับ Airbnb สักที

            ตอนแรกผมมองหาโรงแรมห้องใหญ่สำหรับ 4 คน ในใจกลางเมืองปารีส (เขต 1) เพราะปลอดภัย เดินทางสะดวก จากสนามบินสามารถนั่ง RER B มาได้เลย และที่สำคัญผมอยากถ่ายรูป Louvre Museum มาก แต่ราคาโรงแรมโซนนี้โหดเหี้ยมจริง ๆ เริ่มต้นกันที่ห้องละ 6,000 บาท/วันขึ้นไป หารกันสองคนก็คนละ 3,000/วัน แถมห้องก็เล็กมาก ๆ ครับ จนกระทั่งผมมาลองหาห้องพักดูจาก Airbnb เห็นราคาแล้วไม่น่าเชื่อ ห้องที่ผมสามารถพักได้ถึง 5 คน มี 2 ชั้น (2 เตียงใหญ่และ 1 Sofa Bed) มีที่นั่งเล่นพร้อมทั้งครัว ตู้เย็น และไมโครเวฟ แถมยังอยู่ห่างจาก Louvre Museum ไม่ถึง 800 เมตร เรียกว่าเดินไป Louvre สบาย ๆ เลยในราคาแค่ 6,000 กว่าบาทต่อคืนครับ หารกันแล้วตกวันละพันกว่าบาทต่อคนเท่านั้นเอง อานิสงส์ตรงนี้ทำให้ผมได้ถ่ายรูป Louvre ทุกวันจนเบื่อกันไปเลย



            วิธีการจองห้องพักก่อนอื่นต้องเข้าไปหาห้องพักที่เว็บ airbnb.com กันก่อน (ใครกำลังมีแพลนเดินทางสามารถ Register ผ่าน Refer จาก Login ของคนที่เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ก็จะได้ส่วนลดสำหรับการเข้าพักครั้งแรกเพิ่มอีก 799 บาท ด้วยครับ (ได้ทั้งคนที่ถูก Invite และ Refer))



            สำหรับที่นี่มีห้องพักให้เลือกเยอะมากทั้งคอนโด บ้าน อพาร์ทเม้นท์ โรงแรม โฮสเทล เรียกว่ามีเกือบทุกรูปแบบ ในปารีสห้องพักสวย ๆ เยอะครับ สมกับเป็นเมืองแห่งแฟชั่น ห้องพักก็มีหลายระดับราคาเลือกกันตามงบประมาณและความพอใจ



            ผมอยากได้ที่พักใกล้ ๆ Louvre เลยเลือกห้องนี้ครับ ราคาไม่แพงทำเลโดนใจ อ่านข้อดีและข้อเสียจากรีวิวของที่นี่แล้ว คือ เสียงดังเพราะมีการก่อสร้างอยู่ที่ฝั่งตรงข้าม แต่ผมรับได้เพราะออกเที่ยวกันแต่เช้าเลยไม่มีผลเท่าไร แต่จะไม่เหมาะกับคนชอบตื่นสาย ๆ



            จากนั้นก็ทำการกรอกรายละเอียดต่าง ๆ ทางเว็บก็จะทำการ "กันวงเงินในบัตรเครดิต" ของเราไว้ก่อน แล้วทำการแจ้งไปที่เจ้าของห้อง ถ้าเขาตอบตกลงเราจะได้ใบยืนยันมาแล้วถึงจะทำการตัดเงินจากบัตรเครดิตอีกครั้งครับ ส่วนเจ้าของห้องจะได้เงินหลังจากเราเข้าพักและ Check Out แล้วเท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่าจะถูกหลอกนะครับ

            หลังจากเจ้าของห้องตอบรับมาแล้วก็ทำการนัดแนะเรื่องวันเวลาการเข้าพักกันครับ รวมถึงพูดคุยเรื่องการเดินทางไปถึงห้องพักด้วย กรณีของผมเจ้าของห้องไม่ว่างมาเปิดประตูให้ เลยใช้วิธีใส่ตู้เซฟบ้านข้าง ๆ เอาไว้ แล้วให้รหัสผมมาเพื่อเปิดเซฟอีกที ได้อารมณ์เล่นเกมแก้ปริศนาเหมือนกัน ลุ้นว่าจะให้รหัสมาผิดไหม ฮา ๆๆๆๆ



            มาถึงห้องพักแล้วหน้าตาประมาณนี้ ดิบ ๆ จากมือถือเลยครับ ถือว่าโอเคมาก ๆ ประทับใจพอสมควร ที่นี่มีครัวด้วยทำให้บางมื้อผมทำอาหารทานเองก็ช่วยประหยัดไปได้อีกครับ ภาพที่ผมถ่ายมาอาจจะไม่ตรงกับในเว็บนะครับ เพราะตอนนั้นเดินทางไปช่วงเดือนพฤษภาคม แต่ตอนนี้เจ้าของที่พักเขาทำการปรับเปลี่ยนตำแหน่งเฟอร์นิเจอร์นิดหนึ่ง ภาพในเว็บจะอัพเดทกว่าที่ผมถ่ายมาครับ และราคาก็ปรับลงตามเรตของยูโรในช่วงนี้ครับ





            ชั้นใต้ดินส่วนของห้องน้ำครับ



            ***การจองห้องพักกับ Airbnb ที่ปารีสของผมในตอนแรก คือ อาจจะมี Host ”บางส่วน” ปฏิเสธผู้เข้าพักแถบเอเชียอย่างเรา ๆ ครับ อาจจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ครับ ซึ่งจะทำให้เสียเวลาในการหาที่พักสักนิด ผมแนะนำว่าให้ลองหาที่พักที่มีคนเอเชียรีวิวไว้ก็จะทำให้เราได้ที่พักง่ายขึ้นครับ การจองที่พักกับ Airbnb นั้นก็เหมือนกับการจองโรงแรมทั่วไป มีทั้ง Host ที่ดีและไม่ดี ข้อแนะนำในการเลือกที่พักของที่นี่ ก็คือ “ให้ดูรีวิวจากผู้เข้าพักก่อนหน้า ยิ่งมีรีวิวทางบวกเยอะ ๆ จะยิ่งน่าเชื่อถือได้มากครับ”***

6. มาวางแผนเดินทางในปารีสกันต่อ

            สำหรับการวางแผนเที่ยวผมคงไม่ลงรายละเอียดมาก เอาเป็นว่าแนะนำเป็นภาพกว้าง ๆ ดีกว่า เพราะแต่ละคนวางแผนไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ส่วนผมจะเริ่มจากดูแผนที่ในมุมกว้างก่อน จะได้รู้ว่าแต่ละจุดนั้นอยู่ห่างหรือใกล้กันมากแค่ไหน จะทำให้เรามองภาพของเมืองนั้นออก ส่วนในปารีสการขึ้น Metro หรือรถไฟใต้ดินในเมืองนั้นค่อนข้างจะง่ายครับ เรียกว่ามีครอบคลุมทุกจุด โดยใช้ดูควบคู่กับการใช้ Google Map กำหนดจุดที่เราเดินทาง จะเลือกเดินเองหรือรถไฟใต้ดินก็ง่ายมาก ๆ ครับ



            ส่วนตอนเดินทางผมใช้ App ชื่อ Paris Metro by Zuti แค่ใส่สถานีต้นทางกับสถานีปลายทาง App ก็จะคำนวณเส้นทางให้เราเสร็จการเปลี่ยนสายรถไฟให้เรา สะดวกมากครับ สำหรับการซื้อตั๋วเดินทางเฉพาะในปารีสนั้นไม่ได้ซับซ้อนอะไรมาก ที่นั่นจะแบ่งเป็นโซน ๆ ถ้าเที่ยวเฉพาะในปารีสก็ซื้อแค่โซน 1 ผมซื้อแบบ Carnet 10 ใบ เอามาแบ่งกับเพื่อนใช้เป็นรอบ ๆ เพราะเน้นเดินเป็นหลัก ส่วนวันที่ไปแวร์ซายก็ซื้อแบบ Mobilis แบบโซน 1-4 จะเป็นแบบนั่งได้ไม่จำกัดครับ วันที่ไปแวร์ซายก็นั่งหลาย ๆ รอบให้คุ้มไปเลย สรุปก็คือถ้าขึ้นลงรถเกิน 5-6 รอบต่อวัน แนะนำให้ซื้อเป็นตั๋วแบบ Mobilis (แบบไม่จำกัด) จะคุ้มที่สุดครับ

            แผนที่โซนและสถานีในปารีส



            ส่วนการเดินเที่ยวในปารีสนั้นผมใช้ Google Map แบบ Offline ครับ วิธีการนี้จะช่วยให้เรามีตัวช่วยในการเดินทางได้อย่างดีเลย โดยสามารถใช้ร่วมกับการเปิด Location Service เพื่อนำทางโดยใช้ GPS โดยไม่ต้องต่อ Internet ครับ

            วิธีการใช้งาน Google Map บนสมาร์ทโฟนแบบ Offline ก่อนอื่นต้องอัพเดท App ให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดก่อนครับ ตรวจสอบประเทศที่สามารถใช้งาน Map แบบ Offline ได้ที่นี่ครับ goo.gl/Q8Z7HN (เสียดายที่ประเทศไทยและญี่ปุ่นยังไม่รองรับนะครับ)

            - ขั้นตอนแรกค้นหาเมืองหรือประเทศที่เราต้องการจะเดินทางไปก่อนครับ ผมยกตัวอย่างพิมพ์ว่า Paris



            - จากนั้นเลื่อนหน้าจอลงมาทางด้านล่างจะเจอคำว่า Save map to use offline



            - แล้วให้ทำการซูมเข้าบริเวณที่จะทำการ Save ครับ



            - กด Save และตั้งชื่อเอาไว้ครับ



            - เมื่อเราเดินทางไปต่างประเทศเราก็แค่เปิด Map ที่ทำการเซฟไว้โดยเข้าที่ Google Map แล้วกดที่รูปคนมุมบนขวามือก็จะพบกับ Map ที่เรา Save เอาไว้ สามารถใช้ร่วมกับการเปิด Location Service เพื่อนำทางโดยใช้ GPS ได้โดยไม่ต้องต่ออินเทอร์เน็ตได้ (แต่ไม่สามารถใช้ค้นหาสถานที่ได้นะครับ) จะทำให้เรารู้ว่าตอนนี้เราอยู่บริเวณไหนของแผนที่ ทำให้การเดินทางของเราสะดวกขึ้นมากครับ



7. จะนั่งรถไฟจากปารีสจะไปเบลเยียมหรือเมืองต่าง ๆ ในยุโรปทำอย่างไร

            สำหรับตั๋วรถไฟในยุโรปนั้นสามารถเช็กราคาและจองได้ที่เว็บนี้ครับ voyages-sncf.com อย่างที่บอกในตอนแรกครับ ยิ่งจองเร็วราคาจะถูกกว่าไปจองตอนใกล้ ๆ เดินทางครับ หรือเราจะใช้วิธีไปสมัครสมาชิกกับเว็บไว้ก่อนก็ได้ครับ ถ้ามีโปรโมชั่นอะไรเว็บจะส่งอีเมลให้เรา ทริปนี้ผมได้ตั๋วรถไฟจาก Paris-Brussels ราคาเที่ยวละ 29 ยูโรครับ



8. การเดินทางในเบลเยียมเป็นอย่างไร

            ผมจะแบ่งเป็นสามส่วน

            ส่วนที่ 1 การเดินทางใน Brussels จะเป็นรถรางผสมกับรถไฟใต้ดิน ผมใช้ตั๋ววันเพราะที่ Brussels ผมเน้นชะโงกทัวร์เป็นหลัก ราคา 7 ยูโร คำนวณดูแล้วคุ้มกว่าซื้อเป็นเที่ยวแน่นอน (ปกติเที่ยวละ 2 ยูโร) โดยผมใช้ Google Map วางแผนการเดินทางเหมือนเดิมครับ



            ส่วนที่ 2 การเดินทางในเมืองอื่น ๆ Ghent และ Bruges ผมใช้ Tram หรือแท็กซี่บ้างแล้วแต่สถานการณ์ ส่วนตั๋วรถ Tram นั้นควรจะซื้อที่เครื่องขายตั๋วตรงป้ายรถเมล์เพราะราคาจะถูกกว่าซื้อกับคนขับ แต่เครื่องจะรับแต่เหรียญเท่านั้นครับ ส่วนถ้าซื้อกับคนขับจะทอนเงินได้ ก่อนขึ้นควรเตรียมเหรียญมาให้พอดีจะดีกว่าครับ ถ้าจำไม่ผิดซื้อกับตู้จะ 1.4 ยูโร แต่ถ้าซื้อกับคนขับจะ 2 ยูโร ครับ



            ส่วนที่ 3 ตั๋วรถไฟระหว่างเมืองที่เบลเยียม ตรงนี้ค่อนข้างสำคัญครับ ตั๋วโดยสารระหว่างเมืองราคา Standard Ticket จะอยู่ที่ 14.1 ยูโร ต่อเที่ยว (Brussels-Bruges) ถ้าเราไปแบบงง ๆ เราคงซื้อแบบนี้ แต่ถ้าหากเราวางแผนสักนิดเราก็เลือกตั๋วแบบ Rail Pass ได้ในราคา 76 ยูโร เดินทางได้ 10 เที่ยว เอามาแบ่งกับเพื่อนใช้พร้อมกันได้ จะเหลือค่าโดยสารแค่ 7.6 ยูโร ต่อเที่ยวเท่านั้นครับ หรือถ้าเดินทางในวันหยุดก็ให้ซื้อตั๋วแบบ Weekend ซึ่งเป็นตั๋วแบบไปกลับในราคา 15.2 ยูโร เหลือเฉลี่ยเพียงเที่ยวละ 7.6 ยูโร เหมือนกับแบบ Rail Pass ครับ

            รายละเอียดตั๋วแบบต่าง ๆ

            ทั้งนี้ก็ต้องเลือกซื้อตั๋วให้เหมาะสมกับทริปของเราครับ หรือถ้าไม่แน่ใจลองกดคำนวณราคาตั๋วจากในเว็บเปรียบเทียบราคาได้เลยครับ ง่ายมาก ๆ



9. หาที่พักเบลเยียมต่อ

            ส่วนที่พักเบลเยียมผมพักที่เมือง Ghent 2 คืน เพราะชอบเมืองนี้ครับ ค่าครองชีพไม่แพงเท่าที่ปารีส แล้วผมอยากได้ที่พักใกล้สถานีรถไฟ เพราะวันสุดท้ายเราต้องนั่งรถไฟยาวจาก Ghent กลับมา Brussels และเปลี่ยนรถไฟเพื่อกลับเข้าสนามบิน CDG ที่ปารีสเพื่อให้ทันเครื่องบินรอบ 11 โมง เมืองนี้ค่อนข้างเล็กครับโรงแรมเลยมีน้อย แต่ผมก็ยังหาวิธีมาลดราคาจนได้ โดยผมเข้าไปหาส่วนลดจากเว็บ Topcashback.com ดูว่าเว็บจองห้องพักที่ไหนให้เงินคืนสูงสุดและทำการจองผ่าน Topcashback อีกที เราจะได้เงินคืนหลังจากที่เข้าพักแล้วครับ



            เข้าหน้าเว็บ topcashback.com แล้วทำการ Login ก่อน แล้วเข้าหมด Travel เลือก Vacations ครับ



            จะมีเว็บที่ร่วมกับ Topcashback อยู่ ก็เลือกได้ตามชอบ โปรโมชั่นก็จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ก่อนจองลองเปรียบเทียบราคาของแต่ละเว็บก่อนนะครับ บางทีจะไม่เท่ากัน ควรเปรียบเทียบราคาก่อนที่ hotelscombined.com ครับ



            ผมลองเลือก HotelClub อ่าน \'\'เงื่อนไขในการคืนเงิน\'\' แล้วกดที่ Get cashback & visit retailer เราจะเข้าสู่เว็บปกติของ Retailer ที่เราจะจองห้องพักด้วย จากนั้นทำการจองห้องพักตามปกติครับ (อย่าเพิ่งปิดเว็บ Topcashback)



            หลังจากเข้าพักแล้ว เงินจะเข้ามาใน Account ของเราครับ



            สามารถคืนเงินได้หลายแบบครับ แต่ผมเลือก Paypal เพราะสะดวกสุด ถ้ามีเงินในบัญชีก็สามารถกดถอนออกมาได้เลย แค่นี้เราก็รอรับเงินคืนได้แล้วครับ



10. มาถึงปารีสแล้วจะไม่ช้อปได้อย่างไร วิธีทำ Tax Refund แบบประหยัดเวลา

            เนื่องจากได้ยินมาว่าแถวรีฟันที่สนามบิน CDG ยาวมาก บางคนก็รีฟันไม่ทันเพราะกลัวจะตกเครื่อง บวกกับวันสุดท้ายของทริปผมมีเวลาไม่มากนัก เพราะต้องเดินทางมาจาก Belgium อีกทีเพื่อมาขึ้นเครื่องให้ทันรอบ 11 โมง ผมเลยเลือกรีฟันก่อน แต่วิธีนี้จะได้เงิน Refund คืนน้อยกว่าที่สนามบิน เพราะจะโดนหักค่าธรรมเนียมก่อนนิดหน่อยครับ (ประมาณ 2%)

            ผมยกตัวอย่างที่ Galeries Lafayette นะครับ หลังจากซื้อของเสร็จก็เอาใบเสร็จไปที่เคาน์เตอร์รีฟันปกติ เราจะได้เอกสารมาสำหรับการรีฟันครับ พอได้มาแล้วก็ให้ลงมาที่ชั้นล่างหรือถามเจ้าหน้าที่ก็ได้ครับ ผมจำจุดแน่นอนไม่ได้ แต่หาไม่ยากครับ ตรงที่มีทัวร์จีนอยู่เยอะ ๆ นั่นแหละครับ ฮา ๆๆๆ ให้เราเอาเอกสารไปยื่นที่เคาน์เตอร์ สามารถขอคืนเป็นเงินสดหรือคืนเข้าบัตรเครดิตก็ได้ครับ แล้วเจ้าหน้าที่เขาจะขอบัตรเครดิตเราเพื่อทำการกันวงเงินในส่วนนี้ไว้ก่อนเป็นตัวประกัน ส่วนผมขอคืนเป็นเงินสด เสร็จแล้วเขาจะให้เอกสารคืนมาอีกใบหนึ่ง ไปถึงสนามบินให้เราไป Check in ก่อนแต่ยังไม่ต้องโหลดกระเป๋า เผื่อเจ้าหน้าที่ Custom จะขอดูของที่จะ Refund (ส่วนใหญ่จะไม่ดูครับ) แล้วเจ้าหน้าที่จะแสตมป์ให้เรา หรือจะเอาไปสแกนกับเครื่องอ่านบาร์โค้ดก็ได้ครับจะอยู่ข้าง ๆ เคาน์เตอร์ Custom เสร็จแล้วก็เอาไปหย่อนตู้ไปรษณีย์แถวนั้น เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีกรรม Tax Refund แบบประหยัดเวลาแล้ว โดยเราไม่ต้องไปต่อคิวขอเงินคืนยาว ๆ ที่ด้านในอีกครับ

            ***ในกรณีที่เราไม่มาแสตมป์ เขาจะหักเงินเราคืนจากบัตรเครดิตที่เขากันวงเงินไว้ก่อนหน้านี้ครับ***



            สรุปการเตรียมทริปครั้งแรกในยุโรปของผมหลัก ๆ ก็มีเท่านี้ครับ เรียกว่าพยายามขุดทุกวิธีที่ประหยัดขึ้นมาใช้ สุดท้ายผมว่าทริปจะประหยัดได้หรือไม่คงอยู่ที่การวางแผนรวมถึงความสะดวกของแต่ละคนครับ ส่วนผมเองเป็นคนชอบวางแผนก่อนการเดินทางอยู่แล้ว นอกจากจะช่วยให้การเดินทางของเราสนุกและราบรื่นยังทำให้ประหยัดทั้งเงินและเวลาในการเดินทางอีกด้วยครับ



            อยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมหรือพูดคุยกันต่อได้ที่นี่นะครับ

            เฟซบุ๊ก The Orpheus Journey

            หวังว่ารีวิวนี้คงเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ บ้างไม่มากก็น้อย ขอให้สนุกกับการเดินทาง แล้วพบกันใหม่ทริปหน้า...สวัสดีครับ ^___^



 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปารีส-เบลเยียม วางแผนเที่ยวด้วยตัวเองแบบสบายกระเป๋า อัปเดตล่าสุด 18 มีนาคม 2567 เวลา 18:17:15 28,638 อ่าน
TOP