x close

ทุ่ม 15 ล้าน สร้างชุมชนช้างสุรินทร์ แห่งแรกของโลก

ช้าง


ทุ่ม 15 ล้าน สร้างชุมชนช้างสุรินทร์ แห่งแรกของโลก (กรุงเทพธุรกิจ)

          วันที่ 8 ตุลาคม ที่บริเวณศูนย์คชศึกษาหมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ 7 องค์กร ประกอบด้วย จังหวัดสุรินทร์, องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์, กรมป่าไม้, กรมอุทยานแห่งชาติ, กรมปศุสัตว์, องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกันสำรวจและขึ้นทะเบียน ทำประวัติช้าง ตรวจสุขภาพช้าง ตรวจสอบไมโครชิพที่ฝังไว้ในช้างแต่ละเชือก

          พร้อมทั้งทำสัญญาจ้างเจ้าของช้าง ควาญช้าง ในการนำช้างจำนวน 125 เชือก เข้าโครงการนำช้างคืนถิ่น ซึ่งเริ่มดำเนินการ ในระหว่างวันที่ 8-10 ตุลาคม 2552 การโครงนำช้างคืนถิ่น ลดปัญหาการนำช้างออกไปเร่ร่อน เพื่อแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรม โดยองค์การสวนสัตว์ได้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณ 15 ล้านบาทลงพื้นที่ สร้างให้เป็น "คชอาณาจักร" ซึ่งเป็นชุมชนช้างที่ยิ่งใหญ่แห่งแรกของโลก ในวันนี้มีช้างสมัครเข้าโครงการวันแรกกว่า 100 เชือก ส่วนใหญ่เป็นช้างในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเจ้าของช้างควาญช้างจะได้รับเงินเดือน ๆ ละ 8,000 บาทและค่าอาหารช้าง 5,000 บาท ควาญช้าง 3,000 บาท 

          ทั้งนี้ ควาญช้างต้องปลูกพืชอาหารช้างในพื้นที่ ๆ กำหนดให้เสมือนเป็นการจ้างแรงงานทำงานไปในตัว รวมถึงช้างและควาญช้างต้องอยู่ในโครงการตลอดระยะเวลา 1 ปี หากพบว่ามีช้างเชือกใดหลบหนี ออกไปเร่ร่อน องค์การสวนสัตว์ตรวจสอบพบ จะถูกเพิกถอนรายชื่อออกจากโครงการทันที

          ซึ่งบรรยากาศการลงทะเบียนช้างตั้งแต่ช่วงเช้า ที่ศูนย์คชศึกษา คึกคักไปด้วยช้างกว่า 200 เชือก นับเป็นมิติใหม่ที่แสดงให้เห็นถึงการจัดทำ ชุมชนช้าง หรือ "คชอาณาจักร" ที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ซึ่งต้องอาศัยการร่วมมือและสนับสนุนจากภาครัฐ

          นายประกิจ ร่วมพัฒนา ตัวแทนควาญช้าง เผยว่า เมื่อโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น ชาวช้างมั่นใจว่าปัญหาช้างเร่ร่อนจะลดลงและหายไปในที่สุด และชาวช้างทุกคนพร้อมที่จะร่วมมือเข้าสู่โครงการช้างคืนถิ่น พร้อมทั้งจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับองค์การสวนสัตว์ เพื่อให้ คชอาณาจักร ประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง

          ด้านนายประยุทธ นาวาเจริญ รองผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า การจัดขึ้นทะเบียนช้างกว่า 125 เชือก ในครั้งนี้ ถือเป็นมิติใหม่ที่จะจัดการเป็นชุมชนช้าง ลดปัญหาการเร่ร่อน และในระยะยาวต้องจัดการเป็น คชอาณาจักร ให้สมบูรณ์ที่สุด และขณะนี้เราเห็นแล้วว่าช้าง เป็นสัตว์ใหญ่ที่ฉลาด น่ารัก สามารถแสดงออกได้หลากหลาย ก็จะดึงดูดนักท่องเที่ยว เข้ามาเที่ยวในพื้นที่ได้เป็นจำนวนมาก ประชาชนในพื้นที่ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้มีบริษัททัวร์นำเที่ยว ได้ให้ความสนใจมาศึกษาหาลู่ทาง ในการนำนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวที่ศูนย์คชศึกษา โดยมีการวางแผนร่วมกันหลายฝ่าย เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชีวิต วิถีธรรมชาติให้มากที่สุด จะเห็นช้างอยู่ในป่า เห็นการคล้องช้างในป่า แทนการคล้องช้างในสนามฟุตบอล และสิ่งอื่น ๆ จะตามมาอีกหลายอย่าง วันนี้โครงการ คชอาณาจักรช้าง เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งต่อไปก็จะทำให้สมบูรณ์ ยิ่งขึ้น

          ในขณะนี้ที่ศูนย์คชศึกษา มีช้างที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ นำช้างคืนถิ่นแล้ว 65 เชือก ขณะที่องค์การสวนสัตว์ รับช้างคืนถิ่นเพิ่มมาอีก 125 เชือก รวมเป็นช้าง 180 เชือก อย่างไรก็ตาม ทั้งสองโครงการ ยังไม่สามารถรับช้าง เข้าร่วมโครงการนำช้างคืนถิ่น ได้ทั้งหมด ยังมีช้างอยู่อีกกว่า 80 เชือก ซึ่งเป็นช้างในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ส่วนหนึ่ง จังหวัดบุรีรัมย์ส่วนหนึ่ง ที่ยังไม่สามารถเข้าร่วมโครงการนำช้างคืนถิ่นได้ เพราะงบประมาณทั้งสองหน่วยงานมีอยู่อย่างจำกัด และกำลังเป็นปัญหาความเดือดร้อนของควาญช้างอยู่ในขณะนี้



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทุ่ม 15 ล้าน สร้างชุมชนช้างสุรินทร์ แห่งแรกของโลก อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15:30:15 1,693 อ่าน
TOP