x close

อัมสเตอร์ดัม มากกว่าแค่ไปเที่ยว

อัมสเตอร์ดัม
อัมสเตอร์ดัม

อัมสเตอร์ดัม มากกว่าแค่ไปเที่ยว (กรุงเทพธุรกิจ)


          อัมสเตอร์ดัม ในมุมมองของคนทั่วโลก อาจแตกต่างกันไปตามภูมิหลังประสบการณ์ แต่อย่างน้อยที่สุด เสน่ห์ประการหนึ่งของที่นี่ ซึ่งทุกคนเห็นพ้องร่วมกัน คือการผนวกเอารากเหง้าแห่งอดีต ให้หลอมรวมกับยุคสมัยปัจจุบันได้อย่างลงตัว ด้วยเสรีภาพที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบ และยอมรับถึงการดำรงอยู่ของบางสิ่งบางอย่าง ด้วยจิตใจที่เปิดกว้างเพียงพอ

          "อะไรทำให้คุณหลงรักเมืองนี้" นักท่องเที่ยวจากแผ่นดินสยามเอ่ยขึ้น ทันทีเมื่อรู้ว่า เจนนี บริกรสาวหน้าใสในร้านอาหารไทยย่านเฮเรนสครัทช์ เป็น "ออสซี" ที่ดร็อปเรียนชั่วคราว แล้วเดินทางข้ามมหาสมุทรมาแสวงหาความหมายของชีวิตนอกห้องเรียน ไกลถึงหลายๆ เมืองในยุโรป

          "มันเป็นเมืองที่ออกแบบมาให้อยู่โดยเฉพาะ ทุกอย่างเป็นไปโดยสะดวก ไม่ว่าคุณจะเรียน หรือทำงาน คุณจะไปเสพศิลปะตอนกลางวัน หรือไปงานปาร์ตี้ตอนดึก มันเป็นเมืองขนาดกำลังดีที่เข้าถึงได้ง่าย แค่เพียงคุณมีแรงปั่นจักรยานเท่านั้น" เจนนี บอกพร้อมเสริมว่า หากเลือกได้ เธอคิดจะใช้ชีวิตอยู่ที่นี่มากกว่าที่อื่นๆ ที่เคยเดินทางไป

          ในอัมสเตอร์ดัม มีจักรยานราว 600,000 คัน เมื่อเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ ทั้งรถไฟ รถราง รถเมโทร รถเมล์ และการสัญจรทางน้ำ แทบไม่ต้องแปลกใจว่าคนเมืองนี้ใช้พลังงานกันอย่างคุ้มค่าจริงๆ เช่นเดียวกันกับไลฟ์สไตล์ของคนท้องถิ่นที่นี่ เน้นความเรียบง่าย และค่อนข้างติดดิน มากกว่าความหรูหราฟุ่มเฟือย อย่างที่เราพบเห็นในมหานครอย่าง ลอนดอน หรือ ปารีส ประกอบกับธรรมชาติของชาวดัตช์ มีความเป็นมิตรสูง ใช้ภาษาอังกฤษคล่องแคล่วในทุกๆ ระดับ จึงให้ความรู้สึกผ่อนคลายแก่ผู้มาเยือนไม่น้อย


อัมสเตอร์ดัม
อัมสเตอร์ดัม

ลัดเลาะถิ่นโคมแดง

          หลังจากการเดินทางอันยาวนาน ประโยคแรกๆ ที่เพื่อนร่วมทางในคณะเดินทางถามไถ่ขึ้น เมื่อเท้าสัมผัสแผ่นดินอัมสเตอร์ดัม คือการลัดเลาะไปชมสีสันของตู้กระจกในย่านเร็ดไลท์ หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่าเป็น "หน้าต่าง" (Windows) นั่นเอง

          ขณะที่ชื่อพัฒน์พงศ์หรือพัทยา อาจทำให้เรารู้สึกอายหรือหน้าชาขึ้นเล็กน้อย เมื่อมีนักท่องเที่ยวสักคนถามไถ่ขึ้นมา แต่ย่านเร็ดไลท์ (Red Light District) ของอัมสเตอร์ดัม กลับเป็นประกาศ "นโยบาย" อย่างชัดแจ้ง ข้อดีน่าจะมีอยู่บ้าง ตรงที่ทำลายวัฒนธรรม "ปากว่า ตาขยิบ" ให้มลายหายไป และยิ่งกว่านั้น พื้นที่ของพวกเขาในเรื่องนี้กลับ "น้อยนิด" กว่าสภาพความจริงที่ดำรงอยู่ในบ้านเราเป็นไหนๆ

          พวกเขาเริ่มต้นจากการยอมรับความจริง ตามด้วยการบริหารจัดการที่เหมาะสม (ใน City Guide ของ Lonely Planet ระบุสถิติว่า ชาวดัตช์ถึง 78 เปอร์เซนต์ ไม่เห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาแต่อย่างใด !) 

          ย่านเร็ดไลท์ มีอยู่ด้วยกันราว 380 ตู้ (ห้อง) ประมาณการกันว่ามีหญิงบริการสลับหมุนเวียนกัน "เช่า" เพื่อใช้งานราว 1000-1200 คนต่อวัน (แบ่งออกเป็นช่วงกลางวัน, ค่ำ และตอนดึก) โดยถือเป็นพื้นที่ควบคุมที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์อนุญาตให้มีการค้าประเวณี อย่างถูกกฎหมายมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1810 และดูเหมือนว่าทุกอย่างจะเป็นไปอย่างเรียบง่ายตามสไตล์ดัทช์เสียด้วย

          ข้อเตือนนักท่องเที่ยวเมื่อเหยียบย่างมาในบริเวณนี้ก็คือ อย่าเผลอไปถ่ายภาพคุณเธอโดยเด็ดขาด ด้วยการตรวจตราผ่านกล้องวงจรปิด หากคุณยกกล้องขึ้นมาถ่ายภาพ สักครู่หนึ่งอาจได้พบเจ้าหน้าที่ตำรวจในชุดเครื่องแบบสีฟ้าเดินมาหา พร้อมขอความร่วมมือให้เก็บกล้อง เนื่องจากไม่อาจรับประกันได้ว่า จะมี "คนในพื้นท" มาขอภาพคืนหรือไม่

          ย่านเร็ดไลท์ตั้งอยู่ใจกลางเมืองอัมสเตอร์ดัม ติดกับย่านเมืองเก่าและตลาดนิวมาร์เก็ต และไม่ห่างจาก Damrak นัก ในพื้นที่นี้คราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว ร้านอาหาร บาร์ รวมถึง "คอฟฟีช็อป" ซึ่งในความหมายของชาวดัตช์ คือร้านที่มีใบอนุญาตให้เปิดจำหน่ายพืชพันธุ์ที่สูบได้

          แน่นอน กลิ่นอบอวลไปทั่วบริเวณนั้น ให้บรรยากาศเฉพาะตัวไม่เหมือนที่ไหนจริงๆ

          บริเวณหน้ากระจกของแต่ละช่องหน้าต่าง มีผู้ให้บริการหลากหลาย ทั้งสีผิว ขนาดรูปร่าง และวัยแตกต่างกัน ส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการที่มาจากต่างแดน มีเพียง 5 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่เกิดในประเทศนี้ พวกเธอแต่งกายเชิญชวนให้ลูกค้าเข้าไปสัมผัส บางคนกำลังเปิดประตูเจรจาตกลงค่าตอบแทนกันตามใจชอบ (สนนราคาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 40-50 ยูโร สำหรับระยะเวลา 15-20 นาที) ขณะที่หลายๆ ห้องปิดม่านเอาไว้ แสดงว่า ไม่ว่าง-กำลังให้บริการลูกค้าอยู่ (Occupied)

          ในพื้นที่ไม่ไกลจากนั้น ยังมีร้านค้าให้บริการสินค้าเกี่ยวกับความสุขทางเพศรสในรูปแบบต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นได้เปิดหูเปิดตา สินค้าเหล่านี้มิได้มีเพียง "ของเล่น" หรือ "สิ่งลามกอนาจาร" ในมุมมองของกฎหมายไทยเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงชุดชั้นใน แอสเซสซอรี และคอสตูมต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบกิจกรรมส่วนตัวของมนุษย์ที่ปรุงแต่งขึ้น มีตั้งแต่ขั้นธรรมดาจนถึงขั้นพิสดารเลยทีเดียว


อัมสเตอร์ดัม
อัมสเตอร์ดัม

เสพศิลป์-เยือนพิพิธภัณฑ์

          หลังจากท่องย่านเร็ดไลท์มาสักพัก ก็ถึงเวลานั่งจิบกาแฟกัน ในพื้นที่ป้อมเก่า Waag (วาค) มีร้านกาแฟ (คาเฟ ไม่ใช่ ค็อฟฟีช็อป นะครับ) ดีๆ หลายแห่ง เช่น Café Cuba ที่มีรูปดาวแดงและเช เกวารา ปรากฏพร้อมกับการตกแต่งแบบทรอปปิคอลย้อนยุค หรือจะเป็น Waag Café ร้านกาแฟในอาคารโบราณ 500 ปี ซึ่งพาเราสู่โลกสมัยใหม่ด้วยเครื่องดื่มเท่ๆ, คลับแซนวิช และอินเตอร์เน็ท Wi-Fi เป็นต้น

          เป็นที่สังเกตว่า ในช่วงฤดูร้อน ที่เต็มไปด้วยแสงแดดแรงๆ ชาวยุโรป ทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวต่างพอใจจะนั่ง "เบิร์น" ตัวเองเป็นว่าเล่น แต่คณะเดินทางจากเมืองร้อนอย่างเรา เลือกหลบแดดนั่งหาความเย็นกันภายใน พักเอาแรงด้วยเครื่องดื่มดีๆ สักแก้ว ก่อนจะขยับตัวมุ่งหน้าไปยังย่าน มิวเซียมแพลน (Museumplein) ถิ่นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งว่ากันว่า เมืองนี้มีให้ดูไม่รู้จบ ไม่ว่าเรื่องอะไรก็เป็นพิพิธภัณฑ์ได้หมด (ยกตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์อีโรติค นั่นไง)

          เส้นทางจาก แดมรัค เราเดินไปทางทิศตะวันตก โดยขึ้นรถรางสาย 2 หรือ 5 ซึ่งจะถึงด้านหน้าของ ไรจ์คส์ มิวเซียม พอดี

          แต่ก่อนนั้น ตั๋วรถรางที่ใช้กัน เรียกกันว่า "สตริปเปน การ์ด" เพราะเวลาใช้ต้องบันทึกลงในช่องว่างตามโซนที่เดินทางไป ถึงวันนี้กำลังจะเลิกใช้แล้ว เนื่องจากระบบขนส่งมวลชนของเนเธอร์แลนด์ เริ่มเปลี่ยนมาใช้ “โอวี-ชิพการ์ท” ซึ่งเป็นคล้ายๆ สมาร์ทการ์ดที่คนท้องถิ่นใช้เติมเงินแล้วหักยอดเงินไปเรื่อยๆ และสามารถใช้ข้ามระบบต่างๆ ได้อย่างสะดวก เช่น ขึ้นรถรางไปต่อรถเมล์ หรือรถใต้ดิน metro เป็นต้น

          สำหรับนักท่องเที่ยวสามารถซื้อ "โอวี-ชิพการ์ท" (OV-Chipkaart) แบบไม่ติดรูปถ่ายได้เช่นเดียวกัน ในลักษณะของ "ตั๋ววัน" (Day Ticket) ซึ่งควรวางแผนเลยว่าจะใช้เดินทางกี่วัน แล้วซื้อหาที่จุดให้บริการด้านหน้า "เซ็นทรัล สเตชั่น" ให้เสร็จสรรพ ไม่เช่นนั้นอาจจะลำบากในการแลกเงินซื้อตั๋ว เพราะเครื่องขายบัตรอัตโนมัติที่นี่ ไม่รับธนบัตร รับเฉพาะเหรียญเท่านั้น

          ในกรณีมีเวลาชมพิพิธภัณฑ์ และต้องการชมหลายๆ แห่งในแต่ละวัน จะคุ้มค่ากว่าหากคุณซื้อบัตร "I AmSterdam" ซึ่งจะรวมทั้งค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งมวลชน และการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ต่างๆ กว่า 100 แห่งเข้าไว้ด้วยกัน โดยปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์ต่างๆ เก็บค่าเข้าชมระหว่าง 7-10 ยูโร (ในจำนวนนี้มักมีค่าบริการอีก 1 ยูโร)

          น่าเสียดายว่า พิพิธภัณฑ์ใหญ่อย่าง ไรจ์คส์ มิวเซียม (Rijks Museum) ซึ่งเป็นเสมือนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่บรรจุภาพเขียนกว่า 5,000 ภาพ และชิ้นงานกว่า 30,000 ชิ้น ยังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงอาคาร "นีโอ-โกธิค" เก่าแก่มานานหลายปีแล้ว คาดว่าจะเปิดเต็มที่ในปี ค.ศ.2010

          ปัจจุบันที่นี่จึงเปิดเฉพาะในส่วนของ "ฟิลิปส์ วิง" เท่านั้น โดยไฮไลท์ในส่วนนี้ เห็นจะหนีไม่พ้นบรรดาของใช้ประดามีจากยุคเก่าก่อน จนถึงยุคล่าอาณานิคม ซึ่งถือเป็นยุครุ่งเรืองของฮอลแลนด์ และภาพเขียนยุคคลาสสิกของจิตรกรชาวดัตช์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Nightwatch ของ เรมบรันท์

          ขณะที่ พิพิธภัณฑ์ แวน โก๊ะห์ (Van Gogh Museum) เป็นสถานที่เก็บผลงานของ วินเซนต์ แวน โก๊ะห์ รวบรวมโดยน้องชายของเขา ธีโอดอร์ ถือเป็นอีกแห่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาด (แม้งานระดับมาสเตอร์พีซบางชิ้น จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์อื่น ประเทศอื่นก็ตาม) พิพิธภัณฑ์นี้เปิดมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1973 มีภาพวาดราว 200 ชิ้น และภาพร่าง 500 ชิ้น เกือบทั้งหมดเป็นผลงานของ แวน โก๊ะห์ และยังมีบางส่วนเป็นผลงานของจิตรกรร่วมยุคสมัยเดียวกัน อาทิ เช่น โมเนท์ และ โกแกง รวมอยู่ด้วย

          สำหรับใครก็ตามที่เคยอ่านบันทึกของ แอนน์ แฟรงค์ เด็กสาวชาวยิวที่หลบซ่อนอยู่ในอาคารแห่งหนึ่ง ยุคที่กองทัพนาซียึดครองเมืองอัมสเตอร์ดัม ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ย่อมไม่พลาดที่จะไปสัมผัสสถานที่จริงที่เธอหลบซ่อนอยู่

          ด้วยเนื้อที่ขนาดไม่ใหญ่โตนัก แต่ด้วยฝีมือของภัณฑารักษ์ ณ บ้านแอนน์ แฟรงค์ ทำให้ที่นี่สามารถนำเสนอภาพชีวิต และความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านสื่อมัลติมีเดีย และเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้ผู้มาเยือนมองเห็นภาพที่ผ่านมาได้ชัดเจนยิ่ง

          แม้เวลาผ่านมานานกว่า 5 ทศวรรษ กลิ่นอายของความโหดร้ายรุนแรง และความน่าสะพรึงกลัวยังครอบงำอาคารหลังนี้ ชนิดที่ทุกคนสัมผัสได้

          ทุกวันนี้ Anne Frank Huis ไม่เพียงเป็นพิพิธภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังทำงานร่วมกับองค์กรระดับนานาชาติหลายแห่ง เพื่อถอดบทเรียนอันเจ็บปวดนี้ และเคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อมิให้มีการแบ่งแยก เหยียดสีผิว เชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์อีกต่อไป


อัมสเตอร์ดัม


ฟังดนตรีที่ คอนเสิร์ต เคอะบาว

          หลังจากนั่งรถราง รถเมล์ ชมเมืองไปทั่วแล้ว ก็ถึงคิวของการขี่รถจักรยาน หรือการล่องเรือไปตามคลอง ซึ่งอัมสเตอร์ดัม ถือเป็นทั้งเมืองจักรยาน หรือเมืองสีเขียวสำหรับโลกยุคใหม่ และในอดีตเคยเป็นเมืองที่มีคลองสำหรับการสัญจร และการขนส่งสินค้า

          เรือที่ให้บริการท่องลำคลอง จะมีเนื้อหาบรรยายถึงพัฒนาการของเมืองนี้ ยุคก่อนการสร้างถนน โดยมองผ่านวงจรของคลอง (Canal Ring) ที่เชื่อมโยงกัน ตลอดจนถึงอาคารสถาปัตยกรรมริมคลองต่างๆ ด้วยความพยายามในการอนุรักษ์ด้านหน้าของอาคารอายุกว่า 100-150 ปีเอาไว้ ทำให้นักเดินทางที่มีจินตนาการอยู่บ้าง พอจะมองเห็นเงาแห่งอดีตอันงดงามของอัมสเตอร์ดัมได้ไม่ยาก

          อาคารที่มีการอนุรักษ์กันอย่างมาก คือ Concert-Gebouw หรือ คอนเสิร์ตเคอะบาว สถานที่สำหรับแสดงคอนเสิร์ตต่างๆ แบ่งออกเป็น ฮอลล์ใหญ่ และฮอลล์เล็ก ซึ่งได้รับการยกย่องว่าสภาพอะคูสติคในฮอลล์ดีมาก โดยให้คุณภาพเสียงเฉลี่ยดีเท่าๆ กันเกือบทุกจุด

          ที่นี่ยังเป็นบ้านของ The Royal Concertgebouw Orchestra อันโด่งดังอีกด้วย สำหรับแฟนเพลงคลาสสิกที่ปรารถนาจะลองฟังวง เดอะ รอยัล คอนเสิร์ตเคอะบาว ออร์เคสตรา สักครั้งในชีวิต ควรหลีกเลี่ยงช่วงฤดูร้อน (กรกฎาคม-สิงหาคม) ที่ทางวงจะหยุดการบรรเลง 2 เดือน แล้วกลับมาเปิดฤดูกาลแสดงใหม่ในเดือนกันยายน

          ถึงกระนั้น แม้จะมีระยะเวลาที่ว่างเว้น แต่ตัว "คอนเสิร์ตฮอลล์" ยังทำหน้าที่มอบเสียงเพลงให้ชาวอัมสเตอร์ดัมและเหล่าอาคันตุกะอย่าง สม่ำเสมอในทุกๆ คืน ด้วยการแสดงของศิลปินรับเชิญจากที่ต่างๆ ของโลก เช่น ในคืนหนึ่งที่คณะแฟนเพลงแจ๊สชาวไทยมีโอกาสได้ชม คือการแสดงของวง เดอะ บรัสเซลล์ ฟิลฮาร์มอนิก ออร์เคสตรา บรรเลงซิมโฟนี "ฟรอม เดอะ นิว เวิลด์" ของ ดโวชาร์ค เป็นต้น

          สนนราคาตั๋วชมคอนเสิร์ตคลาสสิกของวงฟุลออร์เคสตรานี้ อยู่ที่ 24 ยูโร หรือราวๆ หนึ่งพันกว่าบาทเท่านั้น (คอนเสิร์ตอื่นอาจมีราคาเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไข) โดยทุกๆ ที่นั่งขายราคาเดียวกัน ทำให้ผู้จองก่อนสามารถเลือกที่นั่งได้ก่อน (www.concertgebouw.nl) นอกจากนี้ ตามโรงแรมที่พักต่างๆ ยังมี “มินิการ์ด” เป็นโปรโมชันให้นักท่องเที่ยวที่สนใจชมในวันนั้นๆ สามารถซื้อได้ในราคาลด 25 เปอร์เซนต์อีกด้วย (หากมีที่นั่งเหลือเพียงพอ)

          สำหรับนักท่องเที่ยว การเยือนอัมสเตอร์ดัมสักครั้ง หมายถึงการหยิบฉวยวันเวลาแห่งความสุข และโอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าในทุกด้าน เช่น การเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ในเวลากลางวัน, ฟังดนตรีคลาสสิก หรือแวะเวียนตามบาร์ที่มีดนตรีทุกๆ แนวให้เลือกในยามค่ำคืน เป็นการท่องเที่ยวที่สมบูรณ์แบบ นอกเหนือไปจากการชมกังหันลม โรงงานทำชีส โรงงานทำรองเท้าไม้ หมู่บ้านชาวประมง หรือดอกทิวลิปเป็นไหนๆ

          "ฉันชอบเมืองนี้ เพราะไม่ว่าเราจะเป็นนักท่องเที่ยว หรือคนทำงานอยู่ที่นี่ เราก็มีโอกาสใช้ชีวิตในแบบที่เหมาะสมได้พอๆ กัน" เจนนี บริกรสาวหน้าใสทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม


อัมสเตอร์ดัม
อัมสเตอร์ดัม

ฟังแจ๊ส ดูกังหันลม

          AHOY คือสถานที่สำหรับการแสดงดนตรี โดยมีพื้นที่รองรับคอนเสิร์ตต่างๆ ในหลายๆ เวทีด้วยกัน นอกจากการแสดงเดี่ยวของศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลกแล้ว ที่นี่ยังเป็นบ้านใหม่ของ "นอร์ธ ซี แจ๊ส เฟสติวัล" ที่มีชื่อเสียงในการเป็นเทศกาลแจ๊สอินดอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย

          AHOY มีโลเคชั่นอยู่ชานเมือง คล้ายๆ กับ อิมแพคอารีนา เมืองทองธานี แต่น่าจะใหญ่กว่าหลายเท่า ด้วยการวางแผนด้านคมนาคมอย่างยอดเยี่ยม ที่นี่จึงไม่มีปัญหารถราติดขัด ในแต่ละคราวที่จัดงานใหญ่ๆ

          AHOY อยู่ทางตอนใต้ของเมืองร็อตเตอร์ดัม คนดัตช์เรียกพื้นที่นี้ว่า "เซาด์แพลน" (Zuidplein) ซึ่งน่าจะใกล้เคียงกับคำอังกฤษว่า South Plan

          มาเมืองกังหันลมทั้งที คอเพลงชาวไทยหลายคนบ่นอยากเห็นกังหันลม เลยนึกขึ้นได้ว่า ที่เซาด์แพลน มีรถเมล์สาย 90 เดินทางไปเมืองอูเทรคท์ จะผ่าน "คินเดอร์เด็ก" (kinderdijk) กังหันลมโบราณ 19 ตัว ที่ทาง ยูเนสโก ประกาศให้เป็น "มรดกโลก"

          กังหนลม สะท้อนถึงภูมิปัญญาของชาวดัตช์ในการจัดการทรัพยากรน้ำที่น่าสนใจยิ่ง และปัจจุบัน กังหันลมโบราณเหล่านี้ยังทำหน้าที่ของมันไปตามสภาพ (ทราบมาว่ามีตัวหนึ่งประสบเพลิงไหม้ไปเมื่อหลายปีก่อน)

          คำนวณเวลาเดินทางไปกลับ 2 ชั่วโมง รวมเที่ยวเล่นที่นั่นอีก 1 ชั่วโมง พอดีกับกำหนดเวลาของรถเมล์ขากลับ ที่มาถึงตรงเวลาจริงๆ งานนี้คอเพลงชาวไทยที่ตั้งใจมาดูคอนเสิร์ต จึงมีโอกาสแวะเวียนไปถ่ายรูปกับกังหันลมอย่างมีความสุข

การเดินทาง-ที่พัก

          มีสายการบินหลายสาย เช่น แคแอลเอ็ม, ไชนาแอร์ไลน์ส, อีวาแอร์ ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงสนามบินสคิพโพล เนเธอร์แลนด์ ยกเว้นการบินไทยซึ่งไม่มี Destination ที่นั่น

          เมื่อถึงสนามบิน นักเดินทางสามารถเชื่อมต่อไปยังเมืองต่างๆ หรือประเทศต่างๆ ในยุโรป ได้อย่างสะดวก โดยรถไฟ (Train) ระยะเวลาจากสนามบินถึงเมืองอัมสเตอร์ดัม อยู่ราวๆ 10-15 นาที ค่าโดยสารชั้นสอง ราคา 4.30 ยูโร และจากสนามบินถึงเมืองร็อตเตอร์ดัม อยู่ราวๆ 1 ชั่วโมงเศษ (ผ่านเมืองลีเดน ฮาร์เล็ม และ เฮก) ค่าโดยสารชั้นสอง ราคา 11.20 ยูโร

          การเดินทางไปยังจุดต่างๆ ภายในเมือง ให้ซื้อตั๋ววัน (Day Ticket OV-Chipkaart) ตามระยะเวลาที่พำนัก เพื่อสามารถเดินทางได้โดยไม่จำกัดเที่ยว โดยปกติ ตั๋ววันสามารถใช้กับรถราง (Tram) และรถเมล์ (Bus) ได้ตลอดทั้งสาย ส่วน Metro ต้องสอบถามเพิ่มเติม หากไปไกลกว่าโซนที่กำหนดไว้ อาจจะต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่มขึ้น ขอแนะนำให้ซื้อตั๋วเหล่านี้ที่เคาน์เตอร์ของสถานีหลัก (Central Station) เพราะเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติตามสถานีย่อย มักรับเฉพาะบัตรเอทีเอ็มท้องถิ่น และเหรียญเท่านั้น

          ในส่วนที่พัก สามารถจองได้ผ่านเว็บไซต์ ซึ่งข้อแนะนำสำหรับการจองโรงแรมที่เมืองร็อตเตอร์ดัมในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากมีกิจกรรมและเทศกาลค่อนข้าง จึงควรสำรองที่นั่งแต่เนิ่นๆ อย่างน้อย 1 เดือน


อัมสเตอร์ดัม
อัมสเตอร์ดัม

ริมทาง : ความสุขแค่เอื้อม

          ซอย "ซีไดจ์ค" (Zeedijk) เป็นตรอกเก่าแก่โบราณ ที่มีลักษณะแคบๆ ทอดตัวคดโค้งไปตามมุมตึก เดิมเป็นเส้นทางเก่าแก่ที่กลาสีเรือปลีกตัวมาพักผ่อน สรวลเสเฮฮา หลังเสร็จจากงานที่ท่าเรือ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือ

          จาก ซีไดจ์ค เดินไปอีกไม่ไกล จะพบกับ นิวมาร์เก็ต และ วาค เส้นทางอีกเส้นหนึ่งมุ่งสู่แหล่งโลกีย์ เร็ด ไลท์ ดิสทริคท์

          ทุกวันนี้ ซีไดจ์ค เป็นที่รวมของร้านอาหารหลากหลายประเภท ทั้งร้านอาหารไทย (มีร้านเบิร์ด ตั้งอยู่ที่นั่น) ร้านอาหารจีน 2-3 เจ้าที่รสชาติดี ราคาย่อมเยาว์ ตลอดจนถึงร้านอาหารยุโรป

          ปัจจุบันซอยเล็กๆ แห่งนี้ ไม่มีกลาสีเรือ  มีแต่นักท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวรายนี้กำลังอ่านหนังสืออาบแดดอย่างมีความสุข

          เป็นความสุขแค่เอื้อม จากการได้อ่านหนังสือในฤดูกาลอบอุ่นของเมืองน่ารักอย่าง "อัมสเตอร์ดัม"


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อัมสเตอร์ดัม มากกว่าแค่ไปเที่ยว อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14:52:23 18,809 อ่าน
TOP