x close

เขาล่อน บ้านของสมเสร็จในเขตเขาบรรทัด

เขาล่อน

เขาล่อน

เขาล่อน


เขาล่อน บ้านของสมเสร็จในเขตเขาบรรทัด (อสท)

ปิยะฤทัย ปิโยพีระพงศ์...เรื่อง
บารมี เต็มบุญเกียรติ...ภาพ

          เสียงลมพัดพรูผ่านกิ่งใบไม้แคระดังครืน ๆ ราวกับเสียงคลื่นทะเลคลั่งปลุกฉันให้ขยับถุงนอนลง แล้วลืมตามองฟ้าสีส้มหม่นอย่างตื่นตะลึง แสงสีส้มสวยนั้นราวกับร่ายมนต์เรียกร่างในถุงนอนอุ่นให้ลุกออกไปประชันหน้ากันโดยไร้แมกไม้เป็นม่านกั้น มนต์ธรรมชาติปลุกเรา...คนไกลจากเมืองกรุง ให้ละที่นอนบนเดินอุ่น แล้วเดินไต่เลียบลาดไหล่เขามายืนอยู่บนยอดที่มีหินกองก่ายเกย เพื่อสูดอากาศสดสะอาดในห้วงยามเข้าตรู่ และเสพความงามของแสงแรกแห่งวันอย่างอิ่มเอิบใจ

          ฉันยืนเท้าแรงลมเย็นเยียบ ฟังเสียงคลื่นใบไม้ มองฟากฟ้าที่แปรเปลี่ยนสีไปทีละน้อย จากส้มหม่นจัดค่อย ๆ กลายเป็นทองเรื่อเรืองแล้วจางสีเป็นเหลืองอ่อนตัดกับสีฟ้าแจ่ม เมื่อมองไล่สายตาขึ้นไปโทนสีจะค่อย ๆ ปรับเฉดเข้มขึ้นจนกลายเป็นสีน้ำเงินสด โดยมีริ้วเมฆขาวสะอาดม้วนตัวตีโค้งเป็นวงแหวนประดับฟ้าเหนือขุนเขาสลับซับซ้อน

          พร้อม ๆ กับการแสดงแสงสีของธรรมชาติที่เกิดขึ้นอยู่รอบตัว ฉันเงี่ยหูคอยฟังเสียงสวบสาบที่อาจดังจากพุ่มไม้แคระในหุบต่ำลงไป บางที...หนึ่งในเจ้าของบ้านอาจกำลังและเล็มอาหารเช้าอยู่ไม่ไกล ไม่แน่...เจ้าของบ้านร่างอวบสีขาวสลับดำ อาจออกมากัดกินพุ่มใบที่ชุ่มฉ่ำด้วยน้ำค้างให้เราเห็นก็เป็นได้ ฉันหมายถึง "สมเสร็จ" สัตว์ป่าที่หลายคนเคยเห็นพวกมันออกมาหากินอย่างสบายใจ ในบริเวณที่เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของบ้านอันกว้างขวางของพวกมัน และบริเวณนั้นก็คือบริเวณนี้

          ย้อนกลับไปเมื่อวันวาน วันที่ฉันก้าวจากรถลงสู่เขต บ้านคลองหรั่ง ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางแวดล้อมของขุนเขาบรรทัด ในอำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง ใครคนหนึ่งชี้ให้ดูยอดเขาแหลมที่ตระหง่านอยู่เบื้องหน้า "โน่นไง ยอดเขาล่อนที่เราจะเดินไป" ใครคนนั้นสำทับให้มั่นใจว่าไม่ผิดจุดหมายแน่

เขาล่อน

          เขาล่อน หรือ เขาล้อน หรือ เขาโล้น ล้วนหมายถึง "ยอดเขาแหลมยอด" นั้น มันตั้งอยู่ใน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ซึ่งมีเนื้อที่ 791,847 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ 4 จังหวัด คือ พัทลุง ตรัง สตูล และสงขลา ส่วนเขาล่อนครอบคลุมเพียงพื้นที่บางส่วนของ 2 จังหวัด คือ พัทลุง และ ตรัง โดยสามารถตั้งต้นเดินได้จากทั้ง 2 จังหวัด แต่เราเลือกเดินขึ้นจากทางด้านพัทลุง จังหวัดเล็ก ๆ ที่นักท่องเที่ยวหลายคนแทบไม่นึกถึง ทั้ง ๆ ที่พัทลุงมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เข้าขั้น "ต้องไป" หลายแห่ง เช่น ทะเลน้อย และรวมถึงเขาล่อนที่เรากำลังจะไต่ทางชันขึ้นไปสู่ยอดเขา ณ ความสูงประมาณ 1,250 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง นี้ด้วย

          "ชื่อ เขาล่อน เพี้ยนจากคำว่า เขาโล้น ครับ" หนุ่มลูกหาบไขข้อข้องใจเกี่ยวกับชื่อเสียงเรียงนามที่เรียกต่างกันไป เขาบอกว่าเพราะบนยอดเขาไม่มีต้นไม้ใหญ่ปกคุลม ชาวบ้านจึงเรียกมันว่า "เขาโล้น" ขณะที่บางคนออกเสียงเป็น "เขาล้อน" ฉันเคยได้ยินที่มาอีกอย่างว่า เขาล่อนย่อมาจาก "ล่อนจ้อน" ซึ่งก็ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือบนยอดเขานั้นไร้ไม้ใหญ่ ราวกับเป็นยอดเขาล่อนจ้อนเปล่าเปลือย สำหรับทางด้านตรัง มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "ภูผาเมฆ" เพราะเมื่อขึ้นไปถึงยอดเขาจะพบม่านขาวบางเบาของเมฆ และหมอกปกคลุมตลอดเช้าเย็น

          ทว่าไม่ใช่เพียงทิวทัศน์งาม พรรณไม้สวย ที่ทำให้ใครหลายคนบากบั่นเดินทางไปถึงยอดเขาล่อน ไฮไลท์ของยอดเขาโล้นเลี่ยนไร้ไม้ใหญ่นั้น แท้จริงอยู่ที่การได้พบเจอ "สมเสร็จ" สัตว์ป่าเห็นยาก ตัวอ้วนปึ้ก สีขาวดำ ที่ว่ากันว่าพบเจอตัวได้ไม่ยากนักบนยอดเขาอาบเมฆหมอกนั้น

          แดดสายสาดแสงเมื่อเราจัดข้าวของจำเป็นลงเป้เรียบร้อยและพร้อมออกเดิน ได้ทุ่นแรงกันเล็กน้อยด้วยการขึ้นรถปิคอัพไปลงที่ ลานน้ำตกวังน้ำปลิว ซึ่งนับว่าสุดทางที่รถยนต์จะขึ้นต่อ จะมีก็แต่ทางลำลองลูกรังแสนแคบที่มอเตอร์ไซค์ควบขึ้นได้ ทางสายนี้เป็นทางเดินที่ชาวบ้านใช้เพื่อไปกรีด-เก็บน้ำยางพารา รวมทั้งเป็นทางเดินของนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจไต่สู่ยอดเขาล่อนด้วย

          เส้นทางช่วงแรกนั้นนับว่าเดินสบาย ๆ เพราะรอยทางชัดและไม่รกเรื้อ จนเมื่อพ้นแนวสวนยางพาราเข้าสู่ ลาลอด ซึ่งเป็นช่องผาอันเกิดจากหินก้อนใหญ่ล้มเลื่อนเคลื่อนพิงกัน ก็เป็นเวลาที่อยากพักพอดี ในหลีบหินด้านหนึ่งมีเสียงน้ำไหลแว่วมาเบา ๆ มันเป็นแหล่งน้ำใสสะอาดที่เราสามารถกรอกน้ำใส่ขวดดื่มได้ และยังมีอีกเสียงหวานใสฟังแล้วรื่นใจ คือเสียงร้องของนกกางเขนน้ำหลังแดง ซึ่งแม้ไม่เห็นตัว แต่ก็ทำให้คนรักนกที่ร่วมทริปมาด้วยยิ้มแฉ่งเลยทีเดียว

เขาล่อน

          ทางเดิน "ป่า" ของจริงรออยู่หลังจากไต่หินขึ้นจากบริเวณลาลอด เริ่มจากเดินเลาะเลียบไหล่เขาที่ด้านหนึ่งคือหุบลึกอันปกคลุมด้วยต้นไม้รกครึ้ม บนทางเดินปูลาดด้วยใบไม้แห้งสุมก่ายกองเหยียบย่ำลงไปแต่ละก้าว ก็เกิดเสียงกรอบแกรบตามมา บนทางราบนั้นไม่มีปัญหา ทว่าเมื่อใบไม้แห้งร่วงสุมชุมนุมกันอยู่บนทางชัน ก็พานทำให้เราเดินลื่นไถลกันคนละพรืดสองพรืดโดยไม่ทันตั้งตัว มื้อเที่ยงของวันแรกอยู่ที่ริมห้วยต้นไทร ซึ่งสายน้ำไหลลดหลั่นผ่านระดับหินกลายเป็นน้ำตกใสแจ๋วเย็นชื่นใจ เป็นทั้งที่ล้างหน้าตาและเนื้อตัวหลังจากเหงื่อไหลไคลย้อยกับหนทางชันกันมากว่า 2 ชั่วโมง อีกทั้งยังเป็นแหล่งน้ำให้เราดื่มและกรอกเก็บใส่ขวดอีกด้วย นั่งพักเหนื่อย ณ จุดนี้ ยังได้ดูผีเสื้อปีกสวยบินร่อนไปมา ก่อนโฉบลงเกาะบนหินชุ่มมอสหรือบนกิ่งไม้ เพลินใจเพลินตาไปตาม ๆ กัน

          หลังจากหยุดพักกินข้าว ทางไต่ขึ้นสู่ยอดเขาก็ชันดิกยิ่งกว่าเดิม แม้จะจำได้ว่าข้อมูลของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าบอกไว้ว่าความชันแถบนี้อยู่ที่ 20 - 30 องศา แต่ฉันกลับคิดว่ามันน่าจะเขยิบไปถึง 45 องศาก็เป็นได้ ฉะนั้น เมื่อไม่อยากทดท้อใจก็ไม่ควรแหงนเงิบดูหนทางที่ทอดสูงชันขึ้นไปราวกับไม่รู้จบ เลือกมองแค่บริเวณรอบตัวชนิดที่ไม่ต้องแหงนเงยคอตั้งบ่าจะดีกว่า เพราะมีพรรณไม้ป่างาม ๆ ให้ชื่นชมคลายเหนื่อย ทั้งไม้ดอก ไม้ใบสวยสดใสอิ่มเอิบชื่นตา

          นาฬิกาบอกเวลาล่วงเลยบ่ายสามเมื่อเราไต่ลงสู่หุบธารน้ำใส ซึ่งเรียกกันว่า ทับดาน อันเป็นที่ผูกแปลค้างแรมของเราในคืนแรก แม้แสงแดดยังไม่ทันจางหาย ทว่าเมื่อคนนำทางคำนวณเวลาที่จะต้องเดินไปยังยอดเขาล่อนแล้ว ก็คาดว่าจะถึงยามเย็นย่ำค่ำมืด ซึ่งลำบากลำบนในการตั้งแคมป์ จึงตัดสินใจปักหลักกันริมธารใสไหลเย็น อันเป็นลำธารสุดท้ายที่เราพบก่อนขึ้นสู่ยอดเขาสูง

เขาล่อน

          คืนค่ำนั้นบนฟ้าดารดาษด้วยแสงดาวระยิบระยับเมื่อมองผ่านม่านร่มไม้ อีกทั้งยังมีเสียง "วัก ๆ" ของเขียดว้าก สลับกับเสียง "ติ๊ก-ติ๊ก-ติ๊ก" ของปาดแคระป่า เสียงหรีดหริ่งเรไรผลัดกันระงมจากมุมโน้นมุมนั้น รวมกับเสียงสายน้ำไหลผ่านแก่งหินดังแว่วจากหุบธาร ท่ามกลางอากาศเย็นสบายกำลังดี ถ้าจะมีคนนอนไม่หลับเพราะแปลกที่แปลกทางกับบรรยากาศเช่นนี้...ใครคนนั้นย่อมไม่ใช่ฉันแน่

          เช้าวันต่อมา เสียงธรรมชาติ ทั้งนก แมลง และลมพัดใบไม้พรูพลิ้วเป็นทำนองดนตรี คือนาฬิกาปลูกที่ไม่กรีดเสียงเกรี้ยวกราด อีกทั้งกลิ่นควันไฟที่เพิ่งถูกก่อเพื่อต้มน้ำชงกาแฟ ทำให้ฉันลุกจากเปลอย่างสดชื่น ปลายทางของเราคงอยู่ห่างไปไม่ไกลนัก เพราะหนุ่ม ๆ ที่เป็นทั้งคนนำทางและลูกหาบบอกว่าเดินอีก 2 ชั่วโมง ก็ถึงยอดเขาล่อนแล้ว

          หลังอาหารเช้า เราจึงเดินกันอย่างสบาย ๆ เริ่มด้วยการไต่กลับขึ้นสู่ทางชันที่เราผ่านลงมาเมื่อบ่ายวันวาน ทว่าความสบายกลับมลายไปสิ้น เมื่อข้ามขึ้นมาถึงลาดเขาแล้ว คนนำทางพาไต่ตัดขึ้นไปอีกทางหนึ่ง ดูเหมือนจะชันไม่ต่างจากหนทางที่ผ่าน ๆ มาเลย รอยทางบางช่วงดูไม่ชัดเจนนัก ถ้าไม่เจนจัดการเดินป่าก็พานจะหลงได้ง่าย ๆ แล้วฉันก็หลุดจากการเกาะกลุ่ม กลายเป็นเดินลำพังในผืนป่ากว้างใหญ่ ซึ่งเมื่อเลียบเลาะไหล่เขา แล้วก้าวสู่สันเขาที่เรียงรายด้วยต้นเสม็ดแดง ก็รู้สึกราวกับว่าผืนป่านี้มีเราเพียงคนเดียว แถมการเดินเดี่ยวยังทำให้อดคิดครึ้มไม่ได้ว่า สมเสร็จอาจโผล่ออกมาให้เห็นก็เป็นได้

เขาล่อน

          แต่ก็ได้แค่คิดฝันลอย ๆ เพราะในที่สุดทีมหลังก็ก้าวมาทัน เราเดินเรื่อย ๆ สบาย ๆ ไปสมทบกับกลุ่มม้าเร็วเดินไวตรงจุดชมวิวบนไหล่เขา มองเห็นขุนเขาเขียวครึ้มและผืนป่าแน่นขนัดเบื้องล่างกระจ่างตา หลังจากผ่านสันเขา ดงเสม็ดแดง เราพากันไต่ ๆ ๆ ๆ ทางชันดิกที่ยังพอมีร่มไม้ใบบังขึ้นไปบนลานโล่งเล็ก ๆ ที่เปิดมุมมองรอบตัวให้เห็นเทือกทิวสูงต่ำสลับซับซ้อนที่นี่คือประตูล่อน ซึ่งเปรียบเสมือนปากทางสู่ยอดเขาล่อน นับแต่เริ่มเดินออกจากทับดาน เราผ่านแนวต้นไม้ใหญ่ที่ค่อย ๆ ลดขนาด ลดความสูง และลดจำนวนลงเรื่อย ๆ บัดนี้เราก้าวพ้นแนวป่าดิบเข้าสู่ผืนป่าแคระบนเขาสูงแล้วอย่างเต็มตัว พันธุ์ไม้ที่เห็นชัดเจน คือ ต้นโคลงเคลง ที่ขึ้นกระจายห่าง ๆ อวดดอกสีบานเย็นให้เห็นเป็นหย่อมย่าน สลับกับกระจุดที่ชูต้นเรียวยาวชี้ขึ้นเหนือผืนดิน ยังมีเฟิร์น หม้อข้าวหม้อแกงลิง และพันธุ์ไม้พุ่มที่ขึ้นดกดื่นคลุมพื้นจนมองไม่เห็นดิน

          "ทางที่เราเดินนี่เป็นทางสมเสร็จนะ ถ้ามันไม่เปิดทางไว้ให้เราคงเดินลำบากกว่านี้เยอะ" คำบอกเล่าของลูกหาบทำให้ฉันพูดได้เต็มปากว่า เรากำลังตามรอยสมเสร็จกันอย่างจริงจังยิ่งกว่าครั้งไหน ๆ

          ก้าวลงจากประตูล่อน เดินขึ้นเขาลงเขาอีกไม่ไกล ก็มาถึงหุบที่มีดินโคลนเฉอะแฉะ เราก้มดูรอยตีนที่ปรากฏอยู่เต็มไปหมด "นี่รอยหมูป่า" หนุ่มนักเดินป่าขี้ร่องรอยดิน 2 กีบนิ้ว ที่มีรอยกิ่งกีบจาง ๆ ให้เห็น "ส่วนตรงนี้ รอยใหญ่ ๆ มี 3 นิ้ว นี่เป็นรอยตีนสมเสร็จ เพิ่งจะผ่านไปเมื่อเช้านี้เองล่ะมั้ง" เป็นร่องรอยแรกของสมเสร็จที่ฉันได้เห็นจะ ๆ ก่อนจะจากปลักโคลนขึ้นสู่ยอดเขาลูกเล็ก ๆ อีก 2 - 3 ยอด อันเป็นทางเชื่อมต่อสู่ยอดเขาล่อน ซึ่งเป็นปลายทางที่แท้จริง ระหว่างทางที่ไม่มีร่มไม้ให้เงานั้น แสงแดดยามสายสาดจ้าลงสู่ตัวโดยตรง ยังดีที่มีลมเย็นพัดผ่านตลอดเวลา ความร้อนจึงคลายไปได้มาก ข้อดีอีกอย่างของทางโล่ง โปร่ง ที่ทอดเลียบเลาะไหล่เขาโดยมีไม้พุ่มขึ้นแน่นขนัดพื้น คือเราไม่มีทางพลัดหลงกันแน่นอน

          2 ชั่วโมง หากขาดเกินก็เพียงเล็กน้อย ฉันก้าวขึ้นสู่สันเขาอันเป็นที่พักแรมของเรา แม้ตัวเปียกปอนเหงื่อ แต่ใจกลับปลอดโปร่งเบาสบาย เพราะบรรยากาศของขุนและป่าแคระที่โอบล้อม มีเสียงนกเจื้อยแจ้วกับสายสมเย็นพัดผ่านตลอดเวลา บนฟากฟ้าสีน้ำเงินนั้นก็มีนกแอ่นเป็นฉวัดเฉวียนไปมาอย่างรวดเร็ว ถ้าเป็นนกแอ่นใหญ่ก็จะได้ยินเสียง "เฟี้ยว" ประกอบความเร็วรี่ของลีลาการบินอีกต่างหาก

เขาล่อน

          ที่ตั้งแคมป์ของเราอยู่ใกล้กับยอดเขาล่อนด้วยระยะเดินไล่ขึ้นเพียงไม่กี่สิบก้าว ห่างจากลานที่พักไปอีกด้านของยอดเขาล่อน คือยอดเขาโล่งอีกลูกซึ่งเรียงรายด้วยก้อนหินน้อยใหญ่ราวกับมีศิลปินมาจัดแสดงประติมากรรม ที่นั่นคือ เนินกอง เมื่อขึ้นไปยืนบนยอดกองหิน จะมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้รอบตัว...คล้ายกับเมื่อขึ้นไปยืนบนยอดเขาล่อน เป็นภาพของทิวเทือกเขาบรรทัดที่ทอดยาวสูงต่ำสลับซับซ้อน โอบผืนป่าครึ้มทึบในหุบลึกไว้อย่างแนบแน่น

          คืนนี้เราไม่ผูกเปลนอนอย่างคืนก่อน ด้วยคำแนะนำของคนนำทางและลูกหาบที่ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ปูผ้าพลาสติกนอนบนพื้นอุ่นกว่านัก เพราะบริเวณยอดเขาล่อนมีลมแรงพัดผ่านตลอดเวลา โดยเฉพาะยามเย็นย่ำไปจนถึงรุ่งเช้านั้น สายลมที่พัดไม่ได้นำความเย็นมาให้ ทว่าเป็นความหนาวราวกับอยู่บนดอยทางเหนือเลยทีเดียว

          จริงอย่างที่เขาบอก เพียง 4 โมง อากาศก็เย็นเยียบจนต้องสวมเสื้อแขนยาวทับเสื้อแขนสั้น และเมื่อความมืดมาเยือนความหนาวเย็นก็ยิ่งทวีคูณ ฉันอออกจากใต้หลังคาฟลายชีทมาแหงนหน้ามองแสงดาววิบวับในคืนข้างแรม รับสายลมหนาวในค่ำคืนที่ดาวบนฟ้าเกลื่อนกล่นและดาวบนดิน คือตัวจังหวัดตรังที่อยู่เบื้องล่าง ก็วับแวมแสงไฟโดดเด่น เสียง "ติ๊ก-ติ๊ก" ของปาดแคระป่าดังแว่วแข่งกับเสียงใบไม้พรูพลิ้วตามแรงลม ภาพที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน บรรยากาศที่โอบส้อม ดูเหมือนจะทำให้คลายความหนาวลงไปได้มาก กลับมาเอนหลังราบแนบชิดผืนดิน มีถุงนอนคลุมครอบรอบตัว ความอบอุ่นอาบจับ ก่อนหลับลึกในนิทรา คงไม่ผิดถ้าฉันจะวาดหวังถึงการต้อนรับของเจ้าของบ้านเมื่อรุ่งเช้ามาเยือน

เขาล่อน

          การแสดงแสงสีของธรรมชาติดำเนินมาถึงปลายทาง ฟ้าสว่างจ้า แดดกล้าสาดจับผืนป่า ฉันยังคงเงี่ยหูคอยฟังเสียงสวบสาบที่อาจดังจากพุ่มไม้แคระในหุบต่ำลงไป บางที...หนึ่งในเจ้าของบ้านอาจกำลังและเล็มอาหารเช้าอยู่ไม่ไกล ไม่แน่...เจ้าของบ้านอาจออกมากัดกินพุ่มใบที่ชุ่มฉ่ำด้วยน้ำค้างให้เราเห็นก็เป็นได้ ความหวังริบหรี่จนจางไปพร้อมเวลาที่ล่วงเลย แน่นอนแล้วว่าสมเสร็จไม่ออกมาให้เห็น อาจเป็นเพราะฝนที่ขาดเม็ดไปนานเกือบเดือน ทำให้ความแห้งแล้งปกคลุมบริเวณยอดเขาล่อน แม้กระทั่งแอ่งน้ำซับก็เหือดแห้ง ทำให้ไม่มีแหล่งน้ำให้สมเสร็จออกมากินน้ำเหมือนเคย

เขาล่อน

          ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด แม้เจ้าของบ้านไม่ออกมาแสดงตัว ทว่าร่องรอยที่ได้เห็นระหว่างทางที่ผ่านมา ก็เป็นสิ่งบ่งบอกให้รู้ว่าสมเสร็จยังมีชีวิตอยู่ใน "บ้าน" หลังใหญ่อันอุดมด้วยพรรณไม้ โดยมีสรรพชีวิตอื่น ๆ อาศัยอยู่ร่วมกัน เป็นห่วงโซ่ที่ขับเคลื่อนวงจรป่าให้หมุนวนเป็นไปตามปกติ และความปกติเช่นนี้ก็ทำให้ผู้ที่ไต่ขึ้นมาเยือนก้าวกลับลงไปด้วยความอิ่มเอมใจได้

คู่มือนักเดินทาง

          เขาล่อน เป็นยอดเขาสูงยอดหนึ่งในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด สามารถเดินขึ้นได้จากทางด้านอำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง และทางด้านจังหวัดตรัง สำหรับสารคดีเรื่องนี้ เดินขึ้นจากทางด้านจังหวัดพัทลุง ระยะทางเดินป่าประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นทางสูงชันไต่ขึ้นสู่สันเขา เมื่อถึงสันเขาแล้วเส้นทางจะขึ้น ๆ ลง ๆ ไปจนถึงยอดเขาล่อน ณ ความสูงประมาณ 1,250 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ใช้เวลาเดินทางและค้างแรม 3 วัน 2 คืน แต่ถ้าอยากดื่มด่ำธรรมชาติให้มากขึ้น เวลา 4 วัน 3 คืน นับว่ากำลังดี

เขาล่อน

การเดินทาง


          รถยนต์ส่วนตัว : จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 (พระราม 2) ผ่านจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม แล้วต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ไปจนถึงจังหวัดชุมพร แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช เข้าเขตจังหวัดพัทลุง เมื่อผ่านสถานีขนส่งจังหวัดพัทลุงแล้ว ขับรถต่อไปจนถึงสี่แยกเอเชีย (ไม่ขึ้นสะพานข้ามแยก) แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 4 ซึ่งเป็นเส้นทางไปยังจังหวัดตรัง เมื่อเข้าเขตอำเภอกงหรา ข้ามสะพานคลองหมวยแล้วให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงชนบทหมายเลข 1005 ตรงไปที่บ้านคลองหรั่ง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเดินสู่ยอดเขาล่อน สามารถจอดรถไว้ที่บ้านคนนำทางได้

          รถโดยสาร : มีรถประจำทางปรับอากาศ สายกรุงเทพฯ-พัทลุง ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 12 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัทขนส่ง จำกัด โทรศัพท์ 1490 เว็บไซต์ www.transport.co.th และทรัพย์ไพศาลทัวร์ โทรศัพท์ 0 2894 6040 - 1

          รถไฟ : รถไฟสายใต้หลายขบวนหยุดรับส่งผู้โดยสารที่สถานีพัทลุง ทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย โทรศัพท์ 1690 หรือเว็บไซต์ www.railway.co.th

          เครื่องบิน : ไม่มีเที่ยวบินตรง แต่สามารถเลือกปลายทางได้ 2 แห่ง คือ ท่าอากาศยานตรังและท่าอากาศยานหาดใหญ่ สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเที่ยวบินกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ได้ที่ การบินไทย โทรศัพท์ 0 2356 1111 เว็บไซต์ www.thaiainways.com, นกแอร์ โทรศัพท์ 1318 เว็บไซต์ www.nokair.com และสายการบินโอเรียนท์ไทย โทรศัพท์ 1126 เว็บไซต์ www.flyorientthai.com ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเที่ยวบินกรุงเทพฯ-ตรัง ได้ที่ นกแอร์ และจากท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง เดินทางเข้าพัทลุงสะดวกด้วยรถตู้โดยสาร

          หมายเหตุ : การเดินทางไปยังพัทลุงด้วยรถประจำทาง รถไฟ และเครื่องบิน ควรติดต่อให้คนนำทางนำรถมารับที่สถานีรถ โดยตกลงราคาและเวลาล่วงหน้าก่อนการเดินทาง

ค่าบริการเดินป่า

          ค่าคนนำทาง/ลูกหาบ 700 บาท ต่อคน ต่อวัน ไม่รวมค่าอาหารที่จะนำขึ้นไปทำกินระหว่างทาง

ติดต่อสอบถาม


          สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับเขาล่อนและติดต่อคนนำทาง ลูกหาบได้ที่ คุณสมเจตร อินขาว โทรศัพท์ 08 1798 6437 และ คุณบุญเลิศ ชายเกตุ โทรศัพท์ 08 1969 8648

เขาล่อน

สิ่งที่ควรนำไปด้วย

          เปล ฟลายชีท และถุงนอน การค้างแรมในบริเวณทับดาน (กรณีที่เดินไม่ถึงยอดภายในวันเดียว)

          ใช้เปลสะดวกกว่าเต็นท์ ไม่เปลืองพื้นที่และไม่เสียเวลาเก็บ ส่วนการค้างแรมในบริเวณยอดเขาล่อน นอนบนพื้นซึ่งปูพลาสติกหรือฟลายชีท แล้วขึงฟลายชีทอีกผืนกันลม ดีกว่านอนเปล เพราะตอนกลางคืนอากาศเย็นจนถึงขั้นหนาวและมีลมแรง

          เสื้อแขนยาว, กางเกงขายาว สำหรับใส่นอน, ขวดน้ำหรือกระติกน้ำส่วนตัว, ทิชชูเปียก นับเป็นสิ่งจำเป็น เพราะบนยอดเขาไม่มีลำธารสำหรับอาบน้ำ หากต้องการทำความสะอาดร่างกาย, ถุงขยะส่วนตัว เพื่อเก็บขยะนำกลับลงมาทิ้งในถังของหมู่บ้าน, ผ้าถุง สำหรับผู้หญิงจะมีประโยชน์มาก ทั้งเวลาเปลี่ยนเสื้อผ้าและเวลาทำธุระส่วนตัวไม่ว่าหนักหรือเบา, ขนมหวานให้พลังงาน เช่น ลูกอม ช็อกโกแลต กล้วยตาก ฯลฯ

เขาล่อน

รู้ไหมว่า...สมเสร็จ

          เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ อยู่กลุ่มเดียวกับม้า แรด และกระซู่ ทั้งโลกมีสมเสร็จอยู่ 4 ชนิด ในทวีปเอเชียมีเพียงชนิดเดียวคือ Tapirus indicus ส่วนอีก 3 ชนิด อยู่ในทวีปอเมริกาใต้ โดยสมเสร็จเอเชียมีขนาดใหญ่กว่าสมเสร็จพันธุ์อื่น ๆ และตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้

          มีรูปร่างหน้าตาคล้ายสัตว์หลายชนิดอยู่ในตัวเดียวกัน คือ มีรูปร่างใหญ่ ขาสั้น และตีนมีกีบเหมือนแรด มีหูตั้งและตาเล็กเหมือนหมู มีหางสั้นเหมือนหมี มีจมูกและริมฝีปากยื่นออกมาคล้ายงวงช้าง ยืด และหดได้ สามารถใช้หักกิ่งไม้และพ่นน้ำได้

          เป็นสัตว์กีบคี่เช่นเดียวกับแรดและกระซู่ แต่ไม่มีนอ บริเวณจมูกตีนหลังของสมเสร็จมีกีบนิ้ว 3 นิ้ว คล้ายแรด ส่วนตีนหน้ามีกีบนิ้ว 4 นิ้ว ร่องขา รวมถึงหางและกันเป็นสีดำ บริเวณกลางลำตัวตั้งแต่หลังขาหน้าถึงก้นเป็นสีขาว หนังตามลำตัวไม่หนา ยกเว้นบริเวณคอจะมีแผ่นหนังหนามาก ช่วยป้องกันอันตรายจากศัตรู เช่น เสือโคร่งที่ชอบตะปนเหยื่อบริเวณคอ

          เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่โดดเดี่ยวหรืออยู่กับลูก จะอยู่เป็นคู่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน

          ใช้เวลาทำกิจกรรมช่วงกลางคืนมากกว่ากลางวัน โดยทำกิจกรรมอยู่ในช่วงเวลา 18.00 – 05.00 น.

          มีถิ่นอาศัยหลากหลาย ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ในภาคใต้สมเสร็จอาศัยอยู่ในป่าดงดิบ ทั้งป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบ รวมทั้งสังคมป่าทดแทน ที่ระดับความสูงตั้งแต่บริเวณลำห้วย เชิงเขา จนถึงยอดเขาที่ระดับความสูง 1,000 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง

          หมายเหตุ : ข้อมูลจากหนังสือ "สัตว์ป่าสงวนในประเทศไทย" กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า, กรกฎาคม 2549





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 53 ฉบับที่ 1 สิงหาคม 2555


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เขาล่อน บ้านของสมเสร็จในเขตเขาบรรทัด อัปเดตล่าสุด 3 ตุลาคม 2555 เวลา 18:26:11 6,374 อ่าน
TOP