x close

แม่น้ำสงครามท่ามกลางฤดูชีวิต




ฐากูร โกมารกุล ณ นคร...เรื่อง
สาธิต บัวเทศ ปณต คูณสมบัติ...ภาพ

          เรารู้จักที่มาของตัวเองมากน้อยเพียงใด ใครสักคน ณ ริมแม่น้ำโบราณสายหนึ่งทำให้พบกลับมานั่งทบทวนประโยคเช่นนี้ในยามค่ำที่ริมตลิ่ง ตะวันฤดูฝนย้อมริ้วเมฆเป็นฉากสีทอง น่าตรึงตรา ว่ากันตามตรง ภาพงดงามตรงหน้านี้ สำหรับหลายคนที่นี่ พวกเขาอาจไม่ได้ใส่ใจกับมันนัก การจบสิ้นของคืนวันหลังกรำงานหนักในแม่น้ำตลอดห้วงฤดูกาล ดูจะเป็นจริงเป็นจังและควรค่าต่อการมอบหัวใจ รวมถึงแรงกายลงไปมากกว่า



          เราอยู่กันที่ห้วงหนึ่งของแม่น้ำสงคราม ณ อำเภอที่การหาปลาคือสิ่งก่อรูปและขับเคลื่อนทิศทางชีวิตมานับร้อยปี เส้นแบ่งระหว่างแผ่นดินและแม่น้ำดูเหมือนจะไม่มีสำหรับพวกเขา กับรอยยิ้มของพรานปลาชรา ยามที่เห็นหลานชายสักคนหันหน้ากลับจากเมืองใหญ่ ก้าวเท้าลงเรือลำคร่ำคร่า และบ่ายหน้าออกไปหาแม่น้ำตั้งแต่ตะวันยังไม่โผล่จากตีนฟ้า ห้วงยามนั้น คำถามที่ว่าเรารู้จักที่มาของเราเพียงใดคล้ายค่อย ๆ ถูกอธิบาย

          1. น้ำหลากล้นและทรงตัวอยู่หลายเดือนแล้ว ยามที่ผมและเพื่อนไปถึงอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ที่ราบไร่นาหลอมเลือนอยู่ด้วยมวลน้ำ ถนนเล็ก ๆ จากอำเภอริมโขงอย่างท่าอุเทนที่เราใช้มาถึงศรีสงครามทางบ้านเสียวจมหายเป็นระยะ รายทางคือภาพเหวี่ยงแห่ในหนองน้ำ หรือยกสะดุ้ง-ยอขนาดเล็กของชาวบ้านผู้ที่รู้ว่า ยามน้ำมากเช่นนี้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าเข้าใจมัน และหากินด้วยอุปกรณ์ที่เคยยังชีพมาแต่โบราณ



          เมื่อเข้าเขตอำเภอศรีสงคราม เราข้ามแม่น้ำสายโบราณในยามบ่าย มันเอ่อล้นท้นฝั่ง เมื่อเข้าสู่ตัวอำเภอความเป็น “เมืองปลา” ชัดเจนเมื่อใครสักคนยิ้มรับผมที่บ้านท่าบ่อสงคราม แผงปลาสด ๆ เพิ่งราไปไม่นาน ตามบ้านเรือนชัดเจนด้วยกลุ่มทำปลาร้า ปลาส้ม และส้มฟัก ที่ต้นทางของมันอยู่ในสายน้ำอันเคียงคู่พวกเขา ที่ทอดตัวสงบนิ่งอยู่ใกล้ ๆ

          กล่าวสำหรับลำน้ำสงคราม จากต้นกำเนิดแถบเทือกเขาภูพาน แม่น้ำสายนี้ทอดตัวไหลผ่าน 4 จังหวัดของภาคอีสาน คือ สกลนคร อุดรธานี หนองคาย ก่อนหลอมรวมไปหล่อเลี้ยงผู้คนสู่แม่น้ำโขง ที่อำเภอท่าอุเทนของจังหวัดนครพนม หลังจากผ่านการเดินทาง 420 กิโลเมตร และสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้พื้นที่ 12,367 ตารางกิโลเมตร ก่อเกิดเป็นเรื่องราวทางวัฒนธรรมระหว่างคน ปลา และแม่น้ำ มาเนิ่นนานเกินกว่าใครสักคนจะคาดเดาวันเวลา



          อำเภอศรีสงครามจัดเป็นช่วง “ท้าย ๆ” ของแม่น้ำสงคราม หรือที่เรียกกันว่าลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง ด้วยสภาพที่แผ่กว้าง แบนราบ ใครสักคนที่นี่ว่าภูมิประเทศแบบนี้แสนเอื้อต่อการหาปลา เช่นนั้นอดีตของพรานปลาผู้ช้ำชองของลุ่มน้ำสงครามจึงหยั่งรากขึ้นที่นี่มากมาย ยามน้ำทรงแห่งปลายฤดูฝนจมป่าทามหายไปในระดับน้ำมาแล้วหลายเดือน สุรชัย ณรงค์ศิลป์ พบกับเราที่ริมตลิ่ง ผมเรียกชื่อจริงเขาแค่ตอนทำความรู้จัก โมงยามหลังจากนั้น เขาคือ “พ่อหนอก” ของเราและคนที่นี่

          “มื้อนี้น้ำหลาย ท่วมนาน” ขณะเรือท้องแบนทรงชะลูดค่อย ๆ ล่องออกไปเหนือผิวน้ำเรียบนิ่ง โลกตรงหน้าเปิดกว้าง ยากต่อการทำความรู้จักสำหรับคนที่เพิ่งมาเยือนเช่นเรา

          เราและพ่อหนอกออกมาวางตุ้มในยามเย็น หลายคนของบ้านท่าบ่อสงครามก็เช่นกัน พวกเขาพาอุปกรณ์หาปลาหลากหลายชนิด ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนมีที่มาจากไผ่กะซะ แรงมือ และทักษะอันน่าทึ่งในการคิดสร้างอุปกรณ์หาปลาที่เปลี่ยนเวียนชนิดไปตามฤดูกาล “หากมาหน้าน้ำลด จะหลายกว่านี้ ตอนนี้มีแต่เบ็ด มอง ตุ้ม” พ่อหนอกมี “มอง” หรือข่ายลูกโตแน่นท้ายเรือ จุดยาสูบขึ้นแดงวาบ พ่นควันสีนวลไปในอากาศขุ่น ๆ ผืนน้ำแผ่กว้างตรงหน้ากระจ่างตา “ป่าบุ่งป่าทาม” เหลือแต่ยอดอินทนิลน้ำให้เป็นสีสันม่วงสวย

          ยามนาทีนี้มวลน้ำหลอมจมป่าบุ่งป่าทามเบื้องล่างไว้ทั่วถ้วน หากเป็นหน้าน้ำลด ชายน้ำสงครามอันมีป่าบุ่งป่าทาม คือ “ลิ้นชัก” ชั้นดีที่พวกเขามักเข้ามาเสาะหาของกินนานา ทั้งหน่อไม้ เห็ด พืชผัก รวมไปถึงสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ “บ่มีไม้ตายในป่าทามหรอก ตอนน้ำท่วม ลดลงมันก็ฟื้น กลายเป็นแหล่งของกินของใช้” พ่อหนอกเล่าเพลิน ๆ ยามเราอยู่เหนือป่าทามสักผืนที่หากไม่ใช่คนที่นี่ ก็ยากจะจำทิศทางได้ เพราะมันคล้ายกันหมดยามป่าทามกลายเป็นทะเลสาบเช่นนี้

          ป่าบุ่งป่าทาม คือ ป่าไม้พุ่มผลัดใบลักษณะป่าดิบ ที่เรียกว่า “ป่าบึงน้ำจืด” เป็นป่าธรรมชาติอันเกิดจากกระบวนการน้ำไหลและทับถมของตะกอนแม่น้ำ บางจุดทับถมมากจนกลายเป็นที่ดอน ดินทามยังประกอบด้วยทรัพยากรหลายชนิด เช่น ไผ่กะซะ และพืชทนน้ำท่วมขังกว่า 100 ชนิด รวมถึงสัตว์อย่างเต่านา ไก่ป่า กระต่าง อีเห็น กระรอก กระแต หนู งู และนก นักวิชาการป่าไม้แบ่งป่าเช่นนี้ย่อยลงอีกถึง 3 ประเภท คือ ป่าน้ำท่วม ป่ากึ่งลุ่มกึ่งโคก และป่าโคก ป่าบุ่งป่าทามขึ้นได้ทั้งในสภาพน้ำหลากและแห้ง ทั้งยังสัมพันธ์กับการอพยพโยกย้ายของปลาถึง 298 ชนิดในฤดูกาลต่าง ๆ


          “ช่วงนี้ปลามันขึ้นจากน้ำโขงมาวางไข่ รอน้ำลดโน่น ถึงช่วงจับมาก ๆ มันกลับลงโขง” กว่า 170 กิโลเมตร ที่เชื่อมโยงกันจากปากน้ำสงครามที่ปลายโขงถึงศรีสงคราม ว่ากันว่าความหลากหลายของพันธุ์ปลามีมากกว่า 183 สายพันธุ์ ซึ่งพวกเขารู้จักมันหมด และส่วนใหญ่อยู่ในชื่อพื้นบ้าน เช่นเดียวกันกับพ่อหนอก พี่น้องบ้านท่าบ่อสงครามแอบเรือไว้ตามเรือนยอดของป่าบุ่งป่าทามที่โผล่พ้นน้ำ แนวไม้ไผ่ที่กระจายกันเสียดยอดทั่วผืนทะเลสาบกลาย ๆ ล้วนคือ “หมาย” ของใครของมัน บางคนวางตุ้มเกือบสิบลูกลงช้า ๆ เฝ้ารอที่จะมา “ยาม” หรือเก็บมันในรุ่งเช้าชีวิตเวียนวนอยู่เช่นนี้ทุกฤดูกาล



          เราเทียบเรือไปใกล้ ๆ ลุงคนหนึ่ง ในมือมี “ขี้เหล้า” หรือเหยื่อที่ใส่ไว้ในตุ้ม มันส่งกลิ่นโชยชัดตามลม “สูตรใครก็สูตรมัน ทั้งเหล้าหมัก ข้าวเหนียวนึ่ง หัวปลา” ลุงว่าขี้เหล้าของใครได้ผลเช่นไร มักมีคำตอบอยู่ที่ปลาตามตุ้มตามข้องในยามเช้า ยังไม่ทันต้องออกไปสู่เขตแม่น้ำสงคราม การงานช่วงน้ำทรงของคนศรีสงครามก็มากมายราวกับไม่มีที่สิ้นสุด ยามเย็นที่พวกเขาออกมาวางเบ็ดวางมองล้วนเฝ้ารอให้ถึงพรุ่งนี้ ฟ้าเริ่มสิ้นแสง ผู้คนในลำเรือกลายเป็นเงาดำอยู่ในผืนน้ำ พ่อหนอกพาเรากลับขึ้นฝั่ง ตามบ้านหลายหลังเรียงรายด้วยโอ่งและไหปลาแดก สะท้อนความต่อเนื่องจากในลำน้ำขึ้นมาสู่ชีวิตด้านบนเป็นทอด ๆ

          เมื่ออยู่ต่อหน้าโอ่งอันเรียงราย ผมคิดไปถึงคำว่า “วัฒนธรรมปลาแดก” ที่หลายคนให้คำนิยาม มันมักมีที่มาจากหมู่บ้านเล็ก ๆ ชายน้ำ ต่อยอดออกไปสู่สังคมชนบทแบบอีสาน และบางทีอธิบายได้ถึง “ภาพใหญ่” ของการติดต่อสัมพันธ์ของผู้คนหลายทิศทาง



          ปลาแดก หรือที่คนเมืองเรียกกันว่า ปลาร้า คนของลุ่มน้ำสงครามให้ความสำคัญกับมันมากในยามที่ “น้ำแดง” หรือท่วมอยู่นานนับเดือน การถนอมปลาไว้กินมากกว่าขายล้วนมีที่มายาวนาน “แต่ก่อนปลาแดกมีไว้กิน ใครขยันก็ย่างปลา ขี้เกียจหรือมีมากหลายก็ลงไหหมักเกลือทำปลาแดก” ย่ายายตามร้านปลาส้มเล่าในยามเย็น พวกเธอว่าเกลือจากหัวแฮด ในเขตบ้านท่าสะอาด อำเภอพรเจริญ ของหนองคายนั้น คือเกลือชั้นดีที่ต่างสืบทอดเชื่อโยงคนของลุ่มน้ำสงครามเข้าด้วยกัน ว่ากันว่าจุดที่เรียกกันว่าหัวแฮดนั้น คือจุดที่แม่น้ำสงครามเลี้ยวจากทิศเหนือมาสู่ตะวันออก มีตาน้ำที่ละลายเกลือออกจากชั้นหิน ผู้คนที่นั่นต้มน้ำเกลือจากบ่อจนเป็นเกลือสินเธาว์ด้วยเชื้อเพลิงจากป่าบุ่งป่าทาม และคนของสองพื้นที่ในลุ่มน้ำสงครามก็เชื่อมโยงกันด้วยการทำปลาแดก

          “แต่เดิมผู้เฒ่าผู้แก่เชื่อกันว่าเกลือหัวแฮดทำปลาแดกได้แซบกว่าที่อื่น เฮาก็ใช้กันต่อมา” ปลาส้มและส้มฟักที่กลายเป็นของดีของคนบ้านท่าบ่อสงครามก็มีที่มาไม่แตกต่าง คือผ่านจากเรี่ยวแรงในแม่น้ำ ฤดูกาล และการถ่ายทอดสั่งสมเปลี่ยนผ่านสู่วัฒนธรรมอาหาร ปลาแดกของพวกเขาเป็นปลาจำพวกเนื้ออ่อนอย่างปลานาง ปลาปีกไก่ ซึ่งไม่มีเกล็ด พวกเธอว่ามัน “นัว”…“พวกมีเกล็ดขี้มันขม ไว้เฮ็ดน้ำปลาสิดีกว่า”

          เราจมอยู่ในกลิ่นอันเป็นทิศทางหนึ่งของพวกเขาเนิ่นนาน มัวอวลอยู่ในหลายชนิดของกับข้าวมื้อเย็น หรือกลายเป็นส่วนผสมของปลาร้าบองเคียงคู่ข้างเหนียวในกระติ๊บของเด็ก ๆ ยามไปโรงเรียน พูดตามตรง สิ่งเหล่านี้คงอยู่มาแสนนาน จากสินค้า “ชั้นดี” ที่ตกทอดอยู่ในวัฒนธรรมการค้าขายจากแม่น้ำสู่กองเกวียนของคาราวานอีสานสู่วันที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของคนแห่งหมู่บ้านริมน้ำสายโบราณ มากไปกว่าคำว่าอยู่กิน เรื่องราวเหล่านี้อาจนิยามได้ถึงคำว่า “ตัวตน”



          ผ่านค่ำคืนไปสู่เช้ามืด ผมกลับมาที่ท่าน้ำของพ่อหนอกอีกครั้ง หลังจากยามเย็นเมื่อวานได้เห็นว่าพวกเขาฝากความหวังไว้ในตุ้ม ในมองไว้มากน้อยเพียงใด อากาศเช้าแสนชื่นสัมผัสได้ตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง ลมละมุนพัดเย็นพร้อมพี่น้องบ้านท่าบ่อสงครามที่ล่วงหน้าออกมาก่อนแล้ว ตรงโน้นลำตรงนี้ลำตามแนวไม้พ้นน้ำคือตุ้มและมองที่จมอยู่เบื้องล่าง พ่อหนอกแวะไปยามเบ็ดที่ทิ้งไว้ข้ามคืน ลุงบ้านข้าง ๆ ได้ปลาเต็มตุ้ม มันดิ้นขลุกขลักอยู่ในนั้น แกว่าเช้านี้คุ้มหลาย หากเทียบไปกับการวางตุ้มเกือบสิบลูกจากเมื่อวาน ในปีหนึ่งๆ มีหลายคำตอบให้คนของที่นี่ได้เรียนรับและปรับใช้พ่อหนอกว่าแม่น้ำก็มีวันเปลี่ยน และ “บนฝั่ง”

          “ไร่มะเขือเทศ สับปะรด ที่ปลูกส่งโรงงานนั้นมากด้วยสารพิษสารเคมีแน่นอน น้ำกับปลามันก็ต้องรับ” ในอีกบทบาทหนึ่งของนักวิจัยไทบ้าน พ่อหนอกและอีกหลายคนหันมาใส่ใจกับเรื่องราวใกล้ตัวเช่นนี้มากขึ้น เช่นนั้นคนศรีสงครามหลายหมู่บ้านจึงเกิดเครือข่ายเล็ก ๆ คอยดูแลแม่น้ำและบ้านของพวกเขา โครงการต่าง ๆ ล้วนได้รับการผลักดัน เช่น การแยกชนิดพันธุ์ปลา เฝ้าระวังกันเองในเรื่องการใช้อุปกรณ์ใหญ่ หรือแม้กระทั่งเดินทางออกไปเล่าเรื่องราวของคนแห่งแม่น้ำให้คนนอกรับรู้ในหลายครั้งคราว



          เรากลับเข้าฝั่งเมื่อควันไฟตามครัวลอยลำสีขาวพวยพุ่ง พร้อมกับปลาในฤดูน้ำล้นของคนบ้านท่าบ่อสงคราม หลายอย่างเฝ้ารออยู่ที่ริมฝั่ง ทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ที่นั่งสานตุ้มตามชานบ้าน แผงปลาสดในยามเช้า หรือเด็ก ๆ ความหวังจากในลำเรือล้วนกำลังเดินทางกลับไป “ขับเคลื่อน” อีกหลายเรื่องราวให้ดำเนินต่ออย่างคงทนและมีที่ทางของตนเอง เท่าที่โลกใบเล็กของพวกเขายังวิ่งหมุน

          2. ห่างออกมาตามเส้นทางมุ่งสู่อำเภออากาศอำนวยของอุดรธานี หมู่บ้านประมงเล็ก ๆ อีกแห่งของศรีสงครามก่อร่างความเป็นชีวิตอยู่ริมน้ำยาม-ลำน้ำสาขาหลักของแม่น้ำสงคราม ยามสายบ้านปากยามเงียบเชียบ สงบงามด้วยภาพที่หลายคนพยายามไขว่คว้าจะพบเห็นท่ามกลางโลกปัจจุบัน ตามใต้ถุนเรียงรายอยู่ด้วยเครื่องมือจับสัตว์น้ำนานา รอการใช้อันเหมาะสมกับฤดูกาล

          ตุ้มเอียนทรงสวยที่ไว้ดักปลาไหลตามตลิ่งโคลนก่ายกอง แงบ-ผิวไผ่สานเป็นกับดักไว้รอกบในนาห้อยเป็นพวง เฒ่าชราตรวจตราความเรียบร้อยของมันก่อนที่จะให้หลาน ๆ หิ้วมันออกไปวาง “หน้าน้ำล้นเป็นช่วงหาปลาเล็ก ๆ ครับ คอยซ่อมแซมเครื่องมือตระเตรียมรองานใหญ่ยามน้ำลด” สุริยา โคตะมี เล่าให้เราฟังเมื่อผมมาถึงหมู่บ้านแห่งพรานปลาลุ่มน้ำสงคราม สักพักผมก็เรียกแกว่า “อ้ายข้อง” โดยใจสวรรค์โคตะมี

          คู่ชีวิตชวนดื่มน้ำในขันเงิน เธอดูจะอิ่มใจยามผมและเพื่อนดื่มน้ำใจของเธออย่างชื่นเย็น เช่นเดียวกับบ้านท่าบ่อสงคราม บ้านปากยามหมุนวนคืนวันอยู่ด้วยแม่น้ำ หมู่ปลา และการหากิน “ที่นี่ไม่ได้ใช้ตุ้มหรือมองมากนัก เราหาปลาใหญ่กันมากกว่า” อ้ายข้องเสียดายที่เราไม่ได้มายามน้ำลด ผมหมดโอกาสจะได้เห็นโต่ง-โพงพางขนาดใหญ่ที่ว่ากันว่ายามน้ำลง พวกเขายื่นมันออกไปครึ่งแม่น้ำสงคราม นาทีนี้ตามหมู่บ้านคล้ายกำลังอยู่ในช่วงบำเพ็ญภาวนา ตามใต้ถุนบ้านคือตุ่มปลาแดกและน้ำปลาเรียงรายรอวันได้ที่ ตามที่นาทีไม่ได้ถูกน้ำท่วม ฝูงวัวไล่เล็มหญ้าเพลินอารมณ์ ข่ายความยาวหลายสิบเมตรสำหรับทำโต่งถูกขึงบนบก ตรวจตราซ่อมแซม ทาน้ำมันเบนซินเพื่อไม่ให้เกิดตะไคร่กินง่าย ๆ พวกเขาว่าโต่งลูกหนึ่งลงทุนหลายหมื่น แต่ก็แสนคุ้มยามมันหาปลาให้พวกเขาได้ถึงสองปี

          “ยกโต่งมื้อหนึ่ง ถ้าปลาติดมาก ๆ ก็เป็นพันเป็นหมื่นละ” อ้ายข้องว่าถึงความคุ้มของมันยามที่คนหาปลาบ้านปากยาม และรายรอบเริ่มเอาโต่งลงเรือและออกไปตามวังน้ำ “ช่วงน้ำไหลลงโขงนี่ล่ะ คนศรีสงครามไม่เป็นอันพักผ่อน เช้า บ่าย เย็น อยู่แต่ในแม่น้ำ”



          โต่งที่กว้างราว 20 เมตร ยาวเกือบ 40 เมตร และสูงราว 4 เมตร ยื่นออกไปทีกินความกว้างเกือบครึ่งแม่น้ำ คือภาพที่คนแม่น้ำสงครามเคยชินและยินดีจะเรียนรู้มัน โดยเฉพาะคนรุ่นเก่าอย่างอ้ายข้อง ถึงแม้ว่าทางราชการหรือคนภายนอกจะบอกว่ามันคือการหาปลาแบบ “ทะลักทลาย” ทว่า น่าแปลกที่คนที่นี่เข้าใจเรื่องการอนุรักษ์และดูแลอย่างเป็นรูปธรรมมาก่อนที่จะให้ใครเข้ามาบอก

          “ทางการเขาก็มาทำลายโต่ง ทำลายกัดที่ขึงดักปลาเล็กปลาน้อย เขาว่ามันทำให้ปลาหายไปทีละมาก ๆ แต่เรารู้ละว่า หาเมื่อไหร่ ยามไหนใช้อะไรหา ใช้ตุ้ม ใช้ไซ เอาพอกินพออยู่ป่าทาม แม่น้ำ หมู่เฮาก็เคารพดูแลกันเอง กำหนดเอาคร่าว ๆ ก็หลัง 15 กันยายนของทุกปี ที่หมดฤดูปลาวางไข่ พวกมันล่องกลับโขงเมื่อไหร่ก็ถึงเวลาของเรา ดูปลาที่เริ่มบ้วนน้ำนั่นละ แปลว่าระดับน้ำเริ่มได้ มันเริ่มไหลลง” พรานปลาชราว่า ใครจะมาเข้าใจแม่น้ำเท่าคนที่ลืมตาเห็นมันตลอดช่วงชีวิต

          หากไม่ลงมาในลำน้ำเดียวกันและทำความเข้าใจ ดูเหมือนหลายคนจะมองแม่น้ำไปคนละทิศทาง บ้านปากยามมีภูมิประเทศอันแสนเอื้อต่อการมีอยู่ของพรานปลาและผู้คนของแม่น้ำ มีแม่น้ำสงครามอยู่ทางด้านตะวันตก น้ำยามอันเป็นลำน้ำสาขาไหลมาจากตะวันออก และล้อมไปออกแม่น้ำสงครามทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ทิศใต้เป็นสายห้วยเอี่ยน ยามน้ำลดหรือน้ำล้อมก็มากมายความสมบูรณ์ วิถีประมงและการทำปลาแดกสืบต่อจากการเป็นเมืองท่าล่องซ้อขายสินค้าในอดีต แม้การสัญจรเปลี่ยนรูปแบบไปไม่หวนคืน แต่คนที่นี่กลับหันหน้าลงแม่น้ำสายเดิมที่เคยหล่อหลอมพวกเขามารุ่นต่อรุ่น

          “จะไปไหนได้ เลี้ยงลูกหลานก็ด้วยปลา” อ้ายข้องนั่งอยู่ริมน้ำยามเตรียมปลาเล็กให้หลานออกไปวางเบ็ดในบ่ายที่จะมาถึง เราลงเรือลำใหญ่ขนาดที่รองรับโต่งได้ยามน้ำลด ล่องออกไปวางเบ็ดกับจตุพร อุดทุมธิสาร นาทีที่อยู่เหนือป่าทามหนองใต้ของบ้านปากยามแดดบ่ายหลบหลังม่านเมฆ สองชั่วโมงกลางความเวิ้งว้างยามดเขาปัก แนวไผ่ยาวร่วมร้อยเมตร ผูกเบ็ดเป็นร้อยตัวไปบนความยาวของเอ็นและค่อย ๆ เกี่ยวปลาเล็กทีละตัว ห้วงยามนั้น คำตอบที่ว่าเรารู้จักที่มาของตัวเองดีแค่ไหนเริ่มคลี่คลาย

          “ผมเองกลับจากเมืองหลวงเพราะไม่ไหว มันเหนื่อย” ทั้ง ๆ ที่เรียนจบอนุปริญญา แต่หนุ่มช่างกลไฟฟ้าอย่างเขากลับเลือกทิศทางที่คนรุ่นปู่ย่าวางเอาไว้ มากกว่าจะบ่ายหน้าไปสู่เมืองอันห่างแม่น้ำ ชีวิตตามริมน้ำ ห้วยหนอง ว่าไปมันก็ทรหดและห่างไกลคำว่าสะดวกสบาย “แต่หายใจแล้วโล่งครับ อย่างไรก็มีกิน” เราทำความรู้จักกันในลำเรือที่ลอยนิ่งร่วมสองชั่วโมง บางสนทนาเขาบอกให้ผมดูรอบ ๆ ตัว “หนู งู ขึ้นตามดอน น้ำจะท่วมครับ นกอพยพมาเมื่อไหร่ก็เข้าหนาวน้ำลง หาปลาได้” มันน่าทึ่งไม่น้อยที่คน “รุ่นใหม่” สักคนจะหันหน้ากลับหาทิศทางเดิมที่กำลังค่อย ๆ หายสูญ ดูเหมือนชีวิตที่พยายามทำความเข้าใจตัวเองอาจต้องขัดเกลาด้วยฤดูกาลอีกหลายห้วงตอน



          3. แม่น้ำสงครามงดงามเพียงใด หากไม่นับยามที่ผมอยู่ที่อำเภอศรีสงคราม ทอดมองความกว้างใหญ่องผืนน้ำ มี “กระดุ้ง” แพที่มียอขนาดใหญ่อยู่ด้านบนและเป็นทั้งบ้านหลับนอน ย้อมแสงเย็นเป็นฉากหน้าเล่าเรื่องราวยามตะวันลับ พิกัดตรง “ปลายน้ำ” แถบอำเภอท่าอุเทน นั้นคืออีกภาพที่ไม่อาจลืมเลือน

          การเดินทางของแม่น้ำสงครามจากภูพานกว่า 420 กิโลเมตร สิ้นสุดลงที่บ้านไชยบุรี หลอมรวมกับสายน้ำโงอันอุ่นเอื้ออารี ภาพปากน้ำแผ่กว้าง ฉากหลังคือแขวงคำม่วนของลาวลิบตาอยู่อีกฟาก สะท้อนการอยู่ร่วมของผู้คน สายน้ำและแผ่นดิน ทั้งหมดดูกลมกลืนลบหายนิยามของคำว่าพรมแดน

          รุ่งเช้าที่ใครสักคนยาม “โทง” อุปกรณ์หาปลาที่มีทรวดทรงอ่อนช้อย ทว่า ขนาดที่ใหญ่โตเท่าผู้ชายกำยำยืนต่อคอกันสองคนนั้นแสนน่าทึ่ง ข้างในล้นหลามด้วยปลาขนาดกลางแม้เป็นฤดูน้ำมาก หากไม่นับว่าคือสิ่งสะท้อนการต่อสู้ เอาชนะ และเรียนรู้จะอยู่ร่วมกันกับสภาพรายล้อม

          นาทีที่ยืนมองระดับน้ำเอ่อท้นทั้งแม่น้ำสงครามและสายน้ำโขง ภาพคนยามโต่ง ยกสะดุ้งหรือวางโทง ที่ว่ากันว่ายามน้ำลงตรงปากน้ำไชยบุรีนี้ราวกับงานหฤหรรษ์ ยังคงเลือนรางอยู่ในจินตนาการ หากแต่ในดวงตาและความเป็นคนของแม่น้ำสงครามของพวกเขา คล้ายภาพที่เห็นกำลังขับเคลื่อนเดินทางอยู่ใต้มวลน้ำ เยี่ยงเดียวกับฝูงปลาและการหลากไหล เป็นภาพชัดเจนของผู้คน แม่น้ำ และแผ่นดิน อันสะท้อนถึงที่มาในการมีอยู่ของพวกเขาเองอยู่อย่างเปี่ยมชัด

คู่มือนักเดินทาง

          อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม คืออำเภอที่แม่น้ำสงครามไหลผ่านและสะท้อนภาพความเป็นเมืองประมงแห่งลุ่มน้ำสงครามได้เด่นชัด ด้วยสภาพแม่น้ำที่กว้าง ราบ รวมไปถึงป่าบุ่งป่าทามที่มีพื้นที่มาก ผู้คนมากไปด้วยวัฒนธรรมการประมงและดำรงชีพ การจะรู้จักลุ่มน้ำสงครามให้เห็นภาพจึงควรมาที่อำเภอศรีสงครามเป็นที่แรก

การเดินทาง

          จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ถึงสระบุรี บริเวณกิโลเมตรที่ 107 แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ผ่านนครราชสีมา ถึงอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 23 ผ่านมหาสารคาม แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 213 สู่จังหวัดกาฬสินธุ์ ขึ้นภูพาน ผ่านจังหวัดสกลนคร จากนั้นช้างหลวงหมายเลข 22 มุ่งหน้าไปที่บ้านท่าแร่ แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2132 มุ่งหน้าสู่อำเภอศรีสงคราม รวมระยะทางราว711

          แวะไปเที่ยวบ้านท่าบ่อสงคราม เที่ยวชมหมู่บ้านประมงริมแม่น้ำสงคราม แวะซื้อปลาร้า ส้มฟัก และปลาส้ม อันเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพดีของกลุ่มแม่บ้านท่าบ่อสงคราม

          มีเวลาไปเที่ยวหมู่บ้านปากยาม หมู่บ้านชาวประมงขนาดใหญ่ที่มากมายด้วยเรื่องเล่า เครื่องไม้เครื่องมือจับปลาอันน่าทึ่ง รวมไปถึงวิวแม่น้ำสงครามอันงดงาม

          ออกจากอำเภอศรีสงคราม ใช้ทางหลวงหมายเลข 2032 มุ่งหน้าอำเภอท่าอุเทน จากนั้นแยกไปเข้าทางหลวงหมายเลข 212 ไปเที่ยวบ้านไชยบุรี ที่นั่นมีวิวแม่น้ำสงครามไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 52 ฉบับที่ 4 พฤศจิกายน 2554


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แม่น้ำสงครามท่ามกลางฤดูชีวิต อัปเดตล่าสุด 5 มกราคม 2555 เวลา 14:07:19 8,637 อ่าน
TOP