x close

พิชิต มุลาอิ เมียนมา แรงศรัทธาท่ามกลางขุนเขา

          พาไปเยือนขุนเขาแห่งศรัทธา “มุลาอิ” สถานที่สำคัญทางศาสนาพุทธ ตั้งอยู่ในเขตปกครองกะเหรี่ยง DKBA สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สักการะพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าและถือศีลกินเจ
          มุลาอิ ในเขตปกครองตนเองกะเหรี่ยงพุทธ DKBA จังหวัดเมียวดี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ชื่อนี้อาจฟังไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไรนัก แต่ถ้าคุณเป็นนักแสวงบุญที่หลงใหลธรรมชาติของการเดินป่าและขุนเขา อาจจะต้องเริ่มทำความรู้จักที่นี่ให้มากขึ้นแล้วล่ะ เพราะดินแดนแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า จึงเป็นจุดหมายปลายทางของนักแสวงบุญทั้งชาวพม่าและชาวไทย เฉกเช่นเดียวกับที่ คุณคนช่างเที่ยว สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม เดินทางไปสัมผัสกับดินแดนแห่งนี้ พร้อม ๆ กับนำเรื่องราวที่ได้พบเจอมาเล่าให้เราได้รู้กัน เอาเป็นว่าอย่าเสียเวลา ตามรอยคุณคนช่างเที่ยวไปเยือนขุนเขาแห่งศรัทธานี้กันเลย

มุลาอิ : Mulayit Taung ยอดเขาแห่งศรัทธา
in Green Season
          เมื่อคิดถึง “เขา” ให้ออกไปหา “เขา”

          “มุลาอิ” หรือ “มอละอิ” หรือ “เมาะเลาะอิ” หรือ Mulayit Taung ยอดเขาที่สูงที่สุดของเขตปกครองตนเองกะเหรี่ยงพุทธ DKBA ในจังหวัดเมียวดี สหภาพเมียนมา ซึ่งห่างจากชายแดนไทย ฝั่ง อ.พบพระ จ.ตาก ประมาณ 40 กิโลเมตร

          “มุลาอิ” เป็นส่วนหนึ่งของแนวเทือกเขา Dawna Hills อันประกอบด้วยยอดเขาสูงซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของนักเดินป่าไทย ได้แก่ มุลาอิ เมะลาอะ ดอยพะวี และดอยมะม่วงสามหมื่น โดยมุลาอิเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในบรรดา 4 ยอดเขา มีความสูงประมาณ 2,070 เมตร จากระดับน้ำทะเล

บนยอดเขามุลาอิ
เป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า
          ที่นี่จึงเป็นจุดหมายปลายทางของนักแสวงบุญทั้งชาวพม่าและชาวไทย

ข้อปฏิบัติที่ต้องทราบก่อนเดินทางมายังมุลาอิ ตามรูปภาพด้านล่างนี้เลยค่ะ

          เราอยากให้ทุกคนได้อ่านแล้วลองถามตัวเองก่อนว่าสามารถปฏิบัติตนได้ตามกฎระเบียบเหล่านี้หรือไม่ ถ้าสามารถทำได้ก็เก็บกระเป๋ามาเลย แต่ถ้าทำไม่ได้หรือไม่แน่ใจอย่าเพิ่งมา เพราะหากมาแล้วเราไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือตามความเชื่อที่คนท้องถิ่นบัญญัติไว้ อาจทำให้เกิดความไม่สบายใจต่อกันทั้งนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่ค่ะ

          ขั้นตอนการเดินทางข้ามแดนไปยังมุลาอิ

 

  1. ก่อนเดินทางประมาณ 1 สัปดาห์ ให้ติดต่อผู้ประสานงานการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมสองแผ่นดิน คือ “ลุงจ่า” โทร. 083-6281898, 087-4160792 เพื่อแจ้งวันเวลาที่จะเดินทางข้ามไปยังมุลาอิ จำนวนคน และลูกหาบ (หากต้องการ)
     
  2. เดินทางมายังบ้านมอเกอไทย หมู่ที่ 1 ต.วาเล่ย์ อ.พบพระ จ.ตาก ซึ่งเป็นที่ทำการกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมสองแผ่นดิน เพื่อเปลี่ยนไปนั่งรถโฟร์วีลซึ่งทางกลุ่มจัดไว้ให้ คันหนึ่งนั่งได้ 10 คน แต่หากมาน้อยคนสามารถเหมาหรือแจมกับกลุ่มอื่น ๆ ได้ โดยรถโฟร์วีล 1 คัน ทางกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ฯ จะจัดคนนำทางให้ไปด้วย 1 คน สำหรับคอยดูแลตลอดการเดินทางข้ามไป-กลับ ค่าใช้จ่ายรถโฟร์วีลไป-กลับและคนนำทาง คิดเป็นรายหัว คนละ 900 บาท (ราคาอาจเปลี่ยนแปลงได้ สอบถามลุงจ่าก่อนเดินทาง) หากมารถโดยสารประจำทาง นั่งรถทัวร์กรุงเทพฯ-แม่สอด รอบเย็นจะมาถึงแม่สอดเช้ามืด แล้วติดต่อรถของกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ฯ ให้ไปรับ-ส่งได้
     
  3. ต้องพกบัตรประชาชนตัวจริงติดตัวเสมอ เพราะระหว่างทางตั้งแต่เข้า จ.ตาก จนถึงด่านชายแดน จะมีด่าน ตชด. ขอดูบัตรตลอด และก่อนเดินทางข้ามแดนออกไป ทางกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ฯ จะให้พวกเราเขียนชื่อ เบอร์โทรศัพท์ ลงในสมุดเล่มหนึ่ง ซึ่งจะถูกนำไปให้ทางเจ้าหน้าที่ด่านชายแดนฝั่งไทยไว้เป็นข้อมูล เพื่อตรวจเช็กคนเข้า-ออก ว่าพอออกไปแล้วได้กลับเข้าไทยอย่างปลอดภัยหรือไม่
     
  4. คนนำทางจะคอยดูแลและสื่อสารกับคนในพื้นที่ให้พวกเราตลอด ส่วนลูกหาบจะช่วยขนสัมภาระ กางเต็นท์ และช่วยทำอาหาร “เจ” ให้ด้วย แต่นักท่องเที่ยวต้องเตรียมอุปกรณ์เครื่องครัวและเสบียงอาหารมาเอง (ใครไม่มีเต็นท์ ลุงจ่ามีเต็นท์ให้เช่าด้วยนะ ลองสอบถามดู) ห้ามลืมว่ามุลาอิต้องกินอาหารเจและไม่ดื่มแอลกอฮอล์
     
  5. บนมุลาอิไม่มีจุดให้อาบน้ำ แต่ที่ทำการกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ฯ มีห้องอาบน้ำให้บริการ 3 ห้อง โดยก่อนขึ้นเขาและกลับลงมาจากเขา สามารถมาอาบน้ำที่นี่ได้ ฉะนั้นเสื้อผ้าหรือของใช้ที่ไม่จำเป็นสามารถแบ่งใส่ถุงแยกไว้บนรถส่วนตัวหรือฝากไว้ ณ ที่ทำการกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ฯ ได้

          หน้าตารถกระบะโฟร์วีลที่จะพาทั้งนักท่องเที่ยว สัมภาระ คนนำทาง และลูกหาบ ข้ามไปยังมุลาอิ

          เส้นทางข้ามแดน พวกเราจะข้ามไปยังเขตปกครองตนเองกะเหรี่ยงพุทธ DKBA ณ ด่านบ้านมอเกอไทย ต.วาเล่ย์ อ.พบพระ จ.ตาก

          นั่งรถมาได้สักชั่วโมงก็ถึงจุดแวะพักรถจุดแรก เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ มีขนม ของที่ระลึก และห้องน้ำให้บริการ

          เส้นทางจากด่านบ้านมอเกอไทย-มุลาอิ จะมีจุดพักรถ 3 จุด ให้ทุกคนบนรถได้พักเปลี่ยนอิริยาบถคลายความเมื่อยล้าจากการนั่งเกร็งบนรถ เพราะถนนหนทางวิบากมากนั่นเอง 55+

          4 ชั่วโมงต่อมา พวกเราก็มาถึงวัดบริเวณทางขึ้นยอดเขามุลาอิ

          บริเวณวัดเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม มีโรงทานเป็นอาหารเจ และร้านขายของชำเล็ก ๆ อยู่หนึ่งร้าน และมีห้องน้ำด้วย

          พอลงจากรถ ณ จุดนี้ พวกเราทุกคนต้องเข้าไปไหว้ “พือเล่อบา” หรือ “ศาลพ่อปู่ศิลา” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของที่นี่เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยผู้หญิงต้องนุ่งผ้าถุงให้เรียบร้อย ผู้หญิงที่มีประจำเดือนห้ามเข้าไปไหว้ ส่วนผู้ชายควรใส่กางเกงขายาวเข้าไปไหว้

          หลังจากไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์บริเวณวัดกันแล้ว เป็นช่วงเวลาเที่ยงพอดี จึงจัดแจงนั่งกินมื้อกลางวันเป็นข้าวกล่องอาหารเจ ซึ่งสั่งกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ฯ เตรียมไว้ให้

          หลังกินมื้อกลางวันและเข้าห้องน้ำกันเสร็จเรียบร้อย ก็ได้เวลาเดินเท้าขึ้นเขาไปยังจุดกางเต็นท์ ซึ่งมีระยะทางห่างจากวัดประมาณ 1.5 กิโลเมตร เป็นเส้นทางสั้นและเดินง่ายอยู่ ชมต้นไม้ใบหญ้าและวิวสองข้างทางไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็ถึง

          พวกเราต้องเดินขึ้นไปบนยอดเขาที่มีเจดีย์ประดิษฐานอยู่ จากนั้นเดินอ้อมไปด้านหลังเจดีย์ แล้วเดินลัดเลาะไปตามสันเขาอีกไม่ไกลก็ถึงจุดกางเต็นท์

          มีทางชันเป็นบางช่วง แต่วิวนั้นสวยมาก ระหว่างที่เดินมีสายหมอกพัดมาปะทะกายตลอดเวลา สดชื่นจริง ๆ

          การเดินป่าช่วงฤดูฝน แม้หนทางจะลื่นเละเดินลำบาก แต่รับรองว่าจะได้สัมผัสธรรมชาติสดใหม่ของป่าเขาอย่างแท้จริง

          ระหว่างทางเดินไปยังจุดกางเต็นท์ จะผ่านพระธาตุเจดีย์หนึ่งองค์ แต่ไม่ใช่องค์เดียวกันกับพระธาตุมุลาอิซึ่งตั้งอยู่บนยอดสูงสุด

          หลังจากผ่านองค์พระธาตุเจดีย์ เดินตามสันเขาตรงนี้ลงไปหุบเขาข้างหน้าก็เป็นจุดกางเต็นท์แล้ว

          ถึงแล้วจุดกางเต็นท์ ทริปนี้พวกเราแทบจะไม่ได้เจอช่วงเวลาที่ฟ้าเปิดเลย มีหมอกลอยฟุ้งปกคลุมยอดเขาตลอดเวลา กลางคืนฝนตกทั้งคืน เช้ามาหมอกก็ยังฟุ้งอีก

          วันที่กลุ่มพวกเราขึ้นไปมุลาอิ มีเพื่อน ๆ คนไทยกลุ่มอื่น ๆ ขึ้นมาเที่ยวและกางเต็นท์บนนี้ด้วย รวมแล้วประมาณ 70-80 ชีวิต น่าจะได้

          หลังจากกางเต็นท์ เก็บข้าวของ พักผ่อนกันแล้ว ประมาณบ่าย 4 โมง จึงพากันเดินขึ้นไปสักการะองค์พระธาตุเจดีย์มุลาอิ ซึ่งประดิษฐานอยู่บนจุดสูงสุดของยอดเขา

          คืออธิบายก่อนว่าจุดกางเต็นท์และพระธาตุเจดีย์มุลาอิ อยู่คนละยอดเขากัน หากเริ่มเดินจากวัดและลานจอดรถด้านล่าง การขึ้นไปยังจุดกางเต็นท์จะมีทางแยกไปทางซ้ายและเดินขึ้นเขาระยะทาง 1.5 กิโลเมตร แต่ทางเดินขึ้นไปพระธาตุเจดีย์มุลาอิ ถ้าจากวัดและลานจอดรถด้านล่างจะเป็นทางเดินอีกเส้นหนึ่ง เดินตรงขึ้นไปประมาณ 800 เมตร

          ฉะนั้นถ้าจากลานกางเต็นท์จะไปยังองค์พระธาตุเจดีย์มุลาอิ ต้องเดินกลับลงมาจากยอดเขาถึงด้านล่างบริเวณวัด แล้วเดินขึ้นไปยังองค์พระเจดีย์มุลาอิที่อยู่บนยอดสูงสุดอีก

          ตอนจะขึ้นไปสักการะองค์พระธาตุเจดีย์มุลาอิ ผู้หญิงอย่าลืมนำผ้าถุงหรือผ้าซิ่นติดตัวไปเปลี่ยนบริเวณจุดเดินขึ้นองค์พระธาตุด้วยนะ หากเป็นประจำเดือนห้ามเดินขึ้นไปนะ ทำได้แค่เพียงนั่งเล่นชมวิวอยู่ที่จุดกางเต็นท์จ้า ส่วนผู้ชายควรใส่กางเกงขายาวเลยเข่าลงมาให้สุภาพ

          ในรูปเป็นทางเดินขึ้นไปยังองค์พระธาตุเจดีย์มุลาอิ ซึ่งทางช่วงแรกจากวัดด้านล่างจะเป็นทางขึ้นเขาสองข้างทางเป็นป่า พอเดินมาได้ครึ่งทางจะเจอบันไดปูนเพื่อเดินขึ้นไปยังองค์พระธาตุ ทุกคนต้องถอดรองเท้าไว้จุดนี้ แล้วเปลี่ยนผ้าซิ่นก่อนเดินขึ้นไปบนยอดเขา

          ยอดเขามุลาอิ จะมีพระเจดีย์ให้เราสักการะ 2 องค์ โดยผู้หญิงสามารถขึ้นมาสักการะได้แค่พระเจดีย์องค์แรก คือองค์ในรูปนี้ ซึ่งประดิษฐานอยู่ก่อนถึงยอดสูงสุดในระดับต่ำลงมาประมาณ 30-40 เมตร จากระดับน้ำทะเล ส่วนผู้ชายสามารถเดินเลยขึ้นไปสักการะได้ถึงองค์พระธาตุเจดีย์มุลาอิ ซึ่งอยู่บนยอดสูงสุด 2,070 เมตร จากระดับน้ำทะเล

          ทางเดินสู่ยอดสูงสุดซึ่งขึ้นไปได้เฉพาะผู้ชาย จังหวะที่เรากดชัตเตอร์ถ่ายรูปนี้ไว้ เป็นเพียงช่วงเวลาเสี้ยวนาทีจริง ๆ ที่ฟ้าเปิดมองเห็นยอดเขา เพราะหลังจากนั้นหมอกก็ลอยมาปกคลุมตลอดเวลา

          เคยมีหลายคนบอกว่าวิวระหว่างทางอาจสวยงามกว่าจุดหมายปลายทางที่ไปถึง ซึ่งก็จริงนะ นี่คือวิวระหว่างจากองค์พระธาตุเจดีย์มุลาอิกลับไปยังจุดกางเต็นท์

          เย็นนั้นพวกเราล้อมวงกินอาหารเย็น ซึ่งผู้ชายในกลุ่มที่ไปด้วยกันและคนนำทางพร้อมด้วยลูกหาบซึ่งเป็นผู้ชายทั้งหมด เป็นคนเตรียมและทำอาหารค่ะ ตามกฎของที่นี่ คือ ห้ามผู้หญิงทำอาหารนะ ใครเป็นผู้หญิงบอกเลยว่าทริปนี้แสนสบาย 55+

          หลังกินมื้อเย็นเสร็จ ฝนก็เทลงมาราวกับพายุ ทุกคนต่างแยกย้ายกันเข้าเต็นท์ใครเต็นท์มัน คืนนั้นทั้งลมทั้งฝนมาแบบจัดเต็มมาก มีบางเต็นท์ไม่ได้นอนกันเพราะเต็นท์เปียกและน้ำฝนซึมเข้าเต็นท์ โชคดีที่เต็นท์ของเราไม่เป็นอะไรอยู่รอดปลอดภัยดีจนถึงเช้า เที่ยวหน้าฝนก็ต้องทำใจและเข้าใจธรรมชาติอะนะ

          เช้าวันถัดมาหลังจากกินมื้อเช้าที่บรรดาผู้ชายเตรียมไว้ให้ 55+ ก็จัดการเก็บเต็นท์และอุปกรณ์แคมปิ้งต่าง ๆ และขยะทุกชิ้นเพื่อกลับลงไปยังวัดด้านล่าง

          สภาพอากาศเช้าวันนั้น ท้องฟ้าเริ่มเปิดเล็กน้อย สลับกับสายหมอกลอยพัดผ่านไปมา สดชื่นเย็นสบายมาก ๆ

          ทางเดินกลับลงไปยังวัดด้านล่าง ขึ้นมาทางไหนก็กลับลงไปทางนั้น เพราะมีอยู่เส้นทางเดียว 55+

          ยอดเขามุลาอิในช่วงเวลานั้น มีสายหมอกลอยปกคลุมจนมองไม่เห็นองค์พระธาตุเจดีย์

          ระหว่างทางเดินกลับลงไปด้านล่างมีสายฝนโปรยปรายลงมาเล็กน้อย แต่ใส่เสื้อกันฝนก็เอาอยู่ ขากลับพวกเราใช้เวลาเดินประมาณ 30 นาที ก็ลงมาถึงวัดด้านล่าง

          หลังจากทุกคนกลับลงมาครบ ก็นำสัมภาระขึ้นหลังรถกระบะ แล้วออกเดินทางกลับไปยังบ้านลุงจ่า ณ บ้านมอเกอไทย อ.พบพระ จ.ตาก ขากลับใช้เวลาน้อยกว่าขาขึ้นมา ประมาณ 2.5 ชั่วโมงก็ถึง พวกเราลงจากมุลาอิประมาณ 09.00 น. กลับมาถึงฝั่งไทยประมาณ 11.30 น. พอถึงที่ทำการกลุ่มการท่องเที่ยวฯ ก็จัดการอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วเดินทางกลับกรุงเทพฯ กัน

          สิ่งสำคัญของการเดินทางไปมุลาอิ ที่เราอยากให้ทุกคนที่อยากจะไปตระหนักก่อนเดินทาง คือ การปฏิบัติตามกฎระเบียบตามความเชื่อของคนท้องถิ่น ทั้งชาวพม่าและชาวกะเหรี่ยงพุทธต่างก็ศรัทธาและเคร่งครัดในความเชื่อท้องถิ่นและพระพุทธศาสนามาก ๆ ฉะนั้นต้องมั่นใจว่าสามารถปฏิบัติตามกฎนั้นได้ จึงค่อยวางแผนเดินทางเที่ยวกันเนอะ

          ขอบคุณที่เข้ามาอ่านรีวิวนะคะ


          #เราไปได้คุณก็ไปได้
          #คนช่างเที่ยว

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พิชิต มุลาอิ เมียนมา แรงศรัทธาท่ามกลางขุนเขา อัปเดตล่าสุด 6 มิถุนายน 2562 เวลา 19:14:35 103,232 อ่าน
TOP