x close

ตะลุย อุ้มผาง เมืองแห่งน้ำตกและขุนเขา

อุ้มผาง

ทีลอจ่อ

อุ้มผาง

ดอยหัวหมด

ดอยหัวหมด

ดอยหัวหมด

อุ้มผาง

อุ้มผาง



ทีลอซู

ทีลอซู


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ mrpuiii (หากจะนำรูปไปใช้ต่อ กรุณาแจ้ง mrpuiii@hotmail.com)


          "แมกไม้เขียวสด ดอยหัวหมดชื่นชู ทีลอซูงามล้ำ ตระหง่านง้ำลอยฟ้า ล่องธาราแพไผ่ ชายแดนไทยอุ้มผาง"

          ...นี่คือคำขวัญของอำเภอที่มีขนาดพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดตาก มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศสหภาพพม่า (เมียนมาร์) เป็นแนวชายแดนยาวประมาณ 180 กิโลเมตร ใช่แล้ว! เรากำลังเอ่ยถึง "อุ้มผาง" เมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งนักเดินทางมักแวะเวียนไปสัมผัสกับความสวยสดงดงาม ความอลังการงานสร้างของผืนป่า ความเขียวขจีของขุนเขา ความเย็นสบายของน้ำตก

          จากเดิม อุ้มผาง เป็นเมืองปิด เนื่องจากการคมนาคมไม่ค่อยสะดวกนัก แต่ปี พ.ศ. 2526 หลังจากทำการตัด "ถนนสายลอยฟ้า" จากอำเภอแม่สอดสู่อำเภออุ้มผาง ลัดเลาะตามไหล่เขาและสันเขา 165 กิโลเมตร เสร็จสิ้นลง ประตูแห่งเมืองท่องเที่ยวก็ได้เปิดออกอีกครั้ง ยิ่งเมื่อ นายแพทย์บรรลือ กองไชย เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ท่านได้ชักชวนให้นิตยสารการท่องเที่ยวเข้ามา พร้อมกับการค้นพบของน้ำตกอันยิ่งใหญ่ กลางผืนป่าและธรรมชาติอันสวยงามของต้นน้ำแม่กลองอย่าง "น้ำตกทีลอซู" ทำให้ "อุ้มผาง" กลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ในฝันของนักเดินทาง

          นั่นแน่! อยากเก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋า ออกเดินทาง อุ้มผาง แล้วใช่มั้ยล่ะ แต่ก่อนที่จะโลดแล่นออกไปยลโฉมความมหัศจรรย์ของ อุ้มผาง วันนี้กระปุกดอทคอมเลยจะพาเพื่อน ๆ ไปตะลุยพื้นที่ เก็บข้อมูลสำรวจ อุ้มผาง กันแบบละเอียดซะหน่อย...พร้อมแล้วลุยเลย

ดอยหัวหมด


ประวัติ...อุ้งผาง

          ในอดีต อุ้มผาง เป็นที่อยู่ของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ต่อมาก็มีคนไทยจากภาคเหนือได้อพยพหาที่ทำกินใหม่ มาบุกเบิกป่าอุ้มผางเป็นที่อยู่อาศัย และเมื่อปี พ.ศ. 2432 ได้ถูกกำหนดให้เป็นเมืองหน้าด่านชายแดนตะวันตก ขึ้นตรงกับจังหวัดอุทัยธานี เป็นจุดตรวจตราชาวพม่าที่เดินทางเข้ามาค้าขายในประเทศไทย โดยมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจเอกสารเดินทาง เนื่องจากภูมิประเทศเป็นป่าเขารกทึบ การเดินทางค่อนข้าง ลำบากและเอกสารฉีกขาดได้ง่าย ดังนั้น การเก็บเอกสารจึงม้วนเก็บในกระบอกไม้ไผ่และมีฝาจุกปิดมิดชิด เมื่อเดินทางมาถึงด่านตรวจก็จะเปิดกระบอกไม้ไผ่เพื่อแสดงเอกสาร ชาวกะเหรี่ยงจะเรียกเอกสารนี้ว่า "อุ้มผ๊ะ" ซึ่งต่อมาได้ออกเสียงเพี้ยนมาเป็น "อุ้มผาง" และกลายมาเป็นชื่ออำเภอในปัจจุบัน

          ทั้งนี้ พ.ศ. 2469 ทางการได้ยุบอำเภอแม่กลองเป็นกิ่งอำเภอแม่กลอง และโอนการปกครองจากจังหวัดอุทัยธานี ให้ไปขึ้นกับจังหวัดกำแพงเพชร และในปี พ.ศ. 2499 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปอยู่บ้านอุ้มผาง พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นกิ่งอำเภออุ้มผาง อีกทั้งในวันที่ 22 เมษายน 2502 ทางการได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะจากกิ่งอำเภอ เป็นอำเภออุ้มผางและให้ขึ้นกับจังหวัดตาก

ทีลอซู

          อย่างไรก็ตาม หากเดินทางมาเยือน อุ้มผาง แล้วไม่ได้ไปสัมผัสกับความมหัศจรรย์ของ "น้ำตกทีลอซู" ก็เหมือนยังมาไม่ถึง เพราะเป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวที่เหล่าบรรดานักเดินทาง ต่างใฝ่ฝันว่าจะต้องไปเห็นด้วยตาสักครั้งในชีวิต

          น้ำตกทีลอซู เป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่า "น้ำตกดำ" แต่เดิมชาวกะเหรี่ยงเรียกน้ำตกนี้ว่า น้ำตกทีลอชู ที่แปลว่า น้ำตกที่ยิ่งใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ห่างจากที่ทำการเขตฯ 1.5 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นน้ำตกเขาหินปูนขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 900 เมตร เกิดจากลำน้ำห้วยกล้อท้อทั้งสาย ที่ไหลแผ่ปกคลุมพื้นที่หน้าผากว้างกว่า 500 เมตร ก่อนที่จะทะยานลงสู่หน้าผาสูงชันลดหลั่นเป็นชั้น ๆ สูงกว่า 300 เมตร เสียงดังกึกก้องบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่จนชาวกะเหรี่ยงให้สมญานามว่า น้ำตกทีลอชู (น้ำตกใหญ่) รายล้อมไปด้วยป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ เป็นน้ำตกที่มีความยิ่งใหญ่และสวยที่สุดในเมืองไทย น้ำใสสะอาด ฤดูฝนเป็นช่วงที่น้ำตกสวยที่สุด การเดินเที่ยวชมน้ำตกแต่ละชั้นต้องเดินผ่านสายน้ำขึ้นไป จึงควรใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ

          การเดินทางรถยนต์ จากอำเภออุ้มผาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 1090 อุ้มผาง-แม่สอด ถึงหลักกิโลเมตรที่ 161 บ้านแม่กลองใหม่ เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1288 บ้านแม่กลองใหม่-เบิ้งเคลิ้ง ถึงด่านตรวจเดลอ เลี้ยวซ้ายเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ถนนช่วงนี้เป็นเส้นทางลำลองที่นักท่องเที่ยวต้องใช้รถปิคอัพ หรือรถขับเคลื่อน 4 ล้อที่มีสมรรถนะสูงเท่านั้น รวมระยะทาง 50 กิโลเมตร

ทีลอซู

          การเดินทางท่องเที่ยวในฤดูฝน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางปิดเส้นทางเดินรถยนต์ เนื่องจากการสัญจรลำบาก และยังเป็นการพักฟื้นผืนป่าให้สัตว์ออกหากิน และขยายพันธุ์โดยไม่ถูกรบกวน หากนักท่องเที่ยวมีความประสงค์จะไปน้ำตกทีลอซูในช่วงนี้ ควรติดต่อบริษัทนำเที่ยวในพื้นที่ เนื่องจากการเดินทางเข้าได้ 2 เส้นทาง คือ ล่องเรือยางจากท่าทราย อำเภออุ้มผาง ไปตามลำน้ำแม่กลองใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมง และเดินเท้าต่อไปยังน้ำตกทีลอซู ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง หรือ เดินเท้าตามเส้นทางรถจากหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยหนองหลวงถึงน้ำตกทีลอซู ระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง นักท่องเที่ยวที่มีความประสงค์เดินทางเข้าในช่วงเวลาดังกล่าว ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าอุ้มผางก่อนทุกครั้ง

          การล่องแพ นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อผ่านบริษัททัวร์ ที่จัดล่องแพในอำเภออุ้มผางได้ โดยติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตาก โทร. 0 5551 4341-3


สำหรับแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ถ้ามีโอกาสควรจะไปเยือน ได้แก่...

น้ำตกทีลอเร

          อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันออก เป็นน้ำตกที่อยู่บนโตรกผา มีลักษณะเป็นเพิงผาคล้ายถ้ำริมลำน้ำแม่กลอง โดยมีลำธารน้ำสายใหญ่ไหลผ่านหน้าผาสูงชัน ตกลงสู่ลำน้ำแม่กลองสูงประมาณ 80 เมตร ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม น้ำตกทีลอเร เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบการเดินทางผจญภัย และศึกษาธรรมชาติ การเดินทางก็ใช้เส้นทางสายอุ้มผาง-บ้านปะละทะ เริ่มต้นจากหมู่บ้านกะเหรี่ยงปะละทะ ด้วยการล่องเรือยางไปตามลำน้ำแม่กลองใช้ เวลาเดินทาง 3 วัน หมายเหตุ นักท่องเที่ยวต้องเตรียมอุปกรณ์ในการพักค้างแรมระหว่างทาง 2 คืน และต้องเตรียมอาหารไปเอง

ทีลอจ่อ

น้ำตกทีลอจ่อ

          หรือ น้ำตกสายฝน ห่างจากอำเภออุ้มผางประมาณ 3 กิโลเมตร สามารถเดินทางเข้าชมน้ำตกได้โดยการล่องแพยางไปตามลำน้ำแม่กลอง ใช้เวลาเดินทาง 40 นาที จะพบน้ำตกทีลอจ่อในระดับความสูงประมาณ 80 เมตร สายน้ำจากลำห้วยที่ไหลทิ้งตัวจากหน้าผาสูงชันลงสู่ลำน้ำแม่กลอง สายน้ำแตกกระจายเป็นฝอยดูเหมือนสายฝนที่ตกลงมาจากท้องฟ้า จึงทำให้เกิดปรากฏการธรรมชาติ คือรุ้งกินน้ำ ถ้าท่านมีความประสงค์จะชมรุ้งกินน้ำจะต้องเดินทางถึงน้ำตกในเวลา 09.00 น. จะพบเห็นรุ้งกินน้ำที่มีสีสรรงดงามยิ่ง หากอยากทราบว่ารุ้งกินน้ำมีกี่สี ท่านสามารถถ่ายรูปสัมผัสกับสายรุ้งได้อย่างใกล้ชิด จากสายน้ำที่ตกลงกระทบโขดหิน จึงทำให้เกิดละอองน้ำฟุ้งกระจายไปทั่วทั้งบริเวณ ความชุ่มชื้นจึงมีพืชประเภทมอส และตะไคร่น้ำขึ้นปกคลุมเขียวชอุ่มตลอดทั้งปี เป็นสิ่งที่ธรรมชาติเพิ่มเสน่ห์ให้กับ น้ำตกทีลอจ่อ แห่งนี้ มีความสวยงามยิ่งนัก

น้ำตกปิตุ๊โกลอซู 

          ตั้งอยู่บนเทือกเขาดอยสามหมื่น เป็นน้ำตกขนาดใหญ่สูงประมาณ 500 เมตร (วัดด้วยเครื่อง GPS) เป็นน้ำตกที่มีความสูงที่สุดในเมืองไทย มองจากระยะไกลจะเห็นสายน้ำตกไหลตามหน้าผาเป็นรูปหัวใจหรือตัว Y ส่วนการเดินทางจากอำเภออุ้มผางโดยรถยนต์ใช้เส้นทางสายอุ้มผาง – บ้านเบิ้งเคิ่ลง  ระยะทาง 60 กิโลเมตรใช้เวลา 1.5 ชั่วโมง  ถึงหมู่บ้านกะเหรี่ยงกุยเลอตอ จากหมู่บ้านเดินเท้าลัดเลาะตามเทือกเขาและลำธารน้ำประมาณ 3-4 ชั่วโมง จะถึงน้ำตกปิตุ๊โกลอซู

อุ้มผาง

น้ำตกเซปละ

          อยู่ในเขตบ้านเซปละ ตำบลแม่ละมุ้ง ห่างจากบ้านปะละทะ 3 กิโลเมตร เป็นน้ำตกภูเขา หินปูนที่ไหลลดหลั่นเป็นชั้น ๆ มีความกว้าง 10 เมตร ยาว 50 เมตร กระแสน้ำที่ตกลงกระทบโขดหิน ทำให้ดูคล้ายกับก้อนเมฆสีขาวที่มีความสวยงาม

น้ำตกโคทะ

          ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติของผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ ในเขตบ้านกะเหรี่ยงโคทะ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่กว้างกว่า 100 เมตร ไหลลดหลั่นเป็นชั้น ๆ ลงสู่เบื้องล่างสูงประมาณ 120 เมตร เสียงดังกึกก้องได้ยินแต่ไกล  นับเป็นน้ำตกที่มีความสวยงามไม่แพ้น้ำตกทีลอซูที่เดียว ส่วนการเดินทางสามารถใช้ทางจากสบแม่ละมุ้ง เดินเท้าหรือนั่งช้าง ถึงหมู่บ้านกะเหรี่ยงโคทะใช้เวลาเดินทางไปประมาณ 3 ชั่วโมง เดินเท้าจากหมู่บ้านลัดเลาะไปตามทุ่งนาสู่ผืนป่าอีกประมาณ 30 นาที จะถึงน้ำตก

ดอยหัวหมด

ดอยหัวหมด

          เป็นยอดเขาหัวโล้นที่ปกคลุมด้วยต้นหญ้าและไม้ทนแล้ง  อยู่ห่างจากตัวเมืองอุ้มผางมาตามเส้นทางบ้านสบห้วยแม่สะมุ้งประมาณ 10 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าไปตามถนนลูกรังอีก 700 เมตร จากจุดจอดรถเดินเท้าขึ้นไปชมวิวบนยอดดอยอีกประมาณ 150 เมตร  ภูเขาบริเวณนี้มีหลายดอย เป็นลักษณะยอดเขาเตี้ย ๆ ที่ไม่มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุม ชาวบ้านจึงเรียกว่ายอดเขาเหล่านี้ว่า ดอยหัวหมด หรือ เขาหัวโล้น ดอยหัวหมดที่เป็นจุดชมวิวมีด้วยกันหลายดอย

          จุดเด่นของดอยหัวหมดในช่วงฤดูฝน คือทุ่งดอกไม้สีชมพู เป็นต้นเทียนดอยที่จะออกดอกสีชมพูไปทั่วทั้งดอย  ในช่วงเวลานั้นจึงเรียก ดอยหัวหมด ว่า ดอยชมพู  ยอดเขาหัวโล้นที่มีกระจัดกระจายหลายดอยเป็นดอยโล่ง ๆ ที่ปกคลุมด้วยต้นหญ้า เมื่อดอกเทียนบานจึงทำให้เห็นเป็นสีชมพูปกคลุมไปทั่ว แต่ถ้าจะให้สวยจะต้องขึ้นไปชมบนยอดดอย ช่วงที่ดอกเทียนดอยบานอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ในช่วงต้นเดือนกันยายนก็พอมีให้เห็นบ้างเป็นหย่อม ๆ เมื่อพ้นช่วงนี้ไปแล้วก็มีเพียงป่าหญ้าแห้ง ๆ กับต้นปาล์มสิบสองปันนาซึ่งเป็นไม้ทนแล้งที่มีมากในบริเวณนี้

          จุดเด่นของดอยหัวหมดในช่วงฤดูหนาว คือวิวทะเลหมอก ดอยหัวหมด เป็นดอยที่อยู่ในระดับต่ำ และเบื้องล่างเป็นหุบเขา เมื่อเขาอยู่ระดับต่ำทำให้เห็นทะเลหมอกได้ใกล้ ๆ ซึ่งทะเลหมอกจะเกิดในแอ่งเบื้องล่าง

          จุดเด่นของดอยหัวหมดในช่วงฤดูร้อน คือ ป่าดอกเสี้ยว เป็นดอกไม้ตระกูลชงโค แต่ดอกเสี้ยวมีสีขาว เป็นไม้ป่า จะออกดอกพร้อมเพรียงกันในช่วงฤดูร้อนราวเดือนมีนาคม ทำให้ป่ากลายเป็นสีขาวสวยแปลกตา

ถ้ำตะโค๊ะบิ๊

ถ้ำตะโค๊ะบิ๊

          เป็นถ้ำมืดมีทางเดินลงไปเป็นชั้น ๆ ด้านในมีทางแยกหลายทางเป็นถ้ำขนาดใหญ่ เพดานถ้ำสูง มีหินงอก หินย้อยสวยงาม และสามารถเดินทะลุมาออกที่บ้านแม่กลองใหม่ได้ ความลึกของถ้ำประมาณ 3 กิโลเมตร การเดินทาง จากอำเภออุ้มผางใช้เส้นทางสายแม่กลองใหม่-น้ำตกทีลอซู ไปประมาณ 3 กิโลเมตร สถานที่พัก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ได้จัดสถานที่ตั้งเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งนำเต็นท์ไปเองเสียค่าสถานที่กางเต็นท์ 30 บาท/คน/คืน หรือติดต่อขอเช่าเต็นท์ได้ที่เขตฯ และเตรียมอาหารมาเอง โดยทางเขตฯ มีอุปกรณ์ทำอาหาร

          ติดต่อรายละเอียดได้ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก 63170 โทร. 0 5557 7318, 08 5450 8983 การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 105 สายตาก-แม่สอด ไปประมาณ 96 กิโลเมตร แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 1090 สายแม่สอด-อุ้มผาง เข้าสู่อำเภออุ้มผางระยะทางประมาณ 164 กิโลเมตร

ดอยหัวหมด

การเดินทาง

          การเดินทางไปจากกรุงเทพฯ มุ่งสู่จังหวัดตาก ระยะทาง 426 กิโลเมตร ใช้เวลาราว 5 ชั่วโมงเศษ เลี้ยวเข้าเส้นทางหมายเลข 105 สายตาก-แม่สอด เส้นทางสายนี้ตัดผ่านเทือกเขาสูงชันราว 1 ชั่วโมง ก็จะลงสู่ที่ราบตัวเมืองแม่สอดใช้เส้นทางหมายเลข 1090 สายแม่สอด- อุ้มผาง เส้นทางนี้มีระยะทางเพียง 146 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาขับถึงประมาณ 4 ชั่วโมงทีเดียว เพราะเส้นทางขึ้นลงเขาและคดเคี้ยวโดยตลอด ควรใช้ความระมัดระวังยิ่ง เมื่อเข้าถึงตัวอำเภอ อุ้มผาง ซึ่งเป็นอำเภอเล็ก ๆ ที่เงียบสงบ ควรใช้ความระมัดระวังและขับช้า ๆ เพราะถนนในตัวอำเภอเล็กและมีไว้ใช้ในชุมชนเท่านั้น เพื่อจะได้ไม่เป็นการรบกวนผู้คนและชุมชน

          อิ่มเอมกับข้อมูลกันแล้ว ก็ได้เวลาออกไปโอบกอดฟ้า ชื่นชมขุนเขา ณ อุ้มผาง ดินแดนแห่งวัฒนธรรมและธรรมชาติ






ขอขอบคุณข้อมูลจาก
                         


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตะลุย อุ้มผาง เมืองแห่งน้ำตกและขุนเขา อัปเดตล่าสุด 27 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 17:51:18 4,247 อ่าน
TOP