x close

นั่งรถไฟเที่ยว นอนโฮมสเตย์แม่กลอง

สมุทรสงคราม

สมุทรสงคราม

สมุทรสงคราม


ความสุขที่เคลื่อนช้า
(อสท)

พิมพิดา กาญจนเวทางค์...เรื่อง
นัท สุมนเตมีย์...ภาพ

          บ่อยครั้งที่เรารู้สึกว่าเวลาของความสุขมักจะผ่านไปไว ลองเปลี่ยนบรรยากาศมานั่งรถไฟเที่ยวกันดูไหม เผื่อจะมีเวลาดื่มด่ำกับความสุขที่ค่อย ๆ เคลื่อนไปอย่างช้า ๆ ได้มากขึ้น โปรแกรมการท่องเที่ยวที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดขึ้นนั้น มีให้เลือกหลายหลาย ทั้งโปรแกรมเที่ยววันเดียวและโปรแกรมค้างคืน หลังจากดูรายละเอียดของโปรแกรมแล้ว เราสนใจโปรแกรมนั่งรถไฟเที่ยว นอนโฮมสเตย์แม่กลอง ที่จะจัดขึ้นทุกวันเสาร์ เพราะมีสถานที่ท่องเที่ยวใกล้ ๆ กรุงเทพฯ น่าสนใจอยู่หลายแห่ง

          ฉันโทรฯ สอบถามข้อมูลที่คอลเซ็นเตอร์ 1690 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย พนักงานเสียงหวานปลายสายบอกถึงรายละเอียดโปรแกรม พร้อมแนะนำให้ไปจองตั๋วที่สถานีหัวลำโพงก่อนวันเดินทาง แต่เมื่อไปถึงจึงได้รู้ว่าจะต้องมีนักท่องเที่ยว 10 คนขึ้นไป จึงจะจัดให้มีการท่องเที่ยวตามโปรแกรม แม้สุดสัปดาห์ที่เราเลือกนี้ยังไม่มีใครจอง แต่เขาก็บอกว่าเราสามารถขึ้นรถไฟไปเที่ยวเองได้ เส้นทางท่องเที่ยวไม่ได้ยากลำบากแต่อย่างไร

          การเดินทางครั้งนี้จึงเริ่มต้นขึ้นตามเวลานัดหมาย 06.30 น. ณ สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ อันเป็นสถานีต้นทางของทางรถไฟสายแม่กลอง (วงเวียนใหญ่-มหาชัย) ด้วยความคุ้นเคยกับภาพของสถานีรถไฟหัวลำโพงที่เห็นมาตั้งแต่เด็ก เมื่อไปถึงสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ ฉันจึงรู้สึกแปลกตาไม่น้อย เพราะสถานีนั้นคล้ายจะซ่อนอยู่ในซอยเล็ก ๆ มีเพียงป้ายชื่ออยู่ด้านหน้า เมื่อสอบถามถึงความเป็นมา จึงได้รู้ว่าเดิมทีสถานีต้นทางของรถไฟสายแม่กลอง คือ สถานีรถไฟปากคลองสาน แต่เพราะไม่มีการเดินรถช่วงสถานีปากคลองสาน-วงเวียนใหญ่ มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2504 สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่จึงถูกนับว่าเป็นสถานีต้นทางไปโดยปริยาย

          และรถไฟสายแม่กลองนี้ก็ถือได้ว่าเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในอดีต นำความเจริญมาสู่จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดสมุทรสงคราม มาเนิ่นนานกว่าร้อยปีแล้ว ผู้คนและเรื่องราวต่าง ๆ ในตลาด เติมความมีชีวิตชีวาให้กับเวลาระหว่างที่ฉันรอเพื่อนร่วมเดินทางมาสมทบ เจ้าของแผงหนังสือเปิดวิทยุพลางขยับเต้นแอโรบิกตามจังหวะเพลง คนขายข้าวแกงขมีขมันตักข้าวใส่จานให้ลูกค้าที่ยืนรออยู่ และในขณะเดียวกันนั้นเอง เสียงสวดให้พรจากกลุ่มสามเณรที่เดินเรียงแถวกันมา ก็ดังขึ้นอย่างพร้อมเพรียงเมื่อมีคนใส่บาตร ฉันถือโอกาสดี ๆ แบบนี้ทำบุญเข้าสู่วันใหม่ด้วยการใส่บาตรกับเขาด้วย

สมุทรสงคราม

          อิ่มอกอิ่มใจแล้วก็เดินไปนายสถานีเพื่อซื้อตั๋ว เขาทำหน้างงเล็กน้อย ก่อนจะส่งยิ้มบอกว่า ตั๋วรถไฟสายแม่กลองนี้แจกฟรีตามโครงการ "รถไฟฟรีเพื่อประชาชน" พร้อมหยิบตารางกำหนดเวลาเดินรถไฟ และวารสารรถไฟสัมพันธ์ลงให้ บอกตามตรงว่าบริการจากการรถไฟฯ สร้างความรู้สึกอบอุ่นประทับใจให้ฉันได้ทุกครั้งจริง ๆ

          ลมพัดเข้ามาทางหน้าต่าง ฉันนั่งมองวิวข้างทาง เห็นเด็กตัวน้อยกำลังวิ่งเล่นกัน ผ้าที่เพิ่งชักตากแดดใสอยู่ที่ราวข้างบ้าน ต้นชบาออกดอกสีแดงสด บรรยากาศการเดินทางที่เรียบง่ายไม่เร่งรีบนี้ ทำให้หวนนึกถึงครั้งที่ยังเป็นนักศึกษา ฉันต้องไปขึ้นรถไฟที่สถานีหัวลำโพงแต่เช้าทุกวัน โดยมีปลายทางที่สถานีเชียงราก และแม้ 1 นาที ในวันนั้นจะยาวนานเท่ากับ 1 นาทีในวันนี้ แต่เมื่อคิดถึงความสุขของวัยหนุ่มสาว ก็คล้ายว่าคืนวันเหล่านั้นจะหมุนผ่านรวดเร็วเกินไป

สมุทรสงคราม

          รถไฟเวลาราว 1 ชั่วโมง ในการเดินทางจากสถานีวงเวียนใหญ่ไปยังสถานีมหาชัย โดยจะผ่านสถานีตลาดพลู คลองต้นไทร จอมทอง วัดไทร วัดสิงห์ บางบอน การเคหะ รางสะแก รางโพธิ์ สามแยก พรมแดน ทุ่งสีทอง บางน้ำจืด คอกควาย บ้านขอม คลองจาก และมหาชัย

          มหาชัย หรือจังหวัดสมุทรสาครนี้ในอดีตเป็นตำบลใหญ่ที่อยู่ติดกับอ่าวไทย มีชาวจีนนำสำเภาเข้ามาจอดเทียบท่าเพื่อค้าขายจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกติดปากเป็นตำบลท่าจีน ต่อมาถูกยกฐานะเป็นเมืองสาครบุรี เพื่อให้เป็นเมืองหน้าด่านป้องกันศัตรูที่จะมารุกรานทางทะเล และเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองสมุทรสาครในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการให้ทางราชการเปลี่ยนคำว่า "เมือง" เป็น"จังหวัด" ทั่วทุกแห่ง เมืองสมุทรสาครจึงได้เปลี่ยนเป็น "จังหวัดสมุทรสาคร" ส่วนชื่อมหาชัยที่คนชอบเรียกกันนั้น เป็นชื่อของคลองที่ขุดขึ้นตัดคลองโคกขามที่มีความคดเคี้ยวม กระแสน้ำเชี่ยวทำให้เป็นอุปสรรคในการเดินเรือ

          ปัจจุบัน ตลาดมหาชัย เป็นตลาดขนาดใหญ่ ที่มีชื่อเสียงในเรื่องของอาหารทะเลทั้งสดและแห้ง เนื่องจากเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ห่างจากทะเลเพียง 2 กิโลเมตร ดังนั้น คุณจะได้ตื่นตากับอาหารทะเลสดมากมาย ทั้งกุ้ง หมึก หอยหลากหลายชนิด แมงกะพรุน ปลาทะเลต่าง ๆ และที่ขาดไม่ได้คือปลาทู ที่มีรสชาติอร่อยขึ้นชื่อของที่นี่

สมุทรสงคราม

          เดินเล่นจนรอบตลาดแล้ว ก็ต้องไปลงเรือยนต์ข้ามฟากไปยังสถานีบ้านแหลม แต่เรายังมีเวลาอีกนิด พอให้แวะไปที่ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร หรือ เจ้าพ่อวีเชียรโชติ อันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนเคารพนับถือ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวประมงในจังหวัด โดยก่อนออกเรือเพื่อไปหาปลาทุกครั้ง ชาวประมงจะต้องไปทำพิธีสักการบูชา และจุดประทัดบริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพื่อเป็นสิริมงคล นอกจากนี้ ใกล้ ๆ กันยังมีอาคารแบบไทยที่ออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากร ภายในประดิษฐานเสาหลักเมืองที่สวยงามและใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย

          ข้ามเรือไปยังสถานีบ้านแหลม จากสถานีนี้ไปยังสถานีแม่กลองจะต้องใช้เวลาอีกราว 1 ชั่วโมงเช่นกัน โดยจะผ่านสถานีท่าฉลอม บ้านชีผ้าขาว คลองนกเล็ก บางสีคด บางกระเจ้า บ้านบ่อ บางโทรัด บ้านกาหลง บ้านนาขวาง บ้านนาโคก เขตเมือง ลาดใหญ่ บางกระบูน และแม่กลอง ทิวทัศน์สองข้างทางเปลี่ยนไปจากขบวนวงเวียนใหญ่-มหาชัย โดยส่วนใหญ่จะเป็นวิวสวยสบายตาของนาเกลือ และสีเขียวของต้นจาก

สมุทรสงคราม

          แต่ไฮไลต์ของรถไฟไปแม่กลองนี้อยู่ที่ ตลาดร่มหุบ ต่างหาก ชื่อจริง ๆ ของตลาดร่มหุบ คือ ตลาดราชพัสดุ กรมธนารักษ์ หรือพ่อค้าแม่ค้าจะเรียกว่า ตลาดรถไฟ ตั้งอยู่ติดกับสถานีรถไฟแม่กลอง ความโดดเด่นของตลาดนี้อยู่ที่พ่อค้าแม่ค้าจะวางของขายตามรางรถไฟเป็นระยะประมาณ 300 เมตร เวลาที่รถไฟเข้าและออกจากสถานีก็จะหุบร่มที่กางกันแดด เก็บของที่วางขายออกจากราง แต่เมื่อรถไฟผ่านไปก็จะกางร่มและวางของขายเช่นเดิม สินค้าโดยส่วนใหญ่ที่นำมาจำหน่ายจะเป็นสินค้าจากเกษตรกรโดยตรง จึงมีราคาไม่แพง

          เมื่อรถไฟวิ่งจากสถานีบางกระบูนมุ่งหน้าสู่สถานีแม่กลอง เราก็เริ่มตื่นเต้นที่จะได้เห็นตลาดร่มหุบจากบนรถไฟ ขณะที่เรากดชัตเตอร์กล้องถ่ายภาพจากบนหน้าต่างรถไฟ นักท่องเที่ยวที่ยืนอยู่ในตลาดก็ถือกล้องกดชัตเตอร์ขึ้นมาที่รถไฟเช่นเดียวกัน อยู่บนรถไฟอาจเห็นภาพได้ไม่ชัดนัก ดังนั้น เมื่อรถไฟจอดเทียบท่าที่สถานีแม่กลอง เราจึงเดินย้อนกลับขึ้นมาที่ตลาด เดินตลาดเล่นเพลิน ๆ รอรถไฟออกจากสถานี

          เสียงหวูดรถไฟดังขึ้น พ่อค้าแม่ค้าเริ่มดึงร่มเก็บ บ้างก็ดึงแผงที่ติดล้อเลื่อนเข้าด้านในร้าน "น้องมายืนตรงนี้สิ จะได้มองเห็นชัด ๆ" พี่เจ้าของร้านที่กำลังเก็บของส่งเสียงใจดีบอกฉัน ที่กำลังเก้ ๆ กัง ๆ หาที่ยืน ก็มัวแต่เกรงจะเกะกะเขา แล้วก็ยังกลัวรถไฟที่กำลังจะวิ่งมาด้วยสิ จุดที่ฉันยืนนั้นใกล้พอที่จะรับรู้ได้ถึงกระแสลม ที่เกิดจากการวิ่งตัดผ่านไปในอากาศของรถไฟ และยังมองเห็นได้ชัดเจนว่าระยะของกระจาดวางผัก ห่างจากล้อรถไฟเพียงไม่เท่าไรจริง ๆ

          รถไฟวิ่งผ่านไปแล้ว ฉันกลับมาหายใจเต็มปอดได้อีกครั้ง และในนาทีเดียวกันนั้นเอง ตลาดก็ไม่ได้หุบร่มแล้ว ทุกอย่างกลับคืนสู่สภาพเดิมในชั่วพริบตาเดียว สำหรับผู้ที่ต้องการจะมาสัมผัสประสบการณ์นี้ด้วยตัวเอง ก็คงต้องตรวจสอบตารางไฟให้แน่นอน รถไฟบ้านแหลม-แม่กลอง (จำนวน 2 โบกี้) จะไปถึงสถานีแม่กลองเวลา 08.30, 11.00, 14.30 และ 17.40 น. และจะออกจากสถานีแม่กลองเวลา 06.20, 09.00, 11.30 และ 15.30 น.

          ตื่นเต้นกันแล้ว ก็ไปสงบจิตสงบใจกราบนมัสการ หลวงพ่อบ้านแหลม ที่วัดเพชรสมุทรวรวิหารกันดีกว่า วัดเพชรสมุทรวรวิหารนี้เป็นวัดสำคัญที่สุดในจังหวัดสมุทรสงคราม เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ คือ "หลวงพ่อบ้านแหลม" ที่มีชื่อเสียงเลื่องลือในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อ จึงนับเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสมุทรสงคราม

          อย่าเพิ่งคิดว่าโปรแกรมวันแรกจะหมดเพียงเท่านี้ เพราะเราจะแวะไปล้างหน้าล้างตาที่ "บ้านริมคลองโฮมสเตย์" กันก่อน ที่นั่นเราจะได้ชมการทำน้ำตาลมะพร้าวและการทำขนมไทยกัน บ้านริมคลองโฮมสเตย์เป็นบ้านเรือนไทยที่สะท้อนความเป็นอยู่แบบง่าย ๆ และเคยได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวท่องไทย ปี 2553 ในประเภทแหล่งท่องเที่ยวชุมชนด้วย

สมุทรสงคราม

          บ้านที่ฉันพักเป็นบ้านมุงจากที่สร้างขึ้นแบบง่าย ๆ อยู่ติดคลองผีหลอก ฝาบ้านด้านที่ติดกับคลอง สามารถยกเปิดออกให้เห็นระเบียงบ้าน เพื่อรับลมแม่น้ำพร้อมชมวิวสบายตาได้เต็ม ๆ ได้ยินชื่อคลองผีหลอก อย่าเพิ่งตกใจกลัวกันไป เพราะชื่อนี้มีที่มาจากชื่อของ "เรือผีหลอก" ที่ชาวประมงพื้นบ้านเคยใช้ดักปลาในอดีต โดยจะแต่งเรือมาดขนาดที่ติดตั้งแจวได้ 1 หลัก ด้วยการติดไม้กรีดน้ำและแผ่นไม้ทาสีขาว หรือที่เรียกว่ากระดานหลอก พาดไว้ที่ข้างเรือ เมื่อออกเรือในตอนกลางคืน ปลาจะตกใจกับเสียงกรีดน้ำและสีขาวของแผ่นกระดานจนกระโดดลงไปในเรือ อีกด้านของเรือจะติดตาข่ายป้องกันกุ้งปลาไม่ให้กระโดดออกจากเรือ ชาวบ้านจะใช้เรือผีหลอกนี้ออกไปหาปลาตอนกลางคืน โดยเฉพาะในคืนเดือนมืด

สมุทรสงคราม

          ตากลมสบายและพักสายตาด้วยการมองต้นจากที่นอกระเบียงแล้ว ก็ได้เวลาไปดูวิธีการทำน้ำตาลมะพร้าว เราไปถึงในขณะที่เขากำลังต้มน้ำตาลมะพร้าว พอเดือดจึงนำลงมาเคี่ยวให้เหนียว ตักใส่ถ้วยพิมพ์ที่รองด้วยผ้าขาวบาง ในขั้นตอนที่กล่าวมานี้ หากใครสนใจจะทดลองทำด้วยก็สนุกดีทีเดียว จากนั้นหากใครยังอยากจะฝึกฝีมือในการนวดแป้ง เพื่อนำมาห่อไส้มะพร้าวทำขนมต้ม ก็จะมีคุณยายคอยสอนให้เหมือนเราเป็นลูกหลาน ก่อนที่จะไปนั่งเรือชมหิ่งห้อย การไปเดินเล่นที่ ตลาดอัมพวา ก็ดูเหมือนจะเป็นกิจกรรมที่พลาดไม่ได้ โดยเฉพาะในคืนวันเสาร์แบบนี้

สมุทรสงคราม

          และเมื่อไรได้ไปถึงตลาดอัมพวาก็หมดคำถามว่า ทำไมผู้คนยังคงให้ความสนใจมาเที่ยวชมตลาดอัมพวาอย่างไม่เสื่อมคลาย เพราะจากที่เคยมีร้านค้าไม่กี่ร้านบนถนนเลียบแม่น้ำสายสั้น ๆ ปัจจุบันมีร้านรวงริมน้ำเปิดใหม่มากมาย ทั้งร้านอาหารและร้านขายของที่ระลึก

          อีกทั้งยังมีโครงการดี ๆ อย่าง โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนานำที่ดินที่ คุณประยงค์ นาคะวะรังค์ ชาวอัมพวา ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย มาดำเนินการให้เกิดประโยชน์ ภายในโครงการแบ่งเป็นร้านค้าชุมชน ร้านชานชาลาซึ่งจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ห้องนิทรรศการชุมชนอันเกี่ยวกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนแม่กลองและอัมพวา สวนสาธิตเกษตรเพื่อการเรียนรู้ และลานวัฒนธรรม "นาคะวะรังค์"

สมุทรสงคราม

          เดินดูบรรยากาศร้านค้าตลอดสองฝั่งคลองแล้ว ก็กลับมานั่งเรือแจวรับลมเย็น ๆ ชมหิ่งห้อยกันที่คลองผีหลอกหน้าบ้านพัก มีเรือหางยาวติดสปอตไลต์หลายลำ พานักท่องเที่ยวแล่นสวนกับเรือไม้เล็ก ๆ ของเรา ซึ่งในขณะเดียวกันลุงคนแจวเรือก็กำลังดูกระแสน้ำ ออกแรงพาย และชี้ให้เรามองแสงกะพริบของหิ่งห้อยในความมืด ฉันเชื่อว่าใครมาอัมพวาก็คงอยากเห็นหิ่งห้อย แต่การได้เห็นแสงวับวาวในบรรยากาศอบอุ่นและนุ่มนวลแบบนี้ บางทีเราอาจต้องเป็นคนเลือกที่จะมาสัมผัสด้วยตัวเอง

สมุทรสงคราม

สมุทรสงคราม


          ต้อนรับเช้าวันใหม่ด้วยการใส่บาตรพระทางเรือที่ท่าเรือของบ้านพักแล้ว เราจึงเก็บของเตรียมตัวไปคลองโคน โดยมี ลุงเทือง-ประเทือง จืดเหลือง เป็นคนนำทาง "รีบไหม มากับลุงอย่ารีบ จะสนุก" ลุงเทืองยิ้มบอกกับพวกเราตั้งแต่แรกเจอ เราใช้เวลาบนเรือพูดคุยเรื่องราวทั้งของตัวลุงเทืองและเรื่องของคลองโคน

          ลุงเทืองเล่าว่า สมัยก่อนพื้นที่ป่าชายเลนบ้านคลองโคนถูกทำลายเพราะการทำนากุ้ง แต่ต่อมาชาวบ้านในพื้นที่ ด้วยการนำของผู้ใหญ่ชงค์ ต้องการปลูกป่าชายเลนเพื่อฟื้นฟูสภาพความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าชายเลนให้กลับมา การทดลองปลูกป่าชายเลนในช่วงแรก ๆ ไม่ประสบความสำเร็จนัก แต่ต่อมาหน่วยงานรัฐก็เริ่มเห็นความสำคัญ อีกทั้งยังได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเห็นความสำคัญของการปลูกป่าชายเลนที่นี่ และเสด็จมาทรงปลูกป่าชายเลนด้วยพระองค์เอง จนปัจจุบันพื้นที่ป่าชายเลนของบ้านคลองโคนกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

สมุทรสงคราม

          ลุงเทืองพาเราไปดูคลองที่แบ่งเขตจังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดเพชรบุรี แวะพักกินข้าวกล่องบนกระเตง หรือกระท่อมของชาวประมงที่ปลูกกลางทะเล เพื่อใช้เฝ้าฟาร์มหอยแครง พอได้หลบแดดพลางนั่งตากลมสบายแบบนี้ ก็ชวนให้เคลิ้มได้เหมือนกัน ดีที่ลุงเทืองอารมณ์ดีอยู่เสมอ เสียงหัวเราะบนกระเตงจึงไม่เคยเงียบหาย "ลุงเป็นลูกทะเล สนุกทุกวันละ" ลุงเทืองปิดท้ายบทสนทนาและลุกขึ้นยืน พร้อมที่จะพาเราไปถีบกระดานเลนหาหอยแครงแล้ว

          ภาพของกลุ่มนักท่องเที่ยววัยรุ่นที่พยายามยกขาขึ้นจากโคลน เพื่อเดินกลับมาที่เรือไม่ได้ทำให้พวกเราหวั่นใจ แต่กลับปลุกเร้าความสนุกตื่นเต้นให้มากยิ่งขึ้น ลุงเทืองลงจากเรือเป็นคนแรกและถีบกระดานเลนให้ดูเป็นตัวอย่าง ฉันหย่อนเท้าลงจากเรือ คล้ายมีโคลนอุ่นนุ่มโอบรับไว้ ลุงเทืองสอนวิธีวางขาบนกระดานเลนและการถีบโคลน แน่นอนว่าการใช้กระดานเลนย่อมทำให้เราเคลื่อนไหวไปได้เร็วกว่าการใช้เท้าเดิน จนเมื่อเริ่มชินกับการอยู่ในโคลน ลุงเทืองจึงสอนวิธีจับหอยแครงที่อยู่ในโคลนบริเวณตื้น ๆ

สมุทรสงคราม

          เราผลัดกันใช้กระดานเลน แล้วออมแรงที่เหลือกลับขึ้นเรือ เพราะเรายังมีเป้าหมายที่จะไปปลูกป่าชายเลนด้วย ลุงเทืองบอกกับเราว่า "อยากปลูกต้นโกงกางให้รอด ก็ต้องไปปลูกในที่ที่มีต้นโกงกางอยู่ อย่าไปจับแยกกลุ่ม" พวกเราจึงได้ลงไปในโคลนอีกครั้ง เมื่อลุงเทืองหยุดเรือในบริเวณที่เป็นป่าชายเลน ค่อย ๆ หย่อนต้นกล้าลงไปในหลุม ผูกเข้ากับกิ่งไม้ โดยมีฝูงลิงแสมเจ้าถิ่นคอยให้กำลังใจ ฉันเชื่อว่าปริมาณของโคลนที่เลอะเสื้อผ้า กับปริมาณของความสุขที่ได้รับในวันนี้ น่าจะมีมากพอ ๆ กัน

          เวลาบ่ายแก่ ๆ รถไฟกำลังพาเรากลับบ้าน ไม่น่าเชื่อว่าเพียงแค่ได้มาพักผ่อนในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะทำให้เราได้รับประสบการณ์ดี ๆ ที่น่าจดจำมากมาย และแม้จะเหนื่อยอ่อนจากการเล่นสนุกมาทั้งวัน ฉันก็ยังอดคิดไม่ได้ว่ามีใครหลายคนที่อยากให้รถไฟไทยได้รับการพัฒนา ฉันเองไม่ปฏิเสธความสะดวกสบาย แต่ก็อดใจหายไม่ได้เมื่อนึกว่ารถไฟไทยจะไม่เหมือนเดิม เพราะนั่นจะหมายความว่า สิ่งที่เคยเป็นจริงในความทรงจำจะกลายเป็นเพียงแค่ภาพฝัน และเราก็ต้องยอมรับมันให้ได้

คู่มือนักเดินทาง

          รถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย มีให้บริการตลอดทั้งวัน ตั้งแต่รอบ 05.30 น. ไปจนถึง 20.10 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ส่วนรถไฟมหาชัย-วงเวียงใหญ่ ก็มีให้บริการตลอดทั้งวันเช่นเดียวกัน ตั้งแต่รอบ 04.30 น. ไปจนถึง 19.00 น.

          รถไฟบ้านแหลม-แม่กลอง (จำนวน 2 โบกี้) มี 4 เที่ยว คือ ออกจากสถานีบ้านแหลม เวลา 07.30, 10.10, 13.30 และ 16.40 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ส่วนรถไฟจากแม่กลอง-บ้านแหลม มีรอบ 06.20, 09.00, 11.30 และ 15.30 น.

          บ้านริมคลองโฮมสเตย์ 43/1 หมู่ 6 ตำบลบานปรก อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสงคราม75000 โทรศัพท์ 08 9170 2804, 0 3475 2775 หรือเว็บไซต์ www.baanrimklong.com

          สอบถามรายละเอียดและ จองตั๋วรถไฟได้ที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (Call Center) 1690




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 51 ฉบับที่ 11 มิถุนายน 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นั่งรถไฟเที่ยว นอนโฮมสเตย์แม่กลอง อัปเดตล่าสุด 27 พฤศจิกายน 2562 เวลา 17:40:16 3,395 อ่าน
TOP