x close

เที่ยวย้อนอดีตวันวานผ่าน เมืองกาญจนบุรี


เที่ยวย้อนอดีตวันวานผ่าน \'เมืองกาญจนบุรี\' (คู่หูเดินทาง)

          ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้วที่เราได้มีโอกาสมาเยือนยังจังหวัดกาญจนบุรีกันอีกครั้ง ด้วยเพราะจังหวัดนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ทั้งทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า มีผู้คนหลากเชื้อชาติที่มาอาศัยอยู่ร่วมกัน ทั้งไทย พม่า มอญ ปากะญอ (กะเหรี่ยง) ฯลฯ ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่าเขา มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 19,473 ตารางกิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 129 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งชุมชนมาตั้งแต่ครั้งก่อนประวัติศาสตร์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมืองกาญจนบุรีได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดในปี พ.ศ. 2467

          สถานที่แรกที่เราอยากจะพาคุณผู้อ่านไปรู้จักกับความทรงจำในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ตั้งอยู่ในบริเวณอำเภอเมือง คือ สะพานข้ามแม่น้ำแคว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดกาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

          ทางรถไฟสายมรณะ (ถ้ำกระแซ) จุดที่น่าสนใจของทางรถไฟสายมรณะอยู่ที่ช่วงโค้งมรณะ ซึ่งเป็นช่วงที่สะพานด้านหนึ่งเลียบไปตามโค้งขอบหินผาสูงส่วนอีกด้านเป็นแม่น้ำแควน้อยที่อยู่ลึกลงไปดังหุบเหว เป็นระยะทางประมาณ 400 เมตร ทิวทัศน์ตลอดเส้นทางมีความสวยงามและน่าหวาดเสียว เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของนักท่องเที่ยวอย่างมาก เส้นทางนี้สร้างขึ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร และกรรมกรชาวจีน ญวน ชวา มลายู ไทย พม่า อินเดีย จำนวนมาก  มาก่อสร้างทางรถไฟสายยุทธศาสตร์นี้ เพื่อเป็นเส้นทางผ่านไปสู่พม่า

          ในสมัยนั้นมีความทุรกันดาน ขาดแคลนอาหารและเต็มไปด้วยความยากลำบาก โรคภัยชุกชุม อีกทั้งความโหดร้ายทารุณของทหารญี่ปุ่นที่คอยเร่งรัดเชลยศึกให้โหมงานการก่อสร้างอย่างหามรุ่งหามค่ำ ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายลงที่นี่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของชื่อทางรถไฟสายมรณะ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  สะพานแห่งนี้ถูกทหารฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดเพื่อตัดเส้นทางการลำเรียงยุทโธปกรณ์ของกองทัพญี่ปุ่นไปสู่พม่า ทำให้สะพานได้รับความเสียหาย ต่อมาเมื่อสงครามฯ สิ้นสุดลง ในปี พ.ศ. 2489 รัฐบาลไทยได้ซ่อมแซมจนสะพานสามารถกลับมาใช้งานได้ดังเดิม

          ปัจจุบันสะพานแห่งนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นอนุสรณ์สถานแห่งสันติภาพ และมีการจัดงานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแควในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคมของทุกปี มีการแสดงนิทรรศการทางประวัติศาสตร์ การแสดงพื้นบ้าน การออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง และการแสดง แสง สี เสียง มีบริการนั่งรถรางเที่ยวชมทุกวัน วันธรรมดา เริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 - 10.30 น., 11.20 - 14.00 น., 15.00 - 16.00 น. และ 18.00 - 18.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.00 - 09.30 น., 11.20 - 14.00 น., และ 18.00 - 18.30 น.

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

          อีกหนึ่งแห่งที่เป็นสถานที่แห่งความทรงจำที่เจ็บปวดที่เกิดจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นกันก็คือ สุสานทหารสัมพันธมิตร(ดอนรัก) ตั้งอยู่บนถนนแสงชูโต เยื้องสถานีรถไฟกาญจนบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 323 ไปทางอ.ไทรโยค ผ่าน รพ.แสงชูโต ตรงไปไม่ไกลจะเห็นสุสานอยู่ทางด้านซ้ายมือ "สุสานดอนรัก" หรือ "สุสานสหประชาชาติ" ที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า "ป่าช้าอังกฤษ" เป็นสุสานขนาดใหญ่บนพื้นที่ 17 ไร่ เป็นอนุสรณ์สถานฝังศพเชลยศึกที่เสียชีวิตระหว่างการสร้างทางรถไฟสายมรณะ 6,982 หลุม โดยเชลยศึก 300 คนเสียชีวิตด้วยอหิวาตกโรคและฝังไว้ที่ค่ายนิเกะ (ประมาณ 15 กิโลเมตร ก่อนถึงด่านเจดีย์สามองค์) ส่วนที่เหลือได้จากหลุมฝังศพเชลยศึกตามค่ายต่างๆ และยังมีสุสานช่องไก่ ซึ่งรัฐบาลไทยและฝ่ายสัมพันธมิตรได้ตกลงกันเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2497 เพื่อสร้างสุสานสองแห่งนี้ขึ้น

          บรรยากาศในสุสานเงียบสงบและร่มรื่น พื้นที่ภายในได้รับการตกแต่งไว้อย่างเป็นระเบียบสวยงาม เหนือหลุมฝังศพทุกหลุมมีแผ่นทองเหลืองจารึก ชื่อ อายุ และประเทศของผู้เสียชีวิต บรรทัดสุดท้ายเป็นคำไว้อาลัยที่โศกเศร้า ทุกปีจะมีวันที่รำลึกถึงผู้เสียชีวิตเฉพาะของคนชาติต่างๆ ได้แก่ วัน Anzac Day 25 เมษายน ของชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ วัน Armistice Day 5 พฤษภาคม ของชาวเนเธอร์แลนด์ และ วัน Remembrance Day 11 พฤศจิกายน ของชาวอังกฤษ การมาเที่ยวยังสถานที่แห่งนี้ควรอยู่ในอาการสงบ ไม่ควรวิ่งเล่นหรือเดินข้ามหลุมฝังศพ ห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มเข้ามารับประทาน และห้ามจัดกิจกรรมทุกประเภท เพื่อเป็นการเคารพต่อสถานที่และผู้เสียชีวิต

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

          จากนั้นมาต่อกันที่ชุมชนเก่าแก่ที่มีอดีตความทรงจำที่น่าสนใจมากมาย ชุมชนปากแพรก อยู่ใกล้ๆ กับศาลหลักเมือง

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

          อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 3 และแนวกำแพงเมืองเก่า เป็นประตูเมืองก่ออิฐถือปูนยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ครั้งย้ายเมืองกาญจนบุรีเก่า จากตำบลลาดหญ้ามาสู่ปากแพรก เนื่องด้วยยุทธศาสตร์การรบ เพราะมีชัยภูมิในการตั้งรับข้าศึกได้ดีกว่าเก่า อีกทั้งยังสะดวกในการค้าขายกับเมืองต่าง ๆ อีกด้วย ลักษณะตัวกำแพงด้านบนมีใบเสมา ผังกำแพงเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 210 เมตร ยาว 480 เมตร มีป้อมประจำมุม 4 ป้อม ป้อมกลางกำแพงด้านหน้า 1 ป้อม และป้อมเล็กกลางกำแพงด้านหลัง 1 ป้อม มีประตู 8 ประตู ประกอบด้วย ประตูเมือง 6 ประตู และประตูช่องกุด 2 ประตู ซึ่งได้ชำรุดลงเกือบทั้งสิ้น คงเหลือเฉพาะประตูเมืองด้านหน้า ซึ่งหันหน้าสู่แม่น้ำแควใหญ่ และกำแพงเมืองบางส่วนที่อยู่ติดกัน โดยได้มีการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2549 ส่วนบริเวณด้านหลังประตูเมืองเป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3)

          ที่นี่เป็นย่านชุมชนเก่าแก่ของเมืองกาญจน์ เป็นถนนสายเก่าของเมืองในอดีต ที่มีสิ่งก่อสร้างและสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ ทั้งโบราณสถาน บ้านเรือนร้านค้าแบบไม้และตึก ส่วนใหญ่เป็นรูปทรงแบบจีนผสมตะวันตก ที่เรียกว่าชิโน-โปรตุกีส ตลอดเส้นทางสายนี้ระยะทางกว่า 1 กม. อาคารแต่ละหลังที่มีความสำคัญและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และได้รับการอนุรักษ์ไว้ให้ผู้ที่มาเยือนได้ชม อาทิ บ้านแต้มทอง อาคารตึกหลังแรกของกาญจนบุรี มีลักษณะภายนอกดูเหมือนศาลเจ้า บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้สองชั้น อายุประมาณ 142 ปี ปัจจุบันยังคงเป็นที่พักอาศัยของคนในตระกูลมาถึง 5 รุ่นแล้ว, บ้านสิทธิสังข์ สร้างขึ้นในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส มีจุดเด่นอยู่ที่ปูนปั้นลายก้านขดเหนือป้ายชื่อบ้าน รวมทั้งประตูบานเฟี้ยมใช้สีทาบ้านที่ทำจากดิน ปัจจุบันบ้านนี้ถูกเปลี่ยนเป็น ร้านกาแฟร่วมสมัยเก๋ไก๋น่านั่งดื่มกาแฟและถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก โรงแรมสุมิตราคาร โรงแรมแห่งแรกของกาญจนบุรี เลิกกิจการไปเมื่อปี 2522 ในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 เคยมีทหารญี่ปุ่นมาเช่าพักค้างคืน ในราคา 1 บาทต่อคืน

          ปัจจุบันอาคารหลังนี้กลายเป็นบ้าน ร้านค้า และยังคงอยู่ในสภาพเดิมคือ เป็นตึกแถวสองชั้นครึ่งตึกครึ่งไม้ ฉาบปูนและคร่าวผนังเป็น โครงไม้รวก นอกจากนี้ยังมีอาคารเก่าแก่ที่น่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น บ้านฮั้วฮง, บ้านอำนวยโชค, บ้านชิ้นปิ่นเกลียว, นิวาสแสนสุข เรือนหอของพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย และใกล้ ๆ กันยังมีบ้านเรือนไม้ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน ปัจจุบันไม่ได้เปิดเป็นถนนคนเดินแล้ว แต่เราก็ยังสามารถแวะเวียนไปเดินเที่ยวถ่ายรูป หรือเดินชมสถาปัตยกรรมความงดงามของบ้านเรือนในสมัยเมื่อครั้งอดีตได้

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

          เลยมาทางอำเภอไทรโยคเราก็จะได้พบกับโบราณสถานอันเก่าแก่ อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแควน้อยทางทิศเหนือ แวดล้อมด้วยทิวเขาเป็นแนวยาวอยู่โดยรอบ ลักษณะผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กำแพงเมืองก่อด้วยศิลาแลง กว้างประมาณ 800 เมตร ยาวประมาณ 850 เมตร และกำแพงสูง 7 เมตร มีประตูเข้าออก 4 ด้าน มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ภายในเมืองมีสระน้ำ 6 สระ สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธศาสนสถาน นิกายมหายาน จากการขุดค้นตกแต่งของกรมศิลปากรไปตั้งแต่ พ.ศ. 2478 จนแล้วเสร็จเป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมื่อ พ.ศ.2530

          ปราสาทเมืองสิงห์ มีศิลปกรรมคล้ายคลึงกับของศิลปะสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1720 - 1780) แห่งอาณาจักรขอม ศิลปกรรมที่สำคัญที่พบคือ พระพุทธรูปนาคปรก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และ นางปรัชญาปารมิตา และยังพบรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีอีกองค์หนึ่ง รูปลักษณ์คล้ายกับที่พบในประเทศกัมพูชา ปัจจุบันกรมศิลปากรได้นำไปเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครแล้ว คงเหลือแต่องค์จำลองไว้ โดยโบราณสถานสำคัญที่น่าสนใจมีด้วยกัน 5 จุด คือ โบราณสถานหมายเลข 1 ตั้งอยู่บริเวณใจกลางกลุ่มโบราณสถานทั้งหมด มีด้านหน้าอยู่ทางทิศตะวันออกและประกอบด้วยปรางค์ประธาน ระเบียงคด โคปุระ บรรณศาลา และกำแพงแก้ว โบราณสถานหมายเลข 2 หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของโบราณสถานหมายเลข1 และมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่มีขนาดเล็กกว่า มีปรางค์ประธาน โคปุระ 4 ด้าน แต่พังลงมามาก บูรณะได้น้อย

          โบราณสถานหมายเลข 3 ตั้งอยู่นอกกำแพงแก้ว ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของโบราณสถานหมายเลข 1 เป็นโบราณสถานขนาดเล็ก ก่อด้วยอิฐศิลาแลง ซึ่งอาจจะเป็นฐานของเจดีย์ สภาพชำรุดมากจึงไม่สามารถบอกขนาดและลักษณะที่แน่นอนได้ โบราณสถานหมายเลข 4 อยู่ใกล้หมายเลข 3 เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งเป็นส่วนเรียงเป็นแถวแนวเหนือใต้ สร้างด้วยศิลาแลง และจุดสุดท้าย หลุมขุดค้นทางโบราณคดี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งขุดค้นพบทั้งโครงกระดูก เครื่องมือเครื่องใช้ ภาชนะสำริด ดินเผา เครื่องมือเหล็ก สร้อยคอทำด้วยลูกปัดหินและลูกปัดแก้ว ซึ่งชี้ชัดว่าชุมชนเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนที่จะสร้างเมืองสิงห์ เพราะศพของคนที่ตายมีประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว สันนิษฐานว่าอาจเป็นคนในยุคเดียวกับคนในชุมชนบ้านเก่า

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

          จริง ๆ แล้วจุดหมายหลักในการมาเที่ยวของเราครั้งนี้คือ การไปเที่ยวยัง "เมืองบาดาล วัดวังก์วิเวการาม" ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.สังขละบุรี อยู่ห่างจากตัวเมืองไปอีกเกือบ 200 กิโลเมตร โดยส่วนตัวแล้วเรามาเที่ยวที่สังขละบุรีนี้บ่อยมาก มาเกือบจะ 10 ครั้งแล้ว แต่ทุกครั้งที่เรามาจะเป็นช่วงอากาศหนาวปลายปี น้ำในเขื่อนก็จะเยอะและท่วมบริเวณเมืองบาดาล วัดวังก์วิเวการาม แล้วทุกครั้ง การมาเที่ยวชมจึงทำได้เพียงก้มมองลงไปดูความงดงามแบบอ้างว้างผ่านสายน้ำเพียงเท่านั้น แต่ครั้งนี้เราตั้งใจที่จะลงไปเดินสัมผัสถึงความเจริญรุ่งเรืองและความงดงามของสถาปัตยกรรมที่ถูกสร้างขึ้นและต้องถูกทิ้งล้างให้จมน้ำมากว่ายี่สิบปีแล้ว

          วัดวังก์วิเวการาม เดิมเป็นวัดที่หลวงพ่ออุตตมะ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังซึ่งประชาชนชาวไทยและชาวมอญรวมทั้งกระเหรี่ยงและพม่าที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นให้ความเคารพนับถืออย่างยิ่ง สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ.2496 ในบริเวณที่เรียกว่า "สามประสบ"  คือมี แม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำบีคลี่ และแม่น้ำรันตี 3 สายไหลมารวมกัน ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอสังขละบุรีประมาณ 3 กม. มีวิหารริมแม่น้ำ ที่เคยประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อนอันงดงามและเคยเป็นที่จำพรรษาของหลวงพ่ออุตตมะ ต่อมาในปี 2527 มีการก่อสร้างเขื่อนเขาแหลม ทำให้น้ำเข้าท่วมอำเภอสังขละบุรีเก่า รวมทั้งวัดนี้ด้วย หลวงพ่ออุตตมะจึงได้ย้ายวัดมาอยู่บนเนินเขา โดยในช่วงเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม น้ำจะลด ทำให้สามารถมองเห็นโบสถ์ นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือไปเที่ยวชมได้ แต่ในช่วงน้ำขึ้นน้ำจะท่วมสูงเกือบทั้งหมด เหลือเพียงยอดโบสถ์ให้เห็นเท่านั้น และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว UNSEEN ที่สำคัญของอำเภอสังขละบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

          ของแถมสำหรับปิดท้ายทริปนี้ที่สวยงามและน่าประทับใจของเราก็คือ สายหมอกที่ทอดยาวปกคลุม สะพานมอญ หรือ สะพานไม้อุตตมานุสรณ์ ด้วยเพราะในช่วงเย็นที่เราเดินทางมาถึงที่นี่ มีฝนตกจึงทำให้ในช่วงเช้าเกิดสายหมอกเหมือนกับในช่วงฤดูหนาวที่เราได้เห็นกันเป็นเรื่องปกติ อากาศสดชื่นเย็นสบาย สะพานนี้ สร้างโดยหลวงพ่ออุตตมะและคณะศิษย์ จึงมีอีกชื่อเรียกว่า "สะพานอุตตมานุสรณ์" เป็นสะพานไม้ที่มีชื่อเสียงและเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของอำเภอสังขละบุรี มีความยาวถึง 850 เมตร นับเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทยและยาวเป็นลำดับ 2 ของโลก

          บริเวณสะพานเป็นจุดชมวิวทะเลสาบเขื่อนวชิราลงกรณที่สวยงาม สามารถมองเห็นลำน้ำสามสาย คือ ซองกาเลีย บีคลี่ และรันตี ที่ไหลมาบรรจบกันเป็นสามประสบ อันเป็นจุดกำเนิดแม่น้ำแควน้อย นักท่องเที่ยวนิยมมาเดินเยี่ยมชมสะพานเพื่อชมแสงสีทองของพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้า และชมวิถีชีวิตของชาวไทยและมอญที่เดินข้ามไปมาหากันบนสะพานแห่งนี้ ในช่วงเช้าเวลาประมาณ 06.00 น.จะมีพระสงฆ์มาบิณฑบาตบนสะพานไม้แห่งนี้เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาทำบุญตักบาตรเพื่อเป็นสิริมงคลอีกด้วย

          ครั้งนี้เราขอจบทริป "เที่ยวย้อนอดีตวันวานผ่านเมืองกาญจนบุรี" แต่เพียงเท่านี้ก่อน แต่อยากจะบอกท่านผู้อ่านทุกคนว่า ทุกเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิตเรานั้น อดีตเป็นเพียงความทรงจำที่มีเรื่องราวทั้งร้ายและดี ทั้งสุขและทุกข์ แล้วทุกอย่างก็จะผ่านไป กลายเป็นประสบการณ์และครูชั้นเยี่ยมที่จะคอยย้ำเตือนเราไม่ให้มีปัจจุบันและอนาคตที่ผิดพลาด!

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

กาญจนบุรี

TIPS การเดินทาง

อำเภอเมืองกาญจนบุรี

          รถยนต์ส่วนตัว ออกจากกรุงเทพฯ โดยใช้เส้นทาง ถ.ปิ่นเกล้า-นครชัยศรี ทางหลวงหมายเลข 4 มุ่งหน้าไปยัง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 323 (ถ.แสงชูโต) เข้าสู่ จ.กาญจนบุรี ที่ อ.มะกา อ.ท่าท่วง ไปจนถึง อ.เมือง รวมระยะทาง 129 กม.

          รถโดยสารประจำทาง มีรถโดยสารปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งสายใต้บรมราชชนนีทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00 - 22.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center โทร.1490 เรียก บขส. หรือ www.transport.co.th

อำเภอสังขละบุรี

          รถยนต์ส่วนตัว จากตัว อ.เมือง กาญจนบุรี ไปตามทางหลวงหมายเลข 323 ถึงทางแยกก่อนเข้าตัว อ.ทองผาภูมิเลี้ยวขวาแล้วไปอีก 74 ก.ม. ถึง อ.สังขละบุรี การขับรถไป อ.สังขละบุรี ผู้ขับจะต้องตรวจสอบสภาพรถให้ดีก่อนการเดินทาง และควรขับรถด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากเส้นทางที่คดเคี้ยวและลาดชัน โดยเฉพาะช่วง อ.ทองผาภูมิ มุ่งหน้า อ.สังขละบุรี และควรตรวจดูน้ำมันเชื้อเพลิงให้พร้อมเพราะจากทางแยกแล้วจะมีปั้มน้ำมันเพียงปั้มเดียวบริเวณทางแยกด่านเจดีย์สามองค์เท่านั้น

          รถโดยสารประจำทาง จากสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) - สังขละบุรี เส้นทางกรุงเทพฯ-ด่านเจดีย์สามองค์ ของ บริษัทขนส่ง จำกัด เป็นเส้นทางที่สะดวกที่สุด ใช้เวลาเดินทางโดยประมาณ 6-7 ชั่วโมง มีรถออกวันละ 4 รอบ (05.00 น. , 06.00 น. , 09.30 น. , 12.30 น.) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและตารางเดินรถได้ที่ Call Center  โทร.1490 เรียก บขส. หรือ www.transport.co.th




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เที่ยวย้อนอดีตวันวานผ่าน เมืองกาญจนบุรี อัปเดตล่าสุด 6 เมษายน 2562 เวลา 14:35:51 4,664 อ่าน
TOP