x close

ห้วยจิโน เมื่อหลังฝนมีหนทาง เปี่ยมเสน่ห์ชวนมอง

ห้วยจิโน เมื่อหลังฝนมีหนทาง

ห้วยจิโน เมื่อหลังฝนมีหนทาง (อ.ส.ท.)

ฐากูร โกมารกุล ณ นคร... เรื่อง
สาธิต บัวเทศ ปณต คูณสมบัติ...ภาพ

          มันเป็นอีกหนึ่งเส้นทางอันน่าจดจำ เราหลงลืมตัวเลขกำกับการมีอยู่ของมันบนแผนที่ ตั้งแต่หลุมบ่อพื้นผิวราวโลกอวกาศทอดลับไปตามร่มไม้ใหญ่ครึ้ม บางคราวคล้ายหนทางประเภทนี้มีไว้สำหรับผู้ที่เกิดมาเคียงคู่กับมัน ใครสักคนหลงลืมพื้นราบกลางหุบเขา เมื่อเราจากมันมาตามความสูงเหนือระดับทะเลปานกลางที่เพิ่มขึ้นเป็นระยะพี่น้องชาวปกาเกอะญอยิ้มรับกับฤดูหลังเก็บเกี่ยว นาข้าวเหลือเพียงชังตอ รอยยิ้มมีให้พบเห็นตลอดเส้นทาง

          จากถนนที่พอจะเรียกได้ว่า “ดี” เดินทางมาสุดสิ้น ที่บ้านยางเปา สุดเขตตีนเขา เราแยกซ้ายเข้าสู่หนทางที่เลือกจะขึ้นไปหาความสูงชัน ลมหนาวกรูเกรียวสรรพเสียงรายรอบถูกกลบด้วยเสียงเร่งกำลังเครื่องยนต์ จนเมื่อใครสักคนเลือกก้าวลงจากรถ เพ่งมองไปในความเวิ้งว้างของทะเลภูเขา ฟ้าใสของต้นฤดูหนาวบรรเทาการโยกคลอนผ่านถนนลูกรังขุ่นแดง และรอยยิ้มของชีวิตเล็ก ๆ ระหว่างทางเป็นเหมือนน้ำทิพย์ชโลมใจ

          หวนคิดถึง 3 วัน 2 คืน ที่ผ่านพ้นตัวตนไปกับภูเขาและทางยาก หากพอจะเรียบเรียงมันออกมาเป็นถ้อยคำ เพื่อนิยามถึงสิ่งผ่านพันพบพาน บางทีใครสักคนที่อยู่ข้างบนนั้นอาจเรียกมันว่าชีวิตที่ดี

          1. ยามสายที่เราไปถึงอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ อากาศเย็นสบาย และภาพแห่งเมืองของผู้คนแห่งขุนเขาปรากฏชัดแถบหน้าโรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม อำเภอที่ผู้คนส่วนใหญ่ล้วนเป็นประชากรชาวไทยภูเขาทั้งมูเซอ ปกาเกอะญอ ลีซอ และม้ง เด็ก ๆ เจื้อยแจ้วอยู่ในชุดประจำเผ่า ขณะที่รถราที่จอดเรียงรายล้วนเป็นรถโฟร์วีลไดรฟ์เขรอะโคลน ผลิตผลอย่างกาแฟกำลังออกผล รอยยิ้มปะปนอยู่ในการงาน

          หลังผ่านมื้อง่าย ๆ ที่ร้านบัวผัน ร้านอาหารตามสั่งที่พึ่งพิงได้ยามมาถึงอมก๋อย จ่ายเสบียงทั้งสดและแห้ง รถคันเล็กก็แยกขวาเลาะเวียนไปตามเนินขึ้นลง ผืนนากว้างไกลเหลือเพียงที่ราบสีน้ำตาลหลังฤดูเก็บเกี่ยว

ห้วยจิโน

          หมู่บ้านยางเปายังคงภาพเรียบง่ายอยู่สองฟากทาง ไฟฟ้าและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามคืนวันผลักพาให้พวกเขาก้าวเดินตามโลกอย่างเท่าทัน ไม่แยแสต่อความคิดประเภทโลกสวยที่อยากสตัฟฟ์บางชีวิตไว้เป็นเพียงมรดกทางวัฒนธรรม

          เราแยกซ้ายเข้าสู่ถนน รพช. ชม. 40521 อากาศเย็นเยียบพร้อมการสวนลงมาของรถกระบะบรรทุกกะหล่ำปลีเป็นระยะ แนวสนสองและสามใบเรียงรายบ่งบอกถึงความสูงกว่า 1,000 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง แต่ละหมู่บ้านผ่านไปอย่างเชื่องช้า เส้นทางหลังผ่านฤดูฝนเป็นหลุมหล่ม แม้แห้งกรังแต่ก็เต็มไปด้วยร่องลึกและหินลอย งบเกรดทางจากราชการตกหล่นมาเพียงบางหมู่บ้าน เราผ่านแยกทางเข้าบ้านตุงติงสู่บ้านผาปูนดง เพื่อนบางคนหลงใหลในแง่มุมของทางสายทรมานช่วงล่าง ขอพักลงลั่นชัตเตอร์ ขณะที่ผมถอนใจโล่งเมื่อก้มไปเช็กได้ท้องรถแล้วมันปกติ

          บางช่วงของความสูงชันแลกมาด้วยวิวกระจ่างตาของป่าไม้ครึ้มทึบในต้นฤดูหนาวที่เตรียมตัวจะเปลี่ยนสี เรามาถึงบ้านสงินเหนือด้วยความอ่อนโรย หนทางยังอีกยาวไกลตามความยากของเส้นทาง ร้านก๋วยเตี๋ยวกะหล่ำปลีของหญิงปกาเกอะญอดูจะเป็นเรื่องน่ารื่นรมย์ในปลายบ่าย หนทางในหมู่บ้านเปลี่ยนเป็นคอนกรีตบางช่วง เด็ก ๆ เจื้อยแจ้วอยู่ในโรงเรียน และน้ำซุปร้อน ๆ อันเรียบง่ายก็คลายเหนื่อยล้า

          จากบ้านสงินเหนือ เราผ่านพ้นไปตามป่าสนและความสูงเหนือพื้นล่าง ทิ้งหมู่บ้านให้ลับหลังอยู่ในหลายลูกดอยอันพ้นผ่าน สำหรับคนหลงรักการขับรถกลางขุนเขา ถนนสายนี้อาจเป็นเหมือนบททดสอบฝึกปรือการใช้เกียร์สโลว์ แต่กับผู้คนบนแคนดอยมันเป็นทั้งสลักกุญแจยามฤดูฝนที่กักขังพวกเขาไว้กับภูเขา และเป็นเหมือนบานประตูใหญ่ยามถนนหมาดแห้ง พร้อมจะพาหลายคนก้าวออกไปสู่โลกข้างล่าง

ห้วยจิโน

          เหลืออีก 5 กิโลเมตร จุดหมายแรกที่เราตั้งไว้ในยามเย็นรอเราอยู่ เมื่อแยกซ้ายที่หน่วยจัดการต้นน้ำแม่จ้าง หากตรงต่อไปจะถึงบ้านนาเกียน หมู่บ้านปกาเกอะญอขนาดใหญ่บนแดนดอยของอมก๋อย

          ตรงทางแยกหน่วยฯ แม่จ๊าง แลนด์สเคปงดงามเกินกว่าจะขับผ่านเลยไปเฉย ๆ ทางดินยกระดับคดโค้งไปกับเนินเขา เบื้องล่างคือแนวป่าสนที่ได้รับการปลูกทดแทนจากการแผ้วถางทำไร่ฝิ่นในอดีต หนองน้ำสะท้อนสีฟ้าสดเป็นฉากหน้า เพื่อนบางคนเลือกลงไปเดินสัมผัสอากาศชื่นของผืนป่า ภูเขายามบ่ายเงียบกริบ หลงเหลือเพียงเสียงแมลงกรีดปีก

          ไม่นานนักเราไต่สันดอยขึ้นหวังมามองฝั่งอมก๋อยเบื้องล่าง วิวเปิดกว้างรอบทิศทาง แต่หมอกฟุ้งกระจายด้วยแรงลม ตัวเลขกำหนดเส้นทางยังคงทำหน้าที่ของมันในเครื่องนำทางดิจิทัล ทว่าเบื้องหน้าราวกับมันคือ หนทางเถื่อนที่มีแต่ผู้คนของภูเขาเท่านั้นที่รู้จักมันดี

          แนวรั้วท่อนไม้เล็ก ๆ ถูกยกออกเมื่อเราขึ้นสู่จุดสูงสุดของเทือกดอยราว 1,660 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ที่ทำการของหน่วยจัดการต้นน้ำห้วยจิโนเงียบเชียบและปกคลุมด้วยหมอกยามเย็นอยู่ทุกทิศทาง ลานกางเต็นท์ โรงครัว และอาคารสำนักงานไล่ระดับอยู่บนเนินดอย แคะซอ เต๊ะจือ ชายชาวปกาเกอะญอยิ้มร่าเอ่ยต้อนรับ เป็นความอบอุ่นง่าย ๆ หลังผ่านพ้นทางไกลจากพื้นราบด้านล่าง

          ฟ้าใกล้มืดเร่งเร้าให้เต็นท์ถูกกางและเซตแคมป์ บางคนเลือกเข้าไปหลบลมกรูเกรียวในห้องของอาคารสำนักงาน มื้อค่ำง่าย ๆ ถูกปรุงอย่างเร่งด่วนก่อนความมืดจะโรยตัว “พรุ่งนี้ค่อยว่ากัน” แคะซอพูดสั้น ๆ และขอตัวไปเปิดเครื่องปั่นไฟทิ้งให้เราทำความรู้จักห้วยจิโนโนคืนแรกอย่างเดียวดาย ว่าไปเช่นนั้นก็ไม่ถูกนัก หลังมื้อค่ำ...หลังลดทอนปลดเปลื้องความเป็นเมืองลงสู่ความเรียบง่ายกลางขุนเขา เหลือเพียงเดือนดาวและอากาศหนาวเหน็บ เครื่องดื่มอุ่น ๆ ดูจะเหมาะยิ่งที่ทำให้ใครสักคนจะรู้สึกผ่อนคลาย เพื่อพร้อมจะนั่งมองขุนเขาและชีวิตที่ซุกซ่อนอยู่ในป่าเขากลางความมืดมิดเบื้องหน้า อย่างไม่ต้องตั้งคำถามและความคาดหวัง

ห้วยจิโน

          2. ยามเช้าไม่เปิดโอกาสให้วิวทะเลหมอกเป็นภาพแรกที่พานพบ เราปรุงมื้อเช้ากลางอากาศเย็นเยียบและหมอกที่ฟุ้งผ่านลมแรงมาตลอดค่ำคืน แคะซอมารออยู่ตั้งแต่ฟ้าสาง เราทำได้เพียงรีบเร่งตัวเองเพื่อที่จะพาเขาขึ้นรถและลงไปรู้จักโลกอีกใบของคนข้างบนนี้

          “ทางต่อไปยากหน่อย มันเลี้ยวเยอะนัก" เขาว่าเมื่อเราดิ่งลงหุบ ผ่านทางแยกไปบ้านระมีดหลวง หนทางลดระดับลงด้วยการวนไปมาราวทางอันไม่มีจุดสิ้นสุดในเขาวงกต บางช่วงคือหุบนาขั้นบันไดแปลงมโหฬาร กระท่อมกลางนาไม่ว่างเปล่า หญิงปกาเกอะญอในผ้าทอผืนสวยหาใช่ชีวิตปรุงแต่งเฝ้ารอผู้คนมาทำความรู้จัก เธอก้าวเข้าสู่ไร่นาที่เพิ่งผ่านพ้นการเก็บเกี่ยว เตรียมแผ้วถางผืนดินเดิมสู่ไร่หมุนเวียนอย่างฟักทอง ฟักเขียว เพื่อความสมบูรณ์ของดินต่อข้าวไร่ของฤดูกาลถัดไป

          “ช่วงนี้ทางแห้ง เราลงไปหากับข้าว ของใช้ กันได้ที่ข้างล่าง ๆ” แคะซอ หมายถึงแค่เพียงตัวอำเภออมก๋อย ที่ยามหน้าฝนเหมือนมันเป็นแดนไกลที่ทำได้เพียงนึกถึงสำหรับคนข้างบนนี้

          เราตัดลึกลงหุบ ข้ามห้วยจิโนที่ไหลรื่นเย็นและวกไปวนมาถึง 2 ครั้ง จนมาถึงหน่วยย่อยของหน่วยจัดการต้นน้ำห้วยจิโน พี่เสถียร แสงถา ปะปนตัวเองอยู่กับคนงานปกาเกอะญอที่แปลงปลูกกล้าพันธุ์ไม้

ห้วยจิโน

          “ที่นี่จัดตั้งก่อนข้างบนอีกนะ ตั้งแต่ปี 2529 ด้วยเหตุผลของการฟื้นฟูป่าต้นน้ำเหมือนหลายแห่งนั่นละ” เขาว่าพื้นที่ป่าต้นน้ำระดับ 1 เอ ข้างบนนี้ หากเป็นในดวงตาและความทรงจำของเฒ่าปกาเกอะญอ มันล้วนผ่านความบอบช้ำและการเยียวยามาหลายห้วงตอน จากไร่ฝิ่นที่ปกคลุมแดนดอยภาคเหนือ ต่อเนื่องสู่ไร่กะหล่ำปลีเบื้องล่างที่ดำเนินคู่ขนานอยู่กับคืนวัน การริเริ่มปลูกป่าทดแทนและดูแลป่าของผู้คนข้างบนนี้ไม่เพียงบอกกับพวกเขาว่า สิ่งจริงแท้อันเหมาะสมกับผู้คนปกาเกอะญอ คือ ป่าและต้นน้ำ ทว่าอาจหมายถึงสิ่งที่พวกเขาอยากสื่อสารกับคนที่อยู่ปลายน้ำด้วยว่า เราต่างมีโลกใบเดียวกันที่ต้องร่วมดูแลสืบสาน

          “พื้นที่ 132,541 ไร่ ของผืนป่าที่หน่วยฯ ห้วยจิโนดูแลนี้เหนื่อยหน่อยครับ เรามีคนงานไม่มากนัก” คนงานที่เป็นลูกจ้างของหน่วยฯ ราว 40 คน กับการเพาะแปลงกล้าพันธุ์ไม้ยืนต้นอย่างหวาย กำลังเสือโคร่ง นางพญาเสือโคร่ง และไม้ใหญ่อีกนานา พี่เสถียรว่าบางคนนั้นเติบโตและแก่เฒ่าไปร่วมกับโครงการ

ห้วยจิโน

          “ดูแลป่า ทำแนวกันไฟ ดับไฟป่า ไม่นับตรวจป่าอีกครับ ยิ่งยามหมดฝนนี่ล่ะ ช่วงสำคัญ” เราเดินเลาะดูแปลงกล้าหวายและกำลังเสือโคร่ง ยามนี้มันเป็นเพียงกล้าไม้ใบเขียวในถุงพลาสติกราวทารกเพียบพร้อมการประคบประหงม หน้าที่ของผู้คนที่เป็นคนงานของหน่วยฯ แยกย่อยแตกต่างกันออกไป ทั้งเพาะแปลงกล้าไม้ งานการในโรงครัว หรือยามที่ต้องเข้าไปปลูกแทรกแซมตามป่าเขารายล้อม ขณะที่ชีวิตกับผืนภูเขาก็ดำรงตนไปควบคู่กันไร่นา การทอผ้าของหญิงสาวยามว่างเว้นเพาะปลูก เหล่านี้ผสานรวมให้บ้านหลังเล็กกางหุบเขามีค่ามากกว่าแผ่นดินที่ซุกหัวล้มนอนประจำวัน

          หันมามองบ้านห้วยจิโน ผืนป่ารอบด้านล้วนสมบูรณ์อย่างถึงที่สุด สายห้วยที่เบื้องล่างไม่เคยแห้งเหือดและชื่นเย็นอย่างที่คนบนนี้เคารพศรัทธา ตามบ้านแคมป์ของคนงานเต็มไปด้วยชีวิตชีวาของเด็กน้อยเกิดใหม่ หญิงชรา และการงานที่ไม่ได้มีเงินเป็นคำตอบ ราวกับโลกอุดมคติที่เดินขนานอยู่กับโลกอีกใบที่เราจากมา

          3. จากหน่วยย่อของหน่วยฯ ห้วยจิโน ทางที่ได้รับการเกรดเปิดบางช่วงอย่างที่ผ่านมาค่อย ๆ สลายตัวตน เหลือเพียงหนทางทรหดหลังฤดูฝน เชื้อเชิญให้คนไม่เคยคุ้นได้ไหลตัวเองไปเป็นหนึ่งเดียวกับมัน เราผ่านโรงเรียนบ้านห้วยจิโนที่มีแปลงข้าวเป็นฉากหน้า ถนนลัดเลาะไปตามความสูงขึ้นลงและสภาพป่าหลายชนิด บางช่วงป่าไผ่คลี่คลุมเป็นอุโมงค์สีเขียว ขณะที่บางเวลา ยามต้องใส่โฟร์โลว์ขึ้นสู่กันยอด ลมหนาวกรูใบสนสามใบร่วงเป็นพรมรอรับรอยล้อ

          อีกราว 1 ชั่วโมง ตัดเลาะลงสู่บ้านยองแหละ แคะซอว่าคนในหมู่บ้านตามเทือกดอยแห่งนี้ล้วนเป็นญาติพี่น้องที่มีจุดแรกเริ่มมาด้วยกัน

ห้วยจิโน

          “บางคนอย่างผมก็เป็นคนบ้านลึกขึ้นไป แต่มาได้เมียบ้านนี้ ย้ายมาอยู่ใหม่ ไปมาหาสู่กันทีมีแต่ญาติมิตร” น้ำเสียงของเขาเป็นไปเช่นเดียวกับรอยยิ้มหลังเราเดินเข้าไปตามหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนี้

          ควันไฟจาก้อนเส้าข้างบนเรื้อนลอยอ้อยอิ่งแม้เป็นยามสาย เด็กน้อยในชุดเชควาสีขาวบริสุทธิ์เอ่ยสวัสดีเป็นภาษาไทย มันมีค่าพอ ๆ กับรอยยิ้มที่เราได้รับ เป็นมิตรอย่างไม่ต้องกลัวใครจะมาครหาว่าเรามองโลกอย่างงดงามเกินจะเป็น ครกกระเดื่องเสียงดังตึ้ก ๆ พร้อม ๆ กับข้าวไร่ที่เริ่มเห็นสีขาวนวลเจือน้ำตาล ด้านหลังคือหญิงสาวในชุดเชโม่ซูสีดำขลับ บ่งบอกว่าเธอมีครอบครัวแล้ว ทุกบ้านที่เราขึ้นไปเยี่ยมเยือนมักเชื้อเชิญร่วมวงข้าวด้วยคำ “เอาะเม” เมื่อเห็นเราอิดโรยจากการเดินทาง

          ภาพเช่นนี้เป็นอยู่อย่างจริงแท้เคียงคู่คนปกาเกอะญอแทบทุกหลีบของหุบเขา ชัดเจนว่าผืนป่าและสายน้ำข้างบนนี้ล้วนหล่อหลอมสิ่งดีงามเหล่านี้ขึ้นมาพร้อมวิถีแห่งบรรพบุรุษ

ห้วยจิโน

          เราเดินเลาะไปตามสีสันของบ้านยองแหละ แคะซอชี้ให้ดูใบขี้โยหรือใบยาสูบที่ตากเรียงแสนสวยบนหลังคาของบ้านแต่ละหลัง บางคราวก็พาขึ้นไปชมเตาฟืนและมิตรภาพของผู้คนในครัวที่อยู่บนเรือนนอน มันไม่เคยแยกจากตามคติการตั้งบ้านเรือนของชาวปกาเกอะญอ ตราบเท่าที่พวกเขายังเลือกจะใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ จะว่าไปสิ่งที่แคะซอคะยั้นคะยอพาเราชม ล้วนคือโลกธรรมดาของพวกเขา เป็นชีวิตและการกระทำที่แยกกันไม่ออก และบางคนอาจสงสัยว่ามันน่าดูน่าชมเช่นไร หากแต่กับบางคนข้างล่าง พันธนาการจากหลายสิ่งอย่างที่พอกพูนก็ทำให้เรื่องง่าย ๆ ใกล้ตัวเช่นนี้ ยากเย็นนักที่จะมองเห็นมันเป็นความงาม

          จากบ้านยองแหละ เราใช้เวลายาวนานช่วงปลายสายข้ามห้วยหลายสาย ทางที่ถูกฉาบด้วยฝนบาง ๆ นั้นแสนลื่น ลัดข้ามห้วยยองแหละและเทือกดอยอีกหลายลูก ระหว่างทางแคะซอราวมิตรชราที่เอ็นดูลูกหลาน เขายิ้มให้กับมุกตลกของคนเบื้องล่าง ขณะที่เราพยายามทำความเข้าใจเหลือเกินว่าอะไรทำให้ป่าไม้และภูเขาสำคัญกับชีวิตใครข้างบนนี้ได้มากมายนัก

ห้วยจิโน

          ยาวไกลลงสู่บ้านขุนตื่น ห้วยขุนตื่นไหลแรงและมหาศาลด้วยปริมาณน้ำ แคะซอว่านี่คือบ้านเกิดของเขา เมื่อเราไปถึงทั้งหมู่บ้านเต็มไปด้วยผู้คน ถนนกลางหมู่บ้านแบ่งบ้านขุนตื่นออกเป็น 2 หมู่ หมูป่านอนอาบแดดอุ่น มันอาลูก่ายกองเปื้อนดินอยู่ใต้ถุนบ้าน แคะซอพาเราก้าวขึ้นสู่บ้านของรองพ่อหลวงที่เป็นหลานของเขา

          มันเป็นมื้อเที่ยงแสนธรรมดา เมื่อเรากินเช่นเขาไม่ได้สักอย่าง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่พอหาได้จากร้านค้าเล็ก ๆ ต้มด้วยน้ำร้อนกรุ่นควันฟืน ขณะที่แคะซอได้รับการต้อนรับเป็นแกงอีเห็นและเหล้าต้มชั้นดี แดดเที่ยงไล้ลมหนาวออกไปได้บ้าง เหนือระเบียงไม้มองลงไปเห็นบ้านขุนตื่นสงบงดงามอยู่ในวงล้อมของป่าเขา เราคุยกันเรื่องความหนาวเหน็บ หนทางยากในฤดูฝน ก้าวล้ำลึกลงไปถึงความคิดความเชื่อเกี่ยวกับผีในบ้าน ในผืนนา ในป่าเขาที่คนที่นี่เคารพ

          เด็ก ๆ ที่โรงเรียนบ้านขุนตื่นยังคงมาทำการบ้านแม้เป็นวันหยุด ศาลาหน้าโรงเรียนนั้นแสนรื่นรมย์ที่มีลำห้วยไหลผ่าน ครูสาวชาวปกาเกอะญอจากพื้นล่างเดินพาเรารู้จักกับอาคารเรียนหลังเล็ก ที่มีทุกสิ่งอย่างเท่าที่โลกแห่งการศึกษาเบื้องต้นจำเป็นต้องมี

          “เราสอนให้เด็ก ๆ รู้ค่ะว่า นอกจากป่าเขาและสายน้ำ ความรู้เท่านั้นที่จะทำให้เขาอยู่กับบ้านบนดอยนี้ได้อย่างยั่งยืน” เธอว่าความยากลำบากในอดีตที่คนข้างล่างรับรู้นั้นกำลังผ่านพ้น นาทีเช่นนั้นใครสักคนอาจไม่จำเป็นต้องเพรียกหาคำจำกัดความของความแตกต่าง แม้โลกจะเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อน

ห้วยจิโน

          บนดอยสูงนั้นเต็มไปด้วยความปรวนแปรของฝนฟ้า แคะซอว่ายังไม่เข้าฤดูหนาวอย่างเต็มที่ และฟ้าทะมึนกำลังจะกักกั้นเราไว้ในหมู่บ้าน หากไม่ผ่านพ้นตัวเองสู่ทางดินที่ยังไม่ชุ่มฝน เราย้อนทวนหนทางที่นำพาเรามาสู่หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่กระจายตัวกันในหุบเขา ขากลับมักแสนสั้น รอยยิ้ม และมุมสวยงามตามหลีบเขาที่เราจมตัวเองอยู่กับมันในช่วงเช้าและบ่ายไหลเวียนย้อนสู่สายตา

          กลับมาเหนือความสูงของหน่วยฯ ห้วยจิโน หมอกครึ้มและลมโหมซุดความเย็นเยียบผลักดันให้เราใช้ยามค่ำเช่นเดิม แคะซอเดินวนดูความเรียบร้อย มื้อค่ำของวันนั้นเราได้แลกเปลี่ยนวอดกาดีกรีแรงกับเหล้าข้าวไร่ต้มใสแจ๋ว เดือนดาววิบวับอยู่เป็นช่วง ๆ ตามกำลังลมที่ผ่อนเพลาลง

          ตกดึก ดาวชัด ลมกวัดไกว ก่อนที่ใครสักคนจะชุกตัวเข้าในถุงนอน และหลับใหลไปในราตรีประดับดาวของห้วยจิโนที่ปรากฏให้เห็นเพียงชั่วครู่ คล้ายห้วงตอนรื่นรมย์ของชีวิตที่ไม่ได้มีบ่อยครั้ง แต่ก็งดงามและน่าจดจำ ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อใด

          “เมื่อคืนหนาวนัก นอนกันไหวไหม” พี่เสถียรกระชับแก้วน้ำร้อนอุ่นเมื่อเราเลือกลงจากยอดเขาผ่านมาในหนทางสายเดิม ภาพนาข้าว พืชพรรณ ป่าเขา รวมถึงการงานของคนที่นี่เริ่มชัดเจนคุ้นตา เขาว่ายามนี้คือห้วงเวลาที่ภูเขามีชีวิตชีวาที่สุด แม้ว่าฤดูเก็บเกี่ยวจะผ่านไปแล้ว แต่งานรื่นเริงช่วงปีใหม่และการกลับบ้านของลูกหลานนั้นทำได้สะดวก

ห้วยจิโน

          “พอหมดฝน คนข้างบนนี้ก็ได้เจอะเจอลูกหลานที่ลงไปข้างล่างครับ ผมเองก็กลับบ้านที่ดอยสะเก็ดได้บ้าง” พี่เสถียรว่าหน้าตาของหนทางมันไม่เคยเปลี่ยนแปลง มียากง่ายเปลี่ยนเวียนไปตามฤดูกาลทุกเดือนปี

          เราจากลาหน่วยเล็ก ๆ ที่ทำงานอยู่ท่ามกลางวิถีชีวิตและขุนเขาอันแสนกว้างใหญ่ของผู้คนปกาเกอะญอ หลายคนเอ่ยประโยค “คี เลอะ นา เน่อ เก๊อะ บะ ต่า โช่ เง” อันหมายถึง ขอให้โชคดี เมื่อรู้ว่าเราเลือกที่จะลงไปตามหนทางทรหดสู่บ้านสมอมแฮด ไม่ย้อนไปแบบขามา

          ระหว่างขับรถโยกคลอนไปตามหนทางสายชราที่พาเราเวียนเป็นวงกลมเล็ก ๆ ในเขตภูเขาแสนกว้างใหญ่ของอมก๋อย ผมนึกถึงรูปแบบชีวิตกลางขุนเขาที่ถูกผลิตซ้ำและย้ำเตือนตัวตนของคนที่อยู่กับป่าเขาไปตามแรงเหวี่ยงของวันเวลา สิ่งใดกันแน่ผลักดันให้หลายคนเดินออกจากหนทางชีวิตที่ถูกขีดมาแต่ดั้งเดิม ความใฝ่ฝัน โลกเปรียบต่าง หรือการแสวงหาชีวิตที่ดีงามกว่าที่เป็นอยู่ บางทีเมื่อผ่านพ้นพายุฝนสาดซัด ลมหนาวคลี่เผย และแดดอุ่นเรืองรองทอแสง ใครสักคนอาจพานพบว่าที่ที่เคยเหยียบยืนหายใจนั้นงดงามกว่าแห่งหนใด ๆ ที่แรมรอน และหนทางเล็ก ๆ ที่ลากผ่านคืนวันอาจชักนำให้ใครสักคนวนวิ่งสู่สิ่งที่เคยจากมา

ห้วยจิโน

ขอขอบคุณ

          คุณอภิศักด์ จัตตุพรพงษ์, คุณเสถียร แสงถา และทุกคนที่หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยจิโน สำหรับการอำนวยความสะดวกระหว่างจัดทำสารคดี

          คุณแคะซอ เต๊ะจือ สำหรับมิตรภาพต่างวัย และการเดินทางระหว่างหมู่บ้าน

คู่มือนักเดินทาง

          หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยจิโน คือ พื้นที่ที่ดูแลพื้นป่าต้นน้ำระดับ 1 เอ ในเขตภูเขาสูงของอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ อยู่เหนือความสูงราว 1,660 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง อากาศเย็นเยียบเหมาะแก่การขับรถทางไกล ไปสัมผัสความสวยงามของภูเขาและผู้คนชาวไทยภูเขาเผ่าปกาเกอะญอ

การเดินทาง

ห้วยจิโน

          จากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 ผ่านอำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง อำเภอฮอด ผ่านออบหลวง ถึงบริเวณบ้านหลวง แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1099 ไปอีกราว 49 กิโลเมตร ถึงอำเภออมก๋อย รวมระยะทางจากเชียงใหม่ถึงอมก๋อยราว 180 กิโลเมตร

          จากอำเภออมก๋อย เมื่อผ่านโรงเรียนอมก๋อยวิทยาคมทางขวามือ แยกขวาที่สี่แยกหลักไปตามทางลูกรัง ผ่านบ้านสมอมแฮด สู่บ้านยางเปา แยกซ้ายเข้าถนน รพช. ชม. 40521 ผ่านบ้านผาปูนดง บ้านสงินเหนือก่อนถึงบ้านอูตูม แยกซ้ายผ่านหน่วยจัดการต้นน้ำแม่จ๊าง และขับไปอีก 5 กิโลเมตรถึงหน่วยจัดการต้นน้ำห้วยจิโน รวมระยะทางจากอำเภออมก๋อยราว 29 กิโลเมตร ทว่าเส้นทางเป็นดินลูกรังขรุขระสูงชัน ควรใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อและควรท่องเที่ยวนอกฤดูฝน

กินอยู่

          ที่หน่วยฯ ห้วยจิโนมีห้องครัวให้บริการทำอาหารด้วยตนเอง ควรเตรียมของสดของแห้งขึ้นไปปรุงกินเอง หาซื้อของสดง่ายที่สุดที่อำเภออมก๋อย

นอนฝัน

          ลานกางเต็นท์บริเวณหน่วยฯ ห้วยจิโนถือว่าบรรยากาศดี มองเห็นทะเลหมอกได้จากที่ทำการฯ มีห้องน้ำให้บริการเพียงพอ

ติดต่อสอบถาม

          หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยจิโน หมู่ 17 ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ 50310 โทรศัพท์ 0 5390 3969 และ 08 6051 2018

          สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทรศัพท์ 0 5322 1095 เว็บไซต์ fca16.com




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 54 ฉบับที่ 6 มกราคม 2557



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ห้วยจิโน เมื่อหลังฝนมีหนทาง เปี่ยมเสน่ห์ชวนมอง อัปเดตล่าสุด 10 มีนาคม 2557 เวลา 14:46:39 5,450 อ่าน
TOP