x close

อาบน้ำแร่ให้ชุ่มฉ่ำ ในวันฝนพรำ...ที่ระนอง


 

อาบน้ำแร่ให้ชุ่มฉ่ำ ในวันฝนพรำ...ที่ระนอง (Lisa)

 

          แสงแดดส่องหลังสายฝนโปรยปราย ดั่งสัมผัสแรกที่ทายทักคราเมื่อไปเยือนเมืองระนอง

 

          จังหวัดแรกของภาคใต้ริมฝั่งอันดามันที่ยังคงซ่อนความสวยงามอย่างสมบูรณ์ไว้ครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นผืนป่า สายน้ำตก ท้องทะเลสีคราม รวมไปถึงบ่อน้ำพุร้อนกลางเมือง หลายคนเดินทางเลยผ่านระนองไปเวลาล่องใต้ แต่จังหวัดเล็ก ๆ แห่งนี้ยังมีที่ให้เที่ยวท่องอีกมาก แม้ในยามหน้าฝนซึ่งการเดินทางไปตามเกาะต่าง ๆ อาจไม่สะดวกนักแต่การลัดเลาะไปตามเส้นทางในเมือง ก็ถือเป็นสีสันที่ยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ กับวิถีชีวิตเรียบง่ายที่แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติดั้งเดิม

 

 

          เริ่มต้นท่องเที่ยว

 

          อากาศเย็น ๆ ในหน้าฝนแบบนี้ เราพากันไปรับไออุ่นที่ บ่อน้ำร้อน สวนรุกขชาติรักษะวาริน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่อยู่คู่กับจังหวัดระนองมานับร้อยปี เป็นบ่อน้ำร้อนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมีอยู่ 3 บ่อ คือ บ่อพ่อ บ่อแม่ และบ่อลูก มีอุณหภูมิสูงประมาณ 65 องศาเซลเซียล และถ้าใครอยากลงแช่น้ำแร่อย่างเต็มรูปแบบ ก็จะมีศูนย์น้ำแร่ร้อนธรรมชาติ และศูนย์สุขภาพที่ครบวงจร ชื่อว่า สยามฮอทปาระนอง ให้ได้เข้าไปใช้บริการกันไม่ว่าจะเป็นนวดตัวด้วยกระแสน้ำแร่ร้อนในอ่างจากุชชี่ นวดแผนไทย หรือนวดฝ่าเท้า เลยจากบ่อน้ำร้อนขับรถขึ้นไปบนเขาอีราว 9 กม. ก็จะถึง ระนองแคนยอน ซึ่งอยู่ในหุบเหมืองเก่า เป็นภูมิประเทศที่เกิดจากการทำเหมืองผ่านกาลมาช้านาน จนกลายเป็นแอ่งหุบลึกที่ห้อมล้อมไปด้วยสระน้ำขนาดใหญ่

 

 

          ไปต่อกันที่ ศูนย์วิจัยป่าชายเลนหงาว อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางใต้ประมาณ 13 กม. ได้รับการประกาศจากองค์การ UNESCO ให้เป็นพื้นที่เขตสงวนชีวมณฑล (หากเดินไปตามทางที่ทอดยาวจนถึงสุดทางที่ปากคลอง) ระหว่างทางจะได้พบกับพันธุ์ไม้หลากหลาย เช่น โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ต้นตะปูนดำ ถั่วดำ แสมดำ ฯลฯ รวมไปถึงปูก้ามกรามหลากสี หลังพักเหนื่อยจึงมุ่งหน้าไป ภูเขาหญ้า หรือที่หลายคนเรียก ภูเขาหัวโล้น ด้วยว่าไม่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นมาบดบัง มีเพียงแต่ ต้นหญ้ารังไก่ขึ้นปกคลุมไปตามเขาลูกเตี้ย ๆ ที่ซ้อนสลับกันอยู่ ถ้ามาหน้าร้อนจะเห็นเป็นภาพของภูเขาสีน้ำตาลทอง (กว้างใหญ่) แต่ในหน้าฝนยามนี้ ราวกับถูกพรมผืนสีเขียวแผ่คลุม และหากหันหลังไปมองวิวเบื้องหลังจะเห็นสาย น้ำตกหงาว ทิ้งตัวตามหน้าผาลงสู่เบื้องล่าง น้ำตกนี้ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาวต้องเดินทางเข้าไปเป็นระยะทางราว ๆ 300 เมตร ก็จะได้พบความฉ่ำเย็นจากสายน้ำที่กระเซ็นสาดสลับกับละองฝนบางเบา หากใครที่ชอบเดินป่าเขาก็มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ที่สำคัญคือมีพันธุ์ไม้ป่าต่าง ๆ เช่น เอื้องเงินหลวง หรือกล้วยไม้ โกมาชุม ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดระนองอีกด้วย

 

 

          สำรวจแหล่งธรรมชาติกันมาแล้ว ทีนี้ก็ต้องเข้าเมืองดูวิถีของชุมชน ก่อนอื่นต้องแวะสักการะ สุสานเจ้าเมืองระนอง เพื่อความเป็นสิริมงคล สุสานแห่งนี้เป็นที่ฝังศพของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) เจ้าเมืองระนองคนแรก (ตั้งอยู่ริมถนนเรืองราษฎร์) ห่างจากเขตเทศบาลเมืองราว 1 กม. เสร็จแล้วก็มุ่งหน้าไปที่ สะพานปลา ซึ่งจะเป็นศูนย์รวมของการซื้อขายปลาที่สำคัญของจังหวัด ทุกวันจะมีชาวประมงนำปลาเข้ามาประมูล ตั้งแต่ตี 3 ตี 4 ไปถึงบ่ายและเย็นถ้าเกิดมีปลามาก ใครต้องการช้อปปิ้งสินค้าให้ได้อารมณ์ของวัฒนธรรมที่ผสมผสานระหว่างไทยพม่า ก็ต้องไปที่ ตลาดเทศบาล เมืองระนอง (ถ.เรืองราษฎร์) ที่นี่เราจะเห็นสินค้าของชาวพม่าตั้งวางขายเรียงราย ไม่ว่าจะเป็น หมาก พลูที่มีในกินกันสด ๆ หนังสือ เทป ซีดี โปสเตอร์ เครื่องประทินผิวตามแบบฉบับของพม่าล้วน ๆ

 

 

          การเดินทาง

 

          จากกรุงเทพฯ ตามเส้นทางธนบุรี-ปากท่อ ผ่านเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ถึงสี่แยกปฐมพร (ชุมพร) เลี้ยวขวาไปจนถึงระนอง รวมระยะทาง 568 กม. หากเป็นรถโดยสารจะมีทั้งแบบธรรมดา และปรับอากาศ รายละเอียดติดต่อ โทร. 0-2434-5557-8 ถ้าจะไปรถไฟต้องลงที่สถานนีชุมพร แล้วต่อรถโดยสารไปอีก 117 กม. รายละเอียดติดต่อ การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 0-2223-7010, 0-2223-7020 ถ้าจะให้สะดวกและรวดเร็วสุดต้องมาเครื่องบิน ซึ่งบินตรงสู่ระนอง ภูเก็ตแอร์ซึ่งมีเที่ยวบินทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 0-2679-8999

 

แนะนำการท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรมเพียบ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก 

 

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,กลุ่มอนุรักษ์ปลาไทยและสิ่งแวดล้อม


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาบน้ำแร่ให้ชุ่มฉ่ำ ในวันฝนพรำ...ที่ระนอง อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14:10:41 1,331 อ่าน
TOP