x close

สุพรรณบุรี มีมากกว่าหอคอย





สุพรรณบุรี มีมากกว่าหอคอย (อ.ส.ท.)


โดย  ปิยะฤทัย  ปิโยพีระพงศ์ 

          มาถึงตัวเมืองสุพรรณฯ คนส่วนใหญ่มักมุ่งมาที่หอคอยสูง ๑๒๓.๒๕ เมตร ซึ่งตั้งอยู่ในสวนเฉลิมภัทรราชินี เพราะนี่คือสัญลักษณ์ของตัวเมือง และบนหอคอยบรรหาร-แจ่มใสก็เป็นมุมที่ทำให้เรามองเห็นสุพรรณบุรีได้อย่างเต็มตา

          สุพรรณบุรีคือเมืองแห่งท้องทุ่งโดยแท้ เพราะนอกจากบริเวณใจกลางเมืองที่ระเรียงด้วยกลุ่มอาคารแล้ว รอบ ๆ คือทุ่งนาเขียวขจี บ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของเมืองอู่ข้าวอู่น้ำอย่างชัดเจน สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่อลังการที่เห็นเด่นชัดจากมุมมองบนหอคอยคือพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร ซึ่ง ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการให้สร้างขึ้นในบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี  เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบ ๓๐ ปี ไทย-จีน โดยจะนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของจีนซึ่งอีกไม่นาน เราคงได้เดินเข้าไปชมนิทรรศการต่าง ๆ ภายในตัวมังกรยักษ์นี้

          ลงจากหอคอยในช่วงแดดร่มลมตก ลองมาเลียบ ๆ เคียง ๆ เที่ยวสวนน้ำสไลเดอร์ในสวนเฉลิมภัทรราชินี ยามเย็นเช่นนี้สวนน้ำสดใสด้วยบรรดาเด็ก ๆ ที่กระโดดน้ำตูม ๆ บ้าง ทิ้งตัวลงมาจากรางสไลเดอร์บ้าง เรียกว่าที่นี่เป็นแหล่งบันเทิงยามเย็นของคนสุพรรณฯ ก็ว่าได้ ครั้นพอเย็นย่ำ ยังได้ดูน้ำพุดนตรี ซึ่งทุกวันนี้น้ำพุมีสีสันละลานถึง ๗ สี ผุดพุ่งจากพื้นตามจังหวะดนตรีได้อย่างน่าชม





          นอกจากสวนเฉลิมภัทรราชินีแล้ว วัดวาอารามภายในเมืองสุพรรณฯ ก็เป็นสถานที่สำคัญที่มาถึงเมืองนี้แล้วไม่ควรผ่านเลย เช่น วัดพระรูป ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ที่มีพระพักตร์งามมากองค์หนึ่งในเมืองไทย  รวมทั้งยังมีพระพุทธบาทไม้ชิ้นเดียวในเมืองไทยเก็บรักษาไว้บนศาลาการเปรียญอีกด้วย ถัดไปอีกหน่อยก็คือวัดประตูสาร ซึ่งมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างหลวงจากเวียงจันทน์อยู่ในโบสถ์เก่า




         
          อีกวัดสำคัญซึ่งอยู่นอกเมืองออกไปหน่อยคือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เจดีย์ทรงปรางค์ที่ตั้งโดดเด่นอยู่ในวัดนี้มีอายุไม่ต่ำกว่า ๖๐๐ ปี เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รวมทั้งเป็นกรุพระผงสุพรรณ หนึ่งในเบญจภาคี ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์และคุณค่าอันประมาณมิได้

          บนเส้นทางเดียวกันกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ยังมีวัดสำคัญ คือ วัดแค วัดพระลอย วัดหน่อพุทธางกูร และวัดพระนอน ที่ล้วนมีเรื่องราวของสุพรรณฯ ในวันเก่าก่อนบอกเล่าผ่านโบราณวัตถุและสิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นจากศรัทธาของผู้คน





          โพธ์พระยาต้องมายามเย็นค่ำ
          ยิ่งบ่ายจัดยิ่งดีกับการเดินทางมาเยือนบ้านโพธิ์พระยา เพราะตลาดสดริมน้ำแห่งนี้จะคึกคักตั้งแต่ ๔ โมงเย็นเป็นต้นไป ด้วยผู้คนออกมาจับจ่ายกับข้าวกับปลากลับไปกินที่บ้าน ปัจจุบัน สำนักงานการท่องเที่ยวสุพรรณบุรีกำลังส่งเสริมให้ตลาดน้ำโพธิ์พระยาเติบโตเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งของจังหวัด

          ผละจากตลาดริมน้ำข้ามถนนไปยังฝั่งตรงข้าม จุดหมายอยู่ที่วัดพร้าว ซึ่งตั้งอยู่เหนือเขื่อนประตูน้ำโพธิ์พระยาภายในวัดมีวิหารหลังคาซ้อนหลั่นเป็นทรงสามเหลี่ยม คล้ายวิหารในวัดพม่า สำหรับคนชอบชมของเก่า ก็มีเสาอัดใบลานโบราณที่ไวยาวัจกรวัดเดินเข้ามาบอกอย่างภูมิใจว่า "เหลืออยู่ต้นเดียวในเมืองไทยก็ที่วันนี้นี่แหละ"

          นอกจากนี้ ในวัดพร้าวยังเป็น "ถิ่นค้างคาวลือเลื่อง" โดยบรรดาค้างคาวแม่ไก่ตัวใหญ่พากันมาห้อยหัวเกาะกิ่งต้นหว้าด้านหลังวัดเป็นกลุ่มก้อนดำพรืด ครั้นเย็นย่ำใกล้ค่ำมืดก็ค่อยมีชีวิตชีวา ตื่นขึ้นมาบินพึ่บพั่บเป็นทิวแถวออกไปหาอาหาร ทำให้วัดพร้าวกลายเป็นจุดชมค้างคาวอีกแห่งของเมืองไทยไปโดยไม่ต้องสงสัย

          ศรีประจันต์ตามรอยวันเก่าของท่านเจ้าคุณฯ
          อีกตลาดเก่าแก่ที่ยังคงบรรยากาศเรียบง่าย คือตลาดศีประจันต์ ที่เติบโตจากการเป็นท่าเทียบเรือ ก่อนจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงมาเป็นตลาด แม้จะผ่านกาลเวลามาราว ๑๐๐ ปีแล้ว ความคึกคักก็ยังคงมีอยู่

          ร้านค้าและบ้านเก่าที่เรียงรายอยู่ในซอยแคบยาว แล้วก็มาถึงชุมชนศรีประจันต์ด้านใน ซึ่งมีลานกล้างที่ถูกล้อมด้วยเรือนไม้อยู่ ๔ ด้าน เรือนแถวเหล่านี้มีจุดเด่นอยู่ที่หน้าต่างแคบยาวที่ตีเกล็ดขวางเปิดช่องให้ลมและแสงลอดผ่านเพียงรำไร

          เรือนไม้โดดเด่นที่สุดในบริเวณนี้ คือบ้านเลขที่ ๔๙ ซึ่งเป็นชาติภูมิสถาน ป.อ.ปยุตโต อันเป็นบ้านเกิดของท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ หรือพระมหาประยุทธ์ อารยางกูร (ป.อ.ปยุตโต) เจ้าอาวาสวันญาณเวศกวัน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์แห่งสงฆ์ไทยท่านเป็นคนไทยคนแรกที่องค์การยูเนสโกมอบรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพให้ นอกจากนั้น ท่านยังได้รับการยกย่องว่าเป็นกวีทางศาสนาพุทธ โดยมีผลงานการเขียนหนังสือธรรมะกว่า ๓๕๐ เล่ม และยังมีซีดีเผยแผ่ธรรมที่เหมาะสำหรับคนยุคปัจจุบันอีกหลายชุดทีเดียว

          ด้านล่างของเรือนหลังนี้ส่วนหน้าได้รับการจัดแต่งจำลองบรรยากาศดั้งเดิมของร้านใบรัตนาคาร ซึ่งเป็นร้านขายผ้าไหม กางเกงแพรจีน และจักรเย็บผ้า อันเป็นธุรกิจของพ่อแม่ของท่านเจ้าคุณฯ ส่วนด้านในนั้นจัดเป็นห้องสมุดธรรม มีหนังสือที่ท่านเจ้าคุณฯ เขียนไว้ตั้งเรียงเป็นระเบียบอยู่ในตู้พร้อมจัดโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งอ่าน รวมทั้งยังมีข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่จัดแสดงอยู่ใกล้ ๆ กันด้วย เดินขึ้นไปบนชั้น ๒ ฉันพบห้องเรียนเล็ก ๆ บรรยากาศแสนคลาสสิกด้วยโต๊ะเก้าอี้ไม้แบบคนที่อายุ ๓๐ ขึ้นไปต้องเคยนั่งเรียน กับกระดานดำขนาดย่อมติดอยู่บนผนังไม้ตีขวาง คุณรัตนา ทิพย์จินดาชัยกุล ที่มาช่วยดูแลต้อนรับนักท่องเที่ยวบอกว่า ที่นี่คือโรงเรียนมัธยมฯ แห่งแรกของศรีประจันต์ ส่วนในห้องเล็กด้านข้างคือห้องจัดแสดงผลงานของท่านเจ้าคุณฯ

          "ระหว่างศึกษาอยู่นั้น ท่านมีสุขภาพไม่แข็งแรงครอบครัวจึงสนับสนุนให้ท่านบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบ้านกร่าง..."

          วัดบ้านกร่างเป็นอีกจุดหมายหนึ่งที่ต้องไป วัดบ้านกร่างอยู่ห่างจากตลาดศรีประจันต์แค่ช่วงแม่น้ำท่าจีนคั่นระหว่างนั่งเรือแจวข้ามฝั่ง "นานมาแล้ว เค้าว่ากันว่าเจดีย์อยู่กลางน้ำ ตอนหลังน้ำเปลี่ยนทาง เจดีย์ก็เลยกลายเป็นอยู่ริมฝั่ง"





          ใช้เวลาไม่ถึง ๓ นาที เรือแจวก็เทียบท่าฝั่งวัดบ้านกร่างพ้นจากท่าเรือนิดเดียวคือทางเข้าวัดเก่าแก่อายุร่วม ๔๐๐ ปี ที่สุนทรภู่เคยลงเรือมาเยือนเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๔ และได้เขียนถึงวัดนี้ไว้ในนิราศสุพรรณบุรี ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาส หลังจากที่ไม่เคยมีกษัตริย์พระองค์ใดเสด็จมาจังสุพรรบุรี เพราะความเชื่อว่า "ห้ามมิให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณฯ" ด้วยเหตุผลน่าประหลาดใจว่าเทพารักษ์หลักเมืองไม่ชอบเจ้านาย

         เอกลักษณ์ของวัดนี้ คือใบเสมาที่มีรูปลักษณ์เป็นพิมพ์พระขุนแผนทรงพลใหญ่ ไม่เหมือนใบเสมาในวัดใด ๆ น่าแปลกใจอยู่เหมือนกันว่าหลุดรอดจากการเป็นส่วนหนึ่งของ Unseen Thailand ไปได้อย่างไร




          สำหรับเซียนพระแล้ว เอ่ยชื่อวัดบ้านกร่างเป็นต้องนึกถึงพระขุนแผน ซึ่งมีชื่อในด้านคงกระพันชาตรีและเมตตามหานิยม เชื่อกันว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงรับสั่งให้สร้างพระเครื่องบรรจุไวในกรุหลังจากเสร็จสิ้นสงครามยุทธหัตถี โดยพิมพ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของวัดบ้านกร่างคือพระพิมพ์คู่ ที่สมมติให้เป็นองสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ

          นอกจากใบเสมาอันมีที่มาจากพระกรุขุนแผนแล้ววัดบ้านกร่างยังมีรอยพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานอยู่ในมณฑปข้างโบสถ์ และถัดไปก็คือวิหารหลวงพ่อแก้วซึ่งด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่หลายองค์

          สุพรรณบุรี มีสถานที่ท่องเที่ยวมากกว่าที่คิดจริง ๆ วันเดียวจะเที่ยวกันหมดมั้ยเนี่ย ...




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สุพรรณบุรี มีมากกว่าหอคอย อัปเดตล่าสุด 2 เมษายน 2567 เวลา 16:47:25 1,489 อ่าน
TOP