x close

ใช้รถโดยสารสาธารณะให้ปลอดภัย กับ 5 ขั้นตอนลดเสี่ยง COVID-19

          เปิด 5 ขั้นตอนสำหรับการเตรียมตัวเพื่อการโดยสารรถโดยสารสาธารณะให้ปลอดภัย ลดความเสี่ยงติดโคโรนาไวรัสในช่วงที่มีความจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ไม่ว่าจะกำลังเดินทางกลับบ้าน หรือออกไปทำธุระต่าง ๆ

          จากปัญหาการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสที่ยังคงมีความน่าเป็นห่วงอยู่มากนั้น ทำให้หลาย ๆ สถานที่ต้องประกาศปิดกิจการและงดการให้บริการชั่วคราว ส่งผลให้พนักงานที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด ต้องเดินทางกลับบ้านในช่วงนี้ และแน่นอนว่าบางท่านจำเป็นต้องโดยสารรถโดยสารสาธารณะ หรืออาจจะมีความจำเป็นที่ต้องเดินทางออกจากบ้านเพื่อไปทำธุระต่าง ๆ และเพื่อให้เราเสี่ยงติดเชื้อโคโรนาไวรัสให้น้อยที่สุด เรามีคำแนะนำขั้นตอนปฏิบัติตัวจากกรมการขนส่งทางบกมาฝากกัน

รถทัวร์
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          โดยเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2563 ในหน้ากระดานข่าว เฟซบุ๊ก กรมการขนส่งทางบก PR.DLT.News ได้เผยแพร่ความรู้ในการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโคโรนาไวรัสเมื่อจำเป็นต้องใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งมี 5 ขั้นตอนง่าย ๆ ที่จะนำมาฝากกัน ดังนี้

          ขั้นตอนที่ 1 : ไม่ลืมที่จะสวมหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน และใส่หน้ากากอนามัยให้ถูกวิธี ปิดให้ถึงจมูก

          ขั้นตอนที่ 2 : ไม่ลืมพกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และแอลกอฮอล์ขวดเล็ก ๆ ก่อนออกจากบ้าน ควรหยิบใช้ให้ติดเป็นนิสัย ฉีดแอลกอฮอล์ในจุดเสี่ยงก่อนสัมผัสหรือจับ เช่น ลูกบิดประตู, เก้าอี้ที่นั่ง, ราวจับบนรถโดยสาร และราวบันได พร้อมกับหมั่นล้างมือในจุดที่สามารถล้างได้ 

          ขั้นตอนที่ 3 : หลีกเลี่ยงที่จะใช้มือสัมผัสปาก ตา จมูก หากยังไม่ได้ล้างมือให้สะอาด

          ขั้นตอนที่ 4 : หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนติดกับผู้อื่น ถ้ามีพื้นที่ ให้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร ถ้าหากเลือกได้ ก็ให้เลือกใช้รถโดยสารสาธารณะระบบเปิด (รถโดยสารที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ) ไปก่อน และไม่สัมผัสกับผู้ขับรถ หรือบุคคลอื่นหากไม่จำเป็น

          ขั้นตอนที่ 5 : เมื่อกลับถึงบ้านให้คอยสังเกตอาการ หากพบว่ามีอาการป่วยหรือมีไข้สูง ให้รีบพบแพทย์ทันที

การเดินทาง COVID-19
ภาพจาก เฟซบุ๊ก กรมการขนส่งทางบก PR.DLT.News

          ทั้งนี้ เราสามารถร่วมด้วยช่วยกันป้องกันโรคระบาดของ COVID-19 (โควิด 19) ได้โดยเริ่มต้นที่ตัวเอง หากไม่จำเป็นแนะนำให้อยู่บ้านก่อน ถ้าต้องกลับต่างจังหวัดจริง ๆ ก็ทยอยเดินทางกลับในช่วงสัปดาห์ต่อไป เพื่อได้มีเวลาสังเกตอาการตัวเอง และลดความแออัดของผู้คนที่สถานีขนส่งต่าง ๆ อีกทั้งเมื่อถึงบ้านอย่างปลอดภัยแล้ว ก็ควรกักตัวเองต่อไปอีก 14 วัน เพื่อให้มั่นใจว่าเราแข็งแรง ไม่ติดเชื้อโรคระบาด และจะได้ไม่เป็นพาหะส่งต่อโรคร้ายแรงนี้ไปยังคนที่เรารักในครอบครัว :)

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ใช้รถโดยสารสาธารณะให้ปลอดภัย กับ 5 ขั้นตอนลดเสี่ยง COVID-19 อัปเดตล่าสุด 29 มีนาคม 2563 เวลา 18:21:57 12,841 อ่าน
TOP