x close

ตามรอย ๖๓ รุกข มรดกของแผ่นดิน สู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน

          แนะนำหนังสือรุกข มรดกของแผ่นดิน เล่มที่ ๒ จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๖๓ พรรษา พร้อมชวนร่วมเรียนรู้และอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ อายุกว่า ๑๐๐ ปี ที่มีความสำคัญจากทั่วประเทศไทย


รุกข มรดกของแผ่นดิน

         รุกข (รุก-ขะ) แปลว่า ต้นไม้ พืชชนิดที่มีลำต้นใหญ่มีกิ่งแยกออกไป ให้ความชุ่มชื่น ร่มเงา และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับวิถีความเป็นอยู่ของมนุษย์ จนก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม เพราะต้นไม้ของบางท้องถิ่นมีชีวิตยืนนานสืบต่อจากรุ่นต่อรุ่น หรือมีความเชื่อว่าต้นไม้ใหญ่ต้องมีเทวดาดูแลรักษา จึงเกิดความศรัทธาของชุมชนเข้ามาเกี่ยวข้อง

          กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.)  กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดทำหนังสือเรื่อง "รุกข มรดกของแผ่นดิน" เล่ม ๒ ขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๖๓ พรรษา ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๑ โดยรวบรวมประวัติและเรื่องราวที่มีการบอกเล่าหรือบันทึกไว้เกี่ยวกับต้นไม้ในสถานที่ต่าง ๆ จากทุกภูมิภาค จำนวน ๖๓ ต้น (หรือกลุ่ม) เท่ากับพระชนมายุของพระองค์

          ความพิเศษของหนังสือเล่มนี้นอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวของต้นไม้ใหญ่อายุกว่า ๑๐๐ ปีแล้ว ยังนำเรื่องราวต้นไม้ภายในวังสระปทุมของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าฟ้านักอนุรักษ์มาบอกเล่าให้เราได้รู้กันอีกด้วย ถือเป็นหนังสือดี ๆ ที่ควรมีไว้ในครอบครอง ที่สำคัญคือ สามารถเดินทางตามรอยไปสัมผัสกับ ๖๓ รุกข มรดกของแผ่นดิน นี้กันได้ด้วยตัวเอง แล้วคุณจะรู้ว่ามันใหญ่มาก ^^ … ซึ่งวันนี้เราก็ได้หยิบเอา ๑๐ ต้นไม้ จาก ๖๓ ต้น ใน "รุกข มรดกของแผ่นดิน" เล่น ๒ มาแนะนำกันด้วย เริ่มที่...

1. ต้นขะจาว จังหวัดลำปาง

63 รุกข
ต้นขะจาว จังหวัดลำปาง

          "ขะจาว" หรือ "เก๊าจาว" ไม้ศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองลำปาง มีลักษณะเป็นสองต้นต้นใหญ่และต้นเล็ก โตแยกออกจากกันที่โคนแต่พุ่มและปลายรวมกันเป็นต้นเดียว ต้นใหญ่มีเส้นรอบวงเกือบ ๓๕ เมตร ความสูง ๖๐ เมตร และต้นเล็กมีเส้นรอบวง ๓.๐๒ - ๓.๙๖ เมตร สูงโดยประมาณ ๑๕ เมตร

          มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาตามความเชื่อว่าต้นขะจาวต้นนี้ปลูกเมื่อครั้งพุทธกาล โดยชาวลัวะคนหนึ่งนำกิ่งขะจาวทำเป็นคานหาบกระบอกน้ำผึ้ง มะพร้าว และมะตูม มาถวายพระพุทธเจ้า ซึ่งประทับอยู่ ณ วัดพระธาตุลำปางหลวง ภายหลังอธิษฐานแล้วนำปลายไม้ขะจาวปักลงไปในดิน ไม่นานไม้คานนั้นก็แตกกิ่งก้านเจริญเติบโต ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ จึงได้นำเอารากไม้ต้นขะจาวไปบูชาหรือนำไปเป็นเครื่องรางของขลังห้อยคอ ต่อมาต้นขะจาวซึ่งเป็นต้นเดิมได้แห้งและผุลงจนไม่เห็นซากเดิม แต่มีต้นใหม่งอกออกมาตรงที่เดิมเป็นพุ่มใหญ่

63 รุกข
ต้นขะจาว จังหวัดลำปาง

          ในเมืองลำปางยังมีต้นขะจาวหรือเก๊าจาว ณ บริเวณกลางหมู่บ้านท่าโทก ซอย ๖ "ซอยเก๊าจาว" หมู่ที่ ๔ ตำบลทุ่งฝาย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ร่มครึ้มเคียงข้างหอหลวงเจ้าพ่อแสงเมือง ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของคนในชุมชน ประกอบด้วยต้นขะจาวต้นใหญ่ซึ่งเป็นต้นแม่ ๒ ต้น และต้นเล็กอีก ๒ ต้น ที่เกิดจากผลเมล็ดต้นขะจาวต้นแม่ ชาวบ้านคาดว่าน่าจะมีอายุมากกว่า ๑,๐๐๐ ปี ชาวบ้านเล่าว่าจากพิธีกรรมบวงสรวงเจ้าพ่อแสงเมือง ทำให้ทราบว่าท่านเป็นทหารในยามมีศึกท่านจะซุ่มดูข้าศึกอยู่บนต้นขะจาว และส่งสัญญาณให้กองทัพทราบว่ามีศัตรูเข้ามารุกราน

          ปัจจุบันต้นขะจาวแห่งแรกอยู่ในความดูแลของวัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง และแห่งที่ ๒ อยู่ในความดูแลของชาวบ้านชุมชน บ้านท่าโทก หมู่ที่ ๔ ตำบลทุ่งฝาย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

2. ต้นจันผา จังหวัดสุรินทร์
 
63 รุกข
ต้นจันผา จังหวัดสุรินทร์

          ต้นจันผา มีเส้นรอบวง ๓.๖๓ เมตร สูง ๑๓.๗๙ เมตร ยืนต้นอยู่ในบริเวณสำนักปฏิบัติธรรม วัดเขาดาร์สปวง ถือเป็นต้นจันผาใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่ท่ามกลางป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์ ตั้งอยู่บนหินขนาดใหญ่ บริเวณใต้ต้นไม้จะมีหินขนาดใหญ่ ๒ ก้อน และมีช่องหิน เชื่อกันว่าผู้ที่ไม่มีคู่ครองเมื่อลอดแล้วก็จะได้พบเนื้อคู่และจะได้แต่งงานกันอยู่ดีมีสุข สำหรับคนที่มีคู่ครองแล้วหากลอดช่องหินดังกล่าวก็จะยิ่งพบความสุข ความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป

          ในบริเวณใกล้ ๆ จะมี "ศาลเจ้าแม่จันทร์แดง" ที่ศักดิ์สิทธิ์และคุ้มครองป่าบริเวณนี้ ชาวบ้านมักจะมาอธิษฐานขอพรหรือบนบานศาลกล่าวในเรื่องต่าง ๆ เมื่อประสบความสำเร็จก็จะกลับมาบูชาตอบแทนคุณเจ้าแม่จันทร์แดง

          ปัจจุบันต้นจันผาอยู่ในความดูแลของวัดเขาดาร์สปวง บ้านช้างหมอบ ตำบลแนงมุด อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์

3. ต้นจำปาขาว จังหวัดพิษณุโลก

63 รุกข
ต้นจำปาขาว จังหวัดพิษณุโลก

          ต้นจำปาขาวต้นนี้มีอายุ ๗๐๐ กว่าปี มีขนาดเส้นรอบวง ๖.๗๐ เมตร ความสูง ๑๕ เมตร สันนิษฐานว่าเป็นต้นเดียวกับที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงบันทึกไว้ว่า "พ่อขุนบางกลางท่าวเจ้าเมืองบางยาง ทรงปลูกไว้เป็นอนุสรณ์ คู่เมืองของเมืองนครบางยาง" ซึ่งได้ปลูกไว้ที่วัด ๆ หนึ่งทางทิศตะวันตกของพระอุโบสถวัดดังกล่าวนี้ ปัจจุบันก็คือ "วัดกลาง" ดังนั้นจึงประมาณได้ว่าต้นจำปาขาวปลูกก่อนปี พ.ศ. ๑๘๐๖ ซึ่งสอดคล้องกับตำนานที่ชาวนครไทย เล่าขานต่อ ๆ กันมาว่า จำปาขาวต้นนี้ พ่อขุนบางกลางท่าวทรงปลูกไว้ก่อนออกไปสู้รบกับขอมเพื่อตีเมืองสุโขทัยคืนมา พร้อมกับได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าตีเมืองสุโขทัยได้สำเร็จ ขอให้ต้นจำปาเจริญงอกงามดี และออกดอกเป็นสีขาว แต่ถ้าพลาดท่าเสียทีเมื่อไรขอให้จำปาต้นนี้ค่อย ๆ ตายไป ซึ่งก็ปรากฏจริงดังคำของพ่อขุนบางกลางท่าว ทุกวันนี้จำปาขาวยังตั้งตระหง่านอยู่ภายในวัดกลาง อำเภอนครไทย

          ปัจจุบันต้นจำปาขาวอยู่ในความดูแลของวัดกลาง ตำบลนครไทย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก หากใครไปเที่ยวพิษณุโลกอย่าลืมแวะเวียนไปสัมผัสกับต้นจำปาขาวกันดูนะ

4. ต้นก้อม (พริกยักษ์) จังหวัดน่าน


63 รุกข
ต้นก้อม (พริกยักษ์) จังหวัดน่าน

          ต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ต้นนี้ มีขนาดเส้นรอบวง ๘ เมตร ความสูงโดยประมาณ ๑๐ เมตร สันนิษฐานว่ามีอายุราว ๘๐๐ ปี ตามลักษณะทางพฤกษศาสตร์คือต้นก้อม แต่เนื่องจากรูปใบและผลคล้ายต้นพริก ชาวบ้านจึงเรียกว่า "ต้นพริกยักษ์"

          ก้อมต้นนี้ยืนคู่บารมีองค์พระธาตุซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภายในวัดพระธาตุจอมพริก บ้านเสี้ยว ตำบลยม อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ความใหญ่โตของต้น ประกอบกับผล มีลักษณะเป็นวงรีมีทั้งสีเขียวและสีแดง ผลสีเขียวมีรสฝาด ผลสีแดงมีรสหวาน ซึ่งจะออกผลในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคมของทุกปี ทำให้กลายเป็นจุดเที่ยวชมของผู้มาเยือนตลอดมา

63 รุกข
ต้นก้อม (พริกยักษ์) จังหวัดน่าน

          ปัจจุบันต้นก้อม (พริกยักษ์) อยู่ในความดูแลของวัดพระธาตุจอมพริก บ้านเสี้ยว ตำบลยม อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน

5. ต้นทุเรียนเจ้าเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

63 รุกข
ต้นทุเรียนเจ้าเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

          ต้นทุเรียนโบราณต้นนี้อายุกว่า ๓๐๐ ปี ขนาดเส้นรอบวง ๘.๑๕ เมตร และมีความสูงประมาณ ๘๐ เมตร มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าบริเวณบ้านสวนกล้วยใกล้น้ำตกห้วยกลิ้งในปัจจุบัน เคยเป็นสวนผลไม้ของเจ้าเมืองเวียงสระ โดยมีผลไม้นานาชนิด ในอดีตหากใครลักลอบเข้าไปจะหลงทางหาทางกลับบ้านไม่ได้ เดือดร้อนถึงญาติต้องออกตามหา จุดธูปบนบานสานกล่าว ขอขมาต่อเจ้าเมืองรุกขเทวดา เจ้าที่เจ้าทางจึงจะพบและนำออกมาได้ ทุเรียนต้นนี้เป็นต้นเดียวที่เหลืออยู่ในบริเวณที่คาดว่าเป็นสวนเจ้าเมืองเวียงสระ

63 รุกข
ต้นทุเรียนเจ้าเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

          ปัจจุบันต้นทุเรียนเจ้าเมืองอยู่ในความดูแลของ นายสุวัฒน์ ดาวเรือง บ้านสวนกล้วย ตำบลบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

6. ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นไกร ต้นกร่าง จังหวัดสมุทรสงคราม


63 รุกข
ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นไกร ต้นกร่าง จังหวัดสมุทรสงคราม

          ต้นไม้สี่ต้นคือโพธิ์ ไทร ไกร กร่าง อายุกว่า ๒๐๐ ปี ที่ตำบลบางกุ้ง ความสูง ๒๕ เมตร เป็นต้นไม้อัศจรรย์ สามารถเจริญเติบโตร่วมกันปกคลุมและรัดล้อมโบสถ์เก่าของวัดบางกุ้ง ให้ดำรงอยู่ได้อย่างเหลือเชื่อ โดยในส่วนที่เสี่ยงต่อการหักพัง รากและกิ่งก้านจะยึดเหนี่ยวไว้อย่างเหนียวแน่น แต่ในส่วนที่ยังคงสภาพดีกลับมีการยึดเหนี่ยวน้อยมาก และที่พิเศษคือในช่องประตูและหน้าต่างของโบสถ์จะไม่มีต้นไม้ขึ้นปิดบังอยู่เลย

63 รุกข
ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นไกร ต้นกร่าง จังหวัดสมุทรสงคราม

          มีตำนานเล่าว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี พ.ศ. ๒๓๐๘ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกกองทัพเรือมาตั้งค่ายที่ตำบลบางกุ้ง เรียกว่า “ค่ายบางกุ้ง” โดยสร้างกำแพงล้อมวัดบางกุ้งให้อยู่กลางค่าย เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นที่เคารพบูชาของทหาร และในปีพุทธศักราช ๒๓๑๗ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ยกทัพไปรบกับพม่าที่ค่ายบางแก้ว เมืองราชบุรี ในการเดินทัพครั้งนั้น พระองค์ได้มาหยุดกองทัพพักพลและเสวยพระกระยาหารที่วัดกลาง ค่ายบางกุ้ง ดังนั้นสถานที่นี้จึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

          ปัจจุบันต้นโพธิ์ ไทร ไกร กร่าง อยู่ในความดูแลของวัดบางกุ้ง ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม

7. ต้นมะม่วง จังหวัดแพร่

63 รุกข
ต้นมะม่วง จังหวัดแพร่

          ต้นมะม่วงที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดแพร่ต้นนี้อยู่ในพื้นที่หมู่ที่ ๒ ตำบลแม่ยม อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ มีขนาดลำต้น ๗ เมตร สูง ๓๒ เมตร และคาดว่ามีอายุนานถึง ๓๐๐ - ๔๐๐ ปี เป็นมะม่วงพันธุ์หัวหล่ม ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองผลมีขนาดเท่าไข่ไก่ กลิ่นหอม สีของผลมีสีเหลือง เมื่อมีการอุปสมบทของคนในพื้นที่จะนำนาคมาแห่รอบต้นมะม่วงโบราณต้นนี้ จำนวน ๓ รอบ โดยมีความเชื่อว่ารุกขเทวดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะได้ร่วมอนุโมทนา และอำนวยอวยพรให้ประสบความสำเร็จในชีวิต

63 รุกข
ต้นมะม่วง จังหวัดแพร่

          ในช่วงเดือน ๖ แรม ๓ ค่ำของทุกปี ชาวบ้านจะทำพิธีบูชารุกขเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งทำพิธีกรรมดังกล่าวสืบเนื่องมานานกว่า ๒๐๐ ปีแล้ว นอกจากนี้ชาวบ้านยังเชื่ออีกว่าหากใครได้รับประทานผลมะม่วงที่หล่นมาจากต้นมะม่วงต้นนี้ ชีวิตจะมีความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป

          ปัจจุบันต้นมะม่วงต้นนี้อยู่ในความดูแลของชุมชนบ้านต้นค่าหนองหล่ม ตำบลแม่ยม อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่

8. ต้นยางสามยอด จังหวัดนครปฐม

63 รุกข
ต้นยางสามยอด จังหวัดนครปฐม

          ต้นยางนาสามยอดใหญ่ มีขนาดสูงกว่ายางนาทั่วไป รูปลักษณ์ต้นแยกเป็นสามแฉกคล้ายตรีศูล เส้นรอบวง ๑๔ เมตร ความสูง ๓๐ เมตร ประมาณอายุ ๒๕๐ ปี ชาวบ้านเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ จึงเรียกว่า “พ่อปู่ยางนาสามยอด” เป็นที่เคารพนับถือของชุมชนมาอย่างยาวนาน ในแต่ละปีจะมีงานประจำปีเพื่อเฉลิมฉลองพ่อปู่ด้วย

63 รุกข
ต้นยางสามยอด จังหวัดนครปฐม

          ปัจจุบันต้นยางนาสามยอดอยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านยาง อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม

9. ต้นลำพู จังหวัดสตูล

63 รุกข
ต้นลำพู จังหวัดสตูล

          ต้นลำพู อายุประมาณ ๓๐๐ ปี ขึ้นอยู่ในท้องทะเล วัดขนาดเส้นรอบวง ๖.๒ เมตร และมีความสูงประมาณ ๑๐ เมตร เป็นต้นลำพูที่มีลักษณะงามพิเศษ กล่าวคือที่โคนต้นมีลักษณะคล้ายรูปหัวใจ ลำต้นมีลักษณะเป็นช่องเหมือนอุโมงค์สามารถผ่านเข้า-ออกได้ เมื่อเข้าไปในอุโมงค์จะเป็นปล่องทะลุกลางลำต้นสามารถแหงนหน้าขึ้นมองเห็นท้องฟ้าได้ ชาวบ้านจึงเรียกว่าอุโมงค์ลำพู ยืนต้นอยู่ในพื้นที่สาธารณะ

63 รุกข
ต้นลำพู จังหวัดสตูล

          นอกเหนือจากการปกป้องแรงคลื่นให้ชุมชนแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ความงามของธรรมชาติและเป็นประโยชน์สำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย ชุมชนจึงอนุรักษ์ไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ชมและคนรุ่นหลังได้เรียนรู้ มีการให้ความรู้เรื่องประวัติ ความเป็นมา และการดูแลอนุรักษ์ต้นลำพูอย่างเป็นลำดับ

          ปัจจุบันต้นลำพูดังกล่าวอยู่ในความดูแลของกลุ่มศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านบากันใหญ่ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล

10. ต้นสมพงหรือต้นสะพุง จังหวัดจันทบุรี

63 รุกข
ต้นสมพง หรือต้นสะพุง จังหวัดจันทบุรี

          ต้นสมพงหรือสะพุงต้นนี้อายุประมาณ ๓๐๐ - ๕๐๐ ปี ขนาด ๑๐ คนโอบ สูงประมาณ ๓๐ เมตร อยู่ภายในพุทธอุทยาน วัดเขาบรรจบ ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ชาวสวนทุเรียนในตำบลฉมัน จึงได้อุทิศที่ดินในหมู่บ้านให้เป็นพื้นที่ในการสร้างวัดเขาบรรจบ แต่เส้นทางที่จะเข้าวัดมีต้นสมพงและโขดหินอยู่เป็นจำนวนมาก สร้างความลำบากให้กับพระสงฆ์ที่จะออกบิณฑบาตและประชาชนที่จะไปวัด ชาวบ้านจึงเจาะต้นสมพงเป็นช่องเล็ก ๆ เพื่อใช้เป็นทางเข้าออก แม้กระนั้นสมพงต้นนี้ก็ยังแข็งแรงและเจริญเติบโตเป็นปกติจนทุกวันนี้ ชาวบ้านจึงเรียกช่องที่เจาะนี้ว่า "ประตูสวรรค์" เป็นช่องทางที่เข้าสู่ความสงบและธรรมะ

63 รุกข
ต้นสมพง หรือ ต้นสะพุง จังหวัดจันทบุรี

          ภายในบริเวณพุทธอุทยานแห่งนี้มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้นานาชนิด พร้อมน้ำตกสวยงาม ดังนั้นการเดินลอดประตูดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนเดินเข้าสู่เส้นทางสู่สรวงสวรรค์ของผู้เข้ามาปฏิบัติธรรมและมาทำบุญ

          ปัจจุบันสมพงต้นนี้อยู่ในความดูแลของศูนย์ข้อมูลเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี

          นี่เป็นเพียงต้นไม้อายุกว่า ๑๐๐ ปี เพียงไม่กี่ต้นจากหนังสือรุกข มรดกของแผ่นดิน เล่มที่ ๒ ที่เราหยิบมาแนะนำกัน ยังมีความเชื่อ ศรัทธา หรือเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับต้นไม้อีกมากมายให้ได้ไปลองค้นหากัน สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ tree.culture.go.th นะคะ 

          และเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่สนใจตามรอย รุกข มรดกของแผ่นดิน เพียงคุณหยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาแล้วสแกนคิวอาร์โค้ด มีทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ให้นักท่องเที่ยวตามรอยกันได้อย่างสะดวกสบาย

 
63 รุกขภาษาไทย – อังกฤษ

63 รุกขภาษาไทย – จีน

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตามรอย ๖๓ รุกข มรดกของแผ่นดิน สู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน อัปเดตล่าสุด 28 มิถุนายน 2561 เวลา 10:23:30 24,370 อ่าน
TOP