x close

ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร




          ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร (อังกฤษ - City Pillar Shrine)เป็นศาลที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีตามธรรมเนียมพิธีพราหมณ์ว่าก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น

          ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครตั้งอยู่บริเวณมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของท้องสนามหลวงตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง ถนนหลักเมือง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนครกรุงเทพมหานคร

ประวัติ

          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าให้กระทำพิธียกเสาหลักเมืองเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 8 ขึ้น 10 ค่ำ ตรงกับวันที่ 21 เมษายน ปีพุทธศักราช2325 เวลา 6.54 นาฬิกาการฝังเสาหลักเมืองมีพิธีรีตองตามพระตำราที่เรียกว่า พระราชพิธีนครฐานใช้ไม้ชัยพฤกษ์ทำเป็นเสาหลักเมือง ประกับด้านนอกด้วยไม้แก่นจันทน์ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางวัดที่โคนเสา 29 เซนติเมตร สูง 187 นิ้วกำหนดให้ความสูงของเสาหลักเมืองอยู่พ้นดิน 108 นิ้ว ฝังลงในดินลึก 79 นิ้วมีเม็ดยอดรูปบัวตูม สวมลงบนเสาหลัก ลงรักปิดทองล้วงภายในไว้เป็นช่องสำหรับบรรจุดวงชะตาเมือง

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4ทรงโปรดเกล้าให้ขุดเสาหลักเมืองเดิมและจัดสร้างเสาหลักเมืองขึ้นใหม่ทดแทนของเดิมที่ชำรุด เป็นแกนไม้สักประกับนอกด้วยไม้ชัยพฤกษ์ 6 แผ่น สูง 108 นิ้ว ฐานเป็นแท่นกว้าง 70 นิ้วบรรจุดวงเมืองในยอดเสาทรงมัณฑ์ที่มีความสูงกว่า 5 เมตรและอัญเชิญหลักเมืองเดิม และหลักเมืองใหม่ประดิษฐานในอาคารศาลหลักเมืองที่สร้างใหม่ มียอดปรางค์ ก่ออิฐฉาบปูนขาวได้แบบอย่างจากศาลหลักเมืองกรุงศรีอยุธยา เมื่อปีพุทธศักราช 2395

          ศาลหลักเมืองได้รับการปฏิสังขรณ์อีกหลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2523มีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมการเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี พ.ศ. 2525 ศาลหลักเมืองได้รับการบูรณะอย่างสวยงามด้านทิศเหนือจัดสร้างซุ้มสำหรับประดิษฐานเทพารักษ์ทั้ง 5 คือเจ้าพ่อหอกลอง เจ้าพ่อเจตคุปต์ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง และพระกาฬไชยศรีมีการจัดละครรำ ละครชาตรี ให้ผู้ต้องการบูชาว่าจ้างรำบูชาศาลหลักเมืองอยู่ด้านข้าง





ตำนาน อิน จัน มั่น คง


          มีเรื่องเล่าสืบกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ว่าในพิธีสร้างพระนคร ต้องทำพิธีฝังอาถรรพ์ 4ประตูเมือง และพิธีฝังเสาหลักเมืองการฝังอาถรรพ์กระทำด้วยการป่าวร้องเรียกผู้คนที่มีชื่อ อิน-จัน-มั่น-คงไปทั่วเมือง เมื่อชาวเมืองผู้เคราะห์ร้ายขานรับก็จะถูกนำตัวมาสถานที่ทำพิธี และถูกจับฝังลงหลุมทั้งเป็น ทั้ง 4 คนเพื่อให้วิญญาณของคนเหล่านั้นอยู่เฝ้าหลักเมือง เฝ้าประตูเมือง เฝ้าปราสาทคอยคุ้มครองบ้านเมืองป้องกันอริราชศัตรูและปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บมิให้เกิดแก่คนในนครเรื่องเล่านี้เป็นเพียงเรื่องเล่าสืบต่อกันมา ไม่มีบันทึกในพงศาวดาร


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร โพสต์เมื่อ 15 กรกฎาคม 2552 เวลา 16:53:51 2,099 อ่าน
TOP