x close

ภูพยัคฆ์-บ้านน้ำรี ความหวังผลิใบในแดนดอยอุดมการณ์

ภูพยัคฆ์-บ้านน้ำรี



ภูพยัคฆ์-บ้านน้ำรี ความหวังผลิใบในแดนดอยอุดมการณ์(อ.ส.ท.)

ฐากูร โกมารกุล ณ นคร...เรื่อง
สาธิต บัวเทศ...ภาพ

          ระหว่างไต่เลาะขึ้นสู่ภูเขากลางฤดูแล้ง ผืนดินในหุบดอยคล้ายกระดานหมากรุกสีน้ำตาลทอง ควันไฟจากห้วงยามรอการเพาะปลูก เปลี่ยนฟ้าใสสดของเทือกดอยชายแดนแถบอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ให้ซีดขาว ถนนยังคงกวนและซันดิ่งยาวไกล เปิดเผยพื้นที่เกษตรกรรมร้างที่เคยลงไร่ข้าวโพดและข้าวดอย ว่ากันว่ายามฝนโปรย ภูเขาแถบถิ่นนี้คล้ายภาพวาดสีน้ำ แสนเชียวชื่น เย็นตา

          ทางหลวงแผนดินหมายเลข 1181 ที่เราใช้ขึ้นมาจากทางอำเภอบ่อเกลือ สิ้นสุดลงตรงสามแยกเล็ก ๆ เบื้องหน้าที่ทอดยาวขวางกั้น คือ เทือกดอยเขียวครึ้ม ซึ่งมีแผ่นดินของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอยู่อีกฟากฝั่งชายแดน คล้ายละลายหายเมื่อเราพาตัวเองเข้าสู่ความเป็นขุนเขา บ้านเรือนรายทางตามสันเนินคือพี่น้องไทยภูเขาชาวลัวะและม้ง ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปไม่หวนกลับ คล้ายทางเดินสักเส้น ถนนสักสาย เมื่อลากผ่านเข้ามาในชีวิต ย่อมทำให้ผู้คนที่อยู่รายรอบได้สัมผัสคำว่าทิศทาง

          ปลายทางอยู่ไม่ไกล อีกราว 20 กิโลเมตร ด้วยกำลังรถยนต์ หมู่บ้านเล็ก ๆ กลางหุบเขาแสนไพศาล ดินแดนที่เคยเป็นเหมือนบ้านทางความคิดและอุดมการณ์ เคยห่มคลุมด้วยชีวิตแร้นแค้น ความรู้สึกกดทับเอารัดเอาเปรียบ รวมไปถึงการต่อสู้แสวงหาชีวิตที่ดีกว่า วันที่เหตุผลไม่ได้อยู่แค่ใครผิดถูก เราขึ้นไปถึง "บ้านน้ำรีพัฒนา" กลางชีวิตดงดอยของพี่น้องชาวลัวะ หากหลับตาแล้วโยนเรื่องราวของวันวานทั้งไป ภาพตรงหน้าคล้ายหมู่บ้านในนิทาน สุขสงบ เรียบง่าย มากไปด้วยเรื่องเล่าอันเก่าแก่ และชัดเจนอยู่ซึ่งหนทางสะท้อนความเป็นตัวตน จนเมื่อใครสักคนตรงนั้นทำให้เราเชื่อว่า ชีวิตอาจคล้ายพืชพรรณ มีรากเหง้า กิ่งก้าน และดอกผลมากไปด้วยหนทางและความคิดความเชื่อ มีรวดร้าวและแย้มยิ้มผสมผสานอยู่อย่าจริงจัง ชัดเจน ซึ่งการทำความเข้าใจในชีวิตที่ผ่านพ้น บางอย่างคล้ายจะบอกว่า หมู่บ้านเล็ก ๆ กลางเทือกภูงดงามแห่งนี้มีจริง ใช่เพียงล่องลอยอยู่แต่ในความใฝ่ฝัน

          1. อากาศเย็นสบายในยามเช้า ปลุกเราให้ลงจากบ้านพักที่อยู่เหนือขึ้นไปบนไหล่ดอย หมู่บ้านเล็ก ๆ ของชาวลัวะอย่างบ้านน้ำรีฯ เคลื่อนไหวตัวเองอย่างเรียบง่าย ตลาดนัดจากคน "ข้างล่าง" พาสินค้าจิปาถะหลากหลายมาตั้งที่ลานดินตรงใกล้กับลำน้ำรี เด็ก ๆ เจื้อยแล้วอยู่ตามทางเดินที่ลาดเอียงตามแบบฉบับบ้านกลางขุนเขา ควันไฟลอยกรุ่น

          ขณะที่แม่เฒ่าชาวลัวะในผ้าซิ่นสีทึบทึมสลับแถบสี เยื้องย่างตัวเองลงรับแดดอุ่นที่ลานดินหน้าบ้าน หนุ่ม ๆ เตรียมข้าวห่อมืดพร้า เดินลับหายไปในไร่ที่แทรกซอนอยู่รอบ ๆ ทิวดอย ที่ยามแล้งล้วน คือห้วงเวลาแห่งการเตรียมผืนดินรอการเพาะปลูกเมื่อฝนแรกกลับมาเยือน

          หลังพระสามสี่รูปเดินผ่านและฉายภาพศรัทธาในหมู่บ้าน ยามสายก็ขับเคลื่อนชีวิตไปตามทิศทางและวันเวลา ชีวิตในภูเขาไม่มีอะไรมากไปกว่าแผ่นดินและพืชพรรณ

          "เมินเป็นร้อย ๆ แล้วละ" เฒ่าชราเอ่ยถึงที่มาของพวกเขาสั้น ๆ กลางบ้านเรือนที่เติบโต มั่นคง แข็งแรง คำว่า "นาน" ของพ่อเฒ่าลึกลงในวันเวลา ประวัติศาสตร์ ทั้งในตำนานและแผ่นผืนดินที่หยั่งราก

          จากเทือกดอยในแดนลาว ว่ากันว่าบรรพบุรุษของพวกเขาเร่ร่อนมาเริ่มต้นชีวิตและความเป็นตัวตนอยู่ที่นั่น ห้วงยามที่ภูเขาไร้เส้นแบ่งดินแดนคนลัวะผูกพันกับการใช้ชีวิตเหนือเทือกเขามาเนิ่นนาน จากชาติพันธุ์ที่จัดอยู่ในกลุ่มเอเชียตอนใต้ หรือออสโตรเอเชียติก เช่นเดียวกับมอญ เขมร และขมุ ชาวลัวะเป็นคน "ดั้งเดิม" ของแผ่นดินก่อนวัฒนธรรมของคนในเมืองจะเริ่มเติบโต รุกราน และผลักดันให้พวกเขาเพิ่มเติมคำว่าเร่ร่อนเข้าไปในหนทางดำเนินชีวิต

          จากถิ่นฐานในชอบเขตของอินเดีย ออสโตรเอเชียติกหลายส่วนได้เดินทางหาแผ่นดินใหม่ ผ่านเข้ามาสู่จินอนใต้ สู่ดินแดนแหลมทอง ผ่านการข้ามแม่น้ำโขงสู่ดินแดนที่เคยเป็นเขมร ลาว ก่อนที่กลุ่มชนในชาติพันธุ์ ไทย-ลาว จะรุ่งเรืองวัฒนธรรมอำนาจค่อย ๆ เบียดขับเจ้าของถิ่นฐานเดิมอย่างพวกเขา จากพื้นที่กสิกรรมอันสมบูรณ์ไปสู่ป่าเขาและหลีบซอกราวไพร ความเป็นเจ้าของพื้นที่ถูกลิดรอน กลายเป็นชาวป่าชาวดอยให้คนพื้นราบคอยตีชิงมาเป็นข้าทาส คอยส่งส่วย อากร เป็นประเพณีสืบต่อยาวนาน เปลี่ยนรูปแบบและบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ แต่เนื้อแท้แห่งการถูกกดขี่ของคนบนนี้แทบไม่เปลี่ยนแปลง

          บางคำในภาษาลาวเรียกชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ตามเทือกภูรวม ๆ กันว่า "ข่า" ที่เป็นรากฐานของคำว่า "ข้า" หรือทาสในภาษาไทย คำที่บอกถึงการมีอยู่ของความกดทับ ตำนานและจารจารึกทั้งล้านช้าง ล้านนา บ่งบอกการสร้างบ้านแปลงเมืองจากการสู้รบแย่งชิงแผ่นดินจากคนดั้งเดิมไว้ตั้งแต่ราว พ.ศ. 1181 เช่น เรื่องราวของลวจังกราช (ปู่เจ้าลาวจก) ผู้สถาปนาอาณาจักรหิรัญนครเงินยวง เป็นต้นวงศ์ของลัวะ ที่ต่อมาสืบทอดมาถึงขุนเจืองและพญามังรายในภายหลัง แสดงการมีอยู่ในการเปลี่ยนผ่านทางวันเวลาของแผ่นดินแหลมทอง ย่อมลึกลงมาตามแดนดอยต้นน้ำของเมืองน่านอย่างลำน้ำน่านและลำน้ำว้า

ภูพยัคฆ์-บ้านน้ำรี

          ผู้คนชาวลัวะกระจายกันตั้งถิ่นฐานตามภูเขาขอบแดนไทย-ลาว ว่ากันว่าการปักหลักอยู่บนพื้นที่แถบน้ำว้าตอนต้นของชาวลัวะแต่โบราณอาจเป็นที่มาของชื่อ "น้ำว้า" ที่หลายคนเรียกขาน คนลัวะเมืองน่านออกจะแตกต่างจากฝั่งเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอนทั้งในด้านภาษาและที่มาของการปักหลัก บางสายทางวิชาการเรียกพวกเขาว่าชาว "ถิ่น" ซึ่งแยกย่อยแตกพ่ายหนีการสู้รบภายในช่วงแผ่นเดินลาวแถบไชยะบุรีเข้าสู่แดนคอยล้านนาตะวันออกราวปี พ.ศ. 2419 หลายคนเรียกพวกเขาว่า "ถิ่น" ซึ่งน่าแปลกที่พวกเขาไม่เคยเรียกขานตัวเองเช่นนั้น ยังแทนตัวเองว่าลัวะเสมอมา
         
          "อย่างไรมันก็ผ่านกันมาเมินแล้ว" เฒ่าชาวลัวะแห่งบ้านน้ำรีฯ ละเมียดชาร้อนในเข้าที่อึมครึมด้วยหมอกดวันจากการถากถางและเผาไฟในแผ่นผืนภูเขารายรอบ

          เราแวะไปตามเรือนยกสูงแบบดั้งเดิมของพวกเขาที่วันนี้เปลี่ยนแปลงไปตามชีวิตที่ดีขึ้น ก้อนเส้าเตาไฟที่ครัวกลางบ้านค่อย ๆ เลือนหายไปพร้อมกับการมาถึงของรูปแบบชีวิตในเมืองเท่าที่คนรุ่นใหม่จะรู้จักและปรับรับไร่ข้าวสลับกับพืชสวนต่าง ๆ ที่ได้รับการส่งเสริมในปัจจุบัน

          เปลี่ยนชีวิตที่วนเวียนอยู่กับการโยกย้ายและต่อสู้ไปสู่ทางเลือกกลายใหม่ ๆ หนุ่มสาวในเสื้อผ้าที่ไม่แตกต่างจากคนข้างล่างหยัดยืนตัวเองในการงานแห่งขุนเขา แม่เฒ่าชรายังคงโพกผ้าชาวม้าแดงปล่อยขายงดงามห้อยอยู่เหนือบ่า เสื้อแขนกระบอกสีทีม ไม่ต่างกับฝ่ายผู้ชายที่มักโพกคลุมศีรษะไว้ด้วยผ้าผืนสวยเช่นกัน

          บางบ้านมีงานศพ บอกถึงการจากไปของใครสักคน วันนี้หมู่บ้านเงียบเซียบลงด้วยพิธีโบราณอันว่าอยู่ด้วยผีบ้านผีเรือนและการส่งคนตายไปสู่โลกข้างหน้า เหลือคนที่ยังใส่ใจกับเรื่องราวความผูกพันของชีวิต ป่าเขา และบ้านเรือน ผ่านการถือผีอยู่ไม่มาก ทว่ายามที่ใครสักคนล้มหายตายจาก ก็ราวกับไม่มีสิ่งใดสั่นคลอนความคิดความเชื่ออันตกทอดกลาง ขุนเขามายาวนานเช่นนี้ ทุกคนพร้อมจะหันหน้าเข้าหาวิถีดั้งเดิม ไม่ว่าภายนอกจะปรับเปลี่ยนไปเช่นไร

          บ้านน้ำรีฯ ยามสายไหลตัวเองไปกับการงานในไรในดอย เงียบเชียบเป็นที่อยู่ของคนเฒ่าและเด็ก ๆ นาทีสุขสงบกลับมาคึกคักเอาเมื่อยามเย็นใกล้มาเยือน เสียงพูดคุยภาษาเฉพาะตนของพวกเขาเจื้อยแจ้วอยู่ตามชานบ้าน ชีวิตของพวกเขาดูสุขสงบ มีทิศทางของคืนวัน และหนักแน่นไม่แนบอิงอยู่กับความเปลี่ยนแปลงใด ๆ เช่นแต่ก่อน

          หากใครสักคนที่ผ่านการรอนแรมและฝากความหวังไว้กับการปักหลัก มีเนื้อดินสำหรับปลูกเรือนอยู่และฝังร่างกายยามจากลา ได้เรียกแผ่นดินผืนนั้นเต็มปากเต็มคำว่าบ้าน หนทางที่ผ่านมาอาจมีคุณค่าเพียงพอจะจดจำ พร้อมส่งผ่านเป็นเรื่องล่าสู่วันข้างหน้าอย่างเต็มหัวใจ

ภูพยัคฆ์

          2. เทือกภูพยัคฆ์อันสูงชันเหยียดยาวที่ห่อหุ้มบ้านน้ำรีฯ และอีกหลายหมู่บ้านอันเป็นถิ่นฐานของผู้คนลัวะและม้งแห่งนี้ มากมายไปด้วยเรื่องราวของคืนวันและการดิ้นรนอันบ่อบอกว่าชีวิตของพวกเขามีคุณค่าเสมอเหมือนกับทุก ๆ คน

          ในอดีต ความห่างไกลแสนยากลำบากที่ผู้คนชาวไทยภูเขาพบเผชิญไม่เพียงจากชีวิตตามมีตามเกิดในดงดอย แต่มันหมายถึงห้วงยามที่ความเป็น "ข้างบน" และ "ข้างล่าง" ได้ดำเนินร่วมกัน ความแปลกแยกระหว่างชีวิตในเมืองและชีวิตกลางขุนเขา มีเส้นกั้นอยู่ด้วยกฎหมายและผู้ที่นำมันขึ้นมาสู่เทือกดอย ดินอันอุดมบ่มเพาะให้พี่น้องชาวไทยภูเขามีหนทางในการดำเนินชีวิต กสิกรรมแบบ "ดั้งเดิม" ล้วนผูกพันคนเข้ากับผืนป่าและภูมิเขา ความคิดความเชื่อตกทอดเป็นวัฒนธรรมเฉพาะอย่างเฉพาะตน

          หากเมื่อกรอบกฎต่าง ๆ เดินทางขึ้นมากับผู้ถืออำนาจ หลายอย่างพลิกผันไปสู่การเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ และมองคนข้างบนโดยเฉพาะคนลัวะเป็นชีวิตในอีกระดับ ภาษีต่าง ๆ ที่เรียกเก็บอย่างไร้ความเป็นธรรม และไร้ซึ่ง "เหตุผล" ถูกนำขึ้นมาใช้ ราวกับมากมายด้วยเหตุผล

          เฒ่าชราหลายคนจดจำห้วงยามเหล่านั้นไม่ลืมเลือน การเรียกเก็บภาษีจากภาครัฐและคนถืออำนาจมากไปด้วยความ "พิสดาร" ทั้งจากการทำไร่ต้องจ่ายภาษีตอไม้ จับปูปลาในห้วยต้องเสียภาษีห้วย หมู ไก่ คนลัวะ ต้องอุ้มต้องจูงลงไปให้ผู้ใหญ่บ้านกันอย่างไม่มีค่าตอบแทน

          "บนดอยมีไฟฟ้าที่ไหน แต่เขาเก็บภาษีเสาไฟ บอกว่าเอาไปเป็นค่าเสาไฟฟ้าในเมือง" ย้อนกลับไปราวเรื่องตลก หากเป็นเรื่องจริงที่หล่อหลอมอยู่ด้วยหยดน้ำตาของผู้ถูกกระทำ

          หนักหน่วงที่สุดคือภาษีเต้านม "ค่าโป๊ะก็เอิด โป๊ะเจ๊าะถูก โป๊ะดั้วแพง มันดูถูกอาเมจังนี้" อันหมายความว่า "นมสั้นเก็บถูก นมยาวเก็บแพง มันดูถูกผู้หญิงเหลือหลาย" ถ้อยคำเช่นนี้ถูกบอกต่อไว้ในเรื่องเล่าหลายเล่ม บันทึกมากมายบท และชัดเจนอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าความทรงจำ

          ความกดดันนำมาซึ่งการต่อสู้ตามความคิดของคนบนภูเขา ขบวนการเจ้าต้นบุญ หรือที่ต่อมาภาครัฐเรียกว่า "กบฏผีบุญบ้านห้วยชนิน" ราวปี พ.ศ. 2508 ที่เกิดขึ้นแถบบ่อเกลือ คือภาพชัดของการ "ไม่ยอม" ที่พวกเขาแสดงฝืนต้านผ่านพิธีกรรมเข้าทรง บอกต่อกันในเรื่องของการไม่ยอมต่อการรีดไถจากผู้เอาเปรียบ และให้พร้อมเสมอที่จะหยิบอาวุธขึ้นต่อสู้ในป่าดอยยามเมื่อ "ผู้ช่วยเหลือ" เดินทางมาถึง

          ความคิดความเชื่อแห่งการไม่ยอมแพร่ขยายไปหลายหมู่บ้าน คนลัวะนับพันเข้าร่วมรับรู้และสืบต่อ จนทางการข้างล่างส่งกำลังมาล้อมปราบจับ อาวจองวงศ์ หรือ พ่อใหญ่วงศ์ ที่เป็นผู้จุดประกายแสงสว่างตามหุบดอยลงไปในเมือง และการสิ้นสุดครั้งนั้นอาจเป็นจุดเริ่มต้น

ภูพยัคฆ์-บ้านน้ำรี

          ต่อมาการมาถึงของสหายบางคนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในดินแดนภูเขาเมืองน่านคล้ายแสงสว่างที่วาดแววลงกลางทุกข์ร้อนของผู้คนบนเทือกดอย ด้วยความคิดที่ยึดถือเรื่อง "ความเท่าเทียม" เป็นที่ตั้ง เนื้อหาและความคิดต่อการดำเนินชีวิตในรูปแบบใหม่ถูกถ่ายทอด ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคน "ไร้ที่พึ่ง" ที่จะตัดสินใจเดินตามเพื่อเสาะแสวงหาชีวิตใหม่ ฐานที่มั่นของ พคท. ในเขตน่านค่อย ๆ เป็นรูปร่าง ทั้งจากการสนับสนุนจากจีน ลาว และเวียดนาม ที่เดินตามสงครามปลดแอกตัวตนไปก่อนหน้า และที่สำคัญ คือแนวร่วมเจ้าของพื้นที่อย่างพี่น้องชาวลัวะม้งและผู้ยวน

          จากการเริ่มต้นเงียบ ๆ ในปี พ.ศ. 2505 ค่อยก่อร่างสร้างรูป และในปี พ.ศ.2511 หลังยุทธการที่ทุ่งข้างอันลือลั่น พื้นที่อย่างภูแวก็กลายเป็นเขต "ปลดปล่อย" เขตแรกของเมืองไทยที่บ่งบอกว่าการเข้าถึงของอำนาจรัฐไม่มีสิทธิ์ ภูเขาค่อย ๆ กลับสู่ผู้คนอันมากอยู่ด้วยความหวัง อุดมการณ์ และการต่อสู้แสวงหาโลกใบใหม่

          เขตดินแดนของน่านฝั่งตะวันออก ไล่เลยตั้งแต่อำเภอปัว บ่อเกลือ ทุ่งช้าง เชียงกลาง และเฉลิมพระเกียรติ ที่ทอดยาวด้วยผืนภูเขาสลับซับซ้อนนับร้อยกิโลเมตร มากมายไปด้วยคนของภูเขา และการเป็นเขตปลดปล่อยของ พคท. ด้วยพื้นที่ป่าเขาอันยากต่อการเข้าถึง เอื้ออำนวยต่อการสู้รบ ฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจึงย้ายศูนย์กลางจากอีสานสู่เขตน่าน เริ่มต้นที่ภูแวซึ่งภายหลังมีการ "เสียลับ" จึงย้ายมาสร้างฐานที่มั่นที่ภูพยัคฆ์ คือสำนัก 708 หลายอย่างปรับเปลี่ยน ปลดปล่อยหลายหมู่บ้านตามเทือกดอยออกจากอำนาจรัฐ

          เขตการทำงานของ พคท. ในน่านคืบขยายกลายเป็นฐานที่มั่นน่านเหนือและน่านใต้ ครอบคลุมความยาวของเทือกดอยนับร้อยกิโลเมตร ไร้การเอารัดเอาเปรียบจากกฎหมาย มากไปด้วยทิศทางที่พวกเขาเลือกทำความเข้าใจในอุดมการณ์ เรียกได้ว่าในห้วงยามหนึ่ง น่านแทบทั้งจังหวัดกลายเป็นเขตปลดปล่อย มากมายไปด้วยเรื่องราวของการสู้รบกับรัฐบาล เสียงปืน และความหวังของคนตัวเล็ก ๆ บนภูเขา

ภูพยัคฆ์-บ้านน้ำรี

          หลังเหตุการณ์นองเลือดที่ราชดำเนิน 6 ตุลาคม 2519 แดนดอยเมืองน่านเปิดรับขบวนนักศึกษาอีกหายร้อยคนที่ "เข้าป่า" มาร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย บนดอยมากไปด้วยเรื่องราวหลากหลายมิติ หมอในป่า โรงเรียนการเมืองการทหาร หน่วยศิลป์ก่อเกิดนักคิดนักเขียน กวีไพร และความเป็นพี่เป็นน้องอันตัดไม่ขาดแม้สงครามจะสิ้นเสียงปืนในภายหลัง

          หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อโลกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ความคืบหน้าในการรุกเพื่อปลดปล่อยดินแดนจากประเทศรายรอบอย่างเวียดนาม และลาวกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ พคท. การยืนอยู่บนหนทางปฏิวัติด้วยลำแข้งของตัวเองทำให้เกิดการแตกแยกทางความคิดกับแกนร่วมรายรอบ

          หลังลาวและเวียดนามปฏิเสธสัมพันธ์ทางการช่วยเหลือ ฐานที่มั่นน่านอันเป็นศูนย์กลางของ พคท. ต่างได้รับผลกระทบทั้งความแตกแยกนโยบาย วิสัยทัศน์ และแนวทาง ที่พวกเขาเรียกว่า "ปัญหาขบวนแถว" บางอย่างเปลี่ยนรูปจากหุบเขาเมื่อปี 2526 ตามนโยบายคืนเมือง เลขที่ 66/23 หลายคนวางปืนแล้วเดินลงจากแดนดอย แกนนำสำคัญอันเป็นหน่วยจัดตั้งโยกย้ายตัวเองข้ามผ่านภูเขาไปพักพิงในจีน

          พี่น้องชาวไทย ภูเขาคล้ายลอยเคว้งอีกครั้งจากดวงดาวที่พวกเขาเดินตาม การลงมามอบตัวที่เชิงเขา หลายคนเดินออกจากป่าด้วยน้ำตานองหน้า ไม่มีสงครามอีกต่อไป ไร้สิ้นเสียงปืนและการสู้รบ ความหวังบนผืนแผ่นดินเป็นเช่นไร หลายคนคล้ายไถ่ถามเอากับภูเขาและวันเวลา

          3. "เราผ่านอะไรกันมามาก" หมอน้อม พงษ์ประเสริฐ นั่งนิ่ง ๆ อยู่หน้ากระท่อมหลังเล็กในบ้านน้ำรีฯ ทุกนาทีหากนับย้อนไปในหลายสิบปีของช่วงชีวิตใน "ฐานที่มั่น" ค่อย ๆ ถ่ายทอดออกมาผ่านดวงตาและถ้อยคำ เรายืนอยู่หน้าอนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ กลางบ้านน้ำรีฯ มองลงไปเห็นหย่อมบ้านเรือนทั้ง 4 หมู่ของที่นี่กระจุกตัวเป็นหมู่บ้านกลางหุบเขาโอบล้อมด้วยไร่ข้าวและป่าทึบ คงดอยอาบไล้ด้วยแดดเย็นอุ่นตา ภายในห้องจัดแสดงมากมายด้วยเรื่องราวสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวลัวะ ม้ง การถูกเอารัดเอาเปรียบจากกฎหมายของรัฐ รวมไปถึงหนทางการต่อสู้ตามแนวคิดอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ภูพยัคฆ์-บ้านน้ำรี

          รายชื่อสหายและมวลมิตรไล่เรียงแทบทั้งฐานที่มั่นน่าน ทุกเขตภูเขาล้วนมากมายเรื่องราว ข้าวของ เสื้อผ้า อาวุธ รวมไปถึงบทกวีอันสะท้อนถึง "ชีวิตในป่า" ประดับราวกาลเวลาทวนย้อน

          "ช่วงนั้นเรารบเพื่อชีวิตที่ดี เพื่อการเปลี่ยนผ่านของสังคม" จริง ๆ หมอน้อมไม่ใช่คนที่นี่ จากวัย 16 ปี ที่เข้าร่วมกับ พคท. ที่นครพนม ข้ามโขงไปเรียนการเมืองในเวียดนาม ต่อมายังลาวและลงหลักที่ภูพยัคฆ์ ชีวิตและความผูกพันทำให้เขาไม่คิดจากไปไหน "ทิ้งกันไม่ได้ ไม่ว่าจะผ่านพ้นไปนานเท่าไหร่ก็ตาม"

          บนภูพยัคฆ์ ที่เคยเป็นเขต 4 หนึ่งในสามเขตของฐานที่มั่นน่านเหนือเคยพรั่งพร้อมไปด้วยโรงพยาบาล การเรียนการศึกษา สาธารณสุข แพทย์ปริญญาที่พาตัวเองเข้ามาในป่า ชีวิตที่ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากข้างล่างกลับกลายเป็นสมบูรณ์ ว่ากันตามตรง ชีวิตที่พวกเขาเลือกก็คือชีวิตในป่า อาจแร้นแค้น ไร้ไฟฟ้า มีแต่ภูเขาและอาหารอันบริสุทธิ์จากธรรมชาติ ต้องรอสาธารณูปโภคจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนรวมไปถึงสายข้างล่าง ทว่าภูพยัคฆ์และเขตปลดปล่อยทั้ง 6 เขต รวมไปถึงผู้คนร่วมหมื่น ก็เปี่ยมแน่นไปด้วยมิตรภาพและความหวัง

ภูพยัคฆ์-บ้านน้ำรี

          "เรามีหมดละ เครื่องฉายหนัง การเรียนละคร รำวง คนลัวะเขาชอบการร้องรำทำเพลงนะ ทุกอย่างเดินทางขึ้นมาได้ด้วยพี่น้องทั้งนั้น" หลังการเป็นหมอในป่า ร่วมรบและแลกวันเวลาของตัวเองกับความฝันถึงโลกใหม่ หลังผ่านพ้นคำตอบ หมอน้อมเลือกบ้านน้ำรีฯ เป็นเรือนตาย และยังคงอยู่เคียงข้างพี่น้องชาวลัวะ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกหลังจัดตั้งหมู่บ้าน นโยบายหรือข้อเสนอต่าง ๆ ที่เดินทางขึ้นมาในช่วงหลังวางปืน ผู้คนที่นี่เลือกให้หมอน้อมเป็นผู้ตัดสินดูแลว่าพวกเขาจะเดินต่อไปในทางใด

          เราแวะไปเยี่ยม สมหมาย แซ่ลิ้ม หมอฝังเข็มชาวลัวะที่ทุกวันนี้หากใครอยากรำลึกถึงอดีตการดูแลคนไข้ในป่าเป็นต้องมาหาเธอ

          "ก็เข้าไปพร้อมพ่อแม่น่ะ ตอนนั้นรู้อย่างเดียวว่าชีวิตไม่มีทางเลือกอะไรมาก ตามแต่ผู้ใหญ่" เด็กหญิงชาวลัวะเติบโตและใช้วันเวลา 12 ปีในป่า เรียนฝังเข็มจากจีน ร่วมรบในนามทหารหญิง คนรักของเธอจากเพชรบุรี ซึ่งเข้ามาหลัง 2519 ก็ผ่านการเรียนรู้กันข้างบน "แต่ก่อนชอบใครต้องเก็บไว้ในใจ วินัยพรรคยังไม่อนุญาตให้อยู่กินกันหากยังร่วมรบ" ชีวิตมากมายกฎเกณฑ์ของทหารปลดแอกอันมีวินัย 10 ข้อจารึกอยู่ใต้หมวกดาวแดงขอบเหลืองล้วนฝังลึกอยู่ ณ ห้วงยามนั้น มันคล้ายสิ่งที่ทุกคนต้องจดจำไว้ในหัวใจ

          "วัน ๆ เรียน รบ และก็ช่วยเหลือเยียวยาคนเจ็บในพรรค หมดในปีหนึ่ง ๆ ไม่รู้ตัว" เธอว่าชีวิตที่เดินตามอุดมการณ์ในขณะนั้นราวไม่มีที่สินสุด

          เดินอยู่ในบ้านน้ำรีฯ ราวกับเรื่องราวเช่นนี้ยังคงวิ่งเต้นอยู่ในดวงตาของคนที่เคย "เข้าร่วม" ชายชราสักคน หญิงสูงวัยที่จมตัวเองอยู่กับงานบ้าน หรือแม้แต่ผู้คนในหุบในไร่ มีความฝัน มีที่มา และมากไปด้วยถ้อยคำอันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

          เราขึ้นไปบนยอดภูพยัคฆ์อันเป็นที่ตั้งของสำนัก 708 ศูนย์กลางที่เคยเป็นเหมือนหัวใจของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ภายใต้เนินเขาที่ชูธงไหวสะบัดพลิ้ว คือถ้ำและโถงอันเป็นที่ประชุมพรรค มันกว้างใหญ่ซอกซอนอยู่ในความมืด ว่ากันว่ายามใดที่ข้างบนว่อนปลิวด้วยระเบิดหรือห่ากระสุนจากฝ่ายรัฐ ข้างในนั้นคือที่หลบภัยชั้นดี มากมายด้วยไม้ใหญ่ขึ้นคลุมทึบแน่น

ภูพยัคฆ์-บ้านน้ำรี

          กระท่อมของ พันโทโพยม จุลานนท์ หรือลุงคำตัน ผู้บัญชาการกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) เคียงข้างอยู่กับกระท่อมของ นายผี-อัคนี พลจันทร์ หรือที่คนบนนี้เรียกเขาว่า ลุงไฟ นักคิดกวีและปัญญาชนผู้มากมายด้วยองค์ความรู้ทางภาษาศาสตร์ ผู้ขีดเขียนเพลง "เตือนเพ็ญ" หรือชื่อเดิม "คิดถึงบ้าน" ที่เจืออยู่ด้วยความงดงามเศร้าเหงา และความหวังอันเรืองรอง

          รอบด้านคือความชื่นเย็นจากป่าครึ้ม มากมายด้วยฉากและชีวิตของคนในป่า หากผู้ที่อยู่ร่วมกับมันมาจะรำลึกถึงช่วงวัยอันพ้นผ่าน ทั้งสงครามมิตรภาพ และการผ่อนพัก นาทีนั้น ผมนึกถึงห้วงเวลาเฒ่าชรามากภูมิรู้กำลังต่อกลอนกับปัญญาชนผู้มุ่งหวังเปลี่ยนแปลงสังคมเลวร้าย

          เย็นย่ำเรากลับมายืนหน้าอนุสรณ์สถานฯ ลานเนินตรงนั้นมองออกไปเห็นบ้านเรือนแทบทุกหมู่ของบ้านน้ำรีฯ ที่ราบเล็ก ๆ โอบคลุมด้วยคลื่นภูเขาและควันไฟเลือนราง ชีวิตน้อยใหญ่ของขุนเขากำลังจะผสานตัวเองไปกับความมืด ดาวแขวนค้างตรงตีนฟ้าเริ่มสุกสกาว ดาวอาจนำทางด้วยแสงสว่าง แต่ผู้ที่เลือกเดินตามหนทางแห่งดาว อาจต้องมีขนาดหัวใจอันยิ่งใหญ่เทียมเท่า โลกข้างหน้าจึงจะชัดเจน สุกสกาว และเปี่ยมไปด้วยความมุ่งหวัง

          4. สำหรับภูพยัคฆ์ พื้นที่ไพศาลตรงชายแดนไทย-ลาวนั้น บรรจุเต็มไปด้วยความหวังแห่งการดำรงชีพในคืนวันปัจจุบัน ความหวังที่เชื่อมโยงอยู่กับพืชผล แผ่นดิน และความมุ่งหวัง ฤดูแล้งฉายภาพผืนดินสีน้ำตาลทรายรอบที่รอการเพาะปลูก ทว่าเมื่อเข้ามาสู่พื้นที่ของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริภูพยัคฆ์ รอบด้านล้วนคือความเชียวชื่นจากพืชพรรณและป่าที่อนุรักษ์ไว้ เพื่อการเป็นป่าต้นน้ำ

          "พื้นที่หมื่นไร่ตรงนี้ สถานีเราใช้เพาะปลูก 500 ไร่ครับ ที่เหลือเป็นเขตห้ามทำกิน เป็นบ้านของต้นไม้และน้ำ" ดำรงค์ พาใจธรรม มองไปยังแอ่งหุบหน้าสถานี แปลงสตรอเบอร์รีไล่ชั้นอยู่ใกล้ลานเฮลิคอปเตอร์ กว่า 8 ปีที่เขาและพี่น้องชาวลัวะแห่งบ้านน้ำรีฯ ทำความรู้จัก เรียนรู้ และแสวงหาหนาทางใหม่เพื่ออยู่ร่วมกับภูเขาอันเป็นบ้านแสนอบอุ่น

          จากบ้านอันถูกกดทับ เอารัดเอาเปรียบ เปลี่ยนเป็นโลกแห่งอุดมการณ์และการสู้รบ ณ วันที่ภูเขาเทือกเดิมเริ่มอ่อนล้าจากการปรับใช้หลายคนที่นี่เริ่มรู้ว่า ชีวิตอันสุขสงบอาจเริ่มได้ด้วยการดูแลผืนแผ่นดิน

          "เราเริ่มให้พวกเขาหยุดการทำไร่เลื่อนลอย ลดการทำไร่ข้าวโพด หันมาให้ความสำคัญกับการปลูกพืชเมืองหนาว กาแฟ ผักผลไม้ ที่สำคัญต้องให้มากไปด้วยการต่อยอดสืบเนื่อง" มัลเบอร์รี หรือหม่อน กำลังออกผลทั่วทิวดอย ผมแอบหยิบผลสุกสีม่วงใส่ปากตอนร่วมไปเก็บผลหม่อนกับพี่น้องชาวลัวะ รสของมันฉ่ำชื่นติดปลายลิ้น

          "ฟังดูเหมือนเรื่องง่าย ใครก็ปลูกได้ ดูแลได้ แต่จะขายให้ใครต่อไปแรก ๆ เราก็ยังไม่กล้านัก" ฉัตรชัย บัวเสน หนุ่มลัวะผู้เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนของบ้านน้ำรีฯ บอกในวันหนึ่งที่กาแฟของเขากำลังบรรจุกระสอบ เตรียมส่งลงไปสีและคั่วข้างล่าง ดอกผลจากเรี่ยวแรงที่ลงไปตอบแทนเป็นบ้านอันแข็งแรง ทนทาน และลูกสาวที่เรียนมัธยมฯ ในตัวอำเภอเฉลิมพระเกียรติ

ภูพยัคฆ์-บ้านน้ำรี

          จากระยะแรกเริ่มที่จัดตั้งสถานีฯ งานหลักคือรักษาป่าต้นน้ำฟื้นฟูสภาพดินที่ผ่านการอยู่กินแบบปล่อยมายาวนาน "ตอนนั้นด้วยพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถครับ ท่านขอให้เก็บพื้นที่ต้นน้ำน่านนี้ไว้ให้สมบูรณ์ งานของพวกผมเริ่มขึ้นหลังจากนั้น คือทำอย่างไรให้พวกเขาอยู่ได้ เรามีแต่ให้ครับ ให้กล้าพันธุ์ ให้ความรู้ ให้งาน รวมไปถึงหาตลาดให้" งานของเขาไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ด้วยหัวใจของคนที่มาทำงานอย่างจริงจัง คนที่นี่ถึงเข้าใจ

          "ผมล่ะ ต่อต้านคนแรก ๆ ใครจะไปกล้าเสี่ยง" ฉัตรชัยว่ามันราวกับในหนังที่มีตอนจบดี ๆ สักเรื่อง ที่คนอย่างเขากลับมาเป็นแกนนำหลักในการเพาะปลูกพืชผัก กาแฟ หม่อน รมไปถึงช่วยหลายคนในบ้านในเรื่องตลาด จากเริ่มที่ชาวบ้านคืนพื้นที่เชิงดอยให้กับสถานีฯ 30 ราย แล้วกลายเป็นลูกจ้างที่ทำงานในสถานีฯ หากไม่นับรวมค่าแรง ทุกวันนี้ผลผลิตต่าง ๆ ออกดอกผลงดงามในที่ดินของตนเอง ต่อยอดไปถึงลูก ๆ

          อากาศเย็นชื่นแม้เป็นฤดูร้อน ผักสลัดแตกหัวเรียงรายเป็นก้อนกลมสีเขียวยามมองจากไกล ๆ "ไม่มีสารพิษแม้เปอร์เซ็นต์เดียวครับ" ดำรงค์ การรันตีความสด สะอาด และบริสุทธิ์ของพืชผลที่มาจากเรี่ยวแรงผู้คนแห่งภูเขา

          เราแวะต่อไปดูโรงงานทำน้ำมัลเบอร์รีสกัด ที่สะอาด มากมายขั้นตอน หลายคนยิ้มร่วนในโมงยามสีม่วงเข้ม กลิ่นหอมอ่อน ๆ จรุงทั่วห้องเสียงหัวเราะยิ้มหัวล่องลอยผสมผสาน ในตู้อบแห้งที่โรงอาหาร มากมายด้วยมัลเบอร์รีที่รอการแปรรูป หากเป็นช่วงฤดูหนาว ที่นี่ไม่เคยร้างไร้ผู้คน

ภูพยัคฆ์-บ้านน้ำรี


          ผักสด ๆ ผลไม้เมืองหนาว จะกลายเป็นเมนูแสนสะอาดสำหรับผู้ขึ้นมาเยือน หลายคนรู้จักขุนเขามากกว่าชุดความคิดหรืออุดมการณ์อันล่องลอยอยู่ในความใฝ่ฝัน เมื่อหยิบจับหรือล้มตัวลงนอนก็มีสัมผัสอันอบอุ่น เป็นจริงเป็นจัง เช่นนั้นหุบเขาอันไพศาลแห่งหนึ่งจึงมากไปด้วยการหวงแหน ดูแลและหลอมรวมลมหายใจร่วมไปกับมัน ระหว่างความใฝ่ฝันกับความเป็นจริง ยามอยู่ที่บ้านน้ำรีพัฒนา ผมคล้ายรู้สึกว่ามันได้หลอมรวมอยู่ด้วยกันมาเนิ่นนาน

          หลายคนที่นี่ผ่านพาตัวเองไปดั่งพืชพรรณสักชนิด ที่บ่มเพาะ ผ่านพ้นฤดูกาลและแดดฝน เรียนรู้ที่จะเผชิญลมร้อนและหยาดฝนชื่นเย็น เพื่อที่จะผลิใบและดอกผลเป็นคุณค่าแห่งการชื่นชม ไม่ว่านิยามจากโลกภายนอกจะดีความการก่อเกิดเช่นนี้ไปตามทิศทางใดก็ตาม

     คู่มือนักเดินทาง

          สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ ภูพยัคฆ์ ครอบคลุมการทำงานทั้งพื้นที่ทางการเกษตรรวมไปถึงการดูแลส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้านในบ้านน้ำรีพัฒนา ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่บนภูพยัคฆ์ งดงามโรแมนติกด้วยผืนนาข้าวและพืชผักผลไม้ ที่เปลี่ยนเวียนชนิดให้เที่ยวชมได้ทุกฤดูกาล

     การเดินทาง

          จากกรุงเทพฯ มุ่งสู่เมืองนานด้วยทางหลวงหมายเลข 32 (สายเอเชีย) จากพระนครศรีอยุธยา มุ่งหน้านครสวรรค์ จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 117 ผ่านพิจิตร สู่พิษณุโลก แล้วไปเชื่อมกับทางหลวงหมายเลข 11 ที่สี่แยกอินโดจีน ผ่านอุตรดิตถ์ ถืออำเภอเด่นชัย แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านแพร่ ไปสู่เมืองน่าน จากตัวอำเภอเมืองน่าน ใช้ทางหลวงหมายเลข 1080 ผ่านอำเภอท่าวังผา ปัว ทุ่งช้าง เฉลิมพระเกียรติ จากนั้นมุ่งไปสู่สามแยกที่ทางหลวงหมายเลข 1081 จากอำเภอบ่อเกลือมาบรรจบ มุ่งตรงเข้าสู่บ้านน้ำรีพัฒนา เส้นทางกวนในขุนเขาสูงชัน ทว่าแสงดงาม

ภูพยัคฆ์-บ้านน้ำรี

     ที่หลับที่นอน

          ภายในสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำรี ภูพยัคฆ์ มีบ้านพักสะดวกสบายให้บริการ รวมถึงลานกางเต็นท์ ที่มีวิวยามเช้าเป็นทะเลหมอกกลางแอ่งภูเขา เหมาะกับคนรักการแค้มปิ้ง

     อาหารการกิน

          หากเป็นฤดูหนาวที่คลาคลำไปด้วยนักท่องเที่ยว ที่โรงอาหารของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ ภูพยัคฆ์ มีเมนูกับข้าวทั้งพื้นเมือง อาหารตามสั่ง รวมไปถึงสลัดสด ๆ ที่วัตถุดิบล้วนปลอดสารพิษให้บริการ ผัก ผลไม้ ก็มีให้เลือกซื้อเลือกชิมมากมาย

          ภายในหมู่บ้านน้ำรีพัฒนามีร้านอาหารตามสั่ง ร้านก๋วยเตี๋ยว ราวสองสามร้าน เปิดขายในเวลากลางวัน รวมทั้งมีร้านขายของซ้ำหลายร้าน พรั่งพร้อมของสดของแห้งอาหาร เครื่องดื่ม ให้ซื้อหา

     แวะก่อนเยือนภู

          ที่ตัวเมืองน่าน ข้างสำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน มีร้านกาแฟสดภูพยัคฆ์ ลิ้มลองอะราบิกาสายพันธุ์ดี ที่กลายเป็นกาแฟร้อนเย็นรสชาติเยี่ยม น้ำมัลเบอร์รี่สกัดเข้มข้น ผักไร้สารพิษตามฤดูกาล รวมไปถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ จากสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ ภูพยัคฆ์ สด สะอาด ราคาไม่แพง

ภูพยัคฆ์-บ้านน้ำรี

     สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

          สถานพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ ภูพยัคฆ์ หมู่ที่ 12 บ้านน้ำรีพัฒนา ตำบลขุนน่าน อำเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน โทรศัพท์ 0 5473 0330  และ ททท. สำนักงานแพร่ (รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดน่าน โทรศัพท์ 0 5452 1118, 0 5452 1127




แนะนำการท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรมเพียบ

 

  คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนได้ที่นี่ค่ะ

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภูพยัคฆ์-บ้านน้ำรี ความหวังผลิใบในแดนดอยอุดมการณ์ อัปเดตล่าสุด 12 กรกฎาคม 2555 เวลา 10:47:29 10,002 อ่าน
TOP