x close

สถานที่ไหว้พระกรุงเทพฯ แจกพิกัด 20 วัด ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี

           ไหว้พระกรุงเทพมหานคร แนะนำสถานที่สักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงศาลเจ้าจีนต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี เพื่อไปขอพรเสริมสิริมงคล
           กิจกรรมเริ่มต้นปีที่หลายคนนิยม คือการไปไหว้พระขอพรเสริมสิริมงคลตามวัดวาอารามต่าง ๆ ซึ่งในกรุงเทพมหานคร ก็มีวัดสำคัญ พระอารามหลวง (วัดหลวง) รวมถึงศาลเจ้าที่ได้รับความนิยมอยู่หลายแห่ง ทั้งวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ศาลหลักเมือง ศาลเจ้าพ่อเสือ และวัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) เป็นต้น วันนี้เราเลยขอนำเอา สถานที่ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร หรือจะเป็นเส้นทาง ไหว้พระ 9 วัด กรุงเทพฯ  อื่น ๆ มาแนะนำกันบ้าง

สถานที่ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร
ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี

1. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร

          วัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่บนถนนนครปฐม ติดคลองเปรมประชากร ใกล้กับลานพระบรมรูปทรงม้าและทำเนียบรัฐบาล เป็นอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร แต่เดิมชื่อ “วัดแหลม” หรือ “วัดไทรทอง” ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ช่วงปี พ.ศ. 2369 ได้เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ขึ้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพนมวัน กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ (ต้นราชสกุลพนมวัน) ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นแม่ทัพรักษาพระนคร ท่านได้ทรงตั้งกองบัญชาการทัพที่วัดแหลม และเมื่อปราบกบฏเรียบร้อยแล้วจึงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดกับพี่น้องอีก 4 พระองค์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดเบญจบพิตร” หมายถึง วัดของเจ้านาย 5 พระองค์ จนปี พ.ศ. 2443 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มสร้อยต่อท้ายเป็น “วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม” หมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5

          ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระพุทธชินราชจำลอง ประดิษฐานเป็นองค์ประธานอยู่ในพระอุโบสถ ด้านหลังพระอุโบสถมีต้นศรีมหาโพธิ์ต้นแรกที่นำมาจากเมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย, พระอุโบสถ ประดับตกแต่งด้วยหินอ่อนอิตาลีทั้งหลังที่เดียวในไทย, พระที่นั่งทรงผนวช ที่ประทับของรัชกาลที่ 5 เมื่อทรงพระผนวชใน พ.ศ. 2416 และอนุเสาวรีย์ประจำรัชกาลที่ 5 เป็นต้น

ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร

2. วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

          พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ด้านหน้าวัดหันออกทางถนนอุณากรรณ ส่วนฝั่งด้านถนนบำรุงเมืองจะอยู่ตรงข้ามเสาชิงช้า สัญลักษณ์สำคัญของกรุงเทพฯ เป็นวัดที่รัชกาลที่ 1 มีพระราชดำรัสให้สร้างขึ้นในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2350-2351 ในพื้นที่ของพระนครชั้นใน เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย โดยพระองค์ได้พระราชทานนามว่า วัดมหาสุทธาวาส แต่ยังสร้างมิทันสำเร็จก็เสด็จสวรรคตก่อน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการสร้างต่อ แต่ก็ยังมิทันแล้วเสร็จก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน จากนั้นรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ทำการบูรณะสร้างพระวิหารจนสำเร็จในปี พ.ศ. 2390 แล้วโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถและศาลาการเปรียญ พร้อมทั้งสร้างสัตตมหาสถาน และกุฏิสำนักสงฆ์ประดิษฐานสังฆาราม พระราชทานนามว่า วัดสุทัศนเทพวราราม และในรัชกาลที่ 4 ยังได้ทรงผูกนามพระประธานในพระวิหาร พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ ให้คล้องกันว่าพระศรีศากยมุนี พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ และพระพุทธเสรฏฐมุนี

          ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถที่ยาวที่สุดในไทย ด้านหลังประดิษฐานท้าวเวสสุวรรณองค์เก่าแก่ให้สักการะด้วย, พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 3 วา 1 คืบ บริเวณผ้าทิพย์ ด้านหน้าพุทธบัลลังก์ บรรจุพระบรมราชสรีรางคารรัชกาลที่ 8, พระพุทธเสรฏฐมุนี พระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อจากกลักฝิ่น ประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ ศาลาการเปรียญ, ภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับเปรตภายในพระวิหาร และพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 8 เป็นต้น

ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร

3. วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

         พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ใกล้กับพระราชวังสราญรมย์ และสวนสราญรมย์ รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2407 ตามธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ว่า ในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐาน เช่นที่สุโขทัย สวรรคโลก พิษณุโลก และพระนครศรีอยุธยา รวมถึงอุทิศถวายแก่พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เพื่อพระองค์ เจ้านาย ข้าราชการ และฝ่ายหน้า-ใน ได้บำเพ็ญกุศลสะดวก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ช่างปฏิสังขรณ์สิ่งชำรุดทรุดโทรมทั่วทั้งพระอาราม

         ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระวิหารหลวง (พระอุโบสถ) ตั้งตระหง่านอยู่บนพื้นไพที มีมุขหน้าและหลัง ประดับด้วยหินอ่อนทั้งหมด ด้านในประดิษฐาน “พระพุทธสิหังคปฏิมากร” พระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตัก 1 ศอก 6 นิ้ว อยู่บนฐานชุกชีภายใต้บุษบก โดยมีพระบรมอัฐิ (บางส่วน) ของรัชกาลที่ 4 อยู่ภายในด้วย อีกทั้งยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชพิธีสิบสองเดือน ภาพสุริยุปราคาในสมัยรัชกาลที่ 4, ศาลาการเปรียญ อาคารคอนกรีตชั้นเดียว ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโบสถ์ขนาดเล็กของกรีกโบราณ เพดานประดับด้วยดวงตราประจำรัชกาลที่ 4 บริเวณนี้เป็นเขตหวงห้ามสำหรับสตรีหรือเขตสังฆาวาส และศิลาจารึก แกะสลักด้วยหินอ่อนทั้งแผ่น เป็นประกาศในรัชกาลที่ 4 ทั้งหมด 2 ฉบับ ฉบับแรกเป็นประกาศการสร้างวัดถวายพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย จารึกในปี พ.ศ. 2407 และฉบับที่ 2 ประกาศเรื่องงานพระราชพิธีผูกพัทธสีมาวัด จารึกในปี พ.ศ. 2408 ซึ่งประกาศทั้ง 2 ฉบับ ลงพระปรมาภิไธยรัชกาลที่ 4 ซึ่งข้อความในศิลาจารึกทั้ง 2 ฉบับนั้นนับว่ามีความสำคัญ เป็นมหามรดกล้ำค่าที่เป็นมหาสมบัติของคณะธรรมยุติกนิกาย เป็นต้น

ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร

4. วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร

          วัดศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองย่านบางลำพู ตั้งบนถนนจักรพงษ์ ใกล้กับถนนข้าวสาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ที่สร้างสมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสถาปนาวัดขึ้นมาใหม่ และรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นวัดพระสงฆ์ฝ่ายราชสามัญ เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ทหารรามัญในกองทัพของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท จากนั้นเมื่อมีชัยชนะต่อกองทหารข้าศึกถึง 3 ครั้ง จึงพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดชนะสงคราม”

          ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ มเหทธิศักดิ์ปูชนียะชยันตะโคดมบรมศาสดา อนาวรญาณ พระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2.50 เมตร สูง 3.50 เมตร เป็นพระประธานประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ, รอยพระพุทธบาทจำลอง, พระบรมธาตุเจดีย์ ด้านบนสุดประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ชั้นต่อมาเป็นพระรูปสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ชั้นล่างสุดเป็นหอกลองและระฆัง, ศาลาที่มีพระรูปหล่อสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท และศาลเจ้าแม่กวนอิม รูปทรงสถาปัตยกรรมจีน ภายในมีเจ้าแม่กวนอิมเป็นพระประธาน และมีเทพเจ้าจีนต่าง ๆ ให้สักการะ

ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร

5. วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร

          พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ที่ถือว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 3 แห่งบรมราชวงศ์จักรี ตั้งอยู่ริมคลองสนามไชย ฝั่งตะวันตก (ฝั่งธนบุรี) สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมเรียกว่า “วัดจอมทอง” หรือ “วัดเจ้าทอง” หรือ “วัดกองทอง” เมื่อ พ.ศ. 2363 มีข่าวว่าพม่าเตรียมยกทัพเข้ามาตีสยาม รัชกาลที่ 2 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) ทรงเป็นแม่ทัพคุมพลไปรบทางเจดีย์ 3 องค์ จังหวัดกาญจนบุรี จึงได้เสด็จประทับแรมที่หน้าวัดจอมทองแห่งนี้ และทรงทำพิธีตามลักษณะพิชัยสงคราม อธิษฐานให้ประสบความสำเร็จกลับมาโดยสวัสดิภาพ แต่เนื่องจากพม่าไม่ได้ยกทัพมาตามที่เล่าลือ จึงเสด็จกลับพระนคร และโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดจอมทองใหม่ทั้งวัด ถวายเป็นพระอารามหลวง อีกทั้งโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดราชโอรส” นอกจากนี้ยังเป็นวัดแรกที่ตกแต่งด้วยศิลปะจีนผสมไทยได้อย่างประณีตงดงาม

          ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร พระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ 1 วา 2 ศอก เป็นพระประธานในพระอุโบสถ รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสรีรางคารของรัชกาลที่ 3 มาประดิษฐานไว้ที่ฐานพระพุทธรูป พร้อมกับถวายพระปรมาภิไธยประจำรัชกาล และศิลาจารึกดวงชันษา และเมื่อ พ.ศ. 2504 รัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตร 9 ชั้น) อีกทั้งพระอุโบสถยังมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมผสมระหว่างไทยกับจีน หลังคาเป็นแบบจีน มุงกระเบื้องสีแบบไทย ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันประดับกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ ตกแต่งเป็นรูปแจกันดอกเบญจมาศ มีรูปสัตว์มงคลตามคติของจีน

ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร

6. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร

         พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่บริเวณถนนหน้าพระธาตุ ไม่ไกลจากพระบรมมหาราชวัง เดิมชื่อว่า วัดสลัก ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ พระราชทานนามว่า วัดนิพพานาราม ก่อนจะเปลี่ยนเป็น วัดพระศรีสรรเพชญ์ เคยใช้เป็นที่สังคายนาพระไตรปิฎก หลังจากกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 1 ทรงเปลี่ยนนามพระอารามใหม่ว่า วัดมหาธาตุ ส่วนคำว่า ยุวราชรังสฤษดิ์ มาเพิ่มในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากที่ทรงปฏิสังขรณ์ นอกจากนี้ในปลาย พ.ศ. 2432 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งบาลีวิทยาลัยที่วัดมหาธาตุ เรียกว่า มหาธาตุวิทยาลัย และย้ายการบอกพระปริยัติธรรมมาจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อมาใน พ.ศ. 2437 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารถาวรวัตถุ เรียกว่า สังฆิกเสนาสน์ราชวิทยาลัย เพื่อใช้ในงานพระศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร หลังจากนั้นทรงอุทิศถวายแก่มหาธาตุวิทยาลัย เพื่อเป็นที่เรียนพระปริยัติธรรมชั้นสูง ซึ่งจะได้พระราชทานนามว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย”

         ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระมณฑป เป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์ทองบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างพระอุโบสถกับพระวิหาร, พระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระประธานนามว่า “พระศรีสรรเพชญ์” พระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ขนาดหน้าตักกว้าง 5.16 เมตร สันนิษฐานว่าสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท โปรดให้พระยาเทวารังสรรค์ ช่างวังหน้า เป็นผู้ปั้น และ “พระอรหันต์ 8 ทิศ”, พระวิหารหลวง ภายในประดิษฐาน “พระศรีสักยมุนี” หรือ “พระศรีศากยมุนี” (หลวงพ่อโต), พระปรางค์, ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสงฆ์) เป็นต้น

ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร

7. วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร

          พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2484 เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่การปกครองระบอบประชาธิปไตย สร้างในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้สร้างวัดขึ้นบริเวณใกล้เคียงกับอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่การปกครองระบอบประชาธิปไตย และกำหนดให้แล้วเสร็จทันวันชาติ คือวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้สร้างวัดขึ้น โดยให้ชื่อว่า วัดประชาธิปไตย ต่อมารัฐบาลอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ กิ่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ และดินจากสังเวชนียสถาน มาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ จึงได้มีการตั้งนามวัดว่า วัดพระศรีมหาธาตุ

          ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระเจดีย์ศรีมหาธาตุ ภายในมีเจดีย์องค์เล็กอีกชั้น ซึ่งด้านในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (ขณะมียศเป็นนาวาเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) ได้เดินทางไปขอพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศอินเดีย รวมทั้งกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ 5 กิ่ง มีการถวายเป็นเสนาสนะเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485 นอกจากนี้บริเวณผนังยังมีช่องบรรจุอัฐิของผู้ทำประโยชน์แก่ประเทศ ซึ่งรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเห็นสมควร และพระศรีสัมพุทธมุนี พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย พระประธานในพระอุโบสถ แต่เดิมประดิษฐานที่วังหน้า

ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร

8. วัดราชนัดดารามวรวิหาร

          วัดที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ด้วยเป็นที่ตั้งของโลหะปราสาทแห่งแรกของไทย เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ติดกับลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ใกล้กับภูเขาทอง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อเฉลิมพระเกียรติแก่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี จึงพระราชทานนามว่า วัดราชนัดดาราม เมื่อปี พ.ศ. 2386

          ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น โลหะปราสาท อาคาร 7 ชั้น มียอดปราสาท 37 ยอด หมายถึง โพธิปักขิยธรรมในพระพุทธศาสนา 37 ประการ รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2389 มีการจำลองแบบมาจากประเทศศรีลังกา มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีสถาปัตยกรรมแบบไทย ยอดปราสาทเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ กลางปราสาทเป็นช่องกลวง มีบันไดเวียนให้เดินขึ้นไปดูทิวทัศน์ข้างบนได้ อีกทั้งยังประดิษฐานพระประธานพระนามว่า พระเสฏฐตมมุนี, พระวิหาร ประดิษฐาน “พระพุทธชุติธรรมนราสพ” พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ให้ประชาชนได้สักการบูชา, ศาลาการเปรียญ, กำแพงแก้วและศาลาราย, หอระฆัง และเขาพระฉาย เป็นต้น

ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร

9. วัดเทพธิดารามวรวิหาร

          พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ด้านหลังวัดราชนัดดารามวรวิหาร ไม่ไกลจากเสาชิงช้า รัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. 2379 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งเป็นพระราชธิดาที่ทรงพระเมตตาและโปรดปราน สร้างสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2382 พระราชทานนามว่า “วัดเทพธิดาราม” เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ บริจาคทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมในการก่อสร้างด้วย โดยมีความเชื่อว่าเป็นสถานที่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งสตรี ประชาชนมักมาขอพรในเรื่องหน้าที่การงานและสุขภาพ อีกทั้งยังเคยเป็นที่พำนักของ “สุนทรภู่” กวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งจำพรรษาเป็นเวลา 3 ปี

          ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น หอไตร ที่ยังได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นจากยูเนสโก ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เมื่อปี พ.ศ. 2554, พระพุทธเทววิลาส หรือหลวงพ่อขาว พระพุทธรูปปางมารวิชัย สลักด้วยศิลาขาวบริสุทธิ์ ประดิษฐานเวชยันต์บุษบก เป็นพระประธานสำคัญประจำพระอุโบสถ รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวัง, พระอุโบสถ สัญลักษณ์เชิงสถาปัตย์สะท้อนความเป็นหญิง โดยหน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ซึ่งหากสังเกตจะเห็นเป็นกระเบื้องเคลือบสีรูปหงส์คู่ อันสื่อถึงสตรีผู้สูงศักดิ์ ที่มาพร้อมความสวยงามและคุณธรรมความดีงาม, พระวิหาร ประดิษฐานรูปหล่อหมู่พระอริยสาวิกาสมัยพุทธกาล จำนวน 52 องค์ แต่ละองค์ยังมีท่าทางที่แตกต่างกันออกไป ประดิษฐานบนแท่นเบื้องหน้าองค์พระประธานภายในพระวิหาร และกุฏิสุนทรภู่ ที่ทางวัดได้อนุรักษ์เอาไว้เป็นอนุสรณ์ถึงสุนทรภู่ และเปิดให้เข้ามาศึกษาองค์ความรู้จากกวีเอกท่านนี้ นอกจากนี้ยังมีการนำเอาเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) มาช่วยในการนำเสนอองค์ความรู้ที่เชื่อมโยงกับสุนทรภู่ เป็นต้น

ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร

5 เรื่องราวน่ารู้ รอบรั้ววัดเทพธิดารามวรวิหาร

10. วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร

          วัดเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านฝั่งธนบุรี เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร ที่เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ได้อุทิศบ้านและซื้อที่ดินข้างเคียงเพิ่มเติมเพื่อสร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2368 ในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้ถวายเป็นพระอารามหลวง โดยได้รับพระราชทานนามว่า “วัดกัลยาณมิตร” พร้อมกับทรงสร้างพระวิหารหลวงเพื่อเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธไตรรัตนนายก” (หลวงพ่อโต) โดยมีพระราชประสงค์ให้เป็นพระพุทธรูปใหญ่อยู่ริมแม่น้ำ แบบเดียวกับวัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

          ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระพุทธไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อโต พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 11.75 เมตร และสูงประมาณ 15.44 เมตร คนไทยเชื้อสายจีนเรียกว่า ซำปอกง” ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหลวง, พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ ที่ประดิษฐานเป็นองค์พระประธานอยู่ในพระอุโบสถ อีกทั้งยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ และหอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกและพระคัมภีร์ต่าง ๆ ซึ่งรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2408 เป็นต้น

ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร

11. วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร

          วัดโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ไม่ปรากฏว่าสร้างเมื่อใดและใครเป็นผู้สร้าง เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร เดิมเรียกกันว่า วัดท้ายตลาด ด้วยความที่อยู่ต่อจากตลาดเมืองธนบุรี จนเมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมาสร้างพระราชวังก็ได้อาณาบริเวณยาวลงมาครอบคลุมถึงวัดแห่งนี้ด้วย กลายเป็นวัดในเขตพระราชฐานในพระราชวังกรุงธนบุรี จึงไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงย้ายเมืองหลวงมาตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับที่ตั้งของกรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามและสร้างเสนาสนะสงฆ์ขึ้นใหม่ จึงนับได้ว่าเป็นพระอารามหลวงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ภายหลังรัชกาลที่ 3 ทรงปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอาราม ทรงพระราชนามใหม่เป็น “วัดโมลีโลกสุธาราม” แล้วเปลี่ยนมาเป็น “วัดโมลีโลกยาราม”

          ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระอุโบสหลังคามุขลด 3 ชั้น มุงกระเบื้องไทย มีช่อฟ้า ใบระกา ฝาผนัง ประดิษฐาน “พระพุทธโมลีโลกนาถ” พระพุทธรูปหล่อสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 ศอกคืบ มีพุทธลักษณะงดงาม, พระวิหาร ปูชนียสถานที่นับว่าเก่าแก่ที่สุดของวัด มีลักษณะไทยผสมจีน ในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชทรงใช้เป็นสถานที่เก็บเกลือ ซึ่งในอดีตเกลือมีความสำคัญมากในการถนอมอาหาร จึงเรียกกันว่า “พระวิหารฉางเกลือ” จนปัจจุบัน, หอสมเด็จ (หอแดง) สร้างขึ้นเพื่อบูชาสักการะเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ในรัชกาลที่ 3 และหอพระไตรปิฎก (หอเขียว) อาคารไม้ทรงไทยยกพื้นสูง ใช้ปูนปั้นรูปเจดีย์ประดับแทนช่อฟ้า เป็นต้น

ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร

ไหว้พระ 9 วัดฝั่งธนบุรี อิ่มบุญ เสริมมงคลชีวิต

12. วัดพิชยญาติการามวรวิหาร

          พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองบ้านสมเด็จเจ้าพระยา แต่เดิมเป็นวัดร้าง ก่อนที่สมเด็จพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) ครั้งดำรงยศเป็นพระยาศรีพิพัฒน์รัตราชโกษาธิบดี ได้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2384 ในรัชกาลที่ 3 เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีน ซึ่งเป็นแบบพระราชนิยมในสมัยนั้น ครั้งเมื่อบูรณะวัดเสร็จแล้วได้น้อมเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 3 พระองค์ได้พระราชทานนามว่า “วัดพระยาญาติการาม” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดพิชยญาติการาม” คนทั่วไปเรียกว่า “วัดพิชัยญาติ”

          ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระอุโบสถที่สร้างเป็นศิลปะแบบจีน ภายในประดิษฐาน “พระสิทธาร” หรือที่เรียกว่า “หลวงพ่อสมปรารถนา” อีกทั้งยังมีลายจำหลักหินเรื่องสามก๊กบริเวณกำแพง และพระปรางค์องค์ใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปั้น 4 องค์ หันพระพักตร์ไปสู่ 4 ทิศ มีพระปรางค์องค์เล็ก 2 องค์ ทิศตะวันออกประดิษฐานพระโพธิสัตว์พระศรีอาริย์ องค์ทิศตะวันตกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง 4 รอย เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่มีการฝึกอบรมหรือสอนเน้นการปฏิบัติสมถกรรมฐาน หรือวิปัสสนากรรมฐาน ตามหลักมหาสติปัฏฐานสูตรด้วย

ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร

ภาพจาก : Waruto Sama Studio / Shutterstock.com

13. วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

          พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ใกล้กับเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุญนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2371 โดยชาวบ้านในบริเวณวัดเรียกกันว่า วัดรั้วเหล็ก เพราะสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่สั่งรั้วเหล็กมาจากอังกฤษ เพื่อนำมาน้อมเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 3 ใช้เป็นกำแพงในพระบรมมหาราชวัง แต่ทรงไม่โปรด จึงขอรับพระราชทานมาใช้เป็นกำแพงวัดแห่งนี้แทน

          ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระบรมธาตุมหาเจดีย์ พระเจดีย์องค์ใหญ่ทรงกลม สัณฐานรูปโอคว่ำ สูง 60.525 เมตร ฐานล่างส่วนนอกวัดโดยรอบได้ 162 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 50 เมตร มีช่องคูหาเรียงรายล้อมรอบชั้นล่างพระเจดีย์ 54 คูหา ชั้นบนถัดจากช่องคูหาขึ้นไปมีพระเจดีย์เล็ก 18 องค์ เรียงรายรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่ เป็นพระเจดีย์ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม อันดับ 1 หรือ Award of Excellence จากโครงการประกวดรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี พ.ศ. 2556, เขามอ ภูเขาจำลองขนาดใหญ่ ตั้งอยู่กลางสระน้ำ ก่อขึ้นจากหินที่มียอดลดหลั่นกันไปตามลำดับ ประดับต้นไม้ด้วยพรรณไม้หายาก, พิพิธภัณฑ์พระประยูรภัณฑาคาร หรือพรินทรปริยัติธรรมศาลา สถานที่ให้ความรู้ด้านสิ่งของโบราณในสมัยก่อน, พระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะปางมารวิชัย โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ให้ช่างชาวไทยเป็นผู้หล่อ ได้ว่าจ้างช่างลงรักปิดทองมาจากประเทศญี่ปุ่น กล่าวกันว่ามีฝีมือและกรรมวิธีการปิดทองดีเยี่ยม ถือเป็นพระพุทธรูปองค์แรกที่ใช้ช่างปิดทองเป็นชาวต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น และพระวิหารพระพุทธนาค สถานที่ประดิษฐานพระพุทธนาค หรือหลวงพ่อนาค พระพุทธปฏิมาปางมารวิชัย หล่อด้วยโลหะนาก ลงรักปิดทอง นับเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามมาก

ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร

มารู้จัก วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วัดไทยสร้างชื่อระดับโลก

14. วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร

          พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ใกล้กับซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ (วงเวียนโอเดียน) เดิมชื่อว่า วัดสามจีนใต้ เนื่องจากมีชาวจีน 3 คน ช่วยกันก่อสร้างวัดนี้ขึ้นมา จึงเป็นที่รู้จักกันในนามว่า วัดสามจีน คนนิยมเดินทางไปสักการะพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ขนาดใหญ่ เพื่อให้ชีวิตประสบแต่ความสุขความเจริญ

          ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร พระพุทธรูปทองคำแท้ทั้งองค์ ได้รับการบันทึกกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด ว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ 99.9% ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดหน้าตักกว้าง 3.01 เมตร สูง 3.91 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ภายในพระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สร้างจากหินอ่อนทรงไทยวิจิตรศิลป์ ซึ่งมีการจัดแสดงนิทรรศการหลวงพ่อทองคำ ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช จัดแสดงเรื่องราวของไชน่าทาวน์ เยาวราช ในรูปแบบนิทรรศการที่ทันสมัย และพระพุทธทศพลญาณ หรือหลวงพ่อโต ที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ เป็นต้น

ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร

15. วัดโพธิ์แมนคุณาราม (โพวมึ้งป่ออึงยี่)

          วัดในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานและเซน สังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย สืบทอดหลักธรรมคำสอนมาจากนิกายเซน สาขาหลินฉี (วิปัสสนา) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2502 พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) อดีตเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย รูปที่ 6 เจ้าอาวาสรูปแรกเป็นผู้นำสร้าง มีความโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปะไทย-จีน-ทิเบต ไว้ด้วยกันได้อย่างสวยงามและลงตัว ในปี พ.ศ. 2513 รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธียกยอดฉัตรเจดีย์อุโบสถ และพระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” ประดิษฐานหน้าบันอุโบสถ ซึ่งมี 3 ชั้น ยอดเป็นฉัตรเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

          ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระอุโบสถประดิษฐานพระประธาน ได้รับพระราชทานนามว่า พระพุทธวัชรโพธิคุณ ปิดทองเหลืองอร่าม พร้อมด้วยพระพุทธรูป 1,000 องค์ ข้างหน้าพระอุโบสถเป็นมหาวิหารท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ทิศ ประดิษฐานพระเวทโพธิสัตว์ พระศรีอริยเมตไตรยโพธิสัตว์ และท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่คนนิยมเดินทางมาแก้ปีชงเป็นจำนวนมาก

ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร

รวม 10 สถานที่ไหว้แก้ปีชง 2566 ที่ไหนดี เพื่อช่วยเสริมดวง

16. วัดทิพยวารีวิหาร (วัดกัมโล่วยี่)

          วัดในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน สังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ใกล้กับดิ โอลด์ สยาม พลาซ่า นับว่าเป็นอีกหนึ่งวัดจีนที่มีความเก่าแก่ เพราะมีประวัติว่าถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยกรุงธนบุรี หรือราวปี พ.ศ. 2319 ในช่วงแรกของการสร้างวัด ชาวบ้านในชุมชนเรียกว่า วัดกัมโล่วยี่ โดยคำว่า กัมโล่ว แปลว่า น้ำทิพย์ ส่วนคำว่า ยี่ แปลว่า วัด เมื่อรวมความก็หมายถึง วัดน้ำทิพย์ เพราะภายในวัดมีบ่อน้ำมนต์โบราณที่ชาวบ้านเรียกว่า บ่อน้ำทิพย์ ที่มีตาน้ำและไม่เคยเหือดแห้งอยู่คู่กับวัดมาตั้งแต่แรกสร้างวัดนั่นเอง

          ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น องค์เทพสำคัญ ๆ เช่น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หมอฮูโต๋ว องค์ไท้อิม เทพปรองดองหรือเทพแห่งความรัก เทพขุนพลเอี่ยยิ่ม และเทพฮั้วกวงไต่เต่ (เทพ 3 ตา) ด้านซ้ายของวัดจะเป็นศาลเทพมังกรเขียว ที่ผู้คนนิยมมากราบไหว้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนและวันสำคัญต่าง ๆ ด้วย

ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร

ภาพจาก : YuenSiuTien / shutterstock.com

ชวนไปไหว้ 15 วัดจีนสวย ๆ เสริมมงคล เฮง ๆ รับตรุษจีน

17. ศาลเจ้าไต้ฮงกง

           ศาลเจ้าที่ตั้งอยู่บริเวณถนนพลับพลาไชย ตรงข้ามกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2452-2461 เป็นสถานที่ประดิษฐานรูปจำลองของ “หลวงปู่ไต้ฮง” ภิกษุที่เป็นผู้ริเริ่มการจัดฌาปนกิจคนไร้ญาติ จนเป็นที่มาของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งในปัจจุบัน ผู้คนทั้งชาวจีนและชาวไทยนิยมมากราบไหว้ขอพรกับศาลเจ้าแห่งนี้ในเรื่องโชคลาภ สุขภาพ และความสำเร็จในหน้าที่การงาน นอกจากนี้ยังสามารถมาทำบุญแก้ชง สะเดาะเคราะห์ เพื่อปัดเป่าโชคร้ายได้อีกด้วย โดยทางศาลเจ้าจะมีบริการธูป-เทียนไว้ให้ สำหรับใครที่มีจิตศรัทธาอยากจะทำบุญบริจาคเพื่องานกุศลต่าง ๆ สามารถหยอดตู้ทำบุญได้ตามกำลังศรัทธา รวมถึงมีห้องบริจาคเงินสำหรับผู้ที่มีจิตศรัทธาเพื่องานกุศลต่าง ๆ เช่น บริจาคโลงศพเพื่อสงเคราะห์ผู้ยากไร้อนาถา ค่ายา-ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น
ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร

ภาพจาก : Augustcindy / shutterstock.com

18. ศาลเจ้าแม่กวนอิม มูลนิธิเทียนฟ้า

           ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งอยู่บริเวณถนนเยาวราช เลยวงเวียนโอเดียนมาเล็กน้อย ภายในมูลนิธิมีศาลรูปเคารพ “เจ้าแม่กวนอิม” พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ปางประทานพร ประดิษฐานเป็นเทพเจ้าองค์ประธาน อันเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนทั่วไป องค์ทำด้วยไม้จันทน์แกะสลัก ศิลปะแบบราชวงศ์ถัง และได้อัญเชิญมาจากประเทศจีนเมื่อ พ.ศ. 2501 มาประดิษฐานที่บริเวณมูลนิธิเทียนฟ้า ให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาทำการสักการบูชา ประชาชนนิยมมาขอพรให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับญาติของผู้ป่วย ที่มักจะมาอธิษฐานขอพรต่อพระแม่กวนอิม ให้หายจากอาการป่วยไข้นั่นเอง
ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร

ภาพจาก : maodoltee / Shutterstock.com

สถานที่ไหว้เจ้าแม่กวนอิม ไปขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตกัน

19. ศาลเจ้าพ่อกวนอู คลองสาน

          ศาลเจ้าเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี บริเวณด้านหลังสวนสมเด็จย่า ภายในประดิษฐานองค์เทพเจ้ากวนอูทั้งหมด 3 องค์ ที่มีขนาดแตกต่างกันไป คือ องค์เล็ก องค์กลาง และองค์ใหญ่ ผู้คนนิยมมากราบไหว้บูชาขอพรในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต เรื่องคดีความ รวมถึงเรื่องทำธุรกิจให้เจริญรุ่งเรือง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2279 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ 

          โดยบริเวณนี้เป็นแหล่งเทียบท่าของเรือสำเภาจีน ในช่วงแรกชาวฮกเกี้ยนได้อัญเชิญรูปปั้นองค์เล็กเข้ามาประทับในเก๋งจีนนี้ก่อน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของศาลเจ้าแห่งนี้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2345 ได้มีการสร้างและบูรณะเก๋งจีนให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และได้อัญเชิญเทพเจ้ากวนอูองค์กลางเข้ามาประดิษฐาน พร้อมติดตั้งป้ายชื่อ “กวง ตี โกว เปี่ย” (ปัจจุบันแผ่นป้ายดังกล่าวยังคงเก็บรักษาไว้ในศาล) จากนั้นในปี พ.ศ. 2365 ได้มีการอัญเชิญเทพเจ้ากวนอูองค์ที่สาม ซึ่งเป็นองค์ขนาดใหญ่สุดมาประดิษฐาน เกิดจากแรงศรัทธาของเจ้าสัวคุงเส็ง พร้อมทั้งมีการบริจาคเงินเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์ศาลให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของเทพเจ้ากวนอูทั้ง 3 องค์ ณ ศาลแห่งนี้ ในปี พ.ศ. 2444 ได้มีการบูรณะซ่อมแซมอีกครั้ง พร้อมกับเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “บู้ เจี่ย เบี่ย” และใช้เป็นชื่อเรียกมาจนถึงปัจจุบัน

ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร

ภาพจาก : Serra Photograph / shutterstock.com

  • ที่ตั้ง : ซอยสมเด็จเจ้าพระยา 3 (หลังสวนสมเด็จย่า) แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
  • เฟซบุ๊ก : -
  • Google Map : ศาลเจ้าพ่อกวนอู คลองสาน
     

ไหว้พระเยาวราช เยือนศาลเจ้าและวัดจีนรับมงคลสู่ชีวิต

20. ศาลเจ้าไต้เสี่ยฮุกโจ้ว วัดสามจีน เยาวราช

           เจ้าพ่อเห้งเจีย หรือซุนหงอคง เป็นเทพผู้ประทานความสุขและเป็นผู้กำจัดเหล่าปีศาจร้าย ชาวจีนจึงนิยมกราบไหว้และบูชามาก ในประเทศไทยก็มีศาลเจ้าพ่อเห้งเจียอยู่หลายแห่ง ให้คนที่เลื่อมใสศรัทธาได้ไปสักการะขอพร หนึ่งในนั้นคือ ศาลเจ้าไต้เสี่ยฮุกโจ้ว วัดสามจีน ศาลเจ้าเห้งเจียในย่านเยาวราช สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 มีความเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เป็นอาคารสีแดงขนาด 1 คูหา มีขนาดกะทัดรัด ด้านในประดิษฐาน “องค์ไต้เสี่ยฮุกโจ้ว” ปางสำเร็จเป็นอรหันต์ ประทับนั่งขัดสมาธิบนดอกบัว และองค์เห้งเจียปางต่าง ๆ มากมาย ผู้คนทั้งชาวไทยและต่างชาตินิยมเดินทางมากราบไหว้ขอพรเพื่อเป็นสิริมงคล ประสบความเจริญรุ่งเรืองในธุรกิจและหน้าที่การงานอยู่เสมอ โดยทุกวันที่ 13 กันยายน ของทุกปี จะมีการจัดงานประจำปีฉลองแซยิด เพราะเชื่อว่าองค์ไต้เสี่ยฮุกโจ้วจะลงมารับเครื่องบูชาและโปรดเมตตาต่อพุทธศาสนิกชน
ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร

ภาพจาก : Kevin Hellon / shutterstock.com

          และนี่เป็นสถานที่ไหว้พระกรุงเทพมหานครเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่เรานำมาแนะนำกัน ใครสะดวกที่ไหนก็ลองเลือกสักที่ แล้วเดินทางไปไหว้พระหรือสักการะองค์เทพ เพื่อเสริมสิริมงคลกันนะ

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

บทความไหว้พระ เที่ยวกรุงเทพมหานคร ที่เกี่ยวข้อง

ขอบคุณข้อมูลจาก : เว็บไซต์ thai.tourismthailand.org, เว็บไซต์ thai.tourismthailand.org, เฟซบุ๊ก วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม, เว็บไซต์ watmahathat.com, เว็บไซต์ dhammathai.org, เว็บไซต์ webportal.bangkok.go.th, เว็บไซต์ watmoli.org, เว็บไซต์ bunnag.in.th, เว็บไซต์ watprayoon.com, เว็บไซต์ chinatownyaowarach.com, เฟซบุ๊ก ศาลเจ้าเห้งเจีย - ไต้เสี่ยฮุกโจ้ว วัดสามจีน-ไตรมิตร, เว็บไซต์ watthepthidaramqr.com, เว็บไซต์ watmoli.org, เว็บไซต์ watprayoon.com, เฟซบุ๊ก มูลนิธิ ป่อเต็กตึ๊ง / POH TECK TUNG FOUNDATION, เฟซบุ๊ก วัดทิพยวารีวิหาร-กัมโล่วยี่ / 敕賜甘露禪寺, เฟซบุ๊ก วัดโพธิ์แมนคุณาราม | Bhoman Khunaram Temple, เฟซบุ๊ก วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร Wat Traimit-Golden Buddha, เฟซบุ๊ก วัดพิชยญาติการาม วรวิหาร, เฟซบุ๊ก วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร, เฟซบุ๊ก วัดราชนัดดาราม, เฟซบุ๊ก วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร l Mahathatu Temple Bangkok, เฟซบุ๊ก วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร, เฟซบุ๊ก วัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร, เฟซบุ๊ก วัดสุทัศนเทพวราราม Wat Suthat, เฟซบุ๊ก วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม : Marble Temple, เว็บไซต์ thailandtourismdirectory.go.th
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สถานที่ไหว้พระกรุงเทพฯ แจกพิกัด 20 วัด ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี อัปเดตล่าสุด 28 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14:08:48 45,845 อ่าน
TOP