x close

คลองแดน บ้านขาว ทะเลน้อย เดินดุ่มรอบลุ่มทะเลสาบ

คลองแดน

ทะเลน้อย





คลองแดน บ้านขาว ทะเลน้อย เดินดุ่มรอบลุ่มทะเลสาบ (อสท)

จริยา ชูช่วย...เรื่อง
นภดล กันบัว...ภาพ

          หลังจากเดินทางไกล ลอง...ปล่อยให้เวลาผ่านไปสักระยะ ชะตา ภาระ จะเหวี่ยงเราไปที่ไหนก็ช่าง แล้วค่อย ๆ หลับตานิ่งนึกถึงการเดินทางครั้งนั้นอีกที ภาพแรกที่ปรากฏในมโนนึก ฉันจะเรียกมันว่า...ความทรงจำ งดงาม จางบ้าง แต่ไม่รางเลือน เช่นความทรงจำของคนรอบลุ่มทะเลสาบสงขลา ที่วันนี้ฉันพบว่า มันกำลังกลับมากระจ่างชัดอีกหน


เดินถามอดีตบรรพชน...คนคลองแดน

          ชุมชนคลองแดน ตั้งอยู่สุดเขตจังหวัดสงขลา ในอำเภอระโนด ต่อเนื่องกับตำบลรามแก้ว อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ห่างไกลทั้งจากตัวเมืองสงขลาและตัวเมืองนครศรีธรรมราชราว 100 กิโลเมตร โดยมีคลองเล็ก ๆ เป็นเขตแดนตามธรรมชาติระหว่าง 2 จังหวัด ชื่อว่า คลองแดน เป็นที่มาของชื่อชุมชนแถบนี้

          ชุมชนคลองแดนยังเป็นจุดบรรจบของอีก 2 คลอง คือ คลองปากพนัง และ คลองชะอวด เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่แห่ง 3 คลอง 2 พี่โย อภิชาติ เหมือนทอง นักวิจัยชุมชนคลองแดน เล่าความหลังเมื่อครั้งอดีตว่า ชุมชนแถบนี้เจริญมาก เป็นตลาดน้ำที่ยิ่งใหญ่แห่งลุ่มทะเลสาบสงขลา ขวักไขว่ด้วยพ่อค้าแม่ขาย ไม่มีกลางวันกลางคืน และเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อระหว่างชุมชนคลองแดนออกสู่ทะเลสาบสงขลา เรื่อยไปจนถึงอ่าวไทยด้านอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช

          สังเกตได้จากภาพถ่ายทางอากาศเมื่อปี พ.ศ. 2517 ที่แห่งนี้หนาแน่นด้วยบ้านเรือนนับร้อย มากมายด้วยร้านทอง ร้านถ่ายรูป ร้านตัดผ้า ร้านขายยา โรงปั่นไฟ ตลาดโรงสีข้าว โรงกลึง ฯลฯ ครบครันที่ตลาดดี ๆ สักแห่งจะมี โด่งดังจนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2520 ภาพยนตร์เรื่องลูกขวาน ที่นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี และ อรัญญา นามวงศ์ ยกกองมาถ่ายทำที่นี่

          ลูกขวาน-ขวานขนาดเล็กที่ใช้เป็นอาวุธป้องกันตัว ออกแบบให้กระชับเหมาะมือเฉพาะเจ้าของ ใช้ขว้างใส่เป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ว่ากันว่าสมัยก่อนผู้ชายแถบนี้มีลูกขวานเหน็บเอวกันเกือบทุกคน หากใครมีฐานะหน่อยก็จะพกกริชเป็นอาวุธคู่กายไปด้วยอีกอย่าง

          ความรุ่งเรืองตรงหน้าชาวคลองแดน กลับแปรเปลี่ยนเมื่อความเจริญแห่งการคมนาคมเข้าถึง ทางหลวงสาย 408 ที่ตัดผ่านระหว่างนครศรีธรรมราชและสงขลา เมื่อปี พ.ศ. 2517 ได้ค่อย ๆ พรากความสำคัญของสายน้ำลงไป พร้อม ๆ กับการอพยพ โยกย้าย และรื้อถอนบ้านเรือนในชุมชนคลองแดน เหลือไว้เพียงตอม่อร้าง ร่องรอยความศิวิไลซ์ให้กับปู่ย่าตายายที่เหลืออยู่ดูต่างอดีต โรงเรียนทั้งของรัฐบาลและเอกชนกว่า 4 แห่ง ค่อย ๆ ทยอยปิดตัวลงตามจำนวนนักเรียนที่เหลือน้อยเต็มที่ เหลือไว้เพียงโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 11 และโรงเรียนคลองแดนพิทยาในปัจจุบัน

          เมื่อคนย้าย บ้านร้าง สะพานขาด ตลาดหายโรงเรียนลด วัดโทรม ดูเหมือนจะตอกย้ำให้คลองแดนกลายเป็นดินแดนไกลปืนเที่ยงเข้าไปทุกที


เดินบนปัจจุบันแห่งตน...คนคลองแดน

          ลมไหลเอื่อย แสงไฟนวลลอดผ่านโป๊ะกรงนกเขาพัดปลิวตลอดริมทางเดิน น้ำหน้าบ้านกลับมากระเพื่อมด้วยฝีพายเรือลำเล็ก ของลูกหลานที่แวะเวียนมาเยี่ยมตายาย เรือนแถวไม้เดี่ยวและเรือนแถวไม้ทรงปั้นหยาริมน้ำ กลับมายืดโยงกันไว้ด้วยซานบ้านไม้เคี่ยมแต่โบราณ สลับทางเดินใหม่ที่เพิ่งสร้างอย่างต่อเนื่อง ดูคล้ายทุกอย่างกำลังกลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้ง หลังถูกทิ้งร้างไปนาน...นานเท่าที่สายน้ำถูกลดความสำคัญลง

          ดร.จเร สุวรรณชาต หัวหน้าโครงการวิจัยการปรับปรุงที่อยู่อาศัย และชุมชนในชนบทภาคใต้คลองแดน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เล่าให้ฟังในแววตาหายเหนื่อยว่า หลังจากคณะวิจัยลงพื้นที่เก็บข้อมูลหลายครั้ง พบประเด็นปัญหาสำคัญของการอพยพย้ายถิ่น คือระบบสัญจรระหว่างบ้านถูกตัดขาด เพราะในอดีตชานบ้านแต่ละหลังจะเชื่อมต่อกันโดยตลอด เมื่อมีหลังหนึ่งทรุดโทรมไป เส้นทางก็ถูกตัดขาดจากกันโดยปริยาย บวกกับปัญหาความทรุดโทรมของอาคาร บ้านเก่า ขาดคนดูแล มีเพียงผู้เฒ่าผู้แก่ปริยาย บวกกับปัญหาความทรุดโทรมของอาคาร บ้านเก่า ขาดคนดูแล มีเพียงผู้เฒ่าผู้แก่เฝ้าบ้าน ด้วยปัญหาดังกล่าว ทางคณะผู้วิจัยจึงเสนอตัวขอทุนต่อการเคหะแห่งชาติ แล้วร่วมกันพัฒนาผังแม่บท โดยเริ่มจากออกแบบอาคารทางศาสนา ซึ่งเป็นแหล่งรวมจิตใจของชุมชน ตามมาด้วยการปรับปรุงที่อยู่อาศัย





          บ้านครูสายัณห์ ชลสาคร เป็นบ้านหลังแรก ๆ ที่คณะวิจัยช่วยกันออกแบบปรับปรุงให้คงความเป็นอัตลักษณ์ ของเรือนแถวไม้ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ช่วยกันหยิบของเก่าในบ้านที่กองสุมรวมไว้ท้ายบ้าน เช่น อั้งโล่ เหล็กขูด (กระต่ายขูดมะพร้าว) คันไถ เผล้ง (หม้อดินไว้ใส่น้ำดื่ม) กระบวย ฯลฯ มาจัดเรียงให้ดูสวยงามเหมือนพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ปรับปรุงเสร็จสรรพ บ้านครูสายัณห์กลายเป็นโฮมสเตย์หลังแรกของคลองแดน ที่รองรับนักท่องเที่ยวได้กว่า 20 คน

          เรือนแถวไม้เก่า พื้นมันแปลบ ประตูบานเฟี้ยม มีเรื่องราวในอดีตบอกเล่าผ่านกรอบภาพถ่ายเก่า ๆ รอบบ้าน แบ่งพื้นที่แยกสัดส่วนให้แขกรู้สึกเป็นส่วนตัด พอ ๆ กับมีพื้นที่ให้แขกได้พูดคุยกับเจ้าบ้านแบบอบอุ่น ชั้นบนมีห้องนอนรองรับแขก 3 ห้อง ชั้นล่างมีห้องน้ำ ห้องสุขาโ ต๊ะสภากาแฟส่วนตัว ส่วนท่าน้ำหน้าบ้านเหมาะที่จะนั่งรับลมเย็น ๆ และทักทายญาติมิตรที่สัญจรไปมา

          "ไปไหนหล่าว เห็นดับของกัน อย่าไปนานนะ หลบมาคุยกับยายเร็ว ๆ" ยายเก็บเรณูมาศ เพื่อนบ้านเรือนแถวติดกันไม่ลืมทักทายเช่นนี้ทุกครั้งไป ทันทีที่เห็นทีมสารคดีของเราเริ่มสวมรองเท้าเตรียมตัวไปทำงาน ว่าก็ว่าเถอะ ฉันหาโฮมสเตย์แบบนี้มานานแล้ว

คลองแดน

วิถีพุทธ วิถีชน คนคลองแดน

          ผู้ใหญ่ตื่นเช้าตรู่นั้นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก แต่ฉันเห็นเด็กเล็กสองสามขวบที่นี่ตื่นกันก่อนไก่โห่ ไม่ได้รีบไปโรงเรียนเพราะยังไม่ถึงขวบวัย และไม่ใช่อาการหิวนมแต่อย่างใด หากแต่ตื่นมาตักบาตรพร้อมผู้เฒ่าผู้แก่ แถมยังปฏิบัติได้อย่างคล่องแคล่วราวกับเป็นกิจวัตรที่สำคัญ เขายังชวนหลวงตาสนทนาตามประสาอย่างไม่เคอะเขิน แต่สำรวมอยู่ในที อาจเพราะดินแดนที่เขาเกิดแห่งนี้ คือชุมชนวิถีพุทธ ศรัทธาแห่งวิถีพุทธของคนที่นี่แรงกล้า และดูเหมือนว่าจะถูกเชื่อมโยงอยู่ในทุกแง่มุม รวมถึงแง่การท่องเที่ยว ที่ถือว่า วัดคลองแดน มีมรดกทางวัฒนธรรมค่อนข้างสูง

          วัดคลองแดน สร้างราว พ.ศ. 2430 ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับคนคลองแดนมักถูกหล่อหลอมมาจากที่แห่งนี้ พวกเขาใช้หลัก "วชร" วัด ชุมชน รัฐบาล ในการขับเคลื่อนชุมชนโดยให้วัดเป็นจุดศูนย์กลางนำชุมชน เพราะเชื่อว่าชุมชนไหนที่มีคุณธรรมนำมักอยู่รอดปลอดภัย โดยมีหน่วยงานภาครัฐบาลมาสนับสนุน แต่ก็อีกนั่นแหละ ต้องเป็นการช่วยเหลือที่สอดคล้องกับทิศทางของมติคนในชุมชน


          ภายในวัดยังมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถจับต้องได้หลายประการ เช่น องค์พระทองโบราณ ปางมารวิชัย ศิลปะผสมผสานล้านนา ล้านช้าง สุโขทัย อยุธยา และท้องถิ่นได้ ลักษณะงดงามชดช้อย เรือขุดไม้ตะเคียนทองโบราณ บรรจุคนได้ 40 – 50 คน ใช้ขนทราย ย้ายบ้านเมื่อครั้งอดีต หอฉัน สถาปัตย์พื้นถิ่นลุ่มทะเลสาบสงขลา สร้างจากไม้เคี่ยม ไม้หลุมพอ ไม้ยางอายุร่วมร้อยปี ในฤดูน้ำพะ (น้ำหลาก) สมัยก่อน ชาวบ้านจะย้ายข้าวของและอพยพมาหลบน้ำชั่วคราว ยังมีโรงธรรมไม้เคี่ยมโบราณทั้งหลัง และลานธรรมรูปแบบใหม่ที่เรียบง่าย โดดเด่น สวยงาม แฝงด้วยปริศนาธรรม ฯลฯ

          หลังเดินวนรอบวัดอยู่พักใหญ่ ฉันก็นึกสงสัยอยู่นานว่า "ทำไมบนหลังคามีถ้วย" ทั้งหลังคาหอฉัน หลังคากุฏิ มีถ้วยกระเบื้องเคลือบประดับตรงมุมทุกหลัง จนกระทั่งได้รับคำตอบจาก พระมหาปราโมทย์ จุนทโซโต เจ้าอาวาสวัดคลองแดน ว่านอกเหนือจากความงามแล้ว ช่างรุ่นเก่ายังฝากความศรัทธา ไว้ในงานสถาปัตยกรรมอย่างลึกซึ้งอีกด้วย เมื่อข้าวก้นบาตรเหลือ พระสงฆ์จะหว่านขึ้นบนหลังคาให้นกได้กิน ถ้วยที่เห็นเหล่านั้นมีไว้เพื่อรองรับน้ำฝน เผื่อแผ่ให้นกได้ดื่มนั่นเอง

          เช่นเดียวกัน การบูรณะแต่ละส่วนในวัด เจ้าอาวาสจะให้โจทย์เป็นปริศนาธรรม บวกภูมิรู้เรื่องท้องถิ่น แล้วให้สถาปนิกไปตีโจทย์มานำเสนอ หากเข้าถึงซึ่งธรรมะ จึงจะเข้าถึงซึ่งสถาปัตย์ที่วัดแห่งนี้ ในทุกวันพระจะมีกิจกรรมธรรมะสัญจร โดยพระสงฆ์วัดคลองแดนจะออกไปบิณฑบาตตามหมู่บ้านที่ห่างไกลวัด หลังจากนั้นจะเป็นช่วงเวลา "ธรรมสากัจฉา" สนทนาธรรมโดยการปุจฉา วิสัชนา ระหว่างพระสงฆ์และชาวบ้าน วิธีนี้นอกจากชาวบ้านจะได้ประโยชน์ในสิ่งที่อยากรู้แล้ว ยังช่วยฝึกให้พระภิกษุตั้งใจศึกษาหาความรู้ เพื่อให้สามารถตอบคำถามของชาวบ้านที่ไม่อาจคาดคิดอยู่ตลอดเวลาได้




เดินทำไม ในคลองแดน

          เดินทำไม ไม่รู้ รู้แต่เดินเท่าไหร่ก็ไม่รู้เบื่อ ในแง่มุมของการท่องเที่ยว นอกจากเรื่องราวของวิถีพุทธภายในวัด ที่ชวนศึกษาแล้ว มาคลองแดนยังมีอะไรให้เดินดูอยู่อีกมาก หากมีเวลาเล็กน้อยเพียงวันหยุดสุดสัปดาห์ เท่านี้ก็สามารถอิ่มเอมกับการเที่ยวคลองแดนได้

          ช่วงเช้าตรู่อาจลงเรือเหมาลำที่หน้าร้านยาศรีสุขโอสถ ร้านยาโบราณที่ยังเหลืออยู่ไม่กี่ร้านในคลองแดน ท่องล่องชมวิถีชีวิตริมคลอง ผ่านดงตาล 100 ปี เรียงเป็นทิวแถว กะเรกะร่อนหรือกล้วยไม้ผีโชว์ดอกงามอิงแอบบนต้นตาล ล่องเรื่อยไปจนถึงที่บ้านท่าเข็น หมู่บ้านชาวประมงริมอ่าวไทย ที่วันนี้ยังมีร่องรอยของอุทกภัยใหญ่เมื่อปีที่แล้วให้เห็น ที่นี่เป็นแหล่งกำเนิดแป้งแดง ของหมักลักษณะคล้ายปลาจ่อมทางภาคอีสาน แต่มีสีแดง ทำจากเนื้อปลาเล็กปลาน้อยที่หมักจนได้ที่ ใช้ปรุงเป็นอาหารได้หลายแบบ ทั้งผัดปรุงคล้ายน้ำพริก แกล้มผักสด ทำหลน



          ในวันที่เราไปถึงท่าเข็น คลื่นลมยังเกรี้ยวราดพอควร เสร็จจากล่องเรือ ลองเดินชมสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นลุ่มทะเลสาบสงขลา บ้านเรือน แต่ละหลังอายุเฉลี่ยเกินกว่า 50 ปี บางหลังอายุเกิน 100 ปี เปลี่ยนเจ้าของไปแล้ว 2 - 3 รุ่น บ้างก็ใช้คานดีดขึ้นเรือมาจากที่อื่น

          ทันทีที่เข้าชม บ้าน 100 ปี ศรีคลองแดน ของ พี่วุธ - พี่น้อย ฉันรู้สึกทึ่งในความคงอยู่ และความงามของบ้านไม้ตะเคียนทั้งหลัง สีดำมันขลับตามธรรมชาติที่สีเคมีใด ๆ ก็ไม่สวยเท่า หลังคากระเบื้องดินเผาแบบดั้งเดิมจากเกาะยอ มีบางส่วนที่ต่อเติมใหม่และใช้หลังคาลอนคู่ อาจดูขัดเขินบ้าง เพราะเดี๋ยวนี้ครั้นจะมุงหลังคาด้วยกระเบื้องแบบเดิม ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โรงงานกระเบื้องดินเผาจะผลิตก็ต่อเมื่อครั้งละเป็นแสนแผ่น ราคาตอนนี้ก็แผ่นละแปดเก้าบาทเข้าไปแล้ว หากต้องการความเก่ากลมกลืน สิ่งที่ทำได้คือการสะสมกระเบื้องเก่า ที่นี่ยังเปิดเป็นโฮมสเตย์ รองรับนักท่องเที่ยวที่มาเป็นกลุ่มได้กว่า 70 คน



          การเดินเที่ยวเองในคลองแดนก็ทำได้ไม่ยาก เพราะมีป้ายสื่อความหมาย ที่คณะวิจัยทำไว้บอกเล่าเรื่องราวความสำคัญของแต่ละจุด ช่วยให้ได้ความรู้ เข้าใจชุมชน แถมยังช่วยทุ่นแรงคนนำเที่ยวได้อีกโข ไฮไลต์อีกอย่างของที่นี่อยู่ในช่วงเย็นของวันเสาร์ หลังตะวันเริ่มคล้อย ตลาดน้ำคลองแดนก็เริ่มมีชีวิต ด้วยความเป็นตลาดเล็ก ๆ น่ารัก ๆ เกิดขึ้นเพราะอยากให้มีหนึ่งวันในรอบสัปดาห์ที่คนในชุมชนได้พบปะ พูดคุย และร่วมกิจกรรมสนุกสนานกัน อาหารที่ขนมาขายรับรองอร่อยเหาะ ฉันลองมาแล้ว เต้าคั่ว ขนมจีน ข้าวมันแกงไก่ ขนมจาก ขนมมัน เขาทำกันจำนวนน้อย เน้นคุณภาพ เน้นโชว์ฝีมือ เพราะฉะนั้น มาตลาดนี้อยากกินอะไรให้กินเลย อยากซื้ออะไรให้ซื้อเลย ช้าอดแน่ ๆ

          แม่ค้าคนไหนขายของหมดก่อน กระโดดขึ้นเวทีริมน้ำระบำรำฟ้อน จนบางทีแทบจะแจกให้หมด ๆ จะได้ขึ้นเวทีก่อนใคร มโนห์ราจากลูกหลานชาวคลองแดนเริ่มแสดง บ้างสลับบรรเลงดนตรี บ้างก็มีกลุ่มชาวต่างชาติอาสาขึ้นรำฟ้อนกับชาวบ้าน ดูคล้ายจะเป็นตลาดศูนย์กลางสนทนาฮาเฮ มากกว่าการค้าขายเสียด้วยซ้ำ

          คืนนี้ถ้าไม่รีบร้อนนัก แนะนำให้พักโฮมสเตย์ที่คลองแดนสักคืน ฉันพริ้มหลับอยู่ที่นี่สี่ห้าคืนแล้ว ก็ดูเหมือนจะไม่เพียงพออะไรกับความน่าสนใจของวิถีชีวิตพวกเขา

          บทประพันธ์ของ อาจารย์ยงยุทธ หนูเนียม อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย "ลูกคลองแดน" ที่ร่ายบนเวทีกลางน้ำในตลาดเมื่อเย็น ยังดังก้องและจารจำอยู่ในใจคนที่นี่ มีไม่กี่คนหรอกที่จำกลอนบทนี้ไม่ได้

          "คือสายน้ำแห่งความหมายลมหายใจ คือสายน้ำแห่งสายใยให้สืบสาน คือสายน้ำแห่งชีวิตจิตวิญญาณ คือวิถีธารวิถีชน...คนคลองแดน"



มาเขเรือดูควาย นา เล เท่บ้านขาว

          เข้าอีกวันเราเดินทางจากคลองแดนมาไม่ไกล ตามคำแนะนำของ ททท. สำนักงานหาดใหญ่ เพื่อมาสัมผัสความมหัศจรรย์ 5 อย่างของบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา นก น้ำใส บัวสาย "ควายน้ำ" กลางนา พี่ขาว ตาบตรี ธนาคม แกล้วทนงค์ พาพวกเราลงเรือที่คลองบ้านขาว หมู่ที่ 3 ตั้งแต่เช้าตรู่ ระหว่างทางช่วงแรกยังเป็นคลองเล็ก ๆ รกชัฏด้วยกอผักกระเฉด วิ่งผ่านอีกหน่อยเข้าสู่พื้นที่ดูแลของ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย (หน่วยพิทักษ์ป่าบ้านพราน) สองข้างลำคลองบริเวณนี้เต็มไปด้วยดงมะม่าวและดงสน ผ่านดงบัวสายสีชมพูเข้ม เช่นที่เราเห็นมากในทะเลน้อย

          วิ่งไปอีกหน่อยเริ่มกลายเป็นดงบัวสีชมพูอมขาว ลอยลำมาเรื่อย วิถีในทะเลเริ่มเคลื่อนไหว ควายไล่ทุ่ง หรือ ควายน้ำ สีดำตัวเขื่องนับพัน ๆ ตัว เบียดเสียดกันอยู่ในคอกไม้บนเนินดินถมกลางน้ำ รอเจ้าของมาเปิดประตูคอกออกแหวกว่ายหาอาหาร มันค่อย ๆ เดินลงน้ำทีละตัว จนหมดคอก บ้านเดิน บ้างว่ายน้ำ บ้างก็ดำลงกินหญ้าใต้น้ำ

          "เจ้าของไม่ต้องทำอะไรเลย มีหน้าที่มาเปิดคอกตอนเช้า แล้วมาปิดตอนเย็นเท่านั้น นอกนั้นควายมันทำเอง หากินเอง เดินกลับเข้าคอกเอง มีมั้งเท่หลงไปเข้าคอกเพื่อน" พี่ขาวเล่าให้ฟัง

          ระหว่างทางล่องเรือ เห็นหัวควายลอยคอโผล่เป็นระยะ ๆ จนถึงป่าเสม็ดขาวรกทึบ น่าวังเวงอยู่ไม่น้อย ดีที่มีนกน้อยใหญ่มาบินโฉบให้ตื่นตาตื่นใจตลอดทาง ทั้งเหยี่ยวแดง นกพริก นกเป็ดน้ำ นกนางนวลแกลบ นกกระสาแดง นกนางแอ่นบ้าน นกตีนเทียน ฯลฯ เพลินจนลืมแดดไปเลย ผ่านจุดนี้ไปก้มดูน้ำใสแจ๋วเหมือนแก้ว มีสาหร่ายหางกระรอก สาหร่ายข้าวเหนียวหนาทึบใต้น้ำ ลวงตาบดบังความใส่ไปบ้าง ล่องผ่านดงกง หรือพลับพลึงน้ำ จนไปบรรจบกับเส้นทางล่องเรือท่องเที่ยวของ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จึงค่อยวกกลับ ดงบัวสายเริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาวสลับม่วง น้ำตรงนี้ใสจนเห็นใบบัวไหวเบื้องล่าง

          ล่องมาอีกนิดจะพบดงบัวสายสีชมพูเข้มที่อัดกันแน่น บริเวณนี้เป็นร่องลม ทำให้นั่งเรือชมบัวผมปลิวเย็นสบาย ซ้ายขวามีนกนางแอ่นบ้านบินหยอกล้อเรือในระยะประชิด วิ่งผ่านมาจนถึงปากทางกลับมียอยักษ์เรียงราย บ้างเพิ่งผ่านการยก ยังเปียกหมาด ๆ บ้างก็หักร้างผุพัง นาทีที่ล่องเรือลอดผ่านยอยักษ์คันแล้วคันเล่า ความรู้สึกเราก็ไม่ได้แปลกแยกจากปลาชิวปลาสร้อย ที่พร้อมจะติดกับดักอย่างไม่มีทางเลือก กว่า 2 ชั่วโมง บนเส้นทางล่องเรือบ้านขาว ไม่มีวินาทีไหนน่าสนใจน้อยไปกว่ากันเลย อาจเพราะฉันด้อยประสบการณ์ หรือไม่ มันก็น่าตื่นเต้นไม่น้อยกว่าที่ฉันเคยเจอ

ทะเลน้อย

กินกลางทุ่ง นอนกลางนา

          มื้อเที่ยงวันนี้พิเศษสุด เราได้มากินของหรอยบ้านขาว แล้วนอนพุงกางที่ขนำกลางนา ยำมะม่วงเบา กุ้งผัดน้ำผึ้ง น้ำพริกกะปิ แกงส้มปลากะพงยอดมะพร้าว ปลาย่างเกลือ ฯลฯ ฝีมือเด็ดขาดทุกเมนู เสร็จจากมื้อเที่ยง จะว่าเพลียแดดจากนั่งเรือก็ไม่เชิง คงเคลิ้มลมพัดแถวนี้มากกว่าพาให้ทีมสารคดีของเราเผลอนอนยาว หลับปุ๋ยไม่รู้ตัวไปเสียแล้ว บริเวณขนำแห่งนี้ พี่ขาวตั้งใจให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ มีพืชพรรณรอบบริเวณทั้งกล้วย มะพร้าว มะนาว มะละกอ ฯลฯ อยู่ท่ามกลางอ้อมกอดท้องทุ่งสีสันเปลี่ยนผันตามฤดู

          บ่อปลาขนาดใหญ่ข้างบ้านคือแหล่งอาหารและเก็บกักน้ำชั้นดี แต่ที่ขนำยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เพราะตั้งใจจะอยู่แบบอิงธรรมชาติให้มากที่สุด ยามเย็นย้ายถิ่นมาโฮมสเตย์บ้านครูสุนีย์-ดาบตรี สมพร แกล้วทนงค์ ข้างบ้าน คือทุ่งนาสุดลูกหูลูกตา ยามนี้สีเขียวสดทั้งทุ่ง มองทีไรสดชื่นผ่อนคลายสบายตาดีเหลือเกิน ห้องหับจัดสรรเป็นสัดส่วน ห้องน้ำ ห้องส้วมเพียงพอสะอาดสะอ้าน

          โฮมสเตย์ที่บ้านขาวมีให้เลือกหลายแบบกว่า 30 หลัง ทั้งติดนา ติดทะเลกลางสวน แล้วแต่เลือก แล้วแค่ชอบ ค่ำคืนนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวของบ้านขาวในอดีต ครั้งยังทุรกันดารแต่มากด้วยเสน่ห์ แม้นาทีนี้ความทุรกันดารจะเป็นภาพราง ๆ แต่ความมากเสน่ห์ยังกระจ่างเช่นที่เป็นมา ก่อนนอนครูสุนีย์ทิ้งท้ายไว้ว่า "เชื่อไหมพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้าที่บ้านครู กลมแดง โต และเห็นชัดที่สุด"

          เชื่อแล้วค่ะครู

ทะเลน้อย

เดินเลียบทะเลน้อย เส้นทางหลากชีวิต

          หลังจากที่สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 บางคนเรียกสะพานหัวป่า-ไสกลิ้ง ตัดผ่านเชื่อมตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลากับตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เข้าด้วยกัน สามารถย่นระยะทางจาก 160 กิโลกรัม เหลือเพียง 17.5 กิโลกรัม ดูเหมือนเส้นทางชีวิตของคนสองจังหวัดจะง่ายขึ้นมาก สะพานทอดยาวข้ามคลองนางเรียม คลองบ้านกลาง และบางส่วนของทะเลน้อย มีจุดพักรถ 2 จุด บนสะพานแลดูว่างเปล่ายาวไกล ต่างกับใต้สะพานที่เต็มไปด้วยชีวิต ฝูงนกตีนเทียนยืนนิ่งสลับกับบินแปรขบวนชวนให้เราเพลิน มองไปสุดลูกหูลูกตาเห็นฝูงควายไล่ทุ่งที่ทุ่งแหลมดิน กำลังยืนเล็มหญ้าอยู่ฝูงใหญ่ ใต้สะพานก็มีควายอีกฝูงเดินเล็มหญ้าเป็นงานหลัก โชว์นักท่องเที่ยวเป็นงานรอง

          เรื่องนกและพืชพรรณในทะเลน้อยตามที่นักเขียน อ.ส.ท. รุ่นพี่เขียนไว้หลายคน หลายเรื่อง หลายฉบับนั้น มันยังคงงดงามเช่นนั้น ทั้งนกพื้นถิ่นและนกอพยพยังคงมีให้เห็นจนอิ่ม สวรรค์ของนักดูนกไม่เคยจางหายจากทะเลน้อย และเรื่องราวของพืชพรรณบริเวณป่าพรุ ที่มีทั้งต้นตีนเป็ดพรุ แหล่งทำรังของนกกาบบัว และดงต้นเสม็ดขาวทึบลึกลับ แหล่งวางไข่ของนกน้ำชนิดอื่น ๆ

          ริมฝั่งคลองบ้านกลาง แถวทุ่งแหลมดิน นอกจากเห็นน้องควายไล่ทุ่งฝูงใหญ่แล้ว บริเวณนี้ยังเป็นจุดรอยต่อระหว่างน้ำจืดกับน้ำกร่อย สังเกตได้ว่าจะมีพืชน้ำจำพวกเตยน้ำ สาหร่ายต่าง ๆ และสันตะวาใบข้าว หากล่องเรือไปจนถึงปากประในยามรุ่งสางจะพบแหล่งยอยักษ์จำนวนมาก ยามถูกย้อมสีด้วยผืนฟ้าเบื้องหลังช่างงดงามนัก นั่งดูคุณลุงยกครั้งแล้วครั้งเล่า หลายครั้งที่ฉันเห็นเพียงความวางเปล่าของยอที่โผล่พ้นน้ำ เข้าเดินหันหลังให้มัน ก่อนที่จะกลับมายกมันอีกครั้ง อีกครั้ง... ราวกับว่าโอกาสไม่เคยจางหายจากหัวใจพวกเขาเลยแม้สักวัน

          เมื่อฟ้ายามรุ่งสางเริ่มเปลี่ยนสี เขาก็เริ่มแสวงหาโอกาส เช่นนี้อีกทุกวัน วิถีริมทะเลน้อยเปลี่ยนแปลงไปบ้าง จากเมื่อเด็ก ๆ ที่เคยเห็นเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มดูนก กลายเป็นนักท่องเที่ยวหลากกลุ่มมากขึ้น ท่าเรือดูแน่นหนาแข็งแรง มีระบบระเบียบ ที่พักร้านอาหารเริ่มหนาตา ของที่ระลึกจากกระจูดมีดีไซน์แปลกใหม่เพิ่มมากขึ้น แต่ฉันยังไม่ลืมเดินตามหากลิ่นหอมปลาดุกร้า และไข่ปลาทอดสูตรเฉพาะของทะเลน้อยเช่นเดิม

          นักท่องเที่ยวที่มาที่นี่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น เพราะนอกจากเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยแล้ว ตอนนี้ยังมีสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง เป็นแหล่งเรียนรู้กลางทะเลที่น่าสนใจ เหมาะสำหรับจัดค่าย ฝึกอบรมมีห้องนิทรรศการ วิทยาการ และที่พักพร้อมสรรพ หลังจากที่ฉันเดินดุ่มรอบลุ่มทะเลสาบมาหนึ่งสัปดาห์ บางทีไม่เคยไปก็อาศัยฟังเรื่อง เล่าจากความทรงจำของใครหลายคน บางที่เคยไปเยือนหลายต่อหลายครั้ง ก็เอาความทรงจำของตัวเองผสมเขาไปบ้าง เฝ้ามองเรื่องราวผ่านมิติความงามและกาลเวลาของลุ่มทะเลสาบแห่งนี้

          อดีตและปัจจุบันเป็นมิติสะท้อนย้อนกลับไปกลับมาของกันและกัน ไม่มีกาลใดใหญ่กว่ากาลใด ไม่มีกาลใดงามกว่ากาลใด มันงดงามยิ่งใหญ่น่าจดจำไปเสียหมด อยู่ที่ว่าความทรงจำต่อลุ่มทะเลสาบแห่งนี้ ของใครคงทนกว่ากัน...


คู่มือนักเดินทาง

          คลองแดน บ้านขาว และทะเลน้อย ถือเป็นเส้นทางท่องเที่ยว ต่อเนื่องในเส้นทางเดียวกัน หากมีเวลาสักสามสี่วันก็ลองเที่ยวให้ครบ เรียกว่าครบรสวิถีรอบลุ่มทะเลสาบ

การเดินทาง

          ไปคลองแดนจะเริ่มจากตัวเมืองนครศรีธรรมราชหรือตัวเมืองสงขลาก็ได้ ระยะทางราว 100 กิโลเมตรพอกัน จากจังหวัดสงขลาวิ่งไปตามทางหลวงหมายเลข 408 ผ่านแยกรับแพรก ผ่านสะพานท่าเข็น สังเกตป้ายทางเข้าตลาดน้ำย้อนยุคคลองแดนซ้ายมือ ตรงเข้าไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร จะพบตลาดน้ำอยู่ทางซ้ายมือ มีป้ายสังเกตชัดเจน หากจะไปบ้านขาวให้เลี้ยวซ้ายตรงแยกรับแพรก ตรงไปผ่านตัวอำเภอระโนด ตรงไปจนถึงสามแยกหัวป่า เลี้ยวขวาไปทางป้ายควนชลิก ตรงไปจนถึงวัดบ้านขาว แล้วโทรศัพท์ให้ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านขาวออกมารับ หากจะไปทะเลน้อย เมื่อมาถึงสามแยกหัวป่า ให้เลี้ยงซ้ายตรงไปข้ามสะพานเฉิลมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เข้าพื้นที่ทะเลน้อย

ที่พัก ที่กิน

          เนื่องจากคลองแดนและบ้านขาวเป็นการท่องเที่ยวแบบวิถีชีวิตวัฒนธรรม ที่พักแบบโฮมสเตย์มีจำกัด หากต้องการพักให้โทรศัพท์ติดต่อไปสอบถามรายละเอียดล่วงหน้า คลองแดน ติดต่อคุณอภิชาต เหมือนทอง โทรศัพท์ 08 6288 6941 ดร.จเร สุวรรณชาต โทรศัพท์ 08 9599 7893หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ facebook Klongdan

          บ้านขาว ติดต่อดาบตรี ธนาคม แกล้วทนงค์ โทรศัพท์ 08 9468 1126 คุณมิ่งขวัญ รัตนภักดี โทรศัพท์ 08 3106 6730 ปลัดอุทัยคงหนู โทรศัพท์ 0 7439 6784

          ส่วนทะเลน้อย มีให้เลือกพักทั้งในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย โทรศัพท์ 0 7468 5230 สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง โทรศัพท์ 0 7468 5599 และในส่วนของเอกชน เช่น บ้านทวีสุข โทรศัพท์ 08 7466 4842, 0 7468 5492 บ้านล้านบัว โทรศัพท์ 0 7468 5573 ทะเลน้อยรีสอร์ท โทรศัพท์ 08 1189 6193

          สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานหาดใหญ่ โทรศัพท์ 0 7423 1055 และ 0 7423 8518




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 51 ฉบับที่ 9 เมษายน 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คลองแดน บ้านขาว ทะเลน้อย เดินดุ่มรอบลุ่มทะเลสาบ อัปเดตล่าสุด 31 มกราคม 2567 เวลา 16:53:35 6,969 อ่าน
TOP