x close

ลมหายใจแห่งท้องทะเล สู่เสียงกระซิบของขุนเขา ณ พังงา

พังงา

พังงา

พังงา

พังงา

พังงา


ลมหายใจแห่งท้องทะเลสู่เสียงกระซิบของขุนเขาและต้นไม้โบราณ...พังงา (อสท)

หัสชัย บุญเมือง และ จันทร์เพ็ญ บุญวิภารัตน์...เรื่อง
หัสชัย บุญเนือง, พงษ์ระวี แสงแข, สุทธา สถาปิตานนท์ และสมศักดิ์ ล่ำพงศ์พันธุ์...ภาพ

          พระจันทร์เหลืองนวลตาลอยเด่นอยู่ท่ามกลางสีน้ำเงินเข้มของท้องฟ้า ตีนฟ้าทางเบื้องตะวันออกกำลังยกขึ้น เวลาของอรุณรุ่งกำลังเปลี่ยนสลับในทุกนาที จากเรื่อเรืองเหนือทิวเขาหินปูนในผืนทะเล สีชมพูหวานกำลังสะท้อนขึ้นจับเมฆพร้อม ๆ กับเสียงอะซานจากมัสยิดดังกังวาน เนิบช้า ทว่าสะท้อนเข้าไปในหัวใจ

          ช่วงเวลายามแสงแรกของวันมีความงดงามในความคิดต่างกันออกไป ขณะนี้แสงที่จับอยู่เหนือขอบฟ้านั้นช่างอิ่มเอมใจนัก เพราะสีส้มจัดและเงาสร้างพลังให้สิ่งที่เราเห็นได้มากมายเหลือเกิน แม้จะเป็นระยะเพียงไม่นานนัก ทว่ามีความหมายสำหรับการเฝ้ารอเวลาของการบันทึกภาพ ที่สำคัญ...เรื่องราวของหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ แห่งนี้กำลังจะเริ่มต้นขึ้น...สามช่องใต้

พังงา

กลิ่นอายอุ่นในคาวทะเล

          จากสีหวานของผืนฟ้ายามเช้าแปรเปลี่ยนเป็นสีทองมลังเมลือง เรือหลายลำกำลังเร่งเครื่องยนต์เพื่อออกไปเก็บสินในน้ำที่ลงแรงดักไว้ เขาคงหวังให้อวนเต็มไปด้วยปู ปลา หรืออย่างน้อยก็ขอให้คุ้มค่าน้ำมัน และมีรายได้กลับมาไว้ซื้อของใช้บ้างก็พอ ผมยืนมองแสงของวันค่อย ๆ แผดกล้า ลมทะเลพัดเอากลิ่นคาวคุ้นเคยมาจากผืนน้ำ มันเป็นกลิ่นเค็ม ๆ คาว ๆ ของน้ำเค็มผสมกับโคลนชายฝั่ง หากไม่ชินจมูกก็คงบอกว่าไม่น่าสูดเข้าไปสักเท่าไหร่ ทว่าคนที่นี่รู้ดีว่ากลิ่นแบบนี้คือสิ่งที่ให้ชีวิตมาหลายชั่วอายุคน

          ผมเดินไปตามถนนคอนกรีตเล็ก ๆ เลาะเลียบผ่านบ้านหลายหลัง เรือหลายลำยังคงนิ่งอยู่กับไม้หลักและมีน้ำปริ่ม เช้านี้เจ้าของเรือลำนั้นคงยังไม่ออกทะเล อาจจะพักผ่อน ซ่อมอวน หรือไม่ก็ยังไม่ถึงเวลาของเขาผืนน้ำเรียบกริบในเวลาที่สายลมหยุดโบกในช่วงที่น้ำขึ้นเต็ม และบางเวลาเรามองเห็นริ้วคลื่นเล็ก ๆ โดนฉาบด้วยแสงสีของวัน มันเป็นภาพแห่งความอบอุ่นจริง ๆ

พังงา

          นกยางยืนนิ่งเกาะบนหลักไม้เพื่อรอเหยื่อ คล้ายกับลอบหรืออวนของชาวประมงที่ลงไปอยู่ในท้องทะเลด้วยความนิ่ง รอเวลาให้สัตว์น้ำมาติด บางวันอาจจะอิ่มหรือเต็มลำเรือ แต่บางวันก็ได้เพียงแค่พอค่าน้ำมัน นกล่าเหยื่อริมน้ำอีกชนิดบินฉวัดเฉวียนมาเกาะเสาปูนห่างไปไม่ไกลนัก ผมวางกระเป๋าเปลี่ยนเลนส์เป็นเทเลโฟโต้ ระยะ 400 มิลลิเมตร ประกอบกับขาตั้งกล้องอย่างไม่เร่งรีบ โฟกัสช้า ๆ เย็นใจ และกดชัตเตอร์ด้วยความประณีต นกปีกสีฟ้า หน้าอกขาว ปากยาวใคร ๆ ต่างรู้จักกันในชื่อ นกกินเปี้ยว แม้ว่าส่วนใหญ่จะกินปลาเล็ก ๆ ก็ตาม ผมขยับเข้าใกล้จนเต็มระยะเลนส์ พร้อมแสงที่ฉาบลงที่ตัวนกดูงดงามสบายตายิ่ง

          จากสะพานท่าเทียบเรือที่ยื่นลงไปสู่ผืนน้ำ ผมกลับเข้ามาและเดินไปยังทางคอนกรีต ได้รับการทักทายจากเจ้าบ้านใจดีหลายคน เราคุยกันถึงความเป็นไป ความเป็นอยู่ น้ำขึ้น น้ำลง พระอาทิตย์งาม และช่างภาพที่แวะเวียนกันมาเยือนอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งหลายคนบอกว่า ก็ดีนะ ทำให้หมู่บ้านดูคึกคักตั้งแต่เช้าตรู่

          "บางทีก็มากันหลายสิบคน ยืนเรียงกันเต็มสะพานปลาเลยละ" ใครบางคนให้คำตอบเราไว้ก่อนจะลงไปดันเรือออกจากท่า อีกมุมเสียงใครบางคนตะโกนยืมน้ำมันเรือสักสิบลิตร "ชีวิตของสังคมเล็ก ๆ ก็เป็นอย่างนี้แหละ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อะไรช่วยกันได้ แบ่งปันกันได้ก็ช่วยกัน จะให้ใจไม้ไส้ระกำกันไม่มีประโยชน์ ปู ปลา หมึก กุ้ง ก็ฝากขาย ไม่มีโกง ทะเลเป็นของทุกคน แต่ก็ต้องรู้ว่าใครหากินอยู่ตรงไหน ไม่ไปทับกัน มันน่าเกลียด" คนที่ส่งน้ำมันในแกลลอนสีทึบลงไปในเรือบอกกับผม

          ร้านกาแฟแห่งเดียวของหมู่บ้านเปิดแล้ว น้ำร้อนในเตาพุ่งขึ้นเป็นไอ ผมสั่งกาแฟมาดื่มหนึ่งแก้ว และมีข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียวขาว ข้าวเหนียวเหลือง ปาท่องโก๋ ให้เลือกมาเป็นของแกล้ม อาจจะต้องบอกไว้สักนิดว่า คนในหมู่บ้านสามช่องใต้นิยมดื่มกาแฟเข้ม ๆ ค่อนไปทางหวานจัด หากจะให้ดีก็คงต้องบอกว่าให้ลดปริมาณนมข้นหวานลงสักหน่อย ส่วนใครชอบหวาน ๆ รับรองว่าถูกปากครับ

          คงเป็นเหมือนปกติละครับ หากต้องการทราบอะไรเกี่ยวกับหมู่บ้านใด ก็ต้องไปนั่งหาข่าวในร้านกาแฟ วันนี้ผมนั่งเพียงไม่นานนัก ก็ได้ข่าวถึงราคาปูม้า ปลากระบอก ราคาน้ำมัน ดิน ฟ้า อากาศ ทั้งยังได้รู้ว่าคนทะเลไม่พูดถึงวันที่ แต่พูดข้างขึ้น ข้างแรม และกี่ค่ำ น้ำขึ้น น้ำลง น้ำทรง น้ำตาย เพราะสิ่งเหล่านี้คือชีวิตและลมหายใจ...ทุกสิ่งหลอมรวมกันจนเป็นกลิ่นคาวทะเลที่อาบทุกชีวิตไว้อย่างอบอุ่น...

พังงา

วิถีผู้คนบนเกลียวคลื่น

          หลังจากชาจีนร้อนหอมดอกมะลิหมดแก้ว เราจ่ายเงินและเดินออกจากร้านเพื่อไปยังจุดนัดหมายลงเรือ สำหรับการเข้าไปสัมผัสวิถีประมงพื้นบ้านแบบใกล้ชิด ตอนแรกก็ว่าจะขอติดเรือไปด้วย แต่เจ้าของบอกว่าเป็นเรือลำเล็ก แค่เอาอวนขึ้นมากองก็เพียบ (ขอบเรือปริ่มน้ำ) แล้ว เลยได้เรืออีกลำซึ่งเป็นบ้านติดกันให้พาไปดูไปรู้ และทำความเข้าใจ ผมเลยได้โอกาสสอบถามเรื่องราวต่าง ๆ ไปในตัว ที่สำคัญ สองครอบครัวนี้ทำประมงคนละประเภทเสียด้วย

          เรือลำเล็กออกไปเก็บอวนปูที่วางไว้ตั้งแต่เมื่อวานเย็น ส่วนลุงคนที่พาเราไปถ่ายภาพทำอวนปลากระบอก ออกไปวางห่างฝั่งทั้งคืน เพิ่งกลับมาได้ไม่นาน แต่ก็ยังมีแรงเหลืออีกเยอะ แค่นี้สบายมาก...ราว ๆ เจ็ดโมงเช้าผมและช่างภาพอีก 2 คนลงเรือลำเขื่อง ที่ บังหมัด หรืออย่างพวกเราน่าจะเรียกว่า ลุงหมัด มากกว่า แจวออกจากหน้าบ้าน ช่วงนี้น้ำยังขึ้นเต็ม จะเริ่มลงตอนสาย ๆ เป็นต้นไป

พังงา

          "เรือแจวนี่มีไม่กี่ลำแล้วนะ ส่วนใหญ่หากวางอวนปู อวนปลาทั่วไป วางลอบ ก็มักจะเอาออกหมด เพราะมันไม่สะดวก มีแต่เรือปลากระบอกนี่แหละ ที่ยังมีแจว" บังหมัด บอกกับพวกเราเมื่อเรือพ้นออกจากโป๊ะสุดท้าย

          ผืนป่าชายเลนขยับเข้าใกล้เรามากขึ้น หมู่บ้านสามช่องใต้ห่างออกไปพร้อมกับจังหวะแจวกินน้ำ มองย้อนกลับไปยังหมู่บ้านเห็นได้ถึงความสงบของที่นี่ เรือหลายลำชะลอเครื่องลงเมื่อกำลังจะผ่านเรา พร้อมตะโกนถามสารทุกข์สุกดิบกันอย่างไม่เร่งรีบ

          "เรือปลากระบอกเหลือไม่เยอะหรอก ก็ยังพอหากินได้ไม่ลำบาก ขยัน ๆ หน่อยอยู่ได้สบาย ไม่เดือดร้อน กลางคืนหาปลา กลับมาตอนเข้าก็นอนสักตื่น รอบ่าย ๆ พอน้ำลงไปหาหอยนางรมในป่าชายเลน ช่วงน้ำตายออกเรือไม่คุ้มก็วางลอบปู มันวน ๆ เวียน ๆ อย่างนี้มาทั้งชีวิต" บังหมัด ตอบคำถามถึงเรื่องราวในแต่ละวันว่าออกไปทำอะไรบ้าง นอกจากออกหาปลากระบอกในเวลากลางคืน

พังงา

          เพียงไม่กี่อึดใจเราก็เจอเรือของ ก๊ะฟาร์ พี่สาวใจดีที่ชวนผมคุยตั้งแต่ยังไม่สว่างให้มาดูการทำงาน และเมื่อไปถึงก็เห็นเธอกำลังสาวอวนขึ้นมาจากท้องน้ำอย่างไม่เร่งรีบ ทว่าเป็นจังหวะที่ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ โดยมีสามีคอยคุมหางเรือเอาไว้ ไม่นานนักสินในน้ำก็ทำให้เราเผลอยิ้ม แต่หาใช่ปูอย่างที่หวังไว้ เป็นแมงดาทะเลสีดำตัวไม่ใหญ่

          "ตัวเล็ก ๆ แบบนี้ไม่เอาหรอก ถ้าตัวใหญ่มีไข่ก็ขายได้นะ ตัวละร้อยบาท" ก๊ะฟาร์ บอกกับเราพร้อมปลดออกอย่างทะมัดทะแมง แล้วเหวี่ยงลงน้ำเหมือนเดิม สาวมาได้อีกสักครู่ก็ติดปูตัวเขื่องขึ้นมา ตัวใหญ่ ๆ แบบนี้น่าจะเกือบ 2 ขีด ขนาดนี้ขายได้ราคาดี ไม่นานก็ติดหอยขึ้นมาบ้าง เม่นทะเลตัวเล็ก ๆ ขึ้นมาบ้างสลับกันไป

          "วางไว้ 3 หัว ไม่ได้ไปไหนไกล ๆ อยู่แถวนี้แหละ พอได้กิน ไม่ลำบากหรอก วันละ 3 – 5 กิโลกรัม ได้แน่ ๆ เฉลี่ยก็ตกวันละสามสี่ร้อยบาท" แกบอกกับเราพร้อมทิ้งอวนลงไปในทะเลอีกครั้งหลังจากสาวจนสุด แล้วพรุ่งนี้เช้าค่อยมาเก็บ เป็นอย่างนี้ไปตลอด ยกเว้นช่วงน้ำขึ้นเยอะ ๆ ลงเยอะ ๆ ก็จะไม่วางอวน เพราะในทะเลมักเต็มไปด้วยขยะ และน้ำเชี่ยวเกินไป

          เราตามคุย ตามเก็บอวนปูได้ความรู้มากมาย ทั้งจาก บังหมัด ก๊ะฟาร์ เรื่องราวของวิถีชีวิตผู้คนริมชายฝั่งแห่งนี้ยังคงนิ่งสงบ ดุจดังผืนน้ำในวันพระจันทร์เต็มดวง สงบงามและอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ เป็นชีวิตที่น่าอิจฉาเหลือเกิน เรามองเห็นสิ่งงดงามเหล่านี้ได้ไม่ยาก แต่จะไปทำเอง หรืออยู่แบบนี้ได้หรือ...ผมลองถามตัวเอง ไม่มีคำตอบจากคนเมืองอย่างผม หากตอบให้หล่อคงบอกได้ว่า ต้องอยู่ได้หากเราตั้งใจจะอยู่กับวิถีงามเยี่ยงนี้ แต่หากตอบจากความเป็นจริงในหัวใจ คงต้องบอกว่าไม่สามารถ เพราะทุกสิ่งที่ทำให้คนเหล่านี้มีชีวิตอยู่ได้ ไม่ใช่เพียงแค่ต้องอยู่หรือสู้ได้ ทว่ามันเป็นจังหวะของชีวิตที่สืบทอดมาตามสายเลือด ภูมิปัญญาต่าง ๆ ส่งผ่านคล้ายเกลียวคลื่นที่โถมเข้าฝั่ง...ใช่เราคงได้แค่มาเยือน กลับไปอย่างอิ่ม และมีชีวิตให้เต็มคุณค่า

          "เรามีชีวิตต่างกัน คุณถ่ายภาพได้ เขียนหนังสือเป็น แต่ผมหาปลาได้ จับปูเป็น" บังหมัด พูดยิ้ม ๆ ก่อนที่จะส่งเราขึ้นฝั่ง

พังงา

รอยเท้าบนผืนทรายหัวใจในฟองคลื่น

          สายลมพัดทิวมะพร้าวให้โยกไกวไปตามจังหวะของทะเล เกลียวคลื่นกรูเข้าหาฝั่งอย่างไม่ลดละ ชายหาดยาวทอดไกลสุดสายตา วันนี้เรียบเนียนไร้รอยเท้า จะมีก็เพียงรอยเท้าของเราเท่านั้นที่ย่ำลงไป สะพานเก่าแก่ที่เป็นเสมือนตัวแทนของอดีตยังคงทอดยาวลงสู่ท้องทะเล เสาเหล็กที่โดนเค็มทะเลกัดร่อนยังคงยืนหยัดมาถึงวันนี้ แม้จะมีสภาพไม่สมบูรณ์นัก แต่ก็ยังทำให้เราได้เห็นอดีตไปกว่าครึ่งศตวรรษ บริเวณนี้นับเป็นจุดชมพระอาทิตย์ลับฟ้ายอดนิยมในเวลานี้จริง ๆ เพราะช่างภาพมากมาย หากวนเวียนมาภูเก็ต พังงา ต้องมาที่ "ชายหาดเขาปิหลาย" แต่จะสวยงามหรือชวนประทับใจอย่างไรนั้น ไปสัมผัสด้วยกันนะครับ

          "สมัยเมื่อห้าสิบปีก่อน หน้าหาดแถวนี้เต็มไปด้วยเรือขุดแร่ สะพานที่เห็นก็ทำไว้เพื่อเอาแร่ขึ้นมา บนสะพานก็มีราง เอาไว้ลากแร่ขึ้นมาบนฝั่ง" สมภู เสาวคนธ์ ชายวัยปลายห้าสิบ ทว่ายังดูแข็งแรง เล่าให้ผมฟังด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

          "มาเที่ยว มาถ่ายภาพกันได้ตามสบาย นายหัวเค้าไม่หวงหรอก แต่ถ้าไปเดินบนสะพานก็ต้องระวัง ๆ หน่อยนะ เพราะไม้ผุแล้ว ปีสองปีนี้มีคนมาเที่ยวเยอะ ส่วนใหญ่ก็พวกมาถ่ายภาพ บ่าย ๆ เย็น ๆ ถึงมากัน" เป็นคำตอบเมื่อผมถามถึงการเข้ามาเที่ยวยังสถานที่แห่งนี้ และจุดที่มีสะพานเป็นของเอกชน

          หากเราออกไปยืนบนสะพานและมองไปทางซ้ายมือ ที่สุดสายตาซึ่งปกคุลมไปด้วยต้นสน มีภูเขาเล็ก ๆ อยู่ตรงนั้น มีชื่อเรียกว่า เขาปิหลาย ทำให้ชายทะเลละแวกนี้ได้รับการขนานนามในชื่อเดียวกัน และต่อออกไปทางด้านขวามือ ที่เต็มไปด้วยทิวสนและต้นมะพร้าวก็เป็น หาดนาใต้ ซึ่งมีลักษณะของชายหาดสีน้ำตาลอ่อนละเอียด คล้ายน้ำตาลทรายไม่ฟอกสีบนชายหาดก็เป็นริ้วของระลอกคลื่นที่ทิ้งไว้ยามน้ำลง

          เราเดินสัมผัสชายหาดกันนานพอสมควร ก่อนจะกลับมายังละพานเก่าแก่ที่ยังคงทอดตัวเหนือคลื่นลูกใหญ่ ที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่ขาดห้วง บริเวณนี้มีมุมมองที่น่าสนใจอยู่หลายจุด ซึ่งนักถ่ายภาพหลายท่านก็ไม่พลาด แสงของวันเริ่มผ่อนลง ทว่าคลื่นยังคงซัดเข้าฝั่ง เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง เรายังคงยืนมองฟองคลื่นนุ่ม ๆ ที่ขึ้นมาถึงปลายทาง ก่อนจะกลับลงไปอย่างไม่อาจรั้ง

          ฟองขาวฟูและดูเบาบางไหลมาตาปลายคลื่น ปูลมตัวเล็ก ๆ ยืนรออาหารที่พัดมากับเหล่าคลื่น เมื่อฟองเหล่านี้ใกล้ถึงตัวก็วิ่งหนี คล้ายจะเป็นการหยอกล้อกันในธรรมชาติ แต่หากคราใดที่คลื่นใหญ่เข้าจู่โจม มันก็รีบมุดตัวฝังลงในผืนทราย ก่อนจะลุกออกมาวิ่งล้อไปกับฟองคลื่นเหล่านั้น การได้นั่งนิ่ง ๆ มองรอยเท้าของตัวเองที่ทิ้งไว้บนผืนทราย กับมองเห็นธรรมชาติอย่างที่เป็น ไม่รู้สิครับ ใครบางคนบอกว่าการได้เห็นสิ่งเหล่านี้ ช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้อ่อนโยนลง ส่วนตัวผมเองไม่แน่ใจว่าจะทำให้แค่ไหน ต้องบอกว่าเวลานี้ผมหลงรักริ้วทรายและฟองคลื่นอย่างถอนตัวไม่ขึ้นเลยทีเดียว

          พระอาทิตย์หลังก้อนเมฆกำลังจะลับหายไปจากท้องฟ้า แสงสีหวาน ๆ ของรอยต่อแห่งวันกำลังส่องสะท้อนริ้วเมฆบาง ๆ เป็นสีชมพูหวาน ผมยืนเก็บภาพด้วยความนิ่งสงบ ขยับจุดที่ต้องการถ่ายภาพอย่างช้า ๆ คล้ายกับเวลาจะไม่เร่งรีบหรือสามารถรอเราได้ วันนี้ผมคิดว่าบางคราวเราอาจจะถ่ายภาพได้ไม่มากนัก แต่ทุกเฟรมที่บันทึกนั้น เน้น ๆ และตั้งใจ เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ต่อความงามในธรรมชาติที่มอบให้เรา...

พังงา

ภูตาจอ บนหนทางแห่งปุยหมอก

          จากสามช่องใต้ โคกกลอย เราดีขึ้นเหนือมุ่งสู่ "กะปง" อำเภอเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางความเขียวขจีของผืนป่า และอดีตเงาเหมืองแร่ดีบุกที่พ้นยุครุ่งเรืองไปแล้ว วันนี้ผู้คนยังคงดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย นิ่ง ๆ อยู่กับสวนยาง สวนปาล์ม ซึ่งสร้างรายได้ให้กับพวกเขาอย่างงดงาม ที่สำคัญวันนี้บนยอดเขาชันอันเป็นพื้นที่เหมืองเก่า กำลังเปิดต้อนรับคนเดินทางให้มาเยือน นั่นเพราะเมื่อขึ้นไปยืนบนจุดสูงสุดสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้รอบตัว แต่แท้จริงแล้วจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ต้องไปเยือนให้เห็นภาพชัด ๆ กันสักหน่อย

          สำหรับผืนป่าแห่งอำเภอกะปง ส่วนใหญ่ได้รับการประกาศให้เป็นผืนป่าอนุรักษ์ อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนปริวรรต มีอาณาเขตเชื่อมต่อกับผืนป่าอุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี นั่นทำให้กลายเป็นผืนป่าใหญ่ที่เหล่าสรรพสัตว์ยังคงได้ใช้เป็นแหล่งอาศัยหากิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ใหญ่อย่างช้างป่า ก็ยังพบกันได้ไม่ยากนัก และจากผืนป่าที่สมบูรณ์ ความชื้นหนาแน่น ก่อเกิดเป็นทะเลหมอกปกคลุมผืนป่าอยู่เสมอ จึงทำให้มีการริเริ่มขึ้นไปชมทะเลหมอกกันบนจุดชมวิวที่เรียกกันว่า "ภูตาจอ" อันเป็นเหมืองแร่เก่าชื่อ เหมืองตาจอ

          การขึ้นไปท่องเที่ยวบนภูตาจอได้รับการนำออกสู่สายตาผู้คนทั่วไป โดยองค์การบริหารส่วนตำบลเหลที่ได้ขึ้นไปสำรวจและปรับเส้นทางเพื่อให้ขึ้นไปยังจุดสูงสุด สร้างห้องน้ำ ปรับลานกางเต็นท์ และจัดชาวบ้านที่มีความชำนาญพื้นที่คอยดูแลเรื่องความปลอดภัย หลังจากผ่านหน่วยพิทักษ์ป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนปริวรรตมาได้ไม่ไกล ก็จะมีน้ำตกเล็ก ๆ ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางความเขียวขจีโดยเดินลงไปเพียง 400 เมตรเท่านั้นเอง ตลอดทางมีพรรณไม้เล็ก ๆ และเฟิร์นต้นขนาดยักษ์ให้เราได้สัมผัส และจากจุดนี้เป็นต้นไปเราก็ค่อย ๆ ใช้พลังขับเคลื่อนของเครื่องยนต์ไปอย่างช้า ๆ

พังงา

          ลุงจรูญ เมฆหมอก เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ฟังตลอดทาง จากลานมาเลย์ จุดตั้งแคมป์ของชาวมาเลย์ที่เข้ามาเพื่อทำเหมืองดินขาว แต่ถูกชาวบ้านต่อต้านจนต้องถอยออกไปจากพื้นที่ เพียงไม่นานกับเรื่องเล่าสนุก ๆ ของเหมืองแร่ เราก็มาถึงบริเวณลานกางเต็นท์ ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนตำบลเหลได้ขึ้นมาพัฒนาไว้แล้ว บรรยากาศต่าง ๆ บนภูตาจอทำให้เราเห็นภาพแผ่นดินที่ถูกขุดขึ้นมาเพื่อหาแร่ดีบุก จนหลาย ๆ แห่งราบเรียบและไม่มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมอยู่เลย ทว่าบนภูตาจอยังมองเห็นผืนป่าต่าง ๆ ได้อย่างมากมาย ส่วนหนึ่งเพราะพื้นที่แห่งนี้กำลังฟื้นตัว ป่าโดยรอบยังคงสมบูรณ์

          ภาพของทะเลหมอกที่แทรกอยู่ในผืนป่าใกล้ตาในยามเช้าเป็นสิ่งที่เราใฝ่หา แต่เราจะเห็นสิ่งดังกล่าวไม่ได้เลยหากผืนป่าขาดความชื้น ขาดความอุดมสมบูรณ์แ น่นอนว่าภาพของทะเลหมอกที่ปรากฏแก่สายตาทั้งเช้าเย็น บนภูเขาเล็ก ๆ แห่งเมืองกะปง จะสร้างความอิ่มเอมให้กับเราได้ไม่น้อย และเรื่องราวที่เล่าขานผ่านกาลเวลาของทุกสรรพสิ่ง ก็ช่วยส่งเสริมให้การท่องเที่ยวธรรมชาติเชิงประวัติศาสตร์พื้นถิ่น เป็นอะไรที่น่าสนใจไม่น้อยเลย

พังงา

          เช้าวันใหม่เราอำลาภูตาจอ ขณะที่ทะเลหมอกยังคงแน่หุบเขาแม้ว่าเวลาจะสายแล้ว มองไปไกลสุดสายตาทางทิศตะวันออก เห็นภูเขาหินปูนในเขื่อนรัชชประภา เขตอุทยานแห่งชาติเขาสก และผืนป่าสีเขียวแน่นขนัด มีทะเลหมอกเป็นสายไหลคลอเคลีย ผมรู้สึกเต็มอิ่มกับการขึ้นมานอนสบาย ๆ บนเหมืองโบราณแห่งนี้ พร้อมกับชมทะเลหมอกงามและฟังเรื่องเล่าที่น่าประทับใจจากคนพื้นถิ่นที่รู้สึก รู้จริง ความหมายของการเดินทางในแต่ละครั้งเปลี่ยนแปลงไปจนดูสวยงามเสมอ เพียงแค่เราเปิดใจและไม่คาดหวังว่าเรื่องราวเบื้องหน้าจะสมบูรณ์อย่างใจคิดหรือไม่ เพราะบางทีความไม่สมบูรณ์ของสรรพสิ่ง คือความสมดุลของธรรมชาติก็เป็นได้

พังงา

ลมหายใจของต้นไม้โบราณ

          จากอำเภอกะปง เราย้ายแหล่งพำนักมายังอำเภอตะกั่วป่า เพื่อรอเวลาเข้าไปเยือนผืนป่าเล็ก ๆ ที่น่าสนใจยิ่งนัก ที่นี่เป็นเมืองชายทะเล ทว่าโอบล้อมด้วยขุนเขา ตลอดบ่ายวันนี้สายฝนกระหน่ำลงมาอย่างไม่มีทีท่าจะหยุด มีเพียงแค่ซาลงบ้างให้เราได้เดินไปกินข้าว

          "มันก็ตกอย่างนี้แหละ ไม่เคยได้ยินเหรอ ฝนแปด แดดสี่น่ะ" ใครบางคนในร้านกาแฟพูดแบบยิ้ม ๆ กับพวกเรา พร้อมย้ำว่าอย่าไปคิดมาก มันตกได้ มันก็หยุดได้ อย่าไปกังวล อย่าไปทุกข์ร้อน...ผมกับช่างภาพก็อยากจะทำแบบที่ลุงว่าเหมือนกันครับ แต่ก็อดร้อนใจไม่ได้ ว่าแล้วก็สั่งโอเลี้ยงยกล้อมาดื่มสักแก้ว เช้าวันใหม่เราตื่นกันสบาย ๆ พร้อมด้วยสายฝนไม่เคยขาดเม็ดเหมือนเดิม ข้าวหมกไก่และกาแฟจากร้านข้างปั๊มน้ำมัน ปตท. ตะกั่วป่า เป็นที่พึ่งของเราอีกหนึ่งมื้อ พร้อมกับตัดสินใจว่าจะลุยเข้าไปทำงานท่ามกลางฝนโปรยปรายหรือจะรอ...

          "ถ้าพวกน้องเข้ามาได้ ถ่ายรูปได้ เรือก็พายได้ พาเข้าไปชมได้แน่" ใครบางคนจากปลายสายตอบกลับเรามาอย่างนั้น เพียง 5 นาที จากร้านข้าวหมกไก่ เราก็มาจอดรถอยู่ตรงหัวสะพานอันเป็นที่ตั้งของชมรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศกลุ่มรักษ์สังเนห์ ซึ่งมี บัญชร หลักฐาน และ ภิญโญ บัวพันธ์ มายืนยิ้มให้รอพวกเราอยู่แล้ว แน่นอนว่าเราไม่ถอยแน่นอนกับการท่องคลองเล็ก ๆ ทว่ามีเรื่องราวมากมายแห่งนี้...คลองสังเนห์ (ออกเสียง "สังเหน่")

พังงา

          สำหรับ คลองสังเนห์ เป็นคลองสายสั้น ๆ ไหลมาจากเขาบางเต่าผ่านองค์การบริหารส่วนตำบลบางนายสี และผ่านเรือนจำตะกั่วป่า ก่อนจะไหลผ่านมายังจุดที่เราอยู่ตอนนี้ และสุดท้ายไหลไปรวมกับแม่น้ำตะกั่วป่า เรือพลีส (เรือหางยาวเพรียว ๆ) นั่งลำละ 2 คน ไหลตามน้ำไปด้วยการพายอย่างช้า ๆ ภาพของสะพานคอนกรีตและบ้านคนหายไปอย่างรวดเร็ว เพียงแค่เรือเลี้ยวขวาผ่านคุ้งแรกมา ต้นไทรและไม้ชายน้ำมากมายเกาะกระหวัดเกี่ยวกันอย่างแน่นหนา ความใหญ่ของต้นไทรค่อยแผ่ให้เราเห็นมากขึ้นเมื่อเรือเข้ามาลึกขึ้น รากขนาดใหญ่ห้อยเรี่ยน้ำดูแปลกตา ต้นไทรยักษ์เหล่านี้ผ่านกาลเวลามานานขนาดไหนเราไม่อาจคาดเดาจริง ๆ

          กว่าจะจัดทำให้คลองแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวก็ไม่ง่าย ที่สำคัญการรักษาผืนป่าพิเศษเหล่านี้ไว้ก็ไม่ง่ายเลยเช่นกัน เพราะรอบข้างเต็มไปด้วยนายทุน ซึ่งต้องการพื้นที่ทุกตารางนิ้วมาใช้ประโยชน์ ทว่าความมหัศจรรย์ของผืนป่าดิบที่ดูลึกลับแห่งนี้ก็ยังรอดพ้นมาได้ถึงปัจจุบัน เพราะชาวบ้านรวมตัวกันดูแลและขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่าง ๆ รวมไปถึงข้าราชการดี ๆ อีกหลายท่านที่คอยช่วยเหลือ ทำให้เรายังเห็นสิ่งเหล่านี้อยู่

          "ตอนนั้นปี พ.ศ. 2551 อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ท่านวิชัยพระสงบ มาปลูกป่าที่นี่ และเกิดชอบขึ้นมาอย่างมาก เลยเสนอให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว พร้อมกับตั้งสมญาให้กับที่นี่ว่าเป็น Little Amazon" บัญชร เล่าความเป็นมาถึงชื่อเท่ ๆ ของผืนป่าแห่งนี้

          ภิญโญ กล่าวกับเราว่า ก็ทำกันมาเป็นสิบปีแล้ว ไม่ค่อยดังหรอก มีคนมาเที่ยวบ้าง จนเมื่อสองปีที่ผ่านมานี่แหละ มีลูกค้าชาวต่างชาติมาใช้บริการกันเยอะ เพราะที่นี่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น น่าสนใจ

พังงา

          ผืนป่าแห่งนี้จะไม่น่าสนใจได้อย่างไรเล่าครับ ก็ตลอดทางเต็มไปด้วยไทรขนาดยักษ์ที่ขึ้นเรียงรายตลอดสองฝั่งคลอง ปกติเราเจอต้นใหญ่สักสิบต้นก็รู้สึกว่าอิ่มใจแล้ว แต่นี่มีมากมายเกือบ ๆ 2 กิโลเมตร ผมไม่แน่ใจนักถึงอายุของไทรเหล่านี้ว่ายาวนานขนาดไหน แม้ใครหลายคนบอกว่าน่าจะเกิน 200 ปี ทว่าเมื่อคิดไปไกลกว่าเพียงเรื่องราวของอายุ ความงดงามความมหัศจรรย์ ความยิ่งใหญ่ ผมมองเห็นความเป็นไปแห่งธรรมชาติ เห็นอาหารอันโอซะของนก กระรอก แมลง แตน ผลไทรสุกตกลงในน้ำเป็นอาหารปลา ความเกี่ยวพันกันในระบบนิเวศเป็นสิ่งที่เราไม่อาจคิดได้ครบรอบด้าน เพียงปล่อยให้ธรรมชาติได้เคลื่อนไหวไปเท่านั้นก็เพียงพอ

พังงา

          เราใช้เวลากับคลองสายเล็ก ๆ แห่งนี้เกือบครึ่งวัน ทั้ง ๆ ที่ปกติหากเป็นทัวร์จะใช้เวลาราว ๆ 1 ชั่วโมง หรือน้อยกว่านั้นก็แล้วแต่จะตกลงกัน ระหว่างทางกลับผมพยายามรับฟังสำเนียงของป่าโบราณเหล่านี้ว่าเขาได้ผ่านอะไรมาบ้าง หรือทิ้งร่องรอยอะไรไว้ให้เราได้เห็นบ้าง ความมหัศจรรย์ของสรรพสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในมุมเล็กของโลกใบนี้ ยังมีอีกมากมายนัก รอเพียงใครจะมองเห็นและเข้าถึงคุณค่าที่แท้จริง วันนี้ผมมีความสุขยิ่งนักที่ได้มาลอยลำอยู่ภายใต้ต้นไม้ยักษ์เหล่านี้ ความยิ่งใหญ่และอายุที่ยืนยาวบอกเราว่า ลมหายใจของพรุ่งนี้คือความงดงามของโลกในวันนี้ ร่วมรักษาแผ่นดิน ผืนป่า และสายน้ำให้งดงามตราบนิรันดร์ครับ

ชีพจรของพังงา

          การได้กลับมาเยือนแผ่นดินพังงาในรูปแบบของแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ทำให้ผมพบว่านอกจากหาดทรายขาว ทะเลใส ปะการังงามระดับโลกที่หมู่เกาะสิมิลัน สุรินทร์ รวมทั้งวัฒนธรรมงดงามของผู้คนแห่งตะกั่วป่า เมืองเก่าที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมแห่งบาบำ ย่าหยา เอาไว้เหนียวแน่นแล้ว สถานที่เล็ก ๆ ที่กำลังได้รับความนิยมของผู้รักการถ่ายภาพก็กำลังก้าวขึ้นมาเป็นทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นบ้านสามช่องใต้ หรือหาดเขาปิหลายที่มีสะพานเก่า ๆ เป็นจุดสนใจใครมาเยือนแล้วไม่แวะไปถ่ายพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก อาจจะนับว่าเป็นบาป ส่วนภูตาจอนั้นรอเพียงเวลาเท่านั้น รับรองได้ว่ามีนักท่องเที่ยวมาเยือนกันปีละไม่น้อยแน่ ๆ ที่สำคัญคลองสังเนห์ หรือ Little Amazon ก็กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แล้วนั่นเราจะพลาดได้อย่างไร

          ทั้งหลายเหล่านี้ที่เราได้เห็นในเมืองพังงา มันเป็นเสมือนชีวิต เป็นลมหายใจ เป็นดั่งชีพจรให้เราได้ก้าวย่างไปบนหนทางแห่งหัวใจ พังงาเมืองเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ ที่ผมเชื่อว่าหากได้สบตาสักครั้ง คุณจะหลงรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น...

พังงา

คู่มือนักเดินทาง

          จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ไปจนถึงจังหวัดชุมพร จากนั้นตรงไปตามทางหลวงหมายเลข 41 จนถึงอำเภอพุนพิน ตรงสี่แยกเข้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 401 ประมาณ 40 กิโลเมตร จะผ่านอำเภอบ้านตาขุน เมื่อถึงสามแยกที่บ้านพังกวนเหลือ ให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 415 ประมาณ 50 กิโลเมตร จะพบสามแยก เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 4 ตรงไปประมาณ 10 กิโลเมตร จะถึงอำเภอทับปุด

          ภูตาจอ อยู่ที่อำเภอทับปุด เริ่มต้นจากองค์การบริหารส่วนตำบลเหล ผ่านบ้านช้างเชื่อ บ้านนกฮูก สวนยาง สวนปาล์ม จนมาถึงทางแยกซ้ายเข้าป่า รวมระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ตรงปากทางจะมีป้ายบอกทางเข้าภูตาจอ 13 กิโลเมตร

          จากอำเภอทับปุดเลี้ยวซ้ายผ่านตลาด เข้าทางหลวงหมายเลข 415 อีกครั้ง สามารถแยกไปตะกั่วป่า ระยะทางราว 18 กิโลเมตร เลี้ยวเข้าข้างสถานีตำรวจตะกั่วป่าเพียง 500 เมตร จะถึงบริเวณล่องเรือคลองสังเนห์ หากเดินทางต่อไปบนทางหลวงหมายเลข 405 จะถึงตัวเมืองพังงา

          บ้านสามช่องใต้ จากตัวเมืองพังงาไปทางภูเก็ต ผ่านทางแยกเข้าอำเภอตะกั่วทุ่ง ประมาณ 14 กิโลเมตร เป็นสามแยก มีป้ายให้เลี้ยวซ้ายไปบ้านสามช่องใต้ ตรงเข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร มีที่จอดรถในหมู่บ้าน สามารถถ่ายภาพบนสะพานปลา

          หาดเขาปิหลาย ไปทางภูเก็ต เมื่อไปถึงโคกกลอย จะมีป้ายชี้ไปยังหาดเขาปิหลาย ขับเข้าไปจนสุดทางแล้วบังคับเลี้ยวขวา เลยไปไม่ไกลให้มองทางด้านขวา จะเห็นสะพานเก่า สามารถนำรถเข้าไปจอดได้

พังงา

ติดต่อสอบถาม

          ล่องคลองสังเนห์ (Little Amazon) สอบถามได้ที่ชมรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กลุ่มรักษ์สังเนห์ คุณเอกสิทธิ์ ศิริทัพ โทรศัพท์ 08 6682 7922

          ภูตาจอ สอบถามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นายสมชาย ทิพย์พิมล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเหล โทรศัพท์ 08  6266 3077

          ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา 2/27 ถนนเทศบาล ตำบลท้ายช้าง อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา 82000 โทรศัพท์ 0 7648 1900 – 2





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 53 ฉบับที่ 1 สิงหาคม 2555

 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลมหายใจแห่งท้องทะเล สู่เสียงกระซิบของขุนเขา ณ พังงา อัปเดตล่าสุด 21 กันยายน 2555 เวลา 14:36:38 1,493 อ่าน
TOP