x close

มือใหม่หัดแคมปิ้ง เรื่องน่ารู้การตั้งแคมป์ เตรียมตัวอย่างไรก่อนออกไปกางเต็นท์

          เอาใจคนอยากกางเต็นท์ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน กับวิชาแคมปิ้ง 101 หลักสูตรพื้นฐานเตรียมความพร้อมและเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการตั้งแคมป์ เตรียมตัวอย่างไร ไปดูกัน

          เทรนด์การท่องเที่ยวสไตล์แคมปิ้งกำลังมาแรง สถานที่กางเต็นท์ต่าง ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เพื่อตอบโจทย์เอาใจคนที่อยากผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานไปให้ธรรมชาติบำบัด ด้วยการตั้งแคมป์กางเต็นท์ใกล้ชิดป่าเขากันในช่วงวันว่าง และสำหรับใครที่เป็นมือใหม่กำลังอยากออกไปตั้งแคมป์ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน ควรเตรียมอุปกรณ์อะไร วันนี้เรามีเรื่องน่ารู้ ข้อควรระวัง และมารยาทที่พึงปฏิบัติ สำหรับผู้ที่กำลังคิดอยากจะไปกางเต็นท์มาฝากกัน

แคมปิ้ง

1. เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม

          คิดจะไปตั้งแคมป์ อุปกรณ์ต่าง ๆ ต้องพร้อม ส่วนจะมีอะไรบ้าง เราขอเริ่มตั้งแต่ส่วนที่สำคัญที่สุดไล่ไปจนถึงพร็อพต่าง ๆ ที่จะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้ามีก็จะยิ่งเพิ่มอรรถรสและฟีลลิ่งให้การแคมปิ้งนั้นมีชีวิตชีวามากขึ้นไปอีก ได้แก่

  • เต็นท์ อุปกรณ์ชิ้นสำคัญในการแคมปิ้ง เรียกว่าถ้าขาดเต็นท์ไปก็ไม่ใช่การตั้งแคมป์เลยทีเดียว ทุกวันนี้มีเต็นท์ให้เลือกมากมายหลายรูปแบบตั้งแต่แบบสปริง คานเดี่ยว และคานคู่ ซึ่งก็มีความแตกต่างกันไปทั้งวัสดุที่นำมาทำผ้าเต็นท์ โครงสร้างต่าง ๆ ขนาด น้ำหนัก และราคา ดังนั้นก่อนจะเลือกซื้อเต็นท์นำไปแคมปิ้งสักหลังควรเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น เลือกจากวัสดุที่กันน้ำและกันฝน โครงสร้างแข็งแรง น้ำหนักเบา กางง่าย และเมื่อกางเต็มพื้นที่แล้วมีอากาศถ่ายเทสะดวก รวมถึงเลือกที่มีขนาดพอดีกับจำนวนสมาชิก และในเรตราคาที่สามารถเอื้อมถึงด้วย
แคมปิ้ง

  • Ground Sheet และ Fly Sheet แผ่นรองตัวเต็นท์กันความเปียกชื้นทั้งจากพื้นดินและน้ำค้างหรือฝน ซึ่งจะช่วยถนอมผ้าเต็นท์ ยืดอายุให้ใช้งานได้ยาวนานขึ้น รวมถึงทำความสะอาดง่ายอีกด้วย
  • สมอบก ค้อนตอกสมอบก เชือก และอะไหล่ต่าง ๆ แม้ว่าในชุดเต็นท์ที่มีขายอยู่ทั่วไปมักจะมีสิ่งของเหล่านี้มาให้อยู่แล้ว แต่ก็ควรจะมีเผื่อไว้อีก 1-2 ชุด เพื่อความรอบคอบและปลอดภัย โดยควรเลือกสมอบกที่มีความแข็งแรงและมีขนาดที่พอเหมาะกับเต็นท์ที่มีด้วย
แคมปิ้ง

  • ชุดเครื่องนอน ไม่ว่าจะเป็นถุงนอน ควรเลือกให้กันความหนาวเย็นและให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายได้ดี แผ่นปูรองนอนที่มีให้เลือกมากมายทั้งแบบเป่าลม ฟองน้ำ โฟมยาง หรือแบบพองลมอัตโนมัติ และหมอนทั้งแบบเป่าลมหรือแบบเมมโมรี่โฟมที่เป็นหมอนสุขภาพ เพื่อการนอนหลับที่สบายขึ้น
     
  • อุปกรณ์ให้แสงสว่างต่าง ๆ เช่น ตะเกียง ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบ LED ที่พกพาสะดวก ชาร์จไฟได้ แต่ให้ความสว่างน้อย และแบบใช้แก๊สหรือน้ำมันเบนซินขาว ที่ให้ความสว่างสูงและยาวนานกว่า สามารถเปิดทิ้งไว้ทั้งคืนได้ และอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการแคมปิ้ง คือ ไฟฉายคาดหัว เพราะสะดวกมากในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การปรุงอาหาร อาบน้ำ หรือเดินไปเข้าห้องน้ำกลางดึก นอกจากนี้ยังรวมถึงไฟติดเต็นท์ที่มีตะขอสำหรับยึดติดกับเสาเต็นท์ หลอดไฟ LED แบบรางที่ให้แสงสว่าง และไฟฉายพกพาขนาดเล็กด้วย
     
  • ปลั๊กไฟพ่วง และแหล่งพลังงานสำรองต่าง ๆ หรือพาวเวอร์แบงก์ เพราะในอุทยานแห่งชาติหรือลานกางเต็นท์ส่วนใหญ่มักจะไม่มีไฟฟ้า หรือถ้ามีก็จะเป็นไฟส่วนกลาง ไม่ได้ต่อโยงเข้ามาในเต็นท์ ดังนั้นจึงควรเตรียมปลั๊กไฟพ่วงที่มีความยาวพอประมาณไปด้วย รวมถึงพาวเวอร์แบงก์ สำหรับชาร์จโทรศัพท์มือถือและโคมไฟ LED หรือไฟฉายที่ชาร์จกับสาย USB ได้ด้วย
  • อุปกรณ์เครื่องครัวต่าง ๆ แม้ว่าลานกางเต็นท์บางที่จะมีร้านค้าขายอาหารและเครื่องดื่ม เพื่ออำนวยความสะดวกในการแคมปิ้งแล้วก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการได้จุดเตาสนาม ตั้งกระทะ ปรุงอาหารกินเอง หรือแม้กระทั่งต้มน้ำสำหรับชงกาแฟหอม ๆ ดื่มในตอนเช้า ก็ช่วยเพิ่มอรรถรสในการตั้งแคมป์ให้ได้ฟีลมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นกิจกรรมที่สมาชิกได้ใช้เวลาร่วมกันด้วย
แคมปิ้ง

          สำหรับอุปกรณ์เครื่องครัวนั้น ควรเลือกที่ใช้งานได้ตรงตามวัตถุประสงค์ ปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม น้ำหนักเบา และพกพาสะดวกเป็นหลัก เช่น หม้อหรือกระทะ ควรเลือกแบบก้นลึก เพราะจะได้ปรุงอาหารได้หลากหลาย ไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายโยกย้ายไปมา ใช้ทัพพีแทนตะหลิว เพราะใช้ได้ทั้งผัดและต้ม มีดและเขียง ควรเลือกที่ขนาดพอดี ไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป นอกจากนี้ยังมีเครื่องครัวสนามอื่น ๆ เช่น เตาแก๊สปิกนิก จาน-ชามกระดาษ ช้อน-ส้อม แก้วน้ำ ถังสำหรับใส่น้ำใช้ กระป๋องแก๊สสำรอง เตาปิ้งย่าง หม้อต้มกาแฟ ขาตั้งหม้อ กระติกน้ำแข็ง หัวพ่นไฟ และอุปกรณ์ซักล้างด้วย

  • ของใช้ส่วนตัว เช่น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์อาบน้ำ กระดาษชำระ รวมถึงยารักษาโรค และยากันยุงด้วย
     
  • โต๊ะ เก้าอี้สนาม หรือรถเข็นสำหรับขนของ ข้อนี้ถ้าใครมองว่าไม่จำเป็นก็ข้ามไปได้เลย เพราะถ้ามีไว้ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกในการแคมปิ้งเป็นอย่างมาก ซึ่งก็ควรเลือกแบบที่มีความแข็งแรง พกพาสะดวก และเหมาะสมกับการใช้งานเป็นหลักสำคัญ

2. เลือกสถานที่กางเต็นท์

          สำหรับมือใหม่แคมปิ้ง อย่าเพิ่งหาญกล้าออกไปกางเต็นท์ในสถานที่ลำบากมากนัก เพราะประสบการณ์ยังน้อย อาจจะขลุกขลักจนพาลไม่อยากไปตั้งแคมป์อีกเลย ดังนั้นควรเลือกไปที่จุดกางเต็นท์หรือตามที่พักที่มีบริการลานสำหรับกางเต็นท์ดีกว่า เพราะจะมีการจัดเตรียมทุกอย่างที่จำเป็นไว้หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ หรือบางที่ก็มีอาหารไว้จำหน่าย ไม่ต้องทำเองด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีลานกางเต็นท์เปิดให้บริการมากมาย นักท่องเที่ยวสายธรรมชาติก็สามารถเลือกได้ตามใจชอบเลย ไม่ว่าจะเป็นกางเต็นท์โซนริมน้ำใกล้กรุงเทพฯ อย่างนครนายก สระบุรี โซนภูเขาก็ไปทางกาญจนบุรี ราชบุรี หรือถ้าอยากสัมผัสลมหนาว กลางคืนนอนดูดาว เช้าดูทะเลหมอก ก็ขึ้นเหนือไปทางเชียงใหม่ น่าน หรือเชียงรายได้เลย
 

แคมปิ้ง

3. จองพื้นที่สำหรับกางเต็นท์

          เมื่อจัดเตรียมอุปกรณ์กางเต็นท์ และได้สถานที่สำหรับแคมปิ้งแล้ว ก็ออกไปตั้งแคมป์ได้เลย ซึ่งควรตรวจสอบให้แน่นอนว่าต้องมีการจองหรือไม่ เพราะตามอุทยานแห่งชาติต่าง ๆ อาจจะต้องมีการลงทะเบียนจับจองพื้นที่ในการกางเต็นท์ หรือมีการจัดส่วนสำหรับกางเต็นท์โดยเฉพาะ แต่สำหรับลานที่เป็นของเอกชนหรือตามรีสอร์ตก็สามารถเลือกกางได้ตามชอบเลย ไม่ต้องจับจองล่วงหน้า แต่อาจจะต้องใช้ความไว ชนิดที่เรียกว่าใครดีใครได้ หากจองเร็วก็จะได้อยู่ในพื้นที่ที่วิวสวย ได้ชมธรรมชาติแบบเต็ม ๆ ไม่มีเต็นท์อื่นมาบดบังทำให้เสียทัศนียภาพที่สวยงาม

แคมปิ้ง

ภาพจาก Pavel V.Khon / Shutterstock.com

4. มือใหม่กางเต็นท์พึงระวัง

          ในการตั้งแคมป์ค้างคืนนั้น ไม่ว่าจะเป็นที่อุทยานแห่งชาติ หรือลานกางเต็นท์ต่าง ๆ ควรคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ โดยมีข้อควรระวังเบื้องต้น ดังนี้
 

  • ควรเลือกพื้นที่กางเต็นท์ที่เปิดโล่ง ไม่กางเต็นท์ใกล้ต้นไม้ใหญ่หรือต้นไม้ที่แห้งตาย เพราะอาจจะมีลมแรงพัดกิ่งไม้แห้งหักโค่นลงมาถูกเต็นท์จนเกิดเป็นอันตรายได้
     
  • เลือกพื้นที่ที่ไม่ใช่ทางไหลของน้ำ รวมถึงไม่กางเต็นท์ใกล้ลำธารหรือบริเวณที่เป็นแอ่งกระทะ เพื่อหลีกเลี่ยงน้ำป่าหรือกระแสน้ำพัดแรงในตอนกลางคืน
     
  • ก่อนจะกางเต็นท์ควรตรวจสอบพื้นที่ให้ละเอียดว่ามีแมลง สัตว์เลื้อยคลาน หรือสัตว์มีพิษอยู่ในบริเวณนั้นหรือไม่ ถ้าเจอตัวให้คิดเลยว่าอาจจะมีรังของพวกมันอยู่แถวนี้ ควรรีบเปลี่ยนหรือย้ายโดยเร็ว
     
  • เก็บกวาดและทำความสะอาดพื้นที่ให้เรียบร้อยก่อนจะเริ่มกางเต็นท์
     
  • ใช้สมอบกยึดเต็นท์กับพื้นให้มั่นคง โดยปักสมอบกมุมทแยงแนวต้าน 45 องศา เพราะบางพื้นที่สำหรับกางเต็นท์ โดยเฉพาะบนดอยหรือเนินเขา มักจะมีลมพัดแรง ซึ่งอาจจะทำให้เต็นท์ปลิวเสียหายได้
     
  • ห้ามนำตะเกียง เทียน เตาไฟ หรือสูบบุหรี่ในเต็นท์ เพราะผ้าเต็นท์ทำจากผ้าใบที่ติดไฟได้ง่าย และการเผาไหม้ของไฟจะดึงออกซิเจนไปจากอากาศที่มีอยู่ในเต็นท์ และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาแทน ซึ่งเป็นอันตรายต่อคนที่อยู่ในเต็นท์ได้
แคมปิ้ง

5. มารยาทควรปฏิบัติสำหรับการกางเต็นท์

          เป็นธรรมดาที่ใน 1 ลานกางเต็นท์ จะต้องมีมากกว่า 1 ครอบครัว หรือแก๊งเพื่อนฝูงไปพักผ่อนกัน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดที่ควรมีในการไปแคมปิ้งคือมารยาทและความเกรงใจต่อผู้อื่น ได้แก่
  • ไม่ส่งเสียงดังในช่วงเวลา 22.00-06.00 น. เพราะช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นช่วงของการพักผ่อน แม้ว่าคุณจะยังไม่ง่วงหรืออยากนอน แต่ก็ควรเกรงใจเพื่อนเต็นท์ข้าง ๆ เพราะเขาอาจจะเหน็ดเหนื่อยและต้องการการพักผ่อนที่เงียบสงบ
     
  • ยึดความเป็นส่วนตัวเป็นสำคัญ ไม่ควรเดินรุกล้ำ หรือส่องไฟฉาย เข้าไปในเต็นท์หรือพื้นที่ของผู้อื่น
     
  • รักษาพื้นที่ตั้งแคมป์ให้สะอาด เก็บกวาดเศษอาหารและขยะให้เรียบร้อยก่อนเข้าเต็นท์ มัดปากถุงให้แน่นและมิดชิด จากนั้นนำไปทิ้งในจุดสำหรับทิ้งขยะโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์มาคุ้ยแกะจนสกปรกเลอะเทอะได้
     
  • ดูแลบุตรหลานและสัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัยและไม่ให้รบกวนผู้อื่น
     
  • ดูแลฟืนไฟ ไม่ขยับเคลื่อนย้ายจุดสำหรับก่อไฟ รวมถึงไม่นำไฟเข้าไปในเต็นท์ด้วย และตรวจดูให้แน่ใจว่าได้ดับไฟจนมอดสนิทดีแล้ว
     
  • ใครที่เป็นนักดื่ม อยากจิบเครื่องดื่มเย็น ๆ ท่ามกลางธรรมชาติให้ร่างกายได้ผ่อนคลายก็สามารถทำได้ แต่ควรจะอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะพอดี ไม่มากเกินไปจนรบกวนผู้อื่น
     
  • ควรปฏิบัติตามกฎของอุทยานแห่งชาติหรือพื้นที่กางเต็นท์อย่างเคร่งครัด
แคมปิ้ง

          ใครที่กำลังคิดนอกกรอบ จะออกไปเที่ยวค้างคืนแต่ไม่อยากนอนในห้องสี่เหลี่ยมของโรงแรม รีสอร์ต ลองเปลี่ยนบรรยากาศมาเป็นกางเต็นท์แคมปิ้งใกล้ชิดธรรมชาติกันดู เริ่มต้นง่าย ๆ แค่เตรียมอุปกรณ์ที่เหมาะกับตัวเอง จากนั้นก็ชวนครอบครัวหรือแก๊งเพื่อนฝูงไปเฮฮาได้เลย

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

ขอบคุณข้อมูลจาก
rootsrated.com, mountainwarehouse.com, สำนักอุทยานแห่งชาติ และ theoutbound.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มือใหม่หัดแคมปิ้ง เรื่องน่ารู้การตั้งแคมป์ เตรียมตัวอย่างไรก่อนออกไปกางเต็นท์ อัปเดตล่าสุด 11 มีนาคม 2567 เวลา 16:50:18 73,346 อ่าน
TOP