x close

โมโกจู แนะนำวิธีการเดินทางและรีวิวเส้นทางก่อนถึงหินเรือใบ

          แนะนำวิธีการเตรียมตัวเดินป่าทางไกล 5 วัน 4 คืน เพื่อพิชิตยอดเขาโมโกจู อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร พร้อมรีวิวเส้นทางการเดินป่า จะเจออะไร สภาพเส้นทางเป็นแบบไหน ต้องเตรียมอะไรไปบ้าง เรามีคำตอบ

          โมโกจู ยอดเขาสูงเสียดฟ้า สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 1,964 เมตร สถานที่ที่คนรักป่าเขาและธรรมชาติอยากที่จะขึ้นไปพิชิตเพื่อชมภาพความสวยงามของพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกสวยตระการตากันสักครั้ง แต่กว่าจะไปถึงจุดสูงสุดบริเวณหินเรือใบได้นั้น ก็ต้องใช้ทั้งใจที่แข็งแกร่งและร่างกายที่แข็งแรงเพื่อฝ่าด่านเส้นทางสุดหฤโหดขึ้นไปยังยอดเขาโมโกจู รวมระยะเวลาทั้งหมด 5 วัน 4 คืน เดินไป-กลับเป็นระยะทาง 64 กิโลเมตร ไม่สตรองจริง ๆ อาจจะต้องถอดใจระหว่างทางได้ค่ะ

          และทางกระปุกดอทคอมก็ได้มีโอกาสร่วมเดินทางสำรวจเส้นทางพิชิตยอดเขาโมโกจูกับอุทยานแห่งชาติแม่วงก์, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคเหนือ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุโขทัย เป็นทริปที่โหดคูณสอง เพราะฝนตกตลอดการเดินทาง ทำให้คณะของเราไปไกลได้แค่แคมป์คลองสอง ไม่สามารถขึ้นไปถึงแคมป์ตีนดอยและหินเรือใบได้ แต่เราก็ยังมีรีวิวมาฝากทุกคนค่ะ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่กำลังจะเตรียมตัวไปพิชิตโมโกจูในฤดูกาลนี้

วิธีการเตรียมตัวก่อนขึ้นเขาโมโกจู


* การเตรียมร่างกาย

          ควรที่จะออกกำลังกายประเภทคาร์ดิโอมาก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ฝึกเดินขึ้น-ลงบันไดด้วยก็ดีค่ะ ให้ร่างกายได้ยืดให้คล่องตัว เพราะหลาย ๆ ช่วงจะเป็นทางเดินขึ้น-ลงเขา การออกกำลังกายมาก่อน นอกจากจะทำให้เราเดินถึงจุดหมายแล้ว ก็ยังจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วหลังจากกลับมาจากการเดินป่าด้วย

          ที่สำคัญ โน้ตไว้เลยค่ะ ว่าถ้าหากใครมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดัน โรคหืดหอบ และโรคที่เกี่ยวกับกระดูก ไม่แนะนำให้ไปค่ะ เพราะอาจจะเกิดอันตรายระหว่างทางได้ เส้นทางการเดินป่าทางไกลนี้โหดจริง ๆ แล้วก็ต้องเดินเข้าป่าลึก หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะลำบากต่อการพาออกมารักษา จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ส่วนใครที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ ที่ไม่เป็นผลกระทบกับระบบหัวใจและการหายใจ ก็ควรเตรียมยาไปด้วยนะคะ ห้ามลืมเด็ดขาด

* เช็กสภาพอากาศก่อนการเดินทาง

          การเช็กสภาพอากาศก่อนการเดินทางจะทำให้เราสามารถวางแผนและจัดกระเป๋าได้ดีขึ้นค่ะ จะได้รู้ว่าควรเอาอะไรหรือไม่ควรเอาอะไรไป เสื้อผ้าควรแต่งแบบไหน

* การเตรียมสัมภาระส่วนตัวและของที่จำเป็นในเป้สะพายหลัง

          ใน 1 กรุ๊ป ทางอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ได้กำหนดไว้ว่าให้มีผู้ร่วมเดินทางไม่น้อยกว่า 6 คน และไม่เกิน 12 คน ลูกหาบสามารถแบกสัมภาระได้คนละ 20 กิโลกรัม (ลูกหาบคนละ 600 บาท/วัน) จำกัดลูกหาบไม่เกิน 3 คน/กรุ๊ป จึงต้องมีสัมภาระบางส่วนที่เราจะต้องแบกขึ้นไปเองค่ะ เพราะฉะนั้นควรเตรียมจัดกระเป๋าให้ดีก่อนออกเดินทาง ถ้าผู้หญิงก็แนะนำว่าไม่ควรเกิน 10 กิโลกรัม เพราะมันหนักมากจริง ๆ ค่ะ ของที่ควรติดตัวระหว่างเดินป่าก็มีดังนี้ 

          - กระเป๋าสัมภาระ ควรมีช่องเก็บของเยอะหน่อย น้ำหนักเบา กันน้ำ สามารถยัดสัมภาระลงไปได้ในใบเดียว โดยไม่ต้องมีใบเล็กใบน้อยมาห้อยคล้องคอ

          - อาหารกลางวัน แนะนำให้เป็นประเภทแป้งที่เสริมคาร์โบไฮเดรต กับข้าวก็ควรเป็นแบบแห้ง ๆ หรือเป็นแบบสำเร็จรูป ห้ามฝากไว้ที่คนอื่นหรือลูกหาบ เพราะอาจจะเดินไม่ทันกัน แล้วจะไม่มีข้าวกินระหว่างทาง

          - กระปุกใส่ข้าว พร้อมช้อน จะได้ไม่ต้องเปลืองถุงพลาสติกและกลายเป็นขยะในป่าให้สัตว์ป่ามากินจนเป็นอันตราย (ทริปนี้เราลืมค่ะ T^T)

          - น้ำดื่มสะอาด อย่างน้อย 2 ขวด (ถ้าใช้ขวดพลาสติกต้องเก็บลงมาด้วย)

          - น้ำหวาน หรือเครื่องดื่มเสริมพลังงาน พกเป็นซอง ๆ พอหิวน้ำก็ฉีกใส่ขวดน้ำดื่ม ดื่มแก้กระหายได้ทันที

          - ช็อกโกแลต และขนมขบเคี้ยว มีความสามารถพกได้แค่ไหน พกไปเลยค่ะ ช่วยได้เยอะมาก ๆ

          - ไม้ค้ำยัน เป็นตัวช่วยที่ดีงามพระรามแปด ไม่ว่าจะขึ้นหรือลงเขา ก็ช่วยได้ แถมยังช่วยเปิดทางเดินรก ๆ ได้ด้วยค่ะ

          - ยาดม ยาหม่อง ได้ดมกันตลอดเส้นทางแน่ ๆ ^^

          - ยาฉีดกันยุง กันแมลง ตัวคุ่น และทาก ขี้ผึ้งแซม-บัค ได้ฉีดและทากันทุก ๆ กิโลเมตรเลยค่ะ เพราะที่นี่เป็นป่าอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าเดินเข้า-ออกตามเส้นทางที่เราเดินทุกคืน เพราะฉะนั้นแมลงต่าง ๆ ที่เกาะอยู่กับสัตว์จะหลงเหลืออยู่ตามต้นไม้ที่เราเดินผ่าน ยิ่งถ้าฝนตก ยุงและทากก็ยิ่งเยอะค่ะ ป.ล. ซอฟเฟลแบบสเปรย์ สามารถฉีดทากให้หลุดจากตัวเราได้จริง ๆ ค่ะ พิสูจน์แล้ว :)

          - สเปรย์ฉีดคลายกล้ามเนื้อ พกใส่กระเป๋าติดตัวไว้ค่ะ ได้ใช้แน่นอน

          - ยาโรคประจำตัว ยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ ยาคลายกล้ามเนื้อแบบกิน

          - เสื้อกันฝน อะไรก็เกิดขึ้นได้ ดูทริปเราสิคะ ไปหน้าหนาว แต่ฝนก็ดันตกตลอด Y^Y

          - ถุงมือ รูดกิ่งไม้กันมาทุกกิ่งจริง ๆ การใส่ถุงมือจะช่วยลดการเสียดสีเวลาเราจับกิ่งไม้ หรือจับไม้ค้ำยันค่ะ

          - ถุงดำ เผื่อใส่ขยะ กันฝน กระเป๋าขาด วางรองนั่ง และสารประโยชน์

          - ทิชชูเปียก ทิชชูแห้ง เผื่อเช็ดไม้เช็ดมือ หรือเข้าห้องน้ำ (ในป่า) ระหว่างทาง

          - เสื้อผ้าสำรองอย่างน้อย 2 ชุด เผื่อเดินไม่ทันลูกหาบต้องนอนระหว่างทาง หรือมีเหตุฉุกเฉินให้ต้องเปลี่ยน

          - ชุดชั้นใน

          - แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ครีมอาบน้ำ โฟมล้างหน้า ยาสระผม

          - สำหรับผู้หญิง เครื่องสำอางเอาไปแค่ครีมบำรุง ครีมกันแดด ดินสอเขียนคิ้ว และคลีนเซอร์ แค่นี้พอ ! อย่าเยอะกว่านี้ค่ะ หนักเปล่า ๆ

          - ที่กรองน้ำเล็ก ๆ เอาไว้กรองน้ำจากลำธารที่เราต้องเติมระหว่างทาง

          - กล้องถ่ายรูป ใช้กล้องโทรศัพท์ก็พอค่ะ เชื่อเหอะ ฮ่าๆๆ

         >>> คลื่นโทรศัพท์มีเพียงแค่ AIS นะคะ พอเข้าถึงเขตตำบลปางตาไว สัญญานโทรศัพท์คลื่นอื่น ๆ จะตายหายไปทันทีค่ะ T^T แล้วคลื่น AIS ก็จะใช้ได้เพียงในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ พอเริ่มเดินเข้าป่าแล้วจะไม่มีสัญญานเช่นกันค่ะ <<<

* การเตรียมเสื้อผ้า

          นอกจากสัมภาระต่าง ๆ ที่ต้องนำไปแล้ว เสื้อผ้าก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่งเลยค่ะ เตรียมเสื้อผ้าพร้อมก็มีชัยไปกว่าครึ่ง

          - เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ควรเป็นแบบที่เนื้อผ้าสามารถระบายอากาศได้ดี ใครจะใส่เสื้อยืดแขนสั้นแล้วใส่ปลอกแขนก็ได้ค่ะ ถ้าร้อนระหว่างทางก็ถอดออก อยากให้เตรียมไปเผื่ออากาศหนาวนะคะ เพราะด้านบนอากาศจะหนาวขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะตอนกลางคืน จำนวนเท่าไร ก็เอาเท่าที่เราต้องใช้และแบกไหวจริง ๆ จะได้ไม่เป็นภาระ 

          - ผ้าพันคอ ช่วยอย่างมากในช่วงที่อากาศหนาว

          - หมวก เป็นแบบมีปีกและมีที่คลุมหน้าก็ได้ค่ะ จะช่วยป้องกันกิ่งไม้และแมลงกัดต่อยบริเวณลำคอได้ด้วย

          - รองเท้า ควรเป็นรองเท้าที่เราใส่เดินสบายและมีความทนทานพอสมควร เพราะเราต้องเดินหนักมาก พื้นก็ต้องดูดี ๆ กาวต้องแน่น ไม่ไปหลุดกลางทาง (ในทริปนี้ก็พื้นรองเท้าหลุดไป 2 ท่านเลยค่ะ) ใต้พื้นรองเท้าก็ต้องมั่นใจว่าสามารถยึดพื้นได้ดี เพราะเส้นทางบางช่วงจะลื่นมาก ๆ ถ้าอากาศชื้นหรือฝนตก จะได้ไม่เดินลำบาก

          - ถุงกันทาก ได้เจอน้องทากแน่ ๆ ค่ะ ไม่น้อยก็มาก ได้พบปะกันทุกคน ฮ่า ๆ ๆ

          - ถุงเท้ายาว ถ้าใครไม่ได้ใส่ถุงกันทาก ก็แนะนำว่าให้ใส่ถุงเท้ายาว ๆ จะช่วยป้องกันแมลงและทากได้ระดับหนึ่ง

* การเตรียมเสบียง อุปกรณ์การกางเต็นท์ และของอื่น ๆ เพื่อให้ลูกหาบหาบขึ้นไป

          สำหรับทริปการเดินป่าระยะไกลพิชิตยอดเขาโมโกจู ทางอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ไม่ได้มีเต็นท์และถุงนอนให้บริการเช่านะคะ นักท่องเที่ยวจะต้องเตรียมไปเอง อุปกรณ์การทำอาหาร พร้อมทั้งเสบียงต่าง ๆ จะต้องเตรียมให้กับเจ้าหน้าที่และลูกหาบด้วยค่ะ

          - เต็นท์ แนะนำว่าควรเป็นแบบที่น้ำหนักเบา กางง่าย ขนาดที่สามารถนอนได้ 2 คนขึ้นไป จะได้ลดน้ำหนักสัมภาระ

          - ถุงนอน หนานิดหนึ่งค่ะ เพราะด้านบนอากาศหนาวพอสมควร

          - อุปกรณ์การทำอาหาร เช่น กระทะ, หม้อสนาม, ตะหลิว และมีดทำครัว

          - เครื่องปรุง เช่น น้ำปลา, น้ำตาลทราย, น้ำมัน และซอสปรุงรส  

          - น้ำดื่มสะอาด 2-4 แกลลอน เอาไว้ทำอาหาร

          - จาน ชาม ช้อน แนะนำให้เป็นแบบที่สามารถล้างเก็บได้ เพราะถ้าใช้เป็นแบบกระดาษจะยุ่งยากต่อการเก็บลงมาทิ้ง

          - ทิชชู เอาไว้เช็ดทำความสะอาด

          - น้ำยาล้างจาน และฟองน้ำล้างจาน

          - ของสดต่าง ๆ พร้อมทั้งข้าวสาร เตรียมให้พร้อมสำหรับอย่างน้อย 12 มื้อ และคนจำนวนไม่ต่ำกว่า 15 คน (อย่าลืมเผื่อเจ้าหน้าที่และลูกหาบ)

เส้นทางพิชิตโมโกจู 5 วัน 4 คืน

* Day 1 : อุทยานแห่งชาติแม่วงก์-แคมป์แม่กระสา

โมโกจู
ก่อนเดินทางเจ้าหน้าที่จะพูดคุยทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวก่อน

โมโกจู

          ควรมาถึงที่ทำการอุทยานตั้งแต่เช้า ถ้าเป็นไปได้แนะนำว่าให้มานอนค้างคืนที่อุทยานค่ะ จะได้มาพูดคุยพร้อมทั้งรับฟังคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ ขาดเหลืออะไรจะได้มีเวลาหาซื้อเตรียมให้พร้อม วันแรกเจ้าหน้าที่จะให้เรามาลงทะเบียนไม่เกิน 08.00 น. ค่ะ กินข้าวเช้าให้เรียบร้อย เตรียมของใส่เป้สะพายหลัง และจัดการแบ่งของที่จะให้ลูกหาบแบกขึ้นไปรอไว้เลย

โมโกจู
บ้านพักของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

โมโกจู
บ้านพักของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

โมโกจู
ลำธารใกล้ ๆ กับบ้านพัก

          เส้นทางนี้มีระยะทางทั้งหมด 16 กิโลเมตรค่ะ เป็นเส้นทางเดินรถ ผ่านป่าไผ่ ลำธาร ทางขึ้น-ลงเขาเป็นระยะ ใช้เวลาเดินราว ๆ 4-6 ชั่วโมง แล้วแต่สภาพร่างกายของแต่ละคน มีจุดที่ลำบากอยู่หนึ่งจุด เรียกว่า เนินขี้แตก จุดนี้จะเป็นเนินขึ้นชันระยะทางยาวหน่อย แต่ถ้าผ่านจุดนี้ไปได้ก็เดินได้เรื่อย ๆ แล้วค่ะ ระหว่างทางก็มีแวะพักกินข้าวกลางวัน แนะนำว่าให้นั่งตรงถนนนะคะ อย่าไปนั่งบริเวณใกล้กับพุ่มไม้ เพราะเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่เสือและช้างป่าเดินกันทุกคืน ก็อาจจะมีเห็บลม คุ่น หรือแมลงอื่น ๆ มากัดเราได้ เดี๋ยวจะเที่ยวไม่สนุกค่ะ และด้วยความที่ฝนตกหนักตลอดทางก็เลยเอากล้องกับโทรศัพท์ใส่กระเป๋ากันน้ำ ไม่มีรูปเลย T^T

โมโกจู
16 กิโลเมตรแรกของปีก่อน ๆ / ภาพจาก ททท. สุโขทัย

โมโกจู
16 กิโลเมตรแรกของปีก่อน ๆ / ภาพจาก ททท. สุโขทัย

โมโกจู
16 กิโลเมตรแรกของปีก่อน ๆ / ภาพจาก ททท. สุโขทัย

โมโกจู
บรรยากาศแคมป์แม่กระสา

โมโกจู
แคมป์แม่กระสามีนกแก๊กอยู่ 2 ตัว เชื่องมาก ๆ ค่ะ แต่ละคนตื่นเต้นที่ได้เห็นใกล้ ๆ

โมโกจู

          แคมป์แม่กระสามีห้องน้ำค่ะ แต่ให้อาบน้ำในลำธาร เพราะน้ำมีจำนวนจำกัด ส่วนถ้าจะเติมน้ำกิน ก็มีจุดเติมน้ำสะอาดอยู่ที่บ้านพักเจ้าหน้าที่ มีศาลาอยู่ 3 หลัง แต่เอาไว้เตรียมอาหารทำกับข้าว ส่วนถ้านอนก็กางเต็นท์ ลูกหาบน่ารักมาก กางเต็นท์ให้ด้วย กินอิ่มก็นอนค่ะ

โมโกจู
ห้องน้ำบริเวณแคมป์แม่กระสา

* Day 2 : แคมป์แม่กระสา-แคมป์แม่เรวา (รีวา)-น้ำตกแม่เรวา

          เช้าวันนี้ฝนตกหน่อย ๆ สามารถควักโทรศัพท์และกล้องออกมาถ่ายรูปได้บ้าง หลังจากกินอาหารเช้าเรียบร้อย ก็เก็บของ ทำธุระส่วนตัวให้เรียบร้อย วันนี้เราต้องเดินช่วงแรก 4 กิโลเมตร เพื่อไปให้ถึงแคมป์แม่เรวา แล้วก็ไปกินข้าวกลางวันที่นั่นค่ะ

โมโกจู
ชุดกันฝนพร้อมสำหรับวันที่ 2

โมโกจู
เริ่มออกเดินทาง

โมโกจู
ข้ามลำห้วยแรกของวัน

โมโกจู
ทางเดินจากแคมป์แม่กระสา ไปแคมป์แม่เรวาจะเป็นป่าไผ่ส่วนใหญ่ค่ะ ทางไม่ชัน เดินสบาย ๆ

โมโกจู

โมโกจู
ขึ้นเขา-ลงห้วยบ้างนิดหน่อย

โมโกจู

โมโกจู
เจอเห็ดร่างแห หรือเห็ดเยื่อไผ่ด้วยค่ะ

โมโกจู
มีข้ามลำธารที่ 2 ค่ะ จากจุดนี้เดินอีกประมาณ 40 นาทีก็ถึงแคมป์แม่เรวา

โมโกจู

          ถึงแคมป์แม่เรวา ก็ใช้เวลาเดินราว ๆ 2.30-3 ชั่วโมงค่ะ พอดีได้กินข้าวเที่ยง เจ้าหน้าที่ก็น่ารักอีกตามเคย จัดเตรียมจุดไฟให้เราได้นั่งผิงอุ่น ๆ ลูกหาบยังมาไม่ถึงค่ะ เขาออกทีหลังพวกเรา เพราะลูกหาบจะเก็บเต็นท์ให้ด้วย ในจุดนี้มีห้องน้ำนะคะ แต่เราจะต้องลงไปตักน้ำในลำธารมาเอง จะทำธุระส่วนตัว หรืออาบน้ำก็ตักน้ำจากในลำธารมาเลย เย็นฉ่ำใจ หรือใครจะลงไปอาบในลำธารก็ได้ค่ะ แต่ลงมาอาบท้ายน้ำนิดหนึ่งเนอะ เพราะต้น ๆ น้ำจะได้ตักไปทำอาหารหรือดื่มได้ค่ะ

โมโกจู

โมโกจู

โมโกจู
พักกินข้าวเที่ยงก่อนไปน้ำตกแม่เรวา

โมโกจู

          การเดินช่วง 2 ของวันนี้เริ่มขึ้นหลังจากกินอาหารกลางวันค่ะ เราจะเดินไปชมน้ำตกแม่เรวากัน ระยะทางไป-กลับ 6 กิโลเมตร บอกตัวเองว่าชิล ๆ ไหน ๆ มาถึงที่นี่แล้ว ก็ต้องไปชมความสวยงามของน้ำตกแห่งนี้ให้เห็นกับตากันสักครั้ง ก็ลากขาหน่วง ๆ ของตัวเองเดินตามเจ้าหน้าที่ไปค่ะ เส้นทางไม่ได้ลำบากมากนัก มีปีนป่ายขึ้นเขา-ลงห้วยบ้าง แต่ไม่หนักหนาค่ะ จะหนักก็ตรงฝนตกนี่แหละ ทางมันลื่น ต้องเดินระวังเป็น 2 เท่า

โมโกจู
ไป-กลับ 6 กิโลเมตร สู้ ๆ !

โมโกจู
ต้นไม้ระหว่างทาง

โมโกจู
มีข้ามลำห้วยอีกแล้ว

โมโกจู
ก่อนถึงน้ำตกเส้นทางจะชันนิดหนึ่งนะคะ เดินอย่างระมัดระวัง

โมโกจู
ถึงแล้ว ! น้ำตกแม่เรวาสูงใหญ่มาก ๆ ค่ะ มีทั้งหมด 5 ชั้น

โมโกจู

โมโกจู

          เดินกลับมาถึงแคมป์แม่เรวาประมาณห้าโมงเย็นค่ะ เย่ ! เหมือนสวรรค์เลย ลูกหาบมาถึงแล้ว กางเต็นท์ให้เรียบร้อย เจ้าหน้าที่และพี่ ๆ ในทีมก็เตรียมทำอาหารกันสนุกสนาน สลับกันไปอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าค่ะ แล้วก็กลับมากินข้าว

โมโกจูเต็นท์พร้อมแล้ว

โมโกจู
น้ำเย็นมาก มีหมอกบาง ๆ บรรยากาศดีสุด ๆ

โมโกจู

โมโกจู
เสบียงทั้งหมดของพวกเรา

โมโกจู
ใครพอทำกับข้าวได้ ก็ช่วย ๆ กันค่ะ

โมโกจู
กินข้าวกลางป่า มันก็จะมืด ๆ หน่อย ^^

โมโกจู
ห้องน้ำบริเวณแคมป์แม่เรวา

โมโกจู

* Day 3 แคมป์แม่เรวา-แคมป์คลองสอง


          เช้านี้ก็ยังมีฝนบาง ๆ ค่ะ เป็นวันที่เจ้าหน้าที่บอกว่าต้องเตรียมใจหนัก ๆ เลยนะ เพราะต้องเดินขึ้นเขาอย่างเดียวเป็นระยะทางเกือบ ๆ 8 กิโลเมตร ต้องเตรียมเสบียง และน้ำดื่มให้พร้อม จากจุดนี้ต้องเติมน้ำในลำธารใส่ขวดน้ำส่วนตัว ถ้าใครไม่มีที่กรองน้ำก็ไม่เป็นไรนะคะ เพราะน้ำสะอาดอยู่แล้ว อาจจะมีฝุ่นตะกอนบ้างเล็กน้อย ก็เลือก ๆ กรอกตรงจุดที่น้ำไหลตลอดเอาค่ะ จะได้ไม่ขุ่น น้ำจากธรรมชาตินี่ดื่มระหว่างทางมันเย็นชื่นใจดีจริง ๆ ค่ะ

โมโกจู
เช้านี้ก็มีเมนูไข่เจียว ^^

โมโกจู

โมโกจู

โมโกจู
กรอกน้ำจากลำธารไปกินระหว่างทาง

โมโกจู
เริ่มต้นวันที่ 3 ด้วยการปีนป่าย

โมโกจู
เดินมาได้สักชั่วโมงก็ต้องพักค่ะ ไม่ไหว T^T

โมโกจู

โมโกจู
ไม้ค้ำยันจะช่วยชีวิตเราได้เยอะมาก ๆ อย่าทิ้งระหว่างทางนะคะ

โมโกจู
พี่เขาถามว่าวิ่งกลับยังทันไหม ฮ่าๆๆ

โมโกจู
เห็นป้ายนี้อย่าเพิ่งดีใจ หนทางยังอีกยาวไกลยิ่งนัก

โมโกจู
ต้มน้ำกินกาแฟกันค่ะ

โมโกจู
แก้วกาแฟจากธรรมชาติของลูกหาบ

          พอเดินมาได้สักราว ๆ 4 ชั่วโมง ก็จะถึงจุดพักใกล้กับคลองใหญ่ จุดนี้เราพักกินข้าวกลางวันกันค่ะ ข้าวกลางวันก็เป็นแบบง่าย ๆ มีข้าวสวยกับอาหารซองสำเร็จรูป บอกเลยว่าวินาทีนี้อร่อยวัวตายควายล้ม เพราะเดินมาเหนื่อยมาก ๆ นับหนึ่งถึงพันมาเป็นร้อย ๆ รอบกว่าจะถึงจุดนี้ หมดเหงื่อและพลังไปหลายกระสอบ ข้าวมีแค่ไหนก็จัดไปให้หมดค่ะ ฮ่าๆๆ

โมโกจู
ข้าวกลางวันแบบง่าย ๆ

โมโกจู
กรอกน้ำตรงคลองใหญ่ค่ะ น้ำใสและเย็นมาก

โมโกจู
เดินต่อได้ค่ะ ผ่านคลองใหญ่ จุดนี้ทากเยอะ เดินผ่านเร็ว ๆ ไปเลย

โมโกจู
ปีนต่อ ไม่รอแล้วนะ

โมโกจู
มองกลับไป โอ้โห ฉันเดินขึ้นมาได้อย่างไร แต่สายหมอกและอากาศเย็น ๆ ก็ปัดเอาความเหนื่อยออกไปได้เกือบหมดเลยค่ะ

โมโกจู
ฝนเริ่มตก หมอกเริ่มมา ป่าก็เขียวสวยเชียว :)

โมโกจู

โมโกจู

โมโกจู

โมโกจู

โมโกจู
ลูกหาบผู้แข็งแกร่งของทีมเรา

โมโกจู
จุดปีนเชือกจุดที่หนึ่งมาแล้วค่ะ ชันราว ๆ 70-80 องศา

โมโกจู
จุดปีนเชือกจุดที่ 1 หลังจากนี้ก็ทางชันต่อเนื่องเลยนะคะ

โมโกจู
จุดปีนเชือกจุดที่ 2 เริ่มร้องขอชีวิต เมื่อเห็นทางขึ้นเกือบ 90 องศา 

โมโกจู
น้องกำลังปีนตามขึ้นมา

          จากจุดปีนเชือกที่ 2 นี้ทางก็ยังจะชันอยู่นะคะ เดินขึ้นเรื่อย ๆ ยาว ๆ เลย ไม่มีผ่อนปรน ทั้งฝนตก ทั้งลื่น ทั้งเนื้อทั้งตัวมีแต่โคลน เพราะล้มก้นจ้ำบ๊ะตีลังกาไปไม่รู้กี่รอบ หมดอารมณ์ยกมือถือถ่ายรูปแล้วค่ะ เก็บลงกระเป๋ายาว ๆ ไปจนถึงแคมป์คลองสองเลย และด้วยความที่ช่วงหลังนี้ฝนตกหนักมากขึ้น น้องทากผู้น่ารักก็ออกมาเยอะเช่นกัน ใครเดินก่อนก็เป็นผู้โชคดีไปเด้อ ให้น้องทากเกาะตัวไปด้วยสวย ๆ แต่เราพิสูจน์แล้วว่าซอฟเฟลช่วยได้ค่ะ เอาฉีดไปที่ตัวน้องทาก รอสักแป๊ปน้องจะปล่อยเองค่ะ ก็เอาทิชชูหรือผ้าหยิบออก แต่อยากจะบอกว่าตอนที่โดนทากเกาะนี่ไม่ได้เรียก "น้อง" น่ารัก ๆ แบบนี้นะคะ ตรงกันข้าม  "เอามันออกไป ๆๆ" กรี๊ดลั่นเต็นท์ ลั่นป่า ไปเลยจ้า ไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ตั้งสติให้ดีค่ะ ฮ่า ๆ ๆ

โมโกจู
ฝนตกไม่หยุดเลย แต่พี่ ๆ ก็ช่วยกันกางเต็นท์ :)

          ตอนมาถึงแคมป์คลองสองนี้ ประมาณ 15.30 น. ค่ะ ฝนก็ยังตกอย่างต่อเนื่อง แล้วอากาศก็หนาวมาก ๆ ด้วย ทั้งหนาวฝน หนาวลม ไฟก็จุดยาก เพราะไม้ฟืนชื้นหมดเลย แต่พี่ ๆ เจ้าหน้าที่และลูกหาบใจสู้มาก พยายามช่วยกันกางเต็นท์ และหาฟืนมาจุดไฟเพื่อให้ทุกคนได้ผิงแก้หนาวกัน ในจุดนี้ไม่มีห้องน้ำแล้วนะคะ จะทำธุระส่วนตัวแบบไหน ก็จะต้องเข้าป่าอย่างเดียว ต้องเดินไปในป่าไกล ๆ จากจุดกางเต็นท์สักหน่อย พกมีดเดินป่าของลูกหาบไปด้วยก็ได้นะคะ เผื่อเอาไปฟันกิ่งไม้ เตรียมทิชชูเปียกและแห้งให้พร้อมค่ะ

โมโกจู
ฝนตก หมอกหนา แต่ป่าก็สวยไปอีกแบบ

          วันนี้อากาศหนาวสุด ๆ ฝนก็ตกปรอย ๆ ตลอด หมอกมาหนามากอย่างที่เห็น พอเปลี่ยนเสื้อผ้าได้ก็นอนหมกตัวอยู่แต่ในเต็นท์ ไม่อยากกินข้าวเลยค่ะ มันหนาวจริง ๆ แต่ก็ต้องไปเติมพลัง ฝนตกหนักทั้งคืน ก็นอนลุ้นกันว่าพรุ่งนี้ฝนจะหยุดไหม

* Day 4 แคมป์คลองสอง-แคมป์แม่กระสา

          เช้าตื่นมาก็พบกับหมอกหนาและสายฝนเหมือนเดิม เจ้าหน้าที่แจ้งว่าเราไม่สามารถเดินขึ้นไปยังหินเรือใบได้ เพราะทางทั้งชันและแคบมาก ฝนที่ตกทั้งคืนก็ทำให้ทางลื่น จะเป็นอันตรายต่อผู้เดินทาง ใจครึ่งหนึ่งก็ยอมรับ อีกครึ่งหนึ่งก็ร้องไห้เป็นสายเลือด เดินมาถึงขนาดนี้ เหลืออีกแค่คืบเดียว แต่ก็ไปไม่ถึง แต่เพื่อความปลอดภัยของทุกคนในทีม พวกเราก็ต้องยอมรับและทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ แล้วก็เดินลงยาว ๆ ไปจนถึงแคมป์แม่กระสา ระยะทางวันนี้รวมทั้งหมดราว ๆ 12 กิโลเมตรค่ะ แล้วก็เป็นทางลงเขาอย่างเดียว ใครที่มีปัญหาเกี่ยวกับเข่า จะปวดมาก ๆ ตอนเดินลงค่ะ

โมโกจู
เช้ามาเปิดซิปเต็นท์มาเจอภาพนี้ ใจฝ่อเลย T^T

โมโกจู
อาหารเช้าแบบง่าย ๆ

โมโกจู
เสื้อผ้าเปียกปอน ก็เอามาผิงไฟให้แห้งกันค่ะ

โมโกจู
อาหารกลางวันตอนเดินลงไปแคมป์แม่กระสา

โมโกจู
ทางลงก็โหดเช่นกันค่ะ กลิ้งและล้มกันไปนับไม่ถ้วน

โมโกจู
จุดนี้ตอนปีนลงก็ลำบากพอสมควรนะคะ

โมโกจู
อาหารสุดอร่อยประจำทริป

โมโกจู
คืนนี้กินแซ่บ ๆ ได้ค่ะ มีห้องน้ำ มียำผักกูดด้วย เก็บแถว ๆ น้ำตกนั่นแหละ

* Day 5 แคมป์แม่กระสา-ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

โมโกจู
          เติมพลังก่อนเดินลงยาว ๆ ไปที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

โมโกจู

          เส้นทางนี้ก็เดินลงยาว 16 กิโลเมตรเลยค่ะ ใช้เวลาเดินเร็วกว่าตอนมา แวะกินข้าวกลางวันระหว่างทาง ใช้เวลาไปทั้งหมดก็หลายชั่วโมงค่ะ ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์บ่ายนิด ๆ เกือบบ่ายสอง ปิดทริปด้วยการอาบน้ำที่ที่ทำการอุทยานให้ชื่นใจ ^^

          ถึงแม้ว่าทริปนี้เราจะไม่ถึงจุดหมายปลายทาง แต่ระหว่างทางก็มีเรื่องเล่าและความน่าประทับใจเพียบเลยค่ะ โชคดีมาก ๆ ที่ได้เพื่อนร่วมทางที่ดี ช่วยเหลือกัน ขยันสร้างเสียงหัวเราะและรอยยิ้มให้กันตลอดระยะเวลา 5 วัน 4 คืน อาหารในป่าก็ไม่ได้เริดแต่ก็อร่อยที่สุด ได้อาบน้ำฟินสะใจในลำธารครั้งหนึ่งในชีวิต ได้เห็นความสวยงามของเส้นทางโมโกจูในอีกรูปแบบที่น้อยคนจะได้เห็น เท่านี้ก็คุ้มค่าแล้วค่ะ ถ้ามีบุญวาสนาเราได้เจอกันอีกแน่นอน :)  

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์
การท่องเที่ยวแห่งงประเทศไทย ภูมิภาคภาคเหนือ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุโขทัย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โมโกจู แนะนำวิธีการเดินทางและรีวิวเส้นทางก่อนถึงหินเรือใบ อัปเดตล่าสุด 16 สิงหาคม 2562 เวลา 17:55:27 33,586 อ่าน
TOP