x close

งานประเพณีรับบัว 2552

ประเพณีรับบัว


งานประเพณีรับบัว 2552 (ททท.)


          การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับชุมชนบางพลี จัดงาน ประเพณีรับบัว ประจำปี 2552 วันที่ 30 กันยายน - 3 ตุลาคม 2552 ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและกิจกรรมด้านพุทธศาสนาช่วงวันออกพรรษา และส่งเสริมการท่องเที่ยว ประชาสัมพันธ์กิจกรรม และแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดสมุทรปราการให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

          ภายในงานยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ...

          สัมผัสวัฒนธรรมอันดีงาม "ลานวัฒนธรรม" และชมการแสดงวิถีชีวิตชาวนา ชาวลาว ชาวมอญ ชาวจีน ชาวมุสลิม  การแสดงรำกลองยาว

          เลือกชิมขนมพื้นบ้านอาหารพื้นเมือง และเลือกซื้อสินค้าชุมชน "OTOP"

          ชมการแข่งขัน เช่น ชกมวยทะเล, หมากรุกคน, แข่งขันเรือมาด

          ชมการประกวดหนุ่มสาวรับบัว, ขวัญใจแม่ค้า, ประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง, การนวดมือทอง, การทำขนมพื้นบ้านอาหารพื้นเมือง

          ชมขบวนเรือสวยงาม ความคิดสร้างสรรค์ และตลกขบขัน และร่วมถวายดอกบัวบูชาหลวงพ่อโต

          เยี่ยมชมและสัมผัสบรรยากาศไทย ๆ ริมฝั่งคลองสำโรง พร้อมชิมอาหารอร่อย ณ "ตลาดโบราณบางพลี"


ประเพณีรับบัว


          สำหรับประเพณีรับบัว หรือโยนบัว เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวบางพลี ซึ่งอำเภอบางพลีมีประชากรอาศัยอยู่ 3 พวก คือ ไทย รามัญและลาว แต่ละพวกมีหัวหน้าควบคุมดูแลทำมาหากิน ในอาชีพต่าง ๆ ต่อมากลุ่มคนทั้ง 3 พวก ได้ปรึกษากันว่าสมควร จะขยายพื้นที่ทำกินใหม่ให้มากขึ้น เพราะที่ทำไร่ ทำสวนแต่เดิม เต็มไปด้วยพงอ้อพงแขม และพันธุ์ไม้ต่างๆ มีสัตว์อาศัยอยู่หลายชนิด ทางฝั่งใต้ของคลองเต็มไปด้วยป่าแสมเป็นน้ำเค็ม ฝั่งเหนือเป็นบึงใหญ่ แต่ละบึงจะมีน้ำลึก มีดอกบัวหลวงขึ้นอยู่มากมาย คนทั้ง 3 พวก ได้ช่วยกันหักร้างถางพง จนถึงสามแยกบริเวณคลองสลุด, คลองชวดลากข้าว, คลองลาดกระบัง เมื่อถึงบริเวณนี้ต่างตกลงกันว่าควรแยกย้ายกันไปหากินคนละทาง โดยให้พวกลาวไปทางคลองสลุด, คนไทยไปตามทางคลองชวดลากข้าว, พวกรามัญไปทางคลองลาดกระบัง

          ต่อมาคนรามัญที่ไปทางคลองลาดกระบัง ทำ มาหากินอยู่ 2 - 3 ปี ก็ไม่ได้ผลผลิต มีนกหนูรบกวน การทำไร่ ไถนาพืชผลจึงเสียหาย เลยปรึกษาว่าจะกลับถิ่นฐานเดิมคือ ปากลัด และเริ่มอพยพในตอนเช้ามืดของเดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ ก่อนไปได้เก็บดอกบัวในบริเวณนั้นไปด้วย เพื่อนำไปบูชาพระคาถาพันที่ปากลัด ในปีต่อมา บอกให้คนไทยที่ชอบพอกันว่า เมื่อถึงวันขึ้น 4 ค่ำเดือน 11 ให้ช่วยเก็บดอกบัวไปบูชาหลวงพ่อโตในวิหาร และให้นำน้ำมนต์หลวงพ่อโต กลับไปเป็นสิริมงคลด้วย ส่วนดอกบัวที่เหลือชาวรามัญ จะนำกลับไปบูชาพระคาถาพัน จึงเป็นที่มาของประเพณีรับบัวมาจนถึงทุกวันนี้

          ในปัจจุบันพอถึงเดือน 11 ขึ้น 13 ค่ำ ก่อนออกพรรษา 2 วัน ในตอนเย็นชาวบางพลีจะเตรียมดอกบัวไว้ โดยเอาดอกบัวหลายดอกเสียบไว้ในใบบัว แล้วเอาใบบัวห่อไว้กันเหี่ยว ตกเย็น ชาวตำบลต่าง ๆ ทั้งใกล้และไกล จะพากันไปยังตำบลบางพลีใหญ่ ต่างช่วยกันพายเรือ และตกแต่งอย่างสวยงาม ตอนกลางคืนมีการจับคู่ร้องเพลงเรือ ลำตัดตามแต่ถนัด ฝ่ายชาวบ้านบางพลีใหญ่ จะตกแต่งบ้านเรือนด้วยธงทิวโคมบัว จะเล่นจนถึงสว่าง บริเวณที่เล่นกันคือคลองสำโรง ในตอนเช้าจะมีการโยนบัวลงไปในขบวนเรือ ขบวนแห่พระพุทธรูป โดยอัญเชิญหลวงพ่อโตจำลองลงไว้ในเรือ เรือจะแล่นไปตามคลองสำโรง ให้ประชาชนได้บูชา ประชาชนจะโยนดอกบัวลงไปในเรือที่แห่หลวงพ่อโต และในเรือที่ชาวบ้านมาร่วมงาน

          สำหรับผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานกรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 02-250-5500 ต่อ 2994-6 วัดบางพลีใหญ่ (วัดหลวงพ่อโต) โทร. 02 -337-3729 หรือ เบอร์เดียว เที่ยวทั่วไทย โทร. 1672






ขอขอบคุณข้อมูลจาก
   



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
งานประเพณีรับบัว 2552 อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15:21:35
TOP