x close

นักวิชาการชี้ สถานการณ์ปะการังไทยน่าเป็นห่วง


ปะการัง

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก สปริงนิวส์

           อาจารย์ ม.วลัยลักษณ์ ชี้ สถานการณ์ปะการังของไทยกำลังน่าเป็นห่วง ปะการังไทยถูกทำลาย ทั้งจากสภาพแวดล้อม และจากนักท่องเที่ยวที่ขาดความรู้ โดยเฉพาะที่เกาะราชา

           รศ.ดร.กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ในฐานะหัวหน้าศูนย์ความรู้เฉพาะด้านนิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการ เปิดเผยเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2556 ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางศูนย์ฯได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การออกแบบและวิเคราะห์ข้อมูลในการศึกษาปะการังและปลาในแนวปะการัง เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ของผู้ที่มีความสนใจทางด้านปะการังและปลาในแนวปะการัง ทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากขณะนี้ สภาพปะการังของไทยกำลังน่าเป็นห่วงมาก จึงอยากกระตุ้นให้คนไทยได้ตระหนักและร่วมกันรักษาสมดุลของระบบนิเวศปะการัง

           โดย รศ.ดร.กฤษณะเดช ได้กล่าวถึงสถานการณ์ปะการังไทยที่น่าเป็นห่วง อาทิ กรณีเกิดการฟอกขาวอย่างรุนแรงในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2553 ทำให้ปะการังเขากวางที่อ่าวขอนแค เกาะราชา จ.ภูเก็ต ตายเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่เพิ่มสูงเกิน 23 องศาเซลเซียส หรือการจับปลาในแนวปะการังของชาวประมง โดยเฉพาะปลากลุ่มกินพืช เช่น ปลานกแก้ว ทำให้ไม่มีปลาคอยกินต้นอ่อนของสาหร่ายที่ขึ้นบนกอปะการัง จนปะการังถูกสาหร่ายขึ้นปกคลุม ทำให้ได้รับแสงอาทิตย์น้อยลง และตายไปในที่สุด

           ทั้งนี้ รศ.ดร.กฤษณะเดช ได้เผยว่า ที่ผ่านมาทางศูนย์ฯได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาเครือข่ายเฝ้าติดตามปะการัง( Coral sensor network) ที่เกาะราชา จ.ภูเก็ต โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์วัดอุณหภูมิ ความเค็ม และความลึก ณ จุดที่เป็นแนวปะการังในระดับความลึก 10 เมตร บริเวณหน้าหาดขอนแค ของเกาะราชา เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำทะเล โดยเฉพาะช่วงที่อาจจะเกิดปะการังฟอกขาว พร้อมติดตั้งกล้องวิดีโอใต้น้ำเพื่อศึกษาปะการังและปลาในแนวปะการัง ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวจะแสดงผลได้ทันทีผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยข้อมูลความลึกของน้ำทะเลยังสามารถนำมาประยุกต์เพื่อบอกได้ว่าจะเกิดสึนามิที่เกาะราชาหรือไม่ ทำให้สามารถเตือนนักท่องเที่ยวได้ทันท่วงทีอีกด้วย

            นอกจากนี้ รศ.ดร.กฤษณะเดช ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวมาดำน้ำที่เกาะราชาจำนวนมาก ซึ่งก็มักไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และขาดทักษะการดำน้ำที่ถูกต้อง หลายครั้งที่นักท่องเที่ยวเหยียบปะการังทำให้กิ่งหัก หรือบางคนนำอาหารมาเลี้ยงปลาในแนวปะการัง ทำให้ปลาที่ควรจะกินสาหร่ายกลับมารอขนมปังจากนักท่องเที่ยวแทน สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อสมดุลธรรมชาติของระบบนิเวศปะการัง ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเลต่อไปอย่างแน่นอน


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักวิชาการชี้ สถานการณ์ปะการังไทยน่าเป็นห่วง อัปเดตล่าสุด 19 มิถุนายน 2556 เวลา 12:27:42
TOP