x close

หลงลักษณ์เฉพาะ...เกาะพระทอง




หลงลักษณ์เฉพาะเกาะพระทอง (อสท.)

ปิยะฤทัย ปิโยพีระพงศ์...เรื่อง
บารมี เต็มบุญเกียรติ...ภาพ

          ทั้งยามสายที่แดดจ้าสาดส่องลงสู่พื้น ทั้งยามเย็นย่ำเมื่อแดดสีทองอาบไล้ผิวโลก เมื่อมายืนอยู่ริมหาดทรายละเอียดที่ทอดโค้งยาวไกลลิม ภาพเบื้องหน้าคือระลอกคลื่นหัวแตกไล่ล้อเร็วรี่กระทบฝั่งเหมือนจอมพลังที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย



          "ช่วงนี้ "ลมเหลียง" พัดเข้ามา ลมนี้ดีนะ ชาวบ้านเรียกว่าลมพาของเข้า" ลุงเทพ กำมะหยี่ ผู้ใช้ชีวิตบนเกาะพระทองมากว่าครึ่งศตวรรษ บอกเล่าด้วยเสียงหนักแน่นแบบคนภาคใต้ โดยมีรอยยิ้มผลักแก้มอวบนูน ดูใจดี

          "ของ" ที่ลุงเทพพูดถึงนั้น คือสิ่งจำเป็นต่อการเลี้ยงชีวิตของคนบนเกาะขนาดใหญ่ที่มีภูมิลักษณ์แทบจะแบนราบแห่งนี้มันคือกุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งคลื่นลมนำมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไปจนถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม จากนั้นลมตะเกาจากทิศตะวันตกจะพัดพาฝนหนัก ลมแรง มาสู่เกาะอย่างหนักหน่วงจนเรือประมงพื้นบ้านไม่อาจหาญไปต่อกรกับคลื่นลมกราดเกรี้ยว

          คนบนเกาะพระทองมีรายได้จากท้องทะเล เมื่อกุ้ง หอย ปู ปลา ไม่อาจหาได้ในห้วงแห่งมรสุม ที่มาของเงินเลี้ยงชีพจึงย้ายไปอยู่ตามป่าชายเลน ซึ่งยังมากมายด้วยปูดำก้ามโต ราคาของมันนั้น ตกกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่าร้อย ขณะที่ชาวบ้านบางคนขะมักเขม้นกับการทำแร่ดีบุก อันเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวเกาะพระทองมายาวนาน



          ส่วนบนภาคพื้นเหนือน้ำ แม้เป็นดินทรายร้อนแล้ง แต่ก็ปลูกไม้ผล อย่างมะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ ได้งอกงาม ไม่ใช่แค่ปลูกขายไปวัน ๆ แต่คุณภาพนั้นเข้าขั้นผลิตผลชั้นดีของอำเภอคุระบุรีเลยทีเดียว

          ทว่าทั้งหมดนั้นไม่ได้ทำให้คนไกลจดจำชื่อเกาะพระทองได้แม่นยำ สิ่งที่ทำให้เกาะขนาด 92 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดา 155 เกาะในน่านน้ำจังหวัดพังงา และเป็นเกาะขนาดใหญ่อันดับ 5 ของประเทศ กลายเป็นที่รู้จักไปทั่ว คือต้นหญ้าสูงเทียมเอวเทียมหัวซึ่งขึ้นปกคลุมพื้นที่ด้านในของเกาะเป็นดงกว้างไกลสุดสายตา โดยมีต้นเสม็ดขาวกระจายอยู่เป็นหย่อมย่านอย่างงดงาม เมื่อคนต่างถิ่นมาพบเห็นในยามเช้าหรือเย็นย่ำที่แสงทองส่องจับจนอร่ามตา ใครกันจะไม่ตะลึงหลงในภาพลักษณ์อบอุ่นละมุนละไม



          แม้ทุ่งหญ้านี้มีอยู่มายาวนานนับร้อยปีแล้ว แต่ก็คล้ายกับว่ามันถูกซุกซ่อนไว้ในดินแดนเร้นลับ จนกระทั่ง พ.ศ. 2546 เมื่อเกาะพระทองได้รับคัดเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวในโครงการ Unseen Thailand ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เกาะใหญ่อันดับหนึ่งของพังงาก็โด่งดังขึ้นแทบจะทันที โดยมีสิ่งเสริมชื่อเสียงให้มีพลังยิ่งขึ้น คือสมญานาม "สะวันนาเมืองไทย" นักท่องเที่ยวมากมายเดินทางมาเยือนเกาะพระทองในช่วงปี พ.ศ. 2546-2547 ก่อนที่คลื่นยักษ์สึนามิจะโถมทับทำลายทุกสิ่งจนย่อยยับเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547

          นับจากวันนั้น โฉมหน้าของเกาะพระทองก็เปลี่ยนไป ทว่าทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ยังไม่เปลี่ยนแปร
ฟ้ายังไม่สว่างดีเมื่อฉันกระโดดขึ้น "สาลี่" อันเป็นส่วนพ่วงของรถอีแต๊ก กระด๊อกกระแด๊กไปบนพื้นขรุขระ เราออกจากบริเวณบ้านของลุงเทพ ซึ่งอยู่ในเขตบ้านทุ่งดาบ ริมทะเลเปิดฝั่งตะวันตก เพื่อมุ่งสู่ตอนในของเกาะ ที่นั่นคือจุดที่นักท่องเที่ยวหมายมาดเมื่อมาถึงเกาะนี้

          หลังจากรถอีแต๊กแล่นกุกกัก ๆ ผ่านแนวสนร่มครึ้มเข้าสู่ตอนในของเกาะ สภาพพืชพรรณก็เปลี่ยนไป จากป่าชายหาดกลายเป็นทุ่งหญ้า ไม้พุ่ม ป่าพรุ และสังคมพืชทดแทน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ไม่อาจให้ร่มเงาได้ดีนักเมื่อแสงแดดแผดกล้าในตอนกลางวัน นี่เป็นเหตุผลที่เราตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อเดินทางมาสู่แหล่ง Unseen Thailand นี้



          แล้วเมื่อรถแล่นเข้าเขตทุ่งหญ้า เสียงลือเสียงเล่าว่าทุ่งหญ้าสีทองผืนนี้แสนงดงามเพียงใดก็เทียบไม่ได้เลยกับภาพจริงที่ปรากฏอยู่รายรอบ แต่ละวินาทีที่แสงสีทองอุ่นจากตะวันดวงโตซึ่งเพิ่งโผล่พ้นแนวต้นไม้ค่อย ๆ ไล้ลูบกิ่งก้านต้นเสม็ดขาวรูปทรงหยึกหยักสวยแปลกตา แล้วระเรื่อยลงสู่ต้นหญ้าที่เริงระบำตามแรงลม ดูราวกับภาพเขียนที่จิตรกรค่อย ๆ ปาดป้ายสีทองลงไปอย่างละเมียดละไม บรรยากาศรอบด้านอบอวลด้วยชีวิตแท้ ๆ เหยี่ยวตัวใหญ่มักเกาะนิ่งอยู่บนยอดไม้โกร๋น มีบางตัวส่งเสียง "แง" คล้ายเด็กร้อง นกเล็ก ๆ หลายตัวบินเข้าออกจากพุ่มไม้ใกล้ ๆ ส่วนบนพื้นทรายเนื้อละเอียดยิบ ปรากฏรอยตีนของกวางตัวโต มีทั้งรอยที่เดินไปในแนวทอดยาวของทางลำลองสายนี้ และรอยที่ตัดผ่านเข้าไปในทุ่งหญ้า

          "ที่นี่กวางเยอะ" ลุงเทพบอกขณะกวาดตามองไปรอบ ๆ "ชาวบ้านช่วยกันดูแล ไม่ล่า ปล่อยให้มันอยู่กันตามธรรมชาติ กวางตัวโตนะ เราเรียกว่ากวางม้า แถวบ้านลุงก็มี เคยเจอตอนสามทุ่มกว่าๆ มันมากินลูกกาหยีต้นที่อยู่ข้างบ้านนั่นไง หมูป่าก็มีเยอะพอ ๆ กัน"

          แสงแดดเริ่มแรงขึ้น ลุงเทพจึงเคลื่อนรถอีแต๊กต่อไปข้างหน้า จนลอดร่มไม้ที่ขึ้นคลุมอยู่เหนือทางน้ำไหลผ่าน ก็หยดรถเพื่อกินข้าวผัดอร่อย ฝีมือป้ามร คู่ทุกข์คู่ยากของลุง นับเป็นมื้อเช้าที่รื่นรมย์ รอบตัวโอบล้อมด้วยดงเสม็ดขาวอันเป็นไม้เด่นชนิดหนึ่งบนเกาะพระทอง แล้วยังมีบึงน้ำขนาดเล็กที่มีดอกบัวกระจิริดน่ารักน่าดู

          "เปลือกต้นเสม็ดนี่ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้นะ" ลุงเทพเล่าเป็นอาหารสมอง ขณะที่เรากำลังกินอาหารมื้อเช้า "ใช้งานได้หลายอย่าง เห็นบาง ๆ แบบนี้ เนื้อเหนียวนะ สมัยเด็ก ๆ ลุงไปหาน้ำผึ้งกับพ่อ ก็ใช้เปลือกเสม็ดนี่ล่ะมาทำกระทงใส่"

          เช้านี้ถือเป็นการเที่ยวเพื่อเรียนรู้ ลุงเทพมักชี้ให้ดูรอยตีนสัตว์บนผืนทราย เหยี่ยวที่เกาะบนยอดไม้ นกกระสายืนอยู่ริมธาร และเล่าเรื่องราวของแต่ละจุดที่รถแล่นผ่าน เช่น ทางสายเล็ก ๆ ที่ทอดผ่านพื้นที่ราบเรียบ ซึ่งยามสายนี้ออกจะร้อนร้าย ตรงนั้นเคยเป็นบ้านกำนัน ส่วนบึงน้ำขนาดเล็กที่กระจายเป็นหย่อม ๆ ราวโอเอซิสในทะเลทราย เมื่อ 30 กว่าปีก่อนคือหลุมแร่ดีบุก ถึงตอนนี้ ฝนที่ตกลงมาขังไว้นานวันได้แปรสภาพหลุมแล้งให้กลายเป็นบึงน้ำใส สวยเย็นตาด้วยบัวบาสีขาวดอกน้อย ซึ่งชูเด่นอยู่เหนือใบเขียวขอบม่วงแดง ในบึงยังมีลูกปลาตัวเล็ก ๆ ว่ายเวียนเป็นฝูง เพิ่มชีวิตชีวาให้ทุ่งหญ้าป่าโล่งขึ้นมาอีกมากเลยทีเดียว

          เกาะพระทองไม่ได้มีเพียงทุ่งหญ้า ซึ่งมากมายด้วยต้นเสม็ดที่กระจายในอาณาบริเวณเกือบหมื่นไร่ บนเกาะราบเรียบนี้ยังเต็มไปด้วยความหลายหลาย ว่ากันเฉพาะลักษณะภูมิประเทศก็แตกต่างแล้ว ด้านตะวันออกซึ่งอยู่ห่างจากฝั่งอำเภอคุระบุรีประมาณ 2 กิโลเมตรนั้น อุดมด้วยแนวป่าชายเลน อันเป็นแหล่งอาหารของชาวเกาะ ลูกกุ้ง หอย ปู ปลา จะเติบโตอยู่ในนั้น รวมทั้งยังมีปูดำที่ชาวบ้านออกไปวางไซได้มาทุกเช้าในช่วงน้ำเกิด ส่วนด้านตะวันตกคือชายหาดทอดยาว เปิดมุมมองกว้างไกลสู่ผืนทะเลอันดามัน เมื่อหันหน้าสู่ทะเล อีกเกาะที่เห็นอยู่ไม่ไกลทางด้านซ้ายคือเกาะคอเขา ทุกวันนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปพักผ่อนแรมคืนไม่เว้นวัน สำหรับตอนในของเกาะพระทองก็คือพื้นที่ราบ ซึ่งมีลำคลองเชื่อมโยงเป็นสายใยหล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตบนเกาะมาเนิ่นนาน



          "นี่เป็นร่องน้ำนะ เรียกกันว่าร่องน้ำยาว ยาวไกลไปอีก 2 กิโลฯ โน่น แล้วไหลลงคลองทางเข้ เลยจากตรงนี้ไปคือหานหล่ม แถวนั้นนกเยอะ" ลุงเทพหยุดรถริมธารน้ำขนาดใหญ่ซึ่งร่มรื่นด้วยเงาไม้ใหญ่ ไม่ต้องนึกถึง "แถวนั้น" เลย เพราะแถวนี้ก็มีนกนานาชนิด ทั้งเกาะอยู่บนต้นไม้ ยืนอยู่ริมบึง บินผ่านหน้าเราไป เช่น เหยี่ยวแดง กาน้ำ กระสานวล ปากซ่อม ฯลฯ

          "ร่องน้ำนี้มีปลาเยอะ นกก็พลอยเยอะไปด้วย สมัยลุงเด็ก ๆ พอน้ำลด พ่อจะพามาจับปลาซ่อน ตอนนั้นอุดมสมบูรณ์กว่านี้ ออกจากบ้านแต่เช้า กว่าจะกลับเข้าบ้านก็บ่ายโมงโน่น มาหาปลามั่ง หาน้ำผึ้งมั่ง"

          แม้ความสมบูรณ์จะลดน้อยลงไป ทว่าพืชพรรณและสิ่งมีชีวิตระดับ "เฉพาะถิ่น" ยังคงมีอยู่ เช่น เอื้องปากนกแก้วกล้วยไม้ที่พบในเขตจังหวัดระนอง พังงา และกระบี่ มันถูกจัดเป็นกล้วยไม้หายากมากในธรรมชาติ ทุกวันนี้ โกอ๋อย หรือคุณชัยยุทธ ลิ่มสมบูรณ์ ชาวบ้านทุ่งดาบเพาะเลี้ยงไว้หลายต้นในเรือนกล้วยไม้ขนาดใหญ่ ผลิดอกสีขาวมีริ้วเส้นบางสีเขียว และปากสีแดงสด ให้ชื่นชมกันตลอดทั้งปี นอกจากนี้ โกอ๋อยยังเพาะพันธุ์ลูกผสม เอื้องปากนกแก้วกับเอื้องเงินหลวง (อีกชื่อหนึ่งคือโกมาซุม เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดระนอง) ได้อย่างงดงาม เป็นของฝากจากเกาะพระทองที่คนรักกล้วยไม้มักมาซื้อหากลับไปปลูกกันเสมอ แล้วยังมีพ่อค้ากล้วยไม้รายใหญ่จากสุราษฎร์ธานีมารับไปขายทุกเดือนอีกด้วย

          นอกจากเอื้องปากนกแก้ว ยังมีเพชรหึง กล้วยไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งชาวบ้านมักเรียกว่าว่านหางช้าง ขึ้นอยู่ในป่าเกาะพระทอง และก็ไม่ต่างจากเอื้องปากนกแก้ว เพชรหึงในธรรมชาตินั้นหายากขึ้นทุกวัน ๆ แต่ที่โรงเรือนกล้วยไม้ของโกอ๋อยมีอยู่หลายต้นเลยทีเดียว

          ห่างจากบ้านโกอ๋อยไปทางด้านทิศเหนือ ไม่ไกลจากบ้านลุงเทพ คือบ้านของโกน้อง คุณชาญณรงค์ พริ้มจรัส เป็นที่ตั้งของโครงการอนุรักษ์กล้วยไม้และพันธุ์พืชพื้นเมืองเกาะพระทอง แม้วันนี้โครงการฯ จะซบเซาลงไป แต่ที่นี่ก็มากมายด้วยต้นเพชรหึงและกล้วยไม้ชนิดอื่น ๆ ให้เดินชมเพลินใจ

          ไม่เพียงบ้าน 2 หลังที่มีพรรณไม้เฉพาะถิ่นให้คนต่างถิ่นได้ดูอย่างใกล้ชิด ระหว่างทางสู่จุดหมายที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มุ่งไปหา ฉันยังได้พบได้เห็นพรรณพืชอื่น ๆ โดยเฉพาะพืชอิงอาศัย อย่างกล้วยไม้ เฟิร์น ขึ้นอยู่บนคาคบไม้สูงลิบบ้างก็เกาะลำต้นไม้ใหญ่ เติบโตอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่แตกต่างจากผู้คนที่พักพิงอยู่บนเกาะนี้มาหลายชั่วอายุคน

          ก่อนปลายธันวาคม 2546 บนเกาะพระทองเคยเป็น "บ้าน" ของผู้คนราว 500 ชีวิต ซึ่งกระจายอยู่ที่บ้านปากจก ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ ติดทะเลอันดามัน บ้านแป๊ะโย้ย ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ใกล้กับเกาะทุ่งทุและบ้านทุ่งดาบ ด้านใต้ของเกาะ ไม่ไกลจากเกาะคอเขา มีชาวไทยใหม่ หรือชาวเล เป็นประชากรจำนวนกว่าครึ่งของผู้คนทั้งหมดบนเกาะ นอกเหนือจากนั้นก็เป็นคนไทยภาคใต้และคนไทยเชื้อสายจีน พวกเขาดำเนินชีวิตอยู่กับธรรมชาติอย่างสุขใจ โดยยังชีพด้วยการแล่นเรือประมงพื้นบ้านออกทะเลหาปู ปลา กุ้ง หอย บ้างก็เข้าป่าชายเลนดักปูดำ บ้างก็ทำสวนมะพร้าว สวนมะม่วงหิมพานต์ เลี้ยงตัวและครอบครัวตามวิถีธรรมชาติเฉกเช่นที่บรรพบุรุษเคยทำมา

          "เมื่อร้อยกว่าปีก่อน คนพระทองทำแร่ดีบุกเป็นอาชีพหลักนะ" ลุงเทพอีกนั่นเองที่เป็นคนให้ข้อมูลน่าสนใจ "เลิกไปเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน แต่ตอนนี้เริ่มกลับมาทำอีกครั้ง เพราะเนื้อแร่มีมากขึ้นแล้ว"



          ว่าแล้วเจ้าถิ่นก็เดินนำฉันไปดูหลุมทรายริมทะเล ชี้ให้ดูสายแร่สีดำที่ไหลแทรกอยู่ในผิวทรายสีเหลืองนวล ก่อนเดินไปติดเครื่องรถอีแต๊ก แล้วบอกว่าจะพาไปดูการทำแร่ที่บ้านทุ่งดาบ ด้านปากคลอง ไม่ไกลจากบ้านโกอ๋อย

          คุณสมใจ กล้าทะเล ยินดีสาธิตการทำแร่ดีบุกให้ดูด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ปากก็อธิบายขั้นตอนอย่างคนรู้งาน ตั้งแต่ขั้นแรกคือการกวาดแร่ มาถึงการวิดแร่ และถ่ายแร่ เพียงแค่ 3 ขั้นตอนเท่านั้น ทว่าต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์กว่าจะได้แร่สัก 1 กิโลกรัม ขายได้กิโลกรัมละ 220 บาท

          "แรกก่อนโลละร้อย โลละแปดสิบบาท" คุณสมใจบอกพร้อมรอยยิ้มสดใส
นอกจากทำแร่ ครอบครัวกล้าทะเลยังเก็บเม็ดมะม่วงหิพานต์ส่งขาย ออกไปดักปูดำที่ป่าชายเลนไม่ไกลบ้าน แล้วลงเรือหางยาวไปขายให้รีสอร์ตบนเกาะคอเขาในราคาดี

          เห็นใบหน้ายิ้มแย้มสบายใจของครอบครัวกล้าทะเล นึกถึงบอกเล่าของเปรี้ยว ลูกสาวลุงเทพ "เมื่อวานมีคนจับปลาครูดคราดหนัก 70-80 โลได้ในทะเลหน้าบ้านเรานี่ละ" นึกถึงชายหนุ่มผิวคล้ำเข้มเดินหิ้วถุงปุ๋ยใบย่อมที่ภายในบรรจุปูดำนับสิบ คิดถึงภาพครอบครัวลุงเทพช่วยกันแกะปลาหมอ ปลาสลิด ปลาด้ามพร้า ฯลฯ ที่ติดแหซึ่งไปวางไว้ในคลองตอนเช้า ฉันก็อดยินดีมีสุขกับชีวิตเรียบง่าย มีกิน มีใช้ ของพวกเขาไม่ได้



          "ลุงถึงไม่อยากไปไหน ลูกสาวอีกคนชวนไปอยู่บนฝั่ง เราก็ไม่ไป อยู่บนนั้นจะทำอะไรกิน อยู่บ้านเรานี่ล่ะ อากาศดี มีพื้นที่กว้างๆ ให้เดินเหิน อยู่ในเมืองมันอืดอัด ร้อนก็ร้อน

          "พูดก็พูดเถอะ แต่ก่อนบ้านลุงนี่ร่มครึ้มเป็นป่าเลย พอสึนามิมาเท่านั้นล่ะ...ราบ แต่สภาพแวดล้อมยังดีกว่าในเมือง"

          หลังเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ สภาพธรรมชาติก็เปลี่ยนแปรอย่างไม่อาจกลับคืน ทั้งผืนป่าที่หายไป ต้นไม้สูงใหญ่กลายเป็นท่อนไม้แห้งโกร๋นตายซาก แนวหาดถูกกัดเซาะลึกเข้ามามากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนผู้คนที่ลดน้อยลงราวครึ่งหนึ่งของประชากรที่มีอยู่เดิมก็ทำให้เกาะดูเงียบเหงา แต่ละวันที่ฉันนั่งรถอีแต๊กเที่ยว ได้เห็นบ้านหลายหลังถูกทิ้งร้างอยู่เบื้องหลังพุ่มไม้รกเรื้อ และไม่เห็นรถราหรือผู้คนอื่นใดสวนทางกับเราเลยแม้แต่ครั้งเดียว

          "ต้องไปให้ถึงสุดขอบฟ้า" ถ้อยคำนี้ดังขึ้นเมื่อฉันบอกว่านักท่องเที่ยวก็ดูเหมือนจะน้อยไม่ต่างจากชาวบ้านเลย



          เย็นนี้ลุงเทพจะขับรถอีแต๊กพาเราไปสุดขอบฟ้า...

          ทั้งลุงเทพ ครอบครัว และเพื่อนบ้านต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ที่นั่นไม่เงียบเหงา มีฝรั่งมาเที่ยวกันเยอะ ยิ่งยามแดดร่มลมตก เช่นนี้ ริมหาดจะมีนักท่องเที่ยวจากแดนไกลมาเล่นน้ำบ้าง นอนอาบแดดอ่อนบ้าง แตกต่างจากพื้นที่เงียบสงบที่ฉันอยู่ ณ ตอนนี้ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ

          อีแต๊กแล่นเลียบไปตามแนวหาดโค้งยาว ถ้าวัดระยะทางสุดโค้งหาดฝั่งบ้านทุ่งดาบไปจนถึงริมแหลมสุดขอบฟ้าก็ประมาณ 11 กิโลเมตร แต่ถ้าเริ่มวัดจากชายหาดหน้าบ้านลุงเทพ เราต้องผ่านระยะทางราว 8 กิโลเมตรจึงจะถึงสุดขอบฟ้า ซึ่งมีเนินน้อย ๆ เด่นชัดอยู่สุดโค้ง นั่นน่าจะเป็นพื้นที่ธรรมชาติที่สูงที่สุดบนเกาะนี้

          เราผ่านแนวดงมะพร้าว เสม็ด และสน สวนทางกับสายลมที่พัดโชยมาปะทะ คุณต้น เพื่อนบ้านของลุงเทพชี้ขึ้นไปบนหาด แล้วบอกว่าจุดนั้นเป็นพื้นที่ที่เต่าทะเลขึ้นมาวางไข่เป็นประจำ ชาวเกาะพระทองไม่เก็บไข่เต่า พวกเขาส่วนใหญ่รู้ดีว่าเต่าทะเลอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ จึงช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้ใครมาเก็บไข่ไปกิน

          เมื่อมาถึงสุดโค้ง ฉันรู้สึกประหลาดใจอยู่ครามครัน เพราะตลอดเวลาที่อยู่บนเกาะพระทอง แถบบ้านทุ่งดาบ ฉันไม่เคยเห็นบริเวณใดที่มีผู้คนรวมตัวกันเกินกว่า 10 คนเลย โค้งอ่าวนี้คือหาดตาสุข เป็นที่ตั้งของรีสอร์ทราคาแพงสุดบนเกาะ คือ Golden Buddha Beach Resort ซึ่งก่อนเกิดสึนามิ รีสอร์ทใช้ชื่อว่า "สุดขอบฟ้า" ทำให้ใคร ๆ พลอยเรียกบริเวณนี้ตามชื่อรีสอร์ทจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

          เย็นย่ำนี้ ที่สุดขอบฟ้ามีกิจกรรมพายเรือคายัก โยคะส่งตะวัน และนั่น...เรือหางยาวกำลังแล่นผ่านศาลพ่อตาหินกอง เพื่อออกไปรับนักดำน้ำที่เรือใหญ่ซึ่งลอยลำอยู่ในแนวน้ำลึกหน้าเกาะปลิงนุ้ยและเกาะปลิงใหญ่ เรือใหญ่ลำนั้นพานักท่องเที่ยวไปเยือนโลกใต้น้ำหมู่เกาะสุรินทร์ทุกวันในฤดูกาลท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน

          "ขึ้นไปบนจุดชมวิวมั้ย" ลุงเทพหันมาชักชวน เราจึงพากันไต่เชือกขึ้นไปบนเนินไม่สูงนัก ด้วยจังหวะก้าวขึ้นเพียงไม่กี่สิบก้าว ฉันก็มาอยู่บนจุดชมวิวที่มองเห็นชายทะเลยาวเหยียดของหาดทรายทองที่เราเพิ่งผ่านมา ส่วนอีกด้านคือหาดหินงดงาม บนเนินที่อุดมด้วยต้นไม้ใหญ่ร่มครึ้มแห่งนี้เป็นบริเวณที่นกแก๊กมักบินผ่าน นั่นเอง...มันจึงถูกเรียกว่า Hombill Hill

          ตะวันกลมโตใกล้ลับขอบฟ้าเมื่อเราไต่กลับลงสู่หาดทราย แสงสุดท้ายของวันย้อมผิวน้ำให้กลายเป็นสีทอง เช่นกันกับหาดทรายที่เปลี่ยนแปรสีไปตามองศาของแสงที่ส่องลงมา เกาะพระทองในยามเย็นย่ำตะวันรอนดูอบอุ่นและสงบงาม เป็นอีกลักษณ์เฉพาะที่ฉันพบว่ามีเสน่ห์ลึกล้ำจนจำได้ไม่ลืม

ขอขอบคุณ

          ลุงเทพ ป้าอมรศรี คอรบครัวกำมะหยี่ และเพื่อนบ้าน
          คุณชัยยุทธ ลิ่มสมบูรณ์
          คุณสมใจ กล้าทะเล และครอบครัว
          สำหรับการอำนวยความสะดวกในการจัดทำสารคดีเรื่องนี้เป็นอย่างดี



คู่มือนักเดินทาง

          เกาะพระทอง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา มีลักษณะภูมิประเทศแทบจะแบนราบ ด้านตะวันออกสมบูรณ์ด้วยแนวป่าโกงกาง ด้านตะวันตกเป็นหาดทรายสีทองริมทะเลอันดามัน ส่วนบริเวณกลางเกาะเป็นทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ซึ่งมีต้นเสม็ดขาวขึ้นกระจายอย่างดงงาม เกาะพระทองตั้งอยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 2 กิโลเมตร มีความยาวจากเหนือจดใต้ประมาณ 15.5 กิโลเมตร

          นอกจากภูมิประเทศที่มีเอกลักษณ์แล้ว บนเกาะยังเป็นที่อยู่ของฝูงนกตะกรุม ซึ่งเป็นนกที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์ ในป่าและทุ่งหญ้าเป็นบ้านและแหล่งอาหารของกวางม้า บนคาคบไม้เป็นแหล่งอาศัยของเอื้องปากนกแก้ว กล้วยไม้เฉพาะถิ่น ส่วนบนหาดทรายก็มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ทุกปี

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว

          จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ผ่านจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม แล้วต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ไปจนถึงจังหวัดชุมพร แล้วเลี้ยงขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านอำเภอกระบุรี ตัวเมืองระนอง อำเภอกะเปอร์ อำเภอสุขสำราญ เข้าสู่ตัวอำเภอคุระบุรี จากนั้นขับต่อไปยังปากทางเข้าบ้านทุ่งละอองสังเกตง่าย ๆ ว่ามีป้าย “บ้านคุณตารีสอร์ท” อยู่ตรงทางแยก เลี้ยงขวาเข้าไปประมาณ 17 กิโลเมตร จะถึงท่าเรือทุ่งละออง

          สำหรับผู้ที่จะข้ามไปพักแรมที่บ้านลุงเทพ กำมะหยี่ สามารถจอดรถที่บ้านของลูกสาวลุงเทพ ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับท่าเรือได้

รถโดยสาร

          มีรถประจำทางปรับอากาศ สายกรุงเทพฯ-คุระบุรี-พังงา ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 14 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัทขนส่ง จำกัด โทรศัพท์ 0 2422 4444, 1590 เว็บไซต์ www.transport.co.th ลิกไนท์ทัวร์ โทรศัพท์ 0 2894 6151-3 ภูเก็ตท่องเที่ยว โทรศัพท์ 0 2885 9025-6 และบริษัทภูเก็ตเซ็นทรัลทัวร์ โทรศัพท์ 0 2894 6171-2

          "บางเที่ยวโดยสาร รถประจำทางจะจอดรับส่งที่สถานีขนส่งหมอชิต สามารถสอบถามได้ที่บริษัทเดินรถโดยตรง"

ค่าบริการ

          ค่าเหมาเรือ ไป-กลับ ท่าทุ่งละออง-บ้านทุ่งดาบ ลำละ 1,500 บาท นั่งได้ไม่เกิน 15 คน

          ค่าเหมาเรือเที่ยวรอบเกาะ ลำละ 2,500 บาท นั่งได้ไม่เกิน 15 คน

          ค่ารถอีแต๊ก ไปสุดขอบฟ้า ไปทุ่งหญ้าสีทอง ราคา 1,200 บาท ต่อเส้นทาง (นั่งได้ไม่เกิน 6 คน)

          อาหาร มื้อเช้า คนละ 70 บาท มื้อกลางวัน มื้อเย็น คนละ 120 บาท ต่อมื้อ

          บ้านพัก หลังละ 500 บาท เต็นท์หลังละ 300 บาท นำเต็นท์ไปเอง จ่ายค่าพื้นที่หลังละ 150 บาท

ติดต่อสอบถาม

          ลุงเทพ กำมะหยี่ โทรศัพท์ 08 7993 4331

รู้ก่อนเที่ยว

          การขึ้นลงเรือจากท่าทุ่งละอองไปบ้านทุ่งดาบต้องดูเวลาน้ำขึ้น น้ำลง หากไปถึงท่าเรือในช่วงที่ระดับน้ำยังไม่มากพอสำหรับการออกเรือ ก็จำเป็นต้องรอ จึงควรมีหนังสือหรือสิ่งบันเทิงติดกระเป๋าไว้

          บนเกาะไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องอาศัยไฟปั่น ซึ่งจะเปิดเครื่องปั่นไฟเวลาประมาณ 1 ทุ่มไปจนถึงตี 3

          ช่วงหัวค่ำมียุงค่อนข้างเยอะ ควรเตรียมโลชั่นกันยุงไปด้วย

          อย่าลืมหมวกและแว่นกันแดด เพราะแดดร้อนแรง ระหว่างเส้นทางท่องเที่ยวบนเกาะไม่ค่อยมีร่มไม่ให้เงา

          ต้องนำสบู่ แชมพู และผ้าเช็ดตัวไปเอง

          น้ำที่ใช้อาบเป็นน้ำจากสระธรรมชาติ มีสีน้ำตาล หากไม่สะดวกใจที่จะใช้ล้างหน้า ควรเตรียมน้ำขวดไปด้วย

          บนเกาะไม่มีร้านขายของชำ ต้องการกิน ดื่มอะไรเป็นพิเศษ ต้องซื้อไปจากฝั่งคุระบุรี

          ที่บ้านทุ่งดาบ สัญญาณโทรศัพท์ค่ายจีเอสเอ็มชัดเจนที่สุด รองลงมาคือดีแทค ส่วนทรูมูฟนั้นไม่มีสัญญาณ

นกตะกรุมบนเกาะพระทอง

บารมี เต็มบุญเกียรติ...เรื่องและภาพ

          นกตะกรุม (Lesser Adjutant : Leptoptilos javanicus) นกน้ำขนาดใหญ่ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ เป็นนักในวงศ์นกกระสา ปัจจุบันนกตะกรุมมีสถานภาพเป็นทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ แต่นกอพยพที่พบส่วนใหญ่จะพบเพียงตัวเดียว คาดว่าอพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนในบริเวณเกาะพรทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เป็นถิ่นอาศัยของนกตะกรุมที่อยู่ประจำถิ่นและมีรายงานการทำรังวางไข่ ด้วยลักษณะสภาพป่าที่มีความหลากหลายทั้งทุ่งหญ้า ป่าทุ่ง ป่าชายหาด หาดโคลม ป่าพรุ ป่าชายเลน ดงเสม็ดขาว ประกอบกับมีพื้นที่ชุ่มน้ำและแหล่งน้ำจืดอีกหลายแห่ง ที่นี่จึงเป็นถิ่นอาศัยที่เหมาะสมของพวกมัน

          เรามักได้ยินคนเรียกนกตะกรุมและนกตะกรามคู่กัน ทั้ง 2 ชนิดโดดเด่นที่หัวของมัน เมื่อมองจากที่ไกล ๆ จะคล้ายนกหัวล้าน เพราะบริเวณนั้นมีขนสั้น นกตะกรามมีขนาดใหญ่กว่า บริเวณคอจะมีถุงห้อยลงมา และเป็นสีชมพูแตกต่างจากนกตะกรุมที่ไม่มีถุงคอห้อย และคอเป็นสีเหลืองสด ปากหมาใหญ่สีเหลืองแถมเทา ขนตามลำตัวสีดำเหลือบเขียว

          ในฤดูแห่งความรัก นกจะจับกลุ่มทำรั้งอยู่ใกล้ ๆ กับบนต้นไม้ใหญ่สภาพแวดล้อมของเกาะที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งป่าขนาดใหญ่ที่โดนสึนามิจนต้นไม้ไม่อาจทานกระแสน้ำเค็ม ทำให้ยืนต้นตาย ต่อมาด้วยไฟป่าที่เกิดจากมนุษย์ทำให้ต้นไม้ที่นกตะกรุมเลือกใช้ทำรังลดน้อยลงทุกปี

          นอกจากสภาพพื้นที่ซึ่งถูกบุกรุกแล้ว ศัตรูตามธรรมชาติของนกตะกรุมก็คือเหยี่ยวแดงและอีกาที่จ้องจะเข้าไปขโมยไข่ ทำให้ปริมาณการรอดของลูกนกมีไม่มากนัก ในการเดินทางครั้งนี้เราได้พบเห็นนกตะกรุมทุกวัน ฝูงใหญ่สุดมีถึง 12 ตัว โดยส่วนใหญ่นกจะกระจัดกระจายไปตามแหล่งน้ำ

          ในช่วงแล้งนี้ น้ำในป่าพรุและน้ำตามบ่อน้ำทั้งตามธรรมชาติและบ่อน้ำที่เกิดจากการขุดหาแร่ดีบุกนั้นจะตื้นนกตะกรุมจะเลือกวนเวียนไปหากินตามแหล่งที่น้ำแห้งพอตกบ่าย ๆ มวลอากาศร้อนลอยตัวขึ้น นกก็จะบินเล่นลมร้อนในช่วงกลางวัน หากใครสังเกตหรือมองท้องฟ้าบ่อย ๆ ก็จะพบเห็นนกได้ไม่ยากนัก




ขอขอบคุณ

ปีที่ 52 ฉบับที่ 8 มีนาคม 2555


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หลงลักษณ์เฉพาะ...เกาะพระทอง อัปเดตล่าสุด 25 เมษายน 2555 เวลา 10:42:56 10,427 อ่าน
TOP