x close

ตราดใต้เงาขุนเขาและทะเล

จังหวัดตราด

จังหวัดตราด

จังหวัดตราด

จังหวัดตราด

จังหวัดตราด

จังหวัดตราด


ตราดใต้เงาขุนเขาและทะเล (อสท)

ธเนศ งามสม...เรื่อง
ธเนศ งามสม โสภณ บูรณประพฤกษ์...ภาพ

          สำหรับ "ตราด" เมืองนี้ไม่ได้รุ่มรวยชายหาดเพียงอย่างเดียวตลอดแนวทิวเขาบรรทัด ซึ่งทอดยาว 144 กิโลเมตร ได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้คล้ายกันภาคใต้ สายน้ำจึงมอบความสมบูรณ์สู่พื้นราบ แล้วผลิดอกงอกงามในสวนผลไม้

          1. กลางเดือนมีนาคม ลมมรสุมแวะมาเยือนทะเลตราด ฝนโปรยลงมาเป็นม่านขาว สายหมอกห่มคลุมภูเขาทะเลกลายเป็นสีเทาเลือนราง ด้วยแผนที่เล่มเก่า ภาพจังหวัดตราดค่อย ๆ ปรากฏชัดตรงหน้า รูปทรงคล้ายหัวข้าง หันหน้าไปทางทิศตะวันตก โดยมีปลายวงยื่นไปจดราชอาณาจักรกัมพูชา บนทางหลวงหมายเลข 3 ผมมุ่งหน้าสู่ทิศตะวันตก ด้านซ้ายปรากฏทิวเขาทอดยาว ขณะด้านขวาเป็นที่ราบกว้างสุดตา

          "ทะเลอยู่ไม่ไกลหรอกครับ" ชายผิวบ่มลมแดดบอก ระหว่างผมหยุดพักรถที่ ตลาดแสนตุ้ง อำเภอเขาสมิง พูดได้ว่า แสนตุ้งเป็นชุมทางของคนสวนและชาวเล มีถนนทอดยาวไปถึงอำเภอบ่อไร่ เมืองชายแดนซึ่งเคยรุ่มรวยด้วยทับทิมสยาม ขณะอีกฟาก ทะเลนั้นอยู่ไม่ไกลเกินไอคาวเค็ม ที่นี่ ผมพบจุดบรรจบของทะเลและภูเขา ในตัวตลาด ระกำป่ารสหวานหอมกองเรียงราย อาหารทะเลมากหลายมีให้เลือกชิม โดยเฉพาะปลาทูต้มกะทิรสนุ่มหอม

จังหวัดตราด

          จากแสนตุ้ง ฝนค่อย ๆ จางหาย ผมเลี้ยวขวาไปอำเภอแหลมงอบ ป้ายริมทางบอกว่าทะเลอยู่ห่างออกไป 20 กิโลเมตร แดดบ่ายโรยอ่อน ตัวอำเภอแหลมงอบเงียบสงบ ห้องแถวไม้ดูราวกับหญิงชราใจดีรอต้อนรับลูกหลานกลับคืนบ้าน ตามร้านรวงมีของฝากจากทะเลวางขาย กุ้งแห้ง หมึกแห้งอย่างดี ปลาอินทรีตัวโต

          ผมแวะไปที่ อนุสรณ์สถานยุทธนาวี ที่ เกาะช้าง อาคารโค้งสีขาวโดดเด่นอยู่ริมทะเล สร้างจำลองดาดฟ้าเรือรบ เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมราชนาวีไทยในสงครามอินโดจีน เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 1484 ในวันนั้น ฝรั่งเศสซึ่งปกครองกัมพูชาส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่ เกาะง่าม หมายจะยืดครองหมู่เกาะต่าง ๆ ในทะเลไทย เรือหลวงสงขลาและเรือหลวงชลบุรีจึงเข้าปกป้องอธิปไตย โดยใช้ปืนต่อสู้อากาศยานระดมยิงจนเครื่องบินตกที่ เกาะหวาย ทว่า ถูกเรือลามอตต์ปิเกต์และเรือปืนของฝรั่งเศสระดมยิงจมลงที่เกาะช้าง ทั้งเรือปืนยามฝั่งธนบุรีก็ถูกยิงจนไฟไหม้

          ขณะเรือลามอตต์ปิเกต์ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ามาก ถูกยิงจนเสียหายอย่างหนัก กระทั่งล่าถอยออกจากน่านน้ำไทย ลมทะเลพัดโบกโบย บนดาดฟ้าเรือรบจำลอง ผมมองออกไปยังทิศตะวันตก เกาะช้างปรากฏใต้แสงอบอุ่น ตะวันกำลังคล้อยลับ เรือประมงลำน้อยบ่ายหน้าออกจากฝั่งโมงยามนั้น ผมรู้สึกว่าทะเลตราดสงบงามกว่าครั้งใด ๆ

          2. ฝนโปรยละอองบางๆ ลงมาในยามเช้า อากาศเย็นขึ้น ไอคาวเค็มจากทะเลลอยกลืนกับไอหมอกขาว จากอำเภอแหลมงอบ ผมใช้ทางหลวงหมายเลข 3148 ไปตัวเมืองตราด ระหว่างทางผมนึกถึง "งอบ" อันเป็นสัญลักษณ์ของบ้านน้ำเชี่ยว "ไม่เบื่อหรอกค่ะ เพราะเราทำด้วยใจรัก" กิ่งแก้ว จิตนาวสาร เจ้าของร้านบ้านตาโอ่งบอกเสียงใส ใบหน้าระบายยิ้ม

จังหวัดตราด

          บ้านตาโอ่ง นับเป็นร้านแรก ๆ ของบ้านน้ำเชี่ยวที่ขายงอบอย่างเดียว สามสิบปีก่อนถนนสายนี้ยังเป็นดินขรุขระ เกาะช้างยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก "คุณป้าสุวรรณ แซ่ลี้ มานั่งเย็บงอบอยู่หน้าบ้านทุกวัน แกทำด้วยความรักน่ะค่ะ พอเริ่มมีคนมาเที่ยวเลยพอขายได้ ถึงรุ่นสามีและฉันก็รับช่วงต่อ ปรับปรุงรูปแบบให้ทันสมัย ใช้งานได้หลากหลาย" เธอเล่าพลางพาชมในร้าน กลิ่นน้ำมันยาง ซึ่งใช้ทารักษาใบจากโชยอ่อน ๆ กลิ่นหอมละมุนกลิ่นอายในวันเก่าก่อน

          ออกจากร้านงอบ ผมเดินเลียบคลองน้ำเชี่ยวเข้าไปในชุมชน เรือประมงจอดเทียบอยู่ตามหน้าบ้าน มัสยิดตั้งตระหง่านชวนศรัทธา เด็ก ๆ วิ่งเล่นไปตามสะพานไม้ซึ่งสร้างยื่นเข้าไปในป่าโกงกางร่มครึ้ม ที่นี่นับเป็นหมู่บ้านตัวอย่าง ป่าโกงกางยังอุดม ท้องทะเลยังสมบูรณ์ เด็ก ๆ และผู้ใหญ่ร่วมใจกันรักษาคลอง ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 บ้านน้ำเชี่ยว เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง มีชุมชนอื่นมาดูงาน เรียนรู้ชีวิตในรูปแบบโฮมสเตย์ ก่อนกลับออกมา ผมก็ได้รับรู้น้ำใจของคนบ้านนี้ ทั้งรอยยิ้ม ถ้อยคำทักทาย และน้ำเย็น ๆ ที่หยิบยื่นให้

          บ่ายคล้อย ฟ้าหมาดฝน ผมย้อนกลับไปทางอำเภอเขาสมิง เพราะนึกขึ้นได้ว่าผ่านเลยสิ่งหนึ่งมา กล่าวสำหรับตราดเมืองนี้ไม่ได้รุ่มรวยชายหาดเพียงอย่างเดียว ตลอดแนวทิวเขาบรรทัด ซึ่งทอดยาว 144 กิโลเมตร ได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้คล้ายกับภาคใต้ สายน้ำจึงมอบความสมบูรณ์สู่พื้นราบ แล้วผลิตอกงอกงามในสวนผลไม้ เจ้าถิ่นที่พาผมชมสวนเป็นหญิงสาวร่างเล็ก ทว่าเต็มด้วยพลังสร้างสรรค์ เธอรับหน้าที่นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดตราด และยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของชาวสวนในย่านนี้

จังหวัดตราด

          "เราเป็นสมาชิกชุมชนคนหนึ่ง ทำอะไรได้ก็ช่วยกันค่ะ" คุณโอ๋ จารุวรรณ จินตกานนท์ บอกน้ำเสียงร่าเริง ฝนโปรยละอองบาง ๆ ลงมาในยามเช้า อากาศเย็นขึ้น ไอคาวเค็มจากทะเลลอยกลืนกับไอหมอกขาว เธอเปิดหน้าสวนเป็นร้านขายสินค้า ผลไม้หลายอย่างถูกแปรรูปแล้วบรรจุหีบห่อสวยงามทั้งทุเรียนทอด-กวน น้ำมะปี๊ด น้ำมังคุด สับปะรดอบแห้ง หมึกแห้ง น้ำปลา จนถึงไวน์ งานฝีมือ ชาวสวนก็วางเคียงกันโดยไม่หักค่าใช้จ่ายใด ๆ

          จากหน้าร้าน หญิงสาวพาไปดูสวนผลไม้ที่ยินดีเปิดให้เข้าชม เริ่มจากสวนหนอนบุ้ง สวนแรก ๆ ที่หยุดใช้สารเคมีทั้งหลาย หันมาทำเกษตรอินทรีย์ "ผมไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้ง ลงมือทำเพราะอยากแบ่งปัน ให้ผู้บริโภคได้ผลไม้ดี ๆ กลับบ้าน" ภิญโญ ถนอมสัตย์ บอกน้ำเสียงเรียบ ๆ ขณะพาชมสวน น่าภูมิใจที่เขายืนหยัดได้อย่างมั่นคง อีกทั้งลองกอง มังคุด ก็กำลังออกดอกกันดกดื่น บ่งบอกว่าปีนี้สวนหนอนบุ้งจะได้ผลผลิตดี

          ข้ามแม่น้ำเขาสมิง ผมมาเยือนอีกสวน ต่างจากสวนหนอนบุ้งที่เป็น "สวนบ้าน" สวนผลอำไพ เน้นส่งออกขายยังต่างประเทศ ชัยวัฒน์ ปริ่มผล หรือที่ใคร ๆ เรียกว่า "ผู้ใหญ่" ต้อนรับผมด้วยสับปะรดตราดสีทองหวานกรอบ หนึ่งในผลไม้จากสวน "เราใช้สารเคมีก็จริง แต่ใช้ในปริมาณน้อย ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค" ผู้ใหญ่อธิบาย แล้วชี้ให้ดูมังคุดที่กำลังติดลูกเล็ก ๆ สีเขียวอ่อน

          ผู้ใหญ่เล่าต่อว่า ทั้งราคาขาย แมลงศัตรู และสารเคมีไม่ใช่เรื่องใหญ่ หากเรียนรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้ "ปลูกต้นไม้ ถ้าคุยกับเขารู้เรื่องจะออกมาดี หุ้นส่วนใหญ่ของเราคือดินฟ้าอากาศ ต้องฟังเขาให้มาก" ผู้ใหญ่บอกแล้วก็ยิ้มอารมณ์ดี ผมนั่งฟังเคล็ดวิธีให้มังคุดออกผลก่อนใคร ปุ๋ยหาได้รอบ ๆ ตัวแม้กระทั่งใบไม้ ฝนตกอย่างนี้ไม่ต้องฉีดยา เพราะเพลี้ยไม่ชอบฝน ไม้ยืนต้นที่เพิ่งปลูกลงดิน อีกยี่สิบปีข้างหน้าคือเงินออมของลูกชาย

          ท้องฟ้าเริ่มอึมครึม ไม่นานฝนก็โปรยลงมา อากาศเย็นชื่น เสียงนกร้องหวานใส ผมได้ยินใครบางคนเปรยว่า "อยากทำสวนผลไม้"

จังหวัดตราด

          3. เมื่อคืนผมพักในตัวเมืองตราด ตลาดสดเทศบาลอยู่ไม่ไกล จึงกลายเป็นที่ฝากท้องและที่เดินหย่อนใจตลอด 2 วันต่อมา ในยามค่ำ ตัวตลาดจะเป็นย่านโต้รุ่ง แหล่งรวมของกินพื้นเมือง ขณะยามเช้า ที่นี่จะกลายเป็นตลาดสด พืชผัก ผลไม้สด ๆ จากตำบลแถบภูเขา ปูปลาจากทะเลถูกนำมาวางให้เลือกซื้อหา เช้าตรู่ หลังจากเดินตลาด ผมมักมาหยุดที่ร้านกาแฟเล็กๆ หน้าคิวรถสองแถวไปอำเภอต่าง ๆ ซึ่งเปรียบเหมือน "ที่พบปะ" ของคนย่านตลาด

          "เมื่อก่อนคนเยอะ ยุคทำพลอยยิ่งคึกคัก ท่ารถทัวร์อยู่ตรงนี้ คนไปมาก็แวะ ตอนนี้ท่ารถย้ายไปอยู่นอกเมืองแล้ว" ลุงชุ่น วิสุทธิแพทย์ บอกเสียงดังชัด ท่าทางกระฉับกระเฉงดูต่างจากวัย 80 ปีมาก

          สำหรับเมืองเล็ก ๆ เช่นตราด ดูเหมือนว่าใคร ๆ ก็รู้จักกันหมด รอยยิ้มคือคำทักทาย ย่านชุมชนเก่าริมคลองบางพระ แม้เก่าแก่ ทว่าถูกรักษาอย่างดี ห้องแถวไม้บางคูหาเปิดเป็นร้านขายอาหารเล็ก ๆ เกสต์เฮาส์มีไม่กี่เจ้า รองรับขาวต่างชาติซึ่งแบกเป้มาพักผ่อนเงียบ ๆ ยาวนานเป็นสัปดาห์

          "เมืองตราดเงียบสงบอย่างนี้ละค่ะ เมื่อ 50 ปีก่อนเราใช้เรือไปไหนต่อไหน รอบ ๆ เป็นป่า คนชองที่อยู่นอกเมือง นาน ๆ จะเดินออกมา เอาของป่า-กระบุงสานมาแลกเสื้อผ้า แลกข้าว ฝีมือเขาดีมาก" ป้าอุมา ทัศวิล ครูวัยเกษียณเล่าให้ฟังในเช้าวันหนึ่ง ทุกวันนี้แกเป็นเจ้าของรีสอร์ตเล็ก ๆ น่าพักริมคลองบางพระ "หาเวลาไปวัดบุปผารามนะคะ อุโบสถที่นั่นสวยมาก" ป้าบอกน้ำเสียงเย็น ๆ อย่างคนแก่ใจดี

          เช้าวันนั้น ผมแวะไปที่ วัดบุปผาราม นั่งชมจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์อยู่นาน ก่อนจะเข้าไปชมอาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเก็บรักษาพระพุทธรูปเก่าแก่และพระบรมสารีริกธาตุ ตามบันทึกโบราณ คนตราดเรียกวัดนี้ว่า "วัดปลายคลอง" สร้างโดยหลวงเมืองเมื่อ พ.ศ. 2195 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทั้งภาพจิตรกรรมในอุโบสถ วิหารพระพุทธไสยาสน์ และมณฑป ปรากฏศิลปะแบบจีนผสมผสานชัดเจน บ่งบอกว่าพ่อค้าชาวจีนเข้ามาตั้งรกรากที่นี่เนิ่นนานแล้ว

          เดินชมวัดจนเพลิน ล่วงสายผมย้อนกลับเข้าเมือง ล่ำลาป้าอุมาแล้วออกเดินทาง จุดหมายอยู่ที่ อำเภอคลองใหญ่ อำเภอสุดท้ายด้านทิศตะวันตก ท้องฟ้าอึมครึม อากาศเย็นชื้น ทางหลวงหมายเลข 318 ทอดยาวขึ้นลงเนินเขา ด้านขวาเป็นที่ราบกว้าง ด้านซ้ายปรากฏทิวเขาบรรทัดทอดยาวเป็นเพื่อน หยิบแผนที่ขึ้นมาเทียบ ขณะนี้ผมกำลังลงจาก "หัวข้าง" บ่ายหน้าไปทางปลายงวงซึ่งยื่นยาว ผ่านบ้านแหลมกลัด ทิวทัศน์เริ่มชวนมอง เมื่อชายฝั่งค่อย ๆ เคลื่อนเข้ามาใกล้ ถึงหาดทรายแก้ว ภูเขาก็ทอดบรรจบกับผืนทราย ที่กิโลเมตร 48 ผมแวะศูนย์ราชการุณย์สภากาชาดไทย เขาล้าน เข้าไปชมพิพิธภัณฑ์ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวผู้อพยพชาวเขมร เมื่อครั้งสงครามเดือดระอุในกัมพูชาช่วง พ.ศ. 2522

          มุมหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ปรากฏข้อความว่า "ฉันตัดสินใจจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เหล่านี้ เท่าที่กำลังความสามารถของฉันจะมี" โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย ทรงบันทึกความรู้สึกส่วนพระองค์ไว้ ขณะช่วยเหลือชาวเขมรนับพันนับหมื่นที่หนีตายมายังบ้านเรา ในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 ศูนย์แห่งนี้ได้ปิดตัวลง เมื่อสงครามค่อย ๆ คลี่คลาย ผู้คนส่วนหนึ่งได้กลับบ้าน อีกส่วนหนึ่งตัดสินใจลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม

จังหวัดตราด

          ที่ หาดราชการุณย์ ชายหาดซึ่งร่มรื่นด้วยทิวสนและมะพร้าว บาดแผลแห่งสงครามจางลงแล้ว บรรยากาศเงียบสงบ ผู้คนเข้ามาพักผ่อนหนาตา บ้างนั่งพูดคุยตามใต้ร่มไม้ เด็ก ๆ ลงไปเล่นน้ำกันสนุกสนาน บ่ายคล้อย เมฆสีเทาค่อย ๆ รวมตัวตรงจุดบรรจบระหว่างภูเขากับทะเล ถนนทอดยาว หมู่บ้านขาวประมงปรากฏเป็นระยะ

          เย็นแล้วที่ผมมาถึง หาดบานชื่น ทิวสนเรียงราย ชายหาดทอดยาวสุดตา มีรีสอร์ตเล็ก ๆ เพียงสองสามเจ้า ผมลงไปเดินเล่นข้าง ๆ เกลียวคลื่น เกาะกูดมองเห็นราง ๆ ได้ปุยเมฆสีเทา เรือประมงลำน้อยทยอยกลับคืนฝั่ง ไม่นานฝนก็โปรยลงมา จู่ ๆ ผมก็นึกถึงชายชราคนหนึ่ง เขาเคยบอกว่า สำหรับลูกทะเลแล้ว ฤดูมรสุมก็คือช่วงเวลาที่ทะเลคนและเรือจะได้พักผ่อน ไม่มีการอาลัย แข็งขืน หรือฝืนด้าน ขณะหลบละอองฝนใต้ต้นสน มองเกลียวคลื่นสาดชัดมากวาดผืนทราย ผมเริ่มเข้าใจว่านี่คือช่วงเวลาของการพักผ่อน ทะเลกำลังพักผ่อนชั่วคราว

          4. เมื่อคืนฝนโปรยหนาหนัก เช้าตรู่ ท้องฟ้ากระจ่างใส เป็นวันแรกที่ทะเลตราดเผยให้เห็นเส้นขอบน้ำจดขอบฟ้า บนทางหลวงหมายเลข 318 ผมมีมิตรร่วมทางเพิ่มหลายคน คุณโอ๋วางมือจากงานที่ร้านชั่วคราว เรือโท บุญมา สายสะอาด และ พันจ่าเอก ไพฑูลย์ ภาสะเตมีย์ แห่งหน่วยประสานงานชายแดน ประจำพื้นที่ตราด ยินดีรับหน้าที่ "ไกด์นำทาง" จากอำเภอคลองใหญ่ ถนนเลียบเลาะภูเขาและทะเล ถึงบ้านโขดทราย กิโลเมตร 81 ผมผ่านจุดแคบสุดของบ้านเรา ที่ซึ่งผืนแผ่นดินกว้าง 450 เมตร ถูกขนาบด้วยแนวพรมแดน ภูเขา และทะเล ถึงกิโลเมตร 89 ทางหลวงหมายเลข 318 มาสิ้นสุดที่บ้านหาดเล็ก ชุมชนเล็ก ๆ ชายแดน ไทย-กัมพูชา "ปลายงวงช้าง" ในแผนที่ประเทศไทย

          เมื่อคืนฝนโปรยหนาหนัก เช้าตรู่ ท้องฟ้ากระจ่างใส เป็นวันแรกที่ทะเลตราดเผยให้เห็นเส้นขอบน้ำจดขอบฟ้า ที่ด่านพรมแดน ผู้คนค่อนข้างหนาตา หลากหลายเชื้อชาติ บ้างเดินทางท่องเที่ยว บ้างข้ามไปมาเพื่อซื้อหาข้าวของเครื่องใช้ บ้างก็มีจุดหมายอยู่ที่โรงแรมแกรนด์โฮเต็ล กาสิโน ผ่านขั้นตอนข้ามแดนเรียบร้อย เราก็บ่ายหน้าเข้ากัมพูชา ระยะทาง 10 กิโลเมต จากบ้านหาดเล็กไป จังหวัดเกาะกง นั้น ให้อารมณ์รับรู้มากหลาย ทั้งข่าวสงครามที่ยังร้อนระอุคุกรุ่น รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ถ้อยคำทักทายอันเปี่ยมด้วยน้ำใจ

ซัตปัตเต

          "หน่วยของเราถ้าเปรียบก็เหมือนทูตน้อย ๆ น่ะครับ เราเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน คนสองจังหวัดเป็นพี่น้องกันทั้งนั้น ข้ามไป-มา เรียนหนังสือ แต่งงาน รับราชการกันก็มาก" เรือไท บุญมาเล่า ถนนลาดยางทอดผ่านหมู่บ้าน ทุ่งไร่ เนินเขา ราว 20 นาที ก็ถึงสะพานยาว 1,900 เมตร ซึ่งทอดข้ามแม่น้ำเกาะปอ ทะเลมองเห็นไกล ๆ อยู่ด้านขวา

          เราแวะกินมื้อเช้าที่ร้านใกล้ ๆ วงเวียนอันเป็นจุดศูนย์กลางจังหวัด หญิงสาวเจ้าของร้านเชื้อเชิญด้วย ภาษาไทยชัดคำ ไม่นานทุกคนก็ได้กาแฟรสเข้มหอมกับ "ซัตปัตเต" ขนมปังบาแกตต์ รอยอดีตจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส อิ่มเอมมื้อเช้า เราขับรถชมตัวเมืองซึ่งคล้ายอำเภอย่อม ๆ สักแห่งในบ้านเรา ตึกแถวกำลังสร้างใหม่มีให้เห็นทุกหัวมุมถนน

เกาะกง

          ในตลาดสด ผู้คนดูคึกคักคลาคล่ำ ผักผลไม้แปลกตาวางขายกับพื้น ใกล้ ๆ กันคือร้านขายทองซึ่งเป็นตู้กระจกเล็ก ๆ เรียงรายบนยกพื้นเตี้ย ๆ แต่ละตู้มีทั้งทองรูปพรรณและเงินสดปึกหนา สะท้อนให้เห็นว่าเมืองนี้คนมีวินัย และกฎหมายนั้นศักดิ์สิทธิ์เพียงใด จากตลาดสด เราไปชมป่าชายเลนที่บ้านบางขยัก ในดงโกงกางอันสมบูรณ์มีรีสอร์ตและร้านอาหารน่านั่ง บนหอชมวิวมองเห็นได้ไกลถึงทะเล ล่วงบ่าย ก่อนข้ามสะพานกลับมา เราแวะไปที่ลานโล่งริมแม่น้ำเกาะปอ จุดนี้คล้ายสวนสาธารณะหนุ่มสาวในชุดนักศึกษาแวะมาพบปะพูดคุยกัน ฉากหลังคือสะพานทอดยาว เรือสินค้าลอยลำไกลออกไป ลมเย็นชื่นพัดลูบไล้ใบหน้า นึกถึงข่าวในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ทอดตามองแม่น้ำเกาะปอ

          อาจเป็นความจริง ที่เส้นพรมแดนไม่มีความหมายใด ๆ หากปราศจากสงคราม อคติ ภาพลวงตา

          5. ข้ามเส้นพรมแดนมา ผมแวะที่บ้านคลองสน ชุมชนประมงเล็ก ๆ อันเงียบสงบริมทาง แดดจ้าค่อย ๆ ละลายหาย เมฆฝนเข้าห่มคลุมชายฝั่งอีกครั้ง ทะเลเปลี่ยนเป็นสีเทาเลือนราง บนสะพานปลาซึ่งยื่นออกไป เกาะช้างปรากฏอยู่เบื้องหน้า ลมพัดกรูเกรียว คลื่นม้วนตัวสาดชัดเข้ามา เรือลำแล้วลำเล่าบ่ายหน้ากลับคืนฝั่ง

          "มรสุมกำลังเข้าน่ะครับ" ชายหนุ่มผิวบ่มลมทะเลบอก ขณะผูกเชือกโยงเรือให้มั่นคง ครูต่อมา "ข่าวร้าย" ก็เดินทางมาถึงชุมชนประมงเล็ก ๆ นี้ เกิดแผ่นเดินไหวรุนแรงที่ญี่ปุ่น แล้วก็เกิดสึนามิตามมา คลื่นยักษ์สูง 10 เมตร กวาดกลืนผืนดิน บ้านเรือน และผู้คนไปในชั่วพริบตา ขณะยืนอยู่บนสะพาน ผมได้กลิ่นหอมเย็นคล้ายดอกไม้ คงเป็นดอกไม้ป่าจากภูเขา แล้วกลิ่นคาวเค็มก็พัดมาลูบไล้ใบหน้า นาทีนั้น ผมไม่รู้หรอกว่าอะไรจะเกิดตามมา รู้เพียงว่า ทะเลกำลังพักผ่อนชั่วคราว

จังหวัดตราด

คู่มือนักเดินทาง

          ตราดมีชายทะเลทอดยาวกว่า 165 กิโลเมตร ทั้งยังขนานด้วยทิวเขาบรรทัด ทิวทัศน์ระหว่างทางจากเขาสมิงไปถึงบ้านหาดเล็ก-ชายแดนกัมพูชา จึงน่าชม

          ที่ตลาดแสนตุ้ง อำเภอเขาสมิง น่าแวะกินมื้อเที่ยวที่ร้านแสนตุ้ง อาหารป่าและทะเลรสจัดจ้าน ถัดไปไม่ไกลจะถึงสวนสวรรค์ตะวันออก มีผลไม้แปรรูปหลากหลาย มีสวนผลไม้น่าชมหลายสวน โทรศัพท์ 0 3953 7301

          อำเภอแหลมงอบ นับเป็นต้นทางไปยังหมู่เกาะต่าง ๆ ในชุมชนจึงมีอาหารทะเลและของฝากราคาไม่แพง

          อนุสรณ์สถานยุทธนาวีที่เกาะช้างก็อยู่ไม่ไกล

          บ้านน้ำเชี่ยวขึ้นชื่อเรื่องงอบ ร้านบ้านตาโอ่งมีงอบและผลิตภัณฑ์ใบจากหลายหลาย ในชุมชนก็เปิดให้เรียนรู้ในรูปแบบโฮมสเตย์ โทรศัพท์ 08 4892 5374, 08 6777 5133

          อำเภอเมืองฯ ย่านเก่าริมคลองบานพระน่าเดิน แวะชมพิพิธภัณฑ์ที่วัดบุปผารามแล้ว อาจลองไปเป็นชาวสวนที่บ้านห้วยแร้ง นอนบ้านโฮมสเตย์ โทรศัพท์  08 9984 8044

          ระหว่างคงจากตัวเมืองไปบ้านหาดเล็กมีชายหาดน่าแวะหลายแห่ง เช่น หาดราชการุณย์ ซึ่งในบริเวณมีพิพิธภัณฑ์ (ปิดวันอังคาร-พุธ ไม่เสียค่าเข้าชม) และบ้านพักริมทะเลของศูนย์ราชการุณย์ฯ โทรศัพท์ 0 3950 1015

          หาดบานชื่นเงียบสงบ ชายหาดทอดยาว มีร้านอาหารและรีสอร์ตน่าพักอยู่สองสามเจ้า

          บ้านหาดเล็กเป็นชุมชนสุดท้ายตรงชายแดนกัมพูชา มีสินค้าจากจีน และเวียดนามวางขายร่วมกับสินค้าไทย สามารถข้ามแดนไปเที่ยวได้ โดยยื่นพาสปอร์ตหรือทำบัตรผ่านแดนชั่วคราว ที่ด่านมีรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปจังหวัดเกาะกง ตัวจังหวัดบรรยากาศดี มีที่พักหลายแห่งริมแม่น้ำ ตลาดสดน่าเดิน ผู้คนคึกคัก ข้าวองมากหลาย

การเดินทาง

          จากกรุงเทพฯ ไปตราดสะดวกสุดโดยถนนมอเตอร์เวย์ แล้วตัดเข้าทางหลวงหมายเลข 344 (บ้านบึง-แกลง) ซึ่งจะบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 3 รวมระยะทาง 315 กิโลเมตร

          ที่สถานีขนส่งหมอชิตมีรถโดยสารประจำทางไปตราดทุกวัน บริษัทขนส่ง จำกัด มีรถปรับอากาศ 40 ที่นั่ง เที่ยวเวลา 07.30, 11.00 และ 22.00 น. ค่าโดยสาร 248 บาท โทรศัพท์ 1490, บริษัทเชิดชัยทัวร์มีรถปรับอากาศ 40 ที่นั่งจากหมอชิต เที่ยวเวลา 08.30 และ 17.30 น. ค่าโดยสาร 148 บาท โทรศัพท์ 0 2936 0199, สถานีขนส่งเอกมัยมีรถปรับอากาศ 46 ที่นั่ง ของบริษัทขนส่ง จำกัด เที่ยวเวลา 06.00, 07.00, 09.00, 11.00, 12.30, 14.30, 16.30 และ 24.00 น. ค่าโดยสาร 188 บาท โทรศัพท์ 1490

          ในตัวเมืองตราด หน้าตลาดสดเทศบาลมีรถสองแถวประจำทางไปอำเภอต่าง ๆ หรือจะเหมารายวันก็สะดวก บริษัทบางกอกแอร์เวย์ส จำกัด มีเที่ยวบินไปตราดทุกวัน เที่ยวเวลา 08.30, 10.30 และ 16.50 น. โทรศัพท์ 1771

          ทั้งนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ ททท. สำนักงานตราด โทรศัพท์ 0 3959 7259 – 60 หรือ Call Center 1672





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 51 ฉบับที่ 10 พฤษภาคม 2554


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตราดใต้เงาขุนเขาและทะเล อัปเดตล่าสุด 21 มิถุนายน 2554 เวลา 18:44:33 1,826 อ่าน
TOP