x close

สัมผัสบ้านอีต่อง เส้นทางเหมืองเก่ากาญจนบุรี

เหมืองปิล็อก

เหมืองปิล็อก



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ Napsterio
             
          เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า "จังหวัดกาญจนบุรี" เป็นเมืองที่มีร่องรอยของอดีตกาลทิ้งไว้มากมาย ทั้งทางรถไฟสายมรณะ ช่องเขาขาด สุสานทหารสัมพันธมิตร ฯลฯ แต่วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาเพื่อน ๆ ไปสัมผัสอีกหนึ่งกลิ่นอายของวันวาน ที่ไม่ค่อยพอเจอบ่อยนัก นั่นคือ บ้านอีต่อง หรือ เหมืองปิล๊อก เส้นทางเหมืองเก่าของกาญจนบุรี ซึ่งถึงแม้ว่าวันนี้เหมืองจะปิดตัวลงไปแล้ว แต่ความงดงามของธรรมชาติ รวมถึงทัศนียภาพต่าง ๆ ก็ยังคงมีปรากฏให้เห็น เอ้า...ว่าแล้วก็เตรียมตัวไปเที่ยวบ้านอีต่องกันดีกว่า

          แม้ว่ายุคทองความรุ่งเรืองของการทำเหมืองแร่ที่บริเวณบ้านอีต่อง ตำบลปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี หรือที่รู้จักกันในนาม "เหมืองปิล๊อก" ในอดีตที่นี่เป็นสถานที่ทำเหมืองแร่ดีบุกและแร่วุลแฟรมที่รุ่งเรืองมาก จนกลายเป็นแหล่งการค้าและการขายแรงงานขนาดย่อม แต่เมื่อมีรุ่งก็ต้องมีดับ ราวปี พ.ศ.2527 ความไม่คุ้มทุนในการทำธุรกิจเริ่มก่อเกิด และหากดันทุรังทำต่อไปก็มีแต่จะสูญเปล่า เหมืองแห่งนี้จึงต้องปิดตัวลงในปี พ.ศ. 2529 และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติอันงดงามตระการตา

          ถึงจะล่วงเลยมานานหลายสิบปีแล้วก็ตาม แต่เรื่องราวที่เล่าขานถึงความร่ำรวย ความกันดารยากลำบาก และความงดงามของสภาพภูมิประเทศดินแดนแห่งทะเลขุนเขาแห่งนี้ ก็ยังอยู่ในความทรงจำที่สืบทอดถึงคนรุ่นปัจจุบันไม่เสื่อมคลาย จึงไม่แปลกหากจะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่ออีกแห่งหนึ่งของกาญจนบุรี ซึ่งผู้คนอยากไปพิสูจน์ด้วยตาตัวเองสักครั้ง

เหมืองปิล็อก

          นอกจากความสวยงามของเส้นทาง ร่องรอยอดีตของการทำเหมืองแร่ก็ยังคงปรากฏให้เห็น ผสมผสานไปกับความงดงามของสภาพภูมิประเทศ ท่ามกลางอ้อมกอดของเทือกเขาน้อยใหญ่แล้ว วิถีชีวิตของผู้คนที่บ้านอีต่อง ก็ยังเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้นักเดินทางไม่ลังเลที่จะแวะเวียนมาเยือน ก่อนจะเดินทางต่อไปยังจุดหมายอื่น ๆ เพื่อไปสัมผัสความน่ารัก ใส ซื่อ ไม่ปรุงแต่งของผู้คนบ้านอีต่อง และหากมีเวลาก็อย่าลืมพักค้างคืน ณ โฮมสเตย์บ้านอีต่อง รวมถึงแวะไปชม "ปิล๊อกฮิลล์" สถานที่ปลูกไม้ผลและไม้ประดับเมืองหนาว โดยช่วงเวลาที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวที่สุดคือตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ เพราะอากาศจะหนาวเย็นมาก

เหมืองปิล็อก

          หลังจากที่ไปสัมผัสความงามของทัศนียภาพบริเวณเหมืองปิล๊อกแล้ว ก็ไม่ควรพลาดไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณใกล้ ๆ กัน ได้แก่ เนินช้างศึก หรือฐานปฏิบัติการช้างศึก ตำรวจตระเวนชายแดน ที่ 135 ไปชมวิวทิวทัศน์ของขุนเขาที่สลับซับซ้อน, เขื่อนวชิราลงกรณ หรือ เขื่อนเขาแหลม อำเภอทองผาภูมิ เขื่อนขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเพื่อกันแม่น้ำแควน้อย, น้ำตกจ๊อกกระดิ่น เป็นน้ำตกชั้นเดียว สูงราว 30 เมตร ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ต้องเดินเท้าเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร

          น้ำตกเจ็ดมิตร ซ่อนตัวอยู่ในใจกลางป่าลึก การเดินทางเข้าไปค่อนข้างลำบาก ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น แต่หากได้ไปเห็นแล้วล่ะก็ ความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง จะหายเป็นปลิดทิ้ง ^^ แต่สิ่งหนึ่งที่ควรระวังทราบคือ สภาพเส้นทางเข้าไปยังน้ำตกเจ็ดมิตรค่อนข้างลำบาก และมีรถเข้าไปน้อย จึงไม่ควรเดินทางเพียงลำพัง และปิดท้ายที่ เขาแหลม ยอดเขาที่นักผจญภัยหลาย ๆ คนอยากไปเยือน โดยเฉพาะสันเขาปราบเซียน ซึ่งเขาแหลมอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ราว 1,249 เมตร ใช้เวลาในการเดินทางราว 4 – 5 ชั่วโมง แต่ภาพความงดงามของขุนเขาเบื้องหน้า ทะเลหมอกลอยอ้อยอิ่งไม่เกินเอื้อม เป็นแรงโน้มน้าวที่ดีในการตัดสินใจไปสัมผัส

เหมืองปิล็อก

          นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถกางเต็นท์ได้ที่บริเวณเนินช้างศึก และชมทัศนียภาพของบ้านอีต่อง (ประเทศพม่า) ได้ที่เนินเสาธง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองร้อยตระเวนชายแดนที่ 135 โทรศัพท์ 0 3459 9118 สำหรับใครที่ต้องการไปตั้งแคมป์ มีจุดให้เลือกหลายจุด เช่น บริเวณอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ซึ่งมีจุดตั้งแคมป์อยู่ติดลานจอดรถ บริเวณฐานช้างศึก (อยู่ก่อนถึงบ้านอีต่อง) และบริเวณน้ำตกเจ็ดมิตร ด้านหน้าน้ำตกแต่สถานที่ค่อนข้างเปลี่ยว อีกทั้งยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ รองรับ
 
          ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ โทรศัพท์ 0 3453 2114 อีเมล reserve@dnp.go.th และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เขื่อนเขาแหลม โทรศัพท์ 0 3459 8030

เหมืองปิล็อก

การเดินทาง

          จากอำเภอทองผาภูมิใช้ทางหลวงหมายเลข 3272 ลัดเลาะไปตามชายน้ำเขื่อนเขาแหลมถึงบ้านไร่ เลี้ยวซ้ายขึ้นไปยังบ้านอีต่อง รวมระยะทางจากทองผาภูมิถึงบ้านอีต่องประมาณ 70 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม พาหนะสำหรับใช้เดินทางต้องเป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อ รถปิกอัพทั่วไปสามารถไปได้ช่วงฤดูแล้งแต่ก็ลำบาก อีกทั้งผู้ขับรถควรมีประสบการณ์ขับรถในพื้นที่ป่าเขามาพอสมควร





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

  และ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สัมผัสบ้านอีต่อง เส้นทางเหมืองเก่ากาญจนบุรี อัปเดตล่าสุด 30 มิถุนายน 2559 เวลา 14:57:21 5,544 อ่าน
TOP